Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ยกพวกไปเยี่ยมอาจารย์คุณหมอวิจารณ์ พานิช


ทฤษฎีนั้นจะต้องสร้างจากเรื่องจริงของแต่ละคน แต่ละชุมชน แต่ละประเทศ ประเทศไทยมีปัญหามาก ก็เพราะการไปลอกเลียนองค์ความรู้ทางทฤษฎีของตะวันตกที่มีสภาพสังคมไม่เหมือนเรา สภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่มีระดับการพัฒนาแตกต่างจากเรา การวิจัยเรื่องจริงเพื่อสร้างทฤษฎีจากเรื่องจริงของสังคมไทย จึงเป็นสูตรสำเร็จที่นักวิชาการในสังคมไทยต้องช่วยกันทำ

    อ.แหววประกาศความรักต่อ อ.วิจารณ์มานานแล้วค่ะ ตระหนักได้เลยว่า ถ้าไม่เจอ อ.วิจารณ์ในวันหนึ่งของชีวิต ชีวิตก็คงไปอีกทางและคงจมอยู่ในวังวนของวัตถุนิยมและอัตตานิยม ความคิดเรื่องการทำวิจัยเพื่อคนชนบทยากไร้และคนชายขอบมาเกิดขึ้น ก็ตอนรู้จักคำว่า "สกว."

            ไม่แปลกใจที่มีคนอ่านบันทึกของ อ.วิจารณ์ เป็นประจำจำนวนมหาศาล คำสอนที่สร้างจากเรื่องจริงของสังคมไทย เป็นคำสอนที่ใช้ได้จริงค่ะ แต่อ่านบล็อกของอาจารย์ ก็ไม่สะใจค่ะ ต้องเอาหน้าไปเยี่ยมท่านอาจารย์ และตั้งคำถามด้วยปากของเรา ฟังท่านตอบเราตรงๆ บางอันท่านดูไม่เห็นด้วยกับเรา ก็จะเอาไปคิดต่อ บางอันที่ท่านเห็นด้วย ก็จะสบายใจ

            ยอมรับว่า  พวกเรามันเป็น "นักวิชาการกบถ" แต่ท่านอาจารย์วิจารณ์ว่า เรานั้นเป็น "คนไฟแรงที่ไม่ยอมรับที่จะอยู่ในวิชาการแบบเดิมๆ"  หลายหนที่น้อยใจสุดๆ ลงไปทำงานกับคนยากคนจน ใครก็ยกย่องว่า เป็นคนดี แต่ดันว่า งานเขียนงานคิดของเรา มิใช่งานวิชาการ เพราะเราไม่มีตำราอ้างอิงจากต่างประเทศ

            คำหลักในวันที่คุยกับ อ.วิจารณ์ ก็คือ "เรื่องจริง" พวกเรารู้สึกสบายใจนัก วิจัยของเราเริ่มต้นจากเรื่องจริง เราเห็นความจำเป็นที่จะต้อง "สร้างและพัฒนาองค์ความรู้" แต่เราจะทำจากเรื่องจริง และเป็นเรื่องจริงของวัตถุแห่งการศึกษาของเรา มิใช่เรื่องของคนอื่น

            สบายใจ.............

            เหมือนเข้าห้องเรียนปีละครั้ง..............

            แต่ปีนี้ จะมีทัศนศึกษาด้วย ท่านอาจารย์จะไปดูเราทำวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมที่อุบลราชธานี  เรามีงานวิจัยเพื่อคนรากหญ้าอยู่ ๓  เรื่องที่จะอวดท่านอาจารย์ กล่าวคือ (๑) การวิจัยเพื่อสร้างพื้นที่บริโภคสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยในร้านอินเทอร์เน็ต (๒) การวิจัยเพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐคนไร้สัญชาติให้แก่มนุษย์ในสังคมไทย และ (๓) การวิจัยเพื่อสร้างตลาดเสรีที่เป็นธรรมตามแนวชายแดนของประเทศไทย

           ดูรูปของห้องเรียนที่ท่านอาจารย์วิจารณ์สอนเด็กโข่งอย่างพวกเราไหมคะ

            รออ่านบันทึกของท่านอื่นที่ไปด้วยกันค่ะ

หมายเลขบันทึก: 162023เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2008 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2021 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เพิ่งเข้ามาอ่านของอ.แหวว หลังจากที่ห่างหายวงการเขียนไปพอสมควร

มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง ที่อ.แหววพูดถึง "การวิจัยเพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐคนไร้สัญชาติให้แก่มนุษย์ในสังคมไทย "

ตอนนี้ทางนักวิจัย อ.น๊อต อ.ตุ๊ก และรัตน์ กำลังค่อย ๆ เชื่อมเครือข่ายภาคประชาชนที่มีพื้นที่ในการทำงานร่วมกัน ร่วมกับ "โครงการพัฒนาเครือข่ายชุมชนคนไร้รัฐ"  และคาดว่าจะมีโครงการร่วมกันในเร็ว ๆ นี้

คนที่มาอ่านบันทึกเรื่องนี้ ต้องอ่านที่ อ.โก๋เขียนด้วยค่ะ

http://gotoknow.org/blog/archangoh/162230

ไปอ่านบล็อกของ อ.วิจารณ์เหมือนเคย ก็พบว่า อ.ก็บันทึกถึงการคุยครั้งนี้ว่า 

สร้างผลงานวิชาการจากสภาพจริงในสังคม
         วันนี้ผมนัด อ. แหวว (พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร)  กับ อ. อิทธิพล ปรีดิประสงค์ มาคุยเรื่องเด็ก  ผอ. สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว  มม. เจ้านายของ อ. อิทธิพล คือ รศ. ดร. สายฤดี วรกิจโภคาทร ตามมาคุยด้วย    และมีลูกศิษย์ของ อ. แหวว ๒ คนตามมาสังเกตการณ์ด้วย
         เราคุยกันเรื่องการพัฒนาเด็ก  และเรื่องคนไร้รัฐ  
         อ. อิทธิพล บ่นเรื่องโดนคนมหาวิทยาลัยหลายแห่งกล่าวหาว่าไม่ได้ทำงานวิชาการ     ผมชี้ว่าสิ่งที่ขาดในสังคมไทย คือการสร้างทฤษฎีจากประสบการณ์จริง    นักวิชาการไทยติดกระบวนทัศน์คัดลอกความรู้มาจากตะวันตก    ติดความคิดว่าทฤษฎีคือสิ่งที่เอาไว้ยึดถือ    ไม่คิดว่าทฤษฎีคือสิ่งที่ใช้สำหรับขับเคลื่อนความคิด วิธีคิด เพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงได้ชัดเจนขึ้น    และทฤษฎีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ หรือท้าทายได้
สิ่งที่เราขาดคือการสร้างสรรค์วิชาการจากสภาพจริง เรื่องราวจริง ในสังคม

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ม.ค. ๕๑

http://gotoknow.org/blog/thaikm/162051

เมื่อไปพบอาจารย์วิจารณ์ พานิช : “กระบวนการเรียนรู้” กับ “การสร้างทฤษฎีจากของจริง”

เรียน อ. แหวว

วันที่ ๑๕ ก.พ. ผมว่างแล้วครับ    ดังนั้นถ้าอาจารย์จะจัดไปอุบลวันที่ ๑๕ - ๑๖ ก.พ. ก็ได้     หรือจะเป็น ๑๖ - ๑๗ ก็ได้ครับ

วิจารณ์

ดีใจจังค่ะ

หนูและ อ.โก๋ มีเรื่องที่อยากประเมินผลตัวเองหลายเรื่องค่ะ อยากให้ อ.ช่วยมาเป็นครูตรวจข้อสอบให้ค่ะ

ในเรื่องแรก อ.โก๋ได้ทดลองทำ social lab เพื่อสร้างกลไกภาคประชาชน โดยเฉพาะ ที่เป็นเด็กและเยาวชน ในการวัดระดับความนิยมในสื่อแขนงต่างว่า มีเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสังคมอย่างไร เราพัฒนามา ๗ ปีแล้วค่ะ เรียกเล่นๆ ว่า "ทฤษฎีขาวเทาดำ" เราจะทดลองกับเด็กและเยาวชนที่อุบล หนูว่า การแก้ไขปัญหาเด็กเลวนั้น ควรต้องทำโดยกลไกภาคประชาชนนะคะ และคงต้องทำด้วยตัวเด็กเอง

ในเรื่องที่สอง ก็คงเป็นเรื่อง "คณะกรรมการชุมชนเพื่อสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" อันนี้เป็นเรื่องทำงานกับคนโตๆ รองผู้ว่าฯ ที่นี่ น่ารักมาก เป็นพวกชุมชนนิยมค่ะ คงได้ฟังแนวคิดชุมชนนิยมของประชาคมสังคมที่อุบลในการจัดการสื่อดีอละสื่อเลว โดยเฉพาะเกมที่กำลังมีปัญหา

ในเรื่องที่สาม เป็นงานที่หนูกับลูกศิษย์หลายคนเริ่มขยายผลจากการศึกษาคนไร้รัฐตามแนวชายแดน เป็นเรื่องการค้าชายแดน เห็นมติที่ต่อเนื่องกัน และเป็นปัจจัยสำเร็จหรือล้มเหลวของเศรษฐกิจชายแดนค่ะ เลยถือโอกาสเปิดงานใหม่กับจังหวัดอุบลค่ะ เราคิดงานด้านเด็กที่เชื่อมต่อกับเรื่องจริง จึงเห็นเด็กยากจน เด็กเร่ร่อน เด็กไร้สัญชาติ เด็กแรงงาน ตามกันมา ก็เลยคิดว่า ต้องชวนจังหวัดอุบลสำเร็จเส้นทางที่เด็กจากชนบทจะเดินทางเข้าเป็นเด็กเมืองและผู้ใหญ่เมือง ถ้าทำได้จะไปดูที่ลาว เลยคิดจะชวน อ.และภริยาไปเที่ยวหลีผีค่ะ เรื่องจริงที่จะได้ทั้งพักผ่อนและงานค่ะ

ดีใจจังค่ะ พอฟังว่า อ.ไป หลายคนก็อยากไป เราคงได้ฟัง lecture หลายๆ เรื่องที่ อ.วิเคราะห์จากเรื่องจริงค่ะ

ดีใจมากค่ะ

หนูเป็นลูกศิษย์อาจารย์อีกคนหนึ่งค่ะ.. ที่ได้รับฟังคำแนะนำ คำสอน แนวทางในการปฏิบัติตนเอง ของอาจารย์วิจารณ์ ผ่านจากอาจารย์แหววอีกทีหนึ่งค่ะ มาโดยตลอด

ความใฝ่ฝัน คือ อยากมีโอกาสได้พบอาจารย์ และได้รับฟังคำสอน คำชี้แนะของอาจารย์ ด้วยตัวเองสักครั้ง

(อาจารย์แหววชอบเล่าให้หนูฟังว่า.. อาจารย์เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำให้อาจารย์แหววเบนเข็มมาทำงานเพื่อสังคมแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้)

ไปอุบลฯ คราวนี้ หนูจะขอตามไปด้วยค่ะ พอเรียนเสร็จปุ๊ป จะจับรถตามไปปั๊ปเลยค่ะ :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท