ความในใจของอาจารย์ไอทีที่สอนวิชาที่เด็กมองว่า อยากลองของ


การพัฒนาเด็กให้มีความรู้และความสามารถ

ย้อนกลับไปประมาณ 16 ปีที่แล้ว ในขณะที่อยู่ ม. 5 ก่อนสอบชิงทุน ก.พ. เราได้ตั้งจิตอธิษฐานกับ ร.5 ว่าหากเรามีความสามารถที่จะเรียนปริญญา ตรี โท เอก จนจบและยังมีความตั้งใจที่จะช่วยพัฒนาประเทศเมื่อจบเอกแล้ว  ก็ขอให้เด็กบ้านนอกอย่างเราที่ยังอยู่ ม. 5 สอบติดทุน  ทั้ง ๆ ที่เราประสบอุบัติเหตุ ถูกรถชนก่อนสอบประมาณ 10 กว่าวัน หมอก็บอกว่า ไม่ต้องไปสอบ  เราก็อ่านหนังสือขณะที่เราอยู่บนเตียงหลังผ่าตัด  จากนั้นเราก็เดินทางเข้ากรุงเทพครั้งแรกเพื่อไปสอบชิงทุน โดยมีแม่เราพาเราไปสอบที่กรุงเทพ

 

ตอนนี้ เราจบเอกแล้ว กลับมาสอนแล้ว และเราก็ทำทุกอย่างดีที่สุดที่เราคิดว่าจะมีส่วนช่่วยพัฒนาประเทศ  แต่บางครั้ง เราก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นดีหรือไม่  วิชาที่เราสอน เด็กกลับมองว่า เป็นวิชาที่อยากลองของ เป็นวิชาที่งานเยอะมาก ถ้าหากเราไม่ได้เรียนตรีที่อเมริกา  เราก็อาจจะไม่ให้งานเยอะแบบนี้ เพราะเรา เรียนที่นั้น เขาให้การบ้านเกือบทุกสัปดาห์ในทุกวิชาในสายอาชีพ แต่ก็ทำให้นักศึกษารู้จริง เราก็เลยมีความคิดว่า เวลาเราสอน เพื่อจะให้นักศึกษาได้รู้จริง ก็น่าจะสอนแบบนี้ด้วย แต่ดูเหมือนว่า วิชาที่เราสอนจะมีกิตติศัพท์มาก เรื่องมีงานเยอะ  เด็กจึงพูดถึงวิชานี้ว่า "วิชาที่ไม่ค่อยมีคนกล้าลงกันเพราะกลัวอาจารย์ แต่ผมก็ลองของซะงั้น แล้วก็โดนของเล่นซะจริงๆด้วย"  ถ้าเราเลือกได้ เราก็คงเลือกที่จะไม่เป็นอาจาย์ที่นักศึกษากลัว และไม่เป็นอาจารย์ของวิชาที่เด็กมองว่าอยากลองของ  จริง ๆ ก็แค่อยากช่วยพัฒนาเด็กและให้ความรู้เด็กให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการที่เราให้งานเด็กไปทำก็ต้องแลกมาด้วยการที่เราต้องเสียเวลาตรวจการบ้านเด็กทุกวันหยุด  ในวันหยุด แทนที่เราจะได้พักผ่อน เราก็ต้องมานั่งตรวจการบ้านเด็กเกือบทั้งวัน  หรือแทนที่เราจะเอาเวลาไปหารายได้พิเศษ เพราะเราคิดว่า งานสอนเป็นงานหลัก สิ่งที่เราอยากทำมากที่สุดในฐานะที่เป็นอาจารย์ก็คือการพัฒนาเด็กให้มีความรู้และความสามารถ 

 

ถ้าหากใครมีวิธีที่จะทำให้เด็กมีความรู้และความสามารถ โดยไม่ต้องให้การบ้านเด็ก  ช่วยกรุณาเสนอวิธีหน่อยค่ะ อยากจะให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข รู้จริง และมีความพร้อมที่ดีในการทำงานต่อไป แต่ตอนนี้ดูเหมือนมันคงจะสวนทางกันอยู่สำหรับเด็กไทยที่ชอบสบาย และสภาพสังคมที่เด็กส่วนใหญ่ชอบแต่อ่านการ์ตูน เล่นเกม แชท หรือดูหนัง เป็นหลัก  ไม่ชอบอะไรที่เสียเวลานาน ไม่ชอบอะไรที่จะต้องทำเอง ค้นคว้าเอง อยากจะถามแล้วได้คำตอบเลย  แต่ในชีวิตจริงของการทำงาน เรามักจะเจอปัญหาที่เราต้องคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 167126เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2008 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (56)

เข้าใจและเห็นใจค่ะอาจารย์

ไม่รู้พี่หนิงแก่ไปหรือป่าว  กลัวเขาหาว่ามีช่องว่างระหว่างวัย  อิอิ  พี่รู้สึกด้วยตัวเองว่า  เด็กๆทุกวันนี้ไม่ค่อยชอบทำการบ้าน  หรือรายงานอ่ะค่ะ  หรือถ้าทำก็ ใช้ เทคนิค copy - paste ซะเยอะเลย

ความสะดวก  สบาย  หรือเทคโนโลยการศึกษามากไปหรือป่าวเนี่ย...

รายงานบางชิ้นของลูกๆที่ DSS จนพี่ต้องถามเขาว่า  ค้นมาแค่นี้  รายงานชิ้นนี้กี่คะแนนดิบ  หรือคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ 

พอทราบคะแนน  บางทีพี่หนิง  รู้สึกหมั่นไส้อ่ะค่ะ  ถ้าพี่เป็นอาจารย์ประจำวิชา  ทำมาแค่นั้น  พี่ให้ทำซ่อมใหม่อ่ะ

  • อยากบอกว่า ผมเองก็ให้การบ้านมากเหมือนกัน
  • แต่เป็นการบ้านที่นิสิตชอบ
  • เด็กที่ชอบกีฬา เช่นเด็กพละ ก็ให้อ่านภาษาอังกฤษเกี่ยวกับพละ
  • เด็กที่มาทางวิศวะ ก็ให้อ่านเรื่องที่เขาสนใจเกี่ยวกับวิศวะครับ
  • เป็นปกติครับ
  • เด็กบ้านเรา อยากเรียนจบเร็วๆๆได้เกรดดีๆได้เงินเดือนมากๆๆ
  • แต่ไม่อยากได้การบ้านมากๆเรียนแล้วได้ความรู้มากๆๆ
  • แบบนี้ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันครับ

ขอบคุณคุณ DSS "work with disability" ( หนิง ) ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ ใช่ค่ะ ตอนนี้ดูเหมือนว่านักเรียนนักศึกษาเขาเรียนเพื่อได้คะแนน เพื่อได้ปริญญา โดยลืมไปว่า เขาน่าจะเรียนเพื่อความรู้ เพื่อความสามารถ

ขอบคุณคุณ ขจิต ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ  การบ้านที่ให้ก็เกี่ยวข้องกับการเรียนโดยตรงค่ะ  แต่อาจจะแฝงการฝึกทักษะที่เขาต้องใช้ในการทำงาน เช่น การค้นคว้าหาความรู้ การสรุปความรู้ การเขียนบันทึกเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นต้น   เห็นด้วยค่ะ ว่าเด็กเขาอยากเรียนจบเร็ว ๆ ได้เกรดดี ๆ ได้เงินเดือนมาก ๆ โดยที่อาจจะไม่อยากทำงานมาก ชอบแบบลัดและสบาย ซึ่งคงจะไม่ยั่งยืนเท่าใด

สวัสดีครับ อาจารย์กานดา

ให้กำลังใจอาจารย์ ครับ :) ขอให้เชื่อมั่นในความตั้งใจดีของอาจารย์

  • ดิฉันเห็นด้วยกับท่านอจ.กานดาค่ะ ว่าเด็กสมัยนี้ชอบทำอะไรฉาบฉวยจัง ชอบอ่านการ์ตูน เล่นเกม แชท .. ซึ่งก็คงมีเด็กดีๆ อยู่นะคะ เพียงแต่มันน้อยลงๆหรือเปล่า แต่อย่างไรก็รู้สึกดีนะคะ ที่ยังมีอจ. ใส่ใจทุ่มเทกับการสั่งสอนอบรมลูกศิษย์แบบนี้
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งกับอจ. ขจิต ที่ว่าเด็กบ้านเรา อยากเรียนจบเร็วๆๆได้เกรดดีๆได้เงินเดือนมากๆๆ แต่ไม่อยากทำการบ้าน ได้ความรู้มากๆ  น่าหนักใจเหมือนกัน

 

อาจารย์ลองตั้งคำถาม why กับ how ในห้องดูดีไหมครับ ตอบปากเปล่าก็ได้ครับ  พยายามหลีกเลี่ยงคำถาม what และขอข้อแม้สามข้อครับ

  1. ไม่มีคำว่า "ต้อง" คือไม่มีคำตอบครอบจักรวาล หรือคำตอบเดียวที่ถูกต้องสำหรับทุกกรณี
  2. ในแต่ละคำถาม ถามหลายๆ คน
  3. ตอบไม่ได้ไม่เป็นไร นักศึกษาผู้นั้นรู้ตัวแล้วว่าเขาไม่รู้อะไร (ถ้าเขามาเรียนรู้จริงๆ) ฟังคำตอบจากเพื่อน ก็เป็นการเรียนรู้ได้ครับ

สวัสดีอีกครั้งครับ .. อาจารย์กานดา

ขอบคุณครับอาจารย์ :)

ขอบคุณ อ. Wasawat ค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ และเข้าใจเพราะอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน บันทึกของ อ. ฮาดีค่ะ และได้แสดงข้อคิดเห็นไปแล้วค่ะ 

ขอบคุณคุณ Moonlight ค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ เห็นด้วยค่ะว่าเด็กดีก็มีอยู่แต่น้อยลง ๆ  หน้าที่ของ อ ก็คือจะทำอย่างไรให้เด็กดีขึ้น ก็คงต้องตั้งใจทำแต่ก็ต้องเข้าใจและทำให้ปล่อยวางได้  เพราะทุกอย่างย่อมมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

ขอบคุณคุณ Conductor ค่ะที่เข้ามาช่วยเสนอข้อคิดเห็น  ทำอย่างที่คุณ Conductor มาหลายเทอมแล้วค่ะ เพราะถ้าไม่ทำ  เด็กก็จะไม่ถูกกระตุ้นให้คิด  อยากให้เด็กเรียนแบบเข้าใจ ก็เลยมักจะถามว่า ทำไม และอย่างไร เป็นประจำค่ะ  บางทีถามคำถามที่สอนไปแล้วในคาบนั้นเลย เด็กก็ยังตอบไม่ได้ เพราะเขาอาจจะไม่มีสมาธิในการเรียนเท่าไหร่ ก็เลยต้องถามหลาย ๆ คน กว่าจะได้คำตอบที่ใกล้เคียง หรือเป็นเหตุเป็นผล  แต่คิดว่า การสอนสายวิทย์ ยากค่ะที่คำถามจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ถ้าสอนสายศิลป์  น่าจะสนุกมากกว่านี้  ถ้าเด็กตอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ  ไม่ได้หักคะแนนเขา แต่บอกให้เขามานั่งหน้าสุด เพื่อให้เขาตั้งใจเรียนมากขึ้น

 

สวัสดีครับอาจารย์

  ผมเป็นหนึ่งคนที่เรียนวิชาที่อาจารย์เปิดสอบ ณ วันนั้นที่ผมลงวิชานี้ผมคิดไว้ว่าเพราะอาจารย์กานดาเป็นคนผู้สอน ผมจึงลงเพราะว่าผมเคยเรียนวิชาฐานข้อมูลกับอาจารย์ รู้สึกอาจารย์เอาใจใส่กับนักศึกษาทุกคน และงานหรือการบ้านที่อาจารย์ให้เยอะผมว่ามันทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากกว่าวิชาอื่นๆที่ผมเรียนซะอีก แต่บางครั้งก็รู้สึกท้ออยู่เหมือนกันเพราะว่างานไม่ได้มีเฉพาะวิชาของอาจารย์เท่านั้น แต่อาจารย์ก็ใจดีมากถ้างานเยอะอาจารย์ก็เพิ่มเวลาให้อีก จนถึงวันนี้ผมไม่รู้สึกว่าเสียใจที่ลงวิชาของอาจารย์ รู้สึกว่าอยากให้อาจารย์สอนทุกวิชาเลยด้วยซ้ำ อาจารย์ทุ่มเทให้กับนักศึกษามากๆ ขอบคุณอาจารย์มากๆครับสำหรับที่ผ่านมา และเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะครับ

อรวรรณ เชื้อเมืองพาน

 โชคดีต่างหากที่ได้เรียนกับอาจารย์ที่ทุ่มเทแบบนี้ให้งานเด็กเยอะก็อยากให้เด็กฉลาดใช่ว่าเราจะสบายเราก็ต้องทำการบ้านหนักด้วยเหมือนกัน..เป็นกำลังใจให้นะ..สู้ต่อไปค่ะ

คำว่า "ต้อง/must" ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตายไปครับ ทำให้คำตอบที่ถูกต้องมีอยู่เพียงหนึ่งเดียว หลังคำว่า "ต้อง" ก็จะนำมาซึ่งคำว่า "เท่านั้น/only" ซึ่งทำให้คนไม่กล้าคิด ไม่กล้าพลิกแพลง (ยกเว้นนักการเมือง) เพราะว่าโลกนี้มีมากกว่าคำว่าผิดและถูก ขาวและดำ ดีและไม่ดี

สวัสดีค่ะ ขอให้กำลังใจ อ. กานดา อีกคนนะค่ะ น้องเป็นอีกคนนึงค่ะที่ใฝ่ฝัน และตั้งใจที่จะเป็นอาจารย์ที่ดีเหมือนที่ตนเองได้รับการอบรมจากครู อาจารย์มาจนจบ ป.ตรี  และในที่สุดน้องก็ได้รับโอกาสมาเป็นอาจารย์เหมือนที่ตั้งใจ  แต่ตอนนี้น้องก็เจออุปสรรค เจอปัญหาเพราะนักศึกษาบางคนไม่เปิดรับความตั้งใจดีของน้องซักเท่าไหร่นักค่ะ  แต่ด้วยความตั้งใจจริงและได้เห็นอุดมการณ์ของ อ.กานดา  แล้ว  น้องจะทำให้นักศึกษารู้ถึงความหวังดีของน้องเช่น อ.กานดา ต่อไปค่ะ 

คุณ Conductor ค่ะ  ขอบคุณค่ะที่เข้ามาเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เข้าใจประเด็นของคุณ Conductor ค่ะที่ต้องการให้คนกล้าคิด  คำถามที่ถามเด็ก ก็มีทั้งคำถามเปิด และคำถามปิดค่ะ   ส่วนใหญ่จะฟังเหตุผลเด็กค่ะ  ไม่ได้บอกว่า ต้องเป็นอย่่างนี้หรืออย่างนั้นเสนอไป  วิชาที่สอน ก็คือวิชา XML & Web services ซึ่งเป็นการสอนความรู้และเทคโนโลยี  แต่ก็ไม่เคยจำกัดว่าเด็กต้องใช้เครื่องมือนี้ หรือเครื่องมือนั้น  อันนี้แล้วแต่เด็กถนัด  หรือ บางคำตอบที่เด็กตอบ เราก็อาจจะไม่คาดคิด แต่เราคิดว่าเรามีเหตุผล เราก็ยอมรับค่ะ   คำถามที่ถามเด็ก ก็ต้องการให้เด็กเข้าใจที่มาของหลักการและเทคโนโลยีมากกว่าค่ะ

สวัสดีจ้ะน้องต้อม

ดูเหมือนต้อมจะเหนื่อยนะจ๊ะ  เท่าที่พี่รู้จักต้อมมาพี่มั่นใจว่าต้อมจริงใจ จริงจังคนหนึ่งเลยล่ะจ้ะ

พี่เห็นความเห็นของกัลยาณมิตรทุกๆท่านที่เข้ามาช่วยต้อมคิด ช่วยชี้ และให้กำลังใจโดยเฉพาะเสียงจากลูกศิษย์ของน้องเอง..เป็นสิ่งที่ทำให้พี่ยิ้มด้วยความภาคภูมิใจในสิ่งที่ต้อมทำเลยล่ะจ้ะ

ความจริงและกำลังใจจากลูกศิษย์ี่ทำให้น้องหายเหนื่อยขึ้นบ้างมั้ยจ๊ะ ?

พี่เชื่อนะว่ามีเด็กๆจำนวนไม่น้อยที่เค้าเห็นความแตกต่างระหว่างน้องกับอาจารย์ท่านอื่นๆ..จากคำกล่าว"วิชาที่ไม่ค่อยมีคนกล้าลงกันเพราะกลัวอาจารย์ แต่ผมก็ลองของซะงั้น แล้วก็โดนของเล่นซะจริงๆด้วย"..เห็นได้ชัดว่าเค้ารู้แล้วว่าสิ่งที่เค้าได้ไปนั้นเค้า " ได้สิ่งใด "...ซึ่งพี่ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ชัดเจนเลยนะจ๊ะ

ส่วนคำว่ากลัวนั้นเป็นคำที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจกับผู้รับได้ไม่น้อย เพราะการที่เราเลือกเป็นครู..ทุกคนคงไม่อยากเป็นครูที่ลูกศิืษย์กลัวแบบที่ต้อมกล่าวมา..แต่พี่จะชวนมองอีกแง่จ้ะ  ว่าคำว่ากลัวของเด็กๆนั้นอาจไม่ได้มีความหมายที่น่าสะเทือนใจแบบที่เราเข้าใจได้มั้ย...เพราะถ้าเด็กๆเค้าลงเรียนกับเราแม้จะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดก็ตาม..แสดงให้เห็นว่าเค้าพร้อมและมีความตั้งใจที่จะี่เรียนรู้กับเราในระดับหนึ่งเลยล่ะจ้ะและเค้าก้าวข้ามธรณีประตูของความกลัวออกมาแล้วแม้ในบางคนอาจมีความรู้สึกลังเลใจก็ตาม....

ส่วนคนที่มาด้วยความท้าทายเค้าก็ก้าวข้ามความกลัวมาเหมือนกันจ้ะต้อม..สิ่งเหล่านี้อาจจะบอกเป็นนัยได้มั้ยจ๊ะ้ว่าแท้ที่จริงแล้วเราอาจจะตีความความหมายในคำพูดของเค้าเกินกว่าที่เค้าหมายความจริงๆก็ได้นะจ๊ะ

ธรรมชาติของมนุษย์เรามักจะ ตีความ เชื่อมโยง ในสิ่งที่เรารับรู้..ไปสู่กลุ่มชนว่าทุกคนน่าจะคิดเช่นนั้นจ้ะต้อม และรูปแบบการคิดแบบนี้ล่ะจ้ะที่ทำให้เราทุกข์ ..แต่ความเห็นของลูกศิษย์ของน้องก็บอกได้ชัดนะจ๊ะ้ว่า " ไม่ใช่ทุกคนที่คิดเช่นนั้น " .. และดีไม่ดีคนที่คิดเช่นนั้นอาจเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในสังคมก็ได้ ตัวอย่างของการคิดแบบนี้ก็เช่นการที่มีคนตีความเหมาเข่งกับการแสดงออกของคนกลุ่มหนึ่งว่าคนไทยรักอดีตนายกฯ ( ทุกคนรัก? ) ^ ^

เอาใจช่วยให้ต้อมก้าวข้ามทุกข์ในใจได้นะจ๊ะ..กอดแน่นๆทีจ้ะ

 

ดิฉันเคยอ่านบทความของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ  ที่ท่านนำมาจาก เอกสารของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่แจกครูและถือปฏิบัติเป็นแนวทางในการสอนนักเรียน ซึ่งเป็นของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ("กฎว่าด้วยการสอนวิชา") เมื่อ พ.ศ.2445

โดยท่านเองได้รับมาจากผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย คือ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช  สำหรับครู และพ่อ-แม่ที่มีหน้าที่สั่งสอนลูกก็ควรทราบด้วย

ไม่ทราบว่าอาจารย์สนใจไหมคะ อาจจะเป็นแนวทางที่นำมาปรับใช้ได้

อาจารย์ครับ สักวันหนึ่ง น้องๆจะเข้าใจครับ แล้วจะมาถามหาเอกสารประกอบการสอนของอาจารย์ครับ

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ปองภพ เหล่าชัยกุล

สวัสดีค่ะอาจารย์

  หนูเคยลงเรียนวิชาิอาจารย์นะค่ะ แล้วก็มีความคิดที่ว่า

"อาจารย์ให้งานเยอะจริงๆ" "อาจารย์ให้งานอีักแล้ว"

ซึ่งมันเป็นความคิดที่ออกมาทุกครั้งหลังจากที่อาจารย์สั่งการบ้านเสร็็จ

่ถึงหนูจะคิดยังงั้น แต่ก็ต้องส่งการบ้านอยู่ดี เพราะตอนนั้นคิดว่า

"ส่งเอาคะแนนน่า ทำๆไปเถอะ"

 และเมื่อหนูเรียนผ่านวิชาของอาจารย์มา

หนูก็ไม่รู้สึกแตกต่างจากการเรียนวิชาอื่นเลย

  แต่ความรู้สึกมันก็เปลี่ยนไป หลังจากที่ได้ไปฝึกงาน

พี่ที่ฝึกงานเขาถามมาว่า "น้องทำอะไรเป็นบ้าง"

ตอนนั้นหนูรู้สึกอึ้งไปเลยค่ะ ไม่รู้จริงๆว่าจะตอบอะไรออกไป

และเมื่อพี่เขาุถามอีกว่า

"พอรู้เรื่อง..."(เป็นเีื้รื่องเกี่ยวกับวิชาอาจารย์อะค่ะ)

พอพี่เขาถามเสร็จ หนูก็ตอบเลยว่า "รู้เรื่องค่ะ"

ตอนนั้นหนูก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่า

ทำไมถึงกล้าตอบได้ขนาดนั้น

และพี่เขาก็ได้ให้งานมา ซึ่งงานเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้

เกี่ยวกับวิชาที่อาจารย์สอน

อาจารย์เชื่อไหม๊ค่ะ ว่าหนูสามารถทำงานนั้นได้

โดยทุกครั้งที่หนูมีปัญหา และหนูสามารถแก้ปัญหางานของหนูได้

หนูจะนึกถึงอาจารย์เป็นคนแรก เพราะอาจารย์เป็นคนสอนหนู

ให้หนูได้เคยปฏิบัติจริง ให้หนูได้เคยผิด ได้เคยแก้ไขเอง

หนูอยากขอบคุณอาจารย์มากๆเลยค่ะ ที่อาจารย์ได้ให้งานเยอะๆ

ได้ให้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา

--------------------

ที่หนูเล่ามายาวขนาดนี้ ก็อยากให้อาจารย์คิดว่า

ตอนเรียนความรู้สึกของนักศึกษาจะเป็นยังไงก็ช่างเถอะค่ะ

แต่อนาคตของนักศึกษามันย่อมสำคัญกว่า

ตอนนี้หนูชอบแบบการสอนของอาจารย์นะค่ะ

และหนูคิดว่านักศึกษาคนที่พูด... อย่างงั้นออกไปตอนนั้น

เมื่อเขาได้เจอปัญหา

หนูคิดว่าเขาต้องชอบการสอนของอาจารย์

เหมือนหนูตอนนี้แน่เลยค่ะ

หนูเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะค่ะ

                                                             --ศิษย์หลังห้อง--

 

พี่ศศินันท์บอกใบ้มา จึงเจอของดีครับ

มาอีกทีค่ะ จะขอบอกว่า คุณศิษย์หลังห้อง ตอบดีมากค่ะ

เพราะตัวเองเคยมีประสบการณ์นี้มาแล้ว แต่เป็นการสอนงานพนักงาน พนักงานมองว่าเรา เข้ม ระเบียบ ให้งานทำมาก แต่ก็สอนไปในตัว แต่สุดท้าย พวกเขามาขอบคุณเรา

ให้กำลังใจอาจารย์ค่ะ

 คุณ Conductor เก่งจริงๆค่ะ  เร็วมากๆ  ใช่ค่ะ

พี่ไม่ค่อยกล้านำมาในตอนแรก เพราะกลัวว่า ไม่มีใครสนใจ แล้วจะว่าเชยๆ

แต่สำหรับตัวเองแล้ว เก็บไว้เลย เอาไว้สอนหลาน ต้องสอนให้ดีให้ได้

ขอบคุณมากค่ะ พี่คิดว่า นำมาประยุกต์ใช้ได้ดีค่ะ

อาจารย์ครับ ผมคิดว่าน้องๆที่รู้สึกประทับใจการสอนของอาจารย์ เห็นคุณค่าของสิ่งที่อาจารย์ทำ น่าจะมีเยอะกว่านะครับ อาจารย์อย่าเพิ่งท้อนะครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้อีกคน

ถ้าจะให้ผมเปรียบเทียบนะครับ เหมือนตอนนี้อาจารย์กำลังพยายามจะสอนลูกเป็ดหนึ่งครอกให้ว่ายน้ำ เพื่อจะไปหาอาหาร ซึ่งลูกเป็ดทุกตัวจะได้เรียนรู้วิธีการเหมือนกันหมด แต่ก็จะมีบางตัวที่ชอบวิธีการของอาจารย์ นำเอาไปใช้และสามารถออกไปว่ายน้ำหาอาหารได้เลย ส่วนบางตัวก็ทำตามเพื่อนๆตัวอื่นๆไป และก็ว่ายได้แต่อาจจะช้าหน่อย บางตัวอาจจะไม่ชอบวิธีการของอาจารย์เลย(หรือไม่ก็ขี้เกียจไม่ยอมออกไปหัดว่ายน้ำหาอาหาร) แต่สักวันเมื่อลูกเป็ดตัวนั้นโตขึ้น หิว และจำเป็นต้องว่ายน้ำไปเพื่อหาอาหาร ลูกเป็ดตัวนั้นจะหาวิธีเอง (ซึ่งวิธีการที่อาจารย์ได้สอนไปนั้น อาจจะไปฝังอยู่ในส่วนลึกๆส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกเป็ดตัวนั้น จะโดนดึงออกมาใช้โดยอัตโนมัติ) ดังนั้นอาจารย์ไม่ต้องเสียใจหรอกครับ เพราะถึงยังไงสิ่งที่อาจารย์สอนไป มีประโยชน์กับลูกเป็ดทุกตัวอย่างแน่นอน อิอิ เหมือนนิทานยังไงยังงั้น

ปล.หนึ่งในลูกเป็ดที่ขี้เกียจนั้น ต้องมีผมอยุ่ด้วยแน่นอน ^ ^ สู้ๆครับอาจารย์

เป็นกำลังใจให้อาจารย์อีกคนครับ

อาจารย์อย่าคิดมากนะครับ บางทีน้องก็อยากพูดให้ฮาๆ หน่อย แต่ไม่ทันได้คิด ก็เลยกลายเป็นคำที่เราเก็บมาคิดได้ ทั้งๆ ที่เค้าก็ไม่ได้ตั้งใจ

ผมอีกคนนึงที่ยืนยันว่าอาจารย์สอนอย่างทุ่มเทเพื่อนักศึกษาจริงๆ อย่าหมดกำลังใจเพราะคำของคนเดียวๆ นะครับ สู้ๆ ครับ เป็นกำลังใจให้ครับ

สวัสดีครับอ.กานดา

อ. ทำดีมากๆแล้วครับ ผมนับถือ อ.มากๆเลยครับ
เรื่องการเรียน อ. ก็ทำดีมากๆแล้ว เพราะถ้า อ. ไม่ให้ดการบ้านพวกผม ผมก็ไม่รู้ว่าจะได้เห็นของจริง หรือประสบการณ์จริงอย่างนี้หรือเปล่า

ความคิดที่ผมลงเรียนไม่ใช่เพราะว่าอยากได้เกรดดีๆ หรอกนะครับ ผมลงเพราะผมชอบ อยากไความรู้ด้านนี้ เพราะผมมองตัวเองก็มีความสามารถไม่เท่ากับเพื่อนๆ ที่จะตามเพื่อนคนอื่นไป ลองมองหาทางที่ตนเองชอบมันจะดีกว่าครับ ผมจึงเบือกที่จะเรียน และรู้ว่าเป็น อ. สอน ผมก็ไม่ได้คิดชะงักเลยว่าจะลงหรือเปล่า

เพราะผมเรียนตั้งแต่ปีหนึ่งเทอมหนึ่แล้ว ก็พอดูออกว่า อ. เป็นคนแบบไหน งานเยอะเพราะ อ. ห่วงพวกผมครับ

หลายคนที่เขาคิดอย่างนั้นเพราะเขายังไม่เจอกับประสบการณ์โดยตรงครับ และก็พูดไปเพราะเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง เพื่ออวดอ้างว่าวิชาที่ตัวเองนั้นเรียนไปแล้วงานเยอะๆอย่างนั้นอย่างนี้ เขาอาจจะพูดโดยไม่คิดว่าคนที่ได้ยินจะรู้สึกอย่างไร

ผมขอเป็นกำลังใจให้ อ. นะครับ สู้ๆต่อไปครับ ผมจะพยายามช่วยเท่าที่ลูกศิษย์คนนี้จะช่วยได้ครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

(ฝากลบข้อความข้างบนด้วยนะคะ อ. อ่านแล้วมันดูป่วง ๆ แปลก ๆ ดีพิกล .. เอาใหม่ ๆ)

... เคยได้เรียนกับอาจารย์ พร้อมผ่านการทำงานอย่างสาหัสเมื่อตอนปี 4 เทอม 2 มาอย่างเรียบร้อย แต่แล้วก็พบว่า .. การทำงานจริง ๆ สาหัสยิ่งกว่า เพราะการทำงานคือต้องทำ'งาน' อย่างน้อย 8 ช.ม. ต่อวันและ 5 วันต่อสัปดาห์ (ที่เคยทำคือมากกว่า 10-12 ชม. ในแต่ละวัน)

ซึ่งต่อมาก็พบว่าการเรียนป.โท เพื่อเป็นนักวิจัย .. มันหนักหนากว่าการทำงานหลายเท่า สำหรับการทำงานก็คือการทำงานในความรับผิดชอบ.. ศึกษาเนื้องานให้ชำนาญ พร้อมหาความรู้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานที่ทำได้ ... แต่งานวิจัยเป็นการค้นคว้า ค้นหา คิดค้น .. และขวนขวายในความรู้ทุกอย่างที่ควรรู้ .. มันช่าง ... บอกไม่ได้ว่าควรจะรู้อีกแค่ไหน เท่าไหร่

จนทำให้รู้ซึ้งว่าการทำงานหนักมากในวันนี้ ก็เพื่อช่วยให้สามารถเผชิญหน้ากับงานที่หนักกว่าในวันหน้าได้

 

... กล่าวถึงวิชาทางด้าน IT ถ้าไม่ให้ฝึกฝน ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะเชี่ยวชาญ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่สามารถอ่านหนังสือไปจินตนาการไปจนเก่งได้ .. (ฉะนั้นน้อง ๆ คับทำไปเถอะคับ)

และสำหรับคำถาม-คำตอบของวิชาด้าน Programming รวมถึง XML&Webservice ไม่ว่าจะคิดเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกว่า ทั้งการถามและการตอบมักเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจเฉพาะเรื่องมากกว่าการได้มาซึ่งองค์ความรู้เชิงวิชาการเช่นเดียวกับวิชาทางวิทยาศาสตร์หรือสังคม (อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจริง ๆ แล้วทำได้มั้ยนะคับ) ...
แต่คิดว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับวิชา XML&Webservice คือเรียนให้รู้ว่า ..
XML&Webservice เป็นอย่างไร เอาไปทำอะไรได้ ทำอย่างไร มีวิธีการไหนบ้าง และนำไปประยุกต์ใช้กับอะไรให้เกิดประโยชน์แบบไหนได้บ้าง

ส่วนอย่างอื่นที่อาจจะสอดแทรกระหว่างการสอนอันไม่เกี่ยวกับเนื้อหา เช่น การเสริมความนึกคิดทางด้านสติปัญญา คุณธรรม เพิ่มเติมแนวคิดแปลกใหม่ พูดคุยเรื่องใหม่ ๆ ทั้งในและนอกวงการ รวมถึงการปลูกฝังความรู้สึกรักการทำงานและการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา อาจจะออกไปเชิงแหวกแนวจนน.ศ. คาดเดาไม่ถูกในแต่ละคาบ เผื่อน.ศ.จะตื่นเต้นกว่าเดิม ...

อยากให้อาจารย์บันทึกการสอนเป็นวิดิโอด้วยนะคะ .. ประเทศไทยจะได้มีคู่มือศึกษาวิชา XML&Webservice ในรูปแบบวิดิโอกะเขาบ้าง หุหุหุ

สุดท้ายแล้ว .. ไม่ว่ายังไงน.ศ.ที่เรียนกับอ.ต่างก็รู้ดีว่าอ.ตั้งใจมากที่สุดที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษฐ์อย่างเต็มที่และเต็มใจ :)

รักและเคารพอาจารย์เสมอค่ะ

ป.ล. คติประจำการทำงาน (ของคนเขียน) : ทำงานให้หนักและเรียนรู้ให้มากเท่าที่จะมีแรงทำได้ .. ถ้าสิ่งเหล่านั้นสร้างประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นบริษัทหรือเพื่อความสุขสบายของตนเอง (แปลได้ว่า .. อย่าไปทำงานหนัก ๆ เพื่อให้เจ้าของบริษัทรวยขึ้นดีกว่านะ .. อ้าว!)

เท่าที่ผมได้ลองคุยกับรุ่นพี่ที่บริษัทดูเนี่ย เหมือนกับระบบการศึกษาของต่างประเทศจะเน้นมากกว่าและเรียนหนักกว่าระบบการศึกษาในประเทศไทยนะครับ ซึ่งผลออกมานั้นจะทำให้นักศึกษามีทักษะต่างๆอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นทักษะเกี่ยวกับการนำเสนอผลงาน การตรงต่อเวลา การแสดงความคิดเห็น และทักษะทางเทคนิคต่างๆที่เกี่ยวกับรายวิชานั้นนั้นซึ่ง น่าจะเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วครับที่อาจารย์ได้นำระบบนั้นมาใช้อยู้ที่นี่ครับ และจากที่ได้ทำงานทำให้ทราบว่าที่อาจารย์ให้มาหลายหลายอย่างนั้น มันมีประโยชน์จริงๆครับ ต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ และก็อยากให้น้องน้องสนุกกับการเรียนมากครับ  วิชาของ อ.กานดานั้นไม่โหดหรอกครับถ้าเปรียบเทียบกับการทำงานจริงที่ต้องรับผิดชอบตัวเองทุกอย่างครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

               หนูอยากจะบอกว่าหนูมีความคิดเห็นคล้ายคลึงกับอาจารย์ และหนูเข้าใจความรุ้สึกของอาจารย์อย่างจริงใจ ในฐานะที่หนูเป็นนักเรียนไทยหนูจึงมีความคิดเห็นของเด็กนักเรียนไทยมานำเสนออาจารย์โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยอาจารย์มีกำลังใจในการสอนต่อไป

                ก่อนอื่นเลยหนูขอแสดงความชื่นชมอาจารย์อย่างจริงใจถึงความตั้งใจในการสอนและทุ่มเทกับการสอนอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอของอาจารย์ตลอดมา  ในความคิดเห็นของหนูคือ เด็กไทยจำนวนมาก อยากเก่ง อยากได้ อยากดี อยากมีงานดี ๆ ทำ อยากเรียนต่อสูง ๆ แต่ขี้เกียจ ชอบหาทางลัด ชอบถามและหวังจะได้คำตอบเลย ไม่อยากหาคำตอบเอง ทำไมเราต้องหาคำตอบเองด้วย ทั้ง ๆ ที่อาจารย์ก็รู้อยู่แล้วนี่นา ทำไมอาจารย์ต้องให้เราหาคำตอบเองด้วยล่ะ เป็นต้น (ยกตัวอย่างจากตัวเองนะคะ อิอิ) สาเหตุนี้ทำให้ความคาดหวังของอาจารย์ที่มีอย่างสูง ต้องผิดหวังบ่อย ๆ แต่หนูพบว่าเด็กไทยสามารถขยันได้ สามารถค้นคว้าเองได้เหมือนต่างชาติเพียงแค่ว่าถ้าเค้ารู้สึกว่ามันท้าทาย ถ้าเด็กเค้ารู้สึกว่ามันท้าทายความสามารถของเค้า และถ้าการหาคำตอบนั้นไม่ยากและนานจนเกินไป หนูเข้าใจนักศึกษาบางคนที่พยายามทำการบ้าน และเรานี่ไม่มีหัวเอาซะเลยทำให้เกิดความท้อแท้ (ความพยายามของคนแต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ) และเด็กจะ speed ตัวเองเลยถ้าเค้าคิดได้ (ขอย้ำนะคำว่าต้องคิดได้เอง ไม่ใช่มีคนไปบอก) ว่าสิ่งที่เค้ากำลังจะพยายามทำนั้น จะส่งผลดีอะไรต่อเค้าในอนาคต บางครั้งถ้าอาจารย์พูดเองอยู่คนเดียว เด็กเค้าไม่เห็นภาพหรอกค่ะ เด็กเค้าไม่เคยประสบ แต่ถ้าอาจารย์ลองเชิญรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาแล้วและประสบความสำเร็จในชีวิตไปพูด ไปคุยกับน้อง ๆ หนูคิดว่าจะสร้างความหลากหลายให้น้อง ๆ อย่างมาก อีกอย่างถ้าอาจารย์สร้างความตื่นเต้นในการทำการบ้านให้เด็ก ๆ ก็จะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เด็ก ๆ กระตือรือร้นที่อยากทำการบ้านมากขึ้น เช่น อาจจะมีรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เด็กที่ได้คะแนน top อะไรประมาณนี้ (อาจจะเป็น gift voucher หรือ สิ่งที่อาจารย์ได้มาจากตอนไปสัมนาต่างประเทศ ต่างจังหวัด หรืออะไรที่ไม่ต้องแพงมากแต่มีคุณค่า) บางคนอาจจะมองว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ คำตอบคือก็เพราะเด็กไทยไม่ขยันซึ่งเป็นความจริง และพื้นฐานทางครอบครัวของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จากประสบการณ์หนูคือว่าหนูน่ะไม่ชอบภาษาอังกฤษมาแต่ไหนแต่ไร ถึงแม้จะรู้ว่ามันมีประโยชน์มาก ๆ กับเราเอง หนูก็พยายามอ่านมันนะคะ แต่อ่านทีไรก็หลับทุกที (เห็นไม๊คะว่าความพยายามแต่ละคนไม่เท่ากัน อิอิ) หนูก็ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี จนวันนึงหนูทราบมาว่ามีหนังเรื่อง มังกรหยก ตอนกำเนิดจอมยุทธ์อินทรีย์ (ตอนนี้ฉายจบแล้วที่ช่อง 3) ซึ่งเค้าออกขายทางอินเตอร์เน็ต และยังไม่ฉายที่ประเทศไทย หนูอยากดูมาก ๆ ๆ ๆ ๆ  แต่มีข้อแม้ว่าสิ่งที่ขายทางอินเตอร์เน็ตน่ะ ยังไม่มีพากษ์ไทย และหนังนั้นก็มี subtitle เป็นภาษาอังกฤษ ด้วยความที่อยากดูมาก ๆ ๆ จึงซื้อและนั่งดูมันอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ไม่รู้เรื่องก็เอาให้มันรู้เรื่อง (เห็นไม๊คะว่าความอยากของคนทำได้ทุกอย่างจริง ๆ) จนในที่สุดก็รู้เรื่องบ้าง คราวนี้ก็เกิดความมันเอง พอดูหนังอะไร ๆ ก็พยายามหาภาษาอังกฤษมาฟัง มาอ่าน เรื่อยๆ แต่ก็ขอบอกตามตรงนะคะว่าภาษาก็อยู่ในระดับดีขึ้นกว่าเดิมแต่ไม่ได้เก่งมากมายอะไร คือจะบอกอาจารย์ว่าถ้าเด็กคนไหนทำอะไรได้หรือทำการบ้านได้ด้วยตัวเองครั้งแรกและไม่ยากเกินไปแล้วจะเกิดความสนุกสนานและอยากทำต่อ คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของอาจารย์ล่ะค่ะที่ต้องให้การบ้านที่ยากขึ้นหน่อยเพื่อความท้าทายมากยิ่งขึ้น หนูมีความเชื่อว่าด้วยความตั้งใจของอาจารย์ที่มีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะสามารถช่วยเด็กไทยได้อย่างดี

                หนูจะเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะคะและหวังว่าข้อเสนอแนะของหนูจะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ไม่มากก็น้อย และอยากจะบอกว่าเราทำให้ทุกคนเป็นคนดี 100% ในเวลาอันรวดเร็วไม่ได้หรอกค่ะ แต่เราสามารถให้คนเป็นคนดีเพิ่มขึ้นกว่าแต่เก่าได้ และบางครั้งคำพูดบางอย่างของนักศึกษาที่พูดออกมาบางครั้งอาจโดยไม่ได้ตั้งใจอาจจะทำให้อาจารย์ผิดหวังและท้อแท้ก็เป็นได้ แต่ว่าทุกสังคมก็มีทั้งคนดีและไม่ดี หนูไม่อยากให้อาจารย์เสียกำลังใจมากมายไปกับสิ่งที่นักศึกษาที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจพูดหรือพูดด้วยความคึกคะนอง

                สุดท้ายนี้ขอให้อาจารย์มีกำลังใจ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนานักศึกษาไทยต่อไปนะคะ และอย่าลืมรักษาสุขภาพด้วยนะคะ

 

 

สวัสดีครับ

ผมรู้สึกชื่นชมอาจารย์กานดามากเลยครับ ได้ยินอย่างนี้แล้วยิ่งรู้สึกชื่นชมอาจารย์มากขึ้นอีก เป็นกำลังใจให้นะครับ

เท่าที่ผมเห็นนะครับเด็กสมัยใหม่ส่วนใหญ่ชอบความสะดวกสบายมากขึ้น และไม่ค่อยมีความอดทนและขาดวิสัยทัศน์ อาจจะเป็นเพราะว่าเติบโตมาพร้อมกับ Internet และ Google เลยเห็นการ copy & parse เป็นเรื่องธรรมดา เลยขาดความพยายามไปนิดนึง ส่วนหนึ่งไม่สนใจเรื่องการเรียนในขณะที่อยู่มหาวิทยาลัยเลย โดยมองว่าการอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า แต่ผมก็คิดว่ากลุ่มนั้นจะเป็นส่วนน้อยหน่ะครับ

เท่าที่เห็นและได้สัมภาษณ์เด็กจบใหม่ งานที่นำมานำเสนอดูหลวมๆ ไม่หนักแน่น ถามอะไรก็ตอบไม่ค่อยได้ ดูไม่ค่อยมีความภูมิใจในตัวเองเลย

อยากขอฝากน้องๆ เรื่องความภูมิใจในตัวเอง สิ่งที่น้องๆ ทำหน่ะครับ ไม่หายไปไหนหรอก อย่างน้อยก็ได้แก่ตัวน้องเอง

สวัสดีครับ อ.กานดา ผมเชื่อว่านักเรียนที่ชื่นชอบและเคารพในวิธีการสอนของอ.ยังมีอีกเยอะครับ ผมคือหนึ่งในนั้นครับ ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับและผมเห็นด้วยกับการเรียนการสอนด้วยวิธีของอาจารย์เป็นอย่างมากครับ

ปล. ดีใจจัง เคยเรียน XML กับ อ.ครับ

สวัสดีครับอาจารย์กานดา ผมในฐานะที่เคยเรียนกับอาจารย์มาเเล้วก็รับรู้ได้ว่าเวลาเรียนกับอาจารย์เเล้วก็มีงานให้นักศึกษาได้ทำกันนั้นก็เยะจริงครับเเต่ว่าความรู้ที่ได้นั้นก็ตกเป็นของนักศึกษาอยู่เเล้วเพียงเเต่ว่านักศึกษาคงจะเเบ่งเวลากันได้ไม่เหมาะสมเองครับจึงทำให้นักศึกษารู้สึกว่างานเยอะทำไม่ทัน(ผมก็ยังเเบ่งเวลาได้ไม่ดีครับ) แต่ถ้ามองกลับกันเเล้วในหนึ่งรายวิชานั้นมีนักศึกษามากมายเเต่อาจารย์ก็ต้องตรวจงานของนักศึกษาทุกคนเเสดงว่าอาจารย์ต้องเหนื่อยมากกว่านักศึกษาหลายเท่า ผมต้องขอขอบพระคุณที่อาจารย์อย่างมากๆที่อาจารย์ทำการสอนเเบบนี้ เเตในสังคมเเล้วไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำให้ทุกคนชอบพอกันได้ทั้งหมด ถึงอย่างไรผมก็เคารพเเละศรัทธาอาจารย์ครับ

  ปล.อาจารย์ดูเเลสุขภาพให้มากๆนะครับ

                            

ขอเป็นกำลังใจอีกแรงให้กับอาจารย์กานดาน่ะครับ และอยากให้น้องๆ ลงเรียนวิชาของอาจาย์ให้เยอะๆน่ะครับเพราะ น้องๆเองจะได้มีประสบการณ์เยอะ เวลาทำงานจริงจะได้ไม่เหนื่อยน่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ ผมคนหนึ่งที่เคยเรียนกับอาจารย์ครับ รู้สึกเห็นใจอาจารย์นะครับ แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้ครับ อาจารย์ทำดีอยู่แล้วครับ ผมคนหนึ่งหละที่ชอบวิธีกการสอนของอาจารย์ทำให้ผมได้อะไรเยอะแยะกว่าการเป็นแค่ "เสือกระดาษ" ขอให้อาจารย์ทำดีต่อไปจะเป็นกำลังให้เสมอครับ

 

ปล. เรียน Database and XML กับอาจารย์ครับ อยากให้มีอาจารย์ดี ๆ เก่ง ๆ และทุ่มเทเหมือนอาจารย์เยอะ ๆ ประเทศเราประเทศเราจะได้พัฒนาบครับ

กำลังใจจากลูกศิษย์มาเยอะเลยนะครับ ... อาจารย์ :)

ถ้าอาจารย์รู้สึกเหนื่อยหรือท้อตอนไหนอย่างน้อยอยากให้อาจารย์นึกถึงลูกศิษย์ที่ไม่ค่อยประสาอย่างพวกผมที่เค้ารับรู้ในความหวังดีและคอยเป็นกำลังใจให้อาจารย์อยู่อีกหลายต่อหลายคนนะครับ 

ด้วยความเคารพรักครับอาจารย์  

สวัสดีคะอาจารย์ หนูเองก็เป็นคนหนึ่งเคยเรียนกับอาจารย์เหมือนกัน (Database,XML and Web Services) ด้วยวิธีสอนของอาจารย์เป็นวิธีที่ทำให้เห็นภาพรวมและเข้าใจได้มากขึ้น และยังกระตุ้นให้นักศึกษาต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการทำงานจริงๆ ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะคะ

อาจารย์ดีๆ อย่างอาจารย์หาไม่ค่อยได้แล้วแหละคับในสังคัมไทยยุคปัจจุบัน เป็นกำลังใจให้อาจารย์เสมอน่ะคับ

ตอนที่ไปงานครบรอบ 15 ปี ภาควิชาฯ ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ รู้สึกชื่นชมอาจารย์มากๆเลยครับ

แล้วก็จำได้ว่าอาจารย์บอกว่า น้องๆ ไม่ค่อยชอบเรียนเขียนโปรแกรมกันนัก จะเน้นไปทาง Network กันซะมากกว่า

ผมคิดว่า บางทีน้องๆ อาจจะอยากจะเรียนอะไรที่มันง่ายๆ เปน pattern เดิมๆ กระมังครับ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าน้องๆ เรียนจบและทำงานแล้ว ก็จะนึกถึงที่อาจารย์ได้สอนมาแน่นอนครับ เพราะด้วยเนื้อหาวิชาที่อาจารย์สอนก็เป็น trend ของ technology ในปัจจุบันด้วยครับ

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะ อ.ต้อม

       อ่านบันทึกนี้ของ อ.ต้อม (ที่เขียนแทนหัวใจครู  ที่รู้สึกแบบเดียวกัน) และอ่านความเห็นของทุกท่านและของลูกศิษย์แล้ว  ทำให้รู้สึกมีกำลังใจขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ

       เมื่อนักศึกษามองเห็นความจริงว่า "ชีวิตจริงของการทำงาน เรามักจะเจอปัญหาที่เราต้องคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง" อย่างที่ อ.ต้อมบอก   ....เขาก็จะได้เข้าใจในสิ่งที่อ.ต้อมเพียรสอน  เพียรฝึก และทุ่มเทให้เวลาชีวิตแก่พวกเขา
      และเมื่อถึงวันที่นักศึกษามองเห็นความจริงข้างต้น  เขาก็จะรู้สึกว่า "เข้าใจแล้ว" จริงๆ  แบบที่เขาได้เข้ามาสื่อสารอย่างน่ารักและเป็นธรรมชาติ  ดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ 
      ดิฉันอ่านกลับไปกลับมาหลายเที่ยวและประทับใจจัง

      เราทำให้ทุกคนเป็นคนดี 100% ในเวลาอันรวดเร็วไม่ได้หรอกค่ะ แต่เราสามารถให้คนเป็นคนดีเพิ่มขึ้นกว่าแต่เก่าได้ 
                                                                     คุณอทิตยา

       ความคิดที่ผมลงเรียนไม่ใช่เพราะว่าอยากได้เกรดดีๆ หรอกนะครับ ผมลงเพราะผมชอบ อยากได้ความรู้ด้านนี้
                                                                    คุณอรรถพล

       ตอนเรียนความรู้สึกของนักศึกษาจะเป็นยังไงก็ช่างเถอะค่ะ    แต่อนาคตของนักศึกษามันย่อมสำคัญกว่า
                                                            คุณศิษย์หลังห้อง

        วิธีการที่อาจารย์ได้สอนไปนั้น อาจจะไปฝังอยู่ในส่วนลึกๆส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกเป็ดตัวนั้น จะโดนดึงออกมาใช้โดยอัตโนมัติ
                                                                  คุณpanuwat

        ดิฉันอ่านหลายเที่ยวเลยค่ะ อ.ต้อม... ^_^

        กว่าเด็กๆเขาจะกลับมาบอกเราว่าเขา"เห็น"อะไร       บางทีเราอาจต้องรอนานสักนิด...แต่เมื่อเขา เห็น  ก็คุ้มค่านัก... 

         ขอให้กำลังใจ อ.ต้อมสุดหัวใจเช่นกันนะคะ  อ.ต้อมเป็นแบบอย่างของครูที่มีอุดมการณ์มุ่งมั่น  ดิฉันยังจำเนื้อความในอีเมลฉบับแรกที่ดิฉันส่งไปให้ อ.ต้อม  เมื่อครั้งเข้ามาใน G2K ใหม่ๆได้เสมอ  และยังรู้สึกเช่นนั้นเสมอมา....

         ครูที่มีความเป็นกัลยาณมิตรอย่างแท้จริงนั้น  ลูกศิษย์จะสัมผัสได้ด้วยใจ  แม้ว่าเขาจะไม่ได้บอกในวันที่ยังเรียนกับครู แต่เชื่อว่าเขาจะ"รับรู้"และ"รู้สึก"ถึงความเป็นกัลยาณมิตรของครูได้..."ด้วยใจ"...นะคะ 

                                                   ระลึกถึงเสมอค่ะ  ^_^

โดยส่วนตัวเลยผมทราบเลยนะครับว่าอาจารย์กานดา เป็นอาจารย์ที่อยากให้ลูกศิษย์ได้ดีครับ ผมเองไม่ได้มีโอกาสได้เข้าเรียนกับทางอาจารย์โดยตรงนะครับ ด้วยสาเหตุ งานเยอะ แลก็กลัวจะทำเกรดไม่ได้ตามที่หวังด้วยครับ

ผมกล้าพูดนะครับ ว่า "เกียรติมันกินไม่ได้ ได้ก็แต่ความภูมิใจ" มันเป็นคำถามสำหรับตัวผมว่า ถ้า ผมลงวิชาที่ผมคิดว่าผมอาจจะทำไม่ได้ดี แล้วผมได้เกรดไม่ดีมา แต่ผมได้ทำเต็มความสามารถแล้ว ผมจะดีใจไหม? " คำตอบ " ผมดีใจ แต่ผมก็เสียใจ" ผมเสียใจเพราะผมพลาดในสิ่งที่ผมควรจะได้ พลาดว่าทำไมผมต้องลงในสิ่งที่ผมไม่สนใจ และไม่มีความถนัด ผลลัพธ์ " ผมก็พลาดในสิ่งที่ผมควรได้รับ แต่คนอื่นมองผมว่าอย่างไร" คำตอบ " โง่เองนี่"

ทีนี้ในทางตรงกันข้าม ถ้าผมลงวิชาที่ผมมีความรุ้พื้นฐาน วิชาที่ผมคิดว่าผมจะทำได้ดี แต่มีคนบอกว่าได้เกรดง่าย ลงไปจะได้อะไร ผมกล้าตอบเต็มปากอีกว่า " คนที่บอกว่าลงแล้วเกรดง่าย ลงไปแล้วไม่ได้อะไร คุณลงแล้วหรือยัง? คุณได้ A แล้วหรือยัง?" ผมเชื่อว่าอาจารย์ทุกท่านไม่มีใครตั้งวิชาตัวเองมาเพื่อที่จะให้เด็กมาพูดอย่างข้างต้นแน่นอน ผมเชื่ออีกเหมือนกันว่าลงเรียนคุณต้องได้อะไร ผมเชื่ออีกว่ามันจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยในวันที่คุณออกไปทำงาน แล้วถามว่าผมได้อะไรจากการลงวิชาเหล่านี้ " ผมก็สนุกกับวิชาที่ผมลง ผมได้อ่านในสิ่งที่ผมชอบ แล้วผมก็สามารถทำเกรดได้อย่างที่ผมต้องการ" ทีนี้มาถามว่า ผลเสียคืออะไร " อย่างมากที่สุดผมก็โดนว่า เพราะวิชานี้มันง่าย ก็เลยได้เกรดง่าย แต่ถามว่าผมพลาดอะไรไหม ผมไม่พลาด ผมเลือกที่จำทำ และเลือกที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ผมได้กระทำ"

ที่ผมพิมพ์มาข้างต้นอาจทำให้อาจารย์เคืองนะครับแต่จริงๆผมก็อยากสื่อให้อาจารย์ได้เห็นในมุมมองที่มองต่างออกไป ผมไม่ใช่เด็กเก่ง ผมไม่ได้เรียน 4.00 ผมไม่ได้เกรด A เรียงกระดาน แต่ผมก็มั่นใจว่าความสามารถที่ผมมีมันไม่ได้น้อยไปกว่าการมีเกรด A เรียงกระดานน่ะครับ

ผมอยากให้อาจารย์ทุกๆคนลองมองมาที่ เด็กระดับกลางที่อยากจะได้ดี อยู่เหมือนกันนะครับเพราะว่าส่วนใหญ่ อาจารย์ก็จะให้ความสำคัญ เด็กเก่ง ไม่ก็เด็กไม่เก่งไปเลย แต่กลุ่มที่มี potential ในการพัฒนากลับไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ

ผมเองก็เป็นอีกคนที่เคยหวังจะไปเอาดีสาย Network ซะด้วยอยากจะบอกให้อีกด้านเหมือนกันนะครับว่าสาย Network ไม่ได้ง่ายไปกว่าสาย Programming เลย ถ้าเราลองเข้ามาจับหาความรู้ ลอง Products หลายๆตัวแล้วจะเข้าใจว่า มันไม่ง่ายนัก... แต่ก็ต้องเข้าใจอีกมุมหนึ่งนะครับว่า "คนเรามีหลายประเภท เก่งแตกต่างกันไป" คนที่จะเขียนโปรแกรมได้ดีก็ต้องเป็นคนที่มี Algorithm ในการเขียนได้ดี ผมย้ำว่า "เขียนได้ดี" ไม่ใช่ "เขียนได้" นะครับ มันต้องอาศัย ประสบการณ์ + ความสามารถส่วนบุคคล ซึ่งต่างจากทางสาย Network ที่ใช้ ประสบการณ์ + ความชำนาญ คนที่ชอบ Hand on ก็ไปสาย Network ดีแล้วครับ แต่คนที่ชอบ Trial and error มาสาย Programming ดีกว่าครับ

ผมเองเคยคิดว่าตัวเองเป็นสาย Hand on ก็ไต่ระดับมาเรื่อยๆ สุดท้ายมาพบว่าความจำเจมีจริง... ผมก็กลับมาเป็นสาย Programming ผมก็พบว่าจริงๆไม่ต่างกันเลย มันยากตอนตนง่ายตอนปลาย

ส่วนตัวผม ผมชอบวิชา Network ของอาจารย์พิเชษฐ์มากๆๆ ไม่ใช่เพราะอาจารย์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผม ผมได้ c ด้วยซ้ำไปจากวิชานี้ ยากมากๆอีกตั้งหาก แต่เพราะว่าผมรู้สึกว่าผมได้รับการช่วยเหลือเวลาที่ผมเข้าไปพบอาจารย์ เข้าไปถามแล้วได้แสดงความคิดเห็นในส่วนที่ผมสงสัย

ผมชอบวิชาของ ภาณุพงศ์ เหมือนกันครับมีหลายๆคนกล่าวถึงอาจารย์ในแง่ลบ " แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ความรู้ที่หลากหลายมากจากวิชาอาจารย์" ผมชอบแนวการสอนที่มาพูดเฉพาะสิ่งที่ควรรู้ ในแต่ละบท แล้วให้เราไปหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทนั้นมาเขียนแล้วส่ง ผมชอบที่อาจารย์ให้ทำ project กลุ่มแล้ว present รายสัปดาห์ผมชอบความ flexible ตรงนี้เพราะผมได้ค้นหาในสิ่งที่ผมอยากรู้

ผมชอบวิชา database ของอาจารย์บุญฤทธิ์รวมถึง Lab ที่ทำให้ผมมีความรุ้เยอะมากๆๆ มันสนุกมากครับ Lab อาจารย์มันเป็น hand-on ที่ดีมากๆ ได้ความรู้แล้วก็จำจนวันนี้ครับ ตอนเรียนผมบ่นไปว่ามันยาก งานเยอะเพราะต้องส่ง report ทุกๆ lab แต่ผมได้ดีก็เพราะวิชานี้ด้วยครับ

วิชาของอาจารย์ วิโรจน์ ผมก็ชอบครับจำได้จนวันนี้ อาจารย์เข้มงวดนะครับ แต่ว่าได้ประโยชน์มากๆครับ ผมชอบที่อาจารย์คุมเรื่องการ check ชื่อแล้วก็การมาสายมันเป้นประโยชน์ตอนที่ไปทำงานครับ

อาจารย์ที่ผมได้เรียนด้วยมากที่สุดก็อาจารย์ วสุ ครับ... อาจารย์สอนโดยไม่มีการบ้านครับ แต่มีอะไรที่เป็น uniqe มาเล่าให้ฟังในวิชาเรียนเยอะครับ (เกี่ยวข้องกับวิชาเรียนนะครับ) การเล่าหรือถ่ายทอดประสบการณ์ที่ตัวเองเคยมีมา มันช่วยให้นักเรียนจดจำได้มากกว่าการมาสอนจากตำราครับ อาจารย์วสุ เป็นคนที่เด็ดมากๆครับผมชอบ style การสอนแบบนี้ครับไม่เครียดดีแล้วก็ คนทำดีได้ดีครับ เข้าเรียนคุณสอบได้ (ไม่ใช่เอาข้อสอบมากบอกนะครับ) แต่เพราะว่าคุณจะเข้าใจว่าคุณเรียนอะไร ใช้อย่างไร ผมชอบครับ

ยังมีอาจารย์หลายท่านที่ผมเคยเรียนด้วยครับ style แต่ละอาจารย์แตกต่างกันไปแต่ว่าประโยชน์ทีได้รับก็อยู่ที่ตัวเด็กครับว่าจะรับไม่รับ แต่ถ้าอาจารย์อยากปรับมาใช้อาจต้องใช้วิธีอาจารย์  บุญฤทธิ์ ในเรื่องของ Lab (อาจารย์ต้อง set lab ให้มันเสร็จใน 3 ชั่วโมงให้ได้ครับ ไม่ใช่ต้องเอากลับไปทำบ้านครับ) แล้วก็การสอนของ อาจารย์วิโรจน์+อาจารย์วสุครับ

คือต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเด็กไม่ได้เรียนวิชาเดียว ใน 1 สัปดาห์ครับไม่ได้ อ่านหนังสือวิชาเดียวใน 1 สัปดาห์ครับ แล้วก็ไม่ได้มี Lab เดียวใน 1 สัปดาห์ครับเพราะฉะนั้นต้อง compromise ดูครับเรื่องนี้

แต่ผมขอเป็นกำลังใจให้นะครับ อาจารย์อย่าท้อแท้ครับถ้าสิ่งที่อาจารย์ทำเป็นความสุขของอาจารย์ที่จะทำ แม้ผลลัพธ์ที่ได้มามันไม่ตรงกับที่อาจารย์คาดหวังไว้ ผมก็ว่าอาจารย์ก็ได้ทำ และอาจารย์ได้ตั้งใจเพื่อให้เขาได้ดีแล้วครับ ที่เหลือก็เป็นส่วนที่เด็กๆเขาต้องรับและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลกับตัวเองครับ

ขออภัยที่เขียนยาวนะครับแต่อยากให้เข้าใจ นร บางกลุ่มที่คล้ายๆผมครับ

พงศกร Coe12 top

อาจารย์คร้าบบบ อย่าคิดมากสิงับเดี๋ยวแก่เร็วนะครับ จากที่ skimming อย่างลวกๆ เนื่องจากอยาก reply อย่างหนักก็แบบว่านะผมก็เป็นหนึ่งในพวกที่อาจารย์เน้นตัวสีม่วงๆ นะครับ(ไม่ทั้งหมดนะแค่ช่วงแรกๆ น่ะใช่หมดเลย :P) ผมมองว่าอาจารย์ให้งานทำเยอะ โดยส่วนตัวผมนี่"ตัวเป็นขน" นะ ผมยังชอบเรียนกับอาจารย์มากกว่าเรียนแล้ว สอบ จบ เลิก ลืม และ ลงหลุม ไม่เอาครับ ทุกวันนี้ผมเรียน XML & Webservices และ C++ กับอาจารย์ไปไม่เคยได้ A ซักตัวแต่ยังจำขึ้นหัวจนถึงทุกวันนี้ จำได้เลยตอนอยู่ปี1 คนอื่นโดนผีหลอก ผมฝันว่านั่งเขียนโปรแกรม C++ อยู่เลย เพียงแต่ว่าทุกวันนี้น้องๆ ที่เข้ามายังมองว่า Computer นั้นฉลาดซะเต็มประดา เราแค่สั่งมันก็ทำให้แล้ว (อันนี้จากความคิดผมนะ)

ประเด็นที่อาจารย์ถามไว้ "ถ้าหากใครมีวิธีที่จะทำให้เด็กมีความรู้และความสามารถ โดยไม่ต้องให้การบ้านเด็ก ช่วยกรุณาเสนอวิธีหน่อยค่ะ"

ผมเชื่อประโยคนี้ครับ "No pain No gain"

อาจารย์กานดา สู้ๆ นะงับ


รักและเคารพอาจารย์ทุกคนเสมอมา ถึงแม้ทัศนคติหรืออุดมการณ์จะไม่เหมือนกัน เป็นอาจารย์วันเดียว พ่อแม่ชั่วชีวิต- ก๊วยเจ๋ง

ผมว่าสิ่งที่อาจารย์ทำอยู่ถูกต้องแล้วอ่ะครับ เด็กไทยสมัยนี้ความกระตือรือร้น ความอยากรู้อยากเห็นลดน้อยลง เป็นปัญหาระดับชาติเลยก็ว่าได้ ถ้าไม่บังคับจริงๆก็ไม่ทำหรอกครับ เรื่องที่ลำบากๆ กว่าเขาจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว ผมว่าถ้าเปลี่ยนทัศนคตินักศึกษาใหม่อ่ะครับ ให้เขามองให้ทะลุ ว่าสิ่งที่เราทำแล้วเหนื่อยแต่ผลที่ได้มันคุ้มค่า มันเป็นวิชาชีพที่เราจะนำไปใช้ในอนาคต แต่จะเปลี่ยนยังไง ผมว่ามันต้องใช้เวลานานอยู่อะครับ ก็อย่างที่บอกแหละครับ เป็นปัญหาระดับชาติ น่าจะมีนโยบายที่ทำให้คนไทยขยันขึ้นๆๆอีกน่ะครับ นอกเรื่องแล้วๆ

เป็นกำลังใจให้ครับ  สู้ๆ

มาให้กำลังใจครับ คิดในทางที่ดี อย่างน้อยก็มีคนมาเรียน 555+
เป็นเพราะอาจารย์ใส่ใจกับทุกคน แม้ว่ามีส่วนน้อยที่เป็นแบบนี้ เลยอาจทำให้เสียกำลังใจไปบ้าง แต่ก็คงต้องสู้ ๆ ต่อไปใช่มั้ยครับ ^____^

เรื่องที่ชอบเล่นเกม ดูหนัง อยากได้คำตอบเร็ว ๆ อดทนต่ำ เป็นเรื่องปกติของสังคมปัจจุบัน แต่ผมว่าเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ชอบเล่นเกม ก็สนับสนุนให้เล่นเลยเยอะ ๆ หลาย ๆเกม แต่ให้วิเคราะห์ด้วย ว่าเกมที่เล่นมีการทำงานยังไง algorithm จะ Hack ยังไง ติดต่อผ่าน Network ยังไง ถ้าจะเขียนทำไง ชอบดูหนัง ก็ให้ดูเยอะเลย เลือกหลาย ๆ Format จาก Bittorent ที่มีการ Encode หลากหลายทั้ง H.264 หรือจะดูแบบ streaming แล้วให้ดูด้วยว่า แต่ละชนิด Encode ต่างกันยังไง อันไหนชัดกว่า แล้วทำไมถึงชัด แล้วให้เขียนเป็นบล็อกแชร์ความรู้ให้คนอื่น ๆ ด้วย เพียงเท่านี้ก็เป็นประโยชน์แล้ว อยากได้คำตอบเร็ว ๆ ก็ให้ไปหาวิธี Optimized Search Engine Keyword ทำไงให้ได้ผลที่ต้องการมากที่สุด ส่วนคนที่ไม่ชอบค้นคว้าเอง ก็ส่งเสริมให้ไปนั่งฟังอบรม เพราะมีคนมาอัดความรู้ให้ นี่ก็เป็นแนวทางนึงครับ ส่วนเรื่องที่เฉื่อยชา ไม่รู้ว่าจะทำไรดี คงต้อง motivate หาแรงบันดาลใจล่ะครับ ว่าจบไปจะไปทำอะไร พร้อมแล้วหรือที่จะไปทำงานจริง อาจจะเชิญพี่ที่จบไปมาเล่าให้ฟัง นอกจากวิชา Seminar ที่กว่าจะได้เรียนก็ปีสามเทอมปลาย แถมบางทีน่าเบื่ออีก ที่กล่าวมานี้อาจจะไม่เกี่ยวกับวิชาอาจารย์นัก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบ หรือทัศนคติเหมือนกัน แต่บางทีความเป็นครูก็คือการสนับสนุนให้นักเรียนไปได้ดีในทางที่เค้าชอบจริงมั้ยครับ

บัวใต้น้ำ เรางมขึ้นมาไม่ได้ ต้องปล่อยให้ปลา เต่า กิน

บัวผิวน้ำ บางดอกเด็ดมาได้ บางดอกเด็ดไม่ได้

บัวพ้นน้ำ เราต้องเด็ดมาให้หมด

----------------------------

ถ้าทำให้โลกนี้มีแต่คนเก่ง คนดีได้  จึงจะไม่มีคำติเตียน

--------------------------------

นักฟุตบอลไทย ->วิ่ง 2 km เหนื่อยจะตายแล้วไม่ไหวแล้ว โค้ชโหด --> เมื่อลงสนามแข่ง ไม่มีแรง

นักฟุตบอลฝรั่ง -> วิ่ง 10 km เฉย ๆ -> เมื่อลงสนามแข่ง มีแรงดี

----------------------------------

คนทุกคนทำงาน ต้องการทำให้ดีที่สุด ผมเรียนก็อยากให้ดีที่สุด แต่ดีที่สุดของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน ความตั้งใจ ความใส่ใจ ระดับสติปัญญา ความขยัน ความอดทน ล้วนเป็นปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำแตกต่างไปด้วยครับ

 

ไมเคิล จอร์แดนเล่นบาสสุดยอด แต่ตอนไปเล่นเบสบอลก็ไม่เก่ง  พอเล่นไม่เก่งก็ไม่ใช่ว่ากีฬาเบสบอลจะไม่ดี

 

สวัสดีครับ อ.กานดา
ผมขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะครับ อยากบอกว่า ผมมีความภาคภูมิใจครับที่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์ การเรียนการสอนด้วยวิธีของอาจารย์ เป็นเหมือนการทดลองทำงานก่อนทำงานจริง และอยากฝากบอกน้องๆ ด้วยนะครับ
ว่าการทำงานจริงเหนื่อยกว่าเรียนเยอะครับ เรียนกับอาจารย์กานดา ดีแล้วครับจะได้ฝึกตัวเองด้วยนะครับ

 

ปล. ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้งาน เพราะลงเรียนวิชา XML & Web Services ครับ 

แวะมาอ่านอีกครั้งครับ อาจารย์ :)

เสียงสะท้อนของลูกศิษย์ นี่มันไพเราะจริง ๆ นะครับ

อาจารย์ว่าไหม ?

ได้รับเมล์หลังไมค์แล้วครับอาจารย์ ... ขอบคุณครับ :)

สวัสดีค่ะทุกคน ขอโทษด้วยค่ะที่เข้ามาตอบความคิดเห็นช้า เพราะที่ผ่านมาเร่งเขียนหนังสือเอกซ์เอ็มแอลให้เสร็จทันส่งตอนสิ้นเดือนมีนาคมค่ะ

ขอบคุณคุณพัฒนพงศ์ค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ และขอบคุณที่เห็นว่า อ พยายามเอาใจใส่และทุ่มเทให้กับนักศึกษาทุกคน

ขอบคุณเอ๋จ้ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ เราก็พยายามเป็น อ ที่เด็กรู้สึกโชคดีว่าเด็กได้เรียนด้วย ตัวเราเองก็จะพยายามปรับปรุงตัวเองต่อไปจ้ะ

ขอบคุณค่ะคุณ kornwika ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ลูกศิษย์ของคุณ kornwika โชคดีค่ะที่มีอาจารย์อย่างคุณ kornwika ที่มีความตั้งใจและมีอุดมการณ์

ขอบคุณค่ะพี่เบิร์ดที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ พี่เบิร์ดให้มุมมองและข้อคิดเห็นหลายอย่างที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ค่ะ สมกับที่พี่เบิร์ืด เป็นนักจิตวิทยาจริงๆ ค่ะ :)

ขอบคุณค่ะคุณ sasinanda ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ขอบคุณที่ชี้แนะแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในการสอนนักเรียน และขอบคุณ คุณ conductor ด้วยค่ะที่หาลิงก์มาแนวทางในการสอนนักเรียน ได้เข้าไปอ่านแล้ว มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เพื่อที่จะนำไป ปรับปรุงในการสอนต่อไปค่ะ

ขอบคุณคุณภาณุวัฒน์ค ่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ขอบคุณที่เล่านิทานลูกเป็ดให้ฟังค่ะ ก็หวังว่าสิ่งที่ อ สอนไปจะเป็นประโยชน์กับลูกเป็ดทุกตัว อย่างที่คุณเล่าให้ฟัง และก็หวังอยู่เล็ก ๆ ว่าจะมีลูกเป็ดจำนวนมากขึ้นที่ขยันเพราะไม่งั้นอาจจะหากินไม่ทันลูกเป็ดตัวอ ื่นค่ะ

ขอบคุณคุณอัฑฒ์ค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ค่ะ น้องเค้าก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะพูดแล้วทำให้คนอื่นรู้สึกอะไรหรอกค่ะ

ขอบคุณคุณอรรถพลค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ อ ก็หวังว่าคุณจะได้ความรู้และประสบการณ์จากวิชาที่คุณเรียนกับ อ นะค่ะ

ขอบคุณคุณ Nuttawee ค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ขอให้คุณโชคดีและประสบความสำเร็จในการเรียน ป โทและการเป็นนักวิจัยค่ะ

ขอบคุณคุณอลงกรณ์ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ ขอบคุณที่เล่าถึงความเชื่อมโยงของทักษะต่างๆ ที่คุณได้เรียนในวิชา อ และงานที่คุณทำค่ะ

ขอบคุณคุณอทิตยาค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ขอบคุณค่ะที่เล่าถึงพื้นฐานนิสัยของคนไทยและให้ข้อเสนอแนะค่ะ

ขอบคุณคุณพัทธดนย์ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ น่าเห็นใจเด็กสมัยนี้ค่ะที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากซึ่งมองผิวเผินน่าจะมีแต่ผลดี แต่ทุกอย่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณณัฐที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ ขอบคุณค่ะที่มีเห็นว่าการเรียนการสอนด้วยวิธีของ อ มีประโยชน์กับคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณลูกศิษย์ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ขอบคุณค่ะที่เห็นคุณค่าของเวลาที่อ ต้องใช้ในการตรวจงานของนักศึกษา

ขอบคุณคุณ coe11 ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ

ขอบคุณคุณ COE 11 ท ี่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ ขอบคุณค่ะที่เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ขอบคุณ อ Wasawat มากค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจเป็นประจำ ขอบคุณคุณ อีกหนึ่งใน COE ค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ขอบคุณที่รับรู้ในความหวังดีของ อ ค่ะ

ขอบคุณคุณ COE11 ค่ะที่เข้ามาเยียมและเป็นกำลังใจให้ค่ะ ขอบคุณที่ทำให้ทราบว่าวิธีสอนของ อ เป็นประโยชน์ใน การทำงานจริงค่ะ

ขอบคุณคุณพิสิฐค ่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ ถ้าทุกคนช่วยกันเป็นคนดี ทำความดี สังคมไทยก็จะน่าอยู่มากขึ้นค่ะ

ขอบคุณคุณโจ้ COE6 ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ ขอบคุณคุณดอกไม้ทะเลม ากค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ และใช้เวลาอ่านหลายรอบและดึงเอาคำพูดที่ดี ๆ ของหลายคน มา ระลึกถึงเสมอเช่นกันค่ะ ขอโทษด้วยนะค่ะที่ไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมบันทึกของคุณดอกไม้ทะเลเลย ขอบคุณคุณพงศกร COE12 ค่ะที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ขอบคุณค่ะที่ให้ข้อมูลหลายๆ อย่างที่น่าคิดและน่าสนใจ ดีแล้วค่ะที่คุณชอบเรียนหลายวิชาและมองในแง่ดีของแต่ละวิชามี่คุณเรียน ขอบคุณค่ะคุณเศรษฐกิจที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ขอให้คุณประสบความสำเร็จในการเรียนที่อินเดียค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณกานต์ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ ปัญหาที่เด็กไทยมีความกระตือรือร้นน้อยลง มีความอยากรู้อยากเห็นน้อยลง ก็คงจะเป็นปัญหาระดับชาติ แต่คนที่เป็นอาจารย์ก็คงต้องทำเท่าที่ทำได้ในการช่วยพัฒนาเด็กไทยค่ะ

ขอบคุณคุณเสกสรรที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ และเสนอข้อคิดที่น่าสนใจที่จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสค่ะ

ขอบคุณคุณ narong coe11 ที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ ขอบคุณค่ะที่ให้แง่คิดในการเข้าใจว่าคนเราแตกต่างกันเหมือนกับ บัวก็มีหลายแบบ

ขอบคุณคุณชาติชาย coe11 ที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ ดีใจที่คุณได้มีโอกาสฝึกตัวเองก่อนที่จะไปทำงานจริงค่ะ

ผมคนหนึ่งสนใจเกี่ยวกับ IT เมื่อได้อ่านความคิดเห็นต่าง ๆ และคำแนะนำจากอาจารย์ได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีกมาขอชมเยอจารย์จริง ๆ

 

สวัสดีจ้ะน้องต้อม


ขอให้น้องสาวคนนี้และครอบครัวมีความสุข ความเจริญ สุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ สดชื่น เบิกบานทุกย่างก้าวของชีวิต และคนตัวเล็กๆที่จะมาถึงขอให้เป็นเด็กดี เป็นที่รักของทุกๆคนตลอดไปจ้ะ

ขอบคุณคุณสมเกียรติ น้อย กิตติพูนพัฒน์ที่มาเยี่ยมค่ะ

ขอบคุณพี่เิบิร์ดและคำอวยพรมากๆ ค่ะ ขอให้พี่สาวคนนี้มีความสุข ความเจริญ คิดสิ่งใดก็ขอให้สมหวังค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ

ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้อาจารย์ ในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ต่อไปค่ะ ;)

ถึงอาจารย์กานดา

ตอนนี้ไม่ค่อยเห็นอาจารย์ที่ภาคเลยน่ะครับ

ก็ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์น่ะครับ

เห็นอาจารย์มีอุดมการณ์อย่างนี้แล้ว ก็ดีใจครับ

อาจารย์กำลังทำตามอุดมการณ์ที่อาจารย์ตั้งไว้

ผมอยากทำอย่างนั้นจัง

ตอนนี้ประเทศชาติต้องการคนดีมากกว่าคนเก่งครับ

และผมคิดว่าอาจารย์ก็กำลังทำสิ่งนั้นอยู่

เป็นกำลังใจให้เสมอน่ะครับผม

สวัสดีครับอาจารย์กานดา ผมเป็นคนหนึ่ง ที่เคยเรียนกับอาจารย์

ผมชอบที่อาจารย์ให้งาน แต่บางครั้งมันก็มากหรือไม่ก็ยากไป จนทำให้บางทีก็ไม่อยากจะทำเอง แต่ถ้าหากตั้งใจทำจริงๆ แล้ว มันก็ไม่ได้ยากมาก

ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับ

อ่านบล็อกแล้ว รู้สึกชื่นชมมากเลยที่กานดาทุ่มเทให้กับการสอนขนาดนี้ สักวันนักศึกษาที่ไม่เข้าใจ จะเข้าใจว่าสิ่งที่อาจารย์ทุ่มสอนให้มีประโยชน์กับเขาขนาดไหน เพราะเราก็เคยเป็นนักศึกษาเหมือนกัน เราเคยไม่เข้าใจว่าทำไมอาจารย์ต้องสอนแบบนี้ ให้การบ้านเยอะแบบนั้น ตอนนี้เราจบมานานแล้ว เราเข้าใจแล้วล่ะ

ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้กานดาทำงานต่อไปนะจ๊ะ แล้วความสำเร็จของนักศึกษาจะเป็นหนึ่งในความภูมิใจของกานดาจ๊ะ

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยได้เรียนกับอาจารย์นะครับ ได้อ่านแล้ว ผมมีมุมมองว่า

ระบบการเรียนของโรงเรียน โดยเฉพาะในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะมีแต่อาจารย์ต้องคอยสอนและคอยดูแลตลอด ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง อเมริกา ที่จะเน้นเลคเชอร์ไม่มาก แต่เน้นให้ทำการบ้านกับCourse Work ในชั้นเรียนค่อนข้างเยอะ ตัวอย่างที่ผมเคยเรียนตั้งแต่ผมเรียนที่ High School ที่ Minnesota จะเริ่มเรียนตั้งแต่ 8 โมงครึ่ง จนถึงบ่ายสอง แต่ละวิชาที่ผมเรียนก็ไม่ต่่างกับบ้านเราเช่น AP Calculus, AP Physics ,ดนตรี, ศิลปะสมัยใหม่,Com Programming ความรู้สึกกับการเรียนในช่วงแรกๆ ที่ผมรู้สึกคือ อาจารย์ไม่ค่อยสอนอะไรจริงๆ หน้าที่ของอาจารย์คือ เป็นที่ปรึกษาในชั้นเรียน หมายความว่า พูดแค่หัวข้อ แล้วสอนให้พอเข้าใจในหัวข้อนั้นๆ แล้วก็มาทำ Course Work ในชั้นเรียน ทำเสร็จก็มาอภิปรายกันในชั้นเรียน บางทีก็โต้เถียงกันบ้าง การเรียนแบบนี้ทำให้นักเรียนรู้จริงมากๆ และสนุกกับการเรียนจริงๆครับ แต่ที่สำคัญคือผมเลืิอกวิชาที่ชอบด้วยครับเลยสนุกกับมันด้วย แต่ข้อเสียมันอยู่ตรงที่ วัฒนธรรมบ้านเราในเรื่องทัศนคติกับการออกความเห็น อาจจะยังไม่มาก ทำให้นักเรียนอายไม่กล้าแสดงออก เลยอาจจะทำให้นักเรียนรู้สึกไม่สนุกกับมัน

โดยส่วนตัวผมคิดว่า สิ่งที่อาจารย์กานดาทำถูกต้องแล้วครับถึงแม้อาจไม่ถูกใจนักศึกษาบ้าง แต่อาจจะต้องค่อยเป็นค่อยๆไป อยากให้เป็นกำลังใจนะครับ เพราะไม่ใช่อาจารย์เป็นเท่านั้น แม้แต่คุณพ่อผม สอนที่คณะเกษตร ใช้ระบบแบบเดียวกันกับที่อาจารย์ทำ ก็เจอปัญหานักศึกษาไม่้ชอบเหมือนกัน ซ้ำยังเป็น นศ. ป.โท ด้วย เจอลับหลังว่า "คุณพ่อผมไม่เห็นสอนไรเลยเอาแต่ให้งาน แล้วใครมันจะไปตรัสรู้ทำได้" แล้วก็บอกต่อๆกันว่า พ่อผมโหดยังงั้นยังงี้ เลยไม่อยากลงวิชาที่พ่อผมสอน

ขอให้กำลังใจอาจารย์กานดาสู้ต่อไปนะครับ :D

ไอที เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาตลอดทั้งผู้สอนและคนเรียน

ทุกอย่างมันไปรวดเร็ว(มาก) สิ่งที่เรารู้วันนี้ วันหน้าก็อาจจะกลายเป็นแค่สิ่งเคยรู้

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับ

เป็นกำลังใจให้อาจารย์ เพราะรู้ว่าอาจารย์อยากช่วยพัฒนาประเทศนี้

เลสเตอร์ ซิตี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท