อาจารย์ใช้หลักการ หรือ เกณฑ์ตัวเองมาวัดงานนักศึกษากันแน่ ?


ครูเชื่อว่า ณ เวลานี้ พวกเขาไม่เข้าใจครูก็ไม่เป็นไร แต่เวลาที่พวกเขาต้องไปฝึกสอน หรือ ทำงานจริง ถ้าเขาคิดถึงครู แสดงว่า ที่ครูสอนเขา ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าพวกเขาไม่ได้คิดถึง แสดงว่า ครูคงสอนพวกเธอผิดเอง

เรื่องมีอยู่ว่า ...

วันนี้ (18 ก.พ.51) ผมปั่นการตรวจงานนักศึกษาที่ติด I หรือ ร จากภาคเรียนที่ 1 / 2550 ซึ่งมีกำหนดส่งแก้เกรดในวันพรุ่งนี้ (19 ก.พ.51)

ผมสามารถตรวจงานแก้ I ของนักศึกษา ป.บัณฑิตวิชาชีพครู เสร็จ และส่งไปเรียบร้อยแล้ว 75 คน (ผมให้ติด I จากนักศึกษาทั้งหมด 128 คน เนื่องจากพวกเขาไม่ตั้งใจในการทำงานส่ง และบางคนเกรดไม่ถึงเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนดไว้)

ผมถือเป็น เจ้าแห่ง I โดยแท้จริง เพราะผมให้ทุกภาคเรียน โดยไม่สนใจ เพราะผมคิดว่า ผมได้ทำถูกต้องแล้ว การให้เกรดนี้  ดีกว่าผมตัดสินใจให้ D ให้ E ไปเลย แบบนี้ไม่ใช่ผม ผมเป็นคนชอบดูผลงาน วิธีคิด และความตั้งใจของนักศึกษา ใครที่คิดว่า จะแวะมาเอาเกรดวิชาผมง่าย ๆ คงลำบากหน่อย เพราะถ้าผลงานไม่เป็นที่พึงพอใจ ทำมาลวก ๆ ทุจริต ลอกเพื่อน ลอกเน็ต ผมก็ให้ I ไว้ก่อน พร้อมที่จะตั้งใจเมื่อไหร่ก็ทำมา เผลอ ๆ งานทวีคูณอีก (เอ แกล้งหรือเปล่าเนี่ย)

 

ห้องต่อไปที่ผมจะตรวจงานและแก้เกรด I ให้ก็คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา วิชา "คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา" ผมให้เกรด I ไว้เกือบทั้งห้อง เพราะว่า พวกเขาไม่ตั้งใจทำงาน "บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน" ให้ดี และตั้งใจทำ อาศัยทำลวก ๆ มาส่งผม เพื่อขอแค่ C แบบนี้ผมรับไม่ได้ ก็เลยปล่อยให้แก้ไขบทเรียนไปอีก 4 เดือน (ภาคเรียนที่ 2 / 2550)

เด็กเทคโนฯ ห้องนี้อยู่ปี 3 แล้ว และพวกเขาจะไม่เข้าใจว่า ผมให้เกรด I พวกเขาทำไม (เข้าข้างตัวเอง คิดว่า งานตัวเองยอดเยี่ยม กระมัง) และคิดว่า ผมแกล้งพวกเขา (ผมไม่รู้จะแกล้งพวกเขาไปเพื่ออะไร ในเมื่อการตรวจงานในภาคเรียนนี้ ผมต้องเพิ่มอีกเป็นทวีคูณ เพราะยังต้องสอนวิชาอื่นในภาคเรียนนี้อีก)

วัตถุประสงค์เดียวที่ผมให้พวกเขาได้ลองแก้ไข "บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน" ใหม่ ก็คือ ผมต้องการให้พวกเขาเข้าใจหลักการออกแบบและพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจริง ๆ ... เมื่อเขาออกแบบบทเรียนแล้ว นักเรียนจะต้องสามารถเรียนรู้ได้จริง และเข้าใจ

พวกเขาออกแบบไปโดยไม่อาศัยหลักการอะไรเลย สีที่ใช้ ขนาดตัวอักษร การวางตำแหน่งต่าง ๆ ของวัตถุภายในกรอบ หรือเลือกการมีปฎิสัมพันธ์ของบทเรียนกับผู้เรียนไม่ค่อยดี

แน่นอนว่า เขาเข้าใจว่า ผมแกล้ง เพราะผมจะไม่ให้ผ่านง่าย ๆ ถ้าเขาสร้างสื่อแล้วเรียนรู้ไม่ได้ ต่อไปเขาจะเป็น "นักผลิตสื่อ" ให้กับวงการการศึกษาบ้านเราได้อย่างไร ทำแค่นี้ไม่ได้ ก็ไม่ควรจะจบออกไปสู้กับใครเขา

เด็กสมัยนี้ชอบอะไรง่าย ๆ ยิ่งง่ายยิ่งชอบ ดังนั้น ผมจึงเป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์ห้องนี้ไม่ค่อยรักนัก เพราะไม่เคยเป็นคนที่ชอบปล่อยเกรด ถ้าเขาไม่มีความสามารถแบบนั้นได้จริง ต่อไป เวลาออกไปทำงาน เขาจะทำงานได้อย่างไรกัน

ผมเห็นอาจารย์บางคนปล่อยเกรดกันสนุก ทำงานส่งบ้างไม่ส่งบ้าง ก็ได้ A ได้ B แต่ผมทำไม่ได้ เพราะจะตอบคำถามเพื่อนคนอื่นในห้องไม่ได้ว่า ทำไมคนนี้ถึงได้ A ทำไมคนนั้นถึงได้ B ... ผมเห็นว่า ไม่ยุติธรรม

ถ้าคนไหนสมควรได้เกรดอะไร ก็ต้องได้เท่านั้น จะมาเอาเกรดที่ตนเองไม่สมควรได้ ได้อย่างไร ต้องยุติธรรมสิ

 

วันนี้ มีลูกศิษย์เทคโนฯ ห้องนี้ มาถามผมตรง ๆ ว่า อาจารย์ใช้หลักการ หรือ เกณฑ์ตัวเองในการวัดผลงานนักศึกษากันแน่ ? ใช้ตัวเองหรือเปล่า ?

 

ผมก็ตอบเขาไปว่า ครูใช้หลักการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และประสบการณ์ที่ครูสั่งสมมานับ 10 ปี รวมกันเป็นเกณฑ์วัดผลงานของพวกเธอว่า บทเรียนที่เธอสร้างมา นักเรียนเค้าสามารถเรียนรู้และเข้าใจไหม ? ถ้าไม่เข้าใจ วางองค์ประกอบระเกะระกะ มันย่อมมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเขา ทราบไหม ?

 

ผมตอบไปซะยาว ... ลูกศิษย์ผมก็บอกผมว่า เพื่อนในห้องบางคนเค้าโวยวายว่า อาจารย์เอาอะไรมาวัดว่า ดี หรือ ไม่ดี ?

 

ผมก็ตอบลูกศิษย์ต่อไปว่า ... ครูเชื่อว่า ณ เวลานี้ พวกเขาไม่เข้าใจครูก็ไม่เป็นไร แต่เวลาที่พวกเขาต้องไปฝึกสอน หรือ ทำงานจริง ถ้าเขาคิดถึงครู แสดงว่า ที่ครูสอนเขา ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าพวกเขาไม่ได้คิดถึง แสดงว่า ครูคงสอนพวกเธอผิดเอง ... ดังนั้น ครูจะไม่หวังให้เขามาเข้าใจครูตอนนี้ ครูจะรอเวลาที่พวกเขาไปเผชิญกับสถานการณ์จริงเสียก่อน มองอะไรต้องมองยาว ๆ ครับ ครูไม่มองเหมือนที่พวกเขากำลังคิดอยู่ ณ ตอนนี้นะครับ

 

มันมีสถานการณ์หลาย ๆ อย่างที่ทำให้พวกเขาคิดแบบนี้ เช่น มีการเปรียบเทียบการออกเกรดระหว่างผมกับอาจารย์หลายท่าน (ที่ปล่อยเกรด และดูใจดีในสายตาของพวกเขา) หรือ ผมไม่ค่อยพูดมากถ้าพวกเขาไม่ช่างสงสัย เป็นต้น

 

ผมคุยกับลูกศิษย์คนนี้อีกหลายเรื่อง แต่ที่อยากเขียนไว้ในบันทึกนี้ ก็เพราะคำถามนี้ คำถามที่ช่างปรักปรำผมในฐานะครูคนหนึ่งเสียเหลือเกิน

โอกาสหน้า ผมยังนำเรื่องราวอีกหลายเรื่องมาเล่าให้ฟัง ประสบการณ์ตรงกับการสอนให้กับนักเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ผมสังกัดอยู่ ... มหาวิทยาลัยแห่งท้องถิ่น (คนท้องถิ่นมาเรียนจริง ๆ แต่ไม่ได้มาเอาความรู้)

 

ไม่ทราบว่า กัลยาณมิตร ท่านคิดอย่างไรบ้างครับ ถ้าท่านเจอคำถามลักษณะแบบนี้ จากลูกศิษย์ของท่านเอง

 

บุญรักษา ครับ :)

หมายเลขบันทึก: 166006เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เห็นด้วยกับอาจารย์
  • ที่บอกว่า
  • เด็กสมัยนี้ชอบอะไรง่าย ๆ ยิ่งง่ายยิ่งชอบ
  • คนเป็นครูนี่มีจิตวิญญาณเป็นครูทุกท่านจริงๆ
  • เท่าที่ผมพบใน gotoknow
  • ขอตั้งชื่ออาจารย์ว่า
  • คุณครูกระดาษทราย
  • อิอิอิอิ

สวัสดีครับ อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง

  • ขอบคุณอาจารย์ครับที่แวะมาให้ความเห็นนะครับ
  • ผมก็คิดว่า ประเด็นแบบนี้คงจะมีคนสนใจน้อย เพราะเป็นเรื่องของวงการแคบ ๆ วงการหนึ่งเท่านั้น
  • อาจารย์แวะมาท่านแรกเลย
  • การแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ สำหรับผมเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผมเองก็อยากทราบว่า มหาวิทยาลัยของรัฐเดิมที่เก่าแก่ ใหญ่ และมีชื่อเสียงมาก ๆ นักศึกษาที่สอบเข้าได้ เขาเป็นอย่างไรกันบ้างครับ
  • มหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่นี้ ระบบการบริหาร จัดการ ยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าไหร่ ไปยึดนโยบายบุคคลมากกว่าของมหาวิทยาลัย
  • อีกทั้งนักศึกษายังนักศึกษาที่ไปที่ไหนไม่ได้แล้ว และยังมีเด็กด้อยโอกาสก็เยอะ เช่น คนไทยภูเขา เป็นต้น
  • ดังนั้น เรื่องของความง่าย เป็นเรื่องที่น่ารำคาญใจของผู้สอนมากครับ คิดอะไรง่าย ๆ แต่ไม่ได้ความรู้
  • ครูเบื่อ ครับ :)

บุญรักษา อาจารย์ครับ :)

สวัสดีครับ

  • ขอร่วมด้วยคนครับ
  • ผมคิดว่าเป็นปัญหาระดับชาติเลยครับ
  • เพราะพวกเขาเหล่านั้นต้องเรียนจบอย่างมืออาชีพและต้องเข้าใจในวิชาชีพอาชีพที่ตัวเองเลือกเรียนอย่างลึกซึ้ง
  • แล้วเค้าจะเข้าใจเวลาที่ต้องแข่งขันและแย่งกันหางานทำในอนาคต ถ้าไม่เจ๋งจริงก็เหนื่อยหน่อยแล้วพวกเขาจะคิดถึงอาจารย์ครับ......(ผมก็คนหนึ่งที่ประทับใจวิธีการสอนแบบใช้สื่อที่นำสมัยมาช่วยสอน การผลิตสื่อแบบที่อาจารย์ได้สอนพวกกระผมไว้)
  • ถ้าหันมามองย้อนดูความจริง ครูที่สอนอยู่แถวบนดอยอย่างพวกกระผมควรและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้ (บ้างไม่มากก็น้อย ) และผลิตสื่อหรือเทคโนโลยีใหม่มาช่วยเป็นสื่อนำการสอน (ด้วยภาระการสอนที่หนักหน่วง !! อย่างเช่นตัวกระผม..26 คาบต่อสัปดาห์!!!)
  • ถ้ากล่าวถึงตัวสถาบัน ระบบการบริหาร จัดการ ยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าไหร่ ดังที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง! ท่านทั้งหลาย (ผู้ใหญ่ ๆ ) ได้เขียนนโยบายไว้สวยหรูแต่ไม่รู้ว่าได้ประเมินตามนั้นหรือเปล่า หรือไม่ได้หันมามองความเป็นจริงที่เกิดขึ้น....หรือเปล่า
  • เห็นด้วยครับกับคำว่า   "คุณครูกระดาษทราย"

สวัสดีครับ คุณครูเอกรัฐ

  • ยินดีครับ แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันครับ
  • แต่ "คุณครูกระดาษทราย" อ่ะนะ :( 555
  • การเลือกใช้สื่อ การออกแบบและการพัฒนาสื่อนั้น ถ้าครูเลือกได้อย่างเหมาะสมแล้วนั้น จะช่วยแบ่งเบาภาระการสอนให้ตัวครูเองได้มากทีเดียวครับ
  • ขอให้ได้ใช้สิ่งที่เรียนรู้ไปลองใช้ในการสอนดูนะครับ

ขอบคุณมากครับ คุณครูเอกรัฐ :)

สวัสดีครับ อาจารย์ Wasawat

    ผมขอฝากเนื้อฝากตัว นะครับ เข้ามาเม้นท์ซะเยอะ แต่ไม่ได้แนะนำตัวเลย อาจจะเรียกผมว่า อาจารย์ตี๋ เพราะหน้าตาจะไปโทนนั้นหน่อย
    ประเด็นนี้ "อาจารย์ใช้หลักการ หรือ เกณฑ์ตัวเองมาวัดงานนักศึกษากันแน่ ?"
   
    ผมเคยนั่งคิด มานาน ในช่วงเวลาการเป็นอาจารย์ใหม่ๆ จนถึงวันนี้ 16 ปีแห่งความหลัง ก็ยังสนใจเรื่องนี้ เพราะผมให้ความสำคัญกับความ "ยุติธรรม" ในการตัดเกรดมากๆ เพราะ ผมเคยเจอเรื่องการตัดเกรดไม่ยุติธรรมมาสมัยเรียน (แต่ไงก็นิยมเกีรยติ และ "สักสี"  นะคร้าบบบ ฮ่าๆ) ที่ไหนจัดอบรมเรื่องนี้ ต้องเข้าอบรมตลอด จุฬาฯ หรือ ที่ไหนๆ จัดกี่รอบ ก็ไปครับ ถ้าไม่ติดภารกิจสอน หรือประชุม
  
    บังเอิญผมโชคร้ายหรือโชคดีก็ไม่รู้ อยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงแต่โบราณ ฮ่าๆ ไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องตัดเกรดเท่าไร มีแต่ผู้ที่สนใจเท่านั้นจึงจะแสวงหา (คือมีผมและเพื่อนผมสองสามคนที่สนใจ) และที่สำคัญผมเองไม่ได้จบสายการสร้าง "จิตวิญญาณแห่งความเป็นครู" อันนี้น่าเสียดายมากสำหรับผม  จึงตามล่า ตามล้าง หาข้อมูลมีใครแชร์บ้าง เพิ่มมาพบของอาจารย์ เมื่อ 2-3 วันนี้เอง เลยอ่านไปให้หมด เก็บเกี่ยวประสบการณ์ของท่านอาจารย์ (ซึ่งมันล่าช้าไปมาก จนท้อแท้กับระบบเดิมไปแล้วนะเนี๊ยะ T-T' )

   เพราะผมเจอลูกศิษย์ทุกประเภท ที่ผมพยายาม "เคี่ยวเข็ญ" แต่ 98% ของผู้เรียน ไม่เอาด้วย ขอ "สบายเข้าว่า" ได้ไหม พอจะ ถึงเวลา "ใกล้ตาย retire" ขอเกรดกันดื้อๆ ผมพยายาม "ทัมใจ" (เหมือนชื่อยา)

    อย่างไรเขียนมาเยอะๆ นะครับ จะเข้ามาขอเรียนรู้ประสบการณ์จากอาจารย์ แม้ไม่ได้เป็นลูกศิษย์อย่างทางการ ก็เป็นลูกศิษย์บุญธรรม ก็ยังดีครับ ^^


  

เรียน ท่านอาจารย์ตี๋ ครูgisชนบท ครับ ;)...

ผมมิบังอาจจะรับท่านเป็น "ลูกศิษย์บุญธรรม" ของผมนะครับ

แต่ผมจะขอรับท่านในฐานะ "กัลยาณมิตร" และผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ในด้านความเป็นครูครับ ;)

อาจารย์อย่าเพิ่งย่อท้อไปครับ ... ทุกอย่างมีทางออก แต่ขอให้เริ่มต้นจากตัวเราก่อน

เชื่อมั่นในการทำความดี โดยไม่ต้องสนใจคนไม่ดี ครับ

คนร่วมก๊วนการเป็นครูที่ดียังคงมีอยู่ครับ เพียงแต่ว่าฟ้าดินส่งให้เรามาเจอกันหรือไม่เท่านั้นเอง

ยินดีที่ได้รู้จักท่านอย่างเป็นทางการนะครับ

ผมเป็นเพียงครูที่ชอบเขียนสิ่งที่ผ่านมาเท่านั้นเองครับ

หากแต่มีประโยชน์กับคนที่มีอุดมการณ์อย่างท่านอาจารย์บ้าง

ผมก็ยินดีเป็นที่สุดครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท