พอพูดถึงดินดีที่ดี ก็อดไม่ได้ที่จะชวนคุยเรื่องนักเรียนชาวนา ที่ได้ร่วมกันเรียนรู้เพื่อจะสร้างปุ๋ยธรรมชาติไว้ใช้เอง ปุ๋ยธรรมชาติที่ว่านี้ได้มาจากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นแถวๆบ้าน แถวๆนาบ้านเรานี่เอง เพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย นำสิ่งที่เหลือทิ้งมาทำให้เกิดประโยชน์อนันต์ ถือเป็นการประหยัดต้นทุนด้วย...เคล็ดลับสำคัญของชาวนาคือ เราทำปุ๋ยธรรมชาติไว้ใช้ในวันนี้...เพื่อที่จะไม่ต้องใช้มันในแปลงนาอีกเลยในวันหน้า....อ่ะฮ้า...ชักสนใจแล้วสิ...งั้นตามมา
วัสดุที่นักเรียนชาวนาเลือกใช้นั้นจะต้องคำนึงถึงธาตุอาหารของพืชที่มีอยู่ในวัสดุนั้นๆด้วย เพราะเราผ่านการเรียนรู้วิธีการเช็คคุณภาพดินกันแล้ว ดังนั้นนักเรียนชาวนาเค้าก็จะรู้กันเลยล่ะว่า จริงๆแล้วดินในแปลงนาของแต่ละคนเป้นอย่างไร ต้องบำรุงอย่างไร ทีนี้จะทำปุ๋ยขึ้นมาสักหน ก็ต้องเฟ้นหาวัตถุดิบที่จะช่วยเพิ่มธาตุอาหารที่ขาดไปให้กับดิน เรียกว่า "รักษาอาการได้ถูกจุดเลยล่ะ" เพราะบางคนพอตรวจเช็คแล้ว ดินในพื้นที่มีสภาพที่ถือว่าสมบูรณ์ก็ไม่มีความจำเป้นที่จะต้องเร่งใส่ปุ๋ยอีก หลักคิดแค่นี้ นักเรียนชาวนาเค้าซึ้งใจกันหมดแล้ว ดังนั้น ถ้ายังจะพอมีนักเรียนที่ยังทำใจไม่ได้ ยังไงๆก็ขอให้มีปุ๋ยหมักไว้ในครอบครอง เค้าก็จะมีหลักคิดที่ถือเป็นหลักสำคัญในการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ กล่าวคือ นักเรียนชาวนาต้องเข้าใจว่า วัตถุดิบที่นำมาใช้แต่ละอย่างนั้น มีความหมายอย่างไรบ้าง เช่น
(1) จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลาย มาจากน้ำจุลินทรีย์ที่มีการเลี้ยงไว้หรือมาจากหัวเชื้อดินดีที่มาจากป่ามีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่
(2) รำละเอียดและกากน้ำตาล เพื่อเป็นอาหารให้กับเชื้อจุลินทรีย์ในระยะแรกๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำการขยายจำนวนให้ได้มากๆ และเพื่อย่อยซากอินทรีย์วัตถุได้รวดเร็วขึ้น
(3) วัสดุอินทรีย์ ได้แก่ เศษใบไม้ ฟางข้าว แกลบดิบ แกลบดำ กากอ้อย ผักตบชวา เป็นต้น เพราะวัสดุจำพวกนี้จะช่วยในด้านการปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น และยังช่วยให้ธาตุอาหารแก่พืชเช่นกัน
(4) มูลสัตว์ต่างๆ เช่น มูลไก่ มูลวัว มูลควาย เป็นต้น เพราะวัสดุจำพวกนี้มีธาตุอาหารพืชจำพวกไนโตรเจน (N) สูง
สูตรปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่ใช้กันในไร่นามีสูตรเข้มข้นในขนาดของกองปุ๋ยขนาด 1 ตัน นั้น มีอัตราส่วนดังนี้
(1) หัวเชื้อดินดี 1 ส่วน (ปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่มีอยู่)
(2) รำละเอียด 2 ส่วน
(3) วัสดุอินทรีย์ 4 ส่วน
(4) มูลสัตว์ 8 ส่วน
ทั้งนี้ นักเรียนชาวนาสามารถปรับปรุงธาตุอาหารในปุ๋ยหมักได้ด้วยตนเอง โดยเลือกใช้วัสดุที่มีธาตุอาหารที่สูง ธาตุอาหารหลักที่มีอยู่ในปุ๋ยคอกประเภทต่างๆ 1 กิโลกรัมต่อปุ๋ยคอก 100 กิโลกรัม
วัสดุ |
ไนโตรเจน (N) |
ฟอสฟอรัส (P) |
โปแตสเซียม (K) |
มูลวัว |
1.91 |
056 |
1.40 |
มูลไก่ |
3.77 |
1.89 |
1.76 |
มูลควาย |
1.23 |
0.55 |
0.69 |
มูลเป็ด |
2.15 |
1.13 |
1.15 |
มูลหมู |
2.80 |
1.36 |
1.18 |
มูลค้างคาว |
1.05 |
14.82 |
1.84 |
ในการทำปุ๋ยหมักควรคำนึงถึงสัดส่วนของคาร์บอนและไนโตรเจนที่เหมาะสมต่อการเจริญของจุลินทรีย์ คือ คาร์บอน 30 ส่วน ต่อไนโตรเจน 1 ส่วน (C : N = 30 : 1) ถ้าในกองปุ๋ยหมักมีไนโตรเจนมากกว่าที่จุลินทรีย์นำไปใช้ จะทำให้การยึดติดกันของอินทรีย์สารไม่แน่นพอ ไนโตรเจนส่วนที่เหลือก็จะสูญเสียไปในรูปของแก๊สแอมโมเนียหรือถูกชะล้างไปจากกองปุ๋ย ทำให้คุณภาพของปุ๋ยหมักต่ำลง และถ้าใช้ไนโตรเจนในอัตราที่ต่ำเกินไป ไนโตรเจนก็จะไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้กองปุ๋ยหมักไม่ร้อนต้องใช้เวลานาน
การคำนวณอัตราส่วนของไนโตรเจนและคาร์บอน สามารถใช้หลักง่ายๆ หากใช้วัสดุทำปุ๋ยหมักจำพวกมูลสัตว์ (มีไนโตรเจนสูง) ผสมกับเศษเหลือของพืช อย่างเช่น หญ้า ฟาง และวัชพืช ควรใช้ เศษพืช 75 % และใช้มูลสัตว์ 25 % ของปริมาตรกองปุ๋ย
ฟางข้าวก็เป็นอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในแปลงนาที่ไม่ต้องไปซื้อที่ไหน เพียงแต่ไม่เผาฟางทิ้ง ก็จะได้อินทรียวัตถุที่มีธาตุอาหารจำนวนมาก ฟางข้าว 1 ตัน เมื่อหมักแล้วจะได้ธาตุอาหารหลักและธาตุรองดังนี้
- ไนโตรเจน 6.0 กิโลกรัม
- ฟอสฟอรัส 1.4 กิโลกรัม
- โพแทสเซียม 17.0 กิโลกรัม
- แคลเซียม 1.2 กิโลกรัม
- แมกนีเซียม 1.3 กิโลกรัม
- ซิลิก้า 50.0 กิโลกรัม
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่มีผลต่อขบวนการย่อยอินทรียวัตถุของจุลินทรีย์ ได้แก่
(1) ชนิดของวัตถุดิบ วัตถุดิบที่มีปริมาณของเซลลูโลสที่เป็นโพลิเมอร์ที่ใหญ่ อันได้แก่ ฟางข้าว แกลบ ชานอ้อย ขุยมะพร้าว ต้นและตอซังข้าวโพด เป็นต้น จะย่อยสลายยากกว่าวัตถุดิบที่องค์ประกอบเป็นโพลีแซคคาไรด์ เช่น ผักตบชวา ต้นกล้วย ใบตอง ใบพืชตระกูลถั่ว เหล่านี้จะเป็นวัตถุดิบที่ย่อยสลายง่าย
(2) ความชื้น จุลินทรีย์ส่วนใหญ่จะเจริญได้ดีในสภาพของความชื้นในระหว่าง 50 – 70 % หากความชื้นต่ำกว่า 20 % การย่อยและการเจริญเติบโตขยายพันธุ์ของจุลินทรีย์จะหยุด แต่อย่างไรก็ตามในสภาพที่ความชื้นสูงเกินไป จะทำให้เกิดสภาพของการขาดอากาศทำให้จุลินทรีย์ที่ต้องการอากาศไม่สามารถจะดำรงอยู่และขยายพันธุ์ได้เช่นเดียวกัน
(3) อากาศและการถ่ายเท สำหรับกระบวนการย่อยอินทรียวัตถุจะเกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ที่ต้องการอากาศเป็นส่วนใหญ่ ในระหว่างการย่อยอินทรียวัตถุในกองปุ๋ยหมักควรต้องมีการกลับกองให้เกิดการถ่ายเทอากาศ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่ต้องการอากาศได้มีการขยายพันธุ์มากขึ้น
(4) อุณหภูมิ การหมักจะมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20 - 400 องศา ความร้อนจะสะสมขึ้นเรื่อยๆ ในกอง โดยเฉพาะส่วนที่ลึกที่สุดจะเป็นจุดที่สะสมความร้อนมากที่สุด ในสภาพที่สูงเกิน 70 องศา กิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์จะไม่เกิดขึ้น จุลินทรีย์ส่วนใหญ่และสิ่งมีชีวิตอื่นๆจะตาย
(5) ความเป็นกรดเป็นด่าง ในระหว่างขบวนการย่อยอินทรียวัตถุของของจุลินทรีย์ในระยะแรกจะมีกรดอินทรีย์เกิดขึ้น ค่าความเป็นกรดจะอยู่ระหว่าง 4.5 – 5.5 แต่เมื่อขบวนการย่อยเกิดขึ้นต่อไป อุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้ค่าความเป็นกรดลดลงตามลำดับ ปุ๋ยหมักจะมีค่า pH ไปสูความเป็นกลาง pH 7.0 หรืออาจเป็นด่างเล็กน้อย ค่า pH ประมาณ 7.5 เมื่อใสปุ๋ยหมักลงไปในดินจะช่วยเน้นตัวปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินได้อย่างดี
เมื่อได้เรียนรู้เรื่องราวของปุ๋ยธรรมชาติกันแล้ว สำหรับนักเรียนชาวนาวัดดาวแล้ว เรื่อง กิจกรรมกองทุนปุ๋ยหมักชีวภาพได้เดินหน้ามาหลายก้าวแล้ว โดยมีการเปิดระดมทุนจากกลุ่มนักเรียนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ 43 คน ให้ถือกันคนละ 1 หุ้น ได้เงินสมทบทั้งหมด 4,500 บาท นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ จำนวน 30,000 บาท ผู้ใหญ่ใจดีหลายท่านร่วมกัน ได้แก่ Canada Fund มูลนิธิข้าวขวัญ โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุขภาคกลาง (สรส.) สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กลุ่มเกษตรปลอดสารเคมีตำบลวัดดาว องค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว (อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี)
ส่วนผสมที่นักเรียนชาวนาวัดดาวใช้ ได้แก่
- ขี้เค้ก (ขี้ตะกอนจากโรงงานน้ำตาล) 120 ตัน
- มูลวัว 32 ตัน
- แกลบดิบ 60 ตัน
- หัวเชื้อจุลินทรีย์ 100 ลิตร
นักเรียนชาวนาได้กองปุ๋ยหมักชีวภาพประมาณ 67.5 ตัน และสามารถจำหน่ายให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้ประมาณคนละ 1 ตันครึ่ง เป็นโควต้าที่ได้ตกลงกันภายในกลุ่ม โดยกำหนดจำหน่ายตันละ 500 บาท แล้วนำเงินรายได้ไปใช้หมุนเวียนภายในกลุ่ม ได้เงินจำนวน 50,625 บาท และได้กำไรหลังหักต้นทุนแล้ว 16,125 บาท
แต่สิ่งที่ได้มากกว่าเงินและกำไร นั่นก็คือ
ความรู้ที่ติดตัวนักเรียนชาวนาทุกคน
กล่าวได้ว่านักเรียนชาวนาทุกคนได้เข้าใจเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน
รู้จักการผลิตปุ๋ยธรรมชาติ
อันส่งผลช่วยลดต้นทุนทางการผลิต
การหันมาใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าว
กิจกรรมการเรียนรู้และปฏิบัติจริง
ยังช่วยทำให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการทำปุ๋ย
นอกจากนี้สิ่งที่ทุกคนได้รับและถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญของชุมชน
คือ
ความสามัคคีของนักเรียนชาวนาที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างมีกระบวนการและด้วยความเข้มแข็ง
อันเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
อันเป็นก้าวสู่ชุมชนชาวนาในระบบเกษตรอินทรีย์