คณิตศาสตร์การเงิน: สี่ปีของการอ่านหนังสือ "(จะเลือก) เงินหรือชีวิต"


เนื้อหาในหนังสือ 

หนังสือเล่มนี้ (รายละเอียดข้างท้าย) ผมอ่านตั้งแต่หลายปีก่อน และรู้สึกว่า เขียนได้ดี เพราะเขาไม่ได้พูดถึงเรื่อง "จะรวยอย่างไร" หรือ "หาเงิืนอย่างไร" แต่เป็นการถกเรื่อง "วางแผนการเงินอย่างไร ให้ชีวิตมีอิสรภาพ" หรือจะกล่าวว่า เป็นเรื่องของความฉลาดทางการเงินที่สามารถผสานกับวิถีชีวิตได้อย่างนุ่ม เนียน โดยแปลงให้ เงิน=เวลา และ เวลา=ชีวิต

ภาพรวมที่หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้ต้องฉุกคิดคือ หากเรามีท่าทีเย็นชา (ยโส) ต่อเงิน มากเกินไป จนไม่คิดวางแผนใด ๆ หรือ เร่าร้อน (งก) ต่อเงินมากเกินไป จนไม่คิดชีวิต  เราจะพลัดเข้าสู่วิถีที่เงินจะมาเป็นนายเหนือหัว "ถูกเงินเหยียบหัว"

หนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า มีแต่ทางแห่งความสมดุล ที่จะทำให้เราสามารถไต่ขึ้นพ้นอิทธิพลของเงินได้ในระยะยาว คือใส่ใจอย่างฉลาดแบบพอดี ๆ ตั้งแต่ต้น (หรือไม่งั้น ยิ่งเร็วได้ ก็ยิ่งดี) ไม่ต้อง งกมาก เค็มมาก แต่ก็ต้องรู้จักประมาณตัว

ฟังดูเหมือนแย้งกันในที แต่ผมเห็นจากประสบการณ์ตรงของตัวเองจริง ๆ ว่า คนที่เย็นชาตอนต้น มักต้องร้อนรุ่มตอนหลัง คือมาทุรนทุรายตอนเวลาใกล้หมด เพราะเพิ่งตาสว่างว่า ถ้าวันไหนหมดงาน ก็หมดเงิน และไม่มี "ก๊อกสอง" มาสำรองพยุงไว้ เพราะคิดว่า มาตรการต่าง ๆ ที่เป็นสวัสดิการระยะยาว จะพอ ตอนหนุ่มสาว ก็ใช้ซะเพลิน เพราะคิดว่าตัวเองอยู่เหนือกฎแรงโน้มถ่วงทางการเงิน ที่เห็นยโสเย็นชาตอนแรก ลงท้าย ที่แท้เป็นการปิดหูปิดตาตัวเอง หนีปัญหา

จึงกลายเป็นว่า พอแก่ตัวลง ตาสว่าง ต้องวิ่งวุ่นรับจ๊อบ-เปลี่ยนพฤติกรรม เห็นแล้วชวนโศกศัลย์รันทดเลย

ในมุมกลับ คนที่ร้อนตั้งแต่ต้น ก็มักจะร้อนไปตลอดชีวิต ประเภท ยิ่งรวย ยิ่งงก บางคนก็ ยิ่งรวย ยิ่งโกง

เขาจึงย้ำว่า อย่าใช้ท่าทีดูถูกเงิน แต่ก็อย่าสยบยอมเงิน

เขาเริ่มจากการสอนให้แกะรอยการเงินตัวเอง คือ ตามดูการเข้า-ออก ของเส้นทางเงินที่ผ่านมาในชีวิต ตามดูว่า มันแปลงร่างเป็นอะไร จะได้มา ต้องใช้พลังชีวิตไปแลกมาอย่างไร ดูตนเองใช้เงินอย่างมีสติ แล้วสมดุลก็จะเกิดเองได้

เหมือนการทำสมาธิภาวนา คือ ใช้สติที่เป็นการรู้เท่าทัน มองตนเองให้ทันว่าทำอะไร เพราะอะไร มองเฉย ๆ ไม่ต้องตัดสิน มองเฉย ๆ เพื่อให้รู้เท่าทัน ไม่ใช่เพื่ตัดสิน ทำไปนาน ๆ ก็สามารถเขยื้อนเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองได้

วิธีที่เขาทำกับการมองวิถีการเงินก็คล้ายกัน คือ

จดโดยไม่ตัดสินว่าตัวเองดีหรือเลว ที่ใช้เงินอย่างนั้น

แต่จด เพื่อมองเห็นตัวเอง แล้วการเปลี่ยนแปลงสู่สมดุล จะเกิดตามมาเอง

แล้วเขาให้ดูสถิติรายเดือนย้อนหลังไปหลาย ๆ ปี จะได้เห็นภาพรวมชัด และจะรู้เลยว่า ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงที่ควรเป็นของเรา คือเท่าไหร่ จะได้วางแผนออมเงิน/ลงทุนต่อได้อย่างเหมาะสมกับตัวเอง

ท้ายเล่ม เขาพูดถึงเรื่องบริหารเงินเพื่อการอยู่ได้ยั่งยืนในระยะยาว (ซึ่งช่วงท้าย ผมอ่านแบบไม่เชื่อเท่าไหร่ แต่ก็คิดว่า พอกล้อมแกล้ม)

 

สี่ปีของการประยุกต์ใช้ 

อ่านแล้วตอนแรก ผมก็ว่า เอ๊ะ น่าสนใจ

ก็ลองบันทึกค่าใช้จ่ายดู แยกเป็นหมวด ๆ 

ก็เห็นชัดว่า ตัวเองใช้จ่ายตรงไหนมากไป ตรงไหนน้อยไป

จริงของเขา พอเห็นรายละเอียดชัด ก็ทำให้พฤติกรรมใช้เงิน มีความสมดุลขึ้น คือ จ่ายเพื่อสาระ และจ่ายเพื่อไร้สาระ เริ่มมีสัดส่วนที่เสถียรขึ้น (ซึ่งสัดส่วนนี้ คงขึ้นกับเงื่อนไขเฉพาะตัวของแต่ละคน) คือ ไม่แนะนำให้ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่แนะนำให้รัดเข็มขัดตัวกิ่ว เน้นคำว่า พอดี และ สมดุล

เพื่อให้การจดง่าย ก็อาจแบ่งหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายที่เหมาะกับตัวเอง

ผมเองใช้หัวข้อใหญ่คร่าว ๆ ดังนี้ (จริง ๆ ใช้ต่างจากนี้นิดหน่อย แต่มีรายละเอียดเฉพาะตัวที่ส่วนตัวไปหน่อย ขอปรับให้เป็นกลาง ๆ)

  1. ภาษี
  2. รายจ่ายพื้นฐาน (กิน ซ่อมบำรุงรักษา)
  3. รถ (ซ่อมบำรุง, น้ำมัน, ภาษี)
  4. บันเทิง (กิน ดูหนัง เพลง เที่ยว)
  5. สุขภาพ (ประกัน ยา รักษาโรค)
  6. ลงทุนความรู้ (หนังสือ คอมพิวเตอร์ อบรม)
  7. สื่อสาร
  8. ซื้อความสะดวก (จ้างในสิ่งที่ตัวเองพอทำได้ แต่ไม่อยากทำเอง)
  9. แบ่งปัน (ญาติ/ทำบุญ)
  10. ภาษีสังคม (งานตามวโรกาส)
  11. จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้
  12. จ่ายคืนเงินต้นหนี้

ถ้าสังเกตให้ดี ผมไม่ได้ยุ่งเรื่องการบันทึก เงินออม หรือ การลงทุน เพราะเป็นเรื่องอื่นแยกออกไปจากเรื่องค่าใช้จ่าย  และข้อ 11 และ 12 เพิ่มมาสำหรับคนที่มีการกู้หนี้ยืมสิน/ผ่อนชำระหนี้

ผมทำเป็นซอฟท์แวร์ใช้เอง แต่จากประสพการณ์ของตัวเอง ลงกระดาษก็ไม่ได้ยาก (ช่วงแรกผมจดในกระดาษ) ืแต่ละเดือน ก็ใช้กระดาษหน้าเดียว ตีเป็นสิบกว่าช่อง ช่องแรกอาจใส่วันที่ ช่องสุดท้ายเป็นหมายเหตุ แต่ละช่องก็เป็นตามสิบกว่าข้อข้างบน (บางคนปรับไำปทำในกระดาษทดอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ผิดกติกา) โดยหัวข้อเหล่านี้ ปรับเปลี่ยนเองตามใจชอบ แต่ละเอียดกว่านี้ อาจทำให้ลายตา 

ตัวอย่างหน้าจอของการจดบันทึกในกระดาษ หรือ กระดาษทดอิเล็กทรอนิกส์ (ผมเคยใช้แบบลงกระดาษเมื่อหลายปีก่อน)

 

โดยเวลาลงรายการ อาจลงแบบไม่ตายตัว เช่น

ไปทานข้าวนอกบ้าน เวลาบันทึก ผมอาจแยกส่วนสาระ (ทำให้อิ่ม คุณค่าทางอาหาร) ออกจากส่วนไร้สาระ (ร้านหรู) เช่น กินมื้อเที่ยงร้านอร่อยในเมือง จ่ายไป 100 บาท ผมอาจลงว่า ใช้จ่ายพื้นฐาน (อาหาร) 50 บาท และบันเทิง (อาหาร) 50 บาท

หรือซื้อหนังสือมาเล่มเดียว แต่เวลาลง อาจลงว่า เป็นลงทุนความรู้ซะครึ่งนึง บันเทิงอีกครึ่งนึง หรือ บันเทิงล้วน หรือ ความรู้ล้วน ก็แล้วแต่ว่า เป็นหนังสือที่ซื้อมาอ่านเพื่ออะไร

จดให้ตัวเองเห็น เป็นกระจกเงาชีวิต จดให้ตัวเองดู ไม่ต้องไปคำนึงถึงทฤษฎีอะไรให้มากความ หากคิดว่า หัวข้อไหนไม่ดี จะลด หรือเพิ่ม ใครจะกล้าแหยม ? 

ผลของการจด ทำให้ผมเห็นด้านที่ขาดหายไปของการใช้จ่าย และปรับตัวสู่สมดุลได้ง่ายขึ้น

สี่ปีของการประยุกต์ใช้หนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่า ไม่ผิดหวังครับ เป็นการลงทุนซื้อที่ "ยิ่งกว่าคุ้ม" และใช้เป็นของขวัญปีใหม่ได้สบาย

 

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เกี่ยวกับคณิตศาสตร์การเงินตรงไหน ?

เกี่ยวสิครับ

เราจดค่าใช้จ่าย เราต้องบวกเลข ถูกไหมครับ ?

คณิตศาสตร์ดี ๆ นี่เอง

จริงไหมครับ ?

อัจฉริยะจำนวนมาก ล้มเหลวในการใช้ชีวิต เพราะคิดว่า ชีวิต ต้องเจอแต่คณิตศาตร์ที่ลึกสุดหยั่ง ลึกแบบไร้ก้นบึ้ง

และมองข้ามไปว่า ชีวิตส่วนใหญ่ ถูกกำหนดจากคณิตศาสตร์พื้น ๆ  การบวก และการลบเลข แค่นั้นเอง

 

 

 

ข้อมูลหนังสือ

"(จะเลือก) เงินหรือชีวิต | เปลี่ยนทัศนคติต่อเงิน สู่อิสรภาพของชีวิต " เขียนโดย โจ โดมิงเกซ และ วิกกี้ โรบิน แปลโดย พล วงศ์พฤกษ์ และมี นวลคำ จันภา เป็นบรรณาธิการ ของมูลนิธิโกมลคีมทอง

 

หมายเลขบันทึก: 152915เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2007 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ

  • เรื่องเงินทองๆ สำคัญจริงๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ถ้าเดินผิด ก็มีปัญหารุงรังไปตลอด
  • ก่อนนี้ไม่เคยทำบัญชี พอมาทำบัญชีค่าใช้จ่าย รู้สึกว่าสบายใจขึ้นมาก
  • ปกติผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือแนวนี้ แต่คิดว่าจะลองไปหาดูครับ

นักเศรษฐศาสตร์จะอาศัยเงินเป็นตัวตั้งในการคิด ส่วนนักสังคมศาสตร์จะอาศัยวิถีชีวิตที่สงบสุขเป็นตัวตั้ง ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้อะไรเป็นตัวตั้งในหลักคิดของเรา เพราะหลักคิดคือเป้าหมายชีวิต ถ้าเราใช้เงินเป็นตัวตั้งนั่นแสดงว่า เราเริ่มเอนเอียงสู่วิถีทุนนิยม แต่ถ้าเราใช้วิถีชีวิตที่สงบสุข นั่นคือเรามุ่งสู่คำว่าสังคมนิยม ที่ยึดชีวิตจิตใจเป็นสรณะ ถามว่าถ้าจะยึดด้านใดด้านหนึ่งได้ไหม ต้องถามกลับไปว่า "แล้วคุณใช้ชีวิตอย่างไรละ"

ชีวิตผู้คนที่บ้านผมในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในอดีตเงินแทบจับจ่ายใช้สอยไม่ได้ มีคำพูดติดตลกว่า "แบ็งค์ร้อยกั้นข้าว" นั่นหมายถึงถ้าคุณถือแบ็งค์ร้อยไปหาซื้อของบนดอย ชาวบ้านจะปฏิเสธในการขายของ เพราะ เขาไม่รู้จักแบ็งค์ร้อย เขาไม่เห็นคุณค่าแบ็งค์ร้อย เขาไม่มีเงินทอน แต่ถ้าคุณนำยาสูบที่ติดไม้ติดมือไปแลกกับไก่ 1 ตัว ชาวบ้านจะยินดีตอบสนองให้กับคุณทันที

วิถีชีวิตอย่างนี้เรียกว่าวิถีชีวิตที่สงบสุข ที่ยึดชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ยึดเงินเป็นตัวตั้ง ผมอยากย้อนยุคกลับไปสมัยเป็นครูใหญ่อยู่บนดอยเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เชื่อไหมปัจจุบัน ชาวเขาต้องวิ่งหนีเข้าป่าเพื่อหลบเจ้าหนี้จากธนาคารต่างๆที่ตามไปทวงหนี้ ที่เรียกว่า พวกเสื้อแดงนั่นแหละ

อาจารย์เก

 

สวัสดีครับ คุณ P  ธ.วั ช ชั ย

  • สมัยก่อน ผมรู้สึกว่า จดเรื่องพวกนี้ ก็คล้ายออกกำลังกาย
  • คือ มองว่า ยาก และ ไม่รู้ทำไปทำไม
  • แต่เมื่อได้ทำกับตัวเอง เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นแบบทำให้ตาสว่าง ก็มองเปลี่ยนไป
  • คือ ไม่รู้จะตกที่นั่งยังไง ถ้าไม่ได้ทำ

 

สวัสดีครับ P  อาจารย์เก

 

  • ชื่อแปลกจังครับ
  • ฟังวิถีชีวิตที่อาจารย์เล่า แล้วบอกไม่ถูกเลยครับ ว่าช่างเปลี่ยนอะไรกันมหาศาลปานนั้น
  • การย้อนยุค คงเป็นไปได้ยาก
  • แต่การ ตื่นมาเผชิญปัจจุบัน ว่าเรามีเหลือแต่อนาคต อาจจะยากกว่ากระมังครับ ?
  • การไปสู่วิถีชีวิตที่ไม่ได้เลวร้ายกว่าอดีต อาจขึ้นกับวิธีที่มองว่า เงินคืออะไร...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท