ความเห็นเกี่ยวกับการประชุมเรื่องทิศทางและอนาคต GotoKnow.org ครั้งที่ 1


ผมได้รับการอุปโลกน์ให้ช่วยดูแลการประชุมเรื่องทิศทางและอนาคตของ GotoKnow เมื่อคืนนี้ครับ ผมเชื่อว่าเรื่องที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ผมทำนายได้ค่อนข้างแม่นเพราะสิงสู่อยู่บนนี้มานานครับ จึงได้แนะนำ UsableLabs ขอให้

  • เดินตามข้อเสนอที่ส่งมาเป็นเอกสารล่วงหน้า
  • จากนั้นจึงจัดผู้ที่มีความคิดใกล้เคียงกันมาหาประเด็นที่แน่นอนก่อน
  • แล้วจึงนำเอาประเด็นมาให้สมาชิกได้พิจารณาในวงกว้าง
  • มีคำแนะนำให้ทดลองใช้ล่วงหน้า เพื่อทำความคุ้นเลย
  • มีกติกาการประชุม
  • มี BAR อยู่ก่อนแล้ว!

แต่ด้วยความที่ GotoKnow เป็นสังคมเปิดที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ประกอบกับความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมของสมาชิก ขอเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งก็เปิดให้เนื่องจากไม่ได้มีอะไรปิดบัง แต่ผลกระทบที่ตามมา ก็คือการเขียนแทรกกันคนละเรื่อง การเข้าออกห้องประชุมบ่อยขึ้น ซึ่งอาจารย์พิชัยเขียนไว้ตรงประเด็นครับ (แก้ไขตัวสะกดแล้ว)

ขอเพิ่มเติมในเรื่องการประชุมแบบออนไลน์ ที่มีลักษณะ chat room ไม่ค่อย work ครับ

1.ระบบช้ามาก และมีการรายงานว่ามีใครเข้าออกตลอดเวลา ส่วนใหญ่เป็นเพราะเน็ตหลุด ทำให้ขัดบรรยากาศที่ประชุม

2.การพิมพ์ไปทีละคน ช้ามาก เพราะบางท่านอาจไม่ใช่นักแช็ต ทำให้สมาชิกหงุดหงิดและเบื่อ จึงขาดสมาธิในการประชุม

3.ประธานไม่สามารถควบคุมการประชุมได้ เพราะระบบไม่เอื้อครับ อาจมีคนโพสข้อความได้ตลอดเวลาทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

4.การโพสข้อความยาวๆ ทำไม่ได้ แม้เตรียมการไว้ก่อน อาจมีข้อความสำคัญหลุดไปได้

5.การเข้าแทรกของสมาชิก ทำให้ประเด็นเขวไปได้ และสมาชิกที่เข้ามาใหม่ไม่สามารถติดตาม ต่อเนื่องได้ เนื่องจากข้อความข้างต้นหายไปแล้ว

ขอเสนอให้เป็นการประชุมผ่านบล็อกครับ โดยนัดเวลา และทำโดยวิธีการดังนี้

1. นัดหมายกลุ่มบุคคลหลักไว้ก่อน เพื่อเป็นคนเสนอแนวคิดในแง่มุมต่างๆเป็นกลุ่มหลัก

2. เปิดเป็นประเด็นหลักๆที่ละหัวข้อได้ ระหว่างนั้นสมาชิกที่ติดตามมาจะได้เสนอความเห็นร่วม เป็นการระดมความคิดเห็นหลากหลายและสร้างความมีส่วนร่วมด้วยครับ

3.หลังจากนั้น รวบรวมสรุปเป็นประเด็นชัดเจนแต่ละเรื่องนำมาประชาพิจารรณ์อีกครั้ง เพื่อเป็นข้อยุติโดยสมบูรณ์

ขอชี้แจงเรื่องการควบคุมการประชุมนิดนึงครับ ผมคิดว่าเราควรเรียนรู้บทเรียนเรื่องนี้ร่วมกัน ในทุกสังคมมีกติกาทั้งนั้น เมื่อไม่เป็นไปตามนั้น ผลก็เป็นแบบที่เห็นครับ ไม่ว่ากัน

ถ้าถามว่าควบคุมได้ไหม ตอบว่าทำได้ครับ: เตือนได้ (ผมพิมพ์ไม่ทันเพราะมีคนพยายามจะพูดกับผมพร้อมๆกันหลายหน้าต่าง แต่เมื่อเตือนแล้วก็เชื่อฟัง) ตัดออกจากห้องประชุมได้ กันไม่ให้เข้า chat room ก็ได้ครับ แต่ผมเห็นว่าทุกท่านมาด้วยความปรารถนาดี และเห็นผลในสิ่งที่ทำไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ น่าจะเข้าใจได้เองครับ

ประเด็นต้นเรื่องที่คุณมะปรางตั้งไว้ก่อนการประชุมคือ

    เรื่องที่ 1 หาแหล่งเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทางด้าน Hardware สมาชิกได้เสนอความคิดไว้ดังนี้ค่ะ

  • จัดตั้งมูลนิธิและรับเงินบริจาค
  • จัดตั้งสหกรณ์
  • เก็บค่าสมาชิก
  • การโฆษณา

    เรื่องที่ 2 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกที่จะช่วยกันดูแล GotoKnow

  • เมื่อ GotoKnow เป็นของทุกคนแล้ว สมาชิกทุกท่านจะมีส่วนร่วมในการดูและชุมชมแห่งนี้อย่างไร นอกเหนือจากหน้าที่ของทีมผู้ดูแลคะ

ในการประชุม ผมเชื่อว่าสมาชิกทุกท่าน นำเสนอสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุดสำหรับ GotoKnow ซึ่งก็ต้องขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณที่สละเวลามาเพื่อ GotoKnow นะครับ ไม่ว่าใครจะฟังหรือไม่ ผมฟังอยู่ครับ (แก้ไขตัวสะกดแล้ว)

[Conductor] 11:13 pm: 1. การประชุมครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่หลอนมาก คิดว่าพวกเราต่างคนต่างใหม่ต่อเครื่องมือ ในการประชุมครั้งต่อไป ควรจะมีการทดลองใช้ล่วงหน้า
[Conductor] 11:13 pm: 2. ผมได้ยินประเด็นหลัก 3 ประเด็น
[Conductor] 11:14 pm: 2.1 ความหมายของ "ความเป็นเจ้าของและจัดการโดยสมาชิก" คิดว่าคุณเอกจตุพรให้คำนิยามไว้น่าสนใจมาก แต่ทั้งนี้ ควรให้สมาชิกได้พิจารณาด้วย
[Conductor] 11:16 pm: 2.2 เรื่องเงิน (อีกแล้ว) ยังไม่ชัดเจน จากข้อเสนอในห้องและนอกห้องประชุมนี้ มีทั้งเก็บค่าสมาชิก หาจากค่าโฆษณา รับบริจาค สปอนเซอร์ จัดกิจกรรม แต่ยังไม่มีข้อสรุปครับ อย่างไรก็ตาม ดูว่าสมาชิกต้องการความโปร่งใสอย่างยิ่ง
[Conductor] 11:17 pm: 2.3 รูปแบบองค์กร เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่มุ่งไปในทางตั้งเป็นนิติบุคคล เป็นมูลนิธิ เป็นสหกรณ์ แต่ว่าผมยังไม่เห็นข้อดีข้อเสียที่ชัดนะครับ เรื่องนี้ควรปรึกษาสมาชิกอื่นๆ นอกห้องประชุมด้วย
[Conductor] 11:19 pm: 3. ผมคิดว่าไม่ผิดที่การประชุมในวันนี้จะไม่ได้ข้อสรุปใดๆ สิ่งที่เราต้องการเห็นคือสมาชิกร่วมกำหนดทิศทางของ GotoKnow ได้ การเชิญผู้ที่ส่งข้อเสนอ 10 ท่านมาร่วมประชุมนั้น เป็นไปตามกติกาที่ประกาศไว้ ส่วนการเปิดให้เข้าร่วมประชุมอย่างอิสระนั้น ก็เป็นเพราะไม่มีอะไรในกอไผ่ครับ
[Conductor] 11:21 pm: 4. อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนออื่นๆที่จะตามมา ผมคิดว่าจำเป็นต้องทำให้เกิดการเคารพสิทธิ์ของผู้เสนอมากกว่านี้นะครับ แล้วหากจะเชิญเฉพาะผู้ที่เสนอความเห็นมาล่วงหน้า ก็ขอให้เข้าใจในความจำเป็นด้วยครับ //
[Conductor] 11:21 pm: หากไม่เห็นด้วย เชิญแย้งอย่างอิสระเลยครับ //

ผมหลีกเลี่ยงที่จะออกความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอมาตลอด ตอนนี้คงพูดได้บ้างนะครับ ไม่มีหัวโขนแล้ว

  • โครงสร้าง: การเป็นนิติบุคคล มีภาระเรื่องบัญชีและการชำระภาษีครับ ถ้าหากไม่ได้รัับสถานะการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และประกาศในประมวลรัษฎากรแล้ว ผมคิดว่าไม่เป็นอะไรเลยดีกว่าครับ
  • ค่าใช้จ่ายรายเดือน:
    • เท่าที่คุยมานาน คิดว่าทาง UsableLabs ไม่ต้องการรบกวนพวกเราเลยนะครับ พยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงไม่บอกตัวเลขมาตลอด เพราะเชื่อว่าหาเลี้ยงตัวเองได้
    • ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นคือเงินเดือนน้องๆ ใน UsableLabs และค่าตอบแทนอาจารย์ทั้งสองที่มำงานทุ่มเทให้กับการพัฒนา KnowledgeVolution และเว็บในเครือข่าย KM ทั้งสี่อย่างเต็มที่ เต็มเวลา
    • คงมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่นค่าเดินทาง ต้นทุนของสำนักงาน เครื่องมือในการพัฒนางาน ภาษีถ้าเป็นนิติบุคคล
    • ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ควรจะคิดเป็นค่าใช้จ่าย แม้จะเจรจาหาผู้ช่วยเหลือได้ ต่อรองได้ แลกมาได้ จัดกิจกรรมระดมทุนได้ แต่ก็ยังเป็นเงินที่ต้องจ่ายออกไปทุกเดือน และความยั่งยืนของ GotoKnow ส่วนหนึ่งก็อยู่ตรงนี้ล่ะครับ ว่าจะยังคงจ่ายไปได้เรื่อยๆ อย่างไร
    • ถ้าหากได้ตัวเลข ก็จะตั้งหลัก ตั้งเป้าหมายได้ครับ แต่ผมไม่อยากประมาณตัวเลข
  • แหล่งเงิน:
    • ผมไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าสมาชิกครับ แม้บางท่านเห็นว่าไม่เป็นภาระ แต่ก็คงมีบางท่านที่ลำบากเช่นกัน ยิ่งกว่านั้น ก็ยังเป็นภาระในการตรวจสอบทำ+ตรวจสอบทะเบียนอีก คนทำงานหนักขึ้น
    • ยังมีส่วนราชการซึ่งไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ จะถูกกันออกด้วยกติกาที่เราสร้างขึ้นมา
    • ผมเป็นอาสาสมัครทำงานพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมาเกือบยี่สิบปีแล้วครับ ใครเห็นหรือไม่เห็น ผมก็ไม่สนใจ แต่คงพูดได้ว่าทำเรื่องใหญ่มาหลายเรื่อง -- ผมเชื่อเรื่องการให้โดยบริสุทธิ์ใจครับ ให้โดยรู้ว่าให้ไปแล้วเกิดประโยชน์ต่อคนอื่น ให้โดยไม่ฝืน-ไม่เดือดร้อน ไม่แปลกว่าผู้รับจะรู้หรือไม่หรือว่ารู้สึกต่อเราอย่างไร ผมเชื่อในการบริจาคครับ
    • แต่ประสบการณ์ธุรกิจ ก็สอนว่าไม่เห็นจำเป็นต้องเลือกทางเดินทางใดทางหนึ่งเลย ถ้ามีวิธีการอื่นที่ใช้คู่กัน ก็สามารถทำได้เช่นกันครับ
  • มูลนิธิ:
    • การจัดตั้งไม่ยาก แต่การได้สถานะขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้น ไม่ง่ายเช่นกัน เรื่องนี้ TRN ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของ GotoKnow ทราบดี
    • ผมทราบว่ามีผู้ใหญ่ใช้ GotoKnow อยู่มาก อาจใช้กำลังภายในได้ แต่ว่าถ้าเราไม่อยากให้เกิดกรณีการใช้เส้นสายเกิดขึ้นในสังคมไทย ตัวเราเองก็ไม่ควรทำครับ
    • มีข้อดีที่ขอรับบริจาคจากองค์กรภายนอกได้ง่ายขึ้น(นิดนึง) เพราะมีตัวตน แต่ถ้าหากเงินบริจาคหักภาษีไม่ได้เนื่องจากไม่มีสถานะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร บางทีก็ไม่ง่ายครับ
  • สหกรณ์:
    • เป็นรูปของนิติบุคคลอีกแบบหนึ่ง ที่ระดมทุนผ่านการซื้อหุ้น
    • มีกฏหมายเฉพาะกำกับอยู่ อาจเกิดอาการหุ้นเล็ก-หุ้นใหญ่ เสียงโหวตมีนำหนักไม่เท่ากันตามจำนวนหุ้นที่ถือครอง
    • เสียภาษี
    • สามารถระดมทุนประเดิม (Endowment) ได้เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็น cushion เผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน (fixed) ในกรณีที่รายได้ (variable) ในแต่ละเดือนแกว่ง จะได้ไม่เกิดปัญหากับกระแสเงินสด
  • ชมรม:
    • อันนี้คิดว่าไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฏหมายนะครับ แต่ใช้โครงสร้างของนิติบุคคลมาบริหารจัดการ
    • ไม่แน่ใจเรื่องภาษี

คงไม่มีคำตอบที่เป็นอุดมคติ ดีในทุกๆ เรื่อง โดยไม่มีข้อเสียเลย ในขณะเดียวกัน ผมไม่คิดว่าควรรวบรัดสรุปโดยไม่ได้นำข้อดีข้อเสียให้เหล่าสมาชิกได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนนะครับ

ขอขอบคุณผู้ร่วมประชุมทุกท่าน ที่ได้เสียสละเวลา+ความคิดเป็นอย่างมาก ตลอดจนความอดทนเข้าร่วมประชุมในเวลาที่ค่อนข้างผิดปกติสำหรับคนไทย (แต่เรามีผู้เข้าร่วมประชุมจากเยอรมันนีและสหรัฐอเมริกาด้วย)

ทั้งหมดเป็นไปเพื่อหาทางออกที่ดีให้กับ GotoKnow ครับ 

คำสำคัญ (Tags): #gotoknow.org#gotoknow meeting
หมายเลขบันทึก: 135567เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2007 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
  • เข้ามาอ่านข้อสรุปแล้วคะ
  • ขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นแม้จะมีปัญหาอุปสรรคทางเทคนิคบ้าง
  • เป็นคนหนึ่งคะ..ที่ใช้บริการของ G2K และ Learners ทุกวัน ยินดีสนับสนุนทุกแนวทางนะคะ
  • และขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆท่านที่ทำงานเบื้องหลังอย่างเหน็ดเหนื่อยด้วยนะคะ

รับทราบความคิดเห็นนี้ด้วยนะครับ ...

เห็นว่า เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์และสาระควรค่าแก่การพิจารณาในประเด็นที่ผู้ร่วมประชุมและสมาชิกทุกท่าน

แวะมาให้กำลังใจครับ

ขอบคุณครับ บันทึกนี้เป็นเพียงความเห็นจากผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งครับ ส่วนการสรุป ขอให้รอจาก UsableLabs นะครับ เดี๋ยวคงโพสแล้ว
  • ขอบคุณมากครับ
  • ที่ช่วยสรุปให้ฟัง
  • ไม่ได้เข้าประชุม
  • รู้สึกผิด
  • เพราะอบรม blog ให้คุณครูที่กรุงเทพฯ
  • กลับฐานทัพที่นครราชสีมาไม่ทัน
  • แต่ได้แจ้งให้น้องมะปรางเปรี้ยวทราบแล้ว
  • ขอชื่นชมทีมทำงาน
  • แต่ตอนนี้อยากกอดคุณConductor
  • มากถึงมากที่สุด

รออ่านบันทึกการประชุมเช่นนี้อยู่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ผมคิดว่า การคงอยู่ของ gotoknow ไม่น่าจะเน้นเฉพาะเงินทุนและการดำเนินการ

ประเด็นสำคัญ ที่ไม่ควรมองข้ามคือ วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่จะทำให้สังคม และคนทั่วไปเห็นประโยชฯ และเห็นความจำเป็นในการดำรงอยู่ของ gotoknow

ตรงนี้คือ การกำหนด

  • Mission และ
  • Vision ให้ชัด

ที่จะนำไปสู่การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน

ต่อจากนั้นการระดมทุนและการจัดการก็สามารถทำได้ง่าย และพัฒนาต่อไปอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน

ผมคิดว่าเราข้ามประเด็นสำคัญไปครับ

และสำคัญที่สุดครับ

เรามีการแข่งขันพอสมควรในระบบ

การเก็บเงินหรือคิดเงิน จะทำให้พวกเราส่วนหนึ่งหายไปแน่นอน

คนที่ยังศรัทธา จะเหลือจริงเท่าไหร่

น่าจะมีการสำรวจความเห็นนะครับ

ไม่ใช่คิดไปลอยๆ โดยไม่ทดสอบแนวต้าน

ลองช่วยกันคิดดูนะครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์แสวงครับ

เพียงแต่ประเด็นที่ตั้งไว้ เป็นไปตามกลุ่มข้อเสนอของสมาชิกที่ส่งเข้ามาก่อนเพื่อจัดหมวดหมู่ของความคิด และการเสนอความคิดนี้ก็เปิดกว้าง โดยที่ยังสามารถเสนอได้ตลอดเวลานะครับ 

เข้ามาอ่านแล้วครับ เป็นคนหนึ่งที่จุดประกาย ขยายผลการใช้G2K เป็นสื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนตัวมีบล็อก มีแพลนเนตที่สร้างไว้แลกเปลี่ยนกับกลุ่มหลาย ๆ ความสนใจเฉพาะเรื่อง พร้อมให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือเพื่อความคงอยู่ของ G2K ครับ

บันทึกการประชุมฉบับคุณลิขิตครับ

มะปรางยอดมากเลยครับ แงะเอาสัญญาณรบกวน (การเข้าออกห้องประชุม) และรวบรวมข้อความตามผู้แสดงความคิดเห็น ตามเวลาได้ขนาดนี้ นี่สงสัยต้องทำทั้งวันเลยนะเนี่ย

สวัสดีครับอาจารย์  Conductor

   - ผมเป็นคนหนึ่งครับ ที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์  การประชุมเมื่อวานนี้ครับ  (เหมือนเข้าไปนั่งฟัง)

   - ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ   แต่ว่าอยากรู้ครับว่าทุกท่านคุยกันประเด็นไหนบ้างครับ

ได้ข้อสรุปเรื่องการประชุมดังนี้ครับ

   - เป็นการประชุมที่น่าสนใจและดีมากครับ  เพราะรวมคนที่อยู่ที่ต่างๆมาคุยกันได้ครับ พี่เอกจตุพรบอกว่าประหยัดมาก 

  - การเปิดโอกาสให้คนอื่นๆเข้ามาผมคิดว่า  เป็นสิ่งที่ดีมากๆครับ  แต่ว่าอยากให้เข้ามาเหมือนกับผู้ร่วมสังเกต   ควรจะปล่อยให้ผู้ที่ถูกระบุชื่อได้สนทนา และประชุมกันก่อนจนจบประเด็นนั้นๆ   จากนั้นก็ให้ประธานเป็นคนบอกให้คนที่เข้ามาลองเสนอความคิดเห็นก็ได้ครับ (คือต้องรอประธานบอกก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ประเด็นที่ขึ้นจอ  มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน)

  -  เห็นด้วยกับอาจารย์หลายเรื่องครับ

  - อยากขอบคุณแทนผู้ใช้ GTK คนอื่นๆ ที่มีผู้เสียสละ  และทุมเทกับการพัฒนาและการประชุมครั้งนี้ครับ

  - เรื่องแนวทางต่างๆ ผมคิดว่าควรจะคุยกันไปเรื่อยๆครับ  เปิดเวทีรับฟังจากหลายๆคน  รอจนได้ความชัดเจนและสิ่งที่คิดว่าน่าจะดีที่สุดร่วมกันครับ 

  - ผมว่าเวทีนี้คล้ายๆกับเวทีแสดงความคิดเห็น เวทีเสวนารับความคิดเห็นต่างๆ ทั่วไทย เวทีแบบชาวบ้านๆ ที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมายเกินไปครับ  ดูคุยกันเรียบง่ายดี  ในความรู้สึกของผู้เข้าร่วมฟังครับ

  เวทีหน้าขอเข้าร่วมฟังอีกนะครับ 

  ขอบคุณครับ

  สุพัฒน์ ปาย

เห็นหมอแล้วครับ ไม่ได้ทักเพราะพิมพ์ไม่ทัน หมอคงเข้าใจ เหมือนประชุมสภาเลยครับ ;-) สนุกดี แต่เหนื่อยจัง

สวัสดีอีกครับอาจารย์

  ...ใช่ครับ..สนุกดี..

  ..และผมก็รู้สึกเหมือนกันนะครับว่า..ท่านทางอาจารย์จะเหนื่อยจริงๆ

 ...อย่างที่อาจารย์สรุปนะครับ..ครั้งแรก..การเริ่มต้น...อาจจะยุ่งเล็กน้อย..

 ...เป็นกำลังใจอีกหนึ่งให้กับท่านครับ..

 ...^_^....

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณสำหรับการเป็นประธานดำเนินการประชุมที่ออกจะเหนื่อยสำหรับเมื่อคืน เพราะ ระบบช้าไป และโพสต์ยาวๆไม่ได้ ขาดหายไป แต่ก้ได้แนวคิดพอควรค่ะ

1.เรื่องรูปแบบการจัดตั้ง จะมีข้อดี ข้อเสีย ทั้งนั้น และต้องมีการศึกษาข้อกฏหมาย กับภาษีด้วย

2.ฟังจากคุณธวัชชัยฯ รายจ่ายก็ไม่มากนักนะคะ

3.การขอบริจาคจากองค์กรภายนอก ก็น่าจะได้ ถ้าเราให้เขาวางตราสัญญลักษณ์ของเขาได้

4.การบริจาคกันเองภายในตามศรัทธา ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว

คิดว่า เราคงได้ข้อสรุปกันได้อีกไม่นานนะคะ เพราะพอสรุปแล้วก็ต้องมีขั้นตอนทำงานจริงอีก

สวัสดีค่ะคุณConductor

แวะมาขอบคุณที่ได้ช่วยเป็นประธานในการประชุมให้ค่ะ ^ ^

ถึงแม้จะมีขลุกขลักบ้าง แต่ก็เป็นตามปกติของการทำงานทั่วไป ที่ครั้งแรกต้องมีปัญหาบ้าง แล้วเราก็จะเรียนรู้จากประสบการณ์ได้ค่ะ

ส่วนตัวแล้วคิดว่าเราได้สรุปประเด็นต่างๆ ไว้ชัดเจนขึ้น เหลือแต่การหารายละเอียดเพิ่มเติม แล้วร่วมกันตัดสินใจอีกครั้ง

เท่าที่ดูเราก็พอที่จะมีรายละเอียดของแต่ละรูปแบบบ้างแล้วนะคะ สำหรับตัวเองยังมีคำถาม how อยู่ค่ะ เพราะว่าไม่ว่าในรูปแบบใดที่เลือก จะต้องมีคณะทำงาน หรือกลุ่มคนที่เขามาทำงาน โดยอาจต้องคำนึงถึงเรื่องคณะทำงาน การคัดเลือกคณะทำงาน บทบาท/หน้าที่ของคณะทำงาน (ที่เป็นไปได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน มีความเชียวชาญต่างกัน) ในขณะที่ตัดสินใจเลือกรูปแบบองค์กรด้วยค่ะ

เมื่อวานนี้เป็นวันประชุม นับเฉพาะเวลาประชุมก็ 9 ชั่วโมงครับ เริ่มประชุม focus group ของหน่วยงานรัฐตอนเช้า ต่อด้วยประชุมในบริษัทอีกสองอัน แล้วก็เป็นเรื่องของ GotoKnow (ตามใจตัวเอง) เป็นอันสุดท้าย

เมื่อกี้ เห็นร่างบันทึกที่มะปรางกลั่นจากการประชุม คิดว่าสรุปใจความได้ดีมากครับ รอมะปรางไปกินข้าว เดี๋ยวคงโพสได้

ได้ what มาเยอะ ได้ how นิดหน่อย ไม่ได้ why แต่ก็ยังนับว่าได้ประเด็นมาคุยกันต่อครับ 

ยังมีประเด็นเรื่องเครื่องมืออีกนะครับ เราคงเลี่ยงการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้เพราะเราอยู่กันคนละที่ คนละเวลา

แต่การใช้บันทึกไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีครับ เพราะมันกระจัดกระจาย ไม่สามารถไล่ตามได้ว่าอะไรเก่าอะไรใหม่ โครงสร้างความคิดก็กระจัดกระจายเพราะว่ามีทางเลือกหลายทางครับ

จะลองหาทางดูครับ 

ติดใจอยู่หลายประเด็นเหมือนกัน แต่เห็นว่า ยังสรุปเรื่องว่า จะใช้รูปแบบใด เลยคิดว่า น่าจะรอก่อน

เช่น ใครจะมาเป็นคณะทำงาน บทบาทหน้าที่อย่างไร  เหมือนอาจารย์กมลวัลย์ ที่ยังติดใจ และยังมีเรื่องอื่นๆอีก

ตัวดิฉันเอง บางทียังมัวๆ มองภาพไม่ค่อยชัดนักค่ะ

 

 

ผมคิดว่าการประชุมเมื่อคืนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากเลยครับ แม้ว่ารูปแบบการประชุมจะใหม่มากจนอาจจะขลุกขลัก แต่เราก็ได้ประเด็นที่สำคัญๆ ดังที่คุณ Conductor ได้สรุปไว้ครับ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่เราจะประชุมกันต่อไปในรอบต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในรายละเอียดครับ

เดี๋ยวทางเราจะพยายามหาวิธีในการที่เราสามารถประชุมสื่อสารกันได้ทางไกลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างสะดวกขึ้นครับ

มะปรางโพสแล้วครับ

ผมคิดว่าเร็วเกินไปที่จะตั้งคณะทำงานออกมานะครับ มีสมาชิกผู้เสนอความคิดมาล่วงหน้าที่ UsableLabs เชิญมาคุยรอบแรกเพียง 10 คน และมีสมาชิกที่เข้ามาร่วมรับฟังอีก 10 คน คงเป็นเพียงส่วนน้อยจากมวลสมาชิกของ GotoKnow ยังคงต้องระดมสมองอีกหลายครั้งครับ

เมื่อกี้คุยกับอาจารย์ธวัชชัย คิดว่า

  • น่าจะมี focus area moderator ซึ่งช่วยรับผิดชอบหาข้อสรุปใน area ที่น่าสนใจ (เป็นบล๊อกใหม่)  -- เป็นเจ้าของบล๊อก ก็เป็นคนเปิดประเด็น
  • เปิดโอกาสให้สมาชิกทั้งหมดแสดงความคิดเห็นได้
  • หน้าที่ของ area moderator คือรวบรวมประเด็น หาข้อยุติที่ดีที่สุดสำหรับ GotoKnow อาจจะไม่ต้องใช้วิธีลงมติแต่อาจจะใช้ก็ได้
  • เอาบล๊อกเหล่านี้มารวมกันเป็นแพลนเน็ตพิเศษ
  • ยังไม่ต้องรีบร้อนเลือกครับ ถ้าเราไม่รู้ว่าจะเลือกอะไรครับ ไม่อย่างนั้น อาการเหมือนไปเลือกตั้ง

ยกตัวอย่างเช่น เป้าประสงค์ของ GotoKnow คืออะไร คือ KM ใช่หรือไม่ หรือว่าจะเป็นเฮฮาศาสตร์ หรือเป็นการสร้างชุมชนที่เข้าใจในคุณค่าของการให้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเป็นชุมชนปฏิบัติ หรือเป็นการแสวงหาความรู้ฝังลึก หรือคือเครื่องมือสื่อสาร หรือว่าเป็นบันทึกประจำวัน หรือว่าเป็นทุกอย่าง หรือว่าเป็นเหมือนเดิม (เหมือนอะไร) ควรมีข้อปฏิบัติจรรยาบรรณกลางหรือไม่

ถ้าไม่รู้เป้าหมาย จะกำหนดทิศทางได้ถูกต้องหรือครับ

ตัวอย่างอันนี้เกิดจากการที่อาจารย์แสวงถามมาประโยคเดียวในระหว่างการประชุมครั้งแรกนะครับ

ในการประชุมครั้งต่อๆ ไป ก็น่าจะมีข้อเสนอ+คำถามดีๆ เช่นนี้อีก เพราะ GotoKnow มีผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ มีนักคิด อีกมากที่ยังไม่ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น

ก่อนตั้งคณะทำงาน ควรรู้ก่อนว่าตั้งมาเพื่อทำอะไรครับ จึงต้องพยายามหาประเด็นที่ดีออกมาอีกในการประชุมครั้งต่อๆไป

คงมีหลายท่านไม่สะดวกกับวิธีการประชุมในครั้งแรก หรือไม่สะดวกกับเวลาที่นัด แต่สมาชิกเหล่านี้ ควรได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของ GotoKnow ใช่ไหมครับ เราจึงจะสามารถ Owned and Operated by Users ได้จริง

ขอบคุณมากค่ะที่อธิบาย ให้เข้าใจขึ้นอีกนิดๆค่ะ

เรื่องเป้าหมาย อยากให้ชัดเจนน่ะค่ะ

จะรอฟังท่านอื่นๆต่อไปค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

เบิร์ดตามอ่านมานานและในวันที่ 5 ตค.ก็ไม่สะดวกที่เข้าร่วมฟังเนื่องจากไฟดับเพราะคุณุเลกีมาท่านมาเยือน ชร. แ่่ต่ได้อ่านบันทึกการประชุมที่น้องมะปรางทำไว้แล้วและชื่นชมว่า " ทำได้ดีเหลือเกิน "

เบิร์ืดเห็นด้วยกับอ.แสวงมากเลยค่ะว่า " เป้าหมาย+ วัตถุประสงค์ " ของโก ทู โนว์ที่จะเดินต่อไปนั้นคืออะไร เพราะตอนที่ตอบเมล์ของ UsableLabs..เบิร์ดก็ขอให้มีการกำหนดเป้าหมายและ วัตถุประสงค์ของโก ทู โนว์ในก้าวต่อไปให้ชัดเจน ถึงจะสามารถกำหนดทิศทางอื่นๆได้

และเบิร์ดก็ยังไม่พร้อมที่เลือกแนวทางหนึ่งแนวทางใดลงไป..เพราะเบิร์ืดยังไม่เคลียร์ว่าแต่ละแนวทางนั้นมีส่วนดี - เสียอย่างไร  และเบิร์ดเชื่อว่าเราสามารถที่จะเลือกข้อดีีีในแต่่ละรูปแบบมาทำให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของเราได้โดยยึดแนวทาง " พอเพียง " ของในหลวงเป็นหลักสำคัญค่ะ และ่ทั้งนี้เราควรได้ทราบถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องมีีเื่พื่อการบำรุงรักษาระบบที่เราผูกพันนี้ไว้ตลอดไป..ภูมิคุ้นกันของโก ทู โนว์คือความผูกพันที่มากมาย ความเอื้ออาทรที่ลึกล้ำ  และน้ำใจที่ไม่เหือดแห้งที่ทำให้ชุมชนเสมือนแห่งนี้เป็นชุมชนเล็กๆที่เติบโตขึ้นมาอย่างเข้มแข็งด้วยแรงใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ขอบพระคุณสำหรับการเป็นประธานในการประชุมและขอบพระคุณทุกๆท่านที่สละเวลามาร่วมกันหาแนวทางเดินของโก ทู โนว์ ต่อไป..ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ 

 

 

 

...เมื่อวานก็พูดถึงการสวนสนาม ที่พูดกับทหารว่าต้องสามัคคี คำว่าสามัคคีนี่ รู้สึกว่าเป็นคำที่ค่อนข้างจะน่าเบื่อ เพราะว่าพูดทุกครั้ง วันนี้ก็ต้องมาพูดเรื่องสามัคคี สามัคคีคือ การช่วยกันร่วมมือกันแล้วก็ไม่ทะเลาะกันมากเกินไป ไอ้ทะเลาะกันนี้คนก็บอกว่า แต่ละคนมีสิทธิ์ทะเลาะ แต่ละคนมีสิทธิ์มีความคิดของตัว แล้วก็ต้องทะเลาะกันถึงจะสร้างสรรค์จริง เพราะว่าในหมู่คณะก็ตาม ในองค์การองค์กรหรือสมาคมประกอบด้วยคนต่างๆ ในสังคมประกอบด้วยคนต่างๆ ในประเทศชาติก็ประกอบด้วยคนต่างๆ ถ้าทุกคนพูดเหมือนกัน สัมมนาไม่ต้องสัมมนากัน ไม่ต้องประชุมกัน ไม่ต้องชี้แจงทุกคนคิดเหมือนกันทำเหมือนกัน น่าเบื่อ อันนี้ซิน่าเบื่อ ทุกคนเหมือนกันไม่มีอ้วนไม่มีผอมเหมือนกันหมด มันจะน่าดูไหม ก็เขามีสิทธิ์ของเขา และเขาก็มีความสุขของเขาได้

ฉะนั้นสามัคคีหรือการปรองดองกันนั้น ไม่ได้หมายความว่า คนที่บอกอย่างหนึ่งแล้ว อีกคนหนึ่งก็พูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีต่างกัน แต่ว่าต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันก็ต้องสอดคล้องกัน ไม่อย่างนั้นพัง เรามานึกถึงทางวิศวกรรมอย่างรถยนต์คันหนึ่ง ทุกส่วนของรถยนต์ต้องทำงานสอดคล้องกัน ถ้าไม่สอดคล้องกัน รถพัง และไม่ได้ผลของการใช้รถยนต์ ถ้าล้อหน้า หมุนเดินหน้าล้อหลังหมุนถอยหลัง มันไปไม่ได้ ต้องให้หมุนสอดคล้องกัน อย่างพวงมาลัยต้องหมุนสอดคล้องกับล้อถึงจะเหมาะสม ทุกส่วนก็มีหน้าที่ของกันและกัน เครื่องยนต์ก็หมุนความเร็วเท่านั้น ล้อก็หมุนความเร็วเท่านั้น ถ้าเครื่องยนต์กับล้อหมุนความเร็วเท่ากัน ก็จะทำให้รถไม่มีกำลัง อย่างเวลาไปก่อนต้องใส่เกียร์หนึ่ง ก็ต้องทดขึ้น เครื่องก็ต้องหมุนเร็วกว่าล้อ ไม่อย่างนั้นไม่มีแรง ก็มีความแตกต่างกันในหน้าที่ มีความแตกต่างกันในทิศทาง

คนก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าคนหนึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีหน้าที่เหมือนกัน แต่ก็ต้องสอดคล้องกันเพื่อให้งานส่วนรวมนั้นดำเนินไป ถ้าอยู่ในหมู่คณะเดียวกัน ก็จะต้องสอดคล้องกันให้งานนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าหากว่า มาทะเลาะกันมาเถียงกันโดยหลักหรือพื้นความคิด แตกต่างกัน ก็คุยกันไม่ได้ พูดกันไม่ได้ อย่ามาพูดกันดีกว่าเพราะว่าถ้าทัศนะของ คนอย่างหนึ่ง และทัศนะของอีกคนอีกอย่างหนึ่ง โดยที่ไม่พยายามปรองดอง โดยที่ไม่พยายามปรองดอง ไม่พยายามหาทางออกที่เหมาะสม มาพูดยิ่งพูดยิ่งยุ่ง ยิ่งทำให้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ดูแล้วเสียขวัญ มันเข้ากันไม่ได้ มันคนละเรื่อง อย่างที่เขาพูดว่าพูดคนละเรื่องเดียวกัน ไอ้คำพูดคนละเรื่องเดียวกันนี้เหมือน มันจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มันพูดคนละเรื่อง มันไม่มีทางออกไม่มีผล พูดอย่างนี้ก็คงพอเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ไม่ใช่หมายถึงเรื่องอะไร แต่หมายถึง เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ท่านถึงหัวเราะ หัวร่อหมายถึงท่านเองก็รู้ ว่าการเถียงกันอย่างข้างๆคูๆ อันนี้ไม่ดี เดี๋ยวนี้ข้างคูทำคูแล้วก็ต้องระบายน้ำออก เพราะถ้าขุดคูกลางถนนมันก็ไปไม่ได้ ไม่ถูก ฉะนั้นอันนี้ก็คงพอเข้าใจไม่ต้องพูด ให้ยืดยาวเกินไป แต่ว่า ความสามัคคีหรือความปรองดองนั้นก็ให้เหตุว่าอันไหน ควรจะพูด อันไหนไม่ควรจะพูด พูดไปแล้วให้ยอมรับว่าพูดอย่างนั้น ไม่ถูกก็บอกว่า ไม่ถูก ไม่ต้องมาหัวชนฝาว่าถูกๆๆ ลงท้ายตัวเองก็รู้ว่าไม่ถูก อันนี้เป็นเรื่อง ที่จะต้องเอ่ยขึ้นมา เพราะว่าถ้าอย่างนี้นานๆไป สังคมเราพัง ประเทศก็พัง คนที่รักชาติก็ไม่อยากให้ประเทศพัง คนที่ไม่รักชาติเขาก็ไม่ทุกข์ แต่ลงท้ายก็ทุกข์เอง เพราะไม่มีชาติอยู่ ไปที่เมืองอื่นเขาเหยียดหยามเรา...

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันเสาร์ ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

ได้อัญเชิญความตอนนี้มาใน GotoKnow อย่างน้อยเป็นครั้งที่สามแล้ว ท่านที่อ่านแล้วคงไม่เบื่อที่จะอ่านอีกนะครับ

ถ้าเราเรียนรู้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ ก็คงเข้าใจว่าการประชุมปรึกษาหารือนั้น กลับต้องการความแตกต่างเพื่อหาทางออกที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะมาพูดเรื่องเทคนิคระบบ หรือทุนในการดำเนินงาน หรือโครงสร้างรูปแบบ แต่ยังมีประเด็นอื่นอีกมากที่สมาชิกสามารถช่วยกันกำหนดได้

GotoKnow เป็นสังคมเปิด และยังเปิดรับความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลาครับ (เห็นอีเมลข้อเสนอของคุณเบิร์ดเมื่อวันที่ 29 ซึ่งมะปรางส่งมาให้ดูแล้วครับ) 

จะนำเข้าไปในหลักสูตรผมด้วยครับ  ขอบคุณ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท