ความจริงที่เจ็บปวด...กลับเป็นความชุ่มชื่นใจในวันนี้


ความสำเร็จมาจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้ปกครองและชุมชน ความเอาใจใส่และทุ่มเทจริงจังของผู้บริหารและคุณครู ความตั้งใจจริงของนักเรียน

  <p>               สมัยหนึ่งที่ความก้าวหน้าของผู้บริหารโรงเรียนผูกติดอยู่กับจำนวนนักเรียนและขนาดของโรงเรียน เรามักเห็นภาพของโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกทอดทิ้งอยู่เสมอ เป็นเพียงสถานศึกษาพักใจชั่วคราวของผู้บริหารหน้าใหม่ หรือผู้ที่กำลังมีปัญหา ไม่นานท่านก็จากไป น้อยนักที่จะปักหลักอยู่ด้วยอุดมการณ์

               ปัญหาการบริหารงานที่ไม่ต่อเนื่อง ระคนกับความไม่ใคร่เหลียวแลเพราะความไม่ตั้งใจว่าจะปักหลักอยู่ ณ ที่แห่งนี้นานเท่าใดนัก ส่งผลต่อกำลังใจและเป็นปัญหากระทบต่อครูผู้สอน ดูเหมือนสมัยนั้น โรงเรียนขนาดเล็กจะเป็นศูนย์รวมปัญหาไปเสียทั้งหมด

               โดยเฉพาะการมีครูสอนไม่ครบชั้น ครูคนหนึ่งต้องรับผิดชอบหลายชั้นเรียน หนักไปกว่านั้น บางแห่งมีครูเพียงคนเดียวต้องสอนทุกชั้นเรียน... หนักและเหนื่อย นานวันก็มีแต่ความท้อถอย บ้างก็ลุกจากไปอยู่โรงเรียนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม งบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวก็ได้รับน้อย เพราะจำนวนเด็กมีน้อย อยากจะพัฒนา...อะไรก็ดูไม่เอื้อ...ไม่พร้อมไปซะทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่บางแห่ง ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดบางจังหวัด ท่านมีนโยบายสนับสนุนให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กซะอย่างนั้น

               ท่ามกลางปัญหาที่สะสมถมทับอยู่ และไม่ควรกล่าวโทษทั้งผู้บริหารและครูที่ต้องรับภาระหนักอึ้ง จนท้อและถอยไป กระแสการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ชาวบ้านบางพวกบางกลุ่มรวมตัวกันพยายามต่อต้านการยุบเลิกโรงเรียนเหล่านี้ เนื่องด้วยเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน หากยุบเลิกไปลูกหลานก็จะเดือดร้อน เพราะต้องเดินทางไกลหากต้องไปเข้าเรียนที่อื่น

               โรงเรียนบ้านดอนพุทรา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องไม่ให้ยุบเลิก ผู้บริหารโรงเรียนในสมัยนั้น ผอ.กฤตวรรณ เพชรดำดี พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การที่มีครูสอนไม่ครบชั้น โดยการระดมเงินสนับสนุนจากชุมชนจัดหาอุปกรณ์รับสัญญาณทางไกลผ่านดาวเทียม ให้นักเรียนได้เรียนกับคุณครูเก่ง ๆ ของโรงเรียนไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์

               พระมหากรุณาธิคุณขององค์พ่อหลวง ที่มีสายพระเนตรยาวไกลพระราชทานความรู้และครูเก่ง ๆ ไปยังเด็กไทยทั่วประเทศ แผ่ปกตกมาถึงเด็กน้อยเหล่านี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ครูตู้ ครูพระราชทานขององค์ในหลวง ได้สร้างปรากฏการณ์ พลิกฝ่ามือ
 ให้กับโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อผู้บริหารคนปัจจุบัน ผอ.เกษม ศรีบุญเพ็ง เข้ามาสานต่อในเรื่องของงานวิชาการอย่างจริงจัง

                วันนี้ชาวบ้านมีแต่รอยยิ้ม มองเห็นความสำเร็จของบุตรหลาน ที่แต่แรกก็ไม่ใคร่แน่ใจว่าจะเรียนกับทีวีไปได้อย่างไร เด็ก ๆ กระตือรือร้นจะมาเรียนที่นี่บอกพ่อบอกแม่ว่าที่นี่ดี มีทีวี มีคอมพิวเตอร์ เรียนสนุก คุณครูไกลกังวลสอนดี พูดเพราะ เรียนรู้เรื่อง... เวลาที่ผ่านไป
4-5
ปีมานี้ยืนยันได้ว่าลูกหลานไม่ได้พูดปดมดเท็จ

                นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยติดลำดับ
1 ใน 10 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 ได้รับเงินรางวัลจำนวน 1หมื่นบาท ผลการแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 ทางโรงเรียนส่งนักเรียนเข้าแข่งขัน 10 คน ได้รับเหรียญรางวัล 11 เหรียญ การประเมินในการสอบ NT ภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 รวม 147 โรงเรียน นักเรียนของที่นี่มีผลการประเมินอยู่ในลำดับที่ 16

               นักเรียนของที่นี่ไม่ได้เก่งทางวิชาการอย่างเดียว เด็ก ๆ ยังได้รับการเสริมเติมเต็มเรื่องของระเบียบวินัย คุณธรรมจริยธรรม ศิลปะ-ดนตรี กีฬา และมีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษกับกลุ่มอาสาสมัครชาวต่างประเทศเป็นบางโอกาสอีกด้วย

               ความสำเร็จมาจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้ปกครองและชุมชน ความเอาใจใส่และทุ่มเทจริงจังของผู้บริหารและคุณครู ความตั้งใจจริงของนักเรียน ภาพความสำเร็จวันนี้ส่งเป็น VTR มาถึงดิฉันเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีโอกาสเปิดชม ยอมรับว่าเป็น VTR
สั้น ๆ ที่ตรึงสายตาของผู้ชมมิให้ละไปได้เลย จนถึงภาพสุดท้าย... ผู้บริหาร ครู นักเรียน มายืนรวมตัวกันที่หน้าอาคารไหว้ลาเป็นการขอบคุณผู้ชมยิ่งทำให้ซาบซึ้งตรึงใจ

               เสียดายที่ดิฉันนำไฟล์จาก
VCD อัพโหลดขึ้น G2K
ไม่เป็น หรือ อาจจะทำไม่ได้ดิฉันก็ไม่ทราบ มีภาพที่ดิฉันจับมาจากจอทีวีอีกที แม้ไม่ค่อยชัดแต่ก็พอมองเห็นภาพกิจกรรมของเด็ก ๆ ค่ะ...

               งานต่อไปที่คิดไว้ คือการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงของโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ผู้บริหาร คุณครูและนักเรียนได้เล่าถึง
How to ที่พวกเขาทำได้สำเร็จแลกเปลี่ยนกับโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกันที่เพิ่งเริ่มใช้วิธีการนี้ คิดว่า.. พี่สอนน้อง คงจะใช้ได้ดี...

</p>                 

              

               ท่านใดสนใจอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สอบถามวิธีบริหารจัดการให้การจัดการเรียนการสอนทางไกลประสบผลสำเร็จ ติดต่อได้ที่ ผอ.เกษม ศรีบุญเพ็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนพุทรา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 0-3543-6246 หรือที่ 08-9128-4605



ความเห็น (17)

ท่าน ศน.กุ้ง

คิดถึงนะคะ

อ่านบันทึกนี้ขนลุกแล้วขนลุกอีก

คงไม่ต้องต่อยอด เพราะท่านเขียนได้เยี่ยมค่ะ

โอกาสน่าจะเกิดกับเด็ก ๆ ในอีกหลายพื้นที่นะคะ

P

  • ด้วยความระลึกนึกถึงมิตรรักด้วยเช่นกันค่ะ
    ............
  • ในสุพรรณเขต 2 นั้น โรงเรียนขนาดเล็ก 60 ร.ร. รวมถึงร.ร.ขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งที่ขาดแคลนครูตรงวิชาเอก ล้วนแต่ใช้การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมทั้งสิ้นค่ะ
    ............
  • โอกาสดีจะเกิดได้อีกหลายพื้นที่ หากปัจจัยสำคัญ "การร่วมแรงร่วมใจของผู้ปกครองและชุมชน ความเอาใจใส่และทุ่มเทจริงจังของผู้บริหารและคุณครู ความตั้งใจจริงของนักเรียน" บังเกิดขึ้นได้โดยพร้อมกัน
    ............
  • มายืนยันร่วมกับน้อง ศน.กุ้ง
  • ว่ายังมีโรงเรียนที่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนครู หรือการสอนไม่ตรงวิชาที่ถนัด ด้วย"ครูตู้"( การสอนโดยใช้สื่อทางไกลผ่านดาวเทียม )  ประสบผลสำเร็จ ด้วยการสนับสนุนจากท่าน ผอ.อนุสรณ์ ฟูเจริญ และบุคลากร สพท.สพ.2 อย่างเต็มที่ เช่น
  • โรงเรียนบ้านดงกะเชา ( ขนาดเล็ก)
  • โรงเรียนวัดท่าไชย (ขนาดกลาง)
  • โรงเรียนวัดหนองตาสาม (ขนาดกลาง)
  • ฯลฯ
  • วิธีนำมาใช้ทำอย่างไร จะชวนผู้บริหารหรือคุณครูมาเล่าวันหลังค่ะ

ผมมีส่วนในการช่วยโรงเรียนขนาดเล็กอยู่บ้าง ในการพัฒนาครูด้านการใช้ ICT แต่ก็ไม่ได้ใส่อะไรไปมากนัก เพียงต่อบอกว่า ขอให้เด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก ได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้และแสวงหาความรู้ เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับนักเรียนในโรงเรียนขนาดอื่นๆ บ้าง

สวัสดีครับท่าน ศน.ปวีณา ธิติวรนันท์ และ ศน.ลำดวน และท่านอื่นๆที่เข้ามาในบันทึกนี้ครับ

  • ในหลวงพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นปัญหา และให้ความสำคัญ กับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว 
  • แต่ผู้บริหารสถานศึกษา  ไม่ค่อยจะสนใจกันสักเท่าไหร่ เห็นได้จาก  ปล่อยให้อุปกรณ์ ชำรุด  หรือเอาไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ของทางการ
  • เคยไป หลายๆ แห่ง แล้วสอบถาม ผอ.โรงเรียนดูว่าการเรียนการสอนผ่านดาวเทียม ใช้การได้อยู่หรือเปล่า
  • คำตอบ..ไช้ไม่ได้  จานรับถูกฟ้าผ่าบ้าง  ทีวีชำรุดบ้าง  ไม่มีครูดูแลบ้าง   แบบนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ครับ
  • แล้วมาอ้างครูไม่พอ  จะขอแต่อัตราครูเพิ่ม อยู่เรื่อยไป

ขอบคุณครับ

 

         ขอแลกเปลี่ยนข้อมูลการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนบ้านดงกะเชาด้วยอีกโรงเรียนหนึ่ง

ผมรู้สึกอิจฉา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาเหลือเกิน

ทุกครั้งที่ผมเข้าไปทำกิจกรรม "สัปดาห์ห้องสมุด" หรือ "สัปดาห์รักการอ่าน" ผมจะมีเวลาอยู่กับนักเรียนเพียง ๓ ถึง ๕ วัน วันละ ๒ หรือ ๓ ชั่วโมง และถ้าหากรับเชิญไปคุยเรื่อง "อ่านเอาเรื่อง" ซึ่งตอนนี้มีอยู่หลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น "ผู้ไม่รู้ พบ ผู้ไม่รู้" หรือล่าสุดที่อ.ชวลิต(รร.ธรรมโชติศึกษาลัย-ขอภัยที่เอ่ยนาม) ตั้งชื่อให้เป็นวิทยาศาสตร์ว่า "แล้คโตบาซิลัส" ผมก็จะมีเวลาอยู่กับนักเรียนเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น

ผมมีเวลาอยู่กับนักเรียนเพียงน้อยนิด ผมจึงอิจฉาทุกท่านเป็นอย่างมาก ที่ท่านมีเวลาอยู่กับนักเรียนทุกวัน วันละหลายชั่วโมง

หากผมมีเวลามากกว่านี้ ผมคงหา "วัคซีน" มา "ฉีด" ให้กับเยาวชนของเราได้เพิ่มขึ้น พวกเขาก็จะมี "ภูมิต้านทาน" มากพอที่จะเข้าใจได้ว่า "การเรียนหนังสือนั้น ต้องเพื่อตัวเองและผู้อื่นด้วย"

อยากให้คุณครูได้รู้ว่า Ralph Waldo Emerson เคยบอกไว้ว่า The secret of 'Education' lies in respecting the pupil. แปลตามความรู้ของคนจบ ม.ศ.๕ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้ว่า "ความลับของการศึกษา อยู่ที่การให้เกียรติ นับถือ ลูกศิษย์" (เขียนถึงตรงนี้ก็อดนึกถึงพวกอาจารย์สามไม่ได้ - อาจารย์สามหาว น่ะ)

อยากบอกคุณครูเหลือเกินว่า จรรยาบรรณของครูข้อที่ ๖ ที่คุรุสภากำหนด ต้องการให้คุณครูพัฒนาตนเองทั้งด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ วิสัยทัศน์ และการเมืองอยู่เสมอ ไม่ใช่ "ติดตาม"นักการเมือง เพราะมันถูกพิสูจน์อย่างแน่ชัดแล้วว่านักการเมืองในประเทศนี้เหมือนกับ Handy Drive คือเห็น "รู" ไม่ได้ จ้องจะ "เสียบ" อย่างเดียว พอเสียบติดแล้ว ก็ปล่อย "ไวรัส" ให้ระบบเสียหายไปหมด

อยากบอกครูว่าอ่าน "การขับเคลื่อนนโยบายของ สพฐ. ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑" แล้วหรือยัง ในนั้น ๖ ข้อ เขาเน้นการมีส่วนร่วมของ "ผู้ปกครอง" อยู่ ๑ ข้อ

อยากบอกอะไรอีกเยอะแยะ อยากบอกว่าประเทศของเรา ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๐ไม่ได้ประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจดอก ประสบกับ "วิกฤตทางปัญญา" ต่างหาก เราจึงต้องมี "การปฏิรูปการศึกษา" ไง เพื่อขจัด "วิกฤต" ให้หมดไป

อย่างที่บอกไว้ข้างต้น ผมอิจฉาทุกท่านเหลือเกิน เพราะหน้าที่ "สร้างชาติ" ไม่ได้ตกอยู่กับผม ตกอยู่กับคุณครูและอาจารย์ทุกท่าน

สิ่งที่ผมทำ(สัปดาห์ห้องสมุด และอื่น ๆ) จึงเป็นเพียงอาการของ "สุนัขจรจัด" ที่มองหา "รั้วผุๆ" เพื่อเข้าไปวิ่งเล่นเพ่นพ่าน

แม้ว่าบางทีจะพบกับ "กำแพง" ที่แข็งแรงมาขวางกั้น ซึ่งผมเรียกของผมเองว่า "กำแพงแห่งปัญญา" ก็มิได้ทำให้ปณิธานสูญสิ้นไป

หวังเพียงหาเพื่อนร่วมทาง ที่จะ "เตรียม" สังคมที่ดีไว้ให้ลูกหลานได้อยู่อาศัย - ที่นี่คงมีเพื่อนสักคน   

สวัสดีค่ะ ศน...

  • ขอเข้ามาเรียนรู้ด้วยคนนะค่ะ...
  • ชื่นชมจริงๆค่ะ ที่สุพรรณบุรีมีศน.เก่งๆ และเอาใจใส่โรงเรียนต่างๆขนาดนี้
  • เคยอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก(ไม่ที่สุด)มาก่อนเมื่อเกือย 20 ปีที่แล้ว.....พอเข้าใจท่านผู้บริหารพอสมควรค่ะ......ใครๆก็คงต้องการความก้าวหน้า..แต่ขณะนี้...ทุกอย่างเปลี่ยนไป..ก็ยินดีกับท่านค่ะ

สวัสดีครับ

เลือกทักทายบันทึกนี้เป็นบันทึกแรกของวันนี้ หลังจากผมหายเงียบไปจากบล็อกร่วมสัปดาห์

วันนี้, ผมมีความสุขเป็นที่สุดที่รู้ว่าโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ผมไปสำรวจมาด้วยตนเองมีนิสิตไปจัดกิจกรรมให้น้องนักเรียน  ซึ่งนิสิตเองก็รับทราบข้อมูลโรงเรียนจากผม

โรงเรียนดังกล่าวต้องชะตากรรมเดียวกับที่บันทึกนี้ได้สะท้อนไว้อย่าง "แจ่มชัด" ...เพราะเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ  ..ที่มีนักเรียนเพียงไม่กี่คน และเคยโดนมรสุมการถูกยุบมาห้วงใหญ่ ๆ  ..ครูหลายคนมาที่นี่และจากไปในเวลาอันไม่นาน  เด็ก ๆ ไม่รู้หรอกว่าเหตุผลของครูคืออะไรบ้าง,  แต่เด็ก ๆ  ก็ไม่เคยโทษครู หรือแม้แต่นโยบายระดับชาติที่จะให้โรงเรียนนี้ถูกยุบไป

วันนี้, ผมมีความสุขที่มีองค์กรนิสิต  2   องค์กรลงพื้นที่ไปจัดค่ายกันที่นั่น  แต่เสียดายที่ผมไม่สามารถเดินทางไปร่วมชมกิจกรรมกับพวกเขาได้  เพราะวันนี้มีงานเยอะจนไม่สามารถบริหารเวลาได้ ....

....

ผมขออนุญาตที่จะไม่ต่อยอดใด ๆ  เพราะบันทึกนี้ได้ทำหน้าที่ของการเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพทางสังคมการศึกษาได้อย่างชัดเจนแล้ว 

ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ

ส่วนโรงเรียนที่ผมกล่าวถึงนั้น  อยู่ที่นี่นะครับ

http://gotoknow.org/blog/pandin/108456

 

ตามมาเยี่ยม น้องสาว คนเก่ง คนดี ที่หายใจเป็นหน้าที่ การงานครับ
      อ่านแล้วเข้าใจ ซึ้งใจ และขอเป็นกำลังใจให้ คนกล้า คนเก่ง คนดี ทั้งหลาย เดินหน้าต่อไป ด้วยความมุ่งมั่น ความสำเร็จรออยู่เบื้องหน้า เพียงแต่รอคนกล้า  จับมือ ประสานใจกัน ร่วมคิด ร่วมทำครับ
     คิดถึงนะ  ดูแลสุขภาพด้วย .. พี่เองระยะนี้ชีพจรลงเท้า เหมือนพวกเราอีกหลายๆคนครับ

  • ขอบคุณพี่ศน.ไพฑูรย์ P
  • คนเก่า ๆ ใคร ๆ เขาก็ว่า อาชีพอย่างเราเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง ก็ยังแปลกใจว่าเราจะเป็นยักษ์กันไปทำไม
  • สิ่งสำคัญนอกจากความช่วยเหลือด้านงานวิชาการแก่โรงเรียนแล้ว ศน.ต้องมากด้วยน้ำใจ และเป็นผู้ให้กำลังใจในการทำงานแก่ผู้บริหาร คุณครูเรามาก ๆ
  • เขาทำดีเราต้องชื่นชม หากยังไม่ดีเท่าที่ควรเราก็ช่วยเหลือ เบื่ออยู่อย่างเดียว เรามักถูกมองเป็นกระโถนท้องพระโรง ถูกอัดทั้งข้างล่างข้างบน (บางทีถูกอัดข้างซ้ายขวาไปด้วยก็มี) เราอยู่ตรงกลางบางทีก็หายใจไม่ออกเหมือนกัน
  • อาศัยเรา ศน.ด้วยกันก็ให้กำลังใจกันไปนะคะ
  • ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขอโทษที่เข้ามาตอบกลับช้ามากค่ะ
  • ขอบคุณพี่ สะ-มะ-นึ-กะ P
  • สภาพที่พี่พูดถึง ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง แน่นอนว่าปัจจัยสนับสนุนที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือหลายด้าน
  • ที่สำคัญคือเราต้องไม่ปล่อยปละละเลย ลองดูสิว่า ทำไมบางแห่งเขาจึงบริหาร และ จัดการ ได้เป็นผลสำเร็จ เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้
  • และถ้าไม่ได้เริ่มต้น ก็เท่ากับเราไม่ได้ทำอะไรเลย บ้านเมืองเรายังไม่แล้งน้ำใจที่จะช่วยเหลือกัน หากแต่เราต้องลงมือเองก่อน ก่อนที่จะเอ่ยปากให้ใครอื่นช่วย
  • บริหารด้วยวาจา มองปัญหาเป็นอุปสรรคขวากหนามไปเสียทั้งหมด อย่างนี้คงไปไม่รอด รอเมตตา รอวาสนา รอคนมาเห็นใจ รอไม่ได้หรอกค่ะ
  • ชื่นชมกับผู้สำเร็จ เป็นกำลังใจให้กับผู้เริ่มต้น และเอาใจช่วยให้ผู้ที่คิดว่ากำลังจะเริ่มต้นทุกท่านค่ะ
  • ขอบคุณ ผอ.เกษม คำศรี
  • คงได้มีโอกาสไปเยี่ยม ร.ร.บ้านดงกะเชา นำสิ่งดี ๆ มาบอกเล่ากันค่ะ
  • ขอบคุณคุณสุรพล จินดาอินทร์
  • ที่ถึงแม้จะมาในนามทายาทคุรุ แต่ก็ยังจำกันได้ค่ะ
  • ติดตามเรื่องราวของการจัดกิจกรรมนักเขียนพบนักเรียนจากบันทึกของ อ.พิสูจน์ ใจเที่ยงกุล และ น้องจิ-จิราภรณ์ ที่คุณสุรพลไปจัดที่ร.ร.บางลี่วิทยา...
  • ขอบคุณที่เราต่างช่วยกันคนละไม้ละมือในการช่วยกันเพื่อการศึกษาของเด็กไทยค่ะ
  • ขอบคุณคุณ หญ้าบัว   ครูสาวผู้ใจดี
  • อาชีพครูนั้นทั้งหนักและเหนื่อย โดยเฉพาะครูในยุคนี้ เพื่อนครูหลายคนบอกว่าดิฉันโชคดี ที่ลุกมาเป็นศึกษานิเทศก์เสียได้ สบายไป
  • ตั้งแต่มาเป็นศน.กับเขาเราก็ยังไม่เห็นว่าจะสบายเลยค่ะ
  • อยู่ที่ตัวเรามังคะ ก็ยังต้องทำงานอยู่มากมายไม่ได้หยุด เพียงแต่หน้างานเราไม่เหมือนกันก็เท่านั้น
  • เป็นกำลังใจให้คุณครู หญ้าบัว ค่ะ
  • ขอบคุณ อ.พนัส P
  • หายใจเป็นงานเป็นการอย่างนี้ ก็ต้องยุ่ง ๆเป็นธรรมดา
  • ตามไปร่วมเรียนรู้จากบันทึกดี ๆ ที่อาจารย์พาไป ก็ได้มุมมองคิดอีกด้านหนึ่งเพิ่มเติม
  • ขอบคุณสำหรับการต่อยอด ที่อาจารย์ออกตัวว่าไม่ต่อยอดค่ะ
  • ระลึกนึกถึงอาจารย์เสมอ และเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของอาจารย์ตลอดเช่นเดียวกันค่ะ
  • ขอบคุณอ.พินิจ พี่ชายนายHandy
  • อ่านข้อความที่ตามมาเยี่ยมแล้วซึ้งใจเช่นเดียวกันค่ะ
  • ซึ้งใจก็พูดไม่ออกเหมือนกัน ... พูดได้แต่ ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท