ตบตีฐานธรรมดา ลิเกดาราลิเกการเมือง


บทนำเสนอ มุมมองต่อความเข้าใจในการแก้ปัญหาของผู้คนในสังคมไทย ต่อโจทย์เรื่องมายาภาพ ความเป็นมายา ตัวตนของดารา และนักการเมืองไทย ว่ามีองค์ประกอบชวนคิดเช่นไร ต่อวิธีคิดการวางตนและขั้นตอนการหาหนทางเพื่อไปสู่ทางออก

ตบตีฐานธรรมดา ลิเกดาราลิเกการเมือง

ภาพสะท้อนหนึ่งทางมานุษยวิทยาในโลกหลังสมัยใหม่

มักอธิบายความสัมพันธ์อันมากมาย

ให้มากกว่าการเก็บกด ปิดกั้น ผลิตซ้ำ

 

 

เพื่อให้สามารถก้าวเกินไปกว่าการเป็นผู้สังเกตุการณ์ เพราะเข้าใจโดยถกเถียงว่า สุดท้ายผู้สังเกตุการณ์ ก็กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว เช่นเดียวกับวัตถุ สิ่งของ ผู้คน สังคม ความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว อาจกลับกลายเป็นผู้สังเกตุการณ์ได้แทนที่

ไม่ใช่นักวิจัยจะมานั่งสังเกตุผู้อื่นเพียงลำพัง

ผู้อื่นในฐานะวัตถุวิจัยก็กำลังสังเกตุนักวิจัยเช่นกัน

เช่นเดียวกับความจริงในโลกปัจจุบันของการสลับที่สลับทาง

ความพยายามเพื่อค้นหาภูมิธรรม และรากเหง้าทางปัญญา ในแต่ละศาสตร์แขนงวิชา เพื่อมาหลอมมาโฮะมารวม ให้กลายเป็นสหวิทยาวิชาการนั้น คือมิติที่ได้รับการยอมรับว่า อาจสามารถปิดช่องว่างในการศึกษาได้มากขึ้น

การเพ่งเจาะมอง สลับที่สลับทางไปตามแต่ความเข้าใจ

จึงกลายเป็นบทนำเสนอ

ผ่านมุมมองแห่งโลกที่กลายเป็นเวทีโรงใหญ่

คำจำกัดความของโลกคือละคร ในนิยามแห่งหนุ่มเขย่าหอก อาจสามารถหรือไม่สามารถตามแต่ความเข้าใจ บ่อยครั้งตีความเพื่อสร้างความเข้าใจได้ บ่อยครั้งอธิบายไปก็ไม่เข้าใจ หมุนวนก็มาก เลอะเลือนก็เยอะ ไม่ใช่ก็หลายครั้ง

ฝั่งนักวิจัยสำนักศิลปะวัฒนธรรม ในทศวรรษที่ผ่านมา

มักพยายามอธิบายโลกมานุษยวิทยา

จากคำดาษดื่นในวิถีประจำวันของสังคมไทย ว่าเป็นขุมทรัพย์ของการสะท้อนสิ่งซึ่งซ่อนเร้นอยู่ อธิบายได้ถึงรากวิธีคิด ความเข้าใจต่อโลก การมองเห็นผู้คนด้วยกัน หรือกระทั่งคำเพียงกี่คำ หมายถึงกรอบบรรทัดฐาน เพื่อจัดลำดับความสัมพันธ์ทางสังคมไทยด้วยซ้ำไป

 

 

แค่ระบำละเม็งละคร ที่ร้องรำร้องเล่น

กับพฤติกรรมคำว่าเล่นการเมือง

ก็ได้รับการเชื่อมโยงเพื่อให้เห็นถึงความสอดคล้องต้องกัน ในขณะที่บทวิพากษ์แบบการจัดการอุตสาหกรรม บริหารธุรกิจสมัยใหม่ในฝากตะวันตกดิน อธิบายถึงความไม่จริงจัง ไม่มุ่งมั่น และไม่เข้าใจในวินัยจริยธรรมความโปร่งใสธรรมาภิบาล ด้วยการระบุว่า นักการเมืองเอาแต่เล่นการเมือง

ดังนั้นบ้านเมืองไทยจึงมีการเมืองอันไม่จริงจัง

ด้านหนึ่งได้รับการอธิบายย้อนกลับว่า ในโลกแห่งมายา เมื่อเปลือกแห่งความจริงไม่ใช่โลกปัจจุบัน ภูมิธรรมดั้งเดิมจึงได้สอนเราไว้ในคำ ให้เข้าใจว่า โลกนี้ไม่เที่ยงแท้ ดังนั้นเมื่อเข้ารับบทบาท ก็เล่นในตามบทบาทนั้น เมื่อหมดหน้านาหมดหน้าตักหมดโอกาส ถึงคราได้ถอดหัวโขนก็ถอดให้หมด

เมื่อไม่ใช่บทเล่น ก็เลิกเล่น

เมื่อไม่ใช่บทร้อง ก็เลิกร้อง

อย่าพึงยึดติด ผูกมัด ผูกพัน เพราะสิ่งอันปรากฎล้วนไม่ใช่ของเราไปตลอดกาล เมื่อวันเวลาผันผ่าน เราก็ต้องผ่านไปเช่นกัน เมื่อคราวยศฐาบรรดาศักดิ์ลาภยศสักการได้มา ก็ถึงคราวที่ออกไปจากชีวิตเช่นกัน

ดังนั้นโลกซ้อนทับของบทวิพากษ์เพียงคำไท

จึงกลายเป็นเวทีที่น่าสนใจตลอดทศวรรษของการค้นหาปมซ่อน ค้นถึงเบื้องลึกแห่งปมทางสังคม ซึ่งฝังรากในวิธีคิด อันจะส่งผลต่อความพยายามเพื่อคาดเดาทิศทางของสังคมไทยในอนาคต

 

 

แค่เพียงการถอดหัวโขนไม่ออก

เลิกเล่นไม่เป็น

กลับกลายเป็นมายาการที่กดทับ ระหว่างสองโลกอย่างช่วยไม่ได้ ระหว่างโลกแห่งธรรมาภิบาล ที่เราประกาศนักประกาศหนา ถึงภูมิธรรมแห่งฝรั่งดั้งขอ ว่าอาจกอบกู้มนุษย์สู่แดนศิวิไลได้

 

 

แต่ในความจริง เรายังต้องกินยาเท่ากำมือ

ยังต้องนั่งกุมขมับปรึกษาจิตแพทย์

แล้วท่องคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง

ขณะที่ในใจนึกถึงคำว่ารวยอยู่เต็มสมอง

ขณะที่นักการเมืองบ้านนี้ ดาราเมืองนี้ พร้อมจะออกมาตบตี ร้องตะโกนถึงการขายตัว แย่งคนรัก ยักทรัพย์สิน อมกินบทบาท สลับพรรคสลับขั้ว กินสินบาทคาดสินบน ประกาศตนว่าทำเพื่อประเทศชาติ รักพี่น้องสุดใจขาดดิ้น ไม่ใช่ตัวร้ายไม่ได้ตบกัน และอีกหลากพฤติกรรม อันพึงเชื่อได้ว่า

ติดจากพฤติกรรมหัวโขนที่ยังถอดไม่หมด

หรืออีกข้อสงสัยหนึ่ง คือบทบาทที่เล่นอย่างสม่ำเสมอนั้น

กลายเป็นกระบวนคิด

แลตัวตั้งในการคิดของชีวิตแต่ละลมหายใจไปแล้ว

เหมือนคิดว่ามีใครปองร้าย ก็จะต้องมองหมาแมวว่าจะมาลอบทำลาย คิดว่าคนอื่นเลว ดังนั้นตนเองต้องดี คิดว่าฝั่งนั้นโกงได้ฉันก็ทำได้เช่นกัน ฟากนั้นเคยย้ายญาติโกโหติกาข้ามห้วยข้ามกระทรวงได้ ฉันก็ทำได้

 

 

ไม่แปลกไม่ผิดสำหรับกระบวนคิด

แต่อันที่ติดตัวติดใจติดสมองมานั้น หนักหนานัก

เมื่อมองถึงการคิด กรอบคิดการแก้ปัญหาโลก ว่าโลกไม่ได้มีมิติเดียว โลกและผู้คนล้วนสลับซับซ้อนหลากหลายยิ่งนัก ดังนั้นการจะก่นด่าประณามผู้ใดก็ต้องดูทิศดูทาง ดูความเป็นไปและชีวิตรอบข้างเขาเหล่านั้น

คิดว่าจะแก้ปัญหาด้วยการคุยประการเดียวจะจบฤา

ลงมาตบกันสักที เพื่อได้คำตอบไปเท่านั้นฤา

อันนั้นก็เป็นกระบวนคิดเดียว

แต่ในโลกของการแก้ปัญหา และหนทางบนโลกนี้ ล้วนมีทางออกอีกมากมายให้ตัดสินใจ ให้แก้ปัญหา ให้ขบคิดและเลือกหนทางออกที่ดีที่สุด หรือส่งผลกระทบร้ายให้น้อยที่สุดต่างหาก

แต่เมื่อดันสะกดจิตตัวเอง ด้วยบทบาท ด้วยหัวโขนที่ถอดไม่ออก

กระบวนคิดจึงมักตีบตัน

วันนี้ใครจะว่าเช่นไรก็ช่างเถอะ สำหรับผมแล้ว ผมยังชื่นชอบชื่นชมคำไทดั้งเดิม เมื่อเลิกเล่นก็จบ หมดหน้านา ก็ทำสวน เวลาเหลือก็ทำไร่ ไร่หมดก็ตบตีกัน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คุ้มดีคุ้มร้ายกันไปตามแต่บทบาท

ขอเพียงอย่างเดียวสำหรับโลกที่อะไรมากมายล้วนสลับที่สลับทาง

ล้วนเป็นโลกอันซับซ้อน

 

 

ขอเพียงให้สมอง มีความเข้าใจหนทางอันหลากหลาย

เพื่อเลือกสรรสู่ทางออก เถิด

ตบตีกันเสร็จแล้วก็เลิกเล่น เถิด อย่าสวมบทสวมบาท สวมหัวโขนติดตัวกลับบ้าน คล้องแขนหิ้ววิธีสวมกอด กลายสรณะของชีวิตเลย เดี๋ยวจะหนักชีวิตเปล่าเปล่า

สาธุ

 

หมายเลขบันทึก: 141233เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2007 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พฤติกรรมหัวโขนที่ยังถอดไม่หมด

....

เคยถอดหัวโขนแล้วเดินอยู่บนวิถีเยี่ยงคนธรรมดา   ไม่มียศฐาตำแหน่ง ...

กลับกลายเป็นว่า  ห้วงนั้นเส้นทางที่เราเดินมีผู้คนมากมายทยอยเดินเข้ามาทักทายเรามากขึ้นกว่าอดีตที่มีหัวโขน

....

  • สวัสดีครับ คุณแผ่นดิน
    P
  • การเฝ้ามองพฤติกรรมการถอดหัวโขน
  • ถือเป็นหนึ่งในเครื่องเตือนตนที่ดีครับ
  • ผมว่าความสุขที่แท้จริง
  • คือรู้จักตัวตนภายในของตนเอง
  • รู้ว่า สิ่งใดเป็นแก่น เป็นเปลือกชีวิต
  • อะไรที่เป็นเพียงหัวโขนของชีวิต
  • เมื่อผ่านไป ก็ต้องผ่านไป
  • อย่างพึงกอดไว้
  • สุดท้ายเราต้องรู้ตนเองให้ดีครับ
  • เพียงแค่เห็นพฤติกรรมหัวโขน ก็ได้แต่เพียงอาวรณ์ และเตือนตนเองจริงๆครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท