จะมี Peer Assist เรื่องการดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวานกับทีมครบุรี


บ่งบอกถึงความตั้งใจและความเอาจริงเอาจังอย่างมาก

ทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ครบุรี จังหวัดนครราชสีมา นำโดยคุณหมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล ทำงาน active มาก หลังกลับจากตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ก็มีความเคลื่อนไหวมาตลอด คุณหมอฝนต้องการให้ทีมงานได้มาเรียนรู้เรื่องการดูแลเท้าจากทีมของ รพ.เทพธารินทร์ เราจึงตกลงที่จะจัด Peer Assist เรื่องนี้ในวันที่ 30-31 มกราคม 2549 ที่ รพ.เทพธารินทร์

ดิฉันและคุณหมอฝนประสานงานกันมาอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่ดิฉันขอข้อมูลอะไร คุณหมอฝนจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว บ่งบอกถึงความตั้งใจและความเอาจริงเอาจังอย่างมาก

เนื่องจากระบบอินเตอร์เน็ตของทั้ง รพ.ครบุรี และ PCU นาราก ยังไม่สะดวกสำหรับการใช้เว็บบล็อก ดิฉันจึงขอนำข้อมูลที่คุณหมอฝนส่งมาให้ดิฉันทาง e-mail เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และวันที่ 4 มกราคม 2549 เกี่ยวกับเรื่องการดูแลเท้าของทีมคุณหมอฝนมาลงไว้ เพื่อให้เพื่อนสมาชิกได้รับรู้ด้วย

E-mail จากคุณหมอฝนเมื่อ 31 ธันวาคม 2548
           เรื่องการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลครบุรี ได้เริ่มทำมาประมาณ 1 ปีกว่า โดยเริ่มด้วยการตรวจด้วย Monofilament ในปี 2547 ตรวจได้ 41.73 % และปี 2548 ตรวจได้  37.4 % พบว่ามีผลการตรวจที่ผิดปกติ 6.8 % ในปี 2548 มีผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรังหรือต้องตัดนิ้วเท้าหรือตัดเท้า 9 ราย คิดเป็น 0.79 %
            ในปี 2549 มีแผนที่จะตรวจเท้าให้ครอบคลุม 100 %
            ในปีที่ผ่านมา มีการสอนนวดเท้าและออกกำลังกายเท้า เป็นกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้สอนการดูแลเท้าอื่นๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของเรายังขาดความรู้และประสบการณ์ ดังนั้นเวลาตรวจเท้าแล้วได้ผลผิดปกติก็ได้แต่แนะนำว่าให้นวดเท้า ดูเท้าทุกวัน ออกกำลังกายเท้า และข้อเท้า และให้มาพบเมื่อเป็นแผลทันที  แต่คนที่นี่มักมาพบช้า โดยมีเหตุผล เช่น กลัวโดนตัดเท้า (ซึ่งเข้าใจผิด) , มาลำบาก , คิดว่าแค่ซื้อยาแก้อักเสบกินก็พอ หรือทำแผลเอง เป็นต้น
           แผนในปีหน้า หลังการไปศึกษาที่รพ.เทพธารินทร์ จะทำเป็นคลินิกเท้า โดยนัดให้ญาติผู้ป่วยมาด้วยในวันที่นัดผู้ป่วยมา โดยระหว่างรอเจาะเลือด และ รอผลเลือด จะมีการสอนและฝึกการดูแลเท้าให้กับผู้ป่วยและญาติ  สำหรับเรื่องอื่น ๆ ก็คงเอาไว้ไปศึกษามาก่อนค่อยวางแผนต่อเนื่องค่ะ
           สำหรับการไปศึกษาที่ รพ.เทพธารินทร์  ก็จะมีประมาณ 6 - 8 คน ได้แก่ ฝน , พี่ศรีมาลัย พยาบาลคลินิกเบาหวานที่โรงพยาบาล , ขวัญยืน นักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล , โบ พยาบาลที่สถานีอนามัยนาราก หรือ พี่ปุ๊ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยนาราก และ หมอนวดที่โรงพยาบาลอีก 2 - 4 คน ค่ะ 
         
E-mail จากคุณหมอฝนวันที่ 4 มกราคม 2549 เมื่อดิฉันขอให้บอกประเด็นที่ต้องการเรียนรู้ให้เฉพาะเจาะจง

Key problems
  1. การประเมินเท้า มีการตรวจประเมินเท้าด้วย monofilament แต่การประเมินในลักษณะอื่น ไม่มั่นใจ เช่น ลักษณะของผิวหนัง , ลักษณะการอุ่น/เย็น , การผิดรูปอื่น ๆ 
  2. ไม่ทราบว่าจะดูแลเท้าผู้ป่วยอย่างไร เวลาตรวจพบความผิดปกติ เช่น มีตาปลา , มีอาการชาที่เท้า , การตัดเล็บที่ถูกต้อง , กรณี เล็บขบ , ไม่เคยตัด callous ที่ใช้มีดปาดบาง ๆนะคะ ไม่มีใครเคยทำเลย ไม่ค่อยกล้าทำ
  3. ไม่แน่ใจในการให้คำแนะนำการดูแลเท้าแก่ผู้ป่วย
  4. การทำแผลเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน และ การใช้เทคนิก vacuum


การดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวานที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
   - มีการตรวจเท้าด้วย monofilament อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไม่ได้ดูเท้าทุกครั้ง ยกเว้นผู้ป่วยที่มีปัญหาหรือเคยมีแผลที่เท้า
   - มีการให้คำแนะนำการดูแลเท้าและการนวดเท้าแบบเป็นกลุ่ม ประมาณ 1-2 ครั้ง /ปี
   - มีการดูแลและทำแผลที่เท้าเมื่อมีแผล ที่โรงพยาบาล ผู้อำนวยการเป็นศัลยแพทย์ ดังนั้นจึงมีการทำแผล ดูแลแผล และ amputate เอง (ผอ. มักจะ conservative คือตัดน้อยกว่าหมอที่รพ.ม.)


ประเด็นที่ต้องการขอเรียนรู้
      1. การประเมินเท้า อย่างครอบคลุมลักษณะต่าง ๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง
      2. การตัด/ปาด ตาปลา callous,การดูแลเล็บ , การนวดและออกกำลังกายเท้า
      3. การทำ vacuum,แผลชนิดใดที่ใช้วิธีนี้ได้, มีหลักในการทำอย่างไรและ ประเมินผลอย่างไร
      4. การป้องกันการเกิดแผลที่เท้า
      5. หลักการเลือกรองเท้า และ ประเมินว่าเมื่อไรควรพิจารณาให้มีรองเท้าที่ทำพิเศษ และทำอย่างไร


ทีมที่จะมาขอเรียนรู้
     1. พยาบาลศรีมาลัย ดูแลคลินิกผู้ป่วยเบาหวานมา 1 ปีกว่า ๆ ค่ะ
     2. นักกายภาพ ขวัญยืน ช่วยให้คำแนะนำการนวดและออกกำลังกายเท้า 
     3. หมอนวด อีก 2 คน มีความสามารถในการนวดเท้าของแผนไทยค่ะ ไม่เคยมาทำอะไรกับผู้ป่วยเบาหวาน
     4. พยาบาล สุภาพรรณ (โบ) เป็นพยาบาลที่ PCU นาราก รับราชการมาประมาณ 2 ปี ดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ PCU
     5. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นงคราญ ทำงานที่ PCU นาราก มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยที่ PCU นาราก
     6. สกาวเดือน (ฝน ) ดูแลคลินิกเบาหวาน มาประมาณ 3 ปี ค่ะ 

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๙
                                                                                            

หมายเลขบันทึก: 11420เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2006 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เพิ่งอ่านเจอว่าเขียนเดือนผิดและมีคำผิด วันนี้ได้แก้ไขแล้วค่ะ

อาจารย์คะ หากมีการพิมพ์ผิด เราสามารถใช้รูปแบบตัวอักษรที่มีการขีดฆ่าตรงกลางก็ได้นะคะ แล้วพิมพ์เพิ่มคำใหม่ต่อท้าย การใช้งานลักษณะดังกล่าวนี้ จะพบเห็นกันบ่อยๆ ในบล็อกทั่วไปคะ เพราะเป็นทำให้ผู้อ่านรู้ว่า เจ้าของบล็อกได้ปรับปรุงส่วนใดไปบ้างคะ :)

ขอบคุณอาจารย์จันทวรรณมากค่ะ ต่อไปจะใช้วิธีที่อาจารย์แนะนำนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท