รถไฟหายไปไหน


เป็นไปได้อยากได้รถไฟคืนมา

            ช่วงสงกรานต์ ผมและครอบครัว  หอบผ้าหอบผ่อนไปพักที่บ้าน เพื่อขอพรพ่อแม่  และตอบแทนบุญคุณท่านที่ไม่รู้จะเทียบกับอะไรได้

            ในการย้อนรอยกลับไปนอนค้างคืนกับพ่อแม่  แทนการไปเที่ยวผักผ่อนในสถานที่ท่องเที่ยวในครั้งนั้น  ผมได้กำไรอย่างเดียวไม่มีขาดทุน เพราะแทบไม่ต้องจ่ายอะไรเลย

  • ผมได้ทำให้พ่อกับแม่ท่านยิ้มได้ตลอดดูท่านมีความสุขมากที่เห็นลูก ๆ ของท่านมาพร้อมหน้าพร้อมตา
  • อะไรที่เราเคยชอบตอนเด็ก ๆ ท่านจะขนออกมาให้เราได้กินได้ทาน
  • ผมได้แสดงในสิ่งที่ทำให้น้อง ๆ เห็นแทนการใช้คำพูดคำสอน ซึ่งเป็นผลตามมาหลาย ๆ อย่างในเวลาต่อมา 
  • ได้พบได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลง

            ความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างเห็นแล้วเสียดาย  เพราะบางอย่างหายไปแล้ว  และคงไม่อาจเรียกคืนมาอีกได้

            เสียงรถไฟเป็นเสียงที่มีเสน่ห์มากเมื่อหลายปีก่อน  เราสามารถได้ยินเสียงรถไฟดังแต่ไกลได้  เพราะสภาพธรรมชาติยังสมบูรณ์เป็นธรรมชาติจริง ๆ   เมื่อถึงเวลามันจะเงียบของมันเอง   เสียงรถไฟที่อยู่ห่างออกไปเป็นสิบ ๆ กิโลเมตรเรายังสามารถได้ยิน  เพราะความเงียบหลังเที่ยงคืน  และเช้าตรู่ 

             เสียงรถไฟมาเป็นเวลา  เช้า เย็น ดึก ส่วนกลางวันถ้าไม่มีลมพัดแรง ก็สามารถได้ยิน  ชาวบ้านเลยถือโอกาสให้มันเป็นนาฬิกาบอกเวลาตามวิถีชีวิต  ไปไร่ ไถนา กรีดยาง  เลี้ยงวัว ควาย ไปไหน จะไปไหนทำอะไร หรือเพื่อการนัดหมายนัดพบ

             ตอนดึกสงัด  เสียงที่ได้ยินมาแต่ไกลเป็นเสียงหวูด  สักพักจะได้ยินเสียง ท่อควันไฟ "วู๊บ วู๊บ ๆ ๆ ๆ " ต่อมาเป็นเสียงล้อเหล็กกระทบปลายข้อต่อราง  เสียงจะดังแรงเมื่อมันวิ่งผ่านสะพาน เพราะแรงสั่นสะเทือนของเหล็กหลาย ๆ ท่อน เสียงจะรวมกันเป็นพลัง  เวลากรีดยางประมาณตี 2  จะได้ยินเสียงชัดเจน และมันก็ค่อยๆ เงียบหายไปเมื่อมันแล่นห่างออกไป

             วันนั้นที่ผมไปพักที่บ้าน  พยายามฟังแล้วไม่ได้ยิน  รถไฟหายไปไหน  เพราะผมได้ยินแต่เสียงรถยนต์ เสียงท่อมอเตอร์ไซต์ บนถนนใหญ่  4 แลน  ซึ่งเป็นความเจริญของทางสัญจรที่เพิ่งตัดผ่านเข้ามา  ขวางเสียงรถไฟไม่ให้ผ่านไปบ้านผม 

             รถไฟ(เสียง)หายไป  พร้อม ๆ กันหลาย ๆ อย่างที่หายตามไปด้วย  วิถีชีวิต  ชุมชน ความใกล้ชิด ความเอื้ออาทร สมัยเก่า  กลับเป็นการแข่งกันสร้างสิ่งของให้เกินหน้าคนอื่น  การเดินตามหลังกันบนคันนาเป็นแถวเรียงหนึ่งเพื่อไปรอขึ้นรถไฟหายไปแล้ว ทุกคนต่างมีรถส่วนตัว  และเรียกได้เหมาะจริง ๆว่า "ส่วนตัว"เพราะส่วนตัวจริง ๆ  ต่างคนต่างก็ส่วนตัว  สังคมมีแต่เรื่องส่วนตัว  ซึ่งน่าจะคล้าย ๆ กันเกือบทุกชุมชน เสาที่ไม่ได้ยึดโยงกัน  สั่นคลอนได้ง่าย ๆ เพราะไม่มีเกราะโครงสร้างป้องกัน ต่างเสาต่างอยู่โดดเดี่ยว  หลายเสาล้มครื้นลง  รู้ตัวก็สายกว่าจะยกขึ้นตั้งตรงได้ บางต้นล้มแล้วล้มเลยไม่สามารถยกได้

            เป็นไปได้อยากได้รถไฟคืนมา 

คำสำคัญ (Tags): #เสน่ห์ธรรมชาติ
หมายเลขบันทึก: 103746เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรเช่นกัน นอกจากเสียดาย  ...เช่นกันค่ะ

ที่บ้านแม้อยู่กรุงเทพฯ ก็อยู่ชานเมือง ก้าวข้ามอีกก้าวเดียว ก็เป็นเขตสมุทรสาคร

สมัยเด็กๆ มีทุ่งนา  สวน รอบบ้าน กว้าง ไกล สุดลูกหู ลูกตา  ร้อนก็โดดลงคลองว่ายน้ำสบายใจ

แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว  ... มีแต่หมู่บ้านจัดสรร และในคลองตื้นเขินที่มีแต่น้ำเน่าเสีย 

เสียดายค่ะ

 

  • วลา ผ่านไป รถไฟ อาจจะ คืนมา 
  • เวลา ไม่รู้นานแค่ไหน 
  • และอาจจะ ไม่รู้ว่าจะได้คืนมาหรือเปล่า
  • เพราะถ้าไม่เจอเหตุการณ์กับตัวเอง จะคิดไม่ออก อย่างที่พี่อำนวยที่ อ.พระพรหม เล่าให้ฟัง เรื่องอันตรายจากสารเคมี จึงได้เดินทางสู่เกษตรอินทรีย์
  • อ่านบันทึกพี่ชาญวิทย์ แล้วย้อนคิดถึงสมัยเด็กๆทุกที
  • ขอบคุณครับ
  • เป็นธรรมดาที่ว่า พอเริ่มมีอายุ ก็มักจะพูดถึงความหลัง (เขาว่ามานะ..อิอิ)
  • อ่านแล้วก็ทำให้ผมคิดถึงความหลังในอดีตที่ธรรมชาติยังสดใสเช่นกันครับ (เอ..เราก็อายุเริ่มมากขึ้นแล้วเหมือนกัน)
  • ขอบพระคุณมากครับ ที่นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน

 

ขอบพระคุณมากครับคุณ ชาญวิทย์-นครศรีฯ  ที่ยังคิดถึงและอยากเห็นรถไฟไทย

สวัสดีครับ คุณจินตนา อิ่มรักษา

  • ดีใจมากครับที่เจอคนที่มีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน เสียดายครับสิ่งดี  ๆ  ที่มีแต่จะหมดและหายไป

คุณน้อง หนุ่มร้อยเกาะ

           หลายอย่างมีแต่จะเลือนหายไป  เรียกกลับคืนนั้นยากมาก เพราะคนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิตที่เริ่มจากจุดใหม่ อยู่กับสังคมปรุงแต่งไม่ใช่จุดเดียวกันกับคนที่เป็นรุ่นพี่ ๆ  หรือรุ่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เริ่มที่ความเป็นธรรมชาติของสังคม

คุณน้อง  สิงห์ป่าสัก

  • อายุไม่มากก็นึกย้อนหลังได้ครับ
  • มันมีอะไรที่นึกแล้วเสียดายมาก ๆ กับวิถีชีวิต ในหลายปีที่ผ่าน
  • ขอบคุณมากครับ

เรียน คุณ สะ-มะ-นึ-กะ

  • รถไฟที่ใช้ไม้ฟืนช่วงหลายปีที่แล้วนั้น  เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมชนบท  เพราะมีทางสัญจรทางเดียวนี้แหละครับ เป็นทางหลักเมื่อเดินทางไปต่างอำเภอ
  • ผมยังจำกลิ่นควันไฟที่โปรยกระจาย เมื่อรถไฟแล่นไปได้เลยครับ
  • ขอบคุณครับที่มาเยี่ยม

สวัสดีครับ

เสียงรถไฟมาเป็นเวลา  เช้า เย็น ดึก ส่วนกลางวันถ้าไม่มีลมพัดแรง ก็สามารถได้ยิน  ชาวบ้านเลยถือโอกาสให้มันเป็นนาฬิกาบอกเวลาตามวิถีชีวิต  ไปไร่ ไถนา กรีดยาง  เลี้ยงวัว ควาย ไปไหน จะไปไหนทำอะไร หรือเพื่อการนัดหมายนัดพบ

ตอนดึกสงัด  เสียงที่ได้ยินมาแต่ไกลเป็นเสียงหวูด  สักพักจะได้ยินเสียง ท่อควันไฟ "วู๊บ วู๊บ ๆ ๆ ๆ " ต่อมาเป็นเสียงล้อเหล็กกระทบปลายข้อต่อราง  เสียงจะดังแรงเมื่อมันวิ่งผ่านสะพาน เพราะแรงสั่นสะเทือนของเหล็กหลาย ๆ ท่อน เสียงจะรวมกันเป็นพลัง  เวลากรีดยางประมาณตี 2  จะได้ยินเสียงชัดเจน และมันก็ค่อยๆ เงียบหายไปเมื่อมันแล่นห่างออกไป

......

ผมขออนุญาตคัดลอกมาแสดงอีกครั้ง  เพราะสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับเสียงรถไฟได้อย่างน่าสนใจ  ..

สังคมเปลี่ยนไปทุกวัน  จนบางทีเราก็ลืมที่จะสังเกต ..

เรียน คุณแผ่นดิน

  • เข้ามาเยี่ยมคลาดเคลื่อนกันประมาณ 5 นาที ครับ
  • ผมปิดเครื่องไปเยี่ยมพ่อแม่ครับ
  • ขอบคุณมาก ๆ นะครับที่มาเยี่ยม ดีใจที่มีคนรู้สึกแบบผมหลายครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี