ชื่นชมอุดมศึกษาไทย : การเรียนรู้เพื่อความเป็นมนุษย์ที่แท้


 

          เมื่อวันที่ ๑๙ มี.ค. ๕๑ สภามหาวิทยาลัยมหิดล เชิญ ผศ. นพ. เอื้อพงศ์ จตุรธำรง  และ รศ. นพ. ทวี เลาหการ ผู้รับผิดชอบประสานงานการจัดการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของ นศ. ปี ๑ จำนวน ๓,๐๐๐ คน ของมหาวิทยาลัยมหิดล    มาเล่าวิธีการจัดการเรียนการสอนในส่วนหนึ่งของหมวดนี้   ซึ่งจัดเป็นปีแรก   เป็นนวัตกรรมของการเรียนรู้  เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ ที่น่าชื่นชมมาก 
          ในการออกแบบการเรียนรู้   ได้ใช้ความหมายของคำว่า “การศึกษาทั่วไป” ที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต) ให้ไว้ ว่าหมายถึง การศึกษาเพื่อยกระดับจิตใจ  ศึกษาความรู้ทั่วๆ ไป  เพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษยที่สมบูรณ์ - เป็นบัณฑิต    ในการจัดการเรียนเอาคนเป็นหลัก ไม่ใช่เอาวิชาเป็นหลัก  เอาคุณภาพคนเป็นเป้าหมาย
          ได้นำเอาหนังสือ ๒ เล่ม ที่แต่งโดยพระพรหมคุณาภรณ์ มาจัดพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน ให้ชื่อว่า “การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิต” ใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบรายวิชานี้
          จัดให้เรียนแบบปฏิสัมพันธ์  ตอนปลายเทอมมีการนำเสนอ    เรียนแบบวิเคราะห์กรณี ศึกษา  เรียนให้เกิดปัญญา  เกิดอิสรภาพ ความสุข   เรียนการนำเสนออย่างมีประสิทธิผล    มีการทำโครงงานกลุ่ม และนำเสนออย่างมีประสิทธิผล   
          การนำเสนอในวันนี้ เสนอด้วย PowerPoint ประกอบเสียง    เราจึงได้เห็นพลังที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เป็น case-based learning, team-based learning, การเรียนรู้โดยการทำโครงงาน, learn by presentation   เป็นการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์และใช้ศักยภาพของนักศึกษาที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก 
          เรื่องการศึกษาทั่วไปนี้ เป็นขบวนการ หรือความเคลื่อนไหวใหญ่ของวงการอุดมศึกษาไทย   ทุกมหาวิทยาลัยดำเนินการเรื่องนี้    ในแผนอุดมศึกษาระยะยาวก็มีระบุไว้   ปัญหาหลักจะอยู่ที่การจัดการ    ว่าทำอย่างไรจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา เกิดความสุข    แล้วทีมของมหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ทดลองและค้นพบ
          อ. หมอประเวศ เล่าว่า ท่านเพิ่งไปพูด keynote ให้ เครือข่ายการศึกษาทั่วไปอุดมศึกษาไทย เมื่อวันที่ ๑๘ มี.ค. ๕๑ ที่ มช.    ผมลองค้นด้วย Google พบข้อมูลการประชุมนี้ดังนี้ http://www.eqd.cmu.ac.th/AcademicMeeting/Default.asp  และมีเว็บไซต์ของเครือข่ายนี้ ที่ http://www.genednetwork.or.th/index.htm    จึงได้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของวงการอุดมศึกษาไทยที่น่าชื่นชม   จากผลการค้นนี้พบว่า มก. มีสำนักงานจัดการศึกษาทั่วไป และมีการจัดกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ อ่านได้ที่   http://www.gened.chula.ac.th/download/seminarge50.doc   จุฬาฯ จัดให้มีเครือข่ายวิชาการศึกษาทั่วไป และมี เว็บไซต์ โดยเฉพาะ  อ่านได้ที่http://www.gened.chula.ac.th/cms/index.php?id=73&L=1   มข. จัดให้มีสำนักวิชาศึกษาทั่วไป อ่านได้ที่  http://gotoknow.org/post/tag/การศึกษาทั่วไป    สรุปว่าเพราะ สกอ. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ต้องมีหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป ๓๐ หน่วยกิต   มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงลุกขึ้นมาจัดทำเรื่องนี้
          เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ที่หลักการดี   แต่เวลาปฏิบัติก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง    เรื่องวิชาการศึกษาทั่วไป หัวใจอยู่ที่การปฏิบัติ หรือการจัดการเรียนรู้ให้สนุก    และมหาวิทยาลัยมหิดลก็ค้นพบวิธี    เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยอื่นอีกหลายแห่งก็คงมีการค้นพบดีๆ ด้วยเช่นกัน    การนำวิธีการที่ได้ผลดีมาเล่าเรื่อง ลปรร. กัน จึงมีค่ามาก
          แม้ค้นพบวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ดี นักศึกษาชอบ ก็ไม่ใช่ว่าความคึกคักของวิชานี้จะยั่งยืน   เพราะมักมีปัญหาที่อาจารย์ต้องมารับภาระเพิ่ม    เคล็ดลับของความยั่งยืน คือต้องจัดให้นักศึกษาก็สนุก อาจารย์ก็สนุก และ rewarding สำหรับอาจารย์ด้วย    reward อย่างไร เป็นเรื่องของฝ่ายจัดการของมหาวิทยาลัย
          ผมมองว่า มีโอกาสพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปได้อีกมากมาย   เช่นการจัดให้บูรณาการเข้ากับชีวิตประจำวันในหอพัก   การจัดร่วมกับค่ายอาสาของนักศึกษา    จัดร่วมกับวิชาอื่นๆ ที่เน้นเนื้อหา เป็นต้น
          มหาวิทยาลัยมหิดลน่าจะนำเรื่องราววิธีการจัดการเรียนรู้ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่ประสบความสำเร็จนี้ ขึ้นเว็บ    เพื่อ ลปรร. กับมหาวิทยาลัยอื่น   และเพื่อบอกผู้ปกครองนักเรียนว่า หากเขาส่งลูกที่สมองดีของเขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดการเรียนรู้ที่ขยายความดีและความเก่งของลูกของเขาอย่างไร

 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ มี.ค. ๕๑

                  

 

 

หมายเลขบันทึก: 171820เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2008 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท