บทกวีลาว "สายน้ำเซ"..ลมไล่ฟองเฟือดน้ำ แนมแล้วเล่าสะออน..


ผมได้พบบทอ่านภาษาลาวที่ไพเราะมากบทหนึ่งจากหนังสือ "หัดอ่าน ป.3" กะซวงสึกสา ส.ป.ป.ลาว หน้า 110 จึงอยากนำเสนอความไพเราะดังกล่าวไว้แก่ท่านที่สนใจภาษาลาว ดังนี้ครับ

                             

 สายน้ำเซ

ยามเมื่อแลงลงแล้ว    แลล่ำลำเซ
เห็นเป็นโงเงคด   ป่องทางเทียวน้ำ
แนมล่องลำเซกว้าง   กลางวังใสส่อง
ลมไล่ฟองเฟือดน้ำ   แนมแล้วเล่าซะออน
                             มีทั้งคอนทั้งแก้ง    หินโง่นงามตา
                                 ฝูงหมู่ปลาล่องลอย    เลียบนะทีเทียวน้ำ
                                     เสียงสาวลำเลาะน้ำ    หาควายแคมฝั่ง
                                         ควายหลั่งลงแมบน้ำ    นอนซ้องแซ่เย็น
                                                                    
  
  เซหากเป็นแปวน้ำ ไหลผ่าลงมา
ผ่าท่งนาโนนภู ผ่านกายกลางบ้าน
บางด่านกายพากพื้น ภูเพียงไกลแก่ว
น้ำหากใสเกิ่งแก้ว กินใช้สะอาดดี

                              

       (ภาพจากloeitech.ac.th/it50/auto/mana/images/changkranjpg)

มาดูศัพท์ที่น่าจะยากครับ

1. เซ : ลำน้ำใหญ่กว่าห้วย แต่เล็กกว่าแม่น้ำ ส่วนมากใช้เรียกทางประเทศลาว ในไทยจะเรียกทางจังหวัดอุบลราชธานี เช่น เซบก  เซบาย  เซเป็ด  เมืองปากเซชื่อก็บอกที่ตั้งอยู่แล้ว  เป็นต้น

2. โงเง : คด โค้ง  ไม่ตรง (ไม่เหมือนโงนเงน)

3.  ป่อง : ช่อง  ทาง  รอยแยก เช่น ป่องเยี่ยม/ป่องเอี้ยม : ช่องหน้าต่าง

4.  เฟือด : น้ำกระฉอกเรียกว่าน้ำเฟีอด  บางถิ่นว่าเฟียด เช่น เพิ่นหาบน้ำบ่เก่งน้ำเลยเฟียดออกจากครุถังเกือบหมด

5.  แนม : มองดู      6.  ซะออน  สะออน : ดื่มด่ำใจ  ชอบใจ  

7.  คอน : ร่องน้ำลึก ถ้ามีสันดอนกั้นอยู่ทำให้ร่องน้ำลึกมีสองข้าง เรียกว่า สองคอน  

8.  แก้ง : แนวหินที่กั้นและโผล่ขึ้นมากลางลำน้ำ แก่งก็เรียก  

9.  หินโง่น : หินก้อนใหญ่ ๆ คนหัวใหญ่ ๆ ก็เรียกหัวโง่น  

10.  ลำ : ร้อง  ขับลำนำ ในที่นี้คือร้องหมอลำ

11.  เลาะ : เลียบ ๆ ใกล้ ๆ เลาะน้ำ คือเดินเลียบลำน้ำ 

12.  แคม : ข้าง ๆ,ใกล้ ๆ (เคียม ก็ว่าได้)    13.  แมบ : แนบ (แมบน้ำ : แนบน้ำ)

14. แปว : ช่อง  รู     15.  ท่งนา : ทุ่งนา     16.  กาย : ผ่าน เลยไปข้างหน้า

17.  ภูเพียง : ที่ราบสูง  อย่างภาคอีสานของไทย  ลาวโบราณเรียกรวม ๆ ว่า ภูเพียงโคราช

18.  แก่ว : เขต แดน ถิ่น เช่น เขตแดนของคนนั้นก็เรียก แก่วของคนนั้น.. ไกลแก่ว คือ ถิ่นไกล

19. เกิ่ง : ครึ่ง  กลาง  เท่ากัน (ใสเกิ่งแก้ว หมายถึง ใสปานแก้ว ใสเท่ากับแก้ว)

ภาพลำเซยามเย็น(แลง) ของลาวเป็นยังไงบ้างครับ  น่าภิรมย์อะไรจะปานนั้น  มีทั้งความคดโค้งของลำน้ำใส  มีแก่งหิน  มีปลา  มีสาวเลี้ยงควายเอ่ยลำกล่อมคุ้งน้ำ วรรคสุดท้ายบอกให้รู้ว่าลำเซที่ใสปานแก้วนั้น ไหลผ่านที่ราบสูงมาถึงหมู่บ้านของพวกเขาให้ผู้คนได้กินได้ใช้สะอาดดี.

หมายเลขบันทึก: 163402เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2008 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ขอบคุณครับครูชา

ผมคงหลับฝันดีแน่ครับคืนนี้

ได้บทกลอน ชมลำเซ ขับกล่อม

คิดถึงลำน้ำนานที่เมืองนานครับ

สวัสดีครับ

สวัสดียามดึกครับ อ. paleeyon ครับ

ดีใจที่บทกวีลาวบทนี้จะทำให้ท่านหลับฝันดีครับ

อยากไปเห็นสิ่งที่ท่านเห็นที่เมืองนาน  คงม่วนใจหลายนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับครูชา

         ครูชาครับ ครูเชื่อใหมว่ามีสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เผ่าพันธ์อื่น ความสุนทรีย์ ไงครับ ความสุนทรีย์มีในมนุษย์ทุกเผ่าพันธ์ไม่ว่าจะพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ผมเห็นภาพนี้ตอบตัวเองไม่ได้ว่าเมื่อไรจะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของความสุนทรีย์นี้  แต่มองอีกมุมหนึ่งถ้าภาพนี้มีผมเป็นองค์ประกอบ  ภาพอาจขาดความเป็นสุนทรีย์ก็เป็นได้

  • สวัสดีครับท่าน ผอ.สมนึก โทณผลิน ครับ
  • ใช่อย่างยิ่งครับ  ความสุนทรีย์  ศิลปะ  ย่อมเกิดได้ทุกถิ่นที่
  • มิน่านะครับถึงมีเพลงไทยสำเนียงมอญ  พม่า  ลาว  เขมร  ชวา
  • ผมว่าถ้ามีท่าน ผอ. ในบรรยากาศนั้น ยิ่งจะมีสุนทรียารมณ์มากกว่านี้เป็นแน่ครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับครูชา เปิงบ้าน

  • มาเรียนรู้ภาษาลาวด้วยคนครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับคุณ คนเดินดิน ครับ
  • ภาษาลาวจริง ๆ แทบหมดไปจากถิ่นอีสาน
  • สมัยก่อนยังพอได้ยินตามหมอลำเรื่อง
  • เดี๋ยวนี้หมอลำเรื่องเองก็แทบไม่ทีแล้ว  มีก็เป็นเรื่องสมัยใหม่ นะครับ
  • ขอบคุณครับ 

สวัสดีค่ะ คุณครูชา

อยากได้ฟ้อนต์ลาวจังค่ะ

  • สวัสดีครับป้าแดงครับ
  • บทกวี สายลำเซ นี้เป็นภาพถ่ายผมเซฟเอาจากกูเกิลภาพครับ บังเอิญทำแอดเดรสปิดไปก่อนเลยไม่ได้ลงไว้ (ขออภัยต้นทางของภาพ ณ ที่นี้)
  • ผมเคยเข้าไปผ่านกูเกิลในเวบของส่วนรัฐการกรม? พบให้เราโหลดเอาฟรอนต์ได้ (แต่รู้สึกจะเอามาลงแป้นคีย์บอร์ดเรายังไม่ได้  ถ้าได้เมื่อไรผมคงได้ส่งข่าวทางบันทึกนี้แน่นอนครับ)
  • ขอบคุณหลาย ๆ ครับ
  • สวัสดีครับ คุณครู  ครูชา เปิงบ้าน
  • อ่านแล้วอิ่มใจครับ 
  • ตรงท่อน ควายหลั่งลงแมบน้ำ  นอนซ้องแซ่เย็น
  • ไม่แน่ใจว่า เป็น ควายหลั่งลงแนบน้ำ  หรือเปล่า [=ควายหลั่ง(ไหล)ลง(อิงแอบ)แนบน้ำ ]

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์wwibul ครับ
  • แมบ ภาษาอีสาน/ลาว แปลว่าแนบ ครับ  ใช้กับสัตว์  เช่น เป็ดแมบกับดิน  เป็ดแหมบกับดิน  คือเป็ดนั่งงอขาแนบชิดดิน  ควายย่อตัวลงนอนปลัก  นอนน้ำ  ก็ใช้แมบหรือแหมบได้ 
  • แมบหรือแหมบ  แปลว่าแบนราบ, แฟบแบนลงก็ได้ภาพเดียวกัน  เช่น คนอีสานดังแหมบ (คนอีสานจมูกแบน  จมูกแฟบ : ลงทุนยกตัวอย่างตนเองครับอาจารย์ ฮา..)
  • อาจารย์สังเกตุข้อแตกต่างของ น.นก(หนู) กับ ม.แมว(ม้า) ในคำ "แนม" อักษรลาวนะครับจะใกล้เคียงกันมากครับ
  • ส่วนคำแปลวรรคท้ายของอาจารย์  แม่นคักแล้วครับ (แมบ : แนบ)
  • ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ

เรียน คุณครูชา

บทกวีชิ้นนี้ไพเราะมากครับ แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของภาษาและผญาของคนเชื้อสายลาว น่าเสียดายที่คนไทย ทั้งเยาวชนไทยอีสานปัจจุบันและไทยภาคอื่น สนใจศึกษาน้อย จึงขาดสุนทรียะทางภาษาและวรรณคดี เพราะถ้าหากศึกษากันจริง ๆ แล้ว ภาษาลาวคือต้นเค้าและยังรักษารากศัพท์ของภาษาไทยโบราณไว้ได้มาก เช่น คำว่า "ทุกค่ำเช้าและเพลางาย" คำว่า "งาย" เขาแปลไม่ออกแล้วครับ ว่าหมายถึงอะไร ขอบคุณที่นำเรื่องดี ๆ มานำเสนอครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์สนองครับ
  • ผมฟังหมอลำคณะเก่าแก่ทางขอนแก่น 2-3 คณะ  ซึ่งรุ่นลูกหมอลำผู้ก่อตั้งมาทำใหม่  ยังไม่พบทำนองเดิมของรุ่นพ่อ/แม่เขาลำมาเลยครับ  ทั้งกลอนลำและภาษาเจรจา  อันนี้ว่าถึงแม้แต่กลุ่มคนอาชีพที่ควรอนุรักษ์ก็ "แป่" มาป่านนี้  แล้วคนรุ่นใหม่ที่ใช้ภาษาไปตาม "กะเยิม" จะเหลือมูลเค้าอะไร.. เป็นไปตามที่อาจารย์ให้ข้อศึกษาไว้
  • ที่จริงผมอยากเรียนเชิญอาจารย์ให้ความเห็นในบันทึก คัมภีร์โพสะราดและสังคะปะกอน มากครับยิ่งอ่านยิ่งแปลยาก แต่ก็สนุก
  • ขอบคุณมากครับ

เรียน คุณครูชา

- ผมเห็นด้วยกับคุณครูครับว่า หมอลำเรื่องต่อกลอน โดยเฉพาะแถวขอนแก่นไม่ได้รักษา "ศิลป์แสดง" แบบเดิมไว้ ทั้ง "วาดลำ" "วาดฟ้อน" ดูแล้วก็น่าเป็นห่วง ว่าต่อไปถ้าไม่ศึกษาของเดิมไว้ จะหาผู้รู้มาเชื่อมหรืออธิบายไม่ได้ว่ามัน "แป่" ไปอย่างไร ยิ่งหมอลำเป็นศิลป์ด้านภาษาดั้งเดิม ถ้าไม่เป็นหลักให้กับสังคมอีสานได้ ก็ไม่รู้จะไปหา "มูลเค้า" ได้ที่ไหน ที่ยังเหลือความหวังอยู่บ้าง ก็คือ ฝั่งบ้านพี่เมืองน้องของเรา คือ ลาว ภาษาเก่า ๆ ที่คงความหมายดี ๆ ไว้ ยังพอให้เราได้สืบค้นอ้างอิงได้บ้าง อย่างที่คุณครูนำมาเสนอในที่นี้แล้ว ขอชื่นชมครับ และคืนนี้ ผมก็จะนำคณะไปทัศนศึกษาด้านดนตรีที่เวียงจันทน์ประมาณ 5-6 วัน เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ เพราะอยู่ไทย "โดน" เดี๋ยวลืมชาติครับ (ฮา) 

- ขอบคุณที่ให้เกียรตินะครับ ผมได้เข้าไปอ่านบ้างแล้ว รู้สึกว่าภาษายากมาก และเป็นเรื่องการเมืองการปกครอง ไม่ค่อยถนัด ผมก็เลยขอผ่านไปก่อน แล้วจะหาโอกาสศึกษาดูครับ  

  • ขอบคุณครับ
  • ขอให้ท่านเดินทางหมานโชคชัยทุกประการครับอาจารย์สนองครับ

 

แวะมาเยี่ยมครูชา

ผมศึกษาประวัติศาสตร์ภาคอีสานเนื่องจากว่าทำไมที่นี่ถึงมีวัฒนธรรมเหมือนคนฝั่งนั้น

ในที่สุดผมก็ได้ทราบประวัติศาสตร์ที่แท้จริง มรดกอารยธรรมสองฝั่งโขง

มีความรักกันอย่างสุดซึ้ง มีวรรณกรรมฝากไว้เป็นของขวัญให้กับพวกผมรุ่นหลังได้อ่าน

น่าประทับใจมากเลยครับ

ฮักแพง

  • สวัสดีปีใหม่ครับ
  • อยากอ่านงานของครูต่อครับ คิดถึง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท