การเรี่ยไร บอกบุญ....ต้องมีกติกา


                        วันนี้ (๑๑ ธันวาคม  ๒๕๕๐) ผมนัดหมายเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก เพื่อพูดคุยแผนการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศอินเดีย เนปาลของคณะสงฆ์จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด  การเดินทางครั้งนี้จะมีคณะผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดพิษณุโลกทั้ง ๔๒ โรงร่วมเดินทางไปด้วย  ผมในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานโครงการนี้จึงต้องไปพูดคุยเรื่องกำหนดวันเวลาในการเดินทาง หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเป็นวันที่ ๒๑-๒๘  มกราคม  ๒๕๕๑  หลังจากที่ผมได้พูดคุยกันเป็นที่เข้าใจแล้วก็ชวนเพื่อนรุ่นพี่ที่ทำงานบนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดไปทานอาหารกลางวันหลังศาลากลางจังหวัด เป็นจังหวะเดียวกับท่านนายอำเภอเมืองพิษณุโลก ( นายวัฒนะ  กันนะพันธุ์) เดินเข้าร้านข้าวแกงพร้อมกัน ก็คารวะด้วยเคารพ และนั่งรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันโดยมิได้นัดหมายล่วงหน้า  เอาเป็นว่ามื้อกลางวันนี้ท่านนายอำเภอกรุณาเป็นเจ้าภาพด้วยความขอบพระคุณครับ  ขณะนั่งรับประทานอาหารกลางวัน ก็มีเจ้าหน้าที่ของสมาคมการกุศลแห่งหนึ่งจากต่างจังหวัด เดินเข้ามาขอรับบริจาคเงินตามศรัทธา  ท่านนายอำเภอก็เลยถามว่า ใครอนุญาต มีหลักฐานหรือเปล่า ท่านก็ขอดูหลักฐานอนุญาต เจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็นำสำเนาหนังสือมาให้ ปรากฏว่าไม่ถูกต้อง

                         ท่านนายอำเภอก็บอกให้เจ้าหน้าที่ไปบอกหัวหน้าชุดที่นำพวกเขามาเรี่ยไรว่าดำเนินการมาอย่างไร  ท่านบอกว่าคนที่อนุญาตนั่งอยู่นี่ไม่เห็นรู้เรื่องเลย  การอนุญาตให้เรี่ยไรในพื้นที่ที่ตั้งอำเภอนั้นเป็นอำนาจของนายอำเภอท้องที่ ....จึงเป็นเรื่องใหม่ที่ผมได้เรียนรู้   ไม่ว่าองค์กรสมาคมฯ มูลนิธิ หรือวัด ฯลฯ  ที่ตั้งอยู่ในท้องที่หรือนอกท้องที่อำเภอ หากประสงค์จะเรี่ยไรบอกบุญการกุศลต่างๆ ต้องทำหนังสือขออนุญาตไปยังนายอำเภอท้องที่ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วค่อยดำเนินการได้ โดยมีวัตถุประสงค์และเงื่อนเวลาในการเรี่ยไร บอกบุญ ด้วย การเรี่ยไร บอกบุญ นั้นเป็นวิธีการระดมทรัพยากรขององค์กรการกุศลต่างๆ  โดยมีจุดมุ่งหมายเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง  คนไทยเราคุ้นชินกับการเรี่ยไร บอกบุญ จึงมีทั้งช่วยเหลือเกื้อกูล หรือบอกปฏิเสธ  เพราะสังคมปัจจุบันมีทั้งคนดีและคนเลว  การไว้วางใจจึงต้องดูว่าการบอกบุญ เรี่ยไร นั้น มีคนที่เรารู้จักเคารพ  เป็นคณะกรรมการนั้นๆหรือไม่  หรือองค์กรการกุศลนั้นเรารู้จักดีแค่ไหน หากไม่ชัดเจน ก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะตอบปฏิเสธการบริจาคได้ จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนตัดสินใจทำบุญ

                        หลังจากนั้นผมก็พูดคุยกับท่านนายอำเภอถามทุกข์สุขท่านว่าย้ายมาอยู่อำเภอเมืองพิษณุโลกเป็นอย่างไรบ้าง  ผมรู้จักและเคารพท่านตั้งแต่ท่านเป็นนายอำเภอนครไทย,วังทอง   ท่านเล่าให้ฟังว่า  ย้ายมาอยู่ในเมืองซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตรอบนอก  เพราะอยู่กับบ้าน  มีเพื่อนและญาติเยอะ การทำงานก็อาจจะว่าสบายก็สบาย แต่ในความเป็นจริงก็ต้องระวัง เพราะความเป็นเพื่อนและญาติ  ซึ่งกรณีเช่นนี้ ก็เสมือนกับผู้ประกอบอาชีพอัยการ   ผู้พิพากษา   ตำรวจ และหลายอาชีพ ที่มักจะไปทำงานไกลบ้าน..ผมฟังท่านแล้วก็เข้าใจในความรู้สึก..ยังนึกเลยว่า อาชีพครูน่าจะดีที่สุด เพราะทำงานเพื่อการพัฒนาคน ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่จะทำให้เราต้องลำบากใจ ครูส่วนมากจึงทำงานใกล้บ้านมากกว่าไกลบ้าน....สวัสดีครับ.
หมายเลขบันทึก: 152908เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2007 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะท่าน ผอ.

  • ครูอ้อย อยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก  จำได้ว่า ชอบเล่นกับเพื่อนๆ  โดยตัวเองเป็นครู
  • และเริ่มเป็นครูสอนน้องๆ  และเริ่มมีเงินเดือนตั้งเรียนชั้น มศ.3 ค่ะ
  • ครูอ้อย คิดไม่ออกว่า  หากครูอ้อยไม่เป็นครู  แล้วจะเป็นอะไร
  • อาชีพอีกอาชีพหนึ่งที่อยากเป็นคือ....  นางพยาบาลค่ะ
  • มีคนบอกว่า  การเป็นครู เท่ากับได้ทำบุญทำกุศล แล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณค่ะท่าน ผอ.

เคยดูข่าวว่ามีพวกเรี่ยไรที่แอบอ้างเป็นตัวแทนของมูลนิธิต่างๆ มาขอบริจาค หรือ ขอให้ร่วมทำบุญ โดยกลุ่มคนพวกนี้ทำเอกสารที่ได้รับการอนุญาตมาแสดงให้ดูเสมอว่า เขาไม่ได้หลอกลวง ซึ่งจริงๆแล้วเราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม ทำให้ไม่อยากทำบุญ เพราะเหมือนกับไปส่งเสริมคนกลุ่มนี้ทำบาป แต่เมื่อได้ฟังการบรรยายธรรมจากท่าน ว.วชิรเมธีแล้ว ก็มีแนวคิดอีกอย่างหนึ่งว่า หากอยากจะทำบุญ ก็ให้ทำบุญไปเถิด ให้นึกเสียว่าเราทำบุญกับพระพุทธเจ้า  ไม่ต้องคิดมาก จะได้สบายใจ ส่วนเขาจะหลอกลวงเรารึเปล่านั้น เขาก็จะได้รับผลกรรมที่เขากระทำเอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท