เรื่องเล่าจากดงหลวง 146 ประเด็น"การเชื่อมโยงวิชาการกับชุมชน"ของบางทราย


มีสาระอย่างน้อย 5 เรื่อง(Key word) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ กล่าวคือ วิชาการอะไร / ใครเป็นผู้เชื่อมโยง / เครื่องมืออะไรที่จะเอาความรู้ไปเชื่อม / เชื่อมด้วยการบวนการอะไร / ใครคือชุมชนที่เป็นเป้าหมาย

สืบเนื่องจาก การเสวนาจัดการเครือข่ายความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 11 ของอาจารย์ขจิต และ  KM ในมหาชีวาลัยอีสาน » นักวิชาการกับชุมชน มาเป็นหุ้นส่วนความรู้กันดีไหม ของท่านครูบาสุทธินันท์ ผู้บันทึกจึงขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง การเชื่อมโยงวิชาการกับชุมชน ที่ มมส.กำลังจะจัดเสวนาขึ้นในวันที่ 23-24 สิงหาคมนี้ เนื่องจากผู้บันทึกลองใช้มุมมองในฐานะคนทำงานกับชุมชน ซึ่งอาจจะแตกต่างจากมุมมองอื่นๆ หากเป็นประโยชน์บ้างก็ใคร่เสนอไว้ในที่สาธารณะนี้ดังต่อไปนี้ 

มีสาระอย่างน้อย 5 เรื่อง(Key word) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ กล่าวคือ วิชาการอะไร / ใครเป็นผู้เชื่อมโยง / เครื่องมืออะไรที่จะเอาความรู้ไปเชื่อม / เชื่อมด้วยการบวนการอะไร / ใครคือชุมชนที่เป็นเป้าหมาย   เพราะหัวข้อนี้น่าสนใจมาก และเป็นเจตนาที่ดีของสถาบันที่จะดำเนินการ จึงใคร่เสนอความคิดเห็นเป็นเชิงประเด็นคำถาม หรือประเด็นอภิปราย ต่อไปนี้ 

วิชาการอะไร: ที่จะเอาไปเชื่อมกับชุมชน อาจมองได้สองส่วนคือ

  • วิชาการที่สถาบันมีอยู่แล้ว แล้วเอาไปสู่ชุมชน
  • วิชาการที่ถูกกำหนดความต้องการโดยชุมชน ซึ่งสถาบันอาจจะมีบ้างและไปแสวงหามาจากที่อื่นๆบ้าง

แต่ทั้งหมดต้องเน้นว่าชุมชนได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเรานิยมมองแบบเอาชุมชนเป็นตัวตั้งหลัก แล้วจัดวิชาการไปให้สอดคล้อง ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเสมอว่าวิชาการไม่เหมาะสมกับชุมชน อาจจะไม่ได้ย่อยให้ง่าย และหรือ วิชาการนี้เหมาะกับชุมชนนี้ แต่อาจจะไม่เหมาะกับชุมชนอื่นๆ ฯลฯ 

ใครเป็นผู้เชื่อมโยง: หากจะเข้าใจไม่ผิดจะหมายถึงมหาวิทยาลัย หรือเรียกรวมๆก็คือ สถาบันการศึกษา องค์ความรู้ของสถาบันมีมากมายก่ายกอง แต่ผู้เชื่อมมีทักษะ ความจัดเจนแค่ไหนถึงจะเชื่อมกันติด เชื่อมแล้วเกิดประโยชน์ต่อเนื่อง ยั่งยืน  หรือเพียงแต่เบื้องต้น แล้วก็จางหายไปในเบื้องกลางและเบื้องปลาย ฯลฯ 

มีเครื่องมืออะไรเชื่อมโยง: เราเคยเห็นที่อ่านหนังสือพิมพ์ในหมู่บ้านที่ล้มครืน เราเคยเห็นที่พักเกษตรตำบลในหมู่บ้านร้าง ผุ พัง ทั่วประเทศ ไม่มีเจ้าหน้าที่อาศัยอยู่ เราเคยเห็นหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านที่ยังคงทำงานเพียงไม่กี่แห่งจากทั่วประเทศ เรากำลังเห็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลรกร้าง ว่างเปล่าฝุ่นจับหนังสือ ตำราเกรอะไปหมด เรากำลังเห็นศูนย์คอมพิวเตอร์ที่อบต.เป็นที่เล่นเกมส์ของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ 

มีกระบวนการอะไรในการเชื่อม: ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต. และผู้แทนกลุ่มองค์กรชาวบ้านต่างๆในวันพิธีเปิด ใช่หรือไม่ มีการประชุมทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนบ้าง แต่เนื้อหาสาระยังห่างไกลจากวิถีชีวิตของเขาหรือเปล่า หรือวิธีการอะไรในการเชื่อม มีความต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร จัดทำที่ไหน ช่วงไหนของฤดูกาล สอดคล้องกับวิถีชีวิตเขาแค่ไหน ? ฯลฯ 

ใครคือชุมชนที่เป็นเป้าหมาย: ชุมชนในเมืองกับชนบท ต่างกัน ชุมชนชนบทที่มหาสารคามกับที่ดงหลวง ต่างกัน  ทั้งในแง่ระบบภูมินิเวศน์วัฒนธรรม และวิถีชีวิต และลักษณะเฉพาะของชนเผ่า ต่างกันมาก เมื่อชุมชนต่างกัน ทุกเรื่องข้างต้นที่กล่าวมาแล้วสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะนี้อย่างไร? ฯลฯ  

ผู้บันทึกเพียงตั้งประเด็นให้ทุกท่านที่จะเข้าร่วมสัมมนาได้นำไปถกต่อ แล้วนำผลมาเล่าสู่กันฟังด้วยครับ  ทั้งหมดนี้ผู้บันทึกอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ได้ ต่อสาระ ต้องขออภัยล่วงหน้าก่อน แต่หากไม่คลาดเคลื่อน ลองอภิปรายประเด็นดังกล่าวซิครับ ??

หมายเลขบันทึก: 117464เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2007 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เชื่อมแล้วเกิดประโยชน์ต่อเนื่อง ยั่งยืน  หรือเพียงแต่เบื้องต้น แล้วก็จางหายไปในเบื้องกลางและเบื้องปลาย ฯลฯ 
  • ผมว่าเราต้องท่องคาถานี้ให้ขึ้นใจไว้  จะได้ไม่หลงทาง  และอดทนนาน
  • ดังที่พี่พูดไว้อีกว่า  ที่อ่านหนังสือพิมพ์  หอกระจายเสียงหมู่บ้น  หนังสือต่างๆ  ฯลฯ  เพราะไม่ได้มาจากความต้องการของชุมชนจริงๆแบบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ของชุมชน
  • ชุมชนมีหลากหลายมากครับ   ชุมชนของเราในประเทศไทย  แทบจะต้องวัดกันเป็นตารางกิโลเมตรไปเลย
  • ฉะนั้นรับรองไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวอย่างเดียวแน่นอน
  • เว้นแต่ว่าทำไปอย่างงั้นๆ  ทำตามหน้าที่  ทำจนผู้นำชุมชนงง
  • สลัมในกรุงเทพฯ  ผู้นำกร้านไปแล้วครับ
  • เพราะไม่รู้หน่วยงานไหน  เป็นหน่วยงานไหน  ดั้มเข้าไป  เหมือนพวกเขาเป็นหนูตะเภา  ตอบคำเดิมซ้ำๆซากๆ
  • เสวนาต่อไปเถอะครับ  ต้องช่วยกัน  งานนี้ไม่มีวันจบหรอก
  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • ขออนุญาตเอาไปขยายผลนะครับ
  • การรับฟังจากผู้รู้ถือเป็นกุศลของทุกฝ่าย
  • ขอบคุณท่านบางทรายที่มาช่วยเติมให้เข้าเค้า ถูกทิศทางมากขึ้น

สวัสดีครับ น้อง P TAFS

  • แหมคอเดียวกันเลยนะ
  • ก็เคยรู้ๆกันอย่างที่ว่าสลัมน่ะถ้าเป็นลูกจันทร์ก็น่วมแล้วน่วมอีก น่วมจนเหลว แต่ก็เห็นด้วยว่า ทำไปเถอะเป็นสิ่งที่ดี เพราะอย่างน้อยที่สุดคนได้คิด และอาจจะเกิดประเด็นใหม่ๆเกิดขึ้นครับ 
  • พี่ผ่านภาพความล้มเหลวของรัฐมามาก เจตนาดีครับ แต่เมื่อเข้าระบบ พังไปหมด ดีในช่วงต้นๆเท่านั้น คึกคัก ยังกับอะไรดี จะเอาตัวอย่างอีกไหมล่ะ เยอะไปหมด
  • แต่ส่วนดีก็มากอยู่ครับ

สวัสดีครับครูบาครับ

  • ตอนแรกผมจะเอาความคิดนี้ไปใส่ใน Blog ของครูบาแหละครับ แต่มาคิดว่ามันจะยาวเกินไป เลยเอามาแยกต่างหากเสียเลย
  • เท่าที่แสดงไปนั้นเป็นประเด็นเท่านั้น ผมยังไม่ได้อภิปรายส่วนตัวในแต่ละหัวข้อเท่าใดเลย กะว่า จะเอาลงในวันต่อไป หากยังเหมาะสมอยู่ครับ เลยแหย่ไปด้วยประเด็นก่อนครับ
  • ขอบคุณครับ

ว่าจะเข้านอนแล้ว เห็นบันทึกพี่บางทรายมาแหย่ไว้ ก็เลยมาแจมสักนิด

  • ปัญหามาตั้งแต่วิธีคิด วิธีมองชุมชนเลยครับ ถ้ามองชุมชนแบบเน้นกายภาพแน่นิ่งเป็นท่อนๆแยกส่วนกันก็พังแต่แรก
  • หมู่บ้าน (village) กับชุมชน (community) คนละความหมายกันครับ แต่คนไทยชอบเอามาใช้ทับเป็นความหมายเดียวกัน
  • อย่าง gotoknow นี่เป็นชุมชนหนึ่งนะ แต่ไม่ใช่หมู่บ้าน เวลาพัฒนาต้องชัดเหมือนกันว่าจะเน้นอะไร ถ้าเน้นชุมชน  มันก็อาจจะกินพื้นที่ทับซ้อนไปหมู่บ้านอื่นด้วย เพราะชุมชนมันเป็นระบบและเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ไม่ได้เป็นภาพแบนๆอยู่นิ่งๆให้ใครไปจับต้องทำโน่นทำนี่เอาง่ายๆครับ
  • อีกทั้งในหนึ่งหมู่บ้าน อาจจะมีหลายชุมชนก็ได้ และชุมชนก็ไม่จำเป็นต้องถูกสถาปนาโดยรัฐให้เป็นหมู่บ้านเสมอไป
  • เวลาผมทำวิจัยก็ดี ทำงานพัฒนาเด็กก็ดี ผมจะเน้นทำงานกับชุมชนในความหมายของระบบเครือข่ายความสัมพันธ์ครับ รู้ว่าคิดแบบนี้ถ้าจะทำงานพื้นที่ใหญ่คงยาก ก็เลยทำกับกลุ่มเล็กๆนี่แหละ ขอบเขตพื้นที่การทำงานที่แท้จริง แม้จะจำต้องระบุเป็นหมู่บ้าน เพื่อให้เข้าใจกันง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วทำในความหมายของ "ชุมชน" หรือขอบเขตที่ความสัมพันธ์นั้นๆไปถึงครับ
  • สำหรับผม คำตอบจากชุมชน สำคัญกว่าคำตอบจากหมู่บ้าน แต่ต้องมองให้เห็นภาพเชิงซ้อนที่เชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งนี้ด้วยนะครับ เพราะเราต้องทำงานกับทั้งหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับชุมชนเสมอ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ล่มเอาง่ายๆ
  • นิยามพื้นที่ทำงาน ถ้าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่แต่แรก เรื่องอื่นก็เบี้ยวๆบูดๆตามมาอีกเป็นกระพรวนครับ
  • ช่วงนี้เห็นมีแต่คนจะนัดรวมพลกัน ผมไม่ค่อยมีโอกาสไปร่วมเวทีรวมพลบล็อกเกอร์ที่ไหน คิดว่าครอบครัวต้องการเวลาจากเรามากกว่า โดยเฉพาะตอนนี้ที่ลูกชายกำลังน่ารักน่าชัง และคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดก็แก่เฒ่าประการหนึ่ง ผมก็ต้องประหยัด ลำพังค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตต่อเดือนนี่ก็หลายร้อยอยู่ ผมจึงพยายามเลี่ยงเวทีใหญ่ๆถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็จะไม่ไป ก็คงแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบพอเพียงอย่างนี้ดีกว่า มีอะไรก็คุยกันผ่านบล็อกนะครับ

 

-

  • ฝากอีกเรื่อง  คือ
  • หาข้อจำกัดความแต่ละเรื่อง  และความหมายให้ตรงกันเสียก่อนก็จำเป็นนะครับ
  • ดังที่คุณยอดดอย  บอกว่า  หมู่บ้าน แตกต่างกับ  ชุมชน นะ
  • เนื่องจากเรารุ่มรวยภาษากัน   ด้านสังคมศาสตร์  ต้องเข้าใจความหมายในคำหลัก(keyword)ให้ตรงกันเสียก่อน
  • ไม่งั้น  พูดเอาแค่ความหมายให้ไปด้วยกัน  ก็หาลานบินลงไม่ได้แล้วครับ  
  • เจื่อผมเต๊อะพี่บางทราย

สวัสดีครับน้อง P ยอดดอย

  • ขอบคุณที่มาเติมให้เกิดความชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ เป็นฐานที่จะคิด พูดจากันต่อไป
  • ความหมายที่ยอดดอยกล่าวถึงระหว่าง ชุมชน กับ หมู่บ้านนั้น แม้คนทำงานทางสังคมก็สับสนในการใช้ แม้แต่พี่เอง บางทีมันติดปาก และบางทีใช้บนฐานของที่ผู้อื่นเริ่มต้นมาก่อน
  • ยิ่งคนต่างสาขาวิชาพื้นฐาน ยิ่งไม่เข้าใจความต่างของสองคำนี้ก็สับสน หรือมองไม่ทะลุ
  • ขอบคุณที่เตือนสติ พี่จะเอาไปฝากใน Blog ครูบาด้วย เพื่อเป็นสาระในการสัมมนา ต่อไปครับ
  • แม้แต่ฝรั่งต่างชาติก็ใช้คำนี้ไม่ถูกตามความหมายดังกล่าว
  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • ประเด็นเหล่านี้ ผมก็คงต้องเขียนเป็นบันทึกในมุมมองมาแลกเปลี่ยนต่อไปนะครับ
  • ต้องร่วมกันทุกส่วนนะครับ  และเอาสังคม-ชุมชน เป็นตัวตั้ง คนที่มีหมวกก็คงต้องถอดหมวกออก อย่าติดระบบ-ออกจากกรอบที่กักขังอยู่
  • แต่ที่เห็นอยู่ในการเชื่อมของพวกเราใน G2K ฯลฯ (ทุกคนถอดหมวก และหันไปมองสังคมโดยรวมเป็นตัวตั้ง) ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่พอจะเห็นทางนะครับ
  • ขอบพระคุณพี่บางทรายมากครับที่มาช่วยกระตุ้นให้คิดต่อ

สวัสดีครับน้องสิงห์ P สิงห์ป่าสัก

  • ใช่เลย ต้องช่วยกันคิดต่อครับ สิงห์จะมีมุมมองที่ผสมผสานระหว่างระบบราชการแบบเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งกับความต้องการของชุมชน ซึ่งเป็นมุมมองที่สำคัญมาก
  • ส่วนของพี่ดูเหมือนท่านครูบาด้วย ที่พี่ไม่ใช่ราชการ จึงเอาชาวบ้านตั้งเต็มๆ บวกกับประสบการณ์ ทัศนคติที่มีอยู่ ก็เป็นความหลากหลายของความต่าง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ชาวบ้าน ไม่มีผิด ไม่มีถูก  มีแต่ข้อคิด ใครเห็นประโยชน์ก็หยิบเอาไปใช้ ใครคิดว่ายังไม่ใช่ก็วางไว้ตรงนั้น
  • ช่วยกันคิดต่อครับ

สวัสดีครับพี่บางทราย

ขอบคุณมากครับ สำหรับหนังสือดี ๆ " เที่ยวไม่ง้อทัวร์ ตีตั๋วตะลุย: เวียดนาม" 

เท่าที่สังเกตุการทำงานของหลาย ๆ หน่วยงานหรือหลายชุมชน

  • ทำงานตามแนวนโยบายของผู้บริหาร  เมื่อย้ายไป มาใหม่ก็ทำแบบใหม่ตามที่ผู้บริหารต้องการ เพื่อให้ได้ผลงานเป็นของผู้บริหารเอง ทำให้ความต่อเนื่องของงาน หรือโครงการดี ๆ ต้องลาลับไป ยกต้วอย่างง่าย ๆ เช่น การย้ายผู้ว่า, นายอำเภอ เป็นต้น ... แก้ไขอย่างไรได้...
  • การทำงานของผู้รับผิดชอบไม่มีความใส่ใจ ที่จะทำงานอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่จะกินน้อย(เช้า 1 ชาม เย็น 1 ชาม) ไม่มีความกระตือรือล้นในการทำงาน ทำงานเพื่อรอย้ายไปทำงานใกล้บ้าน  ไม่อยากมีปัญหา กลัวปัญหา  ... ทำอย่างไรดี...
  • การทำงานแบบไม่เกาะติด  เช่นส่งเสริมให้ปลูกแต่ไม่ช่วยหาตลาดให้ขาย ทำให้ชาวบ้าน เบื่อ ระอา  ไม่ให้ความเชื่อถือกับหน่วยงานนั้นอีกต่อไป ถือแม้นจะเปลี่ยนคนใหม่ ก็ตาม ... ต้องใช้นโยบายอย่างไร....
  • ไม่เข้าใจในปัญหาของชุมชน หรือชาวบ้านอย่างแท้จริง แล้วเสนอแนวทางแก้ปัญหา  เสนอผลประโยชน์ โดยนั่งเทียนคิดว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นดีกับชาวบ้าน แล้วทำไปเลย ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง แก้ปัญหาไม่ถูกจุด... หาข้อมูลได้อย่างไร...
  • ชุมชนเองไม่มีความเข้มแข็ง  มีความขัดแย้งกันในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องของผลประโยชน์  รับเหมา  ประมูลงาน  ก่อสร้าง ฯลฯ ... ทำอย่างไรถึงเข้มแข็ง...
  •  สังคม  วัฒนะธรรม  ประเพณี มีความหลากหลาย มีความแตกต่าง เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่การจะแก้ไขปัญหาในชุมชน ต้องให้คนในชุมชนเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเองก่อน  อาจมีการจุดประกาย และแสดงให้เห็นปัญหาจากผู้รู้ ก็ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ใช้ความเข้าใจ ความเคราพซึ่งกันและกัน เห็นผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว  ตั้งใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะถ้าชุมชมไม่ยอมแก้ไขแล้วจะให้ใครมาช่วยแก้ไขได้....

พี่บางทรายยกสาระสำคัญ ๕ ประเด็นได้ชัดเจน ดีมาก ไม่เพียงนักพัฒนา นักวิชาการมืออาชีพเท่านั้นที่ควรตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ คิดว่าขณะนี้เรากำลังมีนักศึกษาทั้งปริญญาโทและเอก จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องการศึกษาในแนวพัฒนาชุมชน ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง อาจารย์ที่ปรึกษาควรจะเคี่ยวลูกศิษย์ให้นำประเด็นเหล่านี้มาคิดในงานวิจัยด้วย จะได้เกิดประโยชน์จริงๆไม่ใช่แค่จบได้ปริญญา

ได้ข้อคิดจากคุณ Tafs น้องยอดดอย อาจารย์ภูคา และคุณสิห์ป่าสักมาเติม ยิ่งเข้มข้น ได้ความรู้มากเลยค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ ภูคา

  • เห็นด้วยครับที่กล่าวถึง
  • เรามีหน้าที่สะท้อนความจริงของสังคมออกมาตีแผ่บ้าง
  • ส่วนไหนที่ช่วยแก้ไขได้ก็ทำทันทีครับ ช่วยกัน
  • สำคัญที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ค่อยขยับเท่าไหร่ครับ

สวัสดีครับคุณนายคุณนายดอกเตอร์

  • ขอบคุณครับ
  • ข้อคิดของคุณนายน่าสนใจครับ
  • เห็นด้วยอยากให้ทำวิจัยมากๆโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับชนบท
  • แต่ต่องเอาความรู้ไปใช้ด้วยนะครับ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท