284 ให้...


มันเป็นประสบการณ์ชีวิตนักพัฒนาคนหนึ่งที่แอบมีความสุขเล็กๆคนเดียวเมื่อนึกถึงคำว่า....ให้.....

สองสามวันมานี่ผมคิดถึงเพื่อนรักคนหนึ่งอย่างไม่ทราบสาเหตุ เราทำงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มาด้วยกัน ผมเรียกไอ้วัด เป็นคนสุพรรณ ปากเปราะ รักเพื่อนฝูง มีน้ำใจ และเป็นคนแบบ ชีวิตต้องสู้  

คนทำงานพัฒนาชนบทสมัยนั้นไม่ได้คิดอะไรกับอนาคตตัวเอง มีแต่คิดถึงชาวบ้าน จะทำอย่างไรจึงจะให้สภาพชนบทดีขึ้น เวลาล่วงเลยไปหลายปีไอ้วัดก็เอาลูกสาวชาวบ้านมาเป็นเมียซะแล้ว แต่ทุกฝ่ายก็เห็นดีเห็นชอบ ก็มันรักจริง น้องสุ คนนี้เป็นสาวชาวบ้านที่ไม่ธรรมดาเพราะพ่อแม่เธอมีเชื้อสายกะเหรี่ยง หรือปกากะญอ เราเห็นแววเธอว่าเป็นคนฉลาด จึงเอามาฝึกอบรมให้เป็นครูพี่เลี้ยงโรงเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน  เธอทำได้ดี การงานของเราคลุกคลีกับชาวบ้านจนเรียกเป็นลูกเป็นแม่เป็นพ่อกันหมด ขึ้นบ้านไหนกินข้าวได้หมด จะหลับจะนอนกี่วันกี่เดือนก็ได้ ความผูกพันแบบนี้มัดตรึงใจผมจนไปไหนไม่ได้ ต้องทำงานแบบนี้ตลอดไป 

(รูปบน) นักพัฒนาได้อาศัยรถมอเตอร์ไซด์เป็นยานพาหนะตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ กินนอนกับชาวบ้าน  (รูปล่าง) สภาพชนบท สมัยนั้น(พ.ศ. 2518-2522) การข้ามแม่น้ำขาน ต้องลุยแบบนี้ ไม่มีสะพานครับ ต้องแบกมอเตอร์ไซด์ข้ามน้ำกัน คนที่นุ่งผ้าขาวม้านี้คือนายอำเภอครับ

เมื่อโครงการจบตามกำหนด พวกนักพัฒนาก็เรือแตก ต่างคนก็ว่ายน้ำเอาตัวรอด เพราะไม่มีใครอยู่ในฐานะที่จะช่วยใครได้ ใครหางานทำที่ไหนได้ก็ไป ส่วนผมเองระเห็จมาอีสานก่อนหน้าที่โครงการจะจบแล้ว เพราะนโยบายของรัฐสมัยนั้นทำให้ผมทำงานที่นั่นไม่ได้ ไอ้วัดไปทำงานที่แม่ฮ่องสอน  ไม่กี่ปีโครงการแม่ฮ่องสอนก็จบอีก ไอ้วัดไม่มีทางจะไปไหนแล้ว หอบเมียและลูกน้อยคนหนึ่งเข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่กับญาติ แล้วทำน้ำเต้าหู้ขาย 

ทำได้ไม่เท่าไหร่ ตำรวจเทศกิจขับไล่หาว่ากีดขวางทางเดินเท้า ไอ้วัดเล่าว่า กูกับเมียต้องยกหม้อต้มน้ำเต้าหู้ร้อนๆหนีตำรวจ มือหนึ่งก็อุ้มลูก ....ผมฟังแล้วน้ำตาตก..เออ มึงตกระกำลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ มันไม่เข็ดแอบทำน้ำเต้าหู้อีกไม่กี่วัน ไอ้วัดก็จดหมายไปหาผมที่ขอนแก่น ตอนนั้นผมย้ายไปทำงานที่ท่าพระขอนแก่นแล้วกับโครงการของ USAID กับคณะเกษตร มข. ท่านอาจารย์ ดร.เทอด เจริญวัฒนา เป็นหัวหน้าโครงการ FSR/E กำลังนำเทคนิคการประเมินสภาวะชนบทแบบเร่งด่วนเข้ามาครั้งแรกในประเทศไทยแล้วขจรขจายไปทั่วโลกจนปัจจุบันนี้ในนาม PRA  

ไอ้วัดจดหมายไปบอกผมว่า...กูขอยืมตังค์นาย 2,000 บาท จะขนลูกเมียกลับเชียงใหม่แล้ว กรุงเทพฯไม่ใช่ที่ของเรา  กูจะไปหางานทำที่บ้านเมีย..กูไม่มีเงินติดกระเป๋าเลย ขอยืมแล้วจะคืนให้...  

(รูปบน) "น้องสุ" ทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงเด็ก (รูปล่าง) นี่คือสภาพโรงเรียนเด็กเล็กก่อนวัยเรียนในสมัยนั้น(ประมาณปี 2519) ทำกันแบบตามมีตามเกิดจริงๆ 

ผมส่งเงินให้ไอ้วัดไป 3,000 บาท แล้วบอกว่า มึงไม่ต้องคืนเงินกู และกูเชื่อว่ามึงไม่อดตาย คนอย่างมึงกับน้องสุนั้น ไม่อดตาย กลับไปเถอะ กลับไปบ้านเชียงใหม่เถอะ ว่างๆจะขึ้นไปหามึง...

มันยืนยันว่าจะคืนเงินให้  ผมก็เลยถือโอกาสเล่าให้ฟังว่า มึงจำที่พักกูชานเมืองเชียงใหม่ได้ไหม.. วันหนึ่งคนเผยแพร่ศาสนาหนึ่งเขามาเผยแพร่แล้วก็มอบเอกสารเล่มเล็กๆให้กู กูก็รับมางั้นๆ..ว่างๆก็หยิบเอามาอ่านกูประทับใจเรื่องหนึ่ง ว่า ...มีสตรีขับรถเสียข้างทาง ก็ลงรถพยายามโบกให้คนขับรถผ่านมาช่วยเหลือ ก็ไม่มีใครยอมหยุดรถมาช่วย.. จวนมืดแล้วมีคนหนึ่งหยุดรถลงมาช่วยจนสามารถใช้การได้ สตรีขอบคุณชายคนนั้นพร้อมหยิบเงินเป็นค่าตอบแทนสินน้ำใจที่ลงมาช่วย  ชายคนนั้นไม่รับ สตรีก็ยืนยันจะให้พร้อมขอบคุณเป็นที่สุดที่ช่วยเหลือ ในที่สุดชายคนนั้นกล่าวว่า เอางี้ก็แล้วกัน ผมไม่รับเงินคุณผู้หญิง แต่ขอให้คุณผู้หญิงได้โปรดช่วยเหลือคนอื่นๆเมื่อตกทุกข์ได้ยากเหมือนผมช่วยคุณวันนี้...ก็แล้วกัน สตรีคนนั้นตกลง... ผมบอกไอ้วัดว่า มึงไม่ต้องคืนเงินกู แต่มึงช่วยเหลือคนอื่นบ้างก็แล้วกันเหมือนเรื่องที่เล่าให้ฟังนี้...มันตกลง 

ผมไม่ได้ข่าวไอ้วัดอีกเลยหลายปีต่อมา  จนฤดูหนาวปีหนึ่งผมพาครอบครัวขึ้นไปเชียงใหม่เพราะคิดถึงเพื่อนๆ พบไอ้วัด มันก็กอดคอแล้วลากผมไปคุยกัน มันเล่าให้ฟังว่า กูมาเชียงใหม่ก็ไปหาที่พักในเมืองถูกๆ เช่าเครื่องซีล๊อคมารับจ้าง  ช่วยบริหารโรงแรมกระจอกๆให้เขา อาศัยไอ้วัดปากเปราะ คุยกับคนเก่งและพูดอังกฤษได้ดี กิจการก็ไปได้ดีพอมีเงินหมุนเวียนส่งลูกเรียนหนังสือ พอกินพอใช้  แต่ความเป็นคนสู้ชีวิต  น้องสุชวนไอ้วัดไปรับจ้างรีสอร์ทที่ขึ้นเป็นดอกเห็ดในสมัยนั้น ตกแต่งสวนไม้ดอกไม้ประดับอีก ก็ไปพรวนดิน ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ปูหญ้า  จนรับงานไม่ไหว 

วันหนึ่งขณะที่ไอ้วัดง่วนอยู่กับการดูแลต้นไม้ ใส่ปุ๋ย นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินมาใกล้ๆ ความเป็นคนปากเปราะ ไอ้วัดทักทายเขา เป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่นคนนั้นก็คุยเล่นด้วย 2-3 วันต่อมาไอ้วัดกลายเป็นคนคุยสนิทสนมกับญี่ปุ่นไปเลย  ในที่สุดญี่ปุ่นสนใจเด็กหนุ่มสาวสองคนนี้ อัธยาศัยดี ทำงานเข้มแข็ง จึงคุยกันถึงการทำธุรกิจด้วยกัน...  

(1) ไอ้วัด (2) พี่พินิจ กอศรีพร ปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงเกษตร (3) บางทราย (4) ศิษย์เก่า มอ. "สมพงษ์" ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญ UN (5) ศรีภรรยา ผู้เขียน อิอิ..  

นักธุรกิจญี่ปุ่นคนนั้น ชวนสองคนผัวเมียไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น แล้วกลับมาเมืองไทย ออกทุนให้หมดทำธุรกิจเกษตรตัวหนึ่งคือ  สะสมไม้ดอกประเภทหัว เช่น แสงตะวัน สมุนไพร หรือว่านต่างๆที่มีหัวใต้ดิน และออกดอกสวยๆ เอามาเพาะขยาย แล้วส่งไปขายที่ญี่ปุ่น เพียงไม่กี่ปี ไอ้วัดและน้องสุกลายเป็นเศรษฐีย่อยๆ มีรถ มีที่ดิน มีบ้าน มีเงินในธนาคาร และมีกิจการที่มั่นคง 

น้องสุนั้นเรียนจบแค่ ป.4 แต่ความมุมานะและมีจิตใจเรียนรู้ อดทน สู้กับชีวิต เธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Tissue culture และการเพาะขยายว่านที่ให้ดอกสวยๆในประเทศไทยไปแล้ว  แปลงเพาะขยายของเธอกลายเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์หลายมหาวิทยาลัย เด็ก ป.4 กลายเป็นวิทยากรบรรยายในห้องเรียนปริญญาตรีและโท เธอถูกอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างประเทศเชิญไปบรรยายผ่านล่าม 

ไอ้วัดและน้องสุมันทำตามคำที่ผมบอกมันว่าขอให้ช่วยคนอื่นต่อไปเถอะ  ...มันตั้งงบประมาณส่งเด็กเรียนปริญญาหลายคน เป็นกรรมการมูลนิธิเด็กแห่งหนึ่งในเชียงใหม่  เพื่อนฝูงตกทุกข์ได้ยากไม่มีเงินส่งค่าเทอมลูก ไอ้วัดและน้องสุรับผิดชอบหมด... 

ผมคิดคนเดียวว่า ..การทำความดี..มันส่งผลดีดีขึ้นแล้ว มันได้กระจายการทำดีออกไปแล้ว..

มันเป็นประสบการณ์ชีวิตนักพัฒนาคนหนึ่งที่แอบมีความสุขเล็กๆ  เมื่อนึกถึงคำว่า....ให้.....

หมายเลขบันทึก: 163584เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2008 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

มันเป็นประสบการณ์ชีวิตนักพัฒนาคนหนึ่งที่แอบมีความสุขเล็กๆคนเดียวเมื่อนึกถึงคำว่า....ให้.....

ในความหมายนี้ยิ่งใหญ่นักคะ

สวัสดีค่ะ

เข้ามาอนุโมทนาสาธุ กับพี่บางทราย การให้ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน น่าชื่นใจ พี่สร้างผู้ให้เกิดขึ้นอีกหลายคน โดยส่วนตัวก็เคยเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ ความรู้สึกต่างกันโดยสิ้นเชิง

 ในฐานะผู้ให้เมื่อให้เสร็จ ก็จะปลาบปลื้มในบุญ เหมือนส่งคนขึ้นฝั่งไปแล้ว เมื่อลับตาเราก็อาจลืมเขาได้

ในฐานะผู้รับ ในวันที่มีคนให้ ในยามคับขันวิกฤต มันเป็นความซึ้งใจ ติดตรึงในหัวใจเสมอมา แม้เราจะเดินจากกันไปแล้ว แต่ก็เฝ้าภานา อยากจะเดินวนไปให้พบเจอเขาอีก มันเป็นความรู้สึก ที่ไม่อาจลืมเลยค่ะ

ขอสนับสนุนการให้กันอย่างไม่มีวันจบค่ะ

อ่านเรื่องนี้แล้วประทับใจสุดซึ้งเลยค่ะพี่ พี่รู้จักเพื่อนพี่ดี และเพื่อนพี่ก็รู้จักการให้ต่อเหมือนที่เขาเคยได้รับ ถ้าสังคมมีเรื่องแบบนี้เยอะๆ ก็ดีค่ะ เมืองไทยหรือโลกนี้จะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ

หนูนึกถึงหนังเรื่องที่สร้างจากเรื่องจริงของเด็กชายวัย 12 ขวบ เขาได้รับโจทย์การบ้านจากครูว่า "Think of an idea to change the world and put it into action" เขาเลยคิดโครงการ Pay it forward ขึ้นเพื่อทำดีช่วยเหลือคนอื่น โดยคนที่ได้รับการช่วยเหลือก็จะช่วยคนอื่นต่อไป เป็นการตอบแทนในสิ่งที่ตัวเองได้รับ ทำต่อเป็นลูกโซ่ขยายวงออกไปเรื่อยๆ หนังเรื่องนี้โดนใจหนูอย่างแรงเลยค่ะ มีมูลนิธินี้ด้วยค่ะ http://www.payitforwardfoundation.org/home.html

สวัสดีค่ะ อาจารย์

คนล้มไม่ให้ข้าม เป็นเรื่องจริงโดยแท้นะคะอาจารย์

การให้ เป็นเรื่อง มหัศจรรย์เสมอค่ะ

บุญเลยหนุนนำให้อาจารย์เจอแต่สิ่งดีๆๆ

  • ดีจังมีแต่เรื่องดีๆวันนี้
  • สรุปว่าอยู่สุพรรณนะครับ
  • ไม่ใช่กาญจนบุรี
  • แต่ใกล้อ่างทองบ้านพี่เนอะ
  • แต่จำผมจำคนที่ 3 กับ คนที่ 5 ไม่ได้
  • อิอิอิอิ
  • เชื่อว่าการให้เป็นสิ่งที่ไม่สิ้นสุด

ท่านครูบาครับ

เป็นความประทับใจดีดีจากการทำงานน่ะครับ ชีวิตทั้งชีวิตอาจจะมีเพียงความภูมิใจเล็กเท่านี้ก็มีความสุขมากกว่าการไปกิน พระโดดกำแพงราคาหลายหมื่นบาทอีก เพราะความสุขแบบนี้เป็นความสุขข้างในใช่ไหมครับ ที่มันคงทนอยู่นานเท่านาน

ขอบพระคุณครับ

น้องหมูครับ  P  2. อ.หมู

มันเป็นประสบการณ์ชีวิตนักพัฒนาคนหนึ่งที่แอบมีความสุขเล็กๆคนเดียวเมื่อนึกถึงคำว่า....ให้.....

ในความหมายนี้ยิ่งใหญ่นักคะ

น้องหมูครับ พี่เชื่อว่าทุกคนมีเรื่องประทับใจเช่นนี้อยู่ทุกคนแหละ  เพียงยังไม่ได้เอาออกมาเท่านั้นแหละครับ  น้องหมูครับ

น้องรุ่งครับ P  3. ตันติราพันธ์

ในฐานะผู้ให้เมื่อให้เสร็จ ก็จะปลาบปลื้มในบุญ เหมือนส่งคนขึ้นฝั่งไปแล้ว เมื่อลับตาเราก็อาจลืมเขาได้

ในฐานะผู้รับ ในวันที่มีคนให้ ในยามคับขันวิกฤต มันเป็นความซึ้งใจ ติดตรึงในหัวใจเสมอมา แม้เราจะเดินจากกันไปแล้ว แต่ก็เฝ้าภาวนา อยากจะเดินวนไปให้พบเจอเขาอีก มันเป็นความรู้สึก ที่ไม่อาจลืมเลยค่ะ

 ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรหรอกครับ ทำอะไรไปก็ตรงๆ และก็ลืมไปหมดแล้ว จนเรากลับไปพบเขาใหม่นั่นแหละจึงรู้ว่า เออ การที่เราช่วยเขานั้น มีผลมากทีเดียว และเขาเองก็ไม่ลืมแม้ปัจจุบัน  แม้ว่าวันเวลาผ่านไปนานแสนนานแล้ว เรายังรักใคร่กัน สนิทสนมกัน และให้กับสังคมเท่าที่เรามีโอกาส ครับ

 

น้องซูซานครับ P   ใช่เลย ใช่เลย ใช่เลยครับ 


หนูนึกถึงหนังเรื่องที่สร้างจากเรื่องจริงของเด็กชายวัย 12 ขวบ เขาได้รับโจทย์การบ้านจากครูว่า "Think of an idea to change the world and put it into action" เขาเลยคิดโครงการ Pay it forward ขึ้นเพื่อทำดีช่วยเหลือคนอื่น โดยคนที่ได้รับการช่วยเหลือก็จะช่วยคนอื่นต่อไป เป็นการตอบแทนในสิ่งที่ตัวเองได้รับ ทำต่อเป็นลูกโซ่ขยายวงออกไปเรื่อยๆ หนังเรื่องนี้โดนใจหนูอย่างแรงเลยค่ะ มีมูลนิธินี้ด้วยค่ะ http://www.payitforwardfoundation.org/home.html
ชอบมาก ขอเอาไปเผยแพร่นะ  มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหากเราสร้างสายโซ่แห่งการให้ขึ้นมาได้ มันจะกระจายไปทั่วทั้งสังคม และวันหนึ่งมันจะกลับมาหาเรา 
หากเราสร้างประกฏการณ์เหล่านี้ขึ้นมาได้ เอาไปสู้กับ สิ่งไม่ดีทั้งหลายที่มันมีในหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวมากขึ้นทุกวัน
ป้าแดงครับ P pa_daeng

คนล้มไม่ให้ข้าม เป็นเรื่องจริงโดยแท้นะคะอาจารย์

การให้ เป็นเรื่อง มหัศจรรย์เสมอค่ะ

 

เราคบกับเพื่อนแต่ละคนเราก็รู้โดยสัญชาติญาณว่าแต่ละคนจะมีแนวไปอย่างไร สำหรับเพื่อนคนนี้ แววมันบอกว่า คนสู้ชีวิตย่อมประสบผลสำเร็จ แน่นอน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง..

น้องขจิตครับ P 6. ขจิต ฝอยทอง

  • ดีจังมีแต่เรื่องดีๆวันนี้
  • สรุปว่าอยู่สุพรรณนะครับ
  • ไม่ใช่กาญจนบุรี
  • แต่ใกล้อ่างทองบ้านพี่เนอะ
  • แต่จำผมจำคนที่ 3 กับ คนที่ 5 ไม่ได้
  • อิอิอิอิ
  • เชื่อว่าการให้เป็นสิ่งที่ไม่สิ้นสุด

ใช่ครับคนสุพรรณ ถ้าจะบอกนามสกุลเขาก็จะรู้ว่า ญาติสนิทคนหนึ่งเขาคืออดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครับ

อิอิ...คนที่สามตอนนั้นผอม หุ่นดี ตอนนี้ อ้วนมากเลย สังเกตุห้อยกล้องที่คอ เพราะบ้ากล้องมาตั้งแต่สมัยโน้นแน่ะครับ สบายดีนะครับน้องขจิต

สวัสดีครับพี่บางทราย

ชื่นชมกับการให้ และให้ผู้รับให้ต่อ คนเราเวลาไม่มีและมีคนยื่นโอกาสให้มันเป็นความยิ่งใหญ่ กับเพื่อนเวลาไม่มีถ้าเรามีแบ่งกันคนละครึ่งมันเป็นความสุขร่วมกัน

ผมเคยเดินทางจากกรุงเทพกลับบ้านที่โคกกลอย จ.พังงา ด้วยรถ ๑๐ ล้อ กับเพื่อนสองคน แต่ต้องแยกไปนั่งคนละคัน เงินของเพื่อนหมดไปกับค่ารถเมล์ เหลือเงินที่ผม ๑๐ บาท เราแบ่งกันคนละ ๕ บาท ขึ้นรถ ๑๐ ล้อคนละคัน เพื่อนมันถึงบ้านก่อน ผมถึงทีหลัง ๑ วันเพราะคนขับแวะเยี่ยมเมียและลูกที่ราชบุรี ๑ คืน อิอิ

อีกวันหนึ่งผมมีเงินอยู่ ๕ บาท ไปหาเพื่อนที่ราชวัตรหมดค่ารถเมล์ไป ๒ บาท เพื่อไปขอยืมตังค์ มันบอกว่ามันมี ๕ บาทเท่ากัน เราเลยจะไปยืมเพื่อนที่อู่ไทยประดิษฐ์ แล้วเราก็เดินคุยกันไปเรื่อยๆจากราชวัตร ไปศรีย่าน แล้วเดินต่อไปซังฮี้ ไหนๆก็ไหนๆแล้วก็เดินไปจนถึงบ้านเพื่อน พอไปถึงมันบอกว่ามันมีทั้งเนื้อทั้งตัวมี ๓๐ บาท เอางี้พวกเอ็งไปเก็บผักบุ้งที่ท้องร่อง ข้าฯจะหุงข้าว แล้วเราสามคนก็กินข้าวกับผัดผักบุ้ง จนอิ่มเต็มที่ แล้วมันก็แบ่งเงินให้คนละ ๑๐ บาท  นั่นเป็นวัยเด็ก ต่อมาเพื่อนคนนี้ทำงานอยู่จังหวัดเดียวกับผม และเกิดผิดพลาดเกี่ยวกับการชำระหนี้ จนมีหนี้สินบานเบอะ หลบหน้าเพื่อนฝูง ผมทราบข่าวตามหาเขาจนเจอ ชวนเขาไปทานข้าวที่บ้าน ก่อนกลับผมแอบพับเงินใส่มือเพื่อน ๓,๐๐๐ บาทเพื่อนร้องไห้ บอกว่าผมเข้าใจเขา

หลังจากนั้นไม่นานเพื่อนหน้าตาแจ่มใสขึ้น บอกกับผมว่าตอนนี้ปลดหนี้ไปได้เยอะแล้ว ไม่ค่อยเป็นห่วงอะไรแล้ว ได้รับมรดกด้วยก็เลยเริ่มสบายตัวเพิ่งมานัดผมไปเลี้ยงข้าว ก็มีความสุขดีขึ้น

กับเพื่อนที่ดี เราให้โดยไม่คิดอะไรตอบแทน เราก็เป็นสุข เพื่อนก็เป็นสุข และเมื่อเพื่อนคนอื่นตกทุกข์ได้ยาก เพื่อนของผมคนนี้ก็จะไม่ทิ้งเพื่อนเหมือนเดิม 

ได้อ่านบทความของพี่แล้วอบอุ่นดีครับ

สวัสดีครับ P  13. อัยการชาวเกาะ 

ผมเคยเดินทางจากกรุงเทพกลับบ้านที่โคกกลอย จ.พังงา ด้วยรถ ๑๐ ล้อ กับเพื่อนสองคน แต่ต้องแยกไปนั่งคนละคัน เงินของเพื่อนหมดไปกับค่ารถเมล์ เหลือเงินที่ผม ๑๐ บาท เราแบ่งกันคนละ ๕ บาท ขึ้นรถ ๑๐ ล้อคนละคัน เพื่อนมันถึงบ้านก่อน ผมถึงทีหลัง ๑ วันเพราะคนขับแวะเยี่ยมเมียและลูกที่ราชบุรี ๑ คืน อิอิ

อีกวันหนึ่งผมมีเงินอยู่ ๕ บาท ไปหาเพื่อนที่ราชวัตรหมดค่ารถเมล์ไป ๒ บาท เพื่อไปขอยืมตังค์ มันบอกว่ามันมี ๕ บาทเท่ากัน เราเลยจะไปยืมเพื่อนที่อู่ไทยประดิษฐ์ แล้วเราก็เดินคุยกันไปเรื่อยๆจากราชวัตร ไปศรีย่าน แล้วเดินต่อไปซังฮี้ ไหนๆก็ไหนๆแล้วก็เดินไปจนถึงบ้านเพื่อน พอไปถึงมันบอกว่ามันมีทั้งเนื้อทั้งตัวมี ๓๐ บาท เอางี้พวกเอ็งไปเก็บผักบุ้งที่ท้องร่อง ข้าฯจะหุงข้าว แล้วเราสามคนก็กินข้าวกับผัดผักบุ้ง จนอิ่มเต็มที่ แล้วมันก็แบ่งเงินให้คนละ ๑๐ บาท  นั่นเป็นวัยเด็ก ต่อมาเพื่อนคนนี้ทำงานอยู่จังหวัดเดียวกับผม และเกิดผิดพลาดเกี่ยวกับการชำระหนี้ จนมีหนี้สินบานเบอะ หลบหน้าเพื่อนฝูง ผมทราบข่าวตามหาเขาจนเจอ ชวนเขาไปทานข้าวที่บ้าน ก่อนกลับผมแอบพับเงินใส่มือเพื่อน ๓,๐๐๐ บาทเพื่อนร้องไห้ บอกว่าผมเข้าใจเขา

ผมขำแบบน้ำตาซึมๆครับอัยการชาวเกาะ  อย่างนี้แหละที่มันซึ้ง กินใจ และไม่มีทางจะลืมความสัมพันธ์กับเพื่อนแบบนี้เลยจนตาย ตายไปก็เอาความทรงจำดีดีไปด้วย..เอ้า.. มันหาความรู้สึกดีดี แบบนี้ได้ที่ไหนเล่าในสังคมปัจจุบัน  มีแต่เอาเปรียบกัน นิดเดียวก็เอา มันแล้งน้ำใจ .. 

เหมือนเราเวลารวมเพื่อนร่วมรุ่นกัน เราก็จะงัดความหลังสมัยเรียนมาแซวสนุกๆกัน เรื่องหนึ่งก็คือ การที่ทางบ้านยังไม่ส่งเงินประจำเดือนๆไปให้(ครอบครัวยากจน) ก็เอานาฬิกาไปจำนำซึ่งได้ไม่กี่ตังค์ แล้วเอาเงินมาแบ่งกันกินข้าวก่อน ประสบการณ์แบบนี้ทำให้เรารักกัน เห็นอกเห็นใจกัน และเป็นสำนึกดีดีต่อสังคมกว้างออกไปด้วย 

ได้อ่านบทความของพี่แล้วอบอุ่นดีครับ

ผมอ่านบทความของอัยการก็อบอุ่นและรู้สึกดีดี และย้อนไปนึกถึงเพื่อนรักที่เป็นคนใต้อีกหลายคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา  ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

เบิร์ดเข้ามาหลายรอบเพราะชอบ..

นั่งอ่านนิ่งๆ  แบบช้ามากๆเพราะอยากให้ความรู้สึกที่ลึกซึ้งค่อยๆซึมเข้ามา..จนอิ่มเอมแล้วก็เดินออกจากบันทึกไปเงียบๆเนื่องจากไม่มีคำใดจะเอ่ย..แต่พอหลายๆครั้งเข้ารู้สึกว่าควรจะทิ้งรอยไว้หน่อยก็เลยทักทาย

แต่ต้องการแค่ทักทายค่ะ ไม่ได้ต้องการเสริมต่ออะไร เพราะพี่บางทราย ท่านอัยการชาวเกาะและกัลยาณมิตรทุกๆท่านทำให้เบิร์ดทราบว่า..

การทำให้คนล้มลง ไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่  แต่การทำให้คนยืนขึ้นนี่สิยิ่งใหญ่กว่า..

ขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวดีๆที่เอามาแบ่งปันทำให้หัวใจอ่อนละมุนกับคำว่าให้ค่ะ

น้องเบิร์ดครับ

ครั้งใดที่เผชิญอุปสรรคปัญหา และผิดหวังกับเพื่อนร่วมงาน ก็นึกถึงไอ้วัด น้องสุ และเอาชีวประวัติส่วนนี้ไปเล่าให้น้องๆที่ทำงานด้วยกันฟังหลายครั้ง เป็นแรงกระตุ้นให้เขามีมานะและทำดี  นานๆ เขากับโทรไปคุยกับพี่

ด้วยความคิดถึง เมื่อปีก่อนไอ้วัดไปหาพี่ที่ดงหลวง มุกดาหาร เราก็นอนคุยกันเสียสองคืน ทุกครั้งพี่ขึ้นเชียงใหม่ต้องแอบๆไป จะบอกเขาก็วันเดินทางกลับ เพราะเขารู้ทีไรต้องเอารถมาให้พี่ใช้ มาหาชวนไปกินข้าว อยากไปไหนพาไปให้ 

กิจการเขาเติบโตมาก ส่งสินค้าไปถึงยุโรปแล้ว  เขามีลูกน้อยอีกคน เขาก็ให้พี่ตั้งชื่อให้...น้องเบิร์ด..ยังกะเราเป็นพ่อครูจับยามสามตาดูฤกษ์ยามอะไรทำนองนั้น  แต่ก็ตั้งให้ อิอิ.. 

เพื่อนสมัยนั้นรักกันมากที่สุดเพราะเราหัวหกก้นขวิดมากับความยากลำบากกับสภาพชนบทสะเมิงสมัยนั้น มาด้วยกัน

อ่านเรื่องของท่านอัยการแล้วก็ น้ำตาซึม เลยหละ เพราะเราก็ผ่านช่วงนั้นมาเหมือนกัน  คิดว่าหลายๆคนก็มีแบบนี้ 

ของพี่เป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่มีลูกหลายคน ลูกเรียนหนังสือทั้งนั้น เปิดเทอมที วิ่งให้วุ่นไปหมด หาเงินส่งลูกน่ะซี มีครั้งหนึ่งที่เราจำติดตา พี่เรียน มช. แล้วนะ แม่ไม่มีเงินค่าเทอม แม้ค่ารถไปเรียนก็ไม่มี ต้องเก็บเศษขวดใต้ถุนบ้านไปขาย จะได้ซักกี่บาท เล่า ก็ต้องไปขอยืมตังหลวงพ่อที่วัดข้างบ้าน ถึงได้กลับไปเรียนต่อ  เรื่องอย่างนี้จำไปจนตายนะ..น้องเบิร์ด..มันสอนเรา..เตือนเรา.และสั่งเราให้คิดถึงคนอื่นที่ทุกข์ยากมากกว่าเรา..

ให้เขาเถอะ..ถ้าเราพอมีจะให้...

คิดไปคิดมา การให้ นี่มันเป็นสายโซ่ของทุนทางสังคมด้วยนะครับ น้องเบิร์ด อย่างที่น้องซูซานแนะนำ Web นั่น ใช่เลย

มันเป็นหลักจิตตารมณ์ของเครดิตยูเนี่นยน (กลุ่มออมทรัพย์)ด้วยคือการให้  ทำให้กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนในสะเมิงที่พี่ไปก่อตั้งไว้นั้น จากเงินเพียง 2-3 พับาทสมัยปี 19 ปัจจุบันมีเงินเป็น 10 ล้านแล้ว  ไม่เชื่อ คิดไม่ถึง ว่าจะได้ผลมากขนาดนี้ พี่ใช้เวลา 1 ปี ตระเวนฝึกอบรม สร้างสำนึกชาวบ้านก่อนจะตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยเน้นการให้...

พี่โฆษณางานเรื่องผักปลอดสารพิษที่เชียงรายไปซะหลายรอบแล้ว  หากเริ่มโครงการระยะที่สอง จะมีคนแอบมาดูงานเน้อครับ...

สวัสดีค่ะ อาจารย์บางทราย

  • บันทึกนี้ เป็นบันทึก ที่งดงาม จริง ๆค่ะ ความรู้สึกคงคล้ายกับหลาย ๆ ท่าน นะคะ
  • การให้โดยที่ไม่ต้องการแม้กระทั่งคำขอบคุณ เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่
  • และเป็นการให้ในอุดมคติด้วยนะคะ พี่
  • ไม่เจ็บปวด ไม่เสียใจ ไม่เสียดาย ไม่คาดหวังและไม่ผิดหวัง
  • บ่อยครั้งที่เจอคน ผิดหวังบ่นกระแปดกระแปด  ว่าทำคุณคนไม่ขึ้นไม่มีแม้แต่ คำขอบคุณ ถ้าเค้าคาดหวังน้องกว่านี้ คงมีความสุขกับการให้นะคะ
  • เอา "กาแฟ" มา " ให้"  คนใจดีค่ะ
  • อยากพบ อาจารย์บางทราย คนใจกว้างเป็นแม่น้ำ ตัวเป็น ๆ จังเลยค่ะ
  • จะได้ "ให้กาแฟ" กับมือเลย  อิอิ

                                                          

สวัสดีครับน้องกาแฟ

  • โดยพื้นฐานเราไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ แต่ตรงข้ามเราช่วยเหลือเท่าที่เรามีกำลัง
  • อีกครั้งหนึ่งตอนสมัยเรียน ที่เชียงใหม่ เราออกไปกินก๊วยเกี๋ยวลาดหน้าชื่อดังในเมืองกัน  และก็มักจะมี ขอทาน เดินมาขอ เราก็แบ่งให้ไปบ้าง  วันนั้นไปกับเพื่อนรัก  เมื่อขอทานมาขออีก เพื่อนเขาออกปากก่อนเลยว่า มาขอทำไม เขาบอกหิวยังไม่ได้กินมื้อเย็น เพื่อนถามต่อว่า จริงๆนะ เขาบอกว่าจริง งั้นนั่งลงที่โต๊ะด้วยกันนี้ สั่งมาให้กิน เลย เขากินแบบเหมือนว่าไม่ได้อาหารมาหลายวัน แต่เขากินแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งเขาไม่กิน  เพื่อนถามเขาว่า ทำไมไม่กินให้หมด เขาบอกว่าจะเอาใส่ถุงไปให้น้องด้วย พี่เลยบอกให้กินให้อิ่มแล้วสั่งใส่ถุงให้อีก  
  • เราไม่มีเงินมากมายหรอกน้องกาแฟ...แต่สงสาร เห็นใจ และพอมีจะแบ่งให้เขา เราประทับใจซึ่งกันและกัน รู้สึกดี ที่ได้ทำในสิ่งที่เป็นสุขใจ
  • พี่คิดว่าทุกคนมีเรื่อง ดีดี อย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ
  • ขอเวลาจิบกาแฟก่อนนะครับ  อ้า.....แซบ... ซักวันหนึ่งจะมาเยี่ยมคุณหมอกาแฟถึงถิ่นเลยแหละ อิอิ

สวัสดีค่ะท่านพี่

  • ครูอ้อยมาช้ากว่า....ทุกทีเลย
  • แต่ในใจของครูอ้อยชื่นชม ท่านพี่เสมอค่ะ
  • อ่านแล้วมีความสุขมากเลยค่ะ ท่านพี่
  • อืมมมม  ให้ ให้ และให้

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ P  19. ครูชา เปิงบ้าน 
  • มาชื่นชม  ชื่นใจครับ

ครูชาครับ คุณครูทำในสิ่งดีดีเช่นนี้กว่าผมหลายเท่านัก  การสร้างคน สร้างอนาคตของชาติ สอนคนให้เป็นคนนี่แหละยิ่งใหญ่จริงๆครับ ครูไม่เคยหวังผลตอบแทน นอกจากแอบภูมิใจเมื่อได้ข่าวลูกศิษย์ได้เติบโต เป็นผู้มีบทบาทที่ดีในสังคม  นั่นแหละผมรู้ว่าคือความสุขของคุณครู  เพราะพ่อผมเป็นครู อาผมเป็นครู พี่สาวเป็นครู ผมเองก้เรียนครูมาครับ ครูชา..

ขอบคุณครับ

น้องสาวครับ P  20. สิริพร กุ่ยกระโทก

 

  • ครูอ้อยมาช้ากว่า....ทุกทีเลย
  • แต่ในใจของครูอ้อยชื่นชม ท่านพี่เสมอค่ะ
  • อ่านแล้วมีความสุขมากเลยค่ะ ท่านพี่
  • อืมมมม  ให้ ให้ และให้

ไม่มีช้าไปหรอกสำหรับน้องสาวคนนี้ เมื่อไหร่ก็ได้  อย่างที่พี่บันทึกให้กับครูชา อาชีพครูนั้นยิ่งใหญ่มากมายมหาศาล ผู้ปิดทองหลังพระตัวจริง แอบนั่งอยู่คนเดียวนะแล้วมองลูกศิษย์คนนั้นเติบโตอย่างนั้น อย่างนี้ พ่อของพี่ เมื่อเกษียรแล้ว บางทีนั่งแอบยิ้ม เราว่า พ่อสติฟั่นเฟือนไปหรือเปล่า  แกบอกว่าเปล่า พ่อปกติดี  แต่แอบบภูมิใจที่ลูกศิษย์เติบโต เป็นคนดีของสังคม  พ่อเสียไปนานแล้ว วันที่เผาศพพ่อ ใครต่อใครพูกกับทั้งบางว่า งานศพครูนี่คนมามากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน  จริงๆคือลูกศิษย์น่ะครับ ใครว่างก็มา ใครคิดถึงก็มากัน คนอยู่หลังก็อดภูมิใจไปกับพ่อด้วย อิอิ ขอเทอดทูนคุณครูครับ น้องสาวอ้อย

นี่แหละครูหละ 

สวัสดีครับ 

  • แวะเข้ามาเป็นครั้งแรกครับ
  • เล่าเรื่องได้สนุกมาก  เห็นภาพ เห็นฉาก จินตนาการตามไปด้วย  มีครบทุกรสทั้งเศร้า สู้ชีวิต มีคติสอนใจ  ถ้าสร้างเป็นหนังคงจะดี  เพราะเดี๋ยวนี้หาหนังที่มีเนื้อหาสาระดีๆยากครับ   บ้านเรายังขาดคนเขียนบท  ขาดนายทุนที่สนับสนุนทำหนังดีๆออกมา  ซึ่งบ้านเรายังมีคนดี คนสู้ชีวิตอีกมากมาย   แต่เขาไม่มีเวทีไม่มีข่าว   เพราะพื้นที่ในจอในสื่อนั้น   มีไว้ให้เฉพาะคนที่ทำอะไรผิดปกติ   เช่นปล้นร้านทอง  ปล้นธนาคาร ฯลฯ  หรือต้นไม้และสัตว์ประหลาด   ก็ดีใจที่เราจะมีสถานีโทรทัศน์ปลอดโฆษณา ปลอดจากการควบคุมของพ่อค้า ราชการและการเมือง  แต่ไม่รู้ว่าจะอยู่รอดไปได้สักกี่วัน
  • ถ้าเก็บเรื่องราวชีวิตของแต่ละคนที่คุณเขียน   รวมเล่มเป็นหนังสืออ่านเสริมในโรงเรียนคงจะดีนะครับ
  • แอบมาอ่าน และเก็บความสุขจาก คำพูดของท่านพี่.....
  • ยามใดที่น้องสาวคนนี้  หมดเรี่ยวหมดแรง  จะเข้ามาหามาอ่านนะคะ

ขอบคุณค่ะ

  • พี่บูทคะ  แม้ช่วงนี้ภาระงานจะมากเหลือเกิน
  • แต่ก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้มาซึมซับงานของพี่ลูกช้าง
  • หลายต่อหลายครั้งก็ได้นำเรื่องราวที่พี่เขียนไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์
  • ประสบการณ์จริงที่หาไม่ได้จากตำรา  แต่หาได้จากบันทึกของพี่เสมอมา   รู้สึกเหมือนได้เดินตามพี่ไปติดๆ
  • บันทึกของพี่งดงามจริงๆค่ะ  อย่างน้อยก็ทำให้หลายๆคนรู้สึกอิ่มเอิบใจกับการเป็นผู้ให้ ไปตามๆกัน
  • คิดว่าอีกไม่นานคงมีโอกาสแวะไปกอดพี่ลูกช้างที่ขอนแก่นนะคะ อิอิ...

สวัสดีครับP  23. นาย สมเจตน์ เมฆพายัพ 

  • เล่าเรื่องได้สนุกมาก  เห็นภาพ เห็นฉาก จินตนาการตามไปด้วย  มีครบทุกรสทั้งเศร้า สู้ชีวิต มีคติสอนใจ  ถ้าสร้างเป็นหนังคงจะดี  เพราะเดี๋ยวนี้หาหนังที่มีเนื้อหาสาระดีๆยากครับ   บ้านเรายังขาดคนเขียนบท  ขาดนายทุนที่สนับสนุนทำหนังดีๆออกมา  ซึ่งบ้านเรายังมีคนดี คนสู้ชีวิตอีกมากมาย   แต่เขาไม่มีเวทีไม่มีข่าว   เพราะพื้นที่ในจอในสื่อนั้น   มีไว้ให้เฉพาะคนที่ทำอะไรผิดปกติ   เช่นปล้นร้านทอง  ปล้นธนาคาร ฯลฯ  หรือต้นไม้และสัตว์ประหลาด   ก็ดีใจที่เราจะมีสถานีโทรทัศน์ปลอดโฆษณา ปลอดจากการควบคุมของพ่อค้า ราชการและการเมือง  แต่ไม่รู้ว่าจะอยู่รอดไปได้สักกี่วัน

 

  • ขอบคุณครับ ผมเองก็เอาเรื่องเพื่อนคนนี้ไปเล่าต่อให้น้องๆที่ร่วมงานฟังบ่อยๆถึงความพยายาม ตั้งใจ อดทน ต่อสู้ และขยัน ไม่เลือกงาน และเป็นคนดี..
  • เห็นด้วยครับว่าพื้นที่บนจอทีวีบ้านเรานั้นมีแต่เรื่องที่ไม่ดีมากเกินไป มีบ้างได้แต่มากเกินไปจนบางทีเรานึกว่า บ้านเมืองเราไม่มีอะไรดีดีแล้วหรือ
  • ทีวีช่องใหม่ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นั้นเพื่อนผมข้างบ้านก็เป็นกรรมการอยู่ครับ ก็เป็นนักพัฒนาเก่าเช่นกัน มีโอกาสจะคุยกับเขาอยู่ครับ
  • ถ้าเก็บเรื่องราวชีวิตของแต่ละคนที่คุณเขียน   รวมเล่มเป็นหนังสืออ่านเสริมในโรงเรียนคงจะดีนะครับ

 

  • ขอบคุณมากครับที่แนะนำสิ่งที่เป็นคุณค่าเช่นนั้น

น้องสาวอ้อยครับ P 24. สิริพร กุ่ยกระโทก

  • แอบมาอ่าน และเก็บความสุขจาก คำพูดของท่านพี่.....
  • ยามใดที่น้องสาวคนนี้  หมดเรี่ยวหมดแรง  จะเข้ามาหามาอ่านนะคะ
  • พี่มีคุณครูที่เคารพรักหลายท่าน คนหนึ่งตอนสมัยเรียนที่ มช. ชื่ออาจารย์องุ่น มาลิค 
  • ท่านเป็นอดีตดาวจุฬา ท่านสอนจิตวิทยา ท่านนุ่งผ้าถุงไปสอนหนังสือ
  • ท่านชวนพวกนักศึกษาที่ชอบทำกิจกรรมไปพัฒนาวัดฝายหิน ซึ่งเป็นวัดของมหาวิทยาลัย เราก็พากันไปช่วยท่าน  ท่านชวนลูกสิษย์ไปกราบท่านพุทธทาส ไชยา 
  • ท่านซื้อที่ดินติด มหาวิทยาลัยแล้วสร้างกระต๊อบให้นักศึกษาที่ทำกิจกรรมและยากจนได้พักอาศัยฟรี... "เรียกสวนอัญญา"...
  • ท่านก็จะมาสอนมาสั่งการทำงานเพื่อสังคม การเป็นคนดี การเป็นชาวพุทธ ให้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมแต่อย่าทิ้งการเรียน
  • เพื่อนๆที่ครอบครัวยากจนก็จะพากันมาพักที่กระต๊อบนี่กัน และกลายเป็นวงเสวนาเรื่องราวทางปัญญาต่างๆกัน
  • ท่านอาจารย์ไม่แต่งงานแต่เอาเด็กสาวมาเลี้ยงคนหนึ่ง ท่านเป็นคนที่มีสมบัติ ที่ดินที่กรุงเทพฯย่านใจกลางเมืองราคาสูงบมากมาย
  • ท่านยกให้สาธารณะสร้างเป็น "มูลนิธิปรีดีพนมยงค์" และให้เป็นสถานที่ทำงานของมูลนิธิเพื่อสังคม
  • ท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ศพท่านฝังไว้ที่ที่ดินแห่งนี้ ทุกปีลูกศิษย์ต่างก็ไปทำบุญให้ท่านรวมทั้งลูกศิษย์ที่เป็นใหญ่เป็นโตในสังคมจำนวนมาก
  • ท่านเป็นครูที่แท้จริง สร้างคน สร้างลูกศิษย์ที่เป็นกำลังของสังคมมากมาย
  • พี่เคารพครู อาชีพครูครับ
หลักการนี้ผมได้นำไปใช้หลายครั้งแล้วครับ
สวัสดีครับน้องสาว P 25. อ.ลูกหว้า

  • พี่บูทคะ  แม้ช่วงนี้ภาระงานจะมากเหลือเกิน
  • แต่ก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้มาซึมซับงานของพี่ลูกช้าง
  • หลายต่อหลายครั้งก็ได้นำเรื่องราวที่พี่เขียนไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์
  • ประสบการณ์จริงที่หาไม่ได้จากตำรา  แต่หาได้จากบันทึกของพี่เสมอมา   รู้สึกเหมือนได้เดินตามพี่ไปติดๆ
  • บันทึกของพี่งดงามจริงๆค่ะ  อย่างน้อยก็ทำให้หลายๆคนรู้สึกอิ่มเอิบใจกับการเป็นผู้ให้ ไปตามๆกัน
  • คิดว่าอีกไม่นานคงมีโอกาสแวะไปกอดพี่ลูกช้างที่ขอนแก่นนะคะ อิอิ...

พี่ทราบครับว่าน้องสาวยุ่ง พี่แอบไปหาน้องสาวอยู่ อิอิ

สังคมที่ซับซ้อนในปัจจุบันนี้ หากคนเราตั้งสติไม่ถูก ปล่อยไหลไปตามกระแส มันมีแต่ปัญหา โดยเฉพาะคนชนบทที่พยายามวิ่งตามกระแสคนในเมือง มีปัญหามากมายตามมา เพราะปรับตัวไปเป็นผู้บริโภคทั้งที่ตัวเองไม่มีความพร้อม ปัญหาตามมา เราเห็นเราก็เอาประสบการณ์ต่างๆไปคุยกับเขาแบบพี่แบบน้อง อาศัยความสนิทสนม ได้ผลพอสมควร เด็กชาวบ้านหลายคนก็คิดเป็น ...

งานพัฒนาต้องใช้การคลุกคลีเข้าแบบสนิทสนมเป็นคนหนึ่งในสังคมนั้นเลยครับ งานแบบนี้ไม่ได้ระบุว่าเป็นกิจกรรมของโครงการ และไม่มีในรายงานของโครงการ พี่อาศัยเขียนบันทึกแล้ว mail ให้เพื่อนๆ จนมีน้องกาเหว่าแนะนำนี่แหละจึงก้าวเข้ามาครับ

เลยได้รู้จักน้องสาวน่ารักคนนี้เลย

มาเมืองขอนเมื่อไหร่ส่งข่าวนะครับ

สวัสดีครับครูเสือ

เห็นช่วยท่านครูบาอยู่ ดีมาก มีโอกาสก็ช่วยท่านนะ

อย่างที่น้องซูซานกล่าวว่าหากเราทำกันอย่างนี้ มันก็จะกระจายออกไปเป็นลูกโซ่ เหมือนจดหมายลูกโซ่ แต่นี่เป็นลูกโซ่การทำดี "ทำดีเพื่อพ่อ" ขอบคุณที่ครูเสือก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน พี่เชื่อว่าเมื่อมันกระจายไปสักวันหนึ่งมันย้อนมาที่ตัวเราเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี  ขอบคุณครับ

การให้เป็นสิ่งที่ดีจริงๆนะครับ...มันทำให้โลกนี้หมุนไปได้ และสวยงาม

 

โอชกร

สวัสดีครับ น้อง P 31. โอชกร - ภาคสุวรรณ

 

ตามหลักของปรัชญาการออมทรัพย์ นั้นเน้นเรื่องการให้ หากทุกคนให้ เท่ากับเราได้ หรือสักวันหนึ่งเราจะเป็นผู้รับ

การออมในกลุ่มชาวบ้านคือ การเอาเงินมากองรวมกัน แล้วให้ผู้เดือดร้อนขืยืมไปใช้เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนนั้นๆอย่างถูกต้อง สมเหตุผล แล้วก็เอามาคืนตามกติกา  เมื่อสักวันหนึ่งเราเดือดร้อน เงินกองกลางที่เรายืมก็คือเงินเพื่อนบ้านที่เขาให้มากองรวมกัน หากรู้จักให้ เราก็จะได้รับ แต่หากทุกคนจ้องจะเอาอย่างเดียว ออมก็ไม่ออม หรือออมน้อยแต่กู้มาก มันก็หมด..

หลักนี้ใช้กันมานาน ซึ่อีตา ไรท์ ไฟเซ็นท์ แห่งประเทศเยอรมันสร้างระบบนี้ขึ้นมาตั้งแต่ประเทศเขาเกิดสงคราม หากมัวรอรัฐช่วยคงไม่ได้ ชาวบ้านต้องช่วยกันเองก่อน จึงเกิดหลักการเครดิตยูเนี่ยนขึ้น และกระจายไปทั่วโลก

ในเยอรมันเกิดธนาคาร ไรท์ ไฟเซ็นท์ ในยุโรปหลายประเทศเกิดธนาคาร saving bank ซึ่งใหญ่โตมากที่สุด เหมือนบ้านเรา ธนาคารออมสินที่มีเงินมากมาย จนสมัยหนึ่งรัฐบาลเอาไปใช้จ่ายเสียกระจุยไปเลย...

ให้...คือพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ สังคม คนและจิตใจคนครับ

  • พี่ๆๆ
  • สบายดีนะครับ
  • รอเจ้าน้องข้างบนมา
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับน้องขจิต

สบายดีครับ หวังว่าน้องขจิตสบายดีเช่นเดียวกันนะครับ

 Sasinanda มามอบดอกกุหลาบให้ด้วยใจค่ะ

โอ้โฮ...ท่านพี่ Sasinanda ครับ

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

ชื่นใจครับ 

ขอชื่นชมพี่บู๊ทอีกครั้งค่ะ  และหลายๆครั้งที่ชื่นชมเสมอมา  หนิงชื่นชมการให้ของพี่มาก

ช่วงนี้หนิงยุ่งมากค่ะ  เพิ่งพอจะมีเวลาติดตามblog ที่สนใจ

ขอบพระคุณค่ะพี่บู๊ท  เป็นการอ่านที่ได้อะไรๆเยอะเลยค่ะพี่  ขอบพระคุณที่ให้ หนิงอีกแล้ว

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท