เรื่องเล่าจากดงหลวง 112 วงจรหน้าจืด ความจริงที่ซ่อนอยู่


ผู้บันทึกลงไปสัมผัสชาวบ้านในเรื่องนี้แล้วน่าตกใจมาก ที่ภาวะความเป็นหนี้สินสูงมากขึ้น ต่อครัวเรือน และจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้สินก็มากขึ้น บางหมู่บ้านมีเพียงครอบครัวเดียวที่ไม่มีหนี้สิน “วงจรหน้าจืด” นี้ คืองานหนักสำหรับผู้รับผิดชอบ “วงจรหน้าจืด” นี้ คือระเบิดลูกใหญ่ที่ถูกวางลงในชุมชนทั่วไปหมดแล้ว การเดินขบวนเพื่อการปลดหนี้ที่หน้ากระทรวงเมื่อเร็วๆนี้นั้นเป็นเรื่องเล็กไปเลย หากนำข้อเท็จจริงนี้มาเปิดเผยตัวเลขจริงแล้วน่าตกใจ

หลังการปฏิวัติเขียว ประเทศไทยเปลี่ยนระบบการผลิตมาสู่เพื่อการค้าขายและส่งออก เกษตรกรของเราก็ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตไปผ่านระบบการส่งเสริมของราชการและธุรกิจการเกษตรต่างๆ  การทำการผลิตแบบดั้งเดิมที่อาศัยธรรมชาติด้านต่างๆก็สิ้นสุดลง ต่างต้องมาพึ่งพาปัจจัยการผลิตตามระบบใหม่ เช่น พันธุ์พืชใหม่ๆ เครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ กระบวนการผลิตใหม่ตั้งแต่ต้นจนขาย การเตรียมดินต้องจ้างรถไถ ปลูกต้องจ้างแรงงาน ดูแลโรคภัยต้องใช้สารเคมี ต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่  ต้องจ้างเก็บเกี่ยว ต้องจ้างขนส่งเข้าบ้าน จ้างขนส่งไปขาย อื่นๆอีกในกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและหลากหลายตามท้องถิ่น ชนิดพืชและการปฏิบัติต่างๆกัน  

ล้วนแต่ต้องใช้เงินทั้งสิ้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญของความต้องการเงินลงทุนทำการผลิต นำมาซึ่งการเกิดกองทุนต่างๆในชุมชน นับตั้งแต่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุน กข.คจ. กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร กลุ่มสมาชิก ธกส. กลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตร  และที่มาแรงแซงโค้งก็คือ กองทุนเงินล้าน ซึ่งเกิดขึ้นตามนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ที่ยังฮือฮาอยู่ในปัจจุบันนี้  ทุกกองทุนล้วนมีเจตนาที่ดีในการเป็นการเติมเต็มให้แก่การขาดแคลนปัจจัยการผลิตที่สำคัญดังกล่าว  แต่เมื่อเกษตรกรก้าวเข้ามาสู่ระบบการผลิตแบบใหม่นั้น  ชีวิตก็ตกอยู่ใน วงจรหน้าจืด แบบสลัดไม่หลุด ปลดไม่ออก หนีไม่พ้น  วนเวียนอยู่กับการกู้เงินและใช้คืน 

วงจรเงินกู้เกษตรกร ที่เรียกว่า "วงจรหน้าจืด"

เกษตรกรกู้เงินกองทุนเงินล้านเพื่อนำไปลงทุนทางการผลิตการเกษตรต่างๆ ซึ่งข้อเท็จจริงก็มีว่า นำเงินไปใช้จริงตามประสงค์การกู้เงิน แต่มีจำนวนมากที่มิได้นำเงินไปใช้จ่ายตามที่แจ้งให้ทางหน่วยงานรับผิดชอบทราบ ก็เอาไปซื้อสิ่งของต่างๆเสียบางส่วน  เมื่อการผลิตไม่ได้ตามความคาดหวัง ก็ไม่สามารถนำเงินไปใช้คืนได้  เมื่อถึงกำหนดคืน ก็ต้องไปกู้กองทุนอื่นๆในชุมชนนั้นแหละไปใช้แทน เมื่อคืนตามจำนวนแล้ว ก็ต้องกู้เงินจากกองทุนเงินล้านอีกเพื่อเอาไปคืนกองทุนที่กู้มาชั่วคราว  วนเวียนอยู่เช่นนี้ ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อใด                  

บางบ้านกำหนดว่าจะต้องส่งคืนกองทุนเงินล้านในเดือน มกราคม เดือนธันวาคมก็ต้องไปกู้ยืมมาจากแหล่งทุนอื่นๆมาคืน เมื่อคืนเสร็จทำระบบบัญชีเรียบร้อยส่งระบบบัญชีให้ทางราชการเป็นหลักฐานว่าคืนเงินกู้ครบแล้ว  เป็นอันครบรอบวงจรรอบที่หนึ่ง แล้วเริ่มวงจรเงินกู้ครั้งใหม่อีก คณะกรรมการกองทุนเงินล้านก็ปล่อยเงินกู้ต่อไปอีก ซึ่งก็เป็นคนกลุ่มเดิมที่กู้เงินต่ออีกเพื่อหมุนไปใช้จ่ายและคืนแหล่งเงินทุนที่ขอยืมมา  ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบก็เอาบัญชีสิ้นสุดปีนั้นไปรายงานต่อในระดับสูงต่อไป ซึ่งภาพที่ออกมาก็คือ เงินกู้คืนครบหรือเกือบครบ อันนำไปสู่การชื่นชมว่าประสพผลสำเร็จ  แต่เบื้องหลังนั้นเงินที่คืนมานั้นหมุนออกไปอีกรอบหมดแล้ว 

ผู้บันทึกลงไปสัมผัสชาวบ้านในเรื่องนี้แล้วน่าตกใจมาก ที่ภาวะความเป็นหนี้สินสูงมากขึ้น ต่อครัวเรือน และจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้สินก็มากขึ้น บางหมู่บ้านมีเพียงครอบครัวเดียวที่ไม่มีหนี้สิน วงจรหน้าจืด นี้ คืองานหนักสำหรับผู้รับผิดชอบ  วงจรหน้าจืด นี้ คือระเบิดลูกใหญ่ที่ถูกวางลงในชุมชนทั่วไปหมดแล้ว  การเดินขบวนเพื่อการปลดหนี้ที่หน้ากระทรวงเมื่อเร็วๆนี้นั้นเป็นเรื่องเล็กไปเลย หากนำข้อเท็จจริงนี้มาเปิดเผยตัวเลขจริงแล้วน่าตกใจ  

ซึนามิลูกใหม่พร้อมที่จะเกิดขึ้นหากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่รีบขยับทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

หมายเลขบันทึก: 101890เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2007 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • มาทักทายพี่ชาย
  • แถวๆๆสุพรรณ กาญจนบุรี
  • พอไปถามข้อมูลก็ได้แบบพี่ครับ
  • วงจรเงินกู้เกษตรกร ที่เรียกว่า "วงจรหน้าจืด"

  • สงสารชาวบ้านไม่ทราบว่าจะช่วยอย่างไรดี
  • ใครมีหนทางช่วยได้บ้างครับ
  • หนี้มีหลายระบบมาก

ตอนพานักศึกษาไปออกชุมชนแถวลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี ก็พบปัญหานี้เช่นกันค่ะ

ทีนี้ปัญหาที่ไปพบที่ร้ายมากคือการขายที่นา เอาเงินมาใช้หนี้ค่ะ  (ไม่มีนา แต่แทบทุกบ้านที่เป็นหนี้มีมือถือค่ะ  มีสิ้นค้าขายตรงพวกแอมๆ จิ๊ฟๆใช้ด้วย!) ทีนี้พอไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ก็ต้องไปรับจ้างทำนาที่อื่นๆ บางทีไปถึงชัยนาท นครสวรรค์ ใึครไปเช้าเย็นกลับก็ยังไม่เท่าไหร่  ครอบครัวยังเป็นครอบครัว แต่หลายๆบ้านไปนาน บางทีไปหางานอื่นทำ ในหมู่บ้านมีแต่คนแก่กับหลาน

ถ้ายังมีที่ดิินทำการเกษตรอยู่ ยังไงซะยังพอหาทางออกได้ แต่นี่ หน้าจืดสนิทค่ะ

อ่านแล้วรู้สึกจืดสนิทเหมือนกันค่ะ... ดูวงจรแล้วมันวนไม่มีสิ้นสุดเลย แต่ละรอบที่วน ต้นกับดอกก็จะสูงขึ้นๆ คนเป็นหนี้ก็จะเป็นหนี้แบบไม่มีสิ้นสุด...

ไม่มีงานในชุมชน --> ไม่มีเงินใช้ --> ออกไปหางานที่อื่น --> เงินเดือนที่ได้ไปหมุนอยู่ในชุมชนอื่น เช่นกรุงเทพ (ที่ค่าครองชีพแพง) ไม่กลับมาที่บ้านเกิด --> ซื้อมือถือ ทีวี ฯลฯ --> ไม่มีคุณภาพชีวิต ไม่มีเงินเช่นเดิม --> กู้เงิน ....  เข้าสู่วงจรหน้าจืด...

ทำอย่างไรถึงจะให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้..มีรายได้อยู่ในชุมชนของตัวเอง การช่วยเหลือต้องเป็นการสร้างอาชีพ ไม่ใช่การให้กู้ แล้วมายกหนี้ พักชำระหนี้ แล้วก็ให้กู้อีก

การช่วยเหลือจะต้องสร้างเศรษฐกิจในชุมชน..ต้องมีงาน..สร้างงาน... แต่ปัญหานี้ ใหญ่มากจริงๆ นี่ก็กำลังดูรายการเปิดบ้านพิษณุโลก นายกสุรยุทธ์กำลังพูดถึงการสร้างชุมชนเข้มแข็ง แต่ก็ยังไม่เห็นทางออกที่ชัดเลย...

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

ตอนนี้เบิร์ดก็กำลังเจอ " วงจรหน้าจืด " ในชุมชนเหมือนกันค่ะ..ทำเอาเบิร์ดหน้าจืดสนิทเลย...ต้องค่อยๆดูทีละปม..ตอนนี้ยังไม่ได้แก้ไขอะไรเพราะยังแกะไม่ออก

มีคำแนะนำมั้ยคะ...เบิร์ดมึนตึ้บเลยค่ะมีหนี้แม้แต่ค่าโทร.มือถือ !

สวัสดีครับ
Pบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)
มารายงานว่าผมได้เอาข้อความคุณไปรวมตะกอนนะครับ ขอบคุณครับ

พี่บางทรายคะ

วงจรหน้าจืดที่แก้ไขยากในกลุ่มคนกินเงินเดือนหลวงค่ะ...ไปเขียนไว้ในบันทึกของอาจารย์ขจิตค่ะ

เนื่องมาจากวงจรหน้าจืด (จืดสนิทจริงๆ) ช่วยผมด้วยนะครับ

สวัสดีครับน้องขจิต

ดีใจที่น้องขจิตได้ขยายประเด็นออกไปครับ

มันเป็นประเด็นธรรมดาที่ใครๆก็รู้กัน  แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีหน่อยงานใดเข้ามาหยิบไปทำ คลี่คลายปัญหานี้ออกไปให้จางลงไปบ้าง  แม่แต่ทบต้นมากขึ้น

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์

P

ใช่แล้วครับปัญหานี้มีอยู่ทั่วไป หนักบ้าง เบาบ้าง แต่ที่ติดตามห่างๆเป็นระยะมานี้ เห็นว่าหนักมากขึ้นครับ กรณีที่อาจารย์กล่าวถึงนั้นเป็นที่สุดของปัยหา เหมือนชาวบ้านได้ทิ้งไพ่ใบสุดท้านลงแล้ว คือการขายที่นาใช้หนี้ แล้วไปรับจ้าง เมื่อคนไม่มีทางออกที่ดีกว่าและภาวะบีบรัดเขาก็จำเป็นต้องปล่อยที่นาผืนสุดท้ายไป(ด้วยน้ำตา)  น่ากลัวสุขภาวะทางจิตของเกษตรกรเหล่านี้ครับ

สวัสดีครับ อาจารย์
P

"ทำอย่างไรถึงจะให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้..มีรายได้อยู่ในชุมชนของตัวเอง การช่วยเหลือต้องเป็นการสร้างอาชีพ ไม่ใช่การให้กู้ แล้วมายกหนี้ พักชำระหนี้ แล้วก็ให้กู้อีก"

นี่แหละครับคือประเด็นสำคัญ สมมุติว่านี่คือประเด็นของชาติ จะเรียกวาระแห่งชาติก็ได้  แล้วเอาคำที่ชอบพูดกันมากว่า "ต้องบูรณาการ" ลองมาบูรณาการแก้ปัญหาประเด็นนี้กันซิ หากถามหน่วนงานราชการก็จะบอกว่าก็ทำอยู่นี่ไง

แต่ความจริงคือ ปัญหามากขึ้น รุนแรงขึ้น

ผมเชื่อในศักยภาพคนไทยเราว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้ครับ  ผมก็เชื่อว่าศักยภาพของข้าราชการไทยสามารถจะร่วมกันแก้ไขปัฯหานี้ได้

หากท่านเหล่านั้นเสวยสำนึกแห่งชาติ และดื่มด่ำกับอุดมคติแห่งการเดินไปด้วยกันของเหล่ามวลพี่น้องร่วมชาติ ตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา พี่น้องบาระจันแค่หยิบมือยังกล้าลุกขึ้นสู้ข้าศึกศัตรู ความยากจนและการเป็นหนี้สินนั้น หากร่วมมือกันด้วยอุดมการและสำนึกแล้ว ภายใน 5 ปียอดหนี้สินจะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำไป

วิธีการมีครับ  แต่รัฐจะเอาด้วยหรือเปล่าล่ะในวิธีการแก้ไขแบบยั่งยืนน่ะ..(อาจจะต้องเปิดประเด็นการแก้ไขต่อไปครับ หรือไม่ก็ไปที่ Blog ของ อ.ขจิต)

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับน้องสาวเบิร์ด

P
  • โดยบทบาทตรงแล้วเราไม่ใช่มีหน้าที่โดยรับผิดชอบไปแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน
  • แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราควรจะเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยความผูกพัน ด้วยสำนึก และอุดมการณ์
  • พูดในแบบหลักการก็ต้องกล่าวว่า ใครคือผู้ที่มีหนี้สิน เพราะอะไร ทำไม เมื่อไหร่ เท่าไหร่ แก้ไขกันมาอย่างไร มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ฯลฯ เมื่อทราบอย่างละเอียดแล้วก็ต้องคุยกันกับเหล่าบรรดา หน้าจืดทั้งหลายนั้น (รวมทั้งเราที่หน้าจืดด้วย) ว่าการแก้ไขหนี้สินนั้นไม่สามารถใช้วิธี เดิมๆได้ แต่ต้องใช้วิธีถอนรากถอนโคนแบบ "ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม"
  • ประสบการณ์ของพี่มีทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบกลุ่ม แบบบุคคลใช้วิธีปลุกจิตสำนึกใหม่ แล้วลงไปวิเคราะห์รายละเอียดของการเกิดภาระหนี้สินแล้วพยายามตัดวงจรความเสี่ยงในการลงทุนทางการเกษตรลง และเพิ่มการพึ่งตนเองมากขึ้น คนที่มุ่งมั่นและยอมรับการเปลี่ยนแปลง หรือปรับตัวได้จึงจะแก้ปัญหานี้ได้  แต่หากปรับตัวไม่ได้ ก็เข้าสู่วงจรเสี่ยงอีกต่อไป หากโชคดีก็หลุดรอดได้ หากโชคร้ายก็ไม่หลุด  แต่ที่สำคัญคือความอดทน มุ่งมั่นครับ
  • ส่วนแบบกลุ่มนั้น ก็คล้ายๆแบบบุคคลที่ต้องเริ่มจากการปลุกจิตสำนึกให้เข้าใจภาพรวมและรายละเอียดส่วนตน แยกแยะออกมาให้ชัดเจนว่าเราพลาดตรงไหน  แล้วปรับเปลี่ยนโดยใช้เวลา และใช้ระบบกลุ่มเข้ามาช่วยกัน  โดยตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา แล้วใช้เวทีการออมทรัพย์แต่ละเดือนนั้นมาย้ำถึงสำนึก และกระบวนการปลดหนี้ และเอาเงินจากกลุ่มไปลงทุนการผลิตที่ลดความเสี่ยง หรือเสี่ยงน้อยที่สุด และทำการค้าในชุมชนแบบ "ตลาดชุมชน" โดยผลิตเองแล้วเอามาขายกันเองในชุมชน  ค่อยๆตัดวงจรหนี้ลงไปด้วยการช่วยกัน  แต่นั่นต้องมีสำนึกร่วมกันและใช้เงินจากกลุ่มไปเป็นตัวช่วย
  • ต้องใช้เวลา ใช้ความพยายามที่สูง  การก่อหนี้ง่ายแสนง่าย การแก้ ยากแสนยาก เพราะเราไปแก้เขา ต่างมีเงื่อนไขเฉพาะมากมาย ละเอียด และร้อยแปดครับ  ระบบกลุ่มออมทรัพย์พี่เคยทำตั้งแต่สมัยทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่โน้นครับ จะส่งหนังสือ "ตลาดชุมชนมาให้" เอาใจช่วย และยินดีปรึกษาหารือกัน
สวัสดีครับ
P

ขอบคุณมากครับ ที่เอาสาระไปขยายต่อด้วยความยินดีครับ

สวัสดีครับน้อง
P

ขอบคุณมากที่มาบอกข่าวให้ทราบ พราแวะไปแล้ว  ดีครับที่เอาประเด็นไปขยายต่อให้เกิดการต่อยอดกันอย่างกว้างขวางออกไป

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

แอมแปร์อ่านบันทึกนี้ด้วยความรู้สึกเจ็บปวด  เพราะลูกศิษย์ที่น่ารักและเป็นเด็ก "มือดี" จำนวนหนึ่ง  ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา  เพื่อไปทำงานหาเงินใช้หนี้ 

และให้เหตุผลว่าถ้าเรียน  ก็ไม่ได้ทำงาน  ถ้าไม่ได้ทำงาน ก็ไม่มีเงิน  ถ้าไม่มีเงิน  ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปใช้หนี้    และหนี้ที่เป็น  คือหนี้ที่กู้เงินนอกระบบมาจ่ายค่าลงทะเบียนเรียน 

แบบเดียวกับที่พ่อแม่พวกเขากู้เงินจากระบบ  แล้วก็สลบอย่างเป็นระเบียบ  กลายเป็นลูกหนี้ถาวรไปทั้งหมู่บ้าน  ด้วยฝีมือของคนที่ไม่ต้องกลับมารับผิดชอบอะไรเลย 

แอมแปร์รู้สึกเจ็บปวดจริงๆ  ที่ต้องรับรู้เรื่องบัณฑิตซัมธิงวิลเลจ  (โทษทีนะคะ  ขอไม่กล่าวถึงชื่อจริง)  และต้องอยู่ในเส้นทางการผลิตเช่นนี้  และทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากทำตามนโยบาย   มองหน้าเด็กแล้วปวดใจ   เพราะเขาก็ตั้งคำถาม  เราก็ตั้งคำถาม  แต่คนที่ควรจะตอบกลับลอยเนียน   (คือยิ่งกว่าลอยนวล) 

                      คือแอมแปร์รู้สึกขมมากอะค่ะ.....   

นึกอยากให้มี TOR ใครบริหารและวางนโยบายพลาดโดยประมาท  จะริบเงินเดือน  และต้องชดใช้คืนเท่าที่ชาติเสียหายไป    สาธุ  ขอให้มีจริงสักวัน  : )

สวัสดีครับน้องแอมแปร์
P

อ่านข้อมูลของน้องแล้วก็ตั้งคำถามกับกระทรวง ทบวง รัฐบาล นี่หรือการปฏิรูปการศึกษา ปล่อยให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษาไปได้อย่างไร

เห็นด้วยนะว่าใครทำความบกพร่องต้องรับผิดชอบ

สวัสดีครับพี่บางทราย

     นานมาแล้วที่ไม่ได้พูดคุยครับ แต่วนเวียนมาดูอยู่ครับ ผมมีเซลล์ภูมิคุ้มกันมาฝากครับ ในยามที่มีวงจรหน้าจืดของพี่มาวนเวียนครับ คำถามคือ ในกล่องสี่เหลี่ยมสีเขียว นั่นพี่จะใส่อะไรลงไป

และอีกภาพครับ

(หากโมเดลนี้ไร้ค่า ขอให้มองเป็นสีสันในบทความนี้ก็พอนะครับ เพื่อคั่นความเห็นเครียดๆ) 

ปัญหาเรื่องหน้าจืด แก้วันเดียวสองวันไม่ได้นะครับ ก็เหมือนการศึกษานั่นหล่ะครับ จะสร้างภายในวันเดียวก็ไม่ได้ครับ

  • ปัญหานี้ ผมมองว่า คำแรกคืออยากให้ใช้คือ หยุด (หากกู้กันต่อไป วงจรนี้ก็ไม่หยุดซักทีครับ ขอแนะนำให้ถอดและสับสะพานไฟเลยครับ ขอให้หยุดทุกขั้นตอน หยุดคิดเป็นอันดับแรก แล้วหาทางลด)
  • ต่อมาคือ  ทบทวน  ทบทวนตัวเอง ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน (ประมวลอดีตก่อนจะหน้าจืดเป็นอย่างไร แล้วเข้ามาสู่การหน้าจืดอย่างไร แล้วตอนนี้จืดอย่างไร ในชุมชน ได้ทบทวนชุมชน ในครอบครัวได้ทบทวนครอบครัวมั่งไม้(ใต้ๆ))
  • ถามหาความสมดุล ในตัวเอง ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน (เคย หยุด ทบทวน หาความสมดุล บ้างไหม) เช่น บัญชีรายจ่าย รายรับ บัญชีครัวเรือนไม่ใช่ทำให้ อบต. หรือรัฐบาลดูครับ แต่ต้องทำไว้ดูเอง ประเมินตัวเองได้นี่ แต่ละครอบครัวก็คือประเทศ ประเทศหนึ่ง บริหารกันเองได้ไม่ใช่หรือครับ หากมันเกินเยียวยา ก็เอามาคุยกันใน สภาชุมชน อบต. เปิดอกคุยกันเลย กับเจ้าหน้าที่ กล้าหรือเปล่า กลัวอะไรที่จะประเมินตัวเอง ให้รู้ไปว่าที่เป็นหนี้แต่ละเดือนคือเกิดจากการดื่มเหล้า หรือเพราะอยากฟุ่มเฟือย หรือว่าเพราะไม่มีทรัพยากรใดๆ เหลือเลย
  • จุดด้อยจุดเด่นของชุมชน รากเหง้าของชุมชนคืออะไร กู้คืนได้ไหม
  • ได้ข้อสรุปของ ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน เพื่อวางแนวทางและแผนการพัฒนาตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน  ภายในชุมชนนั้น โดยปรับแก้ให้เข้ากับบริบทของชุมชนนั้นครับ
  • เดินและพัฒนาไปร่วมกัน ทำแบบวนเวียนจนเกิดภูมิคุ้มกันของชุมชน

ผมมีปัญญาและมองปัญหาออกได้แค่นี้นะครับ

จากภาพข้างบนหาคำอธิบายได้จากบทความเก่าๆ ที่ถกในเรื่องนี้ อ่านได้ที่

ขอบคุณมากๆ นะครับ ที่เห็นหลายๆ คนห่วงใยชุมชน

ผมตอนนี้ทำได้แค่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวผมเอง และคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น สิ่งที่ผมอยู่ก็คือ สร้างในครอบครัวตัวเองให้ได้ ให้อยู่ได้ในภาวะที่เป็นอยู่เพื่อไม่ให้เข้าสู่วงจรหน้าจืดนี้.... ที่ทางบ้านผมเจอหนักคือ ค่าสวัสดิการสังคม ในการเข้าร่วมงานทำบุญ ตามใจของพี่น้องในชุมชนที่เกื้อกูลกันมานาน แต่ไม่ต้องกู้หนีหนัก เพราะผมเชื่อว่า พระแม่ธรณี พระแม่คงคา และอื่นๆ ช่วยให้เราคนเป็นเกษตรกรและชาวนาได้

ชาวนาควรจะทำนา ทำสวน ไม่ควรเข้า กทม. ไปแสวงหางานทำ เพราะนั่นไม่ใช่รากเหง้าของเรา

ผมมีบทความชาวนามาฝาก เขียนไว้นานมาแล้วครับ

ท้ายที่สุดแล้ว ผมขอเริ่มที่ตัวผม และครอบครัวที่ผมสัมผัสอยู่ก่อนครับ.... หากมีส่วนไหนบกพร่องหรือมีจุดอ่อน ก็รบกวนเขียนกันเข้ามานะครับ ยินดีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

ขอบคุณพี่บางทราบมากๆ ที่ช่วยสะท้อนสังคมและชุมชนได้ดีเลยครับ

ทุกชีวิตต้องตาย.... อยู่แต่ว่าก่อนตาย...จะตายแบบไหนครับ...หรือว่าเอาแค่เราอยู่รอดคนเดียว....แล้วจะนิยามคำว่า ชุมชน หรือสังคมไว้ทำไมครับ

สวัสดีครับน้องเม้ง

  • สุดยอดเลย น้องเม้งเอาชุดความรู้มาแลกเปลี่ยน
  • พี่เห็นด้วยครับว่าฐานของการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ที่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเด็ก และขยายวงไปที่ชุมชน
  • หากเราเข้าไปอยู่ในชุมชนแล้วอ่านชุมชนตามที่เราเห็นและหากฝังตัวเพื่อซึมลึกถึงเหง้าของเขา เราก็จะเห็นความสัมพันธ์กับสังคมเมืองที่เป็นท่อน้ำดีและท่อน้ำเสียที่ไหลเข้าสู่ชุมชน  แต่ชุมชนแยกไม่ออก  หรือรู้ๆแต่ไม่แยกออก นี่คือความยากของการทำงาน
  • น้ำเสียที่ไหลเข้าชุมชนคือไวรัสที่เข้าทำลายภูมิคุ้มกันของคน ของสังคม ทั้งกายภาพ ทั้งทางจิตใจ และทางสมองที่น้องเม้งกล่าวถึง
  • ไวรัสนี้ร้ายกว่าที่คิด เพราะเมื่อไวรัสเข้าไปชุมชนแล้วมันแตกตัวออกไปอีกและแผลงฤทธ์ไปสู่คนรอบข้างมากมาย
  • ที่สำคัญคือ ความไม่รู้เท่าทัน แยกออกยาก หากจิตใจไม่ผ่านการสังเคราะห์และตกผลึกจริงๆแล้ว ต่างก็โอนเอียงไปตามพายุของความทันสมัย
  • ดังนั้น กล่องสีเขียวที่ควรจะใส่เข้าไปคือ การปลุกจิตสำนึก ซึ่งพวกเราเรียกว่า Conscientization Process เพราะหากสำนึกไม่มีแล้วก็จะไม่มี resistant
  • เราไม่ได้ปฏิเสธความทันสมัย แต่เราไม่เห็นด้วยกับความไม่สมดุล  ระหว่างแรงดึงของความทันสมัย กับจิตใจที่เข้มแข็งที่ยืนอยู่บนความพอดีกับตนเอง กับครอบครัว กับชุมชน
  • ทั้งหมดนี้พูดได้ และง่ายที่จะพูด  แต่ทำยาก
  • แต่มีบทเรียนที่เราน่าจะศึกษากระบวนการทำงานของท่านมิชชั่นนารีทั้งหลายที่สามารถเปลี่ยนชาว้ขาที่นับถิอผีไปนับถือพระเจ้าได้ ท่านเหล่านั้นใช้วิธีอะไร ?? ท่านทำด้วยชีวิต และเป็นวิถีชีวิต ศรัทธา ทุ่มเท เชื่อมั่น อดทน และจริงใจ เวลาจากวันเป็นเดือน เป็นปี หลายๆปี ผีก็ไม่อยู่แล้วพระเจ้ามาแทนที่
  • งานพัฒนาบ้านเราโดยระบบนั้นห่างไกลมากๆกับกระบวนวิธีของท่านมิชชั่นนารี  แม้จะเอาหน่วยงานต่างๆมาบูรณาการเต็มรูปก็ตาม เพราะผู้ทำมีคุณสมบัติต่างกันทั้งฐานะ ความคิด ระบบคิด ฐานสำนึก ....
  • พี่เคยสรุปแล้วว่าระบบราชการไม่มีทางทำงานพัฒนาชุมชนแบบการสร้างสำนึกได้ เพราะระเบียบข้อบังคับ และอื่นๆอีกมากมาย ระบบนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำงานพัฒนาชุมชนครับ  แต่เหมาะที่จะเป็น Resources และให้องค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปทำงานแบบ "คนใน" จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนไม่มี 8.30 น. 16.30 น. ไม่มีเสาร์-อาทิตย์ ไม่ต้องมีเบี้ยเลี้ยง ไม่ต้องรออนุมัติน้ำมันรถ พนักงานขับรถ..
  • สำนึกหากเกิดขึ้นจะเป็นภูมิคุ้มกันอันยิ่งใหญ่ เพราะคือการสร้างเกราะกรองสิ่งที่มาจากภายนอก เพราะเราไม่สามารถห้ามความทันสมัยได้ แต่สร้างภูมิคุ้มกันได้
  • งานพัฒนาชุมชนจึงหมายถึงคนทั้งชุมชนมิใช่เพียงพ่อบ้าน  แต่ทุกคนในครอบครัว รูปแบบการจัดทัศนศึกษาจึงเปลี่ยนไปจากเอาสมาชิกกลุ่มไป เป็นการเอาครอบครัวไปด้วยกันเลย เยาวชนคือเป้าหมายการผลิตใหม่ (reproduction) จึงต้องทำกิจกรรมสร้างคนรุ่นใหม่ด้วยโดยมีรากเหง้าจากภูมิปัญญาของชุมชน อย่างที่น้องเม้งกล่าวแล้ว
  • ดีมากครับน้องเม้งครับ
  • ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนสิ่งดี ดี ครับ

สวัสดีครับคุณบางทราย

ความจริงผมเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวทำนองนี้มาบ้าง (มีทั้งเรื่องครูที่เป็นหนี้สหกรณ์กันถ้วนหน้า) แต่ไม่ทราบว่ามีชื่อ(เป็นทางการ?)ว่า "วงจรหน้าจืด"

ต้องยืมคำ"คุณหมอจิ้น"มาใช้ว่า "เราน่าจะทำอะไรได้ดีกว่าพูดว่าสงสาร"

ผมไม่แน่ใจว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของกองทุนเงินล้านคืออะไร? 

ถ้ามีจุดมุ่งหมายที่ดีแล้ว น่าจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวนาควรจะมีเงินเหลือเก็บหลังฤดูเก็บเกี่ยวขายผลผลิต ไม่กลับไปกู้อีก

แต่ถ้ามีจุดมุ่งหมายแค่เพียงให้ชาวนาชาวไร่มีอำนาจการซื้อ "วงจรหน้าจืด"ก็คงจะขยายตัวไปทั่ว.... 

สวัสดีครับอาจารย์ศิริศักดิ์

 

ชื่อวงจรนี้ผมตั้งมันขึ้นมาเองครับ ไม่ใช่ทางการใดๆ

ใช่ครับครูกับสหกรณ์ยังเหมือนเดิมครับ  นี่ผมกำลังจะเขียนเรื่องนี้ต่อครับ

เงินน่ะดี กองทุนก็ดี หากรู้จักใช้อย่างสร้างสรรค์  แต่หากแค่เอาเงินไปกองไว้ในชุมชนละก้อ  เรื่องราวก็จะออกมาอย่างที่เราทราบกันนี้แหละครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท