ชีวิตที่เขาพระวิหาร


กรณีเขาพระวิหารเริ่มเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อกัมพูชากำลังจะเสนอ UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ภายในปี 2551 นี้ แต่ว่าที่ตั้งของปราสาทเขาพระวิหารนั้นจำเป็นต้องอาศัยทางขึ้นในพื้นที่ประเทศไทย ท่านที่สนใจก็ลองติดตามข่าวคราวดูนะครับ

 

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมต้องพาครอบครัวไปดูสภาพเขาพระวิหารเสียแต่วันนี้ เพื่อสัมผัสภาพรวมก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น

 

 

 

เช้าวันนั้น มีคนจำนวนมากทยอยเดินขึ้น ผมพบคุณยาย ท่านเป็นคนในหมู่บ้านใกล้ๆนี่แหละ อายุเกิน 60 ไปหลายปีแล้ว ท่านกล่าวว่า...พาหลานมาเดินขึ้น..ก็มาทุกปีแหละ.. โอย..สมัยก่อนสงครามนั้น ปราสาทสวยมาก สมบูรณ์มาก นี่มันโดนลูกระเบิด เสียหายไปมากแล้ว ก็ทหารเขามาตั้งฐานบนนี้ มันก็รบกันซิ..แล้วมันจะไปเหลืออะไร ตัวปราสาทมันก็โดนลูกหลงเต็มๆเลย..

 

 

 

คุณยายเล่าให้ฟังอย่างเห็นภาพ และผมเองก็เชื่อเช่นนั้น เพราะยังมีหลักฐานปืนใหญ่ที่ยังตั้งอยู่บนปราสาทโดยปลายกระบอกปืนส่องไปทางแผ่นดินไทย

 

 

 

 

ก่อนที่เราจะผ่านด่านไทยเข้าด่านกัมพูชาแบบง่ายๆนั้น ผมเห็นคนแบกถุงใบใหญ่เบ่อเริ่ม ดูท่าทางหนักมากๆ  และเมื่อผมเดินขึ้นไปบนชั้นที่สามแล้วก็พบว่า มีคนยังแบกถุงนี้ขึ้นไปอยู่อีก แต่ถุงเล็กลงมา สังเกตดูน่าที่จะแบ่งของข้างในนั้นให้น้อยลงแล้วใช้คนแบกมากขึ้น มาทราบภายหลังว่าข้างในคือขวดน้ำที่ชาวเขมรไปซื้อมาจากฝั่งไทย เพื่อเอาไปแช่เย็นข้างบนแล้วก็ขายให้คนไทยที่เข้าไปเที่ยวราคาขวดละ 15 บาท ... ผมหรือครับ..ซื้อสิครับ ก็เหงื่อแตกเต็มตัว ยิ่งเป็นคนมีเหงื่อมาก เสียเหงื่อมาก ก็ต้องการน้ำมาก

 

 

 

จากด่านเล็กๆของกัมพูชา ก่อนขึ้นปราสาทชั้นที่หนึ่งนั้น ก็มี ตลาดกางร่มขายของสารพัด  ท่านก็พอเดาออกว่าจะมีอะไรขายบ้าง ของป่าสารพัดครับ เครื่องรางของขลัง แว่นดำ  หากเราเดินขึ้นไปข้างบน ก็มีวางขายเป็นระยะ ก็จะเป็นสินค้าเบาๆที่ไม่ต้องแบกน้ำหนักมาก ยกเว้นน้ำดื่ม..

 

หากสังเกตก็จะเห็นว่าคนขายสินค้าบางคนก็พิการ ขาขาดไปข้างหนึ่ง ใส่ขาปลอม เอามาวางข้างๆ  สายตานั้นเชิญชวนให้ซื้อสินค้าของเขาบ้าง..

 

 

 

เช่นเดียวกับท่านนี้ เมื่อเราเดินถึงปราสาทประธานองค์ที่สี่ สุดท้ายนั้น เราเข้าไปกราบพระที่ปราสาทองค์กลางแล้ว ก็จะเดินออกระเบียงคต ไปชมทิวทัศน์ประเทศกัมพูชาที่หน้าผาสูงชันนั้น ตรงทางเดินออกเราจะได้ยินเสียงซอบรรเลงเพลง และมีชายท่านนี้นั่งอยู่คนเดียวชักซอเพลงให้ฟังเรื่อยๆ มีแจกันดอกไม้กับพานสำหรับรับเงินบริจาค  ขาข้างหนึ่งของวณิพกท่านนี้ขาดไป มีขาเทียมเก่าๆวางอยู่ ...

 

 

 

ไม่ต้องถามก็เดาออกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนขายสินค้าที่ผ่านมา หรือวณิพกท่านนี้ อดีตท่านก็ต้องเป็นทหารไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง แล้วคงจะโดยยิงหรือเหยียบกับระเบิด ซึ่งถูกฝังอยู่มากมายในชายแดนไทย-กัมพูชานี้ แม้จะมีองค์การระหว่างประเทศมาช่วยเก็บกู้นับเวลาเป็นสิบปีแล้วก็ยังไม่หมดสิ้น อดีตทหารที่พิการเหล่านี้เราพบได้ที่ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น นครวัดที่เสียมเรียบ หรือในลาว หรือในเวียตนามผมก็พบมาทุกแห่ง แม้ในบ้านเราก็เถอะ รัฐสวัสดิการทำไมปล่อยให้อดีตทหารมาอยู่ในสภาพเช่นนี้...??

 

 

  

ในภูมิภาคนี้ พลเมืองในประเทศมักจะมีลักษณะคล้ายๆกันทางความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังนั้นจึงเกิดอาชีพการทำนายทายทักขึ้น ในรูปแบบต่างๆ บนปราสาทชั้นสูงสุด ตรงหน้าผานั้น มีทางเล็กๆเดินลงไปที่เพิงด้านล่างของหน้าผา ผมสังเกตเห็นคุณยายท่านนี้นอนหลับบนเสื่อ รอบๆท่านมีสิ่งของที่บ่งบอกว่าใช้ประกอบการทำนายทางทักและแก้เคล็ด โชคชะตาต่างๆ พร้อมกับขอรับบริจาคเงินทองแลกกับการนั้น  สิ่งที่เห็นข้างๆคุณยายก็คือซีกไม้ไผ่เล็กๆมาวางค้ำก้อนหินมหึมาของหน้าผานั้น  น่าจะเป็นการแก้เคราะห์ โศรกตามคำทำนายของท่าน ... สิ่งนี้เราก็เห็นในเมืองไทยหลายที่หลายแห่ง สังเกตเห็นซีกไม้ไผ่จำนวนไม่น้อยทีเดียว น่าจะบ่งบอกถึงจำนวนคนที่มาใช้บริการคุณยายท่านนี้

 

 

 

สิ่งที่พบเห็นไม่ขาดคือเด็กๆ ที่ตามพ่อแม่มาขายสินค้า และอาจทำหน้าที่เลี้ยงดูน้องๆให้พ่อแม่ทำหน้าที่เต็มที่  เด็กบางคนก็กล้าหาญพอที่จะไปยืนเฝ้าปากทางเข้าไปกราบไหว้พระในปราสาทองค์ประธานชั้นสูงสุดนั้น เพื่อเฝ้ารองเท้าและขอค่าดูแลตามบริจาค หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ขอห้าบาทภาพเด็กชายบนซ้ายมือนั่น ผมลองใช้ภาษาเขมรสูง (ขะแมร์ลือ) ซึ่งได้เรียนมาบ้างสมัยที่ทำงานที่ชายแดนไทยสุรินทร์เมื่อยี่สิบกว่าปีนั้น ..อาปอง..ชม็อก โอย. เด็กคนนี้ตอบว่า ..ชม็อก อูย.. เขาคงจะงงๆภาษาเขมรสูงของผมที่ไม่ได้เรื่อง แต่ก็ตอบว่า เขาชื่อ ..อูย.. ผมก็ควักเหรียญสิบบาทให้เขา  ..อูย..ก็กล่าวว่า ออร์กุล ซึ่งหมายถึงขอบคุณ..

 

 

 

 

คราวที่แล้วผมกล่าวถึง เนียง  หรือน้องนางท่านนี้ที่ทำหน้าที่ประกบเราตลอดทางเดินขึ้นปราสาทโดยไม่ได้เชิญ เมื่อเราเข้าใจวัตถุประสงค์ของเธอที่ต้องการขายโปสการ์ด เพื่อแลกกับการบรรยายของเธอ เราก็ยินดี เพราะความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับนั้น ก็เป็นสิ่งที่เราต้องการเพิ่มเติมจากการศึกษาไปก่อนล่วงหน้า ครอบครัวเราประทับใจเธอมากที่สุภาพ มีน้ำใจ และทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ดี น่าที่จะผ่านการอบรมมาบ้าง  เพราะมีกลุ่มเด็กสาว หนุ่มทำหน้าที่แบบนี้หลายคน  เมื่อเดินถึงชั้นที่สี่ของปราสาทเธอก็กล่าวตรงๆว่าต้องการขายโปสการ์ด เราก็ซื้อ เธอยังบรรยายในช่วงขาเดินลงอีก จนมาถึงชั้นที่ 2 เธอก็บอกตรงๆว่า ขอลงไปชั้นล่างก่อนเพื่อหานักท่องเที่ยวใหม่อีกสักกลุ่มหนึ่ง และจะทำเช่นเดียวกัน

 

เมื่อเธอเดินทางจากเราไปแล้ว เราก็พูดกันว่า หากเธอจะบอกเราว่าขอรับบริจาคค่าบรรยายบ้างตามแต่จะให้ ผมเองก็ตั้งใจจะให้เธอสักจำนวนหนึ่ง  แต่เธอไม่เอ่ยปากเลย  คนข้างกายผมบอกว่า เธอไม่ได้ค้ากำไรเลยเธอรู้สึกพอ ก่อนเดินจากไปเธอกล่าวว่า เนียง ชม็อกราตรีความว่าน้องชื่อราตรีค่ะ ...หากท่านไปเที่ยวที่นี่ก็อุดหนุนเธอเถอะครับ..

----------------

มีข่าวเกี่ยวเนื่องกับเขาพระวิหาร คือเรื่องทนายความที่ทำให้คนไทยเสียเขาพระวิหารที่นี่ http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9510000045272

 

หมายเลขบันทึก: 177365เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2008 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • สวัสดีค่ะพี่ชายที่เคารพ
  • ได้อ่านแล้วเหมือนได้ไปเที่ยวด้วย ทั้งภาพ...และความคิด..
  • เมื่อสมัยที่คุณแม่คนไม่มีรากยังมีชีวิตอยู่ท่านจะชอบไปทำบุญต่างจังหวัดมากค่ะ ลูกหลานจะเป็นห่วง เพราะเกรงท่านจะเหนื่อยกับการเดินทาง...
  • ไปต่างจังหวัดแม่จะชอบดูและอุดหนุนของที่มีคนนำมาขายเสมอ บางทีของนั้นก็ไม่ได้ใช้อะไร แต่เอาไปฝากเด็กข้างบ้าน คนข้างบ้าน เด็กทำงานบ้าน...สารพัดที่จะต้องมีของฝาก...ตกหนักผู้ที่ไปกับแม่จะต้องทั้งแบกทั้งขน...จนเหนื่อย..
  • แม่จะไม่เคยต่อราคาของเลย...ครั้นเราท้วง แม่จะบอกว่า อย่าต่อเลย บาทสองบาท เราไม่รวยขึ้นจากเงินแค่นี้..แต่คนขายมันมีค่าสำหรับเขามาก...คนไม่มีรากจึงเข้าใจ...อ้อ...คนเราต้องรวยน้ำใจ
  • ชื่นชมกับน้ำใจของพี่ชายและคุณพี่ผู้หญิงค่ะ.

น่าสงสารคนไทยนะคะ..สมบัติที่น่าจะเป็นของเราหลายๆอย่างต้องตกเป็นของประเทศอื่นไปหลายอย่างแล้ว..เราคนไทยต้องช่วยกัน!

- อยากไปเที่ยวบ้างคะ เห็นด้วยว่าอีกไม่นานมันอาจไม่เป็นเหมือนเดิม..เฮ้อ

BY : MooNoi

สวัสดีค่ะ

ได้ไปเห็นตอนที่เสียหายแล้วยังสวยมากจริงๆ นะคะ

ถ้าได้เห็นช่วงที่ยังสมบูรณ์คงสวยงามมากๆ

คิดแล้วเสียดาย...และเกลียดสงครามค่ะ

ภาษาเขมรฟังๆ ดูก็เพราะนะคะ แจ๋วเคยดูลิเกของคณะละครมะขามป้อม

ศิลปินเขมรทั้งสวย ร้องเป็นภาษาเขมร เพราะมาก ไม่คิดมาก่อนว่าภาษาเขมรจะเพราะขนาดนั้น เสียแต่ที่ฟังไม่ค่อยออกค่ะ

น้องสาว P คนไม่มีราก

  • ผู้เฒ่าผู้แก่ คนเก่าท่านมักจะมีระบบคิดเช่นนั้นครับ ซึ่งดีมาก เป็นการทำบุญ ทำทาน ในทัศนะของท่าน และสบายใจ ให้ท่านทำเถอะครับ
  • คุณแม่ของพี่เป็นชาวนาขนานแท้ เวลาเดินทางไปไหน เห็นศาลพระภูมิของใครก็ตาม ท่านจะยกมือไหว้ เรียกว่าไหว้เจ้าที่เจ้าทาง บอกกล่าวทำปากงุบงิบ อะไรก็ไม่รู้  แต่เข้าใจว่า เป็นการบอกกล่าว อิอิ..
  • ครั้งหนึ่งพาเข้าไปซื้อผ้าไหมสวยๆให้ เผื่อเอาไว้ใส่ไปงานวัดงานพิเศษ แม่ก่อนเข้าร้านถอดรองเท้าแตะไว้โน้น..แล้วเดินเท้าเปล่าเข้าร้าน ทั้งๆที่ใครต่อใครเขาใส่รองเท้าเข้าไปได้เลย แม่บอกว่า เดี๋ยวพื้นเขาเปื้อน และเป็นการเคารพสถานที่ แม้ว่าจะเป็นร้านค้าก็ควรทำ  จนเจ้าของร้านต้องออกมาบอกว่า ใส่รองเท้าเข้ามาได้ จึงจะยอมใส่แบบเกรงๆ อิอิ
  • การทำบุญทำทานเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุเขาปฏิบัติกัน คนสมัยใหม่ซะอีก คิดมากไปร้อยแปด เดี๋ยวเขาเคยตัว เดี๋ยวเขาเสียนิสัย เดี๋ยวอย่างนั้นอย่างนี้ อิอิ..
  • เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ค่านิยมทางสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย นะ น้องสาว  แต่การได้คลุกคลีกับคนเฒ่าคนแก่ ทำให้เรามีมิติที่น่าสนใจมาให้คิดเสมอครับ

สวัสดีครับ P 2. IT@Tech Team

น่าสงสารคนไทยนะคะ..สมบัติที่น่าจะเป็นของเราหลายๆอย่างต้องตกเป็นของประเทศอื่นไปหลายอย่างแล้ว..เราคนไทยต้องช่วยกัน!

- อยากไปเที่ยวบ้างคะ เห็นด้วยว่าอีกไม่นานมันอาจไม่เป็นเหมือนเดิม..เฮ้อ

BY : MooNoi

 

หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงอินโดจีนเราจะเข้าใจมากขึ้นว่า ประเทศโลกที่หนึ่งนั้น เขาเข้ามาทำอะไรแถบอินโดจีนนี้  และเมื่อปัจจุบันผ่านไป พฤติกรรมนั้นๆยังมาในรูปอื่นๆอีกหรือไม่ น่าสนใจ

หากสนใจต้องคิดตามท่านนักประวัติศาสตร์ของไทยเช่น อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และท่านอื่นๆ  เอกสารด้านนี้ก็มีมากครับ เราจะรู้ตัวมากขึ้น  ว่าประเทศเพื่อนบ้านทะเลาะกันนั้น บางทีก็เพราะประเทศเหล่านั้นมาสร้างรอยร้าวไว้ครับ 

รักกันเถอะครับ

สวัสดีครับน้องแจ๋ว P 3. jaewjingjing

ได้ไปเห็นตอนที่เสียหายแล้วยังสวยมากจริงๆ นะคะ

ถ้าได้เห็นช่วงที่ยังสมบูรณ์คงสวยงามมากๆ

คิดแล้วเสียดาย...และเกลียดสงครามค่ะ

ภาษาเขมรฟังๆ ดูก็เพราะนะคะ แจ๋วเคยดูลิเกของคณะละครมะขามป้อม

ศิลปินเขมรทั้งสวย ร้องเป็นภาษาเขมร เพราะมาก ไม่คิดมาก่อนว่าภาษาเขมรจะเพราะขนาดนั้น เสียแต่ที่ฟังไม่ค่อยออกค่ะ

 

ตอนที่ผมไปทำงานกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ อ.ปราสาท อ.สังขะ อ.บัวเชด อ.กาบเชิง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดประเทศกัมพูชานั้น สงครามยังมีอยู่เลยครับ  หมู่บ้านชายแดนเป็นชนเผ่าเขมร ที่เรียกว่า ราษฎรไทยเชื้อสายเขมร ผมต้องไปเรียนภาษาเขมรจากวิทยาลัยครูสุรินทร์สมัยนั้น เรียนจนพูดได้ ฟังออก และเอาไปใช้ได้  แต่ลืมหมดแล้ว เพราะไม่ได้ใช้  น่าสนใจครับเป็นภาษาที่ไพเราะอย่างน้องแจ๋วว่า 

ต้องฟังกันตรึม รำกะหนบติงตอง และฯฯฯ สมัยนั้นมีร้านค้าที่เอาเพลงกันตรึมมาแสดงทุกค่ำ  เราจะเข้าไปฟังกันบ่อยมาก  และศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีของเขา ภาษาเขมรบ้านเรากับประเทศกัมพูชาจริงๆต่างกันนะครับ  หลายตัวพอฟังรู้เรื่อง  แต่หลายตัวต่างกัน แต่สื่อสารกันรู้เรื่อง

ลัทธิความเชื่อของเขายังพื้นฐานมากๆ แต่ชอบมากๆ เช่นรำผีฟ้า เพื่อแก้โรคภัยไข้เจ็บ  การใช้กฏชุมชนมาใช้กับระเบียบข้อบังคับในกลุ่มออมทรัพย์  พี่เป็นทึ่ง เพราะเรานำเข้าหลักการจากข้างนอกซึ่งเป็นหลักสากลที่ไหนๆก็ใช้กัน  แต่เมื่อนำหลักการออมทรัพย์ไปใช้ที่หมู่บ้านชายแดน เขาบอกว่า ไม่ต้องเอามาเลยกฏระเบียบข้อบังคับต่างๆนั้น  เขาขอใช่กฏบ้าน คือการดื่มน้ำสาบาน..?

ปัจจุบันทราบว่ากลุ่มออมทรัพย์ที่ อ.กาบเชิง มีเงินทุนเป็นล้านๆบาทแล้วครับ จากการที่สะสมกันคนละ ห้าบาทสิบบาทเมื่อสมัยก่อนโน้นน  แอบภูมิใจเล็กๆครับ ว่าเราเป็นผู้นำเข้าหลักการนี้ และสามารถพัฒนาไปโดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้สอดคล้องกับท้องถิ่น  ก็ไปได้ นี่คือบทหนึ่งของประสบการณ์งานพัฒนา.... 

ขอบคุณครับน้องแจ๋ว

มาหาความรู้เพิ่มเติม  สบายดีนะครับ

สวัสดีครับน้องสิทธิรักษ์

พี่สบายดีครับ แค่ร้อนๆ ก็เพราะโลกมันร้อน อิอิ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย ได้เห็นแต่รูปและอ่านเรื่องราวจากในหนังสือ คิดว่าน่าจะไปเยือนด้วยตนเองสักครั้งเหมือนกันค่ะ

พี่บางทรายถ่ายทอดภาพชีวิตผู้คนได้ลึกซึ้งมาก อย่างคนเข้าใจชีวิตและเห็นใจ คนข้างกายพี่ก็ใจดีมากๆค่ะ

เรื่องการที่กัมพูชาจะขอยูเนสโกให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น คุณเบิร์ดกับนุชได้เคยคุยกันมาครั้งหนึ่ง ขออนุญาตยกมาแชร์ที่นี่เผื่อใครที่ไม่มีโอกาสได้อ่านข้อเขียนของอาจารย์ศรีศักรและคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ค่ะ

 

P
13. เบิร์ด
เมื่อ อา. 03 ก.พ. 2551 @ 18:00
536259 [ลบ]

สวัสดีค่ะพี่นุช

เบิร์ดไม่ได้อ่านค่ะ แต่หัวข้อน่าสนใจมากเลยค่ะ

เบิร์ดนั่งทบทวนดูเรื่องราวของการปักปันเขตแดน และประวัติศาสตร์ีที่ผ่านมา จะพบว่าทั้งพี่บางทราย ท่านพลเดช หรือพี่นุชก็ได้ชี้ให้เห็นชัดว่าเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสายตาคนต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสในขณะนั้นถือเป็นชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งเลยนะคะที่เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์แม้แต่ขนบธรรมเนียม ประเพณี เผ่าพันธุ์เชื้อชาติของแถบเอเชียอาคเนย์

ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเกิดมีการพิพาทกันเรื่องการเมืองและดินแดน ฝรั่งเศสได้ใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี และชาติพันธุ์ที่นักวิชาการของตนสร้างและทางฝ่ายไทยยอมรับ เป็นข้ออ้างในการยึดครองและอ้างความชอบธรรมของฝรั่งเศสกับทางรัฐบาลไทย  แม้แต่กรณีเขาพระวิหารก็ดูจะไม่พ้นเรื่องราวนี้เลยนะคะ

ประเทศมหาอำนาจที่เป็นจักรวรรดินิยมในขณะนั้น มีแนวคิดและวิธีการที่ชาญฉลาดเป็นอย่างยิ่งในการล่าอาณานิคม เพราะไม่เพียงแต่การใช้อำนาจทางการทหารและอาวุธเท่านั้น ยังมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์กลุ่มคนที่ต้องการยึดครองอีกด้วยน่ะค่ะพี่นุช

ดูเหมือนเราจะอ่อนด้อยในเรื่องการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ดังกล่าว เลยไม่มีการทำให้เกิดความเชื่อมโยงเพื่อเกื้อหนุนซึ่งกันและกันใน การที่จะอธิบายถึงเรื่องกลุ่มชนและท้องถิ่นในด้านสังคมและวัฒนธรรมจึงขาดความลึกซึ้ง..น่าเสียดายนะคะพี่นุช

แม้แต่การศึกษาเขาพระวิหารก็ดูเหมือนเราจะขาดความสนใจในเรื่องนี้ เน้นแต่โครงสร้าง สถาปัตยกรรม แต่เหตุใดถึงเลือกชัยภูมินี้   และการสร้างทำไมถึงมีทางขึ้นทางนี้ ในการสร้างศาสนสถานแบบที่เบิร์ดยกมาคุยกับพี่นุช ก็จินตนาการได้ว่าต้องใช้ทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์มากมาย หมู่บ้านที่รายรอบในเขตนั้นจึงไม่น่าจะเป็นหมู่บ้านธรรมดา  เพราะต้องมีทั้งนักบวช พราหมณ์ผู้กระทำพิธี ข้าทาสบริวาร  ตามลำดับชั้นของการปกครองในสมัยนั้น แต่สิ่งเหล่านี้เราศึกษาน้อยมากเลยค่ะ

เบิร์ดจำได้เลาๆว่ารู้สึกจะมีจารึกของวัดศรีชุม สุโขทัยที่จารไว้ว่าี่พ่อขุนผาเมืองเป็น“ลูกเขย”กษัตริย์กัมพูชาที่นครธมน่ะค่ะพี่นุช แสดงว่ายุคนั้นเขมรรุ่งเรืองมากเลยนะคะ และคนไทยอีสานก็น่าจะมีวงศ์วานว่านเครือเชื้อสายกัมพูชาอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

เรื่องนี้น่าสนใจจังค่ะไม่ทราบพี่นุชพอเล่าต่อได้มั้ยคะ 

P
14. คุณนายดอกเตอร์
เมื่อ จ. 04 ก.พ. 2551 @ 15:33
537121 [ลบ]

ข้อสังเกตของคุณเบิร์ดP นั้นใช่เลยค่ะ และเป็นประเด็นสำคัญทั้งการที่เรารู้และเชื่อประวัติศาสตร์ผ่านสายตาฝรั่ง โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส  และเรื่องความสัมพันธ์ของเราต่อประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประวัติศาสตร์แบบของเราวางเราให้เหนือกว่าและดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นภาวะของการมองไม่เห็นความจริงตามที่เป็นอยู่

บทความที่ตีพิมพ์นี้(ในมติชน ศุกร์ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)ปรับปรุงจากบทความเรื่อง ศรีษะเกษ เขตเขมรป่าดง ของอาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม พี่คัดมานิดๆหน่อยๆเท่านั้นนะคะ

  • ส่วนกรอบเล็กในบทความที่ตีพิมพ์นี้กล่าวถึงการที่ประเทศจักวรรดินิยมฝรั่งเศสเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดที่ส่งนักวิชาการสาขาต่างๆเข้ามาสำรวจค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดี ถึงกับมีการตั้งสถาบันการศึกษาชื่อ "สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ" เพื่อค้นคว้าประวัตฺศาสตร์โบราณคดี สังคมและวัฒนธรรมของบ้านเมืองในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

การที่นักปราชญ์นักวิชาการฝรั่งเศสเข้ามาศึกษาค้นคว้าในประเทศไทย นับว่าได้สร้างความก้าวหน้าให้แก่วงการวิชาการทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมในดินแดนประเทศไทยเป็นอย่างสูง ทำให้นักปราชญ์นักวิชาการของไทยสมัยนั้นเชื่อถือและใช้อ้างอิงอย่างไม่มีการทบทวนถึงเจตนาที่แอบแฝงและซ่อนเร้น

ผลที่ตามมาก็คือเมื่อมีกรณีพิพาทกันเรื่องการเมืองและดินแดน ฝรั่งเศสได้ใช้ผลงานวิชาการที่ตนเองสร้างขึ้นและทางฝ่ายไทยยอมรับเป็นข้ออ้างในการเข้ายึดครองและอ้างความชอบธรรมของฝรั่งเศสกับรัฐบาลไทย

แม้ว่านักวิชาการต่างชาติบางชาติก็มีความดีอยู่ แต่ก็มีหลายพวกโดยเฉพาะนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสนั้นมักแฝงเข้ามาในรูปของนักบุญคนบาป เช่น ม.ปาวี เป็นต้น

บทความนี้ได้สรุปประเด็นนี้ว่า เป็นที่น่าเสียใจอยู่ก็คือว่า ทั้งๆที่รู้ว่านักวิชาการเหล่านั้นเอารัดเอาเปรียบประเทศไทยอย่างไร บรรดาคนไทย นักวิชาการไทยเป็นจำนวนมากก็ยังเห็นว่าเขาดี เขาถูกต้อง เพราะว่าพวกตนมีความสัมพันธ์ในฐานะเขาเป็นครู ผู้อบรมสั่งสอนวิชาให้ ก็ยังคงหวังพึ่งพาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่เรื่อยๆ

  • ในบทความหลัก กล่าวถึงความสำคัญของปราสาทเขาพระวิหารว่าแผนผังและสภาพแวดล้อม ที่ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดลูกหนึ่งบนเทือกเขาพนมดงรัก สูงโดดเด่นอยู่เหนือเทือกเขา กระตุ้นให้คิดไปถึงการที่เป็นที่สถิตของเทพเจ้าผู้ทรงอานุภาพ 

แม้ว่าเทวาลัยแห่งพระศิวะจะอยู่ในตำแหน่งที่มองลงสู่เขมรต่ำของกัมพูชา แต่เทวาลัยก็หันหน้าลงสู่ที่ราบสูงโคราชในลักษณะที่สอดคล้องกันกับทางขึ้นที่มีโคปุระอยู่ทุกระดับความสูง ตั้งแต่ตีนเขามายังยอดเขา ทำให้ตีความไปเป็นอื่นไม่ได้ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานสำคัญของบ้านเมืองในภูมิภาคนี้ด้วย เพราะผู้คนจากกัมพูชาในแดนเขมรต่ำ หากจะพากันมากราบไหว้และทำพิธีกรรม ถ้าหากไม่เข้ามาในที่ราบสูงโคราชก่อนก็ต้องปีนป่ายเข้ามาทาง บันไดหัก ที่สูงชันและแสนลำบาก

ปราสาทเขาพระวิหารมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับปราสาทวัดภูในเขตเมืองจำปาศักดิ์ ในประเทศลาวอย่างมาก ทั้งปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทวัดภูเป็นศาสนสถานที่นักวิชาการกล่าวว่าตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นกลางทางการเมือง คือเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญที่ผู้คนจากเมืองต่างๆ รัฐต่างๆที่นับถือศาสนาเดียวกันก็มีโอกาสไปกราบไหว้และประกอบพิธีกรรม

อาจมีชุมชนและอาศรมของพวกนักพรตดาบสในบริเวณนี้หรือใกล้เคียง แต่ยังไม่มีการค้นคว้าเพราะมัวไปสนใจตัวปราสาทกันมากกว่า

(พี่ยังไม่เคยไปปราสาทเขาพระวิหารเลยค่ะ แต่พออ่านบทความนี้ อยากไปเยือนสักครั้งค่ะ โดยเฉพาะที่กล่าวว่า ...)

สำหรับเขาพระวิหารนั้น ถ้าจะดูที่ความสวยงามและความใหญ่โตของปราสาทก็คงไม่สู้กระไร เทียบกับปราสาทหินพิมายหรือพนมรุ้งไม่ได้ แต่ถ้าดูในเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งและภูมิทัศน์โดยรอบแล้ว นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เกือบไม่มีที่ใดในเขตประเทศไทย กัมพูชา และลาว เทียบเท่าได้

  • และที่น่าสนใจมาก คือความเห็นของคุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งเขียนไว้ในคอลัมน์ สยามประเทศไทย "กรมศิลปากร ต้องเผยแพร่ความรู้ปราสาทเขาพระวิหาร ที่เป็นจริง ไม่ปลอม" ในหน้าเดียวกันค่ะ

.....ผมเข้าใจดีว่ามี"ฟอสซิล"อยู่เต็ม กรมศ....และกระทรวงว....(พี่ขอไม่พิมพ์เต็มนะคะ).เพราะสำนึกของข้าราชการในกรมและกระทรวงนี้มีกำเนิดจากโลกล้านปียุคไดโนเสาร์ ทำให้ "วิธีคิด" และ "วิธีทำ" ของพวกเขากับของโลกภายนอกต่างกันมาก ฉะนั้นกรณีปราสาทเขาพระวิหาร พวกเขาก็พากันยินยอมพร้อมใจตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายล้าหลัง-คลั่งชาติ กระหายสงคราม แทนที่จะใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของตัวเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพให้เครือญาติทั้งสุวรรณภูมิ....

 

พี่ว่ายุคนี้เราควรสร้างความสัมพันธ์กับเครือญาติเราให้แข็งแกร่ง เกื้อกูลกัน จะได้เจริญรุ่งเรือง สงบร่มเย็นกันทั้งภูมิภาคจะดีกว่า เป็นใหญ่คนเดียวแล้วหาความสุข ความสงบไม่ได้นะคะ

สวัสดีครับน้องนุช

  • โอย...พี่พลาดข้อมูลนี้ไปได้อย่างไรนะ  ขอบคุณมากๆ ครับ
  • คำกล่าวนี้ ..... (พี่ยังไม่เคยไปปราสาทเขาพระวิหารเลยค่ะ แต่พออ่านบทความนี้ อยากไปเยือนสักครั้งค่ะ โดยเฉพาะที่กล่าวว่า ...)

    สำหรับเขาพระวิหารนั้น ถ้าจะดูที่ความสวยงามและความใหญ่โตของปราสาทก็คงไม่สู้กระไร เทียบกับปราสาทหินพิมายหรือพนมรุ้งไม่ได้ แต่ถ้าดูในเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งและภูมิทัศน์โดยรอบแล้ว นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เกือบไม่มีที่ใดในเขตประเทศไทย กัมพูชา และลาว เทียบเท่าได้    เห็นด้วยมากๆเช่นกันครับว่าท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ ที่กล่าวเช่นนั้น ความสมบูรณ์แทบไม่เหลือ รอการบูรณะที่อาจใช้เวลานับสิบปี ซึ่งกัมพูชาคงต้องการความเป็นมรดกโลกดึงงบประมาณมาซ่อมบำรุง แต่หากศึกษาประวัติศาสตร์การก่อสร้างที่ใช้เวลาถึงสามร้อยปี ประมาณ 4-5 ชั่วคนก็ถือว่ายิ่งใหญ่ ที่ศรัทธาของคนที่มีต่อความเชื่อนั้น ยิ่งใหญ่นัก  เมื่อมาพิจารณาที่ตั้งแล้วก็ยิ่งวิเศษเลิศเลอไปหมด  ไม่มีที่ไหนจะมีภูมิทัศน์ที่ดีที่สุดเท่านี้อีกแล้ว  ยิ่งเป็นศาสนสถาน ยิ่งเพิ่มความยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีกมากมายนัก

  • พี่เห็นด้วยกับการบูรณะและเร่งศึกษารายละเอียดของประวัติศาสตร์และเบื้องหลังการก่อสร้างที่มีสถานที่มากมายอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย เอาประวัติศาสตร์นี้มาเรียนรู้สังคมโบราณและพัฒนาการทางสังคม ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ฯลฯ โดยเฉพาะระบบการศึกษาในท้องถิ่นควรเข้าใจเรื่องราวของท้องถิ่นให้มากๆ

  • กัมพูชาเขามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการองค์ปราสาทเขาพระวิหารด้อยค่าลงไป เพราะการทำมาหากินที่ไม่ได้ถูกจัดระบบให้เข้าที่เข้าทาง น่าสงสารขณะเดียวกันก็เสียดายที่ความไม่มีระบบนี้จะมีส่วนทำให้ความสมบูรณ์ขององค์ปราสาทลดลงไปด้วยเพราะ อาจจะไม่รู้คุณค่า  โดยเฉพาะสงครามที่ผ่านมา ร่องรอยคือ มีการทำบังเกอร์ ทั้งที่เป็นสถานที่เก็บอาวุธ และที่พัก ทหารไปแบกเอาหินจากซากองค์ปราสาทมาก่อสร้างเป็นบังเกอร์...? ดูรูป

เดี๋ยวพี่จะเขียนแนะนำการเดินทางไปเขาพระวิหารครับ  เรื่องปราสาทเขาพระวิหารมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจครับ

ขอบคุณน้องนุชมากๆที่มาเพิ่มข้อมูลให้มีสาระมากขึ้นโขเลยครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

อ่านและดูรูปก็เกิดความประทับใจมากแล้ว

ยังมาเจอพี่นุช น้องเบิร์ด กับพี่บางทรายให้ข้อมูลเพิ่มเติมกันอีก

ดีจังเลยค่ะ

เราเสียเปรียบต่างชาติ เพราะเราเป็นชาิติที่ไม่ค่อยบันทึกค่ะ การบันทึกเป็นจุดกำเนิดของการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งสิ่งที่บันทึกก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ด้วย แต่ของเรามีน้อยมากจริงๆ และนิสัยรักการอ่านการเขียนก็ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของคนไทยเท่าไหร่นัก แม้ว่าเราจะมีภาษาและตัวหนังสือเป็นของตัวเอง.. เคยคุยกับฝรั่งเขายังคาดไม่ถึงเลยค่ะ บางทีเขาก็คิดว่าเราใช้ตัวหนังสือโรมันมาสะกดไปหมดทำนองนั้น

เรามีอะไรดีๆ มาก แต่ขาดการบันทึกค่ะ จะพยายามสอนนักศึกษาเสมอ แต่ยังไม่ค่อยได้ผล เพราะมาช่วงปลายการศึกษาของเขาแล้ว แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำค่ะ

ต้องช่วยกันต่อไป ^ ^

สวัสดีครับ

คุณนายดอกเตอร์กล่าวได้โดนใจมาก

เราควรสร้างความสัมพันธ์กับเครือญาติเราให้แข็งแกร่ง เกื้อกูลกัน จะได้เจริญรุ่งเรือง สงบร่มเย็นกันทั้งภูมิภาคจะดีกว่า เป็นใหญ่คนเดียวแล้วหาความสุข ความสงบไม่ได้

สำหรับคนที่ไม่ใช่เครือญาตินั้น สมควรชี้ให้เห็นถึงธาตุแท้ แม้เวลาผ่านไปเพียงใด ก็ควรนำมาเปิดโปงเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักและจดจำไว้

ประวัติศาสตร์นั้นเรียนรู้ได้ บิดเบือนได้....แต่ลืมไม่ได้

แม้จะกำหนดจิตอโหสิให้ตามหลักพุทธศาสนา

แต่ความจริงก็คือความจริง

เฉพาะในเรื่องนี้ ผมเสียดายเวลาที่ผ่านมา ไทยเรามีนักกฏหมายระหว่างประเทศที่เก่งระดับประเทศเหมือนกัน แต่ไม่มีการศึกษากรณีพิพาทนี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ มิใช่เพื่อมุ่งเรียกร้องหรือต้องการทำลายความสัมพันธ์ แต่เพื่อหาข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ในอดีตและนำข้อสรุปที่ถูกต้องมาเป็นองค์ประกอบในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น 

ในประวัติศาสตร์โลกนั้น ชนะก็ต้องบันทึก และเช่นกันแพ้ก็ต้องบันทึก แต่ที่สำคัญ ขอให้บันทึกด้วยความถูกต้อง.........

ขอจบด้วยคำที่ว่า เครือญาตินี้ มีความสำคัญจริงๆ 

ผมหมายถึงชมพูทวีปและสุวรรณภูมิครับ

 

สวัสดีครับอาจารย์น้อง P 11. กมลวัลย์

เราเสียเปรียบต่างชาติ เพราะเราเป็นชาิติที่ไม่ค่อยบันทึกค่ะ การบันทึกเป็นจุดกำเนิดของการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งสิ่งที่บันทึกก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ด้วย แต่ของเรามีน้อยมากจริงๆ และนิสัยรักการอ่านการเขียนก็ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของคนไทยเท่าไหร่นัก แม้ว่าเราจะมีภาษาและตัวหนังสือเป็นของตัวเอง.. เคยคุยกับฝรั่งเขายังคาดไม่ถึงเลยค่ะ บางทีเขาก็คิดว่าเราใช้ตัวหนังสือโรมันมาสะกดไปหมดทำนองนั้น

เรามีอะไรดีๆ มาก แต่ขาดการบันทึกค่ะ จะพยายามสอนนักศึกษาเสมอ แต่ยังไม่ค่อยได้ผล เพราะมาช่วงปลายการศึกษาของเขาแล้ว แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำค่ะ

------

ใช่เลย ใช่เลยครับ...การบันทึกเป็นจุดกำเนิดของการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งสิ่งที่บันทึกก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ด้วย....เราขาดจริงๆ ที่มีอยู่ก็น้อยนิด เราต้องศึกษาตัวเราเองจากการบันทึกของชาวต่างชาติ

ยิ่งสังคมปัจจุบันสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจสร้างระบบ instant มาหมดสิ้นจนเสียนิสัยไปหมด

ทำไปเถอะครับที่จะสั่งสอนลูกศิษย์ให้ทำการบันทึก  อย่างน้อยที่สุดก็ได้ทำ  ไม่ใช่เพียงคิดจะทำครับอาจารย์น้องครับ

สวัสดีครับ P พลเดช วรฉัตร

 

เราอาจจะเรียกว่า "วุฒิภาวะทางประวัติศาสตร์" ว่าการศึกษาให้เข้าใจเพื่อจะนำข้อบกพร่องในอดีตมาเป็นบทเรียนแต่สร้างสรรค์สันติภาพแห่งการอยู่ร่วมกัน

วัตถุโบราณประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่นั้น มันควรจะเป็นของมวลมนุษยชาติ  เพราะใครจะเก็บเอาไว้เป็นส่วนตัวนั้นมันเป็นการหลงและเป็นการสร้างสมกิเลสอันเป็นบ่อเกิดของความวินาศในท้ายที่สุด  นี่อาจจะเป็นความคิดที่สุดโต่งไปก็ได้นะครับ  แต่ผมคิดเช่นนั้นจริงๆ เพราะโลกเราไม่สามารถอยู่เพียงโดดเดี่ยว เราต้องมีเพื่อนร่วมโลกที่มีความแตกต่าง หลากหลาย แน่นอนเราต้องสร้างสำนึกเช่นนี้ร่วมกัน และใช้เวลาครับ

ประวัติศาสตร์ เมื่อผ่านมาเราก็รู้ว่าอะไรคืออะไร คนรุ่นหลังจึงสมควรเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อฝึกฝนเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อสร้างความรู้ และสติ เพื่อประคับประคองความถูกต้องให้เกิดขึ้นแก่อนาคต

ผมมีข้อมูลเรื่องคดีเขาพระวิหารครับ เดี๋ยวจะขออนุญาตผู้ศึกษาเอามาลงครับ ท่านทูตคงมีข้อมูลอยู่แล้วและหรือมากกว่าที่ผมมีอยู่  แต่น่าจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะด้วยครับ

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามผมสนับสนุนความรักแห่งมวลมนุษยชาติและเครือญาติแห่งท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างท่านทูตกล่าวครับ

คุณบางทรายครับ

ขอบคุณครับ

เคยมีพระท่านหนึ่งบอกผมว่า

สิ่งที่ทุกศาสนาบุชากันนั้น ล้วนเชื่อมโยงกันหมด

ก็หมายความ เป็นเครือญาติกันหมดครับ

ท่านพลเดชครับ P 15. พลเดช วรฉัตร

 

พระท่านกล่าวเช่นนั้น เป็นที่สุดแล้วของมวลมนุษยชาติ สาธุ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท