จับภาพ KM ในเครือข่ายทีมสุขภาพชุมชนอีสานตอนล่าง (ตอนที่ 2)


         ต่อจากตอนที่แล้วนะคะ (Link ตอนที่แล้ว)  ยังเป็นการเดินทางในวันแรก (25 ก.พ. 49)  เราเดินทางมาดูอีก 2 ที่ คือ สถานีอนามัยมะค่า  นครราชสีมา  และ ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

        AAR สถานีอนามัยมะค่า นครราชสีมา :  หลังจากออกจากหนองบัวโคก ชัยภูมิ    คุณหมอวิวัฒน์ก็พาเรามาแวะเยี่ยมสถานีอนามัยมะค่า

                - เป้าหมาย : มาดูสถานีอนามัยที่เขาบอกว่าใช้เงินของชุมชนสร้าง และได้รางวัลต่างๆ

                - สิ่งที่บรรลุตามเป้าหมาย ได้คุยกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย 2 ท่าน คือ คุณนวล และ คุณสังวาล  เล่าให้ฟังว่า  สถานีอนามัยมะค่า  มาจากที่ชาวบ้านอยากให้ชุมชนมีหมอ, มีคนดูแลผู้ป่วย   ก็เลยมีการทอดผ้าป่ารวบรวมจัดหาเงินบริจาคเพื่อมาสร้างสถานีอนามัยนี้ขึ้นมา  คนที่มาเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยก็เป็นคนในชุมชนมะค่า  ดังนั้นเวลาทำแผนหรือกิจกรรมอะไรต่างๆ ก็จะต้องได้รับความเห็นด้วยของชุมชน   ชุมชนก็จะมีส่วนร่วมมาก มีการจัดเวทีคุยกับชาวบ้านตลอดเวลา  แล้วก็เล่าถึงยุค ผอ. วรรณา  (ผอ. สถานีอนามัย) ที่มีความขยันมุ่งมั่นมาก ทำสิ่งที่มีประโยชน์มากมายทำให้ชาวบ้านมีความศรัทธาในสถานีอนามัย  และให้เงินบริจาคสนับสนุนกับสถานีอนามัยนี้    คุณนวล และคุณสังวาล เน้นว่าเราต้องทำงานอย่างจริงใจ เต็มที่ เพื่อให้ชาวบ้านเกิดศรัทธา แล้วความร่วมมือต่างๆจากชุมชนก็จะตามมาเอง            

                คุณหมอธนะพงศ์   ซึ่งเคยมาเป็นแพทย์ตรวจรักษาที่สถานีอนามัยมะค่านี้เล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนเวลา รพ. ทำกลุ่มให้คนไข้ จะเห็นว่าคนไข้ไม่ค่อยพูดเท่าไหร่ (อาย)     แต่พอมาทำกลุ่มที่นี่ ปรากฏว่าคนไข้พูดเยอะ ถามเยอะ เล่าให้ฟังหมดเลย  ก็แปลกใจเลยถามคนไข้ว่าทำไมเวลาไป รพ. ไม่ค่อยพูด แล้วอยู่ที่นี่พูดเก่งจัง  ได้คำตอบมาว่า เวลาหมอมาที่นี่หมอเป็นแขก  เขาเป็นเจ้าภาพ (เจ้าของบ้าน เจ้าของพื้นที่)  ก็ต้องต้อนรับหมอให้ดี ต้องคุยด้วยซิ (หมอถึงบางอ้อ)          จากนั้นคุณนวล และคุณสังวาล ก็พาเราเดินชมสถานีและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ   พอทีมจาก รพ. เขาวง เห็นบอกเราว่าที่นี่สะอาดมากจริงๆ  เลยถามว่าจ้างบริษัทที่ รพ. เขาจ้างกันหรือใครทำความสะอาด  ก็ได้คำตอบและชี้ไปที่ลุงคนหนึ่งว่าเป็นผู้ดูแลความสะอาดของสถานีแห่งนี้ซึ่งลุงคนนี้ก็เป็นคนในพื้นที่   แล้วทีมเขาวง ก็ไปเห็นเก้าอี้ชุดทำฟัน 2 ชุดในสถานี  ก็ถามอีกว่าทำไมมีตั้ง 2 ตัว เพราะโดยปกติจะได้แค่ตัวเดียว  ได้คำตอบว่าชุดทำฟันอีกชุดหนึ่งมาจากเงินบริจาคของชาวบ้าน (น่าชื่นชมจังค่ะ)   อีกจุดที่สะดุดตาทีม รพ. เขาวง คือ บัตรคิวคนไข้  ซึ่งทำเองเป็นกระดาษแล้วเคลือบพลาสติก มีหมายเลขคิวอยู่ด้านหน้า  ที่เป็น Ideal สร้างสรรค์ คือ ข้างหลังเป็นคำอธิบายสั้นๆ ถึงการดูแลสุขภาพต่างๆ   ความรู้เกี่ยวกับโรค เช่น ไข้เลือดออก และอื่นๆ   ถามไปได้คำตอบมาว่าคนไข้ที่รอจะได้ไม่เบื่อ  ให้อ่านอะไรไปพลางๆ แล้วได้ความรู้ด้วย

                - สิ่งที่ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย : ไม่มี  แต่พอฟังเรื่องเล่าแล้วอยากเห็นเวลาเขาทำกลุ่ม หรือจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้าน  แต่เราไปเกือบเย็นแล้ว และไม่ใช่วันที่เขาทำกลุ่มกัน (เลยอดค่ะ)

                - สิ่งทีคิดว่าจะกลับไปทำ  เอามาเล่าใน สคส. และเผยแพร่เรื่องดีๆ ลงใน Blog ค่ะ

                    อีกที่ที่เราแวะไปเยี่ยมชมในวันแรกนี้ คือ ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (ศูนย์สาธิตและส่งเสริมงานศิลปาชีพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ. นครราชสีมา  ไปเจอเขากำลังทำ Workshop สร้างแกนนำชุมชนเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด  แต่เนื่องจากเวลาก็เย็นใกล้ค่ำแล้ว รวมทั้งทีมเราก็เริ่มล้า (เพราะเมื่อวานออกเดินทางมาจาก กทม. ตอนเที่ยงคืน)  เลยไม่ได้คุยรายละเอียดของกระบวนการทำ Workshop  แต่เห็นว่าสถานที่ศูนย์นี้กว้างขวางดี มีห้องและพื้นที่ให้ทำกิจกรรมมากมาย พร้อมมีฐานสาธิตปลูกผัก เลี้ยงวัว ทอไหม งานปั้น ฯลฯ ให้ดู  มีที่พัก ที่วิ่ง และตั้งแคมป์ได้  ค่าอาหารและที่พักต่อคนก็ถูกค่ะ    ถ้าใครสนใจเก็บเป็น list สถานที่ไว้จัดกิจกรรมก็ได้นะคะ  ตั้งอยู่ระหว่าง ถ. พิบูลละเอียด  กับ ถ. เดชอุดม  ติดสวนน้ำลิมพระเกียรติฯ ร.9 (บุ่งตาหลั่ว) ค่ายสุรนารี   โทร. 044-255530-9 ต่อ 22468, 23176  (เห็นว่า Node  ภาคอีสานของ สสส. ไปใช้บ่อยค่ะ)

คำสำคัญ (Tags): #จับภาพ#km#aar
หมายเลขบันทึก: 17704เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท