ผลประเมินด้านผลกระทบ (impact) ของโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ฯ


1. ผลกระทบด้านศักยภาพของบุคคลและชุมชน (community capacity) ที่เข้าร่วมเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนา
1.1ศักยภาพด้านความตระหนักรู้ (social awareness) และสมรรถนะในการแก้ปัญหาของตนเองและชุมชน
นักเรียนชาวนาเกิดความตระหนักรู้ในปัญหาที่ตนเอง ครอบครัว และสังคมประสบอยู่ และมองเห็นตนเองและกลุ่มสามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาได้ด้วยการพึ่งตนเองโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  มองเห็นว่าปัญหาที่สับสน ซับซ้อน และยุ่งยากมากกว่าเดิมนั้นสามารถผ่อนคลายได้โดยตั้งเป้าหมายร่วมกัน สร้างความรู้ ใช้ประโยชน์ความรู้ผ่านปฏิบัติการทางสังคม และทบทวนผลการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ปฏิบัติการครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปฏิบัติการในกระบวนการทำนาข้าวของนักเรียนชาวนานั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยง ความไม่แน่นอนอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะกับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ระบบตลาด ดินฟ้าอากาศ และปัจจัยความไม่เห็นด้วยหรือถูกมองจากเพื่อนชาวนากลุ่มอื่นในเชิงดูแคลน หรือมองว่ามีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเพื่อน แต่ท้ายที่สุดนักเรียนชาวนาก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสัมพัทธ์ มีระยะห่างทางสังคม (social distance) ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างและพิสูจน์ได้ระดับหนึ่ง ในประสิทธิผลของทิศทางที่กำลังดำเนินการอยู่ ก่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าไม่มีปฏิบัติการทางสังคมใดหรือสถานที่ใดที่ปราศจากปัญหา ปัญหาบางอย่างแก้ได้เร็ว บางอย่างแก้ได้ช้า บางปัญหาแก้ได้โดยตนเองหรือครอบครัว บางปัญหาต้องมีหลายคนช่วยเรียนรู้ร่วมกัน บางปัญหาแก้ไขครั้งเดียวจบ ขณะที่บางปัญหาต้องแก้ไขหลายๆ ครั้ง เงื่อนไขที่สำคัญมากคือ ความเชื่อมั่นในทิศทางและสิ่งที่กำลังกระทำอยู่
ในส่วนของชุมชนนั้น กล่าวได้ว่าความสามารถในระดับที่ผ่านมาของนักเรียนโรงเรียนชาวนา ทำให้เกิดความตระหนักในชุมชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้จริงของแนวทางนี้ แม้ปัจจุบันจะดำรงอยู่ในฐานะกระแสทางเลือก แต่ก็กล่าวได้ว่ามีตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ (social position) ของขบวนการทางสังคมหรือชุมชนนักปฏิบัติในด้านการจัดการความรู้เรื่องการผลิตข้าวของนักเรียนชาวนาขึ้นแล้ว
1.2 ศักยภาพด้านความเป็นผู้นำและความเป็นสมาชิกที่สนใจ “เอาธุระ” ต่อสังคม
นักเรียนโรงเรียนชาวนาที่ผ่านหลักสูตรที่ มขข. ดำเนินการตลอดกระบวนการ 3 หลักสูตรแล้ว ได้พัฒนาศักยภาพด้านความเป็นผู้นำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังเห็นได้จากมีนักเรียนชาวนาที่มีศักยภาพสามารถเป็นวิทยากร เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ในฐานะชาวนาที่มีความชำนาญถึง 25 คน (จากนักเรียนชาวนาทั้งสิ้น 208 คน) แม้ว่าเขาเหล่านี้จะมิได้ชำนาญในทุกเรื่อง แต่หากพิจารณาในแง่ความเป็นผู้นำรวมหมู่ (collective leader) ก็นับว่าโครงการที่ดำเนินการครั้งนี้สามารถพัฒนาให้เกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงในแนวทางใหม่ (transformative leaders) เพิ่มขึ้น
ศักยภาพด้านความเป็นผู้นำที่เห็นได้ชัดเจนในกลุ่มนักเรียนชาวนา นอกจากที่เกี่ยวกับกระบวนการการทำนาแล้ว ยังพบว่านักเรียนชาวนาส่วนหนึ่งมีความมั่นใจ คลายความรู้สึกว่าถูกกดทับความรู้สึกต่ำต้อย ถูกกดขี่ และวัฒนธรรมเงียบ (culture of silence) สามารถนำเสนอผลงาน มีปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการกลุ่ม มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสร้างความรู้ด้วยการวิจัยปฏิบัติการในไร่นาของตน นับว่าโครงการได้มีส่วนอย่างสำคัญในการเสริมสร้างชาวนาจำนวนมากให้มีสมรรถนะ เป็นนักจัดการความรู้ระดับท้องถิ่น มีความสามารถและมีฉันทะในการเรียนรู้ นับว่าเป็นกลุ่มนักวิจัยและนักจัดการความรู้ท้องถิ่นหรือชุมชนนักปฏิบัติกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งที่เคยมีมาในสังคมไทย
กระบวนการในโรงเรียนชาวนาได้มีส่วนทำให้นักเรียนชาวนาสนใจปัญหาร่วมของเพื่อนร่วมอาชีพและชุมชน สนใจวิกฤตที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นต้นว่าวิกฤตด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มีความตั้งใจที่ดีในการเป็นผู้ให้ มีจิตใจที่อ่อนโยนในการไม่ทำลายชีวิตของสรรพสิ่งในไร่นา คำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ ปรารถนาให้เพื่อนมนุษย์ได้บริโภคข้าวที่ตั้งใจผลิตขึ้นอย่างประณีตและปลอดสารพิษ นับว่ามีผลกระทบที่เป็นแบบอย่างเบื้องต้นต่อการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัย (food safety)
นักเรียนชาวนาจำนวนมากปรับเปลี่ยนทัศนะว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากระบบคุณค่าและพฤติกรรมของตนเอง เป็นความรับผิดชอบของตนเองและกลุ่มที่จะหาทางออก มิใช่เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ชาวนาเป็นเพียงผู้รอรับบริการหรือคอยเพียงให้ความร่วมมือกับรัฐ เนื่องจากขาดความมั่นใจในศักยภาพของตนเองและกลุ่มที่จะแก้ปัญหาที่ประสบอยู่
2. ผลกระทบด้านนโยบายต่อภาคการเกษตรของประเทศ
แม้ว่าจะมีกระแสความเคลื่อนไหว (social movement) ในการขับเคลื่อนเกษตรยั่งยืนมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่การจัดการขับเคลื่อนโรงเรียนชาวนาของ มขข. ใน โครงการนี้ก็มีคุณูปการต่อการทบทวน การกลับมาคิดใหม่ และช่วยให้ปฏิบัติการเกษตรกรรมทางเลือกเกิดการต่อยอดและมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น
การขับเคลื่อนโรงเรียนชาวนาของ มขข. ครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนที่เน้นการใช้ความรู้นำการเปลี่ยนแปลง (social research for social action) อันเป็นการขับเคลื่อนในแนวทางที่องค์กรภาคเอกชนเรียกกันว่า “งานเย็น” ผลการขับเคลื่อนเกิดเป็นรูปธรรมของความสำเร็จ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทำให้เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์เชิงนโยบาย (policy dialogue) ในสังคมมากขึ้น
รูปธรรมของนโยบายภาคเกษตรที่ชัดเจนอันเป็นผลกระทบจากโครงการนี้คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายของ อบต. ในพื้นที่ที่หันมาสนับสนุนโครงการนี้ รวมไปถึงนโยบายระดับจังหวัดที่ผู้รับผิดชอบระดับสูงได้สื่อสารขอความร่วมมือจาก มขข. ในการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด ในกรณีเครือข่ายระหว่างจังหวัด ผลการดำเนินงานของ มขข. เป็นแนวทางให้เครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติชาวนาในจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร และจังหวัดอื่นๆ ในเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนได้เรียนรู้และยกระดับพัฒนาแนวทางดำเนินงานของตนเอง
3. ผลกระทบต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ในสังคมชาวนา
การดำเนินกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนาของ มขข. นั้น ใช้แนวทางการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Andragogy) เรียนรู้จากสภาพปัญหาและการปฏิบัติได้จริง มีกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ค้นพบความเป็นจริงด้วยตนเองและกลุ่ม (Discovery learning) เป็นการส่งเสริมให้คนเล็กคนน้อยทำวิจัยเชิงปฏิบัติการสู่สังคมฐานความรู้ ก่อให้เกิดความเข้าใจว่าการวิจัยนั้นมิใช่เรื่องของอภิสิทธิ์ชน นักวิชาการเท่านั้น   บรรยากาศการเรียนรู้เน้นการปฏิสัมพันธ์แนวราบผ่านประสบการณ์ตรง สร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจ สนุกสนาน และพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคม (social relation) พัฒนาความรู้สึกมีศักดิ์ศรีขึ้นในกลุ่มที่เคยรู้สึกมีภาพลักษณ์ของตนเองว่าเป็นผู้ถูกกดขี่หรืออยู่ในสถานะด้อยกว่าผู้อื่นในสังคมโดยเปรียบเทียบ
การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นของโรงเรียนชาวนา มขข. นับได้ว่าเป็นบททดลองการปฏิรูปการเรียนรู้ในสังคมไทยที่นับได้ว่าเป็นขบวนการ (movement) เป็นกระบวนการ (process) และเป็นระบบ (system) กลุ่มแรกๆ ในสังคมไทย หากได้รับการโอบอุ้มขยายผลน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมชาวนาไทยด้วยฐานความรู้ได้
แนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ในสังคมชาวนาดังกล่าวเป็นที่รับรู้ในวงกว้างในระบบการศึกษาไทย ผู้บริหาร หรือผู้มีบทบาททางการศึกษาจำนวนมากได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนชาวนาของ มขข. และน่าจะมองเห็นประเด็นการขับเคลื่อนปฏิรูปการเรียนรู้ที่มีศักยภาพนี้ สถาบันการศึกษาในพื้นที่และนอกพื้นที่จำนวนมากได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนชาวนาของ มขข. เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน และภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนด้านเกษตรกรรมยั่งยืนทั่วประเทศไทย ได้เรียนรู้นำไปประยุกต์ใช้กับเครือข่ายของตน นักศึกษาระดับปริญญาโท – เอก หลายคนได้ใช้กรณีโรงเรียนชาวนา มขข. ศึกษาเป็นวิทยานิพนธ์ ซึ่งนับเป็นความพยายามตั้งต้นอีกครั้งหนึ่งของการปรับฐานคิดของการผลิตบัณฑิตและนักวิชาการรุ่นใหม่ (young scholar) เพื่อรับใช้สังคมไทย
ความโดดเด่นของการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ในกลุ่มชาวนาของ มขข. ทำให้ผู้แทนนักเรียน ชาวนาและบุคลากรแกนนำได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายรายงานการดำเนินงานต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนับเป็นผลกระทบที่สำคัญมากของโครงการนี้
4. ผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพทุนในชุมชน (Community Capitals)
การขับเคลื่อนโรงเรียนชาวนาของ มขข. มีศักยภาพในการพัฒนาทุนในชุมชนหลายด้าน เป็นต้นว่า การพัฒนาทุนมนุษย์นักเรียนชาวนา และยังมีผลกระทบข้างเคียงต่อการพัฒนาความตระหนักต่อแนวทางดังกล่าว ดังเห็นได้จากได้เกิดโรงเรียนชาวนากลุ่มที่ 5 ขึ้น (โรงเรียนบ้านรางแฟบ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี) แล้ว โดยการรวมตัวกันเองของชาวนาและมาขอความช่วยเหลือด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้จาก มขข. การนำแบบอย่างแนวทางไปดำเนินงานของ อบต. บางแห่งในพื้นที่ หรือชาวนาข้างเคียงที่ไม่ได้เข้ามาเป็นนักเรียนชาวนา แต่มองเห็นตัวอย่างจากความสำเร็จ (แม้จะไม่ได้นำตัวอย่างทั้งหมดหรือครบกระบวนการไปใช้) การมาดูศึกษางานและฝึกปฏิบัติจริงกับ มขข. ของชาวนาในเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก
ในด้านทุนทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในชุมชนพื้นที่ของนักเรียนชาวนา พบว่า เริ่มมีสภาพดีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพดิน พืชผัก สัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รูปธรรมที่ชัดเจนคือ ในช่วงฤดูเพาะปลูก ตุลาคม 2548 – มกราคม 2549 เพียงฤดูเดียว ชาวนาบ้านสังโฆ อ.บางปลาม้า สามารถนำกุ้งฝอยจากนาอินทรีย์ไปบริโภคเองและขายได้กว่า 1 ล้านบาท ในช่วงฤดูการผลิตต่อไปมีความตั้งใจกันว่าจะนำกุ้งฝอยที่ได้ไปทำกะปิอินทรีย์และจับปลาในนาทำปลาร้าด้วย การที่นักเรียนชาวนา มีต้นทุนทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดีขึ้น และมีกิจกรรมในวิถีชีวิตดังกล่าวย่อมเป็นแนวทางที่ดีต่อกระแสความเคลื่อนไหวเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน (sustainable consumption)
ในส่วนของศักยภาพการพัฒนาทุนทางสังคมและวัฒนธรรมนั้น เห็นได้ชัดเจนในเรื่องการฟื้นฟูประเพณี พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกข้าว พิธีกรรมเกี่ยวกับแม่โพสพที่นักเรียนชาวนาจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนำสู่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างชาวนากับชาวนา ชาวนากับธรรมชาติ และชาวนากับมิติจิตวิญญาณ นอกจากนี้เมื่อสภาพแวดล้อมในไร่นาดีขึ้น นักเรียนชาวนาในหลายพื้นที่รวมทั้งเครือข่ายได้ร่วมกันฟื้นฟูการทำน้ำพริกสูตรต่างๆ ของหมู่บ้านตนเองขึ้น การทำน้ำพริกนั้นนอกจากเป็นการฟื้นฟูทุนทางสังคมและแบบอย่างความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ยังต้องอาศัยระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์จึงจะดำเนินการได้ ซึ่งพบว่าสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีแล้วในชุมชนนักเรียนชาวนา มขข. ซึ่งย่อมนำไปสู่สุขภาวะที่ดีของชาวนาและผู้เกี่ยวข้อง
ในส่วนของทุนเงินตรานั้น เป็นที่แน่ชัดว่าการทำนาในแนวทางนี้ย่อมทำให้เกิดการลดต้นทุนในการผลิต ลดต้นทุนด้านดูแลรักษาสุขภาพ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิต และจากระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ขึ้นดังกล่าวมาแล้ว
5. ผลกระทบต่อสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และภาคประชาสังคมไทย
สคส. มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญคือ เชื่อมการเรียนรู้ระหว่างชุมชนนักปฏิบัติ สร้างขีดความสามารถด้านการจัดการความรู้และสร้างกระแสการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนสังคม ไทยด้วยความรู้และภูมิปัญญา สร้างวัฒนธรรมการทำงานของผู้ปฏิบัติที่ใช้ความรู้จากฐานการปฏิบัติจริง
การเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานโรงเรียนชาวนาของ มขข. โดย สคส. นั้น นับว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกัน และมีส่วนก่อให้เกิดผลกระทบในทางที่ดีต่อกัน กล่าวคือ การดำเนินงานของ มขข. มีส่วนช่วยให้ สคส. มีความแข็งแกร่งเชิงสถาบันเพิ่มขึ้น (institutionalization) มีศักยภาพในการประสานเป็นหน่วยเชื่อม (hub) การทำงานจัดการความรู้ของเครือข่ายภาคประชาสังคมมากขึ้น ได้แนวทางการทำงานที่ช่วยให้ สคส. เข้มแข็งมากขึ้น เช่น ได้แนวทางการทำงานและพัฒนาสมรรถนะร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม แนวทางกำหนดหนุนเสริมนโยบายสาธารณะ แนวทางติดตามประเมินผล สังเคราะห์ความรู้ และถอดบทเรียนในแนวทางเสริมพลังกลุ่มคนที่เสียเปรียบ (small people) ในสังคม เป็นต้น
ในส่วนของ มขข. และเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเกษตรกรรมยั่งยืนนั้น การร่วมดำเนินงานโรงเรียนชาวนากับ สคส. ทำให้ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงว่า การทำงานขับเคลื่อนสังคมในยุคซับซ้อนและมีพลวัตสูง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีความสับสน แก้ไขได้ยากกว่าเดิมนั้นต้องใช้วิถีทางในการดำเนิน งานที่ต่างไปจากเดิม กล่าวคือ ต้องใช้การจัดการความรู้ และสร้างความรู้นำการเปลี่ยนแปลง หากยังคงดำเนินงานในแนวทางเดิมๆ อาจได้ผลน้อยลงกว่าที่เคยได้ ขยายผลและสร้างความยั่งยืนได้ยาก และอาจไม่สามารถขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้ การปรับการทำงานโดยใช้การจัดการความรู้เป็นทั้งเครื่องมือและเป้าหมายน่าจะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในยุคสังคมฐานความรู้นี้
โดยสรุปกล่าวได้ว่า การดำเนินการโรงเรียนชาวนาของ มขข. โดยใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ครั้งนี้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีอย่างน้อยในด้านที่กล่าวมาแล้ว
อ้อม สคส.
ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการติดตามประเมินผลภายในและการถอดบทเรียนกระบวนการจัดการความรู้ เรื่องการทำนาข้าวฯ (พฤษภาคม 2550)
หมายเลขบันทึก: 106038เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สวัสดีครับ หญิง อ้อ อ้อม แวะมาเยี่ยมครับ ต้องขอขอบคุณที่แบ่งปันความรู้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท