เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งนี้ครั้งสุดท้าย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ


เวทีนี้เป็นเวทีที่ ก.พ.ร. จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ส่วนราชการได้มีเวทีเรียนรู้จากกันและกันผ่านกระบวนการจัดการความรู้ ในวันนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วครับ ประเด็นของครั้งแรกเป็นเรื่องการมีส่วนร่วม ประเด็นครั้งที่สองเป็นเรื่องการลดขั้นตอนและครั้งที่สามในวันนี้เป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หรือที่รู้จักกันในนาม “PMQA”

ถึงประเด็นในแต่ละครั้งจะแตกต่างกันแต่รูปแบบของทั้งสามครั้งก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกันคือเป็นการเชิญหน่วยงานที่มีความก้าวหน้าหรือมีความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ มาแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง โดยที่ช่วงแรกเป็นการนำเสนอภาพใหญ่ เล่าที่มาที่ไป บอกว่าอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ช่วงที่สองเป็นการชวนคุยและเปิดโอกาสให้ถามไถ่เพื่อให้เจาะลึกไปถึงเทคนิคที่ใช้ ที่ทำให้ได้รับความสำเร็จ

ผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยดำเนินกระบวนการ ไม่ค่อยจะห่วงทางด้านผู้นำเสนอหรือผู้เล่าเท่าใดนัก ห่วงแต่ทางฝั่งผู้ฟังมากกว่าเพราะว่าในทุกๆ ครั้ง ก.พ.ร. จะใช้วิธีเชิญทุกหน่วยงาน (ระดับกรมและจังหวัด) หน่วยงานละ 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ KM ซึ่งก็คือท่าน CKO (จะได้มาเห็นกระบวนการ KM) ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบประเด็นที่จะแชร์กันในแต่ละครั้ง (เป็นผู้ที่รู้เนื้อหาหรือ content เรื่องนั้นๆ ดี)

แต่การเชิญผู้เข้าร่วมในลักษณะนี้ (หน่วยละ 2 คนนั้น) ทาง สคส. มองว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่มีพลัง สคส. เคยแนะตั้งแต่หลังจากการจัดเวทีครั้งแรกแล้วว่า น่าจะให้ผู้เข้าร่วมมาตามความสมัครใจ (จำกัดไว้ว่าหน่วยหนึ่งไม่เกินกี่คน แต่ถ้าไม่สนใจก็ไม่ต้องมา) จะได้เป็นวงเรียนรู้เฉพาะผู้ที่สนใจจริงๆ ไม่ใช่มาเพราะคำสั่ง หรือไม่ได้ตั้งใจมา แค่มาเซ็นชื่อรับเอกสารแล้วก็จากไป (มีให้เห็นในทุกครั้งที่ผ่านมา)

เวทีในวันนี้ถึงหลายคนจะบอกว่าดี แต่จากคำถามที่ได้รับจากผู้เข้าร่วม ผมมองว่าค่อนข้างจะออกมาในแนวการสอบถามข้อมูลข่าวสาร (Information) มากกว่าที่จะเป็นการจัดการความรู้ นอกจากนั้นก็ยังมีการบ่นบ้าง แชร์ความอึดอัดบ้างกันตามธรรมเนียม ฟังไปๆ ผมเองก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า . . .แล้วมันเป็นการจัดการความรู้ตรงไหนกันเนี้ย?

        ตอนก่อนจบผมเลยตัดสินใจประกาศไปกลางเวทีว่าผมคงจะทำหน้าที่ดำเนินรายการครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เพราะผมไม่เชื่อในวิธีการเชิญผู้เข้าร่วมอย่างสามครั้งที่ผ่านมา ตลอดจนเห็นว่าสิ่งที่ สคส. เสนอแนะไป เช่น ให้ผู้ที่เข้าร่วมเขียนตอบแบบสอบถามระบุสิ่งที่หน่วยงานของเขาทำได้ดีมาก่อน เพื่อที่ทางเราจะได้รู้ว่า  ทุนเดิม ของแต่ละที่นั้นอยู่ตรงไหน จะได้ดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมได้ดียิ่งขึ้น แต่ข้อแนะนำเหล่านี้ก็ไม่มีการตอบรับแต่ประการใด ก็เลยต้องถอดใจ say บ๊ายบาย แค่ครั้งที่ 3 นี้นะครับ
หมายเลขบันทึก: 122545เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2007 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กราบเรียนท่าน อาจารย์ ดร.ประพนธ์

  • ต้องถือว่าท่านอาจารย์ได้ ให้ใจ ก.พ.ร เต็มที่ครับ
  • "ตติยัมปิ" แล้วครับ

อาจารย์จะเลือกทำแต่กรณีที่ง่ายๆเหรอครับ

การจัดการความรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่า จะทำแต่เรื่องง่าย ๆ หรือไม่ แต่หาก ขึ้นอยู่ว่า เราทำแล้วสามารถส่งผลทำให้การจัดการความรู้เหล่านั้น นำมาใช้งานได้ต่างหาก การที่ อ. ประพนธ์ อยากเห็นทุนเดิม ส่วนตัวกระผมเข้าใจว่า เป็นการหาจุดเร่ิมต้น (หรือจุดแข็ง) เพื่อพัฒนา สร้างความเข้าใจ และเป็นการต่อยอดการจัดการความรู้อย่างยั่งยืน (ถ้า อ. ประพนธ์ไม่ได้คิดอย่างนี้ กระผมต้องขอประทานอภัยด้วย) เนื่องด้วยว่า การจัดการความรู้ในปัจจุบันยังขาด คนที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง การจัดการความรู้ไม่ได้จัดการเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่งแต่หากต้องจัดการทุกด้าน เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถหาจุดเริ่มต้นในการจัดการเหล่านั้นได้ก่อน เข้าใจได้ง่าย เห็นผลได้ชัด เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการความรู้ด้านอื่นๆ หรือที่เรามักจะเรียกว่าต่อยอดนั้นเอง 
  • เห็นด้วยกับอาจารย์ประพนธ์1,000,000%
  • ป่วยการที่จะอบรมแบบลิงหลอกเจ้า
  • ต้นสังกัดก็ควรจะมีส่วนร่วมทำการบ้านบ้า'
  • รับผิดชอบบ้าง ถ้าเป็นอย่างนี้ควรยุบๆๆ
  • ผมเคยทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรมจขาก ออสเตรเลีย ที่โครงการ การจัดการน้ำเพื่ออุบโภคบริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มรสภาพัฒน์เป็นแม่งาน มีกพ.ฝ่ายฝึกอบรมเป็นกำลังสำคัญเรื่องการฝึกอบรม
  • ผมตกใจมากเมื่อผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียกล่าวว่า "เลิกทีเถอะเรื่องการที่ระบบเชิญผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมแบบสั่งลงมา หรือเอาตำแหน่งนั้นๆจะต้องมา"  อ้าวแล้วจะเอาใครมา ผมถาม เขาบอกว่า ให้เอาคนสมัครใจมา ยิ่งหนักไปกว่านี้น ให้จ่ายเงินเองด้วย เมื่ออบรมไปแล้วได้ความรู้ไปแล้ว กลับไปทำจริง มรการพิจารณาความดีความชอบให้
  • การที่สั่งให้มาแล้วเบิกค่าเบี้เลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง แล้วมานั่งหลับ หรือสักแต่มานั้น มันทำลายระบบ
  • นี่แหละที่ผมสรุปเปรี้ยงไปเลยว่า ระบบราชการไทยไม่เหมาะเสียแล้วกับงานพัฒนาของบ้านเรา ระเบียบ ข้อบังคับ ไม่สอดคล้องกับงานพัฒนา โดยเฉพาะงานพัฒนาคน
  • หากสาธยาย ยาวไม่รู้จบ.. ปรับได้แล้วครับระบบของเรา คนดีดีมีมาก แต่มาตายเอาเพราะระบบ ครับ
  • น่าจะให้ผู้เข้าร่วมมาตามความสมัครใจ (จำกัดไว้ว่าหน่วยหนึ่งไม่เกินกี่คน แต่ถ้าไม่สนใจก็ไม่ต้องมา) จะได้เป็นวงเรียนรู้เฉพาะผู้ที่สนใจจริงๆ ไม่ใช่มาเพราะคำสั่ง หรือไม่ได้ตั้งใจมา แค่มาเซ็นชื่อรับเอกสารแล้วก็จากไป (มีให้เห็นในทุกครั้งที่ผ่านมา)
  • การที่สั่งให้มาแล้วเบิกค่าเบี้เลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง แล้วมานั่งหลับ หรือสักแต่มานั้น.....เลิกเสียเถอะ
  • มายกมือสนับสนุนครับอาจารย์

เรียน ท่านอาจารย์ประพนต์

        ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์โดยเป็ยผู้ร่วมรับฟังการเสวนนาวาที่ ในเวทีแห่งปัญญา ครั้งที่ 3 ตลอดเวลาที่นั่งฟังและสังเกตุการณ์ ความรู้สึกมับอกว่า กพร. หลอกเรามาทำไม เวทีเรียนรู้ช่าง..บอกไม่ถูกครับ ผมเป็นที่งานอยู่ในจังหวัด และเป็นทีม PMQA ของจังหวัด โดยส่วนตัวผมเข้าในในกระบวนการทำงานของ PMQA แต่ทำไม่ล่ะ กพร.จึงต้องกำหนดทุกสิ่งอย่างให้จังหวัดทำ การพัฒนาตนเองนั้นหากจังหวัดประเมินผลโดยไม่ลำเอียงเข้าข้างตัวเอง แนวทางการปรับปรุงระบบการบริหารงานจะดีกว่าที่จะต้องมากกำหนดทางเดินให้จังหวัด กพร.ควรที่ฟังคนอื่นเขาให้ข้อคิดเห็นบ้าง ไม่ใช่ของตนเองถูกเสมอไปครับ คนที่บอกว่า สิ่งที่เขาคิดนะและประเมินตนเองแล้วนะแหละครับเป็นคนที่ต้องบอกว่า ถูกต้องนะครับ

        ประเด็นที่ CKO หรือ...?... กล่าวแบบไม่เป็นที่สร้างสรรค์ ผมคิดว่าอาจารย์อย่าไปสนสนเสียงนก เสียงกา ดีกว่า "เพชรย่อมเพชร" ครับ จะมองในมิติไหนๆก็ยังเป็น "เพชร" การสร้างโอกาสให้แก่ทีม PMQA ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะผมว่าดีที่สุดครับอาจารย์ คนอื่นก็เข้าใจครับ สคส.ควรทำต่อไปครับผมขอให้กำลังใจครับ

เห็นใจอาจารย์จริงๆค่ะ  แต่ยังอยากให้อาจารย์สอนเหมือนเดิมเพราะคนที่มามีคนที่อยากรู้น่าจะมีอยู่    อยากให้เรียนกับวิทยากรที่รู้จริงๆค่ะ    

hardware ซึ่ง
หน่วยจัดการอยู่ที่ส่วนกลาง
ทั้งดำเนินการ เสริมสมรรถนะ และติดตามประเมินผล
ล้าสมัยเกินไป
ผมทำงานกับจังหวัดซึ่งเป็นแขนขาของหน่วยจัดการส่วนกลางพบกับปัญหาเดียวกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า
อ.สมชัย ฤชุพันธ์ ฟันธงมานานแล้วว่าระบบรวมอำนาจส่วนกลางที่ใช้ได้ผลมานานนั้น
ใช้การไม่ได้แล้ว
หน่วยจัดการที่น่าสนใจคือ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและชุมชน
นครศรีธรรมราชกำลังอดทนกับการเปลี่ยนผ่านของราชการส่วนกลางและภูมิภาค สู่ ท้องถิ่นและชุมชน 

แต่ก็มีความยากของมัน ที่ต้องฟันฝ่า

โรงเรียนคุณอำนวยเมืองนคร
(ก)ถูกกำหนดให้มีองค์ประกอบ
1)แกมบังคับจากส่วนราชการภูมิภาคหลักๆ
2)แกมบังคับจากราชการส่วนท้องถิ่น
3)อาสาสมัครจากภาคประชาสังคมและชุมชน
แกมบังคับคงเพิ่มประวัติศาสตร์ซ้ำรอยใหม่
อาสาสมัครใช่หาได้ง่ายๆ

(ข)ระบบงบประมาณประจำปีเอื้อต่อการทำงานรูทีน     แต่ไม่สอดคล้องกับงานนวัตกรรม
เป็นความยากที่เราฝ่าข้ามได้บ้างตอนทำนำร่อง        3ตำบล แต่คราวนี้ทำเชิงปริมาณ จะได้ถึง1ใน4หรือ?

การทำงานนำร่องกับพื้นที่/หน่วยจัดการที่เข้มแข็ง/พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยระบบงบประมาณราชการที่ไม่ใช่รายปีทั่วไป ย่อมง่ายกว่ามาก

ถ้าจัดการความรู้ ก็ต้องเลือกทำอย่างนั้น
ส่วนที่ยากๆให้คนไม่เข้าใจการจัดการความรู้ไปทำ ดีกว่า

เป็นธรรมชาติของการจัดการความรู้ ในส่วนของ ความรู้วิชาการ/ของคนที่ชอบการเปลี่ยนแปลง
และเป็นธรรมชาติของการจัดการความรู้ ในส่วนของ ความรู้ในการดำรงอยู่ของคนราชการที่เข้าใจระบบราชการ

hardwareนี้ อีกนาน.....

 

อาจารย์ประพนธ์คะ

ในฐานะที่ดิฉันเป็นหัวหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการส่งเสริมการจัดการความรู้ให้แก่ส่วนราชการและจังหวัด รวมถึงการเป็นผู้จัด "เวทีปัญญา สัมมนาวาที" ที่ผ่านมาร่วมกับทีมงานของสำนักงาน ก.พ.ร.

ขอเรียนอาจารย์ ดังนี้

1. ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณที่ สคส.ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงาน ก.พ.ร. ด้วยดีมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องที่อาจารย์สละเวลามาเป็นผู้ดำเนินรายการเวทีปัญญาฯ ให้เท่านั้นค่ะ

2. การดำเนินงานที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้ง เป็นรูปแบบที่ผสมผสานเนื้อหาขององค์ความรู้ด้านเทคนิคการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่เราสนับสนุนให้ส่วนราชการและจังหวัดทำ โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน นั่นคือ การนำหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จหรือน่าสนใจมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนข้าราชการด้วยกัน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมมากมาย

3. ระบบราชการเป็นระบบที่ใหญ่ การจะขับเคลื่อนเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นต้องใช้เวลา จากการที่ได้ติดตามผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการจัดการความรู้ในส่วนราชการและจังหวัดมาตลอด 3-4 ปีนี้ พบว่า ส่วนราชการมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้มากขึ้น ในเวทีนี้ก็เช่นกันแม้จะไม่ประสบผลสำเร็จในแง่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากนัก แต่ทางเรามองว่าอย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งที่จะไปถึงตรงนั้น ซึ่งคงต้องใช้เวลาและความพยายามอีกมากพอสมควร นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องปฏิบัติจริงในเทคนิคการบริหารแต่ละประเด็นที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้รับทราบบ้างว่าส่วนราชการอื่นๆ มีการดำเนินการกันอย่างไร

4.เป็นที่น่าเสียดายที่อาจารย์ตัดสินใจจะไม่ดำเนินการต่อ ซึ่งดิฉันได้นำเรียนท่านเลขาธิการ ก.พ.ร. แล้วว่า ขอดำเนินการต่อไป เพราะคิดว่าผลของการจัดเวทีนี้มีประโยชน์มากต่อผู้รับและผู้ให้ และก็หวังว่าถ้าสำนักงาน ก.พ.ร. มีข้อสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการความรู้ประการใด อาจารย์คงให้ความกรุณาเช่นเดิมนะคะ

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา สุทธปรีดา

ผชช.กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

เรียน อาจารย์ ประพนธ์

        เป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมในวันนั้นด้วย และก็เข้าใจดีทั้งความรู้สึกของอาจารย์ในฐานะที่มีความเข้าใจในกระบวนการ เทคนิค ของการจัดการความรู้ แต่ไม่อยากให้อาจารย์ถอดใจ เพราะว่า นี่คือความเป็นจริงของสังคมราชการที่ปรากฎอยู่ ว่า ยังไม่มีความสามารถที่จะนำการจัดการความรู้มาปรับใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม การที่สำนักงาน ก.พ.ร. ไม่ได้ตระหนักถึง ประเด็นที่อาจารย์แนะนำ มันเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ก็ทำบ่อยๆ กับที่ปรึกษาหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สำนักงาน ก.พ.ร. จ้างมาทำงานด้วย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักของอาจารย์คะ

        เพียงแต่อยากให้อาจารย์นำสิ่งที่อาจารย์ได้ประสบการณ์ที่อาจารย์ได้รับ มาศึกษาและปรับหาวิธีการที่ทำอย่างไรที่จะทำให้หน่วยงานราชการสามารถนำการจัดการความรู้แบบที่อาจารย์ทำกับชุมชน มาดำเนินการได้จริง เพราะเชื่อแน่ว่า ยังมีหน่วยงานราชการอีกมากที่จัดการความรู้ ในลักษณะนี้ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงๆ เพื่อที่จะได้ความรู้ที่ตกผลึกจากประสบการณ์ และนำมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ใหม่ของหน่วยงานได้

        ไม่อยากให้อาจารย์แค่ปฏิเสธที่ไม่รับงานนี้อีก แต่หวังว่า อาจารย์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานด้านการจัดการความรู้ จะสามารถนำประสบการณ์นี้ไปหาวิธีการและปรับแก้ เพื่อผลักดันให้การดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ของส่วนราชการ เกิดมัก ผล เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต

       ก็ถ้า อาจารย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญซะขนาดนี้ยังถอดใจ แล้วพวกเราที่เห็นคุณค่าของงานอาจารย์ จะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร ในเมื่องานด้านนี้ที่เราทำในส่วนราชการก็เจอปัญหาอย่างนี้เหมือนกัน

ขอให้กำลังใจอาจารย์และขอบคุณมาก

 

จงดีใจที่ได้ทำหน้าที่จงดีใจที่ได้เห็นสัจธรรมจงดีใจที่ได้เห็นพิธีกรรม แต่อย่าจดจำไปทำร้ายตนเอง....นี่คือบททดสอบความอดทนความมุ่งมั่นและความเพียร..อย่าให้ความตั้งใจที่ดีมีอันเสียศูนย์ไป..

ควรปลื้มปิติที่มีมิตรแท้ทุกวัยคอยเป็นกำลังใจให้ไม่สายหนทางทุกสายไปพบที่จุดเดียวกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท