สอนภาษาไทยอย่างไรให้โดนใจชาวต่างชาติ (ตอนที่ 2)


เราต้องสร้างมาตรฐานร่วมกันเพื่อพัฒนาการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศให้มีความเป็นศาสตร์มากขึ้น

สรุปสาระการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การสอนภาษาไทยแก่คนต่างชาติ"  18-19  สิงหาคม , มศว.ประสานมิตร

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

              ผมค้างเอาไว้เมื่อตอนที่แล้ว วันนี้จะสรุปสาระให้จบครับ

การสอนหลักภาษาไทยเชิงบูรณาการ 

              1.การสอนหลักภาษาไทยแก่นักศึกษาต่างชาติ เป็นสิ่งจำเป็นครับ แต่ต้องสอนเพื่อการใช้ภาษา คือ อธิบายว่าทำไมใช้ภาษาอย่างนั้น หรือเพื่อแก้ไขการใช้ภาษาที่ผิดๆ

              2. วิธีสอนหลักภาษาไทยแก่นักศึกษาต่างชาตินั้น ครูอย่าสอนหลักเกณฑ์ล้วนๆ แยกออกจากการใช้ภาษา  หรือใช้หลักภาษาเป็นตัวตั้ง แต่ควรนำการใช้ภาษาเป็นตัวตั้งโดยอาจนำความเรียงที่เป็นเรื่องราวต่างๆ หรือ บทสนทนาในสถานการณ์ต่างๆ  มาเป็น เนื้อหาแล้วค่อยหาหลักภาษาในเนื้อหานั้น มาอธิบาย  ดังนั้น หลักภาษาจึงสอดแทรกอยู่ในการใช้ภาษาฟัง พูด อ่าน  เขียน 

             3. การสอนหลักภาษาไทยสามารถสอนได้ตั้งแต่ระดับต้น ระดับกลางจนถึงระดับสูง โดยเฉพาะในระดับสูงสามารถสอนแยกออกมาจากการใช้ภาษาก็ได้ ซึ่งต้องดูที่ตัวหลักสูตรเป็นหลักด้วยว่าผู้เรียนต้องการนำไปเป็นความรู้เฉพาะเพื่อประโยชน์ทางวิชาชีพของเขาหรือไม่ เช่น หลักสูตรการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างประเทศซึ่งผู้เรียนต้องการนำไปใช้ช่วยสอนให้กับเด็กไทยจึงจำเป็นต้องรู้หลักภาษาไทย เป็นต้น

การใช้ภาษาอังกฤษในการสอนภาษาไทยแก่คนต่างชาติ

             ครูที่สอนภาษาไทยแก่คนต่างชาตินั้นจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษและใช้ภาษาอังกฤษในการสอนหรือไม่?

             คำตอบคือ ถ้ารู้ก็ดี  แต่ไม่จำเป็นครับ   การสอนภาษาไทยที่ดีที่สุดควรใช้ภาษาไทยล้วนๆ ในการสอน เพราะผู้เรียนจะได้คุ้นเคยกับภาษาไทยให้มากที่สุด  ถ้ามีภาษาที่ 3 - 4 เข้าไปแทรกอาจเกิดความสับสน จนพัฒนาการเรียนภาษาค่อนข้างช้าได้

             ถ้าเราจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษบ้าง  เราควรใช้ภาษาอังกฤษในเรื่องต่อไปนี้

             1. ใช้ถามสารทุกข์สุกดิบผู้เรียน เพราะคำถามจะยาว ผู้เรียนก็ตอบเป็นภาษาไทยได้ลำบากเนื่องจากยังพูดภาษาไทยยาวๆ ไม่ได้

             2. ใช้เป็นคำสั่งในห้องเรียน หรือในบทเรียน

             3.  ใช้สื่อสารในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบทเรียน เช่น นัดหมายเวลา แนะนำการดำเนินชีวิตบางอย่าง

             4. ใช้ในการอธิบายศัพท์ยาวๆ หรือเป็นนามธรรมที่ยากจะอธิบายเป็นภาษาไทยยาวๆ ได้

             5. ใช้เป็นสัทอักษร (สัญลักษณ์แทนเสียงในภาษาไทย)

              การใช้ภาษาอังกฤษในการสอนภาษาไทยแก่คนต่างชาตินั้นใช้เท่าที่จำเป็น อย่าใช้เป็นหลักในการอธิบายเนื้อหาบทเรียน เพราะผู้เรียนจะเคยชินจนไม่ได้พูด คิด ภาษาไทย

              การใช้ภาษาอังกฤษ จะใช้ได้ต่อเมื่อผู้เรียนทั้งหมดรู้ภาษาอังกฤษด้วย ถ้าผู้เรียนบางคนหรือหลายคนไม่รู้ ครูไม่ควรใช้ครับเพราะจะมีบางส่วนเข้าใจ บางส่วนกลับไม่เข้าใจ ทำให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษเกิดความไม่อยากเรียน

 การสอนวรรณคดี วรรณกรรมไทยแก่คนต่างชาติ

       การสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยแก่คนต่างชาตินั้น ขึ้นอยู่กับหลักสูตรกำหนด โดยเฉพาะในระดับสูงเช่นหลักสูตรระดับปริญญาตรีเอกภาษาไทย ซึ่งในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ได้เปิดสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง  ครูที่ไปสอนก็ต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องวรรณคดี วรรณกรรมอย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถย่อยให้เหมาะสมกับคนต่างชาติได้เรียนรู้  เรื่องที่ครูต้องคำนึงมากๆ ในการสอนมีดังนี้

           1. การคัดเลือกวรรณคดี วรรณกรรมเรื่องใดให้คนต่างชาติเรียนขึ้นอยู่กับหลักสูตรกำหนด และความต้องการของผู้เรียน

           2. การจะสอนเรื่องใดและอย่างไร ต้องคำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรมของชนชาติ และพื้นฐานทางภาษาของผู้เรียนด้วย โดยมากแล้วผู้เรียนต้องการศึกษาวรรณคดี วรรณกรรมไทยก็เพื่อต้องการรู้ "วิธีการคิด และลักษณะเฉพาะของคนไทย" มากกว่าต้องการซาบซึ้งในอรรถรส ดังนั้นการสอนจึงต้องย่อยเนื้อหามุ่งเอาความ   พยายามละเว้นการแสดงวิธีอ่านทำนองเสนาะ  การเรียนรู้ฉันทลักษณ์และคำศัพท์เพราะเขาไม่ค่อยซาบซึ้งไปกับอรรถรสทางภาษามากนักเนื่องจากคนละวัฒนธรรม เช่นเขาเล่นร้องงิ้วเขาก็ว่าของเขาไพเราะแต่เรากลับไม่ซาบซึ้งไปกับเขาด้วย เพราะไม่รู้เรื่อง เช่นเดียวกับการอ่านฉันท์เป็นทำนองเสนาะเขาก็ฟังไม่รู้เรื่องเช่นกัน

           3. จงหลีกเลี่ยงสอนวรรณคดี วรรณกรรมที่อาจก่อความขัดแย้งทางลัทธิการปกครอง ศาสนา ประวัติศาสตร์ เช่น สอนลิลิตตะเลงพ่ายแก่นักศึกษาพม่า รับรองว่าเพียงแค่อธิบายชื่อเรื่องว่า มอญพม่าแพ้ นักศึกษาก็คงคิดแย้งและอาจไม่พึงพอใจง่ายๆ

          4. วิธีสอนวรรณคดี วรรณกรรม ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญเฉพาะของผู้สอนเองที่จะหาวิธีการให้ผู้เรียนเข้าถึงได้มากที่สุดตามหลักสูตรและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

          บทสรุปแห่งการสัมมนา

               ในที่สุดแห่งการสัมมนาครั้งนี้ก็คงจะได้แนวคิดแนวทางการสอนภาษาไทยแก่คนต่างชาติในลักษณะมืออาชีพ คือต้องมีแนวทางที่ชัดเจนไม่ใช่นึกจะสอนอะไร อย่างไร ก็สอนไป เราต้องสร้างมาตรฐานร่วมกันเพื่อพัฒนาการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศให้มีความเป็นศาสตร์มากขึ้น ท่ามกลางความสนใจใคร่เรียนของชาวต่างชาติที่นับวันจะขยายออกไปมาก ผมอยากให้ผู้สอนทั้งหลายที่กำลังสอนอยู่ในขณะนี้ได้พัฒนาการสอนภาษาไทยให้มีมาตรฐาน 

              ดังนั้น ท่านใดที่มีเคล็ดลับ เทคนิคดีๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ขอได้โปรดแนะนำ หรือจะแสดงความเห็นมาก็จะขอบคุณยิ่งครับ เพื่อวงการการสอนภาษาไทยแก่คนต่างชาติ   ในโอกาสต่อไปหลังจากผมกลับจากการไปพัฒนาหลักสูตรให้มหาวิทยาลัยหงเหอ ประเทศจีน ราวเดือนกันยายน นี้แล้ว ผมคงจะได้นำเอาสาระเรื่องการสอนภาษาไทยแก่คนต่างชาติมาเล่าให้ฟังอีกครับ

 

หมายเลขบันทึก: 121612เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2007 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

เรื่องนี้ลุงปั๋นจนด้วยเกล้าครับ...แต่ถ้าจะสอนให้คนต่างชาติเขียนลายไทย ลายกระหนกพอจะไปได้ครับอาจารย์

อาจารย์ศักราชครับ

          เรื่องที่ผมจนด้วยเกล้าคือการพัฒนาบล็อก ผมอยากเรียนปรึกษายามว่างหน่อยครับ ผมจะนัดหมายขอความรู้เชิงปฏิบัติกับอาจารย์ที่สาขาวิชาในวันสองวันนี้ครับ

หนูเคยสอนเพื่อนคนไทยที่ไปโตเมืองนอกมา พูดไทยได้แต่อ่านหนังสือไม่ออก ยากมากเลยค่ะ เช่น คำศัพท์ที่ต้องมีการันต์ เขาถามว่าถ้าไม่ออกเสียงก็ใส่พยัญชนะตัวไหนก็ได้สิ ไม่เห็นจะต่างกันเลยจะได้ไม่ต้องจำ หนูก็ตอบไม่ถูกรู้แต่ว่ามันต้องใส่ให้ถูกตัว ไม่งั้นก็ผิดค่ะ จะอธิบายยังไงดี ก็เลยบอกไปว่าใส่ๆ ให้ถูกไปเหอะ จะเรียนไหม?

อาจารย์กรเพชรค่ะ

       

คุณ Little Jazz ครับ

       ถ้าผมเป็นเพื่อนคนนั้น เห็นทีจะค้อนคุณไปหลายควับแล้วครับ  ถ้าเราจะอธิบายตัวการันต์ ก็ต้องอธิบายว่า

     ตัวการันต์มีไว้เพื่อรักษารากศัพท์เดิม และใช้วางบนตัวอักษรที่ไม่ต้องการออกเสียง (ฆ่าเสียง)  ดังนั้นจึงวางสะเปะสะปะไม่ได้ ต้องวางให้ถูกตำแหน่งของตัวอักษร  เช่น

     สัปดาห์   อ่านว่า  สับ-ดา  (sab - da:)  ห์  ไม่ออกเสียง ถ้าวางไว้อักษรตัวอื่นจะออกเสียงคำไม่ได้

    เพื่อนของคุณน่าจะเข้าใจนะครับ ถ้าไม่เข้าใจส่งมาให้ผมสอนได้เลยครับ

น้องปอเป้

       เข้ามาทักทายแล้วทำไมไม่พูดอะไรเลยหรือครับ

       ไม่เป็นไรผมจะเข้าไปเยี่ยมในบันทึกนะครับ

คนสอนสอนเก่งค่ะ ถึงจะเผด็จการไปหน่อย ตอนนี้เขาก็อ่านหนังสือพิมพ์ได้แล้ว แรกๆ ให้หัดอ่านการ์ตูนที่มีตัวหนังสือประกอบ ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นค่ะ ช่วงก่อนที่จะอ่านหนังสือได้ ไม่กล้าให้ขับรถไปไหนเพราะไม่รู้จักทาง แถมอ่านหนังสือได้แย่กว่าเด็กป.1 ถ้าจะอ่านป้ายให้รู้เรื่องต้องจอดรถสักสองสามนาทีเพื่อสะกด ^ ^ น่าให้ไปเกิดยุคจอมพลป. จะได้เรียนง่ายขึ้นหน่อย ยุคนั้นตัดคำซะเรียบวุธ

ภาษาไทยนี่ยากมากนะคะในสายตาคนต่างชาติหรือคนไทยที่โตเมืองนอกอย่างเพื่อนหนู เขาบอกว่าเขียนอ่านอย่างหนึ่ง เวลาพูดกลับเป็นอีกอย่าง

รูปประโยคบางอย่างที่อยู่ในหนังสือสอนภาษาอ่านแล้วตลกแทบแย่ ใครพูดตามหนังสือสงสัยจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ข้อยกเว้นก็เยอะด้วย ตอนที่หนูเรียนภาษาฝรั่งเศสใหม่ๆ ก็ได้เข้าใจถึงหัวอกเพื่อนว่า อ้อ ที่ปวดหัวมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

สวัสดีค่ะอาจารย์

เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นกับครูญี่ปุ่นที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่เขาก็ค่อยอธิบาย ยกตัวอย่างง่ายๆประกอบการสอน บางครั้งก็มีภาพให้ดูค่ะ บางทีครูก็ทำท่าให้ดู เรียนๆไปยังไงก็ไม่ทราบค่ะ แต่เข้าใจ และเข้าใจจริงๆว่าคำนี้หมายความว่าอย่างไรโดยไม่ต้องแปลเป็นไทยค่ะ

สวัสดีค่ะพี่กรเพชร

ตามมาบันทึกนี้แล้วเดี๋ยวจะตามไปบันทึกโน้นอีกค่ะ  พี่เขียนสนุกน่าตอบไปทุกบันทึกเลย  เรื่องที่พี่เขียนก็ยังไม่มีท่านใดเขียนออกมาชัดๆอย่างนี้นะคะ 

การสอนภาษาไทยให้เพื่อนต่างชาตินี้  เป็นความสนุกสนานบนความระทมของเพื่อนอยู่หลายหน  คือเราคิดว่าเขาเข้าใจ  แต่เขากลับไม่เข้าใจ

สอนคนที่พูดฝรั่ง ให้พูดไทยได้นี้ หากเราพูดฝรั่งได้ก็น่าจะดีนะคะ  จะได้อธิบายตั้งแต่พื้นฐานได้  ติดขัดอะไรก็ถามกันได้    ของแอมแปร์ยกหนังสือจำพวก "เรียนภาษาไทย"  ให้ไปตั้งนึงเลย เพราะพูดฝรั่งไม่เก่ง  ใช้จิ้มๆในหนังสือให้เขาอ่านเอง 

ฝรั่งจะมีปัญหากับเสียงวรรณยุกต์มากทีเดียว  เขาจะรู้สึกว่า"ฟังไม่รู้เรื่อง จับเสียงไม่ได้ เลยไม่เข้าใจความหมาย"  บอกได้แต่ปัญหานะคะ  แต่บอกวิธีแก้ไม่ถูกค่ะ เลยให้เขาไปฟังเพลงเอาเอง

ปรากฏว่าเขาฟังออกมากขึ้นตั้งหลายคำ  แถมพูดตามได้ด้วย    เก่งชะมัด  คนสอนยังงงๆอยู่เลยอะค่ะ....

เรียน อาจารย์กรเพชรที่เคารพ

ดิฉันชื่อ ดุษฎี กองสมบัติ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามค่ะ ในวันที่ 18-19 สิงหาคม 2550 ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมปฏิบัติการดังกล่าวที่ มศว.ประสานมิตร ด้วยค่ะ และรู้สึกประทับใจในการขึ้นบรรยายของอาจารย์ (เกี่ยวกับเรื่องวิธีการสอนหลักภาษาไทยแบบบูรณาการ) มากเลยค่ะ อาจารย์พูดได้น่าฟังมาก ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าได้รับความรู้มากขึ้นด้วยค่ะ

หลังจากการอบรมเสร็จสิ้นลง ดิฉันจึงได้พยายามหาข่าวหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับการอบรมดังกล่าว จนได้มาพบ blog ของอาจารย์ พอคลิกเข้ามาแล้ว ดิฉันเห็นว่า นอกจากเรื่องการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยอีกหลายๆ เรื่องที่น่าเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ดิฉันจึงคิดว่า ต่อไปนี้ ดิฉันจะติดตามอ่านบล็อคของอาจารย์ตลอดไปค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับสาระความรู้ดี ๆ ที่ท่านนำเสนอสู่สาธารณะ

ด้วยความเคารพ...

อ.ดุษฎี กองสมบัติ

ท่านอาจารย์ดุษฎีครับ

ดีใจมากและขอบคุณมากครับที่อาจารย์กรุณาแวะเข้ามาทักทายและชื่นชมผม  ที่ดีใจเพราะอาจารย์ได้เข้าสัมมนาพร้อมกับผมและเข้ามาในบล็อกของผม ทำให้การเขียนเรื่องนี้เป็นประโยชน์กว้างขวางขึ้น

ผมจะพยายามถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้ต่อไปอีกและคิดว่าจะจัดสัมมนาเรืองนี้ที่เชียงใหม่ รับรองว่าจะไม่ผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับ สถานที่สัมมนา เนื้อหาสาระที่เข้มข้นและถูกต้อง วิทยากรที่มีประสบการณ์เหมือนท่านอาจารย์โกชัยครับ ตลอดจนกิจกรรมประกอบการสัมมนาที่น่าสนใจ เอกสารที่มีคุณค่า เอาไว้ได้รายละเอียดเมื่อไหร่ผมจะเข้าไปเรียนให้อาจารย์ทราบในบล็อกของอาจารย์เลยครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับ

เรียน อ.กรเพชรที่เคารพ

ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะ สำหรับข้อมูลในการสัมมนาครั้งต่อ ๆ  ไปที่อาจารย์จะส่งมาให้ดิฉันทราบ หากมีการจัดสัมมนาขึ้นจริง ๆ ดิฉันจะไปเข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอนค่ะ

 

อาจารย์ดุษฎีครับ

            กำหนดการคร่าวๆ คือ คาดว่าจะจัดในช่วงวันที่ 28-30 พ.ย. นี้ครับที่ม.ราชภัฏเชียงใหม่ และในงานสัมมนาครั้งนี้จะมีการแข่งขันการพูดสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศด้วยครับ  นักศึกษาต่างประเทศนั้นจะต้องเรียนในระดับอุดมศึกษา(ในมหาวิทยาลัยไทย ) ปีการศึกษา 2550 อาจเป็นหลักสูตร 1 เทอมหรือ 1 ปี วิชาเอกอะไรก็ได้ รับสมัครทั่วประเทศครับ สถาบันละ 2 คน  ถ้าอาจารย์มีลูกศิษย์ก็เรียนเชิญเตรียมตัวสม้ครได้เลยครับ

หนูฝากคำถามไว้ในส่วนสอบถามนะคะ อย่าลืมไปดู : )

เรียน อ.กรเพชร ที่เคารพ

ขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับข้อมูลเรื่องการจัดสัมมนา ดิฉันว่าการประกวดพูดสุนทรพจน์ของนิสิตชาวต่างชาติที่เรียนภาษาไทยนี่คงสนุกน่าดูเลยค่ะ และคงจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตอีกด้วย ดิฉันจะเตรียมนิสิตไว้ประกวดตั้งแต่ตอนนี้เลยค่ะ ....ตื่นเต้นค่ะ.. :)

 

อาจารย์ดุษฎีครับ

            ดีครับ อาจารย์ช่วยเผยแพร่ข่าวสารเรื่องนี้ด้วย ผมกำลังวางแผนดำเนินงานอยู่ครับ

เรียน อ.กรเพชร ที่เคารพ

พอทราบข่าวจากอาจารย์ ดิฉันก็ปรึกษากับอาจารย์อีกท่านทันทีเลยล่ะค่ะ แล้วก็เตรียมนิสิตไว้แล้ว 2-3 คน ที่มีแววว่าพูดได้ค่อนข้างดี จากนั้นจะได้ฝึกการพูดสุนทรพจน์ให้กับพวกเขา ดิฉันจะประชาสัมพันธ์ข่าวนี้ให้เพื่อน ๆ ของดิฉันที่สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้ทราบต่อไปค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าค่ะ สำหรับโครงการดีๆ แบบนี้

อาจารย์ดุษฎี ครับ

        ขณะนี้เรากำลังเตรียมงาน จะส่งข่าวทันที่ที่มีความชัดเจนทั้งหมดครับ เรียนเชิญนะครับ ผมคิดว่าคงสนุกแน่ๆ ครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์กรเพชร

อ่านบทความของอาจารย์แล้วได้ความรู้ดีมากค่ะ ขณะนีัดิฉันศึกษาอยู่รามคำแหง วิทยบริการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่นค่ะ คณะศึกษาศาสตร์ เอกภาษาไทย ตอนนี้ต้องทำรายงาน การจัดทำสื่อเกี่ยวกับการสอนวรรณคดีไทย ดิฉันนำเรื่อง พระอภัยมณี มาเป็นเรื่องที่จะใช้สอนเด็กประถมญี่ปุ่นค่ะ อาจารย์พอจะแนะนำได้ไหมคะ ว่าควรสร้างสื่อแบบไหนดีคะ สำหรับนักเรียนญี่ปุ่น รบกวนถามอาจารย์ค่ะ ขอขอบคุณมากค่ะ

ฌิชา ดันโจ

ขอบคุณ อ.กรเพชร

ครั้งแรกค่ะ ที่เข้ามาดู

พอดี ดิฉันก็ทุกข์ใจ มาก ดิฉัน กำลังสอน ภาษาไทยให้กับชาวเกาหลีคนหนึ่ง

ดูเหมือน โลกใบนี้ หนูแบกอยู่คนเดียว

อาจารย์มีวิธีสอนแบบง่ายๆบ้างไหมคะ สำหรับชาวเกาหลีโดยตรงค่ะ

ขอแนะนำดิฉันหน่อยค่ะ

ขอขอบคุณล่วงหน้านะคะ

สวัสดีค่ะอ.กรเพชร

ตอนนี้ดิฉันต้องสอนภาษาไทยให้กับอาสาสมัครที่ทำงาน สัปดาห์ละสองวันละสองชั่วโมง ดิฉันได้สอนไปช่วงหนึ่งแล้วแต่รู้สึกว่าดิฉันยังขาดความรู้ความเข้าใจในเทคนิควิธีการและทักษะในการสอนต่างชาติให้เข้าใจภาษาไทย จึงอยากได้คำแนะนำรวมถึงหนังสือหรือคู่มือต่าง ๆ เพื่อนำมาศึกษาและปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้นค่ะ ขอบพระคุณในความกรุณาค่ะ

อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เมล์มานะครับ ผมมีประสบการณ์ด้านสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติพอสมควร อยากแลกเปลี่ยนเทคนิคการสอนกัน

ตอนนี้กำลังเขียนหนังสือ สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ แต่ไม่รู้ว่าขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้างเลยอยากให้เพื่อนๆ ในบอร์ดแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน

ขอรับคำชี้แนะครับ

[email protected]

น.ส รพีพรรณ ต๊ะหนั่นต่า

สวัดดีค่ะ อาจารย์กรเพรช หนูพึ่งเข้ามาอ่านบทความของอาจารย์เป็นครั้งเเรกค่ะ

ตอนนี้หนูกำลังหางานพิเศษสอนภาษาไทยในญี่ปุ่นอยู่ ถ้ายังไงขอคำเเนะนำจากอาจารย์ดว้ยนะคะ

เเล้วจะเข้ามาอ่านบทความของอาจารย์บ่อยๆค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ อยากทราบว่าจะหาอ่านตอนที่ 1 ได้ที่ไหนคะ แล้วมีตอนที่ 3 รึยังคะ แล้วอาจารย์ยังเข้ามาตอบในนี้อยู่รึป่าวคะ

สนใจงานด้านนี้มากเลยค่ะ แต่ไม่มีประสบการณ์ รบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะ

กำลังจะเริ่มสอนค่ะ. แต่ไม่ทราบว่าต้องสอนอย่างไร มีที่ไหนเปิดสอนเทคนิคการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติรึเปล่าคะ

หรือมีอาจารย์ท่านใดสอนมานานแล้ว. สนใจเปิดสอนให้ตัวต่อตัวก็ได้นะคะ. คิดราคาชั่วโมงเท่าไหร่ก็ลองว่ามาเลยค่ะ

หรือส่งเมลล์แจ้งราคามาได้นะคะที่ [email protected]

อยากได้ความมั่นใจก่อนสอนค่ะ ไม่เคยสอนต่างชาติค่ะ. อยากเผยแพร่วัฒนธรรมอันสวยงามของไทยด้วยค่ะ

ปล.บทความตอนที่๑ดูได้จากไหนคะ

ขอบพระคุณค่ะ

ภัทรภร

ผมตั้งใจจะสอนเพื่อนชาวจีน ควรเริ่มจากตรงไหนดีครับ

อาจารย์กรเพชร 

      เรากำลังทำวิจัยเรื่อง รูปแบบการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติอยู่ เห็นข้อมูลบางส่วนของอาจารย์น่าสนใจโดยเฉพราะข้อมูลการสัมมนา อาจารย์มีเอกสารหรืองานวิจัยใหม่ๆบ้างไหมแนะนำด้วย

                                                                                                 ธิติ  รักชาติ

เป็นบทความที่ดีมาก ๆ ค่ะ ใช่เลยค่ะ คนต่างชาติแยกเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ค่ะ ขอนำแนวคิดไปร่วมกับการสอนนะคะ ขอบคุณค่ะ https://speakthaiword.blogspot.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท