เทคโนโลยีการศึกษา .. เรียนจบแล้วจะทำอะไรกิ๊น ?


เราเรียนเหมือนนิเทศ นิเทศจะเน้นงานตลาด โฆษณา แต่เทคโนฯ เน้นการผลิตเพื่อการศึกษาครับ ต่างกันแค่ตรงนี้ ผลิตอะไรก็ให้มันเกี่ยวกับการศึกษา การเรียนการสอนไว้ก่อน

ขอเปิดสมุดบันทึกเล่มใหม่ (เทคโนโลยีการศึกษา..เท่าหางอึ่ง) ด้วยบันทึกนี้

"เทคโนโลยีการศึกษา .. เรียนจบแล้วจะทำอะไรกิ๊น ?" 

คำถามที่ตั้งไว้ในหัวเรื่องนั้น เป็นคำถามที่ได้ผมมักได้ยินอยู่เสมอตั้งแต่ตอนเป็นนิสิต นักศึกษา จนกระทั่งได้มีโอกาสมาเป็นอาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา

เริ่มต้นจาก ...

ชื่อสาขาวิชา หรือ ภาควิชานี้ .. เริ่มตั้งแต่ยุคแรก ๆ ในประเทศไทยใช้ชื่อสาขาวิชา หรือ ภาควิชา ดังต่อไปนี้

  • โสตทัศนศึกษา (เปิดสอน ณ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย)
  • เทคโนโลยีทางการศึกษา (เปิดสอน ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร รวมทั้งวิทยาเขตต่าง ๆ ในสมัยก่อนด้วย เช่น มศว.พิษณุโลก, มศว.บางแสน, มศว.มหาสารคาม, มศว.สงขลา เป็นต้น เรียกว่า เป็นสาย มศว.)
  • เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา (เปิดสอน ณ วิทยาลัยครูทั่วประเทศ ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ)
  • เทคโนโลยีเทคนิคศึกษา (เปิดสอน ณ สถาบันพระจอมเกล้าหลาย ๆ แห่งที่มีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เช่น สจ.ธนบุรี (บางมด), สจ.ลาดกระบัง, สจ.พระนครเหนือ เป็นต้น)
  • ฯลฯ

ยุคต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชื่อสาขาวิชา หรือ ภาควิชา จนถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

  • เทคโนโลยีการศึกษา (ตัดคำว่า "ทาง" ออกไป)
  • เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (เพิ่มคำว่า "และสื่อสาร" เข้ามา เนื่องจากเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยให้สอดคล้องกับภาษาอังกฤษคำว่า Educational Technology and Communication หรือมีการนำ ICT มาใช้ในการศึกษามากขึ้น หรือ เหตุผลอื่น ๆ ที่ยังมีอีกก็ตาม)
  • ฯลฯ

หมายเหตุ ... ที่ใส่ ฯลฯ เพื่อให้ทราบว่า อาจจะมีชื่ออื่น ๆ อีกที่ผมไม่ทราบครับ

 

หลังจากที่ได้ทราบกันแล้วว่า สาขาวิชา "เทคโนโลยีการศึกษา" มีชื่อที่สอดคล้องและถือว่า เป็นสาขาวิชาเดียวกันอยู่มากมาย ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จะทำให้ท่านได้ทราบว่า นี่คือสาขาวิชา หรือ หลักสูตรวิชาเดียวกัน ที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ผลิต "นักเทคโนโลยีการศึกษา" , "ครูโสตทัศนศึกษา" , "นักผลิตสื่อการสอน" , "ครูที่อยู่สายสนับสนุนการสอนในด้านเทคโนโลยี" ฯลฯ

ทำไมถึงผลิตคนที่อยู่เบื้องหลังการผลิตสื่อ และอยู่ในวงการการศึกษาล่ะ ง่ายมากครับ เพราะผู้ที่ศึกษาอยู่ในสายวิชาชีพนี้ มักจะสังกัด คณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ หรือคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ยังไงล่ะครับ จึงได้วุฒิการศึกษา ได้แก่

  • ครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.)
  • ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.)
  • การศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)
  • ครุศาสตรอุตสาหกรรมบัณฑิต (คอ.บ.)
  • ฯลฯ

 

ดังนั้น บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาชีพนี้ที่เขียนไว้ใน "วิจัยสภาวะการมีงานทำ" ว่า งานที่ได้มีโอกาสทำโดยตรงสาขาวิชาชีพ ได้แก่

  • ครูโสตทัศนศึกษา
  • นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
  • นักเทคโนโลยีการศึกษา
  • นักผลิตสื่อตามหัองสมุดระดับต่าง ๆ
  • ฯลฯ

ที่กล่าวผ่านมา คือ ตรงสาย นะครับ

 

แต่ในปัจจุบัน สภาวะการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปครับ มีปัญหาเกิดขึ้นในวงการราชการเป็นอย่างมากครับ เช่น ครูผู้สอน สาขาเทคโนโลยีการศึกษา แทบไม่มีการเปิดบรรจุ หรือ เปิดก็น้อยมาก หรือ นาน ๆ ครั้ง แล้วแมวที่ไหนจะไปเป็นครูฝ่ายสนับสนุนการสอนได้จริงหรือไม่ครับ

ส่วน นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ก็จะเปิดนาน ๆ ที ครับ ตามสถาบันอุดมศึกษา ห้องสมุด หน่วยราชการที่ต้องมีผู้ผลิตสื่อประจำหน่วยงาน เช่น กศน. เป็นต้น

อัตราการแข่งขันจึงสูงปี๊ด เรียกได้ว่า ไม่เก่งจริง ก็ตกงานเสียเถอะครับ

 

แต่คงไม่มีทางตันเสียทีเดียวครับ

ยกตัวอย่างตอนผมเรียน ป.ตรี ... เพื่อนเทคโนฯ รุ่นเดียวกับผมมี 23 คน มีไม่กี่คนครับที่ได้ไปเป็นครูตามที่เขาตั้งใจ หรือเป็นครูได้แล้วก็สอนวิชาอื่นครับ เช่น วิชาโทภาษาอังกฤษ เป็นต้น ไม่ใช่ ครูผลิตสื่อแต่อย่างใด

ที่เหลือหรือครับ ก็กระจายทำงานกันตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในตำแหน่งนักวิชาการโสตทัศนศึกษา ทำงานบริษัทโฆษณา ผลิตสื่อโฆษณา ช่างภาพอิสระ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก็มี 1 คน ครับ เรียกว่า ไม่ใช่หน่วยงานราชการ แต่เป็นเอกชนทั้งนั้น

ท่านคงสงสัยครับ ... สาขาเทคโนโลยีการศึกษานี้ ทำงานพวกบริษัทโฆษณาได้ยังไงใช่ไหมครับ ใครไม่ได้เรียนสาขานี้คงไม่ทราบว่า วิชาที่เราเรียนมีอะไรบ้าง

เวลาผมสอนนักศึกษาวิชาเอก ผมจะถามเขาเสมอว่า นักศึกษาทราบหรือไม่ เรียนจบสาขาเทคโนฯ ไปแล้ว จะไปทำงานอะไร พวกเขาก็จะไม่ค่อยทราบ (ขนาดสาขาที่เลือกนะครับ)

ผมจะตอบเขาว่า ถ้านิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ เขาทำงานอะไรได้ สาขาเราก็สามารถทำงานแบบเขาได้เช่นกัน

ทำไมผมถึงตอบแบบนั้นล่ะครับ ... ลองดูชื่อวิชาที่สาขานี้เรียนนะครับ

  • การถ่ายภาพเบื้องต้น
  • การถ่ายภาพชั้นสูง
  • การถ่ายภาพในสตูดิโอ
  • การถ่ายภาพระยะใกล้
  • การผลิตรายการโทรทัศน์
  • การประชาสัมพันธ์
  • คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา
  • เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
  • การผลิตและการนำเสนอมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา
  • การผลิตแผ่นโปร่งใส
  • การออกแบบวัสดุกราฟิกด้วยคอมพิวเตอร์
  • การออกแบบเว็บเพจ
  • การพิมพ์ซิลล์สกรีน
  • วัสดุกราฟิกเพื่อการศึกษา
  • ฯลฯ

วิชาที่กล่าวมาทั้งหมดจะเรียนมากเรียนน้อยขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยครับ ชื่อวิชาอาจปรับเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย แต่ขอให้เชื่อเถอะครับว่า สาขาวิชานี้เน้นการผลิตได้ ปฎิบัติได้ในเกือบทุกศาสตร์ที่เขาควรจะต้องทราบ หรือที่พวกเราชอบเรียกกันว่า "สาขาเป็ด" ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง

ซึ่งบางคนชอบการถ่ายภาพ จบไปก็มักจะไปเป็น "ช่างภาพ" อิสระ หรือ ไม่อิสระ ไม่ทราบครับ ได้หมด

บางคนชอบการผลิตรายการโทรทัศน์ จบไปก็มักจะเป็น "คนตัดต่อ" "นักผลิตรายการโทรทัศน์" หรือ "เขียนบทโทรทัศน์" ก็มี

บางคนชอบงานทางด้านกราฟิก จะไปอยู่บริษัทผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ โรงพิมพ์ก็อยู่ได้ หรือเปิดร้านส่วนตัวก็ได้

บางคนชอบคอมพิวเตอร์มาก ก็มักจะไปทำงานผลิตสื่อด้วยคอมพิวเตอร์ทุกชนิด เช่น อาจจะไปเป็น web master ให้กับหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ ผลิต e-book ทำ e-learning เป็นต้น

ฯลฯ อีกเยอะครับ

ดังนั้น สิ่งที่ผมบอกนักศึกษาจึงไม่ได้ผิดอะไรเลยครับว่า เราเรียนเหมือนนิเทศ นิเทศจะเน้นงานตลาด โฆษณา แต่เทคโนฯ เน้นการผลิตเพื่อการศึกษาครับ ต่างกันแค่ตรงนี้ ผลิตอะไรก็ให้มันเกี่ยวกับการศึกษา การเรียนการสอนไว้ก่อน ที่หลายคนไปทำงานที่ไม่ใช่การศึกษา เขาจึงทำได้ไงครับ

คนที่เรียนนิเทศฯ หลาย  ๆ คน ยังไม่ทราบเสียด้วยว่า สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา เรียนเหมือนเขานั่นแหละ แค่ต่างกันตรงเป้าหมายเท่านั้นครับ

เล่ามาให้ฟังตั้งยาว ... พอมองเห็นภาพรวมของคนที่เรียนจบในสาขาเทคโนโลยีการศึกษาบ้างแล้วนะครับ :) เอาผมซะเหนื่อย

ผมต้องขออภัยไว้ก่อน หากว่า สิ่งที่ผมเขียนมาไม่ครอบคลุม หรือครบถ้วนความทั้งหมด อันเนื่องจากว่า ผมเขียนตามประสบการณ์ที่ตนเองมีจริง ๆ มิได้คัดลอกเรื่องราวของท่านใดมา

หากท่านใดมีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน ผมจะยินดีมาก ๆ ครับ เพื่อเติมความรู้ให้เต็ม แต่ไม่ล้น :)

 

ขอบคุณครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนกันในบันทึกหน้าแรกของ "เทคโนโลยีการศึกษา..เท่าหางอึ่ง" ครับ

บุญรักษา ... ทุกท่าน ครับ :)



ความเห็น (163)

ได้ความรู้มากเลยครับ ที่ผ่านมาผมก็ได้ทราบมาบ้าง แต่ไม่ละเอียดเท่ากับการเขียนแบบ "ใจถึงใจ" ในบันทึกนี้

คนเหนือเรียกว่า มันแน่นใจ๋ ดีแต้ๆ ครับ

ขอบคุณจั๊ดนักครับผม

ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ คุณเอก ครับ ถือเป็นกำลังใจอย่างมากครับ ในการเขียนเรื่องราวในวิชาชีพนี้ครับ :)

  • ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก็เรียก โสตทัศนศึกษา ค่ะ
  • ตอนนี้จบสาขาไหนก็ตกงานค่ะ หากไม่รู้จักปรับตัวและขวนขวาย
  • ไม่เฉพาะ ป.ตรี แล้วค่ะ ป.เอก ก็ตกงาน ใกล้เหมือน อินเดีย กับอาร์เจนตินาเข้าไปทุกที หากยังเปิดสาขากันเป็นดอกเห็ด โดยไม่ควบคุมคุณภาพแบบนี้ สงสารพ่อแม่ที่เป็นตาสี ตาสาของนักศึกษา
  • อืมแต่ถ้าไม่อยากตกงานให้เรียนสาขานี้ค่ะ เวชนิทัศน์ วิชาเรียนใกล้เคียงกันมากที่สำคัญไม่ตกงาน แต่ห้ามกลัวผีนะคะ เพราะต้องทำหุ่นจำลองโครงกระดูกได้ ลองอ่านประวัติโรงเรียนเวชนิทัศน์ ที่ มศว มี ผศ.ดร.ทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาท่านหนึ่ง จบ ป.ตรี ทางเวศนิทัศน์ ผลิตสื่อเก่งมากๆค่ะ
  • แต่หากชอบถ่ายภาพแนะนำให้ไปเรียนที่นี่ค่ะ แผนกวิชาศิลปะการถ่ายภาพ ระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง งานตรึมค่ะ เพราะวุฒิ ปวส.

ขอบพระคุณ คุณ naree suwan ที่แวะมาเติมสิ่งที่ผมลืมเลือน

ใช่จริง ๆ ด้วย นอกจากนิเทศศาสตร์ที่ใกล้แล้ว ยังมี "เวชนิทัศน์" อีกครับ

โดยเน้นทำงานและผลิตทางการแพทย์ให้กับคุณหมอ

เช่น ไปถ่ายศพ อาจารย์ใหญ่ .. หรือ คุณหมอต้องการสอนนักศึกษาแพทย์ เรื่อง การผ่าตัดหัวใจ คนที่จบเวชนิทัศน์ก็ต้องถือกล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องวิดีโอ เข้าห้องผ่าตัด แล้วก็ถ่าย ๆๆๆ มาตัดต่อ แล้วทำเป็นสื่อ VDO ให้นักศึกษาได้ใช้เรียนต่อไป

คนที่เรียน "เวชนิทัศน์"  ... ต้องใจแ็ข็ง .. ไม่กลัวเลือด

ไม่ใช่เห็นเลือดแล้วเป็นลม แบบนี้ก็สงสัยจะไปไม่รอดครับ อิ อิ

ดังนั้น คนจบ ป.ตรี (เวชนิทัศน์) ก็จะเรียนต่อ ป.โท (เทคโนโลยีทางการศึกษา) ได้แน่นอน ครับ 

ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ :) 

สวัสดีครับ
      ผมเคยหนักใจว่าบัณฑิตที่พวกเราผลิตออกไป  เขาแขวนป้าย "คบ." หรือ "ศษบ." แต่ตอนเรียนนั้นนักศึกษาน้อยคนนักที่สนใจใฝ่รู้เรื่อง การศึกษา และการเรียนการสอน เขามุ่งทักษะเชิงเทคนิคกันมาก  จนออกนอกลู่ไปไม่น้อย  ยิ่งได้ผู้สอนที่ขาดความเข้าใจหรือ ประสบการณ์ทางด้าน การศึกษาด้วยแล้ว ก็เลยไปกันใหญ่  ที่เคยฝึกประสบการณ์ในโรงเรียน หรือสถานศึกษา ก็ย้ายฐานไปสู่บริษัทโฆษณา หรือ Studio กันเป็นแถว  ผมเคยลุ้นว่า น่าจะไปทั้งสองแหล่ง  ให้มีความแตกต่างจากนิเทศศาสตร์  ให้สมกับความเป็น "คบ." หรือ "ศษบ." แต่ก็ไม่สำเร็จครับ  ปัจจุบันเขาไม่ไปโรงเรียนกันแล้ว  แต่ผมก็ยอมรับครับว่างานสายตรงหายาก  จึงเห็นใจทั้งคนเรียน และคนสอนครับ 
     อย่างไรก็ตามผมยังคิดเหมือนเดิมคือ ถ้าคุณ แขวนป้าย  "คบ." หรือ "ศษบ." คุณต้องรู้เรื่อง ศาสตร์ทางการศึกษา และการเรียนการสอน เพื่อนำไปบูรณาการกับทักษะด้านการออกแบบและผลิตสื่อการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ  ให้สอดคล้องกับ ปริญญาบัตรที่ระบุเป็น  "คบ." และ "ศษบ." ที่ได้รับไป  ส่วนการงานนั้นก็ว่าไปตามเงื่อนไขครับ  เลือกมากนักก็ไม่ได้ ฝึกฝนทักษะให้เกิดความชำนาญ เชี่ยวชาญไป  แต่ถึงอย่างไรก็อย่าให้ถึงกับตัดเรื่องความรู้ด้านการศึกษาออกไปเลยครับ

สวัสดีครับ .... ท่านอาจารย์ Handy

  • ยินดีมากครับที่ท่านอาจารย์ได้เสียสละเวลาเข้ามาให้ข้อคิด
    ในเรื่องราวของวิชาชีพนี้ครับ
  • มันยังคงเป็นปัญหาที่น่าหนักใจ เหมือน "เหตุการณ์ด้านตะวันตกไม่เคยเปลี่ยนแปลง"
  • ผมขอแสดงความเห็นด้วยครับ ว่า ถ้าหากเรามีวุฒิ ค.บ., ศษ.บ, กศ.บ. เราควรต้องมีีความรู้ทางด้านการศึกษาไว้ด้วยให้สมกับวูติการศึกษานี้
  • และไม่ว่าหลักสูตรของสถาับันแห่งใดกำหนดไว้ในหลักสูตรว่า ก่อนจบเธอต้อง "ฝึกสอน" หรือ "ฝึกงาน"
  • ผมอยากเลือกทั้งสองอย่าง ... เพื่อให้ทางเลือกกับนักศึกษาเหล่านั้น และถือเป็นแนวทางที่จะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทั้งสองลักษณะ อีกทั้งอาจจะเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการทำงานในอนาคตของพวกเขาก็เป็นไ้ด้
ขอบพระคุณ อาจารย์ Handy มาก ๆ จริง ๆ ครับ โอกาสคงจะได้แลกเปลี่ยนกันใหม่ครับผม ซ๗
555 แรกๆ ก็เบื่อเด็กที่จบมาจากแนวคบ. หรือศษ.บ เหมือนกัน เพราะงานโฆษณาจริงๆ แล้วต้องการเด็กที่จบนิเทศศาสตร์ หรือนิเทศศิลป์โดยตรง แต่เดี๋ยวนี้มั่วไปหมด ยังไงก็ช่าง สมัยนี้ไม่ว่าจบคณะอะไรมาก็ต้องมาเทรนใหม่อยู่ดี ทำงานไม่ค่อยจะเป็น รู้ไม่แตกฉาน ชอบพึ่งเทคโนโลยีอย่างเดียว เวลาให้คิดอะไรจากความว่างเปล่านี่ยากเย็นแสนเข็ญ เอาเป็นว่ามีพื้นฐานพอเป็นก็มาหัดงานใหม่ก็แล้วกัน แต่เด็กที่จบสายตรงมาก็จะได้เปรียบด้านพื้นฐานความคิดที่ตรงกว่านิดหน่อย สรุปแล้วก็คือกันค่ะ แป่เอี่ย ^ ^

ขอบคุณครับ คุณซูซาน Little Jazz \(^o^)/

เหมือนผมเห็นเคยเห็นคุณซูซานเขียนไว้ที่ไหนซักทีครับ เรื่องของเด็กรุ่นใหม่ที่จบมา และเรื่องการทำงาน

ผมถือว่า นี่คือ มุมมองอีกด้านที่นักศึกษาที่ยังไม่จบควรจะทราบความคิดของคนที่จะรับเข้าทำงาน

ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ถึงจะเรียนได้ว่า มีคุณภาพ อึด อดทน :)

แวะมาแลกเปลี่ยนบ่อย ๆ นะครับ ชอบประสบการณ์ของคุณซูซานครับ

 

ป.ล. แนะนำบันทึกเพิ่มเติมครับ บทเพลงไว้อาลัยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จากรายการ "ตีสิบ" ยังมีเพิ่มอีก 4 เพลง (คาราบาว, เจมส์, ปาน, ลิเดีย) :)

 สวัสดีค่ะ

ดิฉัน เคยรับผิดชอบ ในงานฝึกอบรมมาระยะหนึ่ง เรามีบุคคลากรด้านนี้ อยู่หลายคนค่ะ เลยพอจะเข้าใจว่า....

เทคโนโลยีคือสไตล์(STYLE) หรือรูปแบบให้เกิดการเรียนรู้เท่านั้น

 สิ่งสำคัญที่สุดคือเนื้อหา(SUBSTANCE) ที่ใส่เข้าไป เพื่อนำเสนอความรู้ตามลำดับขั้นตอน ของการทำให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาวิชาอันนำไปสู่การเรียนรู้ในขั้นสุดท้าย

ผู้สอน คงต้องเน้นที่เนื้อหา มีความหลากหลายและมีขั้นตอน ของการนำเสนอความรู้ ในทุกระดับการศึกษา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดค่ะ

ปัญหาของเด็กที่จบใหม่นอกจากประสบการณ์จริงน้อยแล้ว (อันนี้ธรรมดา เป็นเรื่องปกติ) ก็คือการสนใจขวนขวายความรู้นอกตำรานี่น้อยมาก อ่านหนังสือก็น้อย ดูหนังก็น้อย ดูโฆษณาต่างประเทศก็น้อย ความรู้รอบตัวนี่ไม่ต้องพูดถึง ทั้งๆ ที่สื่อเดี๋ยวนี้ช่วยได้มากมายกว่าสมัยก่อน ที่สำคัญคลังคำศัพท์น้อยจนน่าตกใจ การทำงานโฆษณาหลายๆ ครั้งต้องคิดคำ ต้องรู้จักการเล่นคำมากๆ ซึ่งถ้าขาดตรงนี้หลายครั้งก็เป็นปัญหา เคยเจอเด็กเขียนสคริปต์เหมือนเขียนเรียงความส่งครู ไม่มีลูกเล่นทางภาษา เรียงประโยคได้แต่แบบมาตรฐาน ขาดความน่าสนใจ แต่อยากได้ตำแหน่งที่ฟังดูโก้ๆ เช่น copy writer, script writer ซึ่งจริงๆ แล้วเขียนหนังสือยังผิดๆ ถูกๆ อยู่เลย แล้วก็ไม่ชำนาญแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งพวกนี้มันจะมาพร้อมกับทักษะจากประสบการณ์จริงในวิชาชีพ ถ้าขาดทักษะเหล่านี้ พอเจอปัญหาก็ได้แต่นั่งกุมขมับว่าจะทำยังไง รอพี่มาช่วยคิด

ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความอดทน และความกระตือรือล้นเอาใจใส่ต่องานค่ะ มีอะไรรอบตัวก็ทำอยู่เท่านั้น ไม่ค่อยคิดเองว่าจะเพิ่มอะไร เสนออะไรที่แปลกใหม่ หรือค้านอะไรที่ดูไม่เข้าท่า แบบนี้มันปั้นยากค่ะ เป็นกันเยอะจริงๆ นะคะ นี่พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของกิจการแบบเดียวกัน เจอกันหมดไม่มีเว้น ปวดหัวเรื่องคนนี่ล่ะค่ะ

น้องซูซานกล้าพูดจริงนะ

เขาพูดถึงภาพรวม ทั่วๆไปของเด็กจบใหม่ ในสังคมน่ะ

พี่ไม่ค่อยกล้าจ้ะ

ก็ดูหน้าน้องเขาซี เอาจริงน้า...คนจริง อิๆๆๆๆ น่ารักนะ

การฝึกอบรมไป ทำงานไป  จึงสำคัญมาก

สวัสดีครับ พี่ Sasinanda

  • สาขานี้ สมัยก่อนเรียกว่า "โสตทัศนศึกษา" อันหมายถึง การผลิตสื่อที่มองเห็นและได้ยินเท่านั้น ครับ :) คือ มองแค่ Hardware กับ Software
  • ต่อมา เมื่อแปลงร่างเป็น "เทคโนโลยีการศึกษา" นั้น มีการปรับเปลี่ยนทฤษฎีและหลักการที่ใช้ครับ คือ เรารวม "วิธีการ" เรียนรู้ต่าง ๆ เข้ามาอีกครับ
  • เราเน้นปฏิบัติการ ผลิตสื่อให้เป็นครับ แต่คนที่แสดงออกว่า เก่งนั้น คือ คนที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้ในงานที่ทำครับ
  • มีศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีศิลปะ ใส่เข้าไปด้วยครับพี่
  • เวลาที่ผมสอนเด็กผลิตสื่อนั้น สิ่งที่ผมเน้นมาก ๆ คือ เราต้องผลิตสื่อเพื่อให้ผู้เรียนเอาไปใช้เรียนรู้ได้จริง ไม่ใช่ ผลิตไว้ตอบสนองคนสร้างเอง แบบนี้ไม่ถูกต้องครับ
  • โดยส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจ concept นี้จริง ๆ ชอบตอบสนองอัตตาตัวเอง เพราะมันง่ายต่อการคิด ไม่คิดถึงคนที่จะต้องใช้ ครับ :)
  • เขียนไปยังงงเอง 555

ขอบคุณมากครับพี่ Sasinanda ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้กันครับ

สวัสดีครับ คุณซูซาน Little Jazz \(^o^)/

  • พูดได้คำเดียวครับว่า "ปวดหัวแทน" ...
  • เด็กรุ่นใหม่ที่พูดถึง เป็นตั้งแต่นั่งเรียนอยู่แล้วครับ สอนแล้วบางทีผมตามไม่ไหว ยังต้องยกธงขาวก็มีครับ
  • ว่าง ๆ ผมจะเล่าให้ฟังถึงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ผมสัมผัสในมหาวิทยาลัยครับ :)

ขอบคุณครับ ตรงไปตรงมา ชัดเจนดีมาก

พี่ Sasinanda ไม่ต้องห่วงครับ ชอบครับ ชอบ ... นี่ขนาดภาพรวมนะเนี่ย ถ้าเจาะล่ะ อาจารย์อย่างผมตาย 5555

สวัสดีครับ ทุกท่าน

  • ผมเพิ่งจะนึกได้ว่า มีอีกสาขาวิชาที่ใกล้เคียงกับ "เทคโนโลยีการศึกษา" ครับ
  • คือ สาขาวิชา "ส่งเสริมการเกษตร" ครับ
  • มีหลายวิชาเรียนที่เรียนคล้ายกันครับ เน้นการผลิตสื่อเหมือนกัน แต่เป็นสื่อที่ส่งเสริมด้านการเกษตร ครับ
  • ที่ผมทราบ เพราะว่า ผมเห็นไปฝึกงานที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ ทุกส่วนของที่นี่ เรียนเหมือนผมเปี๊ยบครับ

ขอบคุณครับ

คุณพี่อาจารย์ Wasawat Deemarn

เรียนน่าสนุกกว่าที่อ๋อเรียนตั้งเยอะนะคะ  อ๋อไม่ค่อยได้เรียนอะไรสนุกแบบนั้น ต้องหาเรื่องหัดทำเอง งูๆปลาๆ เช่นทำงานบรรณาธิการวารสารเนี่ย ก็เพิ่งมาหัดทำงานกับโปรแกรมต่างๆ  เรียนรู้ขั้นตอนการทำงานของโรงพิมพ์ ถ่ายภาพประกอบ จัดหน้าหนังสือ ถามคนนั้นคนนี้ คือยอมรับว่าไม่รู้ก็หาครูไปเรื่อยๆค่ะ  พยายามทำเองไปเรื่อยๆค่ะ เป็นไม่เป็นไม่ทราบค่ะ แต่ทำไปแล้ว

ทำไปได้..อิ อิ

อ๋อค่ะ

สวัสดีครับ คุณน้องหมออ๋อ

  • การเรียนรู้เป็นความสำคัญของมนุษย์ครับ
  • มนุษย์จะต้องรู้จักการพัฒนาตนเองครับ มิฉะนั้น อาจจะไม่มีมนุษย์ในโลกใบนี้ครับ
  • ให้คุณพี่ไปเรียนทำฟันบ้างก็คงไม่ไหว หัวไม่ไป ความฉลาดมีจำกัด
  • ทำไปเถอะครับ คุณน้องหมอ หรือ คุณหมอน้อง

อิ อิ ขอบคุณครับ แวะมาเยี่ยมบันทึก

สวัสดีครับอาจารย์

    ผมเคยเรียนปริญญาโทเทคโนฯ แต่ไม่จบ เพราะสาเหตุที่น่าเศร้า

       -  ความคิดเข้ากันไม่ได้กับอาจารย์ที่ปรึกษาIS สุดท้ายอาจารย์คนนั้นบีบให้ลาออก
      -  เรียนไปซักพัก เกิดสอบบรรจุติด เลยต้องทิ้งการเรียนโท จนไม่สามารถกลับมาสานต่อได้
     - ตัวเองก็ไม่มีความพยายามที่จะเรียนให้จบ (เพราะเบื่อการเรียน บวกกับได้งานทำเป็นข้าราชการ)

สุดท้ายผมก็ลาออกจากการเป็นนักศึกษาปริญญาโทจนได้  อาจารย์ครับพอผมกลับมาเป็นครู  ผมก็ยังใช้และศึกษาเกี่ยวกับเทคโนฯการศึกษาอยู่เสมอ ถึงแม้ครั้งหนึ่งจะเรียนไม่จบกะเขา แต่ใจยังรักและชอบเทคโนฯอยู่ อาจารย์เขียนเยอะ ๆ นะครับ จะติดตามอ่านครับ

สวัสดีครับ คุณครู อดีตนักศึกษาเทคโนฯ

  • สาเหตุของการเรียนไม่จบในระดับปริญญาโทมีมากมายหลายสาเหตุครับ .. ขึ้นอยู่กับหัวใจของผู้เรียนแต่ละท่านนั้น ๆ ครับ
  • หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก ก็มีสิทธิ์เรียนจบกะเค้าเหมือนกันครับ เพราะว่า สามารถทนแรงเสียดทานจากสภาพแวดล้อมหลาย ๆ เรื่องได้ แต่น้อยคนนักที่จะยังคงยืนยันความเป็นตัวเองครับ
  • หลายคนที่เรียนจบ เขายอมละทิ้งความเป็นตัวตน ยอมถูกสิงร่างโดยผู้ให้คำปรึกษาของตัวเอง หรือไม่ ที่ปรึกษาสนใจเอง แต่อยากให้นักศึกษาช่วยก็มีเยอะไปครับ คนแบบนี้ วิชาชีพอ่อนครับ แต่สังคมแข็ง ... ผมไม่ศรัทธาแบบนี้แน่ ๆ ล่ะ
  • ผมศรัทธาคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง (แต่ไม่ใช่ดื้อจนไม่ยอมรับฟังใครนะครับ ไม่รับฟังเหตุ ไม่รับฟังผล แบบนี้ผมก็รับไม่ได้เหมือนกัน) ... หรือจะเดินทางสายกลางก็ได้นะครับ อาจารย์ครึ่ง เราครึ่ง ก็น่าสนใจ
  • แต่อย่าซีเรียสเลยครับ ... ถ้าตอนนี้คุณครูยังคงไม่ลืมเลือนเทคโนฯ
  • ก็ขอให้กำลังใจนะครับ สู้ สู้ ...
  • นาน ๆ ผมก็จะเขียนทีหนึ่งน่ะครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมเยือนครับ :)

   สวัสดีคะ  ชอบคำพูดที่ว่า  "สาขาเป็ด  ทำเป็นทุกอย่าง แต่ไม่เก่งอะไรซักอย่าง"

       ดิฉันก็จบเทคโนฯ เหมือนกันคะ   จบมหาวิทยาลัยเนเรศวร เช่นเดียวกันคะ   อิอิ  แต่ปัจจุบัน เลือกที่จะเรียน IT  เพราะคิดว่าสอดคล้องกับตัวเองและงานที่ทำมากที่สุดคะ

ยินดีทีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันคะ

 

สวัสดีครับ คุณ (^---^) Ph.D. IT Student Blog (^---^)

  • "สาขาเป็ด" เป็นคำพูดที่มาจากอาจารย์ของผมที่ มศว.พิษณุโลก หรือ มน. นี่แหละครับ อิ อิ
  • ครับ ... ใครเชี่ยวชาญด้านใด ก็เห็นควรแวะไปต่อยอดสาขานั้นครับ
  • เรียนแล้วมีความสุข เรียนได้เลย

ขอบคุณครับ :)

แหม..ฟังแล้วน่าสนใจจัง.. จริงสาขาเป็ดแบบนี้มีอีกตั้งแยะ..

อย่างอี๋ เรียนบริหารงานวัฒนธรรมนี่  ก็เป็ดนะ  แต่เรียนแล้ว Happy ถึงจะยังไม่จบก็ตามอิอิ..

ขอบคุณครับ คุณ ladygenius  ...

เรียนปริญญาตรี ก็เรียนภาพกว้าง ๆ

เรียนปริญญาโท ก็เริ่มแคบลง

เรียนปริญญาเอก เฉพาะทาง ด้านใดด้านหนึ่ง

อิ อิ .. ก็ "เป็ด" ก๊าบ ๆ อยู่ดี

บุญรักษา นะครับ :)

โทษนะคะ..ชื่อ Wasawat Deemarn อี๋คุ้นๆจัง

ใช่ชื่อ พญามารที่ขวงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ารึป่าว???

อันนี้..อยากทราบจริง อ่านชื่อแล้วเก๋ดี..

สวัสดีครับ ... คุณ ladygenius

ขอบคุณครับ :)

ไปอ่านมาแล้วค่า..ได้ความรู้แยะเลย

  • เข้ามาสวัสดี....ด้วยความคิดถึงครูค่ะ
  • ........
  • ลูกสาวหมอเจ๊ชอบเรื่องถ่ายภาพ ชอบทำกราฟฟิก....
  • ตอนให้เลือกเรียนปริญญาตรี
  • ลูกว่าขอเรียนสถาปัตย์......
  • ไปๆมาๆเธอเปลี่ยนใจเอง........
  • เธอให้ข้อคิดแม่....คล้ายที่ครูแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหมออ๋อ....
  • หนูคิดว่า....เรื่องที่หนูชอบ....หนูเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง....โดยหนูไม่ต้องเลือกเรียนมันตรงๆก็ได้....แต่ไอ้ที่หนูจะเลือก...ถ้าหนูไม่เรียน......หนูจะเรียนเองไม่ได้
  • ........
  • สุดท้าย....เธอเลือกเรียนเภสัชฯค่ะ
  • แม่ฟังแล้วดีใจค่ะ...ที่ลูกรู้จักถักทอใยเหล็กเสริมให้ตัวเองเป็น
  • ........
  • แต่ใยเหล็กก็กร่อนได้หากไม่มีคนร่วมถักทอ
  • .........
  • คนร่วมถักทอที่สำคัญนั้นก็คือครู.....ทำอย่างไรให้เนื้อหาที่ใส่เข้าไปสนุกที่จะเรียน......เรื่องนี้ถ้าทำได้.....แม้จะเลือกมาเรียนอย่างไม่ได้ตั้งใจ......เขาก็จะรักเรียน....และค้นหาให้ตัวเอง.....เพื่อทำการงานต่อไป.....
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ คุณ ladygenius  ... นำความรู้อันน้อยนิดของผมไปใช้ ดีใจครับ :)

ยินดีต้อนรับ คุณ หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ

  • ขอบพระคุณสำหรับความคิดถึง ครับ
  • ชอบที่คุณหมอเล่าให้ฟังเรื่องลูกนะครับ เป็นตัวอย่างของชีวิตที่เลือกได้จริง ๆ หากมีการรู้จักตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ลำดับต่อไปของชีวิต มีหรือจะไม่สามารถเลือกเองได้ ใช่ไหมครับ
  • นอกจากพ่อแม่ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนแล้ว ก็เป็น "ครู" ที่จะทำให้ทราบว่า ความรู้อันนี้สนุกไหม ถ้าสนุกก็จะรัก โดยธรรมชาติ แต่ถ้าไม่สนุก ก็ลุกหนีอย่างเดียว ครับ

ขอบคุณคุณหมอสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำให้บันทึกนี้ ยังมีคุณค่าอยู่บ้าง

บุญรักษา ครับ :)

อ่านแล้ว เห็นว่า มีแต่คนจบเทคโน ฯ แล้วไปทำงานในสายงานนิเทศนะคับ

แต่ผมเป็นคนหนึ่งคับ ที่จบนิเทศ และมาทำงานเป็นครูโสต

คล้ายกันครับ แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว นิเทศเป็นผู้ผลิตสื่อ ใช้สื่อ

แต่เทคโน เป็นผู้จัดการสื่อ หรือนวตกรรม

ตอนนี้กำลังเรียนเทคโนอยู่ครับ ไม่อยากเรียนเฉพาะวุฒิครู

เป็นครุโสตให้มันเต็มภาคภูมิหน่อย เรียนจบ รร.จะบรรจุให้ครับ

ขอบคุณ คุณครูโสต ... ครับ ที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน :)

คือว่า ทั้งสองศาสตร์ ระหว่าง นิเทศฯ กับ เทคโนฯ ... เป็นผู้ผลิตสื่อทั้งสองศาสตร์ครับ

นิเทศฯ ผลิตสื่อเชิงพาณิชย์ ผ่านทางสื่อมวลชนเป็นส่วนใหญ่ อันสื่อมวลชน ได้แก่ หนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน สื่อสมัยใหม่ คือ อินเทอร์เน็ต ครับ

เทคโนฯ ผลิตสื่อที่ใช้ในด้านการศึกษา การเรียนการสอนสำหรับครู และนักเรียน ครับ

สำหรับการเป็นผู้จัดการสื่อ หรือ นวัตกรรม ได้นั้น ต้องผ่านการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ในฐานะผู้ออกแบบและผลิตมาก่อนครับ

ดังนั้น การเป็นผู้จัดการสื่อฯ ได้นั้น มักจะเรียนในระดับที่สูงขึ้น คือ ปริญญาโท ปริญญาเอก ครับ

รู้สึกดีใจที่ประเทศไทยกำลังจะได้คนที่อยากเป็นครูด้วยหัวใจ ครับ

ขอบคุณมาก ๆ ครับ :)

แวะเข้ามาอ่านแล้วรู้สึก คันมือ..ครับท่านอาจารย์ทั้งหลาย

ผมคนหนึ่งแหละที่ตอนนี้ เรียนเทคโนฯ..ซึ่งผมจบ ป.ตรี ศิลปกรรม (ออกแบบนิทศศิลป์)มา และกำลังเรียน อยู่ ป.โท ที่ประสานมิตร ตอนนี้ก็ทำงานด้วยเรียนไปด้วย

เป็น Creative GroupHead ที่ บ.ผลิตภาพยนตร์โฆษณาแห่งหนี่ง

ข้อเสียของการเรียนเทคโน ก็คือ เราเรียนเป็นเป็ด รู้ไปหมด ทั้งงานสายอาชีพ และงานวิชาการ ทฤษฎีนั้น นู้น นี่ พอเด็กเทคโน จบไป ก็ไปแข่งกับคนที่จบมาสายตรงไม่ได้ เช่น

อยากเป็น Art director ก็สู้เด็ก สถาปัด,หรือเด็กศิลปกรรม ไม่ได้

อยากเป็น Script Writter ก็ สู้เด็ก อักษร หรือ นิทเศ ไม่ได้

อยากเป็น PhotoGrapher ก็สู้เด็กที่จบถ่ายภาพ หรือ นิเทศไม่ได้

อยากเป็น ครูผู้สอน ก็สู้เด็กที่จบครูตามสาขาวิชามาโดยตรงไม่ได้

ฯลฯ

แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเลย ข้อดีของการเรียนเทคโน ก็คือ

เราได้ เรียนรู้ ทฤษฎี ในการออกแบบระบบการสอน

เราได้ เรียนรู้ จิตวิทยาทางการศึกษา

เราได้ บูรณาการ งานสายอาชีพในการผลิตสื่อต่างๆ มาพัฒนาวงการศึกษาไทย

ถ้าไม่มีเราเด็กเทคโนฯ จะมีใครพัฒนาวงการออกแบบสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ โดยเอางานสายอาชีพต่างๆ มาบรูณาการเป็นสื่อการเรียนการสอน เช่น

การ์ตูน 3d animation, web base learning, Com-Multimedia

Vdo conference, Interactive Game ฯลฯ

สรุป ผมว่าผมเลือกถูกแล้วที่ผมเลือก เรียน เทคโนโลยีการศึกษา

ขอบพระคุณ คุณ Suraches Meerith ... ที่ได้ลงความคิดเห็นไว้ได้อย่างน่าสนใจมาก ๆ ครับ :)

ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ ว่าที่ พ.ต. ณัฏฐพล ตันมิ่ง  ... ครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนบันทึกนี้ :)

ขอบคุณมากๆค่ะ สำหรับข้อมูลแบบเจาะละเอียดขนาดนี้ ตอนนี้หนูเรียนอยู่ชั้นปี1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล "สาขาเทคโนโลการศึกษาแพทย์" มหาลัยมหิดลค่ะ

เป็นสาขาที่เปลี่ยนหลักสูตรมาจาก"เวชนิทัศน์"ของสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทย์ที่ศิริราชค่ะ

ชอบที่พี่เรียกว่าเป็น"คณะเรียนอย่างเป็ด"มากๆเลยค่ะ เพราะหนูกับเพื่อนก็ยังเรียกกันเองแบบนี้เหมือนกัน

หนูจบม.ปลายสายวิทย์มา ทีแรก ก็ก็ว่าคงเลือกเรียนต่อทางวิทย์สายสุขภาพ แต่หนูรู้ตัว ว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เก่งวิทย์ขนาดที่จะไปเรียนเพียววิทย์แบบนั้นได้ แล้วพอดีชอบทางศิลปะ พอได้ยินเรื่องของคณะนี้ที่มหิดล เลยสนใจ และเข้าคณะนี้ค่ะ

ตอนนี้เรียนก็มีความสุขดีค่ะ สำหรับเนื้อหาการเรียน หนูรู้สึกว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว แต่เรื่องงานที่ทำนี่ ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ ว่าจบแล้วจะไปทำอะไรดี?

พี่ว่า สายเวชนิทัศน์นี่ สามารถทำงานแบบไหนได้บ้างคะ นอกจากผลิตสื่อทางการแพทย์

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ^ ^

สวัสดีครับ หนู K@De :)

ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชียวล่ะครับ

ได้ยินสาขา "เทคโนโลยีการศึกษาแพทย์" เป็นครั้งแรก ครับ ดีใจจัง

ชื่อจ๊าบมาก ๆ

เป็ดอย่างพวกเรา ... ต้องหาจุดยืนที่ตนเองชอบครับ

บางคนชอบถ่ายภาพ ก็เดินทางงานถ่ายภาพทุก ๆ ด้านได้เลยครับ

บางคนชอบงานโทรทัศน์ ก็วิ่งตรงไปที่งานโทรทัศน์ทุก ๆ ด้าน

บางคนชอบงานกราฟิก ก็เป็นเส้นทางทั้งการใช้ทักษะทางมือ และความคิดสร้างสรรค์ ก็ด้านโฆษณา Art ต่าง ๆ ครับ

เวลาหน่วยงานราชการ เขาประกาศรับ "นักวิชาการโสตทัศนศึกษา" หรือ "นักเทคโนโลยีการศึกษา" จะมีสาขา "เวชนิทัศน์" อยู่ด้วยนะครับ เพียงแต่ว่า เวลาไปสมัครงาน ต้องแจ้งให้ทางหน่วยงานที่รับทราบว่า สาขาของหนู คือ เวชนิทัศน์ นั่นเอง

แต่เส้นทางการเรียนต่อ ก็ยังเปิดกว้างนะครับ สำหรับคนขยัน

สาขา "เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา" ก็เปิดมากมายในประเทศไทยแห่งนี้

ลองสอบถามอาจารย์ดูนะครับ

ยินดีที่ได้เห็นคนเรียนสายเดียวกัน มีวิธีคิดที่น่าสนใจนะครับ

 

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ

เวลาบอกชื่อคณะนี้กับใคร ทุกคนจะถามเป็นเสียงเดียวกันตลอด ว่าคณะอะไรกัน?

ตอนนี้เพื่อนในคณะหลายคน ปีหน้าจะซิ่วจะหลายคนเลยค่ะ เพราะเข้ามาเพราะเข้าใจผิดกับชื่อที่ห้อยท้ายว่า"การศึกษาแพทย์" เนี่ยแหละ แถมคณะนี้ยังอยู่ในคณะแพทย์ศิริราช หลายคนเลยมักคิดว่า จะเรียนคล้ายแพทย์แบบจริงๆจัง ไม่ได้เน้นด้านศิลปะ ด้านนิเทศมากขนาดนี้ค่ะ

รุ่นหนูเป็นรุ่นที่2 ของเทคโนฯการศึกษาแพทย์ รุ่นหนูมี22คน ปีหน้าคงเหลือซัก10กว่าคนเองค่ะ(รุ่นพี่ปีสองตอนนี้ก็เหลือ11คนจาก15คนค่ะ = =")

เพราะเพื่อนที่จะซิ่วหลายคน เค้าบอกว่าเรียนไม่ไหว ไม่นึกว่าจะต้องเรียนด้านนิเทศเยอะขนาดนี้

ตอนนี้หนูก็พยายามประชาสัมพันธ์คณะ ทั้งในเว็บ แล้วก็จะไปพยายามตอบพวกกระทู้ของน้องๆที่ถามเกี่ยวกับคณะนี้ ไม่อยากให้เด็กรุ่น3ต้องซิ่วเยอะเหมือนรุ่นพี่ค่ะT3T

เป็ดอย่างพวกเรา ... ต้องหาจุดยืนที่ตนเองชอบครับ<<< ชอบ... ชอบคำนี้มากๆเลยค่ะ รู้สึกว่าอ่านแล้วได้แรงบันดาลใจยังไงไม่รู้สิคะ แหะๆ=///=

ขอบคุณพี่มากๆเลยนะคะ หนูรู้สึกฮึกเหิมในการเรียนคณะนี้มากขึ้น!!! >[]<b

ยินดีครับ ... น้อง K@De ... :)

คงต้องชี้แจงและประชาสัมพันธ์กันอีกเยอะเลยนะครับ

ขอเสนอแนะว่า ทางภาควิชา "เทคโนโลยีการศึกษาแพทย์" ควรสร้างเครือข่ายวิชาชีพไว้เยอะ ๆ ครับ เช่น การประชุม สัมมนา ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาทุก ๆ ด้าน ควรเข้าร่วม หรือ ส่งตัวแทนไป เพื่อจะได้มีวิชาชีพที่กว้างขวางขึ้นไงครับ

ตัวนักศึกษาก็พยายามทำโครงการไปดูงานบ่อย ๆ จะได้เปิดวิสัยทัศน์ของลักษณะวิชาชีพให้กว้างขึ้นอีก

สู้ ๆ ครับ :)

กำลังตัดสินใจจะเรียน ปริญญาโท-เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีใครพอจะทราบบ้างคะว่า ที่นี่เน้นทางด้านใด น่าเรียนมั้ยคะ

ช่วยแนะนำด้วยนะคะ

ลองสอบถามไปที่ ...

รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์  พันธ์ลำเจียก  

ที่ http://gotoknow.org/profile/kiatisak :)

กำลังสนใจจะต่อโท สาขานี้ กำลังดูข้อมูลที่ศิลปากร หรือไม่ก็ มสธ อยู่ค่ะ

มีที่ไหนพอจะแนะนำบ้างอีกไหมคะ (หลักสูตร เสาร์อาทิตย์)

จากความคิดเห็นของทุกๆคน ก็เห็นข้อดี ข้อจำกัด และรู้ว่าถ้าจะเรียนจุดมุ่งหมายต้องชัด และไขว่ขว้าหาความรู้

^____^

สวัสดีครับ คุณ eulb :)

ยินดีที่จะเข้าสู่วงการเทคโนโลยีการศึกษา ครับ

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ "สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา" ในสถาบันต่าง ๆ น่าจะอยู่ที่ "ค่านิยม" และอายุของผู้นั้นครับ

ว่ากันแบบวงใน ต้องดูว่า เรียนปริญญาตรีมหาวิทยาลัยไหน สายใด เหมือนทางพระครับ มีหลายนิกาย อย่างนั้นเลย

ถ้าอาจารย์ที่สอนเรามาจาก มศว.สายประสานมิตร เนี่ยนะครับ มักจะออกมาทางนักปฎิบัติการ

แต่ถ้าอาจารย์มาจากสายของจุฬาฯ ที่นี่จะเน้นสายวิชาการหนัก ๆ เน้นภาษาต่างประเทศผสมผสาน สร้างนักทฤษฎีชะงักนัก ครับ

นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวในช่วงอายุของผม ครับ

ใครเห็นอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้น

เช่น มน. มีอาจารย์จบระดับปริญญาเอกมากมาย มีทั้งสองสายอยู่ครับ อาจจะเป็นเรียกว่าเป็นการผสมผสานได้ แต่ขอให้ดูที่ผลงานทางวิชาการดีกว่านะครับ

ระยะหลัง มศป. มก. ก็ดูจะมาแรงขึ้น

การเรียนโท-เอกได้ นอกจากทุนเรียนต่อ การเดินทาง แล้วอยู่ที่ "ความมุ่งมั่น" ของผู้เรียนเองครับ

ส่วนใหญ่ที่ผมเห็น สอบได้ มาเรียนได้ แต่เวลาแสดงศักยภาพในงานวิจัย วิทยานิพนธ์ กลับไปคิดว่า ทำยังไงก็ได้ให้จบเร็วที่สุด 

แบบนั้น ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่มีประโยชน์ครับ ถ่วงวิชาชีพเขาเปล่า ๆ อายเขาครับ

จบปริญญาโท จบปริญญาเอก เหมือน ๆ กัน แต่ "ศักยภาพ" และ "ความสามารถ" ในวิชาชีพ แค่ไหน นั่นต่างหากที่เรียกว่า จบจริง ๆ ครับ

ขอให้โชคดีครับ ไม่ทราบว่า ตรงหรือไม่นะครับ :)

ขอบคุณค่ะ Wasawat Deemarn

เห็นด้วยเลยค่ะ นอกจากทุนเรียนต่อ การเดินทาง แล้วอยู่ที่ "ความมุ่งมั่น" ของผู้เรียนเอง

ซึ่งตอนนี้ ก็กำลังหาที่ที่สะดวกในการเดินทางด้วยค่ะ

( เพราะมีคนแนะนำว่าถ้าไกลจะมีผลเวลา อ.นัดสอนนอกรอบ ช่วงหลังเลิกงาน ค่ะ )

แล้วขอถาม Suraches Meerith หรือใครที่ทราบหน่อยค่ะว่า ที่ มศว. ป.โท (เสาร์-อาทิตย์) นี่เรียนที่ไหนคะ ประสานมิตรหรือที่นครนายกคะ เพราะจะใช้เป็นตัวตัดสินใจในการเลือกที่เรียนด้วยค่ะ วันเสาร์อาทิตย์ ไม่มีปัญหาในการเดินทางเท่าไหร่ เพราะฮึดได้ แต่ถ้านัดช่วงเย็นสอนเสริม อาจไม่สะดวกในการเดินทางน่ะค่ะ

ยินดีครับ ... ได้ฟังวิธีคิดแล้วชื่นใจครับ สู้สู้ครับ

ส่วนคำถามที่ทิ้งไว้นั้น ผมแนะนำว่า ลองค้นหาเบอร์โทรของสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ของ มศว.ดูดีไหมครับ

โทรถามน่าจะได้คำตอบที่ตรงกว่านะครับ :)

 

จริงๆ ก็ไม่น่าจะกังวลมากนะคะ

เพราะสิ่งที่เราได้จากการเรียน ไม่ใช่แค่ความรู้ ความรู้เราสามารถเรียนรู้ได้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ไอ้สิ่งที่เรียน อาจไม่ได้ใช้ ไอ้สิ่งที่ใช้ บ้างก็ไม่ได้มาจากห้องเรียน

การเรียนเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่ว่าเป็นเป็ด ที่ทำได้ทุกอย่าง

จริงอยู่เราอาจะเรียนหลายอย่าง แต่ทุกคนจะมีสิ่งที่ชอบ หรือถนัด เรื่องอื่นๆ เราก็แค่รู้ไว้ และเราก็นำสิ่งที่เราถนัด และทักษะที่เราได้ฝึกฝนเมื่อตอนเรียนไปใช้ในการทำงาน

นี่แหละค่ะ เราก็เลยไปอยู่ได้เกือบทุกวงการ เพราะเพื่อนแต่ละคนก็ถนัดแตกต่างกันออกไป

ตอนเรียนอาจจะยังไม่รู้ว่าชอบอะไร ก็เลยเป็นเรื่องดี ที่เราได้เรียน ได้เลือกหลายอย่าง

แล้วก็ฝึกปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่แค่ในตำราจึงมีทางเลือกที่หลากหลาย

ดีเสียอีก บางคนเรียนจนจบแล้ว ยังไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ จะเป็นอะไร จะทำอะไรในอนาคต เรียนแล้วได้อะไรมาบ้าง

บางทักษะที่ได้ก็ตลกดี เป็นผู้หญิง เรียนวิชาไฟฟ้า ต้องต่อวงจร ต้องบัดกรี ก็ดีนะ ก็เลยทำได้ ในชีวิตประจำวันก็ยังใช้อยู่ ผู้ชายบางคน ไม่ใช่ช่าง ยังทำไม่เป็นเลย

แต่ไม่ว่าจะเรียนสาขาอะไร สิ่งสำคัญก็ไม่ใช่แค่เรียนเก่ง หรือได้เกรดสวยๆ เท่านั้น

แต่พอมาทำงานแล้วก็รู้ว่า ความรู้ในการทำงานก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้จากห้องเรียน

ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เราเรียนรู้ใหม่ แต่ทักษะ และความเฉลียวฉลาดมีไหวพริบในการแก้ปัญหาที่เรามีสำคัญกว่า ต้องใช้ในการทำงานเยอะเลย พยายามหัดให้มีตั้งแต่สมัยเรียนจะดีมากคะ

ขอฝากเด็กๆ สมัยนี้ไว้ด้วย เพราะเห็นแล้วเหนื่อยแทน เรียนแบบไร้สมอง และแรงจูงใจ

เอาแต่แต่งตัวสวยเก๋ เท่ห์หล่อ ไร้สำนึกและจิตสาธารณะ ขาดความเอื้อเฟื้อ น้ำใจและมารยาทในสังคม

ขอบคุณมาก ๆ ครับ คุณมาม่า ... มุมมองของคนวงใน ได้ใจชะมัดครับ ... :)

อะนะ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ไกล้ชิดกับสาขาเทคโน คือที่เห็นก็คือ ความรู้ที่เรียนนะไม่ค่อยได้อะไรสักเท่าไหรเลย คือ เด็กมัธยม ก็ทำได้ ผู้ที่เรียนสาขานี้ต้องดิ้นร้นขวนขวายด้วยตัวเองชะส่วนใหญ่ จะได้จากอาจารย์สอนแค่5% คิดๆไปแล้วเสียดายค่าเทอมถ้าเกิด เอาค่าเทอมไปเข้าคอร์สฝึกอบรมต่างๆ ก็คงเทพไปแล้วนะ ผมมารู้ตัวอีกทีก็ไกล้จะจบแล้ว เรียนตั้งแต่แรกจนถึงบัดนี้ยังไม่ได้อะไร ก็เลยไปเข้าคอร์สฝึกอบรม ก็รู้สึกชื่นใจขึ้นมาหน่อยหนึ่ง อย่างว่า ให้เลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจสักอย่างหนึ่งทำให้เจ๋งไปเลย ตอนนี้ผมให้เลือกสายทางเว็ปโปรแกรมเมอร์ด้วยภาษา Scriptต่างๆ สุดท้ายก็ขอผู้เรียนสาขานี้อยู่ พยายามกันต่อไปนะครับ สู้ตาย!!!!

ขอบคุณมุมมองของคุณ Devil techno ครับ

ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคนน่ะครับ ... ใครสนใจขวนขวายมาก ก็ได้มาก ใครสนใจขวนขวายน้อย ก็ได้น้อย เป็นไปตามโลก ครับ

แต่จะว่า ส่วนหนึ่งอาจจะต้องประเมินหลักสูตรด้วยนะครับ หากนักเรียนมีปัญหาเมื่อเรียนไปแล้ว หลักสูตรก็ต้องปรับปรุง

ขอบคุณครับ :)

ไพบูลย์ เจนจิตรานนท์

จากการที่ได้อ่านกระทู้ก็เห็นด้วยบางส่วน ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าผมจบเทคโนโลยีทางการศึกษา(ป.ตรี)จาก ม.บูรพา จบโทเทคโนโลยีการศึกษา จาก มศว.ประสานมิตร ปัจจุบันทำงานธุรกิจส่วนตัว(ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเทคโนฯเลย) เทคโนโลยีการศึกษาก็คือสหวิทยาการ ส่วนที่ใครว่าเป็นเป็ดหรืออะไรโดยส่วนตัวผมเฉยๆ เพราะว่าใครจะเก่งหรือไม่เก่งผมว่าอยู่ที่การขวนขวายหาความรู้กับการฝึกฝนมากกว่า โดยส่วนตัวแล้วผมภูมิใจนะที่จบจากสาขานี้ ผมว่าคนที่จบจากเทคโนฯบางคนก็เก่งกว่าคนที่จบจากคณะอื่นที่ทำงานแบบนี้เยอะแยะไปนะ...

ขอบคุณทัศนะของคุณ ไพบูลย์ เจนจิตรานนท์ มาก ๆ ครับ

เห็นด้วยว่า อยู่ที่การขวนขวายความรู้ของตนเองอย่างมากครับ

ความถนัดและความสนใจของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน

ขึ้นอยู่กับ "ตัวเอง" จริง ๆ ครับ

ขอบคุณมากครับ

ได้แวะเข้ามาดูแล้วรู้สึกว่าเอกเทคโนคงจะหางานยาก พอดีมีลูกเรียนเอกนี้อยู่ปี 2 แล้ว

ถ้าออกไปเรียนเอกอื่นก็เสียเวลาและเงิน ผมคิดว่าจบมาแล้วจะมีงานทำหรือไม่ ตามที่ได้ติดตามและค้นหาดูแล้วไม่ค่อยมี ส่วนมากแล้วจะรับจบมาสายตรงเลย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน แต่กลับมามองทางมหาลัยต่างๆ แล้วทำไมถึงเปิดสอนเอกนี้ก้นมากมาย ทั้งหลักสูตร 4-5 ปีก็มี ม. เอกชน ก็ยังมี ขอปรึกษาท่านผู้รู้หรื่ออาจารย์ที่สอนด้วยนะครับ เพราะตอนนี้หลานสาวก็สอบโคต้าตรงเอกนี้ละได้อีก 1 คน ได้รายงานตัวแล้วครับที่ ม.สารคาม ที่จริงแล้วผมว่าเอกนี้มีกฎหมายรองรับ แต่การปฏิบัติก็ไปอีกอย่าง เป็นเอกที่ถูกลืมจริงๆ ก็ขอฝากอาจารย์ ท่านผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องช่วยเอกเทคโนด้วย

ขอบคุณครับ

ขอบคุณ ท่าน ผู้ปกครอง มาก ๆ ครับ :)

ผมถือว่าเป็นเสียงสะท้อนสำคัญจริง ๆ ครับ

ปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา นั้น ... หากเรียนหลักสูตร 5 ปี จะเป็นการเน้นไปในการสอบเป็น "ครู" ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ครับ (มันคงน่าน้อยใจเหมือนกันครับ ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ มีหมวดเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แต่ในทางปฏิบัติ รับน้อยมาก แต่พอไปสอบถามผู้บริหารโรงเรียน กลับบอกว่า ต้องการมาก ๆ)

หากเรียนหลักสูตร 4 ปี ถึงแม้จะเรียนคณะศึกษาศาสตร์ หรือ ครุศาสตร์ที่ผลิตครูก็ตาม แต่ต้องดูจุดเน้นของหลักสูตรว่า เน้นไปทำอาชีพด้านไหน เช่น ม.ราชภัฏจันทร์เกษม มีแขนงถ่ายภาพ มัลติมีเดีย การฝึกอบรมและจัดการความรู้ เป็นต้น ดังนั้น สาขาอาชีพในอนาคตจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่ "ครู" หากแต่อยู่ที่แขนงที่เด็กเรียนจบมาครับ (ซึ่งทุก ๆ แห่งกำลังปรับตัวอย่างเต็มที่ เนื่องจากปัญหาของรัฐที่ไม่รองตำแหน่งเอง)

ส่วนเรื่องการศึกษาต่อก็มีมหาวิทยาลัยเปิดกันมากมาย ทั้งระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ครับ หลังจากจบแล้วมักจะทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการระดับกอง กรม เป็นส่วนใหญ่ หรือ ไม่มีโอกาสเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็มาก ครับ

ถึงแม้อาจจะเป็นถนนหนทางของอาชีพที่ลำบาก แต่ผมมองว่า ขึ้นอยู่กับตัวของผู้เรียนเองด้วยครับว่า มีความสามารถและศักยภาพมากแค่ไหน เพราะการมีงานทำ ขึ้นอยู่กับตนเองเป็นหลัก รวมทั้ง โอกาสที่จะได้รับจากหน่วยงานอีกด้วย ครับ

ผมรู้สึกได้รับกำลังใจอย่างมาก ๆ ครับ

ขอบคุณจริง ๆ ครับ :)

เขียนตลกดีนะครับ

เอาเวลาไปเตรียมการสอนไม่ดีกว่าเหรอครับ

ย้อนกลับมาอ่านบันทึกนี้อีกที เห็นรายชื่อวิชาแล้วทำให้นึกได้ว่าเรียนมาต่างกันยังไงบ้าง คนเรียนเทคโนฯ จะเรียนกว้างแต่ไม่ลึกเฉพาะทางเหมือนกับที่เราเรียน เท่าที่ระลึกชาติได้พวกวิชาหลักก็มีประมาณนี้ค่ะ
- หลักการถ่ายภาพ
- การถ่ายภาพเพื่องานโฆษณา
- ออกแบบนิเทศศิลป์ 1-6
- ออกแบบบรรจุภัณฑ์ 1-2
- องค์ประกอบศิลป์
- วัสดุศิลป์
- วาดเส้น 1-2
- ภาพพิมพ์ 1, 2
- ประติมากรรม
- เขียนแบบ
- ออกแบบภาพประกอบ
- ออกแบบตัวอักษร
- ประวัติศาสตร์ศิลป์
- ระบบการพิมพ์

จะเห็นได้ว่าไม่มีวิชาคอมพิวเตอร์ คือยุคนั้นยังพึ่งเริ่มๆ ของยังแพงมาก แต่ตอนเรียนก็เป็นรุ่นแรกที่มีกราฟฟิกเซ็นเตอร์ให้ใช้ เป็นเครื่อง Mac ล้วน เข้าไปลองกับของหลวงเลยค่ะ 555 อาจารย์กับลูกศิษย์ช่วยกันคลำจนเป็น พอเชี่ยวแล้วงานเรียนไม่ได้แอ้ม เอางานหาเงินมาทำก่อน ; P ...ท้ายสุดจะบอกว่าเดี๋ยวนี้งานผลิตสื่อการศึกษาที่มีงบเยอะหน่อยก็ไหลมาบริษัทโฆษณาเหมือนกัน เพราะว่าต้องการอะไรที่หวือหวาแหวกแนวมากขึ้น หรือพวกที่เป็น image ของสถาบันก็จะถูกส่งมาข้างนอกค่ะ เจ๊ากันค่ะ แย่งอาชีพกันไปมา

ตอนเรียนป.ตรี ก็ชอบวิชา ทรกรฟ มากค่ะ เรียนได้ A นะคะ พอจบออกมาไปทำงานเอกชนล่าหาฝันตนเองอยู่ 3 ปี อย่างว่าเหมือนเป็ดทำได้แทบทุกอย่างแต่ไม่เก่งสักอย่างค่ะ

มุมมองและสิ่งที่ระลึกได้ของคุณซูซาน Little Jazz เจ๋งเป๊งมากครับ :)

สื่อการสอนสมัยใหม่ในปัจจุบันต้องการความหวือหวาในบางเนื้อหาที่ต้องการเร้าความสนใจต่อผู้เรียนมาก ๆ ครับ ... แต่บางเนื้อหาก็ไม่ต้องหวือหวา แก่นหลักสำคัญขึ้นอยู่กับการออกแบบให้เข้ากับหลักการเรียนรู้ตามธรรมชาติของผู้เรียน เช่น การเขียนแผนการเรียนรู้ที่ค่อย ๆ ให้เนื้อหากับผู้เรียนไปทีละเฟรม เทคนิคการสอนหน้าจอที่ทำอย่างไรจึงเข้าใจได้ง่ายเหมือนครูสอน หรือดีกว่าครูสอน คำที่ใช้ในการเร้าความสนใจทางจิตวิทยาต่าง ๆ ครับ

แต่ Hardware ที่ได้รับสำหรับครูผลิตสื่อ ... เป็นเลขศูนย์ก็คงไม่ผิดอะไรครับ ... หมายถึง งบประมาณที่มหาวิทยาลัยให้แทบไม่พอ หรือไม่ให้ความสำคัญมากกว่าสาขาที่เป็นตลาดมาก ๆ

น่าน้อยใจ แต่ทุกสิ่งคงไม่เหนือความพยายามของมนุษย์ที่ประกอบอาชีพครูมหาวิทยาลัย ครับ

ขอบคุณครับ แลกเปลี่ยนเรียนรู้สนุกมาก :)

มาให้กำลังใจอีกรอบค่ะอาจารย์ การทำอะไรบนข้อจำกัดหลายๆ ด้านให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการถือว่าเป็นความท้าทายนะคะ คือของบางอย่างทำร้อยไม่ได้ ทำได้หกเจ็ดสิบแล้วผลลัพธ์ออกมาใช้ได้แต่ไม่เพอเฟ็กต์ก็ต้องพอใจกับมัน เหมือนตึกที่สร้างเสร็จพร้อมใช้งานได้จริง แค่ไม่ได้ทาสีก็คงไม่ทำให้คุณค่าภายในตัวมันเองลดลงไป จะขาดก็แค่สุนทรียภาพเท่านั้น มีตังค์ซื้อสีเมื่อไหร่ก็ค่อยทามัน หรือซื้อได้ทีละน้อยก็ทาไปทีละฝั่งอาจจะสวยไปอีกแบบก็ได้ สุดท้ายคือตึกก็คือตึก ขอแค่เราใช้งานได้ก็พอแล้วใช่มั้ยคะ แต่อย่าร้าวโครงสร้างเป็นใช้ได้ : )

เด็กสมัยนี้เกิดมาบนยุคที่ทุกอย่างมันไปรวดเร็ว ทำให้หลายๆ อย่างมันฉาบฉวย ไม่แน่น เพราะต้องการความหวือหวา สถาบันการศึกษาก็เน้นธุรกิจเลยต้องจัดให้ตามความต้องการของลูกค้า อาจารย์เคยเห็นคอมสเป็กปานกลางที่ใส่ gadget ร้อยแปดแต่หาสาระที่เกิดประโยชน์แท้จริงไม่ได้มั้ยคะ รู้ทั้งรู้ว่าของเล่นทั้งนั้น ทำให้เปลือง memory เครื่องก็อืดเพราะต้องรันหลายอย่างแต่ก็ยังชอบ เพราะมันดูเท่ห์ ดูทันสมัยมีลูกเล่นแพรวพราว ใครเห็นก็นึกว่าเจ๋ง แต่พอต้องใช้คอมนี้ทำงานแล้วมันตอบสนองไม่ไหว ในที่สุดค่าของคอมเครื่องนั้นก็จะปรากฏต่อสายตาคนอื่นเองว่ามันเจ๋งหรือเจ๊งค่ะ

ขอบคุณนะครับ คุณซูซาน Little Jazz :) ...

ผมทำเต็มที่ครับ ทำตามขีดจำกัดที่มีอยู่ ค่อย ๆ สร้างไป หวังว่าสักวันหนึ่งจะเต็มขึ้นมา ... ผมไม่อยากทอดทิ้งวิชาชีพตัวเองให้ขึ้นสนิม ถึงแม้ว่า ผมเห็นอาจารย์หลายคนในสาขาผมนั่งขึ้นสนิมอยู่ก็ตาม ... หากกระทบสาขาวิชาเมื่อไหร่ อยู่ไม่ได้แล้วคงรู้สึกกันเอง

ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ ... เต็มที่แน่นอน ครับ :)

ขอที่อยู่ด้วยค่ะอาจารย์ เดี๋ยวส่งโซแน็กซ์ไปให้ เอาไปฉีดท่านเหล่านั้นซะ ไล่สนิมได้ ยี่ห้อ 3M เลยนะคะ ของดีมีคุณภาพ 555 ตลกแก้เครียดค่ะ : ) nite nite

555 ... กลัวจะสนิมไม่ทันออกน่ะดิ คุณซูซาน แต่อาจจะหมดลมหายใจเสียก่อน 555 ... ขอบคุณความฮา ครับ :)

ผมก็จบเอกเทคโนโลยี และ สื่อสารการศึกษา ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์นะครับ

แต่จะขอเสริมนิด นะครับจากประสบการณ์ของผม การที่จะเข้าไปทำงานเป็นนักเทคโนฯ ในโรงเรียนนั้นยิ่งยากกว่าการมีงานทำนะครับ เพราะจากความเห็นของครูอาจารย์ในสาขาวิชาอื่นๆ ข้อนข้างไม่สนับสนุนและรังเกลียด เพราะอาจจะกลัวว่า นักเทคโนฯ มีความสามารถหลายด้านจนท่านผู้บริหารรู้สึกชอบ และมอบหมายงานสำคัญ ให้มากกว่าตัว หรือหมั่นไส้ ว่าชื่อสาขาวิชาเด่น เท่ กว่า ก็ไม่ทราบนะครับ แต่ที่นักเทคโนฯเข้าเขามาช่วยประสาน ส่งเสริมให้ก็น่าจะดีต่อเด็กมากกว่านะครับ การที่ทำหน้าที่สอนของครูที่ไม่สนใจใฝ่รู้เรื่องเทคโนโลยี ก็จะสอนแบบเดิมๆ เช้าชาม เย็นชาม พอไม่ได้วิทยฐานะ เข้า ก็มาโว้ยว่าผู้บริหารห่วงแต่ไอทีไม่สนใจ ความสามารถในการสอนกว่า 15-20 ปี นี้ก็เป็นเหตุแห่งการที่ผู้ที่เรียนในสาขาวิชาชีพนี้ ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรนะครับ ครูแบบนี้มีอยู่ไม่ไช่น้อยนะครับ

ที่นำเรียนแบบนี้ไม่ใช่จะต่อว่านะครับแต่อยากให้เข้าใจว่าที่จริงแล้วโรงเรียนทุกโรงเรียนนั้นควรจะมีนักเทคโนโลยีทางการศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้มากขึ้นนะครับ เพราะโลก และ สังคมเขาก้าวกระโดดไปไกลแล้วจะมานั่งรอการสอนอย่างเดียวไม่พอแล้วครับ ต้องได้รับการเสริฟให้ถึงบ้านจากแนวการผลิตออกแบบ ของผู้ที่รำ่เรียนมาโดยตรงเรื่องนี้มิไช่อ้วดอะไรนะครับแต่ไม่งั้นคงไม่แยกสาขากันเรียนไช่ไหมครับ เหตุผลเพียงแค่นี้คงพออธิบายได้ว่าที่โรงเรียนยังไม่ต้องการนักเทคโนโลยีการศึกษานั้นควรเปลี่ยนความคิดกันได้แล้ว ปล่อยให้เขาเข้าไปช่วย อำนวยความสะดวกให้ท่านในการจัดการเรียนการสอน ท่านจะได้มีเวลาไปศึกษาค้น คว้า เพิ่มพูนความรู้มากขึ้น น่าจะดีกว่านะครับ

ขอบคุณครับ คุณ  kaidy ... นี่เป็นเสียงสะท้อนอีกเสียงที่สำคัญในสายวิชาชีพนี้ ครับ

ผมเองได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารของโรงเรียน เค้าบอกผมว่า ที่โรงเรียนต้องการครูเทคโนฯ อย่างมาก แต่ถ้าต้องการเปิดบัญชีรับเป็นข้าราชการครู มีเงื่อนไขว่า เขตพื้นที่ฯ จะเปิดก็ต่อเมื่อ มีโรงเรียน 3 โรงเรียนขึ้นไป ขอตำแหน่งนี้ ครับ

ทางโรงเรียนจึงมักจะใช้วิธีจ้างชั่วคราวประจำ

รู้สึกเหมือนว่า อยากได้นะ ตำแหน่งนี้ ทำให้งานของโรงเรียนก้าวหน้า แต่เปิดยาก เปิดเย็น

อีกทั้งมุมสะท้อนของคุณ  kaidy  ผมก็เคยได้ยินเหมือนกัน แต่ไม่คิดหนักเหมือนกับกรณีของคุณ  kaidy ครับ

ได้คำสำคัญมาคำหนึ่งครับ "การเป็นครูไม่สนใจเทคโนโลยีไม่ได้" แน่นอน ครับ

ขอบคุณมากครับ อย่างไรเสีย หากมีประเด็นสำคัญในวิชาชีพอีก เรียนเชิญนะครับ :)

ผมกำลังจะจบสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา อยากทราบว่าถ้าจะไปสอบบรรจุเป็นครูคอมพิวเตอร์ได้ไหมนะครับ สงสัยจริง ๆ ดูเหมือนว่าจะต้องไปสอบตรงเท่านั้นหรือเปล่าครับ พวกโสตแทนนะครับ

อยากทราบว่าสอบบรรจุในตำแหน่งไหนได้บ้างนะครับ

ตอบคุณ dnet ;)...

ขึ้นอยู่ต้นสังกัดที่ประกาศรับครูครับว่า มีสายเราอยู่ตรงนั้นด้วยหรือเปล่า หากไม่มีก็จะไม่สามารถสอบได้เพราะคุณสมบัติเบื้องต้นไม่ผ่าน

แต่เป็น "นักวิชาการโสตทัศนศึกษา" หรือ "ครูอัตราจ้าง" ที่โรงเรียนรับตรง อาจจะได้ครับ

ขอบคุณครับ สงสัยคงไม่ได้ ถ้าจะบรรจุ คงได้เรียนอีกใบเพื่อเตรียมสอบอีกละกระมั้งครับ ถ้ากรณีนี้ คงไปเรียนคอมธุรกิจเพิ่มจะดีกว่าใช่หรือเปล่าครับ

เพราะ ตำแหน่งที่ให้สอบนี่น้อยเหลือเกินกับตำแหน่งของ "เทคโนโลยีและสี่อสารการศึกษา" ที่กำลังจะจบ ตอนนี้รอสอบแก้อีกวิชาเดียวก็จะจบ (ตามจริงก็จบแล้วละ แต่อยากลงวิชานี้แล้ววันสอบตรงกับวิชาหลักเลยดร๊อปรอไว้ครับ)

ไม่รู้ว่าผมจะตัีดสินใจอย่างไรดี ทุกวันนี้ก็สอนในโรงเรียนเอกชน วิชาคอมพิวเตอร์นี่ละครับ

ครับ ... คงต้องรอคุรุสภาออกประกาศให้ชัดเจนกว่านี้ครับ คุณ dnet ;)...

ตอนนี้มั่วและตะลุ้มตุ้มเป๊ะมาก ;)...

ขอบคุณครับ ตามจริงคนเรียน "เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา" ไม่น่าโดนกีดกันในการสอบครูคอมเลย เพราะ ตามจริงน่าจะทำกันได้ทุกคนอยู่แล้ว ตอนเรียนก็ต้องผ่านมาอย่างน้อย 2 วิชาขึ้นไป และ ยังทำพวกสื่ออีกที่ต้องใช้คอมประกอบในการทำ คงไม่มีใครที่ทำแต่บอร์ด หรือ สไลต์เหมือนเมื่อก่อนละครับ (เครื่องฉายยังหาใช้ยากเลย) เพราะ เดี๋ยวนี้ก็มีแต่หาง่าย ๆ ก็โปรเจ็คเตอร์แล้ว

บางองค์กรที่รับตำแหน่งครูสายคอมพิวเตอร์ บอกว่า จบ "คอมพิวเตอร์ศึกษา" สามารถทำงานได้แบบคนที่จบ "เทคโนโลยีการศึกษา" หรือ "เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา" คือ สอนคอมฯ ก็ได้ ดูแลสื่อโสตทัศน์ก็ได้ ประมาณนั้นครับ ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ทำได้ไม่ทั้งหมด เพราะ "คอมพิวเตอร์ศึกษา" ยังขาดศิลปะการออกแบบของความเป็นคน ความมีชีวิตอีกมากมาย เขาจะเด่นทางด้าน Programming มากกว่าทางสายเราครับ แต่ความเป็น Art ไม่ได้เท่าเรา

องค์กรระดับสูงหลายแห่งยังไม่เข้าใจ ทำให้การรับตำแหน่งนี้น้อยลง แต่ไปเลือกอีกเอหนึ่งมากกว่า ตามความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนครับ

  • ชอบครับอาจารย์ เจียดพื้นที่มาเขียนเรื่องนี้บ้างเรื่อยๆนี่ก็จะดีต่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันมากนะครับอาจารย์ เอาอีก เอาอีก
  • ขอร่วมคิด สร้างบรรยากาศของการเสวนาสังสรรค์เพื่อการพัฒนากันสักหน่อยนะครับอาจารย์ว่า แก่นของเทคโนโลยีการศึกษานี่ คนเรียนมาทางเทคโนและคนที่สนใจจะทำงานในสาขาเทคโน ควรต้องไปให้ไกล ไม่ซับซ้อนกับสาขาอื่นและแตกต่างกว่าเรื่องเครื่องมือและเทคโนโลยีเฉยๆหรือเปล่านะครับ เช่น คอมพิวเตอร์และ IT นั้น ใช้เป็นเทคโนโลยีการศึกษาได้แน่นอน แต่เทคโนโลยีการศึกษาไม่ใช่เรื่องคอมพิวเตอร์และ IT
  • หลักพื้นฐานที่สำคัญก็ คือ ความเป็นตัวขยายกำลังและความสามารถของมนุษย์และชุมชนระดับต่างๆ ให้สามารถข้ามพ้นอุปสรรคและข้อจำกัดที่มีในตนเอง เพื่อปฏิบัติและดำเนินการให้บรรลุจุดหมายดังที่ต้องการทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่นได้อย่างดีที่สุด
  • ดังนั้น จึงควรจะหมายถึง วิถีการ Approach แนวคิด วิธีดำเนินการ ระบบและกระบวนการเพื่อปฏิบัติการ เครื่องมือ ทรัพยากร เทคนิควิชาการ คน ทักษะเพื่อการปฏิบัติ และการบริหารจัดการที่เหมาะสม ที่จะทำให้คนมีกำลังทำสิ่งดีๆได้มากกว่าขีดจำกัดที่มี เช่น สอน พัฒนากระบวนการเรียนรู้ พัฒนาแหล่งประสบการณ์และทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมเพื่อการศึกษาเรียนรู้ การพัฒนาระบบบริหารและพัฒนาองค์กรเรียนรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์ของสถานศึกษากับผู้เรียน ครอบครัว ชุมชน และภาคสาธารณะต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งคอมพิวเตอร์และ IT จะสามารถเป็นเครื่องมือและตัวเลือกหนึ่งที่จะนำมาใช้ได้อย่างสมเหตุสมผล ทว่า ไม่ใช่ทั้งหมดในทุกกรณี หลายที่อาจใช้กิ่งไม้และใบไม้พาผู้เรียนไปสู่จุดหมายได้เหมาะสมและดีกว่าชนิดที่คอมพิวเตอร์และ IT เทียบไม่ได้ก็ย่อมได้ แต่ปัญหาก็คือ หากนักเทคโนที่ใช้เทคโน คอมพิวเตอร์ และ IT เพียงเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการทางเทคโนเพื่อขยายขีดความสามารถมนุษย์นี่แหละ ที่จะทำให้ทำงานคอมพิวเตอร์ได้(บ้าง) แต่ทำงานการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาไม่ได้
  • ส่วนจะมีการใช้ทักษะบางด้านเกี่ยวกับเครื่องมือและงานครีเอตีฟ นำไปประกอบอาชีพและทำงานตามความจำเป็น โดยไม่ต้องใส่ใจมากนักว่าตัวตนที่แท้ของสาขานี้คืออะไรนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากจะไปเป็นครูและนักวิชาการโสตทัศนศึกษา นักเทคโนโลยีการศึกษา รวมทั้งนักบริหารและผู้บริหารจัดการงานทางการศึกษาต่างๆนั้น จำเป็นมากครับที่จะต้องมีความชัดเจน เห็นความแตกต่าง ความทับซ้อน การหยิบยืมองค์ความรู้ และผสมผสานทักษะต่างๆของสาขาอื่นๆ แลกเปลี่ยนกัน
  • ตามประสบการณ์และในทรรศนะผมนั้น ผมคิดว่า เทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบัน จะเป็นทั้งเครื่องมือและวิธีการช่วยการทำงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา แล้วก็เป็นองค์ประกอบด้านอื่นด้วย คือ เป็นสาระการศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้คนมีความสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมทางวิทยาการและเทคโนโลยี ให้ทัดเทียมกับความจำเป็นอยู่ตลอดเวลา และพัฒนาวิธีเรียนรู้ไปได้อย่างตลอดชีวิต เยาวชนและประชาชน จึงต้องมีการเรียนรู้ ได้ศึกษา มีทักษะในการเรียนรู้และเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและเทคโนโลยีเข้าสู่ชีวิตประจำวัน อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่เพียงเรียนวิธีใช้คอมพิวเตอร์และ IT แต่ควรจะครอบคลุมและแตกฉานพอตัวในเรื่องการพัฒนาแนวคิด การออกแบบระบบปฏิบัติการเพื่อใช้วิธีการทางเทคโนเข้าช่วยอย่างมีการชี้นำด้วยเหตุผล หลักคิด หลักวิชาของตน และความมีบทเรียนเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง แนวคิดของการเลือกสรรเครื่องมือ การพัฒนาทักษะและสิ่งสนับสนุนการปฏิบัติ การบริหารจัดการ การประเมินผล การวิจัยและพัฒนา การวางแผนและวงจรป้อนกลับ
  • ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ..... (๑) ครูและบุคลากรทางการศึกษา ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีการศึกษา ที่ไม่ใช่แค่เรื่องคอมพิวเตอร์และ IT  (๒) ควรมีหลักสูตรสหวิทยาการทางด้านนี้ เป็นหลักสูตรหลังปริญญา ให้บุคลากรเนื้อหาด้านอื่นได้มาศึกษาในขั้นสูง เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือและตัวคูณการทำงานในสาขาต่างๆของประเทศ บนสิ่งที่มีคนเขาทำของเขาเองกันอยู่แล้ว  (๓) นักเทคโนและครูทางเทคโน ควรมีการฟื้นฟูวิชาการและพัฒนาแนวคิดและกระบวนการเชิงยุทธศาสตร์ที่ดีทางเทคโนกันเสียใหม่ ควรจะทำอย่างกว้างขวางอีกด้วย อาจารย์และสถาบันของอาจารย์น่าจะมีเรื่องนี้เข้าไปทำด้วยตามเงื่อนไขที่จะทำได้นะครับ ผมเองก็จะทำไปอยู่ตลอดเวลาตามจังหวะของชีวิต (๔) ในระดับปฏิบัติการในสถานศึกษาและในพื้นที่นั้น ครูและนักเทคโน ความเป็นนักฝึกอบรมและพาคนอื่นเข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้ที่มีพลังด้วยเทคโนแบบผสมผสาน เป็นเพียงนักปฏิบัติและให้บริการทำให้คนอื่นๆนั้น ไม่ทันและไม่เพียงพอหรอกครับ ให้เครื่องมือและติดกระบี่แก่คนที่เขามีเป้าหมายกับเนื้อหาการทำงานอยู่แล้วแบบเดินบวกความสามารถที่แตกต่างเข้ากด้วยกัน ดีกว่าทำให้ ซึ่งเป็นการรวมกันแบบทอนกำลังลงไปมากกว่าจะเป็นตัวคูณให้กันน่ะครับ
  • ครูเทคโนและคนทำงานทางเทคโน ควรจะออกมาเรียนรู้ของจริงอีกแง่หนึ่งอย่างที่อาจารย์กำลังทำใน GotoKnow เยอะๆนะครับ เพื่อสร้างบทเรียนความเป็นจริงในการใช้เทคโนโลยีและโลกทางวิทยาการเพื่อสังคมในเชิงวิธีคิดและกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่ในเชิงเทคนิคเครื่องมือซึ่งคนในสาขาอื่นจะทำได้ดีกว่าเยอะ ก่อเกิดประโยชน์จริงๆพร้อมกับได้บทเรียนและตัวอย่างของจริงไปสอน มีสนามให้เล่น ศาสตร์และศิลป์สาขานี้ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้โดยขาดองค์ประกอบด้านการปฏิบัติน่ะครับ 

ว่าจะคุยหน่อยเดียว แต่เล่นซะยาวเลย เพราะถือว่าเป็นเวทีคนกันเองนะครับ

v_V อ่ะ ท่านพี่ Blank วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ;)...

กล่าวได้สั้นจริง ๆ ครับ 555

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นและคำแนะนำที่มีประโยชน์มาก ๆ ครับท่านพี่ ;)...

อ่านมาตั้งเยอะ เสียเวลาตั้งแยะ เพิ่งจะได้เข้าใจเรื่องมันเป็นอย่างงี้นี้เอง ซึ่งตอนแรกผมเองยังไม่รู้ว่าอนาคตลูกที่เรียนสาขานี้จะเป็นยังไงบ้างแต่พอมาอ่านแล้วก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีเพราะอัตราการรับเข้าบรรจุเป็นข้าราชการในโรงพยาบาลหรือครูตามมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สถาที่ราชการต่างๆ ดูมันยังไม่สดใส ผมเองยังไม่มั่นใจอยู๋ดีครับ ยังไงๆ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับนักเทคโนโลยีการศึกษาทุกๆท่านนะครับ เฮอะ เหนื่อย สำหรับเมืองไทย คงต้องไปหางานทำที่ต่างประเทศที่เขาต้อนรับเราดีกว่า ผมไม่ได้ตำหนิว่าไม่ดีนะครับแต่รู้สึกน้อยใจที่สาขานี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนกับที่โพสต์กันมาหลายหัวข้อนั้นแหละครับ

เข้าใจมากมายครับ คุณพ่อน้อง et ;)...

สังคมเมืองไทยยังไม่ได้เปิดกว้างมากนัก ยิ่งในระยะหลังด้วย เรียกว่า ปิดกั้นจากรัฐเลยก็ว่าได้ครับ

ขอให้กำลังใจ คุณพ่อน้อง et นะครับ ;)...

หนูจบป.ตรีฝรั่งเศส เพราะตอนนั้นรักภาษา ตอนนี้ก็ยังรักอยู่นะคะ แต่มีความสนใจที่จะเรียนด้านเทคโนฯ บวกกับทำงานรัฐวิสาหกิจ อยากทำในตำแหน่งที่สามารถพัฒนาเว็บไซต์ได้ เลยคิดว่าจะสมัครเรียนเทคโนฯสื่อสารการศึกษาที่ม.เกษตรฯ พออ่านจากในนี้ก็ได้อะไรเยอะเหมือนกันค่ะ เพราะตอนแรกที่เห็นชื่อสาขานี้ก็เออน่าสนใจดี แต่อยากทราบว่าสามารถประกอบอาชีพอะไรได้

ไม่ทราบว่าการเรียนป.โทนี่จะต่างจากป.ตรีไหมคะ นอกเหนือจากการทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์

ขอบคุณค่ะ :)

สวัสดีครับ น้อง Blank capulico ;)...

สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เป็นการศึกษาในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่สาขาใด ๆ ในระดับปริญญาตรีก็สามารถเข้ามาศึกษาได้

การเรียนในระดับปริญญาโท เป็นการเรียนเพื่อเสริมความรู้จากปริญญาตรีมากกว่าการเปลี่ยนวิชาชีพเดิม จึงจะได้ผลดีที่สุดครับ

หากต้องการเปลี่ยนอาชีพที่เรียนมาเลย น้องอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมมากกว่าเิดิมเป็น ๒ เท่าในขณะที่เรียนปริญญาโทสาขานี้

สำหรับ "การพัฒนาเว็บไซต์" อาชีพที่น้องหมายปองและคาดหวังนั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจและมุ่งมั่นเป็นการส่วนตัว น้องสามารถนำความรู้ในสาขานี้ในด้าน "การออกแบบสื่อการเรียนการสอน" ไปประุยุกต์ใช้ได้อย่างแน่นอน

แต่การเรียน ป.โท ไม่ได้เน้นการปฏิบัติที่เข้มข้น แต่เน้น ...

"... ความเข้าใจในปรัชญาชีวิต เข้าใจในหลักการทำงาน รู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งต่าง ๆ รู้จักพึ่งพาตนเอง รู้จักพัฒนาความคิดอย่างเป็นระบบ และรู้จักปล่อยวาง ..."

อาชีพที่น้องต้องการจะเป็น ... อยู่ที่การแสดงผลงานและความคิดตอนสมัครงาน สำหรับบริษัทที่เปิดใจกว้าง โดยไม่สนใจวุฒิการศึกษาที่ตรงสาขา

สาขาที่ตรงมาก ๆ คือ วิทยาการคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ศึกษา ฯลฯ ครับ

แต่หากน้องเรียน ป.โท สาขานี้ได้ดีจริง ๆ น้องต่อ ป.เอก อาจจะทำให้น้องสามารถเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ไม่ยากเย็นนักครับ

โชคดีีนะครับ ;)...

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ ไว้หนูสมัครเรียนอะไรเรียบร้อยแล้ว จะขอมาปรึกษาใหม่นะคะ ขอบคุณมากๆเลยค่ะ

:D

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ น้อง capulico ;)...

ขอให้มีความสุขในการเรียนครับ ;)...

สวัสดีพี่ๆและอาจารย์ทุกท่านครับ ผมก็เป็นอีกคนที่จบจากสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา แต่ตผมต้องมาเปนทหารซึงจะปลดประจำการใน เดือน ต.ค.นี้ แต่ผมก้ไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไรดี เพราะทำเป็นแต่ไม่เก่งซ และที่สำคัญคือผมไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และไม่รู้จะเริ่ยังไง พอทำอะไรได้ดีหน่อยผมก็คิดว่าชอบอันนั้นแต่พอสักพักกมันก็ไม่ใช่ ผมควรทำอย่างไรดี

สวัสดีครับ คุณ bew ;)...

เรื่องถนัดนี้น่าจะไม่มีใครตอบได้มากเท่ากับตัวเองอย่างแน่นอนครับ

หากมีความสุขในการสิ่งใด ก็ลองหางานลักษณะนั้นทำดูครับ

หากชอบเขียนหนังสือ ก็ลองสมัครเข้าสำนักพิมพ์

หากชอบถ่ายภาพ ก็ลองฝึกฝนการถ่ายภาพก่อนแล้วส่งผลงานไปสมัคร

ทุกอย่างเรียนรู้ได้ครับ

ขอให้โชคดีครับ ;)...

หนูเป็นเด็กม.6ค่ะ เลือกลงคณะนี้ -ขอบคุณสำหรับข้อมูลมากๆเลยค่ะ (:

ขอให้โชคดีและตั้งใจเรียนนะครับ น้อง ติมตูน ;)...

อยากจะถามว่าจบเอกเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาแล้วไปสอนวิทยาลัยเทคนิควิทยาลัยอาชีวศึกษาได้มั้ยครับแล้วถ้าได้ไปสอนจะสอนในวิชาอะไร ช่วยตอบด้วยนะครับ

หากจบปริญญาตรีแล้วไปสอนระดับ ปวช. ปวส. ... ต้องมีใบรับรองวิชาชีพครูของคุรุสภาก่อนครับ เพียงแต่ผมไม่แน่ใจในรายละเอียดของปีที่จบ เพราะกฎหมายใบรับรองเปลี่ยนบ่อยมาก จึงเรียนคุณเต้ยว่า ลองสอบถามไปที่ "คุรุสภา" น่าจะชัดเจนที่สุดครับ ;)...

แจ้งคุณเต้ย เพิ่มเติมนะครับ

วันนี้ไปถามผู้รู้มาแล้วครับ ... คุณเต้้ยสามารถสอนเด็กระดับ ปวช. ได้ ส่วน ปวส. ต้องไปสอบขอใบรับรองจากคุรุสภาครับ ;)...

โชคดีนะครับ ;)...

จบ ม.6 เลือกเอกนี้พอดีค่ะ !!! คิดอยู่หลายตลบเหมือนกัน

 เปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนสายเรียนเถอะครับ..ขอแนะนำว่าถ้าใครคิดจะเป็นครูไปเรียนเอกวิชาหลักจะดีกว่าที่ดีกว่าที่สุดครับ

 ลองตัดสินใจดูครับ น้อง CheeRio Monocular ;)...

v_V ขอบคุณ คุณ นัท ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ณ บันทึกนี้

สวัสดีครับ อาจารย์ Wasawat Deemarn

        พอดีมาเจอบอดร์นี้อ่านแล้วรู้สึกเป็นประโยชน์มากเลยเป็นแนวทางให้เด็กรุ่นใหม่ที่คิดจะศึกษาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา  ส่วนตัวผมก็เป็นคนนึงที่ประกอบวิชาชีพนี้ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาวิชาชีพนี้และคิดว่ากำลังจะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก   ตอนนี้มีโอกาสได้ไปถ่ายทอดความรู้ในวิชาชีพนี้(ปัจจุบันรับราชการประจำเป็นนักวิชาการโสตฯที่มหาวิทยาลัยและอาจารย์พิเศษที่สถาบันราชภัฎ) ส่วนตัวในมุมมองเคยบอกว่าวิชาชีพนี้ปัจจุบันสาขาวิชาอื่นเข้ามาแย่งงานเนื่องจากทางราชการได้กำหนดวุฒิการบรรจุเข้ามาหลากหลายได้แก่ คอมพิวเตอร์ นิเทศศาสตร์ ก็สามารถทำได้เช่นกัน...แต่จุดหนึ่งผู้ที่จบการศึกษาทางเทคโนโลยีการศึกษาโดยตรงก็จะได้เปรียบในแง่ของหลักการในการออกแบบและผลิตสื่อโดยนำหลักการของเทคโนโลยีมามีส่วนช่วยในการผลิต...จึงได้แต่บอกให้กับนักศึกษาที่เคยสอนมาว่าข้อดีเป็นอย่างไรของวิชาชีพนี้และมีความสำคัญอย่างไรก็ให้ยึดมั่นตนเองว่าเรามีความตั้งใจจะช่วยในงานของการศึกษา  

        ส่วนตัวเองก็เป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาก็คาดหวังอยากให้พวกเราในสายวิชาชีพนี้ได้มีโอกาศได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันจะได้เป็นการช่วยพัฒนาในวิชาชีพนี้เราต่อไป


                                                                                                                   เสกสรร  อามาตย์มนตรี

ขอแสดงความชื่นชมอาจารย์  เสกสรร  อามาตย์มนตรี มาก ๆ ครับ ;)...

ในฐานะเราเป็นสายวิชาชีพเดียวกัน ก็ขอให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไปนะครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านในบอร์ดนี้เเล้วรู้สึกได้รับประโยชน์มากมาย ได้รับทราบความรู้เกี่ยวกับความรู้สึก เเนวคิดและทัศนคติของชาวเทคโนฯด้วยกัน สรุปเราทุกๆคนในทุกสถาบันที่เรียนในสาขานี้ ต่างก้อเผชิญปัญหาที่เหมือนๆกันทั้งนั้นถ้าเป็นไปได้ผมอยากเสนอว่างานใหญ่ของชาวเทคโนเราก็มีกันทุกปี อย่างงาน"โสตเทคโนฯสัมพันธ์" ครั้งนี้ปี 56 ก็ครั้งที่ 27 แล้ว อยากให้ลองเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านเทคโนฯ และผู้เกี่ยวข้องจากทางคุรุสภา และอื่นๆ มาร่วมกันพูดคุยสัมมนาเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมสัมมนาได้เสนอปัญหาและความคิดเห็นด้วย เพื่อหาทางออกในเรื่องของทิศทางการผลิตบุคลากรและตลาดเเรงงานของนักเทคโนโลยีการศึกษาในปััจจุบันอะไรทำทำนองนี้อ่ะครับ อย่างน้อยๆก้อน่าจะช่วยสะท้อนปัญหาต่างๆได้ชัดเจนมากขึ้น อาจพอเป็นกระจกให้เราได้ตราบใดที่สาขานี้ยังเปิดสอนอยู่ในหลายสถาบัน (และยังมีจำนวนผู้เรียนที่มากด้วย) ส่วนตัวผมมองว่าสาขานี้มันจำเป็นต่อวงการศึกษานะครับเพราะนักเทคโนนอกเหนือจากความรู้ด้านเทคนิคแล้ว เรายังต้องมีความรู้ในเรื่องของทฤษฎีการสอน การออกแบบระบบการสอน ทฤษฎีจิตวิทยาการสอน จิตวิทยาการเรียนรู้ หลักการออกแแบและผลิตสื่อ และความรู้ด้านการศึกษาอื่นๆประกอบด้วย ตรงนี้เเหละเราต้องให้ชัด ผมว่ามันคือจุดยืนของเรา.....ผมจบปริญญาตรี กศ.บ.เทคโนและสื่อสารการศึกษา ตอนนี้กำลังจะจบ กศ.ม. เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเหตุผลที่ตัดสินใจเรียนต่อสาขานี้ ก็เพราะยังรัก ชอบ ศรัทธาและยังคิดว่าสาขานี้ยังมีความสำคัญต่อระบบการศึกษาของไทย ตราบใดที่ "การศึกษายังต้องพึ่งสื่อเเละเทคโนโลยี" ตราบนั้นนิสิตนักศึกษาในสาขานี้ก็จงภูมิใจและมั่นใจในความเป็นเป็ดของพวกเรา ดีซะอีกอย่างน้อยตกน้ำเราก็ไม่ตายเพราะเราว่ายน้ำได้  ตกจากที่สูงเราก็ไม่ได้เพราะเราก้อยังมีปีกประคองตัวลงมาได้ เห็นป่าวว่าเราก็มีข้อดี อิอิ เพียงแต่ว่าเราทุกคนต้องช่วยกันสะท้อนความสำคัญของเราต่อวงการศึกษาให้ชัดเจนครับ

สวัสดีครับ น้อง กรวิทย์ ;)...

ผมเคยเป็นตัวแทนหลักสูตรเทคโนฯ ของคณะฯ เพื่อไปประชุมระดมความคิดในการหาทางออกให้กับสายวิชาชีพนี้ที่มีปัญหาในการถูกลืมของคนใน ศธ. สกอ. และ คุรุสภา

ผมไปนั่งฟังแล้วก็รู้สึกถึงความคิดที่หลากหลายคนสายวิชาชีพในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งที่เปิดหลักสูตรนี้

โดยเฉพาะปัญหาการเลือกจะเปิดเป็นหลักสูตร ๔ ปี ๕ ปี หรือ ๖ ปี ซึ่งมีทุกหลักสูตร ขึ้นอยู่กับบริบทของมหาวิทยาลัย

หลักสูตร ๔ ปี ก็เป็นแบบไม่สนใจการสอบบรรจุครู การเปลี่ยนวุฒิเป็น "เทคโนโลยีบัณฑิต" ไปเลยก็มี

หลักสูตร ๕ ปี ก็เป็นแบบต้องการให้ผู้เรียนสามารถสอบบรรจุครูได้ แต่เมื่อเรี่ยนจบไป ศธ. ละทิ้งวิชาชีพเรา เขตพื้นที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวว่ามีสาขานี้อยู่ (ซึ่งผมเป็นคนเขียนหลักสูตรเทคโนฯ ๕ ปี ที่ผ่าน สกอ. ปี ๕๓ เป็นหลักสูตรแรกของประเทศนี้)

หลักสูตร ๖ ปี ก็พยายามจะให้รู้สึกเหมือนหลักสูตรแพทย์ ๖ ปี ที่เทียบ ป.โท ไปเลย แต่แบบนี้ไม่ค่อยเห็นด้วยกันเท่าไหร่ เพราะมันเสียเวลาเรียนนานเกินไป

คือผมไปนั่งฟังแล้วพอสรุปได้ว่า เพียงแ่ค่แนวทางของวิชาชีพยังไม่ลงรอยกัน ศธ.มองโลกแคบ ๆ คุรุสภา มองก็ไม่รู้ นับวัน สาขาวิชาชีพเราจะสูญพันธุ์ในทีุ่สุดครับ

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่อยู่ในความพยายามกัน

ขอแลกเปลี่ยนกับน้องเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ;)...

ขอบคุณมากที่รักสาขาวิชาชีพของเรา

สวัสดีคะ...

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่จบเอกเทคโนฯ ตอนที่เข้าไปเรียนก็เห็นแต่วิชาเรียนที่น่าสนใจเลยเลือกเรียน ด้วยความเป็นเด็กและไม่ได้หาข้อมูลได้ง่ายๆเหมือนสมัยนี้ ถ้าจบออกไปจะมีงานรองรับมากน้อยแค่ไหน.... แต่ลึกๆเราเข้าใจตลอดว่าจบมาแล้วต้องเป็นคุณครูเพราะมันอยู่ในคณะศึกษาศาสตร์ แต่พอจบจริงๆ การสอบบรรจุมีเปิดสอบน้อยมาก ถ้ามีจริงๆก็ 1 ตำแหน่ง แล้วจำนวนเด็กที่จบออกมาในแต่ละรุ่นก็มาก โดยส่วนตัวอยากเป็นคุณครูสอนคอม จะมีทางเลือกอื่นๆอีกบ้างไหมคะ หรือว่าจะต้องไปเรียนปริญญาตรีสาขาอื่นอีกใบ 

สวัสดีครับ คุณครู suttikarn ;)...

สายวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษา เริ่มมีปัญหาตั้งแต่เริ่มมีใบรับรองวิชาชีพครูเกิดขึ้น
สายวิชาชีพถูกตีความให้ใกล้กับคอมพิวเตอร์ศึกษา ทั้ง ๆ ที่ไม่เหมือนกันตรงไหนเลย

คุณครูคงอยู่ในรุ่นที่เริ่มรับน้อย หรือ แทบไม่มีเลย อย่างที่เห็น

หากต้องการเป็นคุณครูอย่างถูกกฏหมายอย่างที่ต้องการ ต้องสอบใบรับรองฯ ที่คุรุสภา
หรือเีรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ณ สถาบันที่คุรุสภารับรองครับ

คุณครูจึงจะมีสิทธิ์สอบบรรจุในปัจจุบันได้

ส่วนการอยากเป็นครูคอมฯ นั้น ต้องเรียนปริญญาตรี "คอมพิวเตอร์ศึกษา" ๕ ปี ครับ

โชคดีนะครับ ;)...

ขอบคุณครับอาจารย์ Wasawat Deemarn

เเด่...พี่น้องร่วมชะตากรรม
  อยากเป็นครูผู้นำทางความคิด
  อยากเป็นครูชี้ถูกผิดการศึกษา
  อยากเป็นครูยกระดับจิตวิญญา
อยากเป็นครูช่วยนำพาให้ศิษย์ดี
  แต่ติดที่เงื่อนไขของสาขา
  แต่ติดที่วุฒิศึกษาไม่สุขขี
  แต่ติดที่เรียนไม่ครบทั้งห้าปี
  แต่ติดที่ไม่มีใบประกอบวิชาครู
  น่าน้อยใจทั้งที่อยู่ศึกษาศาสตร์
  น่าน้อยใจแสนอนาถเกิดเป็นหนู
น่าน้อยใจเรียนมาเพื่ออยากเป็นครู
  น่าน้อยใจเหมือนลูกชู้ไม่สำคัญ
  ทั้งที่อ้างว่าสำคัญดันระบบ
  ทั้งที่อ้างว่าเป็นสื่อสุดสร้างสรรค์
  ทั้งที่อ้างว่าจำเป็นทุกสิ่งอัน
  ทั้งที่อ้างว่ามันจะต้องมี..!!
ขอลองหันมาช่วยเหลือพี่น้องหนูๆ
  ขอลองหันมาตรวจดูการศึกษา
  ขอลองหันมาเข้าใจในวิชา
  ขอลองหันมารักษาเยี่ยวยาใจ
  เอกเทคโนโลยีการศึกษา
  จะได้นำพัฒนาสื่อยุคใหม่
  เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนไทย
  ให้ก้าวไกลสู่ยุคของการพัฒนา
  ขอโอกาสเถิดท่านผู้เกี่ยวข้อง
  ขอโอกาสให้พวกเราผู้คอยหา
  ให้ได้มีเส้นทางสู่สัมมา
  แห่งอาชีพสุจริตผลิตคน






 

ขอบคุณมากครับ น้อง กรวิทย์ ;)...

คนละมือ คนละไม้ นะครับ

ผมเป็นนึกศึกษา สาขา เทคโนโลยีและสือสารการศึกษาคนหนึ่งนะครับ ที่กำลงัจะจบอีกไม่กี่วันนี้ ได้อ่านความคิดเห็นของหลายๆท่านทำให้ผมมีความคิดดีๆหลายอย่างเลยครับ และสิ่งที่ชอบคือ สาขา เป็ด เราเป็น เป็ดจริงครับ สามารถทำได้ทุกอย่าง เหมือนตอนเรียนเป็นแค่แนวทางให้เลือกว่าชอบสิ่งไหน และจากนั้นให้นำความรู้ที่เรียนมาไปต่อยอดเพื่อนำไปพัฒนาตนเอง (ปล. อาจารย์ผมก็มีคนรู้จักท่านเยอะเหมือนกันนะนี้)

ยินดีและขอบคุณ น้อง เด็กคลอง 6 มาก ๆ ครับ
ที่แวะเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลวิชาชีพของเรากันครับ ;)...

สวัสดีค่ะ หนูเป็นเด็กม.6 กำลังจะเลือกเรียน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการศึกษาและสื่อสารมวลชน(ทล.บ.)(5ปี) มจธ(บางมด)  อยากทราบว่าคณะนี้เหมือนหรือแตกต่างกับคณะที่อาจารย์บอกข้างต้นหรือเปล่าคะ และถ้าเรียนจบแล้วจะได้วุฒิครูไหมคะ ที่สำคัญคือหนูอยากเป็นครูจะสอนในระดับไหนได้บ้างหรือป่าวคะ.  หรือต้องเลือกคณะอื่น รบกวนช่วยตอบทีนะคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ น้อง Omyim ;)...

ตอบง่ายครับว่า หากต้องการได้เป็นครูตามกฎหมาย
ต้องดูที่ปริญญาที่จบครับว่า เป็น

การศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.)

หรือ

ครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.)

หรือไม่ครับ

หากใช่ แปลว่า เราจะได้ใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครูด้วย
ทำให้เราสามารถสอนได้ทุกระดับ

แต่หากเป็นวุฒิ ทล.บ. คือ เทคโนโลยีบัณฑิต นั้น
น้องจะไม่ได้ใบประกาศฯ

หากเป็นครูก็จะสอนได้ในระดับ ปวช. ปวส. ได้อยู่ครับ
หากเป็นประถม มัธยม จะสอนไม่ได้ ;)...

คร่าว ๆ น๊อ ;)... 

ขอบคุณมากค่ะ หนูมีอีกหนึ่งคำถามที่จะรบกวน ขอโทษทีนะคะ คือว่าถ้าเรียนคณะนี้จบ4ปี แล้วจะสามารถเรียนต่ออีก1ปีเพื่อรับวุฒิครูได้ไหมคะ หนูทราบมาว่าสามารถทำได้จริงหรือเปล่าคะ ขอบคุณมากนะคะ ตอนนี้เริ่มจะตัดสินใจได้แล้วค่ะ :)

สวัสดีอีกครั้งครับ น้อง Omyim ;)...

หากเรียนหลักสูตร ๔ ปีมาก่อนนั้น
หากต้องการวุฒิครู

ให้เรียนต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู อย่างน้อย ๑ ปี
ที่เขียนว่าอย่างน้อย ๑ ปีนั้น เพราะอนาคตมันอาจจะเป็น ๒ ปี
ตามระเบียบของคุรุสภาครับ

เรียนในห้อง ๑ ปี และ ฝึกสอนอีก ๑ ปี

ส่วนมหาวิทยาลัยใดเขาเปิดเรียนนั้น
ให้น้องลองค้นหาดูนะครับ

แต่ต้องเช็คดี ๆ ว่า คุรุสภาให้การรับรองจริงหรือไม่
เดี๋ยวจะเป็นแบบมหาิวิทยาลัยอีสานที่นักศึกษาถูกลอยแพครับ

เข้าใจมากขึ้นนะ ;)...

ขอบคุณมากๆนะคะสำหรับข้อมูล :)

ถ้าสนใจ เทคโนโลยีการศึกษา ของบูรพา แนวทางการประกอบอาชีพจะไปทางไหนได้บ้างคณะ  เพราะไม่ได้วุฒิครูด้วย ครอบครัวอยากรู้มากค่ะ

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่จบ เทคโนฯ ถึงใครต่อใครจะมีความคิดกับสาขานี้อย่างไร

แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งสอนผมว่า

ให้เราภูมิใจในสถาบันที่เราจบ ภูมิใจในคณะที่เราเรียน แล้วก็ภูมิใจ ในสาขาที่เราเลือกและจบมาครับ

ตอบน้อง BELLE ;)...

หากไม่ได้วุฒิครู ก็จะสามารถทำงานด้านโฆษณา วิทยุโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ได้ครับ

หรือเข้าหน่วยงานราชการ ก็จะเป็นนักวิชาการฯ ด้านต่าง ๆ เช่น นักวิชาการศึกษา เป็นต้น ครับ

แต่หากเป็นครู ก็สามารถสอนนักศึกษาระดับ ปวช. ได้ครับ

เห็นเช่นนั้นครับ นายรักษ์ ;)...

กำลัง จะจบ ป.ตรี และต้องการศึกษาต่อ ป.โท ระหว่าง สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม และสาขาเทคนิคศึกษา พอได้อ่านบทความนี้ แล้วรู้สึก ว่า ทำให้ตัดสินใจ ง่ายขึ้นค่ะ ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

ขอให้โชคดีนะครับ คุณ อ้วน ;)...

สวัสดีครับอาจารย์ ผมจบมาได้ปีครึ่งเเล้ว เอกเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หลักสูตร 4 ปี แขนงคอมพิวเตอร์การศึกษาจาก มรภ.แห่งหนึ่งใน กทม. ในเกรดที่สูงพอสมควร ที่ผ่านมาทำงานบริษัทในส่วนที่ไม่ตรงกับที่เรียนเท่าไหร่นักในกทม. สมัครสายITตามบริษัทต่างๆก็สู้พวกที่จบสายตรงเฉพาะไม่ได้อีก ตอนนี้ลาออกว่างงานมาได้หลายเดือนมากเเล้ว ไม่ได้สมัครอะไรอีก ไม่อยากเริ่มต้นอะไรใหม่บ่อย เลยพักเพื่อคิดว่าเราอยากทำอะไร (ใจอยากเป็นนักข่าวกีฬาเคยสมัครได้แต่ไม่เอาด้วยเหตุผลด้านเวลาการทำงาน) หรืองานอะไรที่เกี่ยวข้องกับคุณวุฒิที่เรียนมาแต่ก็รู้สึกว่าเราพักมานานเกินไปแล้ว เหมือนกลายเป็นขึ้นสนิมเลยตอนนี้ เริ่มรู้สึกความมั่นใจอะไรต่างๆลดน้อยลงจากตอนจบใหม่มาก

ที่ บ้านก็อยากให้สอบบรรจุข้าราชการจะได้กลับมาอยู่บ้าน ตจว. ซึ่งผมก็มองว่ามันเป็นอะไรที่มันยากเพราะไม่ค่อยมีเปิดสอบในสาขานี้ ทางที่จะพอเป็นไปได้กว่าคือการเป็นครูคอม ใจจริงเเล้วตอนเรียนผมก็อยากเป็นครูนะ ตอนสมัครก็ลงเรียน 5 ปี เพราะแม่อยากให้เป็นครูจะได้กลับมาสอน ร.ร. เเถวบ้านได้ แต่นึกมาเปลี่ยนเป็น 4 ปีซะงั้น คิดว่า 5 ปีนานไป ณ ตอนนั้นด้วยความเป็นเด็กเลยไม่ได้ใส่ใจตรงนี้ คิดว่าเรียนไปเเล้วค่อยไปเอาใบประกอบวิชาชีพครูทีหลังก็ได้ แต่พอเรียนไปเริ่มตระหนักได้ว่าการจะเอามาให้ได้ในใบประกอบวิชาชีพของหลัก สูตร4ปีทำไมมันดูยุ่งยากสับสนดีนักเเล ถามใครก็ตอบต่างๆกันไป ก็เลยเลิกคิดไป ทางผู้สอนเองก็ไม่ได้ชี้แนะในเรื่องนี้เท่าไหร่ โดยจะชี้เเนะให้เราไปทางสายงานอื่นงานบริษัทอะไรเทือกนั้นมากกว่าสายการ ศึกษา คือตอนก่อนฝึกงานอาจารย์ชี้แนะให้ไปฝึกงานยังสถานที่ไม่ใช่ ร.ร. หรือสถาบันการศึกษา ผมเลยเริ่มเอะใจตั้งแต่ตอนนั้นว่าหางานยากแน่ๆ เรียนเกี่ยวกับการศึกษาแทบทั้งนั้นแต่ไม่ควรไปฝึกที่เกี่ยวกับการศึกษา55 ดู มันไม่มีอะไรรองรับสายนี้เลยจริงๆครับ

ที่พิมพ์มายืดยาวแค่อยากเล่า ระบายให้ฟังกับปัญหาของสายงานของเอกนี้เฉยๆครับ ขอบคุณที่มีบล็อกนี้ได้พูดคุยกันสำหรับคนที่จบสายนี้มาครับ เพราะคุยกับคนอื่นเขาก็ไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไหร่ แค่เขาเห็นว่าชื่อเอกก็งงเเล้วไม่ก็เข้าใจว่าต้องคอมจ๋าไม่ก็ต้องเป็นครู55 ท้าย นี้ขอสอบถามว่าหากผมต้องการใบประกอบวิชาชีพ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้างครับ ขอแบบละเอียดได้จะเป็นพระคุณมากครับ หรืออาจารย์มีคำชี้แนะอื่นๆก็ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ สวัสดีปีใหม่ครับผม

ตอบน้อง Fermata ;)...

หากอยากเป็นครูตอนนี้ คือ

๑. สมัครเป็นครูกับโรงเรียนเอกชน หรือครูอัตราจ้างของโรงเรียนรัฐบาล
๒. ระหว่างสัญญานั้น ให้น้องหาเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู
ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากคุรุสภา
๓. การเรียนนั้นจะใช้เวลา ๑ ปีครึ่ง ถึง ๒ ปี ซึ่งมีการเรียนวิชาที่เป็นมาตรฐานคุรุสภากำหนด
และน้องต้องออกฝึกสอน (โรงเรียนตัวเองนั่นแหละ) เป็นเวลา ๑ ปีการศึกษา (๒ ภาคเรียน)
๔. สำหรับการได้ใบประกอบวิชาชีพครูนั้น หากเป็นหลักสูตร ๕๗ ขึ้นไป
น้องจะต้องสอบมาตรฐานวิชาชีพครู ๙ มาตรฐานให้ผ่านด้วยตนเอง
จึงจะได้รับใบประกอบฯ ซึ่งไม่เหมือนรุ่นก่อนหน้านั้นที่จะได้ใบประกอบฯ เลยหลังเรียนจบ

คร่าว ๆ นะครับ ;)...

ป.ล. น้องต้องมีสังกัดที่เป็นสถานศึกษานะครับ มิฉะนั้นจะเป็นการเรียนไปเปล่า ๆ ไม่ได้อะไรเลย

โชคดีครับ ;)...

สวัสดีค่ะเข้ามาอ่านกระทู้เกี่ยวกับการเรียนต่อโท โดยส่วนตัวเองจบ ป. ตรี 2 ใบ ใบแรกจบการจัดการทั่วไป (คอมฯธุรกิจ) อีกใบจบเทคโนโลยีและสื่อการศึกษา ตอนนี้. เ ป็นครูคอม ม.ปลาย แต่จะต่อโทเลือกไม่ถูก - วิทยาการคอม, - เทคโนโลยีการศึกษา, - เทคโนสารสนเทศและการจัดการ หาข้อมูลแล้วแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจ กลัวไปเรียนแล้ว.ไม่ได้ใจจะกลับลำก็เสียดายตังค์ ต้องสมัครก่อนสิ้นเดือนนี้ เฮ้อ

ตอบคุณครู gift.. ;)...

คุณครูต้องตั้งวัตถุประสงค์ก่อนว่า คุณครูจะเรียนไปเพื่ออะไร ทำอะไร และอยากได้ความรู้ด้านไหนครับ

เพราะการเรียนระดับปริญญาโท มันเป็นการเจาะลึกวิชาชีพนั้น ๆ ไม่ได้เรียนว่า ต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
เหมือนระดับปริญญาตรี แต่เรียนเพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ค้นหาคำตอบอะไรบางอย่างในเชิงลึกที่มากกว่าปกติ

ถ้าคุณครูยังคงอยู่ในสายครู ... "เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา" จะตรงที่สุดครับ

หากคุณครูจะลาออกไปอยู่บริษัทในสายบริหารหรือปฏิบัติการ .... "เทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการ" อาจจะเหมาะกว่าครับ

โชคดีครับ ;)..

สวัสดีครับ ตอนนี้กำลังจะต่อปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา สายการทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว เป้าหมายคือการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสาขานี้ครับ ส่วนตัวจบ สาขานี้มหาวิทยาลัยรัฐ TOP 5 เลยอยากสอบถามว่า

1.ในเมื่อมหาวิทยาลัยและ สถาบันต่างๆ เปิด ป ตรี ป โท และ เอก เยอะแยะ กันทั่วประเทศแบบนี้ แน่นอนว่าคนที่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้นั้นต้องจบ เอก เท่านั้นเนื่องจาก มหาวิทยาลัยต่างๆจะพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย อย่างนี้แล้ว คนจบโทก็เยอะ จบเอกก็แยะ แล้วตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะมีรองรับหรือเปล่าครับ??

2.หากเปิดรับสมัครอาจารย์มหาวิทยาลัยขึ้นมา คนที่จบเอกจากต่างประเทศและ ม.รัฐดังๆ หรือเด็กเก่า จะมีเครดิตดีกว่าหรือไม่ครับ ส่วนตัวผมคิดว่าผมน่าจะสู้ได้ คิดว่า เราใช้ความสามารถมากกว่า แต่ที่ถามเผื่อมีรุ่นหลังเกิดคำถามเดียวกันครับ

3.มีข่าวการคาดการณ์ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยในทุกสาขาจะมีการเกษียณอายุราชการกันเยอะนี่จริงหรือเปล่าครับและอีกกี่ปีครับ

สุดท้ายนะครับ อยากเสนอแง่คิดเล็กๆ จาก คหสต ว่า สำหรับประเทศไทย หากสาขาไหนที่คิดว่าขาดแคลนก็จะดันให้เปิดสอนเยอะขึ้นๆ จนกลายเป็นว่าล้นตลาด คิดแต่จะผลิต แต่หากมีการ วางแผนงานรองรับ ไว้ดีแล้ว ยกระดับวิชาชีพนี้ให้ไม่ด้อยกว่าวิชาชีพอื่นๆ ผมว่าสาขานี้น่าสนใจมากๆครับ และ ผมคิดเผื่อไว้เลยว่า ณ ตอนนี้ เปิดอาเซียน ทางภาครัฐ มุ่งส่งวิชาชีพที่มั่นคงอย่างแพทย์ พยาบาล ทันตะ ไปต่างประเทศ ถ้ามีงานด้านสาขาเราไปบ้างก็จะดีไม่น้อยครับ นอกจากนี้ แต่ละมหาวิทยาลัย ต้องมีจุดเด่นเป็นของตัวเองครับ มีคุณภาพทั้ง การทำงาน และการสื่อสารครับ ขอบคุณที่มีบอร์ดดีๆให้เเสดงความคิดเห็นและสอบถามครับ

สวัสดีค่ะ...หนูกำลังจะไปสอบสัมภาษณ์ที่ ม.ทักษิณ กศ.บ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ถ้าหนูเข้าใจไม่ผิด คือหากเรียนและจบจากสาขานี้ จะไม่ได้เป็นครูใช่มั้ยคะ? ต้องไปสอบเอาใบประกอบวิชาชีพครูใช่มั้ยคะ? ส่วนตัวแล้วหนูชอบเกี่ยวกับเทคโนหรือพวกคอมพิวเตอร์มากเลยค่ะ ก็เลยลังเลนิดหน่อย เพราะจริงๆก็อยากจบแล้วเป็นครู

ตอบคุณ Master ET ;)...

1. ในเมื่อมหาวิทยาลัยและ สถาบันต่างๆ เปิด ป ตรี ป โท และ เอก เยอะแยะ กันทั่วประเทศแบบนี้ แน่นอนว่าคนที่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้นั้นต้องจบ เอก เท่านั้นเนื่องจาก มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย อย่างนี้แล้ว คนจบโทก็เยอะ จบเอกก็แยะ แล้วตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะมีรองรับหรือเปล่าครับ??

คหสต. ... สำหรับการรับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องจบ ป.เอก ขึ้นอยู่กับนโยบายของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ คณะนั้น ๆ สาขานั้น ๆ เองครับ แต่ก็ต้องบอกว่า จบ ป.เอก มีภาษีดีกว่าจบระดับ ป.โท อย่างแน่นอน เวลาเขาพิจารณา เพราะ ป.เอก มันทำให้ศักยภาพของสาขาสูงขึ้นตามการประกันคุณภาพครับ

แต่ "มหาวิทยาลัยวิจัย" ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพทางวิชาการมากพอจึงจะสามารถทำได้ หากเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ฯลฯ งบประมาณนั้น ศักยภาพคนน้อยกว่า ย่อมไม่ได้เดินในเส้นทางนี้แน่นอน แค่เป็น "มหาวิทยาลัยแห่งการสอนและท้องถิ่น" ก็เหนื่อยแล้ว

สำหรับตำแหน่งที่เปิดรับ ขึ้นอยู่กับว่ามีตำแหน่งที่ขาดแคลน ไม่เพียงพอหรือไม่เท่านั้นครับ หากไม่มีเหตุผลมากพอ การขอตำแหน่งของสาขาฯ มันยากมากขึ้นกว่าเดิมมากครับ


2. หากเปิดรับสมัคร อาจารย์มหาวิทยาลัยขึ้นมา คนที่จบเอกจากต่างประเทศและ ม.รัฐดังๆ หรือเด็กเก่า จะมีเครดิตดีกว่าหรือไม่ครับ ส่วนตัวผมคิดว่าผมน่าจะสู้ได้ คิดว่า เราใช้ความสามารถมากกว่า แต่ที่ถามเผื่อมีรุ่นหลังเกิดคำถามเดียวกันครับ

คหสต. ... เท่าที่ผมเห็นนะ "ลูกหม้อ" คือ คนที่พวกอาจารย์เก่า ๆ เขาเลือกที่จะรับไว้ก่อนเป็นอันดับแรก เรียนเก่ง ไม่เก่งไม่ทราบ เมืองนอกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ "ระบบอุปถัมภ์" แบบนี้มันฝังรากลึกจนน่ารังเกียจแย่แล้ว เมืองไทยเรา

มีข้อยกเว้นข้อเดียว คือ ทางสาขาฯ ที่รับต้องการคนที่ไม่ใช่ลูกหม้อของตัวเอง

แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่บอกว่า ใครจบเมืองนอกมาจะรับอันดับแรก (มออยู่เชียงราย) เพราะเขาสอนเป็นภาษาต่างประเทศ

ส่วนคุณจะเห็นว่า ใช้ความสามารถมากกว่า นั่นคือ สิ่งที่ผมทำมาตลอด เส้น หรือ ไม่เส้น ไม่สนใจ
ขอให้มั่นใจในตัวเองครับ ;)...


3. มีข่าวการคาดการณ์ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยในทุกสาขาจะมีการเกษียณอายุราชการกันเยอะนี่จริงหรือเปล่าครับและอีกกี่ปีครับ

คหสต. ... เริ่มเกษียณกันมาก ๆ ย้อนหลังกลับไป ๕ ปีที่แล้วครับ และตอนนี้ก็ยังคงมีการเกษียณอายุกันมาก ๆ อีกรอบ ประมาณ ๒ ปีต่อไป เพราะอาจารย์เหล่านั้น เขาเข้ามารุ่นเดียวกัน เกษียณก็ย่อมต้องพร้อมกัน

แต่ ... หากมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายรับคนทดแทน ก็หมดหวังครับ สำหรับการเปิดรับ


สำหรับความเห็นส่วนตัวของคุณ Master ET นั้นถือว่า รักวิชาชีพของเรามาก ๆ ครับ

ผมก็อยากให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ผมคิดว่า ควรจะต้องเริ่มตั้งแต่คนในกระทรวงศึกษาธิการนั้นก่อนดีกว่าครับ
ตอนนี้แค่จบ ป.ตรี ไปแล้ว เด็กอยากเป็นครูกัน ศธ. เปิดไม่กี่ตำแหน่งทั่วประเทศ

เมื่อใดก็ตามที่กระทรวงของชาติไม่เห็นความสำคัญ แถมไม่เห็นความสำคัญเลย
สาขาเราก็แทบจะดับสูญในการเป็นครูครับ

แนวโน้มของการดิ้นรนตอนนี้ เกิดขึ้นทุกแห่ง ขึ้นอยู่กับว่าจะมีวิสัยทัศน์อย่างไรเท่านั้น


หากได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตามที่คาดหวัง
ขอให้ทำอุดมการณ์ที่วางไว้ให้สำเร็จนะครับ

อย่าหลงใหลไปกับใบปริญญาขั้นสูงสุด หรือตำแหน่งวิชาการต่าง ๆ
ขอให้โชคดีครับ ;)...

ตอบ น้อง Aumm ;)...

หนูต้องไปดูหลักสูตรว่า เรียนกี่ปีก่อนครับ

หากเรียน ๔ ปี หนูก็จะไม่ได้เป็นครู เพราะไม่มีใบประกอบฯ
หากเรียน ๕ ปี หนูก็จะมีสิทธิ์เป็นครู แต่หลักสูตรหนู ต้องสอบใบประกอบฯ ให้ได้เอง
(คุรุสภา กำหนดมา ตั้งแต่รหัส ๕๗ ครับ)

แต่หากว่าหลักสูตรที่หนูดูอยู่บอกว่า เป็นเอกคู่

เช่น เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คู่กับ คอมพิวเตอร์ศึกษา

ถ้าหนูจบมา หนูก็สามารถสอบบรรจุได้ทั้งสองสาขา
แถมยังเป็นคอมพิวเตอร์ที่หนูชอบด้วยครับ

ให้ไปดูรายละเอียดดี ๆ เนาะ ;)...

โชคดีครับ ;)...

ขอบคุณบทความนี้มากๆ ค่ะอาจารย์ มันทำให้หนูคิดอะไรได้หลายๆ อย่าง ตอนนี้หนูกำลังเรียน ป.ตรี สาขา เทคโนโลยีการศึกษา อยู่ค่ะ เรียนไปๆ หนูก็รู้สึกชอบ แต่หนูก็ไม่รู้ว่าจะได้เป็นครูหรือเปล่า หนูรู้ตั้งแต่แรกว่าถ้าเรียนจบเอกนี้แล้วไม่มีอัตราบรรจุ แต่ทำไมหนูถึงเลือก แต่ตอนนี้หนูก็ชอบอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับเอกนี้ค่ะ

ความรู้มีไว้ติดตัว และนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกการงานที่เราต้องการครับ

ขอให้ค้นหาสิ่งนั้นให้เจอนะครับ น้อง Sureechay phuengnam ;)...

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ ทำงานโสตฯมา เกือบ 25 ปีแล้ว ในรั้วมหาลัย ไม่เหนื่อยกาย แต่เหนื่อยใจมากกว่ากับพวกอาจารย์ที่ไม่เข้าใจว่า นักโสตฯคืออะไร ...(อาจารย์บางท่านคงคิดว่ามีหน้าที่เปิด-ปิดอุปกรณ์ 5555 ยินดีรับคำติครับ)

เป็นกำลังใจให้คุณ lek เช่นกันครับ ;)...

ถ้าเรียนแค่หลักสูตร 4 ปี แล้วไม่ได้เรียนต่อครู

จะมีใบประกอบวิชาชีพของสาขาที่เรียนมั้ยคะ?

ไม่มีครับ น้อง Teewara ;)...

น้องจะได้รับใบปริญญาที่จบเท่านั้น

ขออนุญาตถามเพราะไม่ทราบจริงๆค่ะ ว่าใบปริญญานี่เอาไปสมัครงานได้มั้ย? อย่าว่าหนู หนูไม่ทราบจริงๆ

ใบปริญญาของน้อง Teewara ได้รับการรับรองจากสถาบันทีี่น้องจบ

ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการแน่นอนครับ

สามารถนำไปสมัครงานได้ทุกที่ในโลกนี้ ยกเว้น ต้องการสอบบรรจุครูในประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ได้

บทความเป็นประโยชน์มากเลยค่ะ ชอบคำว่า "เป็ด" มากเลยคะ ส่วนตัวเรียน ป.ตรี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเเละการสื่อสาร (วท.บ.) ตอนสมัครเรียนสาขานี้ไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจอะไรกับ ICT เลยคะ เห็นว่าชื่อมันน่าเรียนคะ (อันนี้สาระมากคะ) ตอนเรียนมัธยมเรียนดีได้เกรดสูงทุกวิชาแต่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรคะ เลือกสาขาไปมั่วๆ คะ (เลือก ICT อันดับ 2) พอติดก็เรียนคะ แบบงงๆ นั่นแระคะ มีเพื่อนประมาณ 150 ชีวิต 4 ปีผ่านไป จบในรุ่นประมาณ 40 คนคะ ระหว่างเรียนก็ยังงงๆ เรียนเยอะมากคะ programming / network / database บลาๆ เยอะมากคะ ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งอะไรซักอย่าง สาขานี้ เป็ด จิงๆ คะ

เรียนจบ ป.ตรีได้ 1 เดือนก็สอบเป็นนักวิชาการศึกษาใน ม. คะ (ไม่มีเส้นนะคะ ^^) เรียนจบแล้วก็ยังงงๆ กับสาขาที่เรียนเลยอยากลองเรียนต่อ เลือก ป.โท สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเเละสื่อสารการศึกษา (ค.ม.) เพื่อให้ชัดเจนขึ้น เริ่มเห็นความแตกต่างมากขึ้นจริงๆ คะ เรียนจบ ป.โท ทำให้รู้ว่าสาขานี้สุดยอดเลยคะ ท้าทายความสามารถมาก ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีตลอดเวลา ไม่ใช่เเค่ปัจจุบันแต่ต้องรู้ถึงอดีตและอนาคตที่จะเกิดขึ้นคะ ตอนนี้กำลังเริ่มเรียน ป.เอก สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเเละสื่อสารการศึกษา (ค.ด.) เรียนได้ 2 เทอมแล้วคะ เพิ่งอายุ 28 คะ กระหายเรียนมากคะ กำลังสนุกกับการหาเทคโนโลยีและแนวทางการนำมาใช้กับการเรียนการสอนคะ ไม่ได้ทำงานเป็นอาจารย์นะคะแต่ก็สนุกกับการเรียนรู้คะ หาคำตอบจนมาถึง ป.เอก แล้ว ยังคิดว่าสาขานี้ก็ยัง เป็ด เหมือนเดิมคะ แต่เป็น ความรู้เป็ด ที่มีความสำคัญกับการศึกษามากเลยทีเดียวคะ




ขอแสดงความชื่นชมกับ "การใฝ่รู้" ของน้อง phitcha นะครับ ;)...

แบบนี้ต้องอวยพรว่า "ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่ทำ" นะครับ ;)...

ท่าน Wasawat Deemarn ผมพึ่งเรียนจบป.ตรีที่ม.สุโขทัยธรรมาธิราช คณะ ศึกษาศาสตร์ เอก เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา แต่ตอนนี้ผมทำงานเป็นช่างไฟฟ้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นบริษัทลูกจ้างของการท่า คือที่ผมจบมาผมสามารถไปทำงานแบบไหนได้บ้างครับพี่จากความคิดส่วนตัวผมเป็นคนนิสัยชอบความถูกต้องไม่ชอบการเอาเปรียบ โลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบคนมาดูถูกถ้ามีคนมาดูถูกจะโกรธเป็นที่สุดเลยครับ ไม่ทราบว่างานที่เหมาะกับคนนิสัยแบบผมจะมีบ้างไหมครับแล้วผมพอจะทำงานด้านไหนได้บ้างครับ จะมีงานรองรับคนประเภทผมบ้างรือป่าวครับ ท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn โปรดชี้แนะด้วยครับผม และขอขอบคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วยครับขอบพระคุณมากครับผม

เรียน น้อง mr.nutdanai thaenhin ;)...

งานตามสาขาที่น้องได้จบการศึกษาแล้วนั้น
คงเป็นไปตามรายละเอียดในบันทึกที่น้องสามารถสมัครสอบ
และเป็นได้ทั้งหมดครับ

หากน้องเรียน ๔ ปี น้องต้องเรียน ป.บัณฑิตบัณฑิตวิชาชีพครูก่อน
เพื่อให้สอบบรรจุดรูได้ หากน้องต้องการ

หากน้องเรียน ๕ ปี น้องสามารถสอบบรรจุเป็นครูได้เลยครับ

ส่วนงานอื่น ๆ เช่น นักวิชาการศึกษา นักวิชาการโสตทัศนศึกษาในมหาวิทยาลัย
น้องก็สามารถเลือกทำได้เช่นกัน

แต่สำหรับสภาพแวดล้อมของ "คน" ทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ นั้น
ย่อมมีทั้งคนดีและคนเลวปะปนกันไปครับ

บางทีน้องอาจจะได้งานที่ตนเองเองชอบ แต่คนที่หน่วยงานแย่ก็ได้
หรือหากน้องโชคดีได้งานที่ตนเองชอบ และคนในหน่วยงานก็ดีไปด้วย

ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับ "ใจ" และ "วิธีคิด" ของน้องแล้วครับ
ว่าน้องสามารถอยู่ในองค์กรหรือหน่วยงานในอนาคตนั้นได้

งานทางด้านที่เราเรียนมานั้น มันคือ งานบริการ
ที่ต้องพบผู้คนมากมายครับ

ยกเว้นน้องเลือกจะอยู่ฝ่ายผลิต เช่น ผลิตสื่อต่าง ๆ
แบบนั้นน้องจะอยู่กับตัวเองมากกว่าแน่นอนครับ
ซึ่งอาจจะเหมาะกับอุปนิสัยของน้องนะครับ

ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน

ขอให้กำลังใจครับ

อ.วัส ;)...

ถ้าเราเรียนปี1แล้วเราสามารถย้ายสาขาได้ไหมคะ อย่างเช่น ย้ายจากศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา เป็นศึกษาศสาตร์ สาขาคณิตศาสตร์ รบกวนช่วยตอบหน่อยนะคะ

แจ้ง น้อง Mook

การย้ายเอกนั้น ขึ้นอยู่กับกติกา หรือ ระเบียบที่มหาวิทยาลัยของประกาศเอาไว้ครับ

ให้ไปสอบถามสำนักทะเบียนฯ หรือสำนักวิชาการของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่นี้อยู่ครับ

โชคดีครับ ;)...

คือ หนูอยากเข้าคณะนี้ที่ rmutt ค่ะ แต่แม่กลัวไม่มีงานทำ ทำยังไงดีคะ

ขอให้น้อง BB เป็นคนตัดสินใจชีวิตของตัวเองครับ ;)...

ให้กำลังใจนะ

คือผมกำลังเรียนอยู่พอดีเลยครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้และแนวทางในการ

ทำงาน มากๆเลยนะครับ???

#เป็นเนื้อหาสาระที่ดีจริงๆ

--------------------------------------------

? ETC-EDU & RMU???

สวัสดีครับ อ. Wasawat Deemarn

  • ผมอ่านบทความนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว และก็ยังเข้ามาอ่านทุก ๆ ปี ผมก็สงสัยทุกปีที่ผมเข้ามาอ่าน
  • ผมเรียน เทคโนโลยีการศึกษา คบ.5 ปี รหัส 53 น่าจะเป็นหลักสูตร 5 ปี ครั้งแรกของเอกนี้

ต้องยอมรับว่าเอกนี้ ในวิชาที่เรียนมา นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงทุกรายวิชา ทั้งในการฝึกสอน และสอนจริง
ไม่ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการพัฒนาไปมากแค่ไหน ก็ต้องใช้หลักพื้นฐานขององค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง

ของศาสตร์เทคโนฯ ที่ไม่มีในสาขาอื่นๆ ต้องภูมิใจที่เรียนสาขาวิชานี้ ที่สามารถใช้เทคโนโลยีอย่างมีศิลป์

  • ในปัจจุบันผมรับราชการ สอนอยู่ในสังกัดอาชีวศึกษา สาขา การถ่ายภาพ/มัลติมีเดีย

ผมสอนทั้งคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียและด้านโปรแกรมกราฟิกต่าง ๆ ด้วย
ถึงเทคโนจะใกล้เคียงกับคอม แต่สาขานี้มีอะไรที่มากกว่า ถ้าได้เข้ามารู้จัก จะรู้ว่าสาขานี้ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด

สุดท้ายของขอบคุณ อ. เจ้าของบทความ และผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นทุกท่าน
ตอนนี้สาขา เทคโนฯ ยังไม่ตายไปจากประเทศไทย ขอให้น้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ ขอให้ประสบความสำเร็จทุก ๆ ท่าน

</span>

ขอบคุณ คุณครู คมกริช กล้าหาญ ;)...

ช่วยกันเผยแพร่ศาสตร์ของสาขานี้ให้คนทั่วไปได้รู้ครับ

อ.เสกสรร อามาตย์มนตรี

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn เคยเข้ามาแสดงความเหตุที่Topic นี้เมื่อหลายปีก่อน นับว่าเป็น Topic ที่มีประโยชน์และได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันมาอย่างต่อเนื่อง ต้องขอบคุณอาจารย์มากๆที่ช่วยให้ความรู้ ความเข้าใจรวมทั้งแนะนำแนวทางต่างๆให้กับสมาชิกทุกคน ให้กับชาวเทคโนโลยีการศึกษา ถ้ามีโอกาสเราคงได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ขอชื่นชมอาจารย์ครับบบบ

อ.เสก

ขอบคุณท่านอาจารย์ เสกสรร อามาตย์มนตรี มาก ๆ เช่นกันครับผม

ช่วยกันนะครับ ;)...

แอนนาวารี่ แอนนาซุย

สวัสดีค่ะ หนูชื่อ พลอย นะคะ ตอนนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่3 สาขาภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาค่ะ สำหรับสาขานี้ เป็นหลักสูตรครุศาสตร์5ปี เปิดเมื่อปี2557 ตอนแรกๆหนูก็สอบเข้าเรียนในสาขานี้ คือติดแบบ งงๆนะคะ ไม่ได้ตั้งใจ100%ว่าจะเรียนสาขานี้ แต่ตอนสอบ มันเลือกได้4อันดับ ซึ่งสาขานี้ หนูตั้งไว้อันดับที่1 ที่หนูตั้งใจคือสาขาภาษาอังกฤษ ครุศาสตร์ เลยเลือกอันดับที่2 เพราะคิดว่าตัวเองคงคะแนนไม่ถึงที่จะติดอันดับแรกหรอก แต่บังเอิญบวกฟลุ๊ค ที่คะแนนดันแตะอันดับแรกได้ เลยติดสาขานี้ เรียนปีแรก งงๆ เพราะสโลแกนของสาขามีอยู่ว่า " จบออกไปจะต้องเป็นครูภาษาอังกฤษที่เก่งเทคโนฯ และต้องเป็นครูเทคโนฯที่เก่งอังกฤษ " !!! แค่สโลแกน หนูต้องเกือบหงายหลังแล้วค่ะ แต่เรียนไปเรียนมา ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดนะคะ ออกจะสนุกมากๆด้วยซ้ำ ตอนนี้อยู่ปี3 คาดว่าจะจบตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดคือเหลืออีก2ปี แถมสาขานี้คือสาขาที่มีผลงานดีๆหลายอย่างเลยละคะ

ติดตามได้ที่นี่่ลย http://edu.yru.ac.th/engtech/

แอนนาวารี่ แอนนาซุย

สวัสดีค่ะ หนูชื่อ พลอย นะคะ ตอนนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่3 สาขาภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาค่ะ สำหรับสาขานี้ เป็นหลักสูตรครุศาสตร์5ปี เปิดเมื่อปี2557 ตอนแรกๆหนูก็สอบเข้าเรียนในสาขานี้ คือติดแบบ งงๆนะคะ ไม่ได้ตั้งใจ100%ว่าจะเรียนสาขานี้ แต่ตอนสอบ มันเลือกได้4อันดับ ซึ่งสาขานี้ หนูตั้งไว้อันดับที่1 ที่หนูตั้งใจคือสาขาภาษาอังกฤษ ครุศาสตร์ เลยเลือกอันดับที่2 เพราะคิดว่าตัวเองคงคะแนนไม่ถึงที่จะติดอันดับแรกหรอก แต่บังเอิญบวกฟลุ๊ค ที่คะแนนดันแตะอันดับแรกได้ เลยติดสาขานี้ เรียนปีแรก งงๆ เพราะสโลแกนของสาขามีอยู่ว่า " จบออกไปจะต้องเป็นครูภาษาอังกฤษที่เก่งเทคโนฯ และต้องเป็นครูเทคโนฯที่เก่งอังกฤษ " !!! แค่สโลแกน หนูต้องเกือบหงายหลังแล้วค่ะ แต่เรียนไปเรียนมา ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดนะคะ ออกจะสนุกมากๆด้วยซ้ำ ตอนนี้อยู่ปี3 คาดว่าจะจบตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดคือเหลืออีก2ปี แถมสาขานี้คือสาขาที่มีผลงานดีๆหลายอย่างเลยละคะ

ติดตามได้ที่นี่่ลย http://edu.yru.ac.th/engtech/

สุดยอดเลย น้อง แอนนาวารี่ แอนนาซุย ;)...

ขอบคุณที่มาแชร์ประสบการณ์ในบันทึกนี้นะครับ

สู้ ๆ ครับ ขอให้นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปนะครับ

ผมจบสาขาเทคโนโลยีการศึกษา เมื่อปี 38 ไปทำงานหลายที่ทั้งราชการ (ลูกจ้างชั่วคราว) และ เอกชน ทุกที่เขาก็ชอบเพราะทำงานได้ทุกอย่าง แต่ที่สำคัญคือ เงินเดือนไม่ขึ้นให้ (เท่าเดิมตลอด) แต่ปัญหาคือ หน่วยงานราชการ แทบจะไม่มีเปิดรับเลย หางานยากมาก (ใครเรียนสาขานี้ทำใจไว้เลยครับ) เลยมาเปิดร้านเอกสาร โรงพิมพ์ขนาดเล็ก ตอนแรกก็ดี แต่ปัจจุบันการแข่งขันสูง โรงพิมพ์เล็กๆ อยู่ยาก แล้วอายุมากแล้ว จะไปหาสอบก็ยาก แทบจะไม่มีที่ไหนรับเลย ผมว่าควรยุบสาขานี้ได้แล้ว ใจผมชอบสาขานี้นะ แต่สำคัญไม่มีงานทำครับ รัฐบาลเหมือนให้ประชาชนมีที่เรียน แต่เมื่อจบไม่มีงานทำ ผลสุดท้าย เด็กๆ ตกงาน เป็นภาระที่เด็กต้องหางานเอง เหมือนแค่มีใบประกาศว่า กูเรียนจบมหาลัยแล้วก็เท่านั้น นี่แหละประเทศไทย

ผมจบสาขาเทคโนโลยีการศึกษา เมื่อปี 38 ไปทำงานหลายที่ทั้งราชการ (ลูกจ้างชั่วคราว) และ เอกชน ทุกที่เขาก็ชอบเพราะทำงานได้ทุกอย่าง แต่ที่สำคัญคือ เงินเดือนไม่ขึ้นให้ (เท่าเดิมตลอด) แต่ปัญหาคือ หน่วยงานราชการ แทบจะไม่มีเปิดรับเลย หางานยากมาก (ใครเรียนสาขานี้ทำใจไว้เลยครับ) เลยมาเปิดร้านถ่ายเอกสาร โรงพิมพ์ขนาดเล็ก ตอนแรกก็ดี แต่ปัจจุบันการแข่งขันสูง โรงพิมพ์เล็กๆ อยู่ยาก แล้วอายุมากแล้ว จะไปหาสอบก็ยาก (จำกัดทั้งอายุ และสาขาที่รับสมัครทำงาน) แทบจะไม่มีที่ไหนรับเลย (ถ้ามีรับสมัคร ก็มีคนอยู่แล้ว) ผมว่าควรยุบสาขานี้ได้แล้ว ใจผมชอบสาขานี้นะ (รักมันด้วย) แต่สำคัญไม่มีงานทำครับ รัฐบาลเหมือนให้เด็กมีที่เรียน แต่เมื่อจบไม่มีงานทำ ผลสุดท้าย เด็กๆ ตกงาน เป็นภาระที่เด็กต้องหางานเอง เหมือนแค่มีใบประกาศว่า กูเรียนจบมหาลัยแล้วก็เท่านั้น นี่แหละประเทศไทย ปัจจุบัน ปื 2562 แล้ว ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

ในห้วง ๑๐ ปีหลังมานี้ ด้วยนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ความสำคัญของสาขานี้ หางานยากขึ้น ถ้าหากต้องการงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือนจริง ๆ ยากมาก

ทั้ง ๆ ที่มันยังคงมีความสำคัญกับสถานศึกษาทั่วประเทศ แต่รัดถะกลับมองไม่ค่อยเห็น

ไปมองเห็นอีกสาขาหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกัน และรัดถะคิดว่าเหมือนกัน แต่คนละเรื่อง

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับผม ;)…

สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูมีโอกาสได้อ่านบทความนี้มานานแล้วค่ะ วันนี้มาอ่านอีกครั้ง เพราะกำลังสนใจจะต่อ ป.โท เทคโนฯอยู่ค่ะ หนูก็เป็นคนนึงที่เรียนจบครุศาสตร์เทคโนโลยี ค.อ.บ (ต่อเนื่อง 2 ปี) จบมาจะ 10 ปีแล้วค่ะ เป็นสาขาเป็ดที่ภูมิใจมากค่ะ รอบรู้ ทำได้ทุกอย่าง แต่อาจจะไม่ได้เก่งที่สุด สนใจอะไรก็ไปต่อยอดเพิ่มเติมได้นะคะ

ตอนเข้าไปเรียนเพราะน่าสนุกดี เหมือนเรียนนิเทศเลย มีคอมกราฟิกด้วย ตอนนั้นจบ ปวส. คอมพิวเตอร์ธุรกิจมา ยังเด็กไม่ได้คิดว่าเรียนๆไปแล้ว ดันอยากเป็นครู ซาบซึ้งในวิชาชีพ แต่จบมาไม่ได้ใบ

เส้นทางเป็นครูยากลำบากสุดๆค่ะ ตอนจบใหม่ทำงานเป็นครูคอมของบริษัทผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ ลักษณะเหมือน outsource ไปสอนตาม รร. เพราะไม่กล้าไปสมัครครูคอมใน รร. ค่ะ เขาปฏิเสธบอกว่าไม่มีใบประกอบฯ จบไม่ตรงเอกคอมบ้างละ ป.บัณฑิตก็เรียนไม่ได้ เพราะเราเป็นครูบริษัทค่ะ ตอนนั้นเขาสงวนไว้ให้ครูที่ทำงานใน รร เท่านั้น ที่ทำได้ก็แค่เทียบโอน สอบ และมีเปิดอบรมมาตรฐานวิชาชีพค่ะ จนได้ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนมาค่ะ ยังไม่พอค่ะ เอกเทคโนฯ เปิดสอบน้อยมาก แล้วรับน้อย เรียกสุดๆ ต่อสู้ อดทน กัดฟัน อ่านหนังสือ

ตอนนี้ได้บรรจุเป็นข้าราชการครู เอกเทคโนโลยีทางการศึกษาแล้วค่ะ ได้สอนคอม ได้ถ่ายภาพ เวลาทำงานเหนื่อย ก็นึกถึงสิ่งที่เราได้พยายามมาทั้งหมด มันก็ทำให้มีกำลังใจค่ะ ว่าที่ผ่านมามันไม่ง่ายเลย ปัญหาแค่นี้เราก็ต้องผ่านไปได้ รู้สึกรักวิชาชีพนี้มากค่ะ อาจารย์

ขอแสดงความชื่ืนชม น้อง [email protected] มาก ๆ นะครับ

ที่อุตส่าห์ฝ่าฟันกว่าจะได้เป็น “ครูเทคโนฯ” กับเขา ๑ คน

ขอให้เราช่วยกันรักษาวิชาชีพนี้ต่อไปด้วยความรักนะครับ

บุญรักษา นะครับ ;)…

สวัสดีค่ะอาจารย์ อยากถามว่าถ้าจบ ศษ.บ.เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หลักสูตร 4 ปี สามารถเป็นครูอะไรได้บ้างคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ อยากถามว่าถ้าจบ ศษ.บ.เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หลักสูตร 4 ปี สามารถเป็นครูอะไรได้บ้างคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ อยากถามว่าถ้าจบ ศษ.บ.เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เหลักสูตร 4 ปี สามารถเป็นครูอะไรได้บ้างคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ อยากถามว่าถ้าจบ ศษ.บ.เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หลักสูตร 4 ปี สามารถเป็นครูอะไรได้บ้างคะ

ตอบน้อง jirawan ว่า ก็สามารถเป็น “ครูสอนคอมพิวเตอร์” ได้ เพียงแต่ว่าต้องกลับไปเช็ครายวิชาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น เก็บได้ถึง 18 หน่วยกิตหรือยัง เพราะบางเขต บางโรงเรียน กำหนดเงื่อนไขไว้แบบนั้นครับ แต่ถ้าเข้าไปสอนโรงเรียนเอกชน ก็จะไม่มีเงื่อนไขนี้

สวัสดีค่ะหนูเป็นเด็ก65ค่ะ คือหนูสนใจสาขานี้มากๆเลยค่ะ แล้วเท่าที่หนูอ่านเม้นท์มาทั้งหมดหนูชอบค่ะ ชอบวิชาที่ต้องเจอ แล้วหนูอยากรู้ว่าถ้าหนูเรียนหลักสูตร 4 ปี หนูสามารถเป็นครูสอน ปวช.ได้มั้ยคะ หรือหนูต้องสอบใบอะไรอีกคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท