ขอถามอาจารย์ว่าวิชาที่คุณสอนนั้น สอนไปทำไม?


ผมเพิ่งได้มีโอกาสดูสารคดีเรื่อง Declining by Degrees: Higher Education at Risks เป็นสารคดีที่เสนอปัญหาการศึกษาในอเมริกา คงทราบกันนะครับว่าอเมริกานั้นมีปัญหาเรื่องอันดับโลกในสาขาวิชาคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ และเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอด สิ่งที่ผมได้จากสารคดีเรื่องนี้ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์นัก แต่เป็นคำถามรวมๆ เกี่ยวกับระบบอุดมศึกษาของที่นี่ คำถามสำคัญมากๆ สองคำถามคือ

อะไรคือจุดมุ่งหมายของอุดมศึกษา? และ
ใครคือลูกค้าของสถาบันอุดมศึกษา?

สำหรับผมแล้ว คำถามที่ว่าอุดมศึกษามีจุดมุ่งหมายอะไร จะมองเป็นคำถามในระดับปรัชญาเลยก็ได้ หรือจะตอบแบบมองโลกแห่งความจริงก็ยังได้ นั้นคือเราสามารถตอบได้ว่าอุดมศึกษาคือการศึกษาระดับสูง การศึกษาของปราชญ์ หรือจะตอบว่าอุดมศึกษาคือการผลิตบุคลากรให้ตลาดแรงงาน
สมัยเป็นนักเรียน ผมมีปัญหากับบางวิชาว่า “จะเรียนไปทำไม” แต่ก็ไม่เคยถามอาจารย์ผู้สอนตรงๆ ว่าผมจะต้องเรียนวิชานี้ไปทำไม
แต่คนรุ่นใหม่กล้าแสดงออก สงสัยก็ถาม
ผมคิดว่าหลายๆ คนอาจจะเคยถูกถามว่า “ผมจะเรียนวิชานี้ไปทำไมครับ” “วิชานี้หนูจะเอาไปใช้ทำอะไรค่ะ”
มีอาจารย์ที่สอนวิชาภาพยนตร์ ถูกเด็กถามบ่อยว่า “เรียนภาพยนตร์ไปทำไม” “มันก็แค่ภาพยนตร์”
ท่านเขียนตอบไว้ดีมากครับ
ออกจะเป็นเรื่องน่าห่วงนะครับ ถ้ามีเด็กมาถามเรา แล้วเราอ้ำอึ้ง ตอบไม่ได้ว่าจะสอนไปทำไม นั้นเหมือนกับว่าสิ่งที่เราทำนั้นไม่มีความหมายอะไรกับเขา (และกับตัวเราเอง!) เลยสักนิด พูดง่ายๆ ก็คือเสียเวลากันเปล่าๆ
ผมเชื่อว่าถ้าเราตอบคำถามในระดับปัจเจกได้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ประโยชน์จะเกิดกับทุกฝ่าย และช่วยให้การตอบคำถามในระดับมหภาคที่ว่า “จุดมุ่งหมายของอุดมศึกษาคืออะไร” มีความเป็นไปได้มากขึ้น

ส่วนคำถามที่สองที่ว่าใครคือลูกค้าของสถาบันอุดมศึกษานั้นเป็นคำถามโลกแตกเลยก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันนี้การศึกษากับธุรกิจนั้นแยกกันไม่ออกแล้ว ถ้ามองกันในมุมของธุรกิจแล้วเราจะมองว่าใครคือลูกค้ากันแน่? ตัวนักเรียน ผู้ปกครอง หรือว่าสังคม? สิ่งหนึ่งที่สถาบันอุดมศึกษานำเสนอคือภาพของศักดิ์ศรี ความน่าเชื่อถือ (Prestige) ซึ่งในสารคดีพูดไว้ดีมากคือ “เรามักจะเหมาเอาศักดิ์ศรีสถาบันกับคุณภาพเป็นสิ่งเดียวกัน และสถาบันเองก็เอาภาพความหรูหรา อลังการ ทันสมัย มาเสนอ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กีฬาใหญ่โต ฟิตเนสแบบครบวงจร ทีมกีฬาเก่งๆ (โค้ชกีฬามหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกาได้เงินมากกว่าอธิการบดีครับ) มาเป็นภาพฝันเพื่อดึงดูดนักเรียน นักกีฬามหาวิทยาลัยก็กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างชื่อเสียงและดึงดูดผู้อุปถัมภ์เข้ามาเซ็นสัญญากับมหาวิทยาลัย แต่สัดส่วนนักกีฬามหาวิทยาลัยเองกลับน่าห่วง

ncaa grad

ส่วนในบ้านเรานั้น รุ่นพี่ผมคนหนึ่งที่เป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยเคยบอกว่า มหาวิทยาลัยคือสุสานนักกีฬา เพราะนักกีฬาส่วนใหญ่ก็จะเฮฮาตามกลุ่มเพื่อน สนุกสนานเฮฮาไปกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เรียกว่ามีสิ่งยั่วยวนมากกว่าสมัยเป็นนักเรียนมัธยมมากนัก ถ้าไม่ได้ผู้ฝึกสอนที่ดี ผู้ปกครองที่ดี โอกาสที่จะกลายเป็นดาวลับฟ้านั้นมีสูงเหลือเกิน
กลับมาที่ตัวคำถาม ถ้าจะเอามุมมองแบบปรัชญาเลยก็ต้องตอบว่าผิดตั้งแต่การตั้งคำถาม เพราะการศึกษานั้นไม่ใช่ธุรกิจ ผู้เรียนเข้ามาเรียนรู้ส่วนผู้สอนก็คอยแนะแนวและถ่ายทอดความรู้ตามสมควร แต่ตอบแบบนี้ก็ดูจะดัดจริตไปหน่อย และคงไม่ช่วยอะไร เพราะเห็นๆ กันอยู่ว่าสถาบันการศึกษานั้นใช้โครงสร้างธุรกิจในการดำเนินการ ถ้าเป็นแบบนี้แล้วคงต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าลูกค้าคือคนจ่ายเงิน เพื่อแลกกับบริการคือความรู้ ทักษะในการทำงาน หรือแค่ใบปริญญา ความมุ่งหวังของลูกค้าแต่ละรายก็ต่างกันไป

ตอบได้แล้วว่าใครคือลูกค้า มันก็วนกลับมาที่คำถามแรกอีกครั้งนะครับ ว่าแล้วลูกค้าต้องการอะไร? และสถาบันนั้นๆ มีอะไรเป็นสินค้าและบริการ ผมว่าคนที่ตอบได้ชัดน่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษา ส่วนลูกค้านั้นก็เลือกหาสินค้าและบริการเอาตามแต่ที่มีการเสนอ

สรุปแล้วผมคงไม่สามารถตอบคำถามที่ว่าใครคือลูกค้าได้ และก็ขอโบ้ยไปให้สถาบันเป็นคนตอบ
แต่สำหรับคำถามแรกนั้นผมแค่หวังว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้จะสามารถตอบนักเรียนได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าพวกเขามาเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ ในชั้นเรียนกับผมทำไม

ใครมีคำตอบกับทั้งสองคำถามนี้แล้วบ้างครับ?

ภาพประกอบ
ภาพ http://farm2.static.flickr.com/1315/543951137_63902e1d9a_d.jpg โดย jl_noguer
ภาพ Basketball Team Graduation Rates จากบทความ Academic Madness in March

หมายเลขบันทึก: 177117เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2008 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขออนุญาต แก้ไข คำว่า "ภาพยนต์" เป็น "ภาพยนตร์" ค่ะ

P

ขอบคุณอาจารย์จิตติมาครับ แก้คำผิดเรียบร้อยแล้วครับ

หลายๆ คนอาจจะเคยถูกถามว่า “ผมจะเรียนวิชานี้ไปทำไมครับ” “วิชานี้หนูจะเอาไปใช้ทำอะไรค่ะ”

ผมไม่รู้ว่าลูกศิษย์จะมาไม้ไหน จะถามลองเชิง หรือถามเพราะบ้องตื้นจริงๆก็ไม่รู้ แต่ถ้าผมเป็นอาจารย์ ผมก็จะถามคำถามตอบเขาไปสองข้อ

ข้อแรก ทำไมคุณถึงถามอย่างนี้ (ทำไมไม่ทำอย่างนักศึกษาคนอื่นๆที่เรียนโดยไม่ต้องตั้งคำถามก็ได้)

ข้อสอง ถ้าคุณอยากรู้จริงๆ ให้เอากระจกส่องตัวเอง แล้วถามคนในกระจกนั้นดู

ถ้าตอบตัวเองไม่ได้จริงๆ แล้วค่อยมาคุยกัน

ผมก็อาจจะให้รายชื่อหนังสือเขาไปสองสามเล่ม แนะนำให้เขาไปคุยกับคนหลากหลายอาชีพ หลากหลายฐานะสักห้าคน แล้วหนึ่งเดือนผ่านไป ให้เขากลับมาคุยกันกับผมอีกที

คำตอบสำเร็จรูปมันก็ง่ายดี แต่กิน "ไวไวควิ๊ก" บ่อยๆ มันไม่ดีต่อสุขภาพนะครับ

สวัสดีปีใหม่ครับพี่วิสุทธิ์

อย่างที่พี่ให้ความเห็นไว้ ผมเห็นด้วยว่า่การถามกลับเป็นการตอบคำถามที่ดีนะครับ

แต่อันนี้ต้องอยู่ที่ท่าทีคนถาม ถ้าถามลองเชิงหรือถามเพราะเบื่อเรียนก็คงต้องคุยกันนาน แต่ถ้าถามเพราะความใฝ่รู้อันนี้ต้องถามกลับ ว่าไหมครับ?

ทานไวไว ก็ใส่ผักใส่หมูไปบ้าง คงพอได้สารอาหารนะครับ แหะๆ

ขอบคุณครับ

ใช้เวลาอยู่เกือบชั่วโมงเพื่อหาวิดีโอที่ อ.จันทวรรณ แปะเอาไว้เมื่อ 6 ปีก่อน ผมนึก keyword ไม่ออกเลยหาจาก youtube ไม่ได้ ต้องขอบคุณอาจารย์ที่แปะเอาไว้นะครับนี่ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท