เส้นทางและวิถีแห่งจิตอาสา (ตอนที่ 1)


หากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกล...ไกลแสนไกล จะขอเป็นนกพิราบขาว ที่ชี้นำชาวประชาสู่เสรี...

 
เราเพิ่งกลับมา
จากการพาลูกศิษย์ลงพื้นที่

นิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาวิจัยและพัฒนาการเกษตรรุ่นนี้มีด้วยกันทั้งหมด 17 คน รายวิชาที่เราดูแลชื่อว่า ทัศนมิติทางด้านวิจัยและพัฒนาระบบเกษตร โดยมีสิ่งสำคัญที่นิสิตต้องเรียนรู้ในรายวิชาคือ ระบบสังคมเกษตร ฐานคิดชีวิต กระบวนทัศน์การพัฒนา เกษตรกรรมยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง การจัดการความรู้ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ จิตสำนึกสาธารณะ 

นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในห้องเรียนโดยคณาจารย์ของคณะและวิทยากรพิเศษแล้ว การลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด  เพราะเรื่องราวที่เป็นความรู้ ฝังลึก ของผู้คนในชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่มี คุณค่า ที่ไม่สามารถหาได้จากตำราวิชาการที่มีอยู่ทั่วไป  

แม้นว่าความรู้เชิงทฤษฎีจะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษา หากแต่ในความเป็นจริง... คงต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่มีการเรียนการสอนที่ ตามไม่ทัน ความเป็นจริงของสังคม การลงพื้นที่เพื่อ เรียนรู้ จากประสบการณ์จริงของผู้คน จะทำให้ลูกศิษย์ของเราได้ เห็น และได้ รู้ ในสิ่งที่นักวิจัยและนักพัฒนาทุกคน ควรรู้ และ  ต้องรู้  

การสร้าง ฐานคิด ที่มั่นคงจากการได้รับรู้และเรียนรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต... ชุมชนชนบท... ชุมชนเกษตร...ที่ผูกพันและเชื่อมโยงกับมิติอื่นและภาคส่วนอื่นในสังคมอย่างเป็นระบบนั้น จะทำให้ลูกศิษย์เราสามารถตั้ง โจทย์ การวิจัยและพัฒนาที่ ใช่ และที่ ชัด การแสวงหาความรู้เพื่อตอบโจทย์โดยผ่านเส้นทางของหัวใจนักปราชญ์คือ  สุ จิ ปุ ลิ  จะเป็นกระบวนการในการพัฒนา คน เพื่อให้เขาเหล่านั้นเป็น กลไก ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม... เพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่ความพอเพียง ความดี และความงาม 

โรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญที่สุพรรณบุรีและเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งของมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุทรสงครามเป็นแหล่งเรียนรู้ที่นอกจากจะทำให้ลูกศิษย์ของเราเกิดการ เปลี่ยนแปลง ในส่วนของ ตัวความรู้ แล้ว ยังได้สร้าง แรงบันดาลใจ ให้พวกเขาได้เห็นโลกและชีวิตในมุมมองที่ต่างไปจากที่เคยเป็น

ที่สำคัญคือการปลูกฝัง "สำนึก" และ "วิถี" แห่งจิตอาสา ที่นับวันจะเสื่อมสลายหายสูญ...ท่ามกลางสังคมแห่งความอยาก สังคมแห่งความเพลิน สังคมแห่งการแข่งขัน...จะมีสักกี่คนหนอ...ที่จะสามารถมีวิถีชีวิตที่ทวนกระแส ยืนหยัดและท้าทายคลื่นลมแห่งปรารถนาที่ถาโถม...

หากมีลูกศิษย์เราแม้เพียงคนเดียวที่รับรู้และเข้าใจ...เลือกที่จะก้าวเดินสู่เส้นทางและวิถีแห่งจิตอาสา... เส้นทางที่ต้องการทั้ง "ปัญญา" ความ "กล้าหาญ" และความ "อดทน" เราก็คงรู้สึกภาคภูมิใจและมีความสุขมากเหลือเกินแล้ว

เสียงเพลงที่เราเคยคุ้นดังแว่วขึ้นอีกครั้งในใจ...

 หากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน

ติดปีกบินไปให้ไกล...ไกลแสนไกล

จะขอ...เป็นนกพิราบขาว

ที่ชี้นำชาวประชาสู่เสรี

 หากฉันเกิดเป็นเมฆบนนภา

จะนำพาความร่มเย็น...เพื่อท้องนา

 หากฉันเกิดเป็นเม็ดทราย

จักถมกายเป็นทาง...เพื่อมวลชน

 ชีวา.. ยอมพลีให้... ดวงใจ... ผู้ทุกข์ทน

ขอพลีตน...ไม่ว่าจะตายกี่ครั้ง....

 
หมายเลขบันทึก: 126489เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2007 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีครับ อ.ตุ้ม

  • ได้อ่านบันทึกนี้แล้วมีความหวังกับสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศที่กำหนดเส้นทางเดินให้ได้รู้เท่าทันความเป็นจริงของสังคม ...ลูกศิษย์แม้เพียงคนเดียวในจำนวน 17 คน เดินไปในเส้นทางของผู้มีจิตอาสา ไม่เพียงแต่อาจารย์ตุ้มหรอกนะครับ คนในแผ่นดินนี้คงได้อานิสงค์กันถ้วนหน้าแหละครับ...ขอบคุณที่อุดมศึกษาของประเทศสร้างคนอย่างนี้
  • ผมอ่านบันทึกของอาจารย์และแสดงความเห็นโดยมีเสียงดนตรีบรรเลงมาจากบล็อกของอาจารย์ทำให้ได้บรรยากาศการเขียนในการทำงานเชิงอุดมการณ์ คุณธรรมมากทีเดียว
  • ได้อ่านเนื้อเพลงพิราบขาวตอนท้ายบันทึกก็ทำให้หวลคิดถึงบรรยากาศตอนเป็นนิสิตอยู่เหมือนกัน
  • สมหวังแล้วกับที่รอคอยบันทึกดีๆจากอาจารย์อยู่ครับ

สวัสดีครับอาจารย์

              "ไม่มีใครแก่เกินเรียน"

                

ผมเห็นด้วยครับ  แค่เพียงคนเดียวได้ก็ดีมากแล้ว

             

เพิ่มเติมหน่อยครับ

            เนื้อเพลง "ชีวายอมพลีให้  มวลชล  ผู้ทุกข์ทน ขอพลีตนไม่ว่าจะตายกี่ครั้ง "  หรือเปล่าครับ

            "ไม่มีใครแก่เกินเรียน" แม้จะมี "ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก"  หากเพียงเขาไม่ทำตัว...เป็นอย่าง "น้ำที่เต็มแก้ว"  และเชื่อใน"การเรียนรู้ตลอดชีวิต"

            ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์

รู้สึกดีใจมากครับที่ทราบว่าอาจารย์พานิสิตลงพื้นที่ไปสัมผัสกับชุมชน ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนพื้นฐานของความเป็นจริง งานวิจัยจึงจะมีคุณค่า

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนในประเด็น สุ จิ ปุ ลิ เพิ่มเติมในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งนะครับ ที่ผ่านมาผมเองก็เคยได้ยินคำนี้ ฟัง คิด ถาม เขียน แต่ถ้าหลักสูตรการเรียนการสอนได้บูรณาการเรื่องสุนทรียสนทนา ให้นิสิตมีโอกาสได้ฝึกการฟังเชิงลึกมากขึ้น ได้คิดอย่างมีตรรกะมากขึ้น และคิดนอกกรอบมากขึ้น ผมมองว่าผู้วิจัยจะมีโจทย์ในการทำวิจัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณค่าออกสู่สังคมได้แน่นอน

ขอบคุณครับ

คิดถึงนะคะ นึกเหมือนกันว่าคงงานยุ่งและลงพื้นที่ชุมชน จริงๆด้วย

ชื่นชม ยินดีที่บ้านเมืองเรามีผู้สอนที่มีหัวใจเป็น"ครู" อย่างเช่นอาจารย์ ยิ่งตระหนักว่าอาจารย์ที่ดูแลนศ.ป.โท-เอก ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีใครลงแรง ใส่ใจอย่างนี้ ยิ่งชื่นชม และขอให้กำลังใจมากๆเลยค่ะ

อาจารย์ได้เป็นตัวอย่างของการ"สร้างแรงบันดาลใจ"ให้ลูกศิษย์อย่างดีที่สุด

ไม่ได้พบคุณเดชาและทีมงาน นานแล้ว หวังว่าทุกคนคงสุขสบายดีนะคะ

โห หายไปนานเลยนะคะอาจารย์ หลายคนคิดถึงทีเดียว ขอถามว่าเสื้อใส่ได้มั้ยคะ ^ ^ พี่ขจิตโจบาเอเฉลยให้ฟังหรือยังคะ
  • มาช้ากว่าน้องแก้มยุ้ยข้างบน
  • ดีใจที่มหาวิทยาลัยมีสิ่งดีๆๆให้นักศึกษาทำ
  • แม้เพียงน้อยนิดก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
  • ความหวังผมกับมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นมีความหวังขึ้นมาจริงๆๆแล้วครับ
  • ขอบคุณครับ

P สวัสดีค่ะครูนง

ขอบคุณสำหรับถ้อยคำที่เป็นกำลังใจนะคะ เพราะบางทีตัวเองก็รู้สึกล้า ๆ เหมือนกันกับหลายสิ่งหลายอย่างของความเป็น "อุดมศึกษา" ในวันนี้ของบ้านเรา

เวลาเปลี่ยน...สังคมเปลี่ยน...ตอนที่พวกเราเป็นนิสิต จิตวิญญาณแห่งการรับใช้สังคมของพวกเรามีอยู่เต็มหัวใจ...มาถึงวันนี้ ครูนงช่วยคิดให้หน่อยซิคะว่าเราจะทำอย่างไรกันได้บ้าง...เพื่อที่ตำนานแห่ง "พิราบขาว"  จะกลับคืนมาเป็นวรรณกรรมในดวงใจของเยาวชน...

P คุณสุมิตรชัยคะ เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะที่ว่า "ไม่มีใครแก่เกินเรียน" มนุษย์เราทุกคนแม้มีศักยภาพ...แต่เราก็ยังคงต้องการ "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" แม้เมื่อชีวิตแตกดับและอุบัติขึ้นใหม่...เราก็คงต้องเรียนรู้ต่อไปและต่อไป...จนกว่าพลังงานจลล์ในตัวเราจะเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานศักย์อย่างถาวร...ณ จุดนั้นคงไม่มีเรื่องราวใดให้เราต้องเรียนรู้อีกแล้ว

จากประสบการณ์ คิดว่าการเป็น "น้ำที่ไม่เต็มแก้ว" เป็นเรื่องยากมากสำหรับแวดวงอาจารย์ค่ะ อาจเป็นเพราะอาจารย์มักคุ้นชินกับสถานภาพของความเป็น "ผู้รู้" คงต้องช่วยกันหากุศโลบายบางประการมาสร้างการเปลี่ยนแปลงค่ะ

P สำหรับเนื้อเพลง...พิมพ์จากความทรงจำค่ะ อาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด...ขออภัยด้วยนะคะ(สูงวัยแล้วก็เป็นเช่นนี้แหละค่ะ)

P ดีใจเช่นกันนะคะที่ได้ทราบข่าวคราวและขอบคุณมาก ๆ เลยครับผมสำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดี ๆ  ของคุณข้ามสีทันดร

ก็พยายามใช้หลายกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมในเรื่องของ "สุนทรียสนทนา" อยู่ค่ะ เพราะหัวใจของกระบวนการการเรียนรู้ในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นอยู่ที่ "Care&Share&Learn" ซึ่งจำเป็นต้องฝึกเรื่องของ "Deep Listening" เรื่องของ "สุขสนทนา" เรื่องของความคิดเชิงระบบ เรื่องของการเรียนรู้ผ่านการ "ปฏิบัติจริง" เรื่องของการพัฒนาศักยภาพจากภายใน ฯลฯ ซึ่งระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ไม่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้เท่าใดนักค่ะ จึงไม่น่าแปลกที่พวกเรา (หลังจบมหาวิทยาลัยแล้ว) เวลาที่ทำงานกับชุมชนมักยึดถือใบปริญญาว่าเป็นการแสดงถึงความเป็น "ผู้รู้" จึงมักเล่นบทบาทของ "ผู้ถ่ายทอด" มากกว่าการเป็นผู้ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้"  

หากมีโอกาสวันใด ขอเชิญมาช่วยถ่ายทอด "วิทยายุทธ" ให้น้อง ๆ ที่กำแพงแสนหน่อยนะคะ  ช่วยมาทำให้เกิดกลุ่มคน "คิดนอกกรอบ" (หรือที่ใคร ๆ เรียกกันว่ากลุ่มผีบ้า) ให้มากขึ้นอีกหน่อย ...ทุกวันนี้"โจทย์วิจัย" ที่เป็นวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่มักลอกกันมาเป็นทอด ๆ จากงานของรุ่นพี่(ที่ขึ้นหิ้ง) หรือไม่ก็เป็นงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งนักศึกษาไม่ต้องเสียเวลาคิดโจทย์...

P คิดถึงพี่สาวที่แสนสวยและแสนดีเช่นกันค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ยุวนุชมากค่ะสำหรับ "กำลังใจ" ซึ่งแม้ว่าตัวเองจะเป็นคนลุยงาน หากแต่ในบางครั้ง... บางเวลา...ก็อ่อนล้าได้เหมือนกัน...

 พี่เดชาและทีมงานทุกคนที่ข้าวขวัญสบายกันดีค่ะ พรุ่งนี้ตุ้มก็จะไปช่วยจัดกิจกรรมให้เครือข่ายชาวนาที่ข้าวขวัญค่ะ แล้วจะส่งผ่านความระลึกถึงของอาจารย์ให้กับพี่เดชาและทุกคนนะคะ

แล้วเราจะมี "เวลา" ได้เจอกันบ้างไหมหนอ...

A bientot นะคะ

P ใช่แล้ว...หายไปนานเป็นเดือนค่ะ จนใครบางคนเปลี่ยนโฉมจนเราจำแทบไม่ได้แน่ะค่ะ...

ขอบคุณหนู Petite Jazz มากกกกค่ะที่คิดถึงและส่ง "เสื้อตัวสวย" จากเชียงใหม่มาให้ ขอสารภาพว่ายังไม่ได้ลองใส่เลยค่ะ..คิดว่าคงพอดีค่ะ ได้ใส่วันไหนแล้วจะถ่ายภาพส่งมาให้ดูนะคะ (อะไรจะปานนั้น)

หนุ่มขจิตไม่เห็นเล่าอะไรให้ฟังเลย....ว่าไงเอ่ย...

P เราทุกคน "ทำได้" ถ้าเรา "ได้ทำ" ค่ะ

อาจารย์ขจิตต้องตั้งใจเรียนให้จบกลับมาสอนที่กำแพงแสนโดยเร็วซิคะ จะได้มาช่วยพี่เคลื่อนงานต่อ กลัวแต่ว่าจะมีภารกิจอื่นทำให้กลับเมืองไทยล่าช้าเกินกำหนดละไม่ว่า...(ขอแซวหน่อยค่ะ)

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับ "เสื้อตัวสวย" ของฝากจากเชียงใหม่นะคะ น้อง Little Jazz เป็นคนส่ง post มาให้ที่กำแพงแสน...ได้รับหลายอาทิตย์แล้วค่ะ ว่าแต่ว่าอาจารย์ขจิตโจบาเอ...เป็นไงหรือคะ ถอดรหัสไม่ออกค่ะ...ช่วยบอกที

555 ไม่เรื่องอะไรหรอกค่ะอาจารย์ คือหุ้นตังค์กับพี่ขจิตทำเซอร์ไพร์สไปงั้นเอง แต่ไม่ลงชื่อไงคะ ลงแต่อักษรย่อของสองคนให้ทาย ส่วนชื่อขจิตโจบาเอนั้นเป็นภาษาทางบ้านพี่ขจิตเขา โจบาเอเป็นภาษากะเหรี่ยงค่ะ ตอนที่มาตอบอาจารย์นี้กำลังนั่งตรวจโบรชัวร์ของภาควิชาส่งเสริมฯ ที่บางเขนอยู่ค่ะ จะนำเสนอพุธนี้ในที่ประชุมคณะ

อยากให้กำลังใจพี่ๆน้องๆที่มาเรียนรู้กับพวกเราชาวมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุทรสงคราม

ยีนดีต้อนรับทุกท่านครับ

สวัสดีค่ะP

ตามlinkอาจารย์ยุวนุชมาค่ะ

อ่านแล้วประทับใจกับผู้ที่มีหัวใจเป็นครูที่แท้จริง หายากมากๆค่ะ เดี๋ยวนี้อะไรก็เป็นธุรกิจไปหมดค่ะ บางทีทำให้คนเป็นครูอาจารย์ท้อเหมือนกัน

ดิฉันมีเพื่อนอยู่ในวงการนี้มากเหมือนกัน จึงคุยกันบ่อยค่ะ ให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท