การพัฒนาที่ยั่งยืน


เศรษฐกิจพอเพียง

14  กรกฏาคม 2549

วันนี้ได้อ่านบทความจากจดหมายรักจาก KM. ชุมชนบุรีรัมย์ ของครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์ ตอน..การพัฒนาที่มั่นคงยั่งยืนตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ทำให้นึกย้อนไปถึงสิ่งที่ ดร.กนกวรรณ  มโนรมย์ สอนเมื่อวันพุธว่า ไทยพยายามที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยและมีความเป็นทุนนิยมเสรีอย่างเต็มที่ตามแบบทฤษฎีของชาวตะวันตก จนลืมความเป็นตัวตนของประเทศไทย เมื่อมาถึงจุดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ประชาชนระดับรากหญ้าประสบปัญหาความยากจนที่ยากจะแก้ไข จึงต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีแนวโน้มว่า ภาครัฐจะยัดเยียดแนวคิดนี้ให้กับประชาชนปฏิบัติตามเป็นสูตรสำเร็จเหมือนที่ผ่านมา  โดยแนวคิดของภาครัฐแบบนี้จะทำให้ประชาชนคิดเองไม่เป็นหรืออาจคิดว่าทำไม่ได้ เหมือนที่เคยมีนักเรียนถามว่า ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีสูตรว่าจะต้องมีที่ดินประมาณ 10 ไร่ แล้วแบ่งพื้นที่การใช้สอยเป็นสัดส่วนตามเปอร์เซนต์ ถ้าหากว่าเรามีที่ดินน้อยกว่านี้เราจะทำได้หรือ นี่คือคำถามที่ภาครัฐจะต้องให้ความสนใจและทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้ว่า คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่มีข้อจำกัดตายตัวว่าจะต้องมีพื้นที่กี่ไร่ และจะต้องแบ่งสัดส่วนอย่างไร  แต่ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านจะนำแนวคิดนี้ไปจัดการกับทรัพยากรที่เขามีอย่างไรตามสภาพปัจจัยทางพื้นที่ และสภาพแวดล้อมของเขาที่มีอยู่ ที่สำคัญจะต้องให้ชาวบ้านเขาเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง

          นอกจากนี้มีเพื่อนนักศึกษาสงสัยว่า ถ้าการพัฒนาประเทศภายใต้ระบบทุนนิยมมีปัญหามาก เกิดการเอารัดเอาเปรียบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาสกว่าประสบปัญหาความยากจน  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ทุกคนหันกลับมาใช้เศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด ซึ่งตอบได้เลยว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะคำว่าทุนนิยมนั้นเมื่อพัฒนามาถึงจุดนี้แล้วจะหันกลับคงยาก เพียงแต่ว่าใครที่มีกำลังในการผลิตเพื่อค้าขายทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ทำไป แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังประสบปัญหาก็ควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และสำคัญคือนโยบายภาครัฐที่จะส่งเสริมให้ประชาชนนำมาปฏิบัตินั้น ควรเป็นนโยบายที่เน้นให้ประชาชนได้ร่วมคิดร่วมทำภายใต้บริบทของแต่ละชุมชนเอง ไม่ใช่รัฐคิดแล้วบังคับให้ทำตาม และบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้สื่อสารก็ต้องให้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับทั้งสองฝ่าย ประการแรกคือการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในหลักการ วิธีคิด และวิธีทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้รู้และเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประการที่สองเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสื่อสารถึงผู้มีอำนาจเกี่ยวกับความเป็นจริงของปัญหา ไม่ใช้หมกเม็ด หรือรายงานเท็จ เพื่อเอาความดีความชอบ ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาต่างที่ประเทศชาติกำลังประสบอยู่ก็จะไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 38717เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณมาก ๆ ครับสำหรับแนวคิดและข้อสรุปครับ

อย่าสับสนปะปนกันระหว่างทุนนิยมกับเศรษฐกิจพอเพียงที่แทบจะไม่เกี่ยวกันเลย

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาการพัฒนาทีสูง เป็นเป้าหมายที่คนหลายคนอยากมี อยากเป็น แต่ต้องใช้ความรู้มากหลายด้านผสมผสานกันอย่างกลมกลืนภายใต้สภาพทรัพยากรแบบหนึ่งๆ

ทุนนิยมเป็นเพียงหลักการบริหารจัดการในการพัฒนาเท่านั้น แต่ก็สามารถผสานเข้ากับเศรษฐกิจพอเพียงได้ถ้ามีความรู้พอ  นี่คือประเด็นสำคัญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท