ปัญหาการลงทุนระหว่างประเทศในเรื่องการเปิดเสรีในการลงทุน


แนวความคิดในเรื่องของการลงทุนระหว่างประเทศนั้นมักมีข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องในเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐ อันเนื่องมาจากการที่รัฐกลัวเรื่องการเข้ามาครอบงำกิจการต่างๆซึ่งอาจส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงของรัฐ

             การลงทุนระหว่างประเทศสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนานั้นประเทศดังกล่าวมักตกอยู่ในฐานะผู้รับการลงทุนจากประเทศมหาอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา  โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้ส่งออกการลงทุน จึงพยายามผลักดันให้มีการจัดทำกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดการลงทุนโดยเสรี  แต่ในมุมของประเทศที่กำลังพัฒนา การจัดทำข้อตกลงด้านการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงที่มีเป้าหมายในการเปิดเสรีการลงทุน  ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม สาเหตุก็เนื่องมาจากข้อตกลงลักษณะนี้จะจำกัดอำนาจอธิปไตยของประเทศผู้รับการลงทุนในอันที่จะกำกับควบคุมนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนามีท่าทีคัดค้านการเปิดเสรีการลงทุนมาโดยตลอด

              ในระยะหลังประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนท่าทีและนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากการที่ประเทศที่กำลังพํฒนาจำนวนมากต้องประสบปัญหาหนี้เงินกู้  โดยที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อนักลงทุนต่างประเทศเป็นทัศนคติในเชิงบวกมากขึ้น  คือมองว่าการลงทุนของต่างชาติเป็นแหล่งเงินทุน ที่จะทำให้ประเทศของตนมีการพัฒนาในเรืองเศรษฐกิจมากขึ้น  มากกว่าที่จะมองนักลงทุนต่งชาติว่าเป็นผู้ที่จะเข้ามาเพื่อตักตวงผลประโยชน์ ผลกำไรและทรัพยากรธรรมชาติเหมือนนเช่นที่ผ่านมา

               แต่จากภาพรวมของข้อตกลงในเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศนั้น ประเทศที่กำลํงพัฒนาก็ยังมีท่าทีที่คัดค้านต่อการทำข้อตกลงพหุภาคีด้านการลงทุน ทั้งนี้มีส่วนมาจากข้อตกลงพหุภาคีต่างๆไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้าหรือข้อตกลงทริมส์(TRIMS Agreement)  หรือข้อตกลงนาฟต้า ประเทศสหรัฐอเมริกาก็พยายามที่จะผลักดันให้เปิดเสรีในการลงทุนโดยให้เปิดเสรีการลงทุนในทุกสาขา  ซึ่งส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆซึ่งเป็นประเทศผู้รับการลงทุน    ทำให้ไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อกำกับควาบคุมนักลงทุนและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาประกอบกิจการในดินแดนของตนได้    โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงนาฟต้าที่สหรัฐอเมริกาทำกับแคนนาดาและเม็กซิโกที่กำหนดให้ประเทศคู่สัญญาเปิดเสรีการลงทุนโดยไม่เลือกปฏิบัติ  ภายใต้หลัก การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ(National treatment) และหลัก การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง(Most-favoured-nation Treatment)  ทำให้ต้องมีการปฏิติที่เท่าเทียมกันสำหรับการลงทุนทุกสาขากิจการสร้างปัญหาที่ทำให้ประเทศอื่นๆต่างกลัวว่าถ้าตนทำข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา ประเทศของตนก็อาจถูกครอบงำจากการลงทุนทำให้ไม่สามารถกำหนดหรือดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจได้ตามที่ตนคิดว่าเหมาะสมกับประเทศตน แต่กลับต้องอญู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือพันธกรณีของการเปิดเสรีการลงทุน

               แท้จริงแล้วหากพิจารณาถึงลักษณะของการลงทุนระหว่างประเทศแล้วการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการลงทุนจากต่างชาตินั้นควรวางข้อกำหนดใน 3 ลักษณะคือ

                 1.กำหนดระเบียบสำหรับการเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยอาจเป็นการกำหนดอย่างเข้มงวดคือ การจำกัดหรือห้ามการลงทุนจากต่างชาติในกิจการบางอย่างโดยเด็ดขาด เช่น ธุรกิจกิจการธนาคาร โทรคมนาคม  หรืออาจมีการอนุญาตให้ต่างชาติมาลงทุนแต่ก็ออกระเบียบควบคุมในบางเรื่องเพื่อจำกัดจำนวนการลงทุนของต่างชาติ เช่นจำกัดสัดส่วนในการถือครองหุ้นในบริษัท  การที่กำหนดระเบียบเช่นนี้ก็เพื่อสงวนอำนาจอธิปไตยของรัฐเพื่อไม่ให้ต่างชาตที่เข้ามาลงทุนส่มารถครอบงำกิจการบางอย่างที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐและต่อผลประโยชน์ของสาธารณชน

                   2.กำหนดระเบียบสำหรับการลงทุนที่ได้เข้ามาในประเทศแล้ว  โดยรัฐผู้รับการลงทุนอาจกำกับควบคุมการดำเนินธุรกิจและการประกอบกิจการของนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็มักทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าเหตุผลทางด้านอำนาจอธิปไตย  กฎเกณฑ์ลักษณะนี้ก็เช่น การบังคับให้จ้างบุคคลากรภายในประเทศ การบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี

                     3.กำหนดระเบียบเพื่อจูงใจในการลงทุน เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อช่วยลดต้นทุนและภาระทางการเงินของนักลงทุน เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

                    ดังนั้นหากประเทศใดเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศของตน ประเทศซึ่งเป็นผู้รับการลงทุนนั้นควรที่จะสามารถกำหนดกฎระเบียบวางกฎเกณฑ์ว่าด้วยการลงทุนเพื่อใช้เป็นกฎหมายภายในของประเทศตนได้ ซึ่งควรที่จะกำหนดให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศของตน ไม่ใช่เปิดให้มีการเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรี เพราะในท้ายที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นการครอบงำทางเศรษฐกิจหรือนำมาซึ่งการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากประเทศผู้ลงทุน

                   ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้รับการลงทุนก่อนที่จะทำข้อตกลงเปิดเสรีการลงทุนกับประเทศใดก็ตามก็ควรศึกษาถึงรายละเอียดในข้อตกลงถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นการลดทอนอำนาจของตนในการกำกับควบคุมการลงทุนจากต่างชาติในทุกสาขา  ไม่อาจคัดกรองการลงทุนที่ดีมีคุณภาพ ไม่อาจให้สิทธิพิเศษหรือกำหนดมาตรการช่วยเหลือบริษัทหรือผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงเกษตรกรหรือผู้ผลิตรายเล็ก และวิสาหกิจในประเทศก็อาจต้องล้มหายหรือไม่ก็ถูกควบรวมกิจการโดยต่างชาติในที่สุด

   

 

หมายเลขบันทึก: 38715เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท