หนังสือที่ฉันชอบ book tag


นักเขียนในดวงใจผมคือ วัฒน์ วัลยางกูร ครับ

ได้รับ tag จากคุณ ตาหยู  ให้แนะนำหนังสือ ไม่น้อยกว่า 3  เล่ม ที่ตนเองชื่นชอบ หรือคิดว่าดี  รู้สึกว่ายากมากครับ ช่วงปีหนึ่งมานี้ผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ ที่อ่านจบนับเล่มได้ ยังค้างอยู่เยอะเลย เข้าเรื่องเลยดีกว่า  เดี๋ยวนี้ผมชอบอ่านพวกเรื่องเล่าสารคดี  เมื่อก่อนชอบนวนิยาย มันคงเปลี่ยนตามวัยนะครับ เอาจากนวนิยายก่อน มีนักเขียนในดวงใจผมคือ วัฒน์ วัลยางกูร ครับ ตามมาติดๆ แบบหายใจรดต้นคอคือ มาลา คำจันทร์ อีกคนเมื่อหลายสิบปีก่อนอยู่อันดับหนึ่งแต่ตอนนี้แผ่วไปคือ พิบูลศักดิ์ ละครพล อีกสองท่านที่อยู่รุ่นใหญ่คืออาจินต์ ปัญจพรรค์ กับคำพูน บุญทวี   เรื่องที่ผมชอบเปลี่ยนไปเรือยๆ ตามเวลา

ต่อไปนี้คือหนังสือที่ผมชอบในระยะหนึ่งปีนี้

1. เชียงใหม่ในมโนนึก : สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทล้านนา เป็นเรื่องราวของพระอธิการอานนท์ อาทิตตธมโม ซึ่งเป็นชาวไทเขินในเชียงตุง และได้มาศึกษาพระธรรมที่แม่สาย ต่อมามาที่เชียงใหม่ เขียนโดยคุณสุพิน ฤทธิ์เพ็ญ  ท่านเป็นพระที่น่านับถือยิ่ง ชีวิตฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ นานาจากครอบครัวที่มีลูกถึง 16 คน ปัจจุบันนี้ท่านอยู่ที่วัดท่ากระดาษ เชียงใหม่ ซึ่งท่านก็ยังมีความผูกพันกับถิ่นกำเนิดของท่านอยู่ตลอด   ผมบังเอิญไปได้หนังสือเล่มนี้ที่สุริวงค์บุคเซ็นเตอร์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านประจำที่จะต้องไปทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปเชียงใหม่เพื่อหาหนังสือท้องถิ่นมาอ่าน ไม่รู้สิ  ผมมองว่าผมเป็นคนของอดีตยุค พ.ศ. 2480-2505 ซึ่งผมยังไม่เกิด รู้สึกผูกพันกับวัฒนธรรมเรียบง่ายและแฝงความหมายที่ลึกซึ้งของชาวบ้านในสมัยก่อนมาก

2.เล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม  เป็นบันทึกเรื่องราววัฒนธรรมของเมืองแม่แจ่มในสายตาของคนในผู้เกรงว่ารากเหง้าของความเป็นแม่แจ๋มจะไม่อยู่หลงเหลือในชาวเมืองรุ่นใหม่ เขียนโดยคุณแม่ฝอยทอง สมวถา รองประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอแม่แจ่ม หนา 230 หน้า บันทึกทุกเรื่องในวิถีชีวิตของชาวเมืองแจ๋ม  เล่าถึงสมัยก่อนผู้เขียนจบป. 4 ต้องเดินทางกันเป็นขบวนหาบเข้าไปเรียนเมืองเชียงใหม่ ข้ามเขา บุกป่า 3 วัน 3 คืน จึงถึงเชียงใหม่  อ่านบันทึกเรื่องวิถีชีวิตของชุมชนแล้วอยากให้ทุกบ้านทุกเมืองของเรามีคนแบบคุณแม่ฝอยทองไปหมดจริงๆ

3. เกิดเป็นกำมุ ชีวิตและหมู่บ้าน คุณปรานี วงษ์เทศแปลจาก Being KAMMU เป็นเรื่องของคุณดำรงซึ่งเป็นชาวชนเผ่ากำมุเมืองหลวงน้ำทา ประเทศลาว จากเด็กชาวเขาก็ว่าได้ ไม่ได้เรียนอะไร แต่มีความจำและความสนใจในวัฒนธรรมเป็นเลิศ อายุ 35 ปีเขายังมีอาชีพรับจ้างถางไร่  มีชาวสวีเดนสนใจศึกษาวัฒนธรรมจ้างเขาเป็นผู้ช่วย เพราะเขาเล่านิทานพื้นบ้านได้มาก เมื่ออายุ 48 ปีเขาได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยลุนด์ สวีเดน จากผลงานวิจัยของเขาที่มีลักษณะเฉพาะตัว  แต่ที่ผมสนใจคือเรื่องที่เขาเล่าชีวิตในวัยเด็ก ตลอดจนวัฒนธรรมชองชาวกำมุซึ่งน่าเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

4. จ.พรหมมินทร์ ตำนานชีวิตจิตรกรพื้นบ้านแห่งล้านนาไทย โดยฉลอง พินิจสุวรรณ,  จำรัส พรหมมินทร์ เป็นจิตรกรพื้นบ้านชาวเมืองพาน เชียงราย จบแค่ป.4 หัดเขียนรูปเอง ภาพสีน้ำมันของเขาเป็นภาพทิวทัศน์และชีวิตชาวชนบทเชียงราย เป็นต้นแบบความประทับใจของจิตรกรชาวเชียงรายทั้งหลาย เรียกว่าถ้าเห็นภาพชนบท คนจูงควายกลับบ้านตอนเย็น หรือตอนเช้าหน้าหมู่บ้านมีหมอก ควันไฟจากกองฟืนหน้าบ้าน ด้านหลังเป็นขุนเขาสูงตระหง่าน ก็ต้องเป็นของ จ.พรหมมินทร์เขาแน่ๆ ล่ะ พอมองลายเซ็นข้างล่างก็ใช่เลย   ผมเห็นภาพของเขาตั้งแต่วัยเด็กตามโรงแรม ต่างๆ เล่มนี้ที่ผมชอบเพราะรวมภาพที่เขาเขียนไว้มาก เสียดายที่ยังมีไม่ครบ จากเล่มนี้ไปแล้วคงไม่มีคนรวบรวมอีก T__T

5.เลาะลุ่มน้ำโลหิต เลียบชีวิตไทคำตี่ โดยบุญยงค์ เกศเทศ อาจารย์บุญยงค์ จบปริญญาเอกจากอินเดีย  ท่านไปสืบค้นทำวิจัยชีวิตคนไทคำตี่ ซึ่งอยู่ในรัฐอัสสัม โดยต้องหลบซ่อนเพราะปัญหาการเมืองอินเดียในยุคนั้น ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านกับคนไทคำตี่ที่พูดกันรู้เรื่องราวปีเศษ เรื่องที่ท่านเขียนสนุกและน่าตื่นเต้นมากครับ

หมายเลขบันทึก: 81452เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

นักเขียนที่อาจารย์ชอบก็เป็นนักเขียนในดวงใจผมเช่นกัน

ผมชอบมาลา คำจันทร์ เพราะงานเขียนทำให้ผมนึกถึงชีวิตชนบทเสมอๆ และชัดเจนมากเมื่อได้อ่านหนังสือ

หวนคิดถึงบรรยากาศเก่าๆและมีความสุขมากครับ

....

อาจารย์เป็นคนเหนือหรือเปล่าครับ???

เอ!? ชักแปลกใจที่หมอโนชชอบแต่คนแต่งหนังสือทางเมืองเหนือแฮะ

สงสัยมีอดีตหรือ something wrong ฝังใจอะไรหรือปล่าว แต่ก็ดีใจที่ชอบ เพราะผมก็คนเหนือเหมียนกัน อยากรู้ว่าแล้วเรื่องแปลชอบของใคร?

ขอบคุณที่แนะนำหนังสือครับ

ผมได้เรียนลัดกับ อาจารย์หมอด้วยเลยครับ ว่าหนังสือแต่ละเล่มมีเนื้อหาอะไร และที่น่าสนใจ

หนังสือ ทั้ง5 เล่มผมยังไม่เคยได้อ่าน มีเล่มที่3ที่คุ้นๆเคยเห็นนะครับ แต่ผมอ่านที่ อาจารย์หมอแนะนำแล้วอยากอ่านเลยครับ

หากมีโอกาสอีก รบกวน อาจารย์หมอแนะนำหนังสืออีกนะครับ

ขอให้อยู่ดีมีสุข ครับ

คุณจตุพร และอาจารย์พิชัยครับ ชอบเรื่องทางเหนือเพราะเป็นคนเชียงรายครับ เลยทำให้ชอบพิบูลศักดิ์ช่วงที่เขาเขียนถึงวัยเด็กที่เชียงราย รวมทั้งมาลา คำจันทร์ด้วย

 อีกอย่างที่ชอบคงเป็นเพราะมาอยู่กรุงเทพนานเลยรู้สึกถวิลหานะครับ อ่านทีไรก็ได้ความรู้สึกดีๆ  สมัยเด็กกลับคืนมา  อยู่กรุงเทพไม่มีความรูสึกว่านี่คือบ้านเราเลย ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาที่อยู่กรุงเทพ มากกว่าอยู่เชียงรายมากๆ วัยเด็กเนี่ยช่างมีอิทธิพลกับเราเสียจริงๆ นะครับ มันเหมือนกับรากของเราอยู่ที่นั่น แต่ต้นและใบของเราอยู่ที่นี่

 อาจารย์พิชัยครับเรื่องแปลไม่ค่อยได้อ่านเลยครับ อาจารย์มีเล่มไหนดีๆ แนะนำไหมครับ

ไม่เคยอ่านหนังสือแนวดังกล่าวเลย สงสัยต้องลองไปหาอ่านดูบ้างแล้ว ขอบคุณมากค่ะที่แนะนำ

^__^

แอบมาเยี่ยมชมค่ะ ถึงแม้ไม่ได้อ่านแนวนี้ก็ตาม กลัวคุณตาหยูตามมาทวงหนี้จริง ๆ ค่ะ เรื่องสุดท้าย อาจารย์ต้องไปเที่ยวเองค่ะ ราณีไปเที่ยวอินเดียมาแล้วหลายครั้ง (แฮะ ๆๆๆๆ ไปเรียนด้วยค่ะ)

น่าสนใจต้องไปหาอ่าน คิดเหมือนคุณ K jira เลย

อ มาโนช รากยังคงอยู่เชียงราย ฟังแล้วดีจัง

รวิวรรณมามีใบต้นอยู่เชียงราย ดีใจแทนคนที่เชียงรายค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เบิร์ดชอบ..จ.พรหมมินทร์ ตำนานชีวิตจิตรกรพื้นบ้านแห่งล้านนาไทย เหมือนกันค่ะ เพราะติดใจรูปวาดของ อ.จำรัส ตั้งแต่เด็กๆ..รูปชนบทของชร.เวลาที่ไปเห็นในที่อื่นก็จะหวนนึกถึงบ้านทุกครั้ง..ทั้งราก ต้น และใบ ( ไม่รวมลูกเพราะยังไม่แต่งงาน ) ของเบิร์ดอยู่ที่ ชร.ค่ะ ^ ^

ขอบคุณ k-jira ครับ และคุณราณีที่แวะเยี่ยมครับ หนังสือจะหาซื้อยากหน่อยนะครับแต่น่าอ่านครับ คุณราณีเล่าเรื่องและประสบการณ์ประทับใจสมัยเรียนในบล็อกด้วยสิครับ น่าสนใจครับ

คุณหมอรวิวรรณครับเป็นโชคดีของคนเชียงรายที่คุณหมออยู่ช่วยดูแลเด็กๆ ให้พวกเขา และนี่ยังรับดูแลน้องๆ แพทย์ให้ด้วยขอแสดงความชื่นชมจากคนไม่มีโอกาสครับ

คุณเบิร์ดครับ ดีใจจังที่ทราบว่าคุณเบิร์ดรู้จักและชอบจ.พรหมมินทร์ สำหรับคุณเบิร์ดนอกจากราก ต้น และใบแล้ว ดอกที่เบ่งบานก็อยู่ที่เชียงรายด้วยเหมือนกันครับ ^__^

ผมเลยขอแถมรูปและประวัติของ จ. พรหมมินทร์ ที่ผมเจอในเว็บ http://www.lannaworld.com และ http://lanna.mju.ac.th/ มาด้วยนะครับ จริงๆ มีรูปสวยกว่านี้อีก เช่น "ยามเช้า" "กลับบ้าน" "ค่ำแล้วฤดูหนาว" แต่หาในเน็ตไม่มีครับ 

  • ชอบมาลา  คำจันทร์ค่ะ สมัยเรียนที่ม.ช. ท่านเป็นอาจารย์ที่คณะมนุษย์ฯ  ปลื้มงานเขียนท่านมากค่ะ

ชื่อผลงาน "ยามเย็น" , สีน้ำมันบนผ้าใบ 50 x 105 

ชื่อผลงาน "ความสุขร่มเย็นของเมืองพาน" , สีน้ำมันบนผ้าใบ 65 x 165 ช.ม. จาก http://lanna.mju.ac.th/lannaperson_detail.php?recordID=11

 "ถิ่นกำเนิด" , สีน้ำมันบนผ้าใบ 60 x 90 ช.ม.

" จำรัส พรหมมินทร์ " : จิตรกรพื้นบ้านคนสุดท้าย
จิตรกรจำรัส พรหมมินทร์ ไม่เคยเรียนศิลปะมาจากสถาบันใด เรียนหนังสือ
แค่ชั้น ป. ๔ เขียนรูปและฝึกฝนด้วยตนเอง เขียงทิวทัศน์และชีวิตชาวเหนือขาย
เลี้ยงชีพและครอบครัว ไม่ว่าจะไปที่ใดก็มักจะพบเห็นผลงานของจิตรกรจำรัส อยู่
มากมาย ด้วยความรักในงานจิตรกรรม โดยไม่มีใครมาเป็นครู จำรัสต้องฝึกฝนด้วย
ตนเองตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เช่นฝึกวาดรูปตามอย่างโปสเตอร์หนัง
ผลงานของเขาส่วนใหญ่จะเป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่แสดงจินตนาการและ
ประเพณีวัฒนธรรมล้านนา งานจิตรกรรมของสล่าจำรัสเคยถูกนำไปแสดงในงาน
แสดงศิลปะระดับชาติและสากลมาแล้วนับไม่ถ้วน
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เขาได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดจิตรกรรมเฉลิม
พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๖๐ พรรษา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่ง
ประเทศไทย ปี ๒๕๓๖ ได้รับรางวัลนักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น จากคณะกรรมการ
การอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย กรมศิลปากร
สล่าจำรัส พรหมมินทร์ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่บ้าน อ.พาน จ.เชียงราย
ในวัยที่เพิ่มเข้าสู่เส้นทางของนักวาดภาพตามที่เขาเคยฝันไว้แต่เด็กได้เพียงไม่นาน

จาก http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_topic.php?id=12926

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณมากค่ะสำหรับ link ที่อาจารย์ให้ รวมทั้งรูปของ อ.จำรัสด้วย..เบิร์ดโหลดรูปมาเก็บไว้เป็น wall paper หน้าจอเลย..ทั้ง 3 ภาพนี่เบิร์ดเคยมี copy แต่ได้ให้คุณลุง Bob - คุณป้าเป้า - พี่ลูกหมูไปอเมริกาแล้ว..เวลาที่เราได้เห็นสิ่งที่เคยมี เคยชอบนี่มันตื้นตันขึ้นมาในอกเลยนะคะ ..ขอบคุณจริงๆค่ะอาจารย์ ^ ^

สวัสดี คุณหมอมาโนช

ดีใจที่ฮู้ว่าเป็นคนเหนือตวยกัน...จาใดจาใดก็ยังฮักบ้านเกิดและกึ้ดเติงหา

    หนังสือแปลที่ผมชอบมี ต้นส้มแสนรัก ผู้เขียนคือแซงแต็กซูเปอรี และ เจ้าชายน้อย......อืมส์อะไรอีก?

    ส่วนกวีชอบ คาลิล ยิบลานครับ

คุณเบิร์ดครับ ดีใจจังที่ชอบรูปที่ผมเอาขึ้นมาในหน้านี้ ผมพยายามหา เสียดายไม่มีอีก ยังคิดว่าถ้าได้กลับไปเชียงรายจะไปขออนุญาตอาจารย์ฉลอง พินิจสุวรรณเอาขึ้นเว็บให้หมด 

อาจารย์พิชัยครับ 

ยิ้นดีจ๊าดนักครับ ไจ้ครับมันตึงกึ้ดเติงหา เหมือนกับเพลงของจรัญที่เขาว่าไว้ คิดถึงบ้าน 

ของ แซงแต็กซูเปอรี ผมมีอีกเล่มคือเที่ยวบินกลางคืน (night fight) ครับ อ่านเพลินดีครับ ส่วนกวีอาจารย์ชอบเหมือนผมเลย เลยฝากบทข้างล่างที่ผมชอบ ความจริงก็มีเยอะนะ เช่น Your children are not your children...  อ.ระพีแปลไว้ดีจริงๆ

"Love" : The Prophet - Khalil Gibran

เมื่อความรักร้องเรียกเธอ จงตามมันไป
แม้ว่าทางของมันนั้นจะขรุขระและชันเพียงใด
และเมื่อปีกของมันโอบรอบกายเธอ
จงยอมทน แม้ว่าหนามแหลมอันซ่อนอยู่ในปีกนั้นจะทิ่มแทงเธอ
และเมื่อมันพูดกับเธอ
จงเชื่อตาม แม้ว่าเสียงของมันจะทำลายความฝันของเธอ
ดั่งลมเหนือพัดกระหน่ำสวนดอกไม้ให้แหลกลาญไปฉะนั้น

ความรักจะรวบรวมเธอเข้าดังฝักข้าวโพด
มันจะแกะเธอออกจนเปลือยเปล่า
แล้วมันจะล่อนเพื่อให้เธอหลุดจากเปลือก
มันจะบดเธอจนเป็นผงขาว แล้วก็จะขยำจนเธออ่อนเปียก
แล้วมันก็จะนำเธอเข้าสู่ไฟอันศักดิ์สิทธิ์ของมัน
เพื่อว่าเธอจะได้กลายเป็นอาหารทิพย์ของพระเจ้า

ความรักไม่ให้สิ่งอื่นใดนอกจากตนเอง
เพราะความรักนั้นพอเพียงแล้วสำหรับตอบความรัก
และก็ไม่ยอมถูกครอบครอง
ความรักไม่ครอบครอง นอกจากตนเอง และก็ไม่รับเอาสิ่งใด

จงรักกันและกัน
แต่อย่าสร้างพันธะแห่งความรัก
และขอให้ความรักนั้น เป็นเสมือนห้วงสมุทร
อันเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างฝั่งแห่งวิญญาณของเธอทั้งสอง

จงเติมถ้วยของกันและกัน
แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน
จงให้ขนมปังแก่กัน แต่อย่ากัดกินจากก้อนเดียวกัน

จงร้องและเริงรำด้วยกันและจงมีความบันเทิง
แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว
ดังเช่นสายพิณนั้น ต่างอยู่โดดเดี่ยว
แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองคนตรีเดียวกัน

จงมอบดวงใจ แต่มิใช่อีกฝ่ายหนึ่ง
เพราะหัตถ์แห่งชีวิตอมตะเท่านั้น ที่จะรับดวงใจของเธอไว้ได้
และจงยืนอยู่ด้วยกัน แต่ว่าอย่าใกล้กันนัก
เพราะว่าเสาหินของวิหาร ก็ยืนอยู่ห่างกัน
และต้นโพธิ์ ต้นไทร ก็ไม่อาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันได้.

/ระวี ภาวิไล

"Love" : The Prophet  - Khalil Gibran

When love beckons to you follow him,
Though his ways are hard and steep.
And when his wings enfold you yield to him,
Though the sword hidden among his pinions may wound you.
And when he speaks to you believe in him,
Though his voice may shatter your dreams as the north wind lays waste the garden.

For even as love crowns you so shall he crucify you. Even as he is for your growth so is he for your pruning.
Even as he ascends to your height and caresses your tenderest branches that quiver in the sun,
So shall he descend to your roots and shake them in their clinging to the earth.
Like sheaves of corn he gathers you unto himself.
He threshes you to make you naked.
He sifts you to free you from your husks.
He grinds you to whiteness.
He kneads you until you are pliant;
And then he assigns you to his sacred fire, that you may become sacred bread for God's sacred feast.

All these things shall love do unto you that you may know the secrets of your heart, and in that knowledge become a fragment of Life's heart.
But if in your fear you would seek only love's peace and love's pleasure,
Then it is better for you that you cover your nakedness and pass out of love's threshing-floor,
Into the seasonless world where you shall laugh, but not all of your laughter, and weep, but not all of your tears.
Love gives naught but itself and takes naught but from itself.
Love possesses not nor would it be possessed;
For love is sufficient unto love.

When you love you should not say, "God is in my heart," but rather, I am in the heart of God."
And think not you can direct the course of love, if it finds you worthy, directs your course.
Love has no other desire but to fulfil itself.
But if you love and must needs have desires, let these be your desires:
To melt and be like a running brook that sings its melody to the night.
To know the pain of too much tenderness.
To be wounded by your own understanding of love;
And to bleed willingly and joyfully.
To wake at dawn with a winged heart and give thanks for another day of loving;
To rest at the noon hour and meditate love's ecstasy;
To return home at eventide with gratitude;
And then to sleep with a prayer for the beloved in your heart and a song of praise upon your lips.

 

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วยิ้ม..เพราะเล่มนี้เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ อ.ระวี  ภาวิไลแปลไว้ได้อย่างสละสลวยมาก..ความรักไม่ให้สิ่งอื่นใดนอกจากตนเอง เพราะความรักนั้นพอเพียงแล้วสำหรับตอบความรัก ..

จงร้องและเริงรำด้วยกันและจงมีความบันเทิง
แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว
ดังเช่นสายพิณนั้น ต่างอยู่โดดเดี่ยว
แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน..

และจงยืนอยู่ด้วยกัน แต่ว่าอย่าใกล้กันนัก เพราะว่าเสาหินของวิหาร ก็ยืนอยู่ห่างกัน
และต้นโพธิ์ ต้นไทร ก็ไม่อาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันได้..

เพียงแค่ที่ยกมานี่ก็ต้องอ่านกลับไปกลับมาหลายเที่ยวแล้ว.. เพราะความหมายระหว่างบรรทัดนั้นมีมากมาย..  

บทกวีของคาลิล  ยิบลาน..นั้นลึกล้ำ การแปลจึงต้องล้ำลึกจึงจะถ่ายทอดได้อย่างดงาม..เล่มนี้ถึงพร้อมทั้ง 2 ด้านจริงๆค่ะ..

อ้าว ผมเขียนผิดเป็นอ.ระพี ความจริงต่อเป็นอ.ระวี ภาวิไล ขอบคุณคุณเบิร์ดครับ ที่ช่วยแก้

เป็นหนังสือที่น่าอ่านทั้งนั้นเลยนะค่ะ....ไปเชียงใหม่ เชียงรายเมื่อต้นปีค่ะ ... ไปกี่ครั้งๆ ก็ชอบและประทับใจเช่นเคยค่ะ....สมัยเป็นนักศึกษา (20 กว่าปีแล้วค่ะ) เคยไปออกค่ายร่วมกับ กรป กลางที่ หมู่บ้านใน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อยู่ประมาณ 2 เดือน ค่ะ ชอบมากๆ .... ตอนนี้ภาพของหมู่บ้านที่ไปออกค่ายยังชัดเจนในความทรงจำอยู่ค่ะ....แต่จำชื่อหมูบ้านไม่ได้ค่ะ อยู่ห่างจาก เชียงแสนประมาณ 40 กว่ากิโลเมตร...

    ชอบมาลา คำจันทร์เหมือนกันค่ะ  วัฒน์นี่ก็ได้อ่านบ้าง ตอนนี้หันมาชอบวินทร์ เรียววาริน ช่วงตอนวัยรุ่นเคยชอบอ่านเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิต ชนบทอยู่พักนึงค่ะ

     ดิฉันเคยไปเรียนเชียงใหม่ 9 ปี รู้สึกเหมือนว่ามีบ้านอยู่สองที่ เมื่อไหร่กลับไปเชียงใหม่ก็เหมือนกลับบ้าน ยิ่งได้ยินคนอู้กำเมืองกันนี่ก็มีความสุขแล้ว ยังงี้มีสองรากไหมคะเนี่ย รากแก้วกะรากฝอย

     อาจารย์กลับไปเยี่ยมบ้านแล้วได้ไปเที่ยววัดร่องขุ่นที่อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์สร้างไว้ไหมคะ

อาจารย์ paew ครับ ดีใจที่อาจารย์ชอบเชียงรายครับ เดี๋ยวนี้สภาพต่างๆ ก็เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนเยอะพอสมควร

คุณหมออนิศรา ก็ชอบมาลาเหมือนกัน อืม ที่นี่มีแฟนของมาลาเยอะเลยนะครับ  ผมเพิ่งอ่านเรื่อง แก้วลอดฟ้า จบหลังจากทิ้งไว้นาน เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากๆ ครับ วัดร่องขุนผมไปบ่อยครับเพราะไม่ไกลจากบ้านเท่าไร

แก้วลอดฟ้า หมายถึง เด็กคนหนึ่งที่ผ่านความเจ็บป่วยปางตายแล้วรอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ ราวมีปาฏิหาริย์ ผู้เฒ่าผู้แก่ทางเหนือจึงเรียกขานว่า “ แก้วลอดฟ้า ”
  เป็นเรื่องราวที่เล่าถึงสิ่งประสบพบเห็นต่าง ๆ ในชีวิตของเด็กชายคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตมาในแผ่นดินล้านนาสมัยเก่า เรื่องราวต่าง ๆ เป็นบันทึกเชิงสังคม ผสมผสานความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว ไม่ถูกต้องเต็มร้อยเพราะไม่ใช่งานวิจัย แสวงหาข้อเท็จจริง หรือความถูกต้อง ความต้องการมีเพียงเก็บเอามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นร่องรอยว่าในช่วงเวลานี้ มีความเคลื่อนไหวเล็ก ๆ อย่างนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินล้านนา

เจอดีเจอในเว็บอื่นเกี่ยวกับ ตำนานหิ่งห้อยจากหนังสือ "แก้วลอดฟ้า" ของ มาลา คำจันทร์  ทั้งยังเป็นเรื่องของชาวแม่แจ่ม เมืองในหนังสือโปรดของผม เลยขอก๊อปปี้มาลงที่นี้เพื่อที่คนสนใจจะได้หาซื้อหนังสืออ่านเรื่องอื่นๆ ต่อไป

"... แมงตัวน้อยห้อยไฟส่องก้นเหล่านี้ แต่เดิมคนแม่แจ่มเรียกว่า แมงมาบเมียง แมงคือแมลง มาบเมียงคืออาการที่เกิดประกายวูบวาบแต่ไม่สว่างนัก หากสว่างมาก ๆ จะเรียก มาบโมง...

... นานมาแล้วมีครอบครัวหนึ่งสามคนพ่อแม่ลูก เป็นชาวป่าชาวดอยทำนาทำไร่ไปตามประสา ลูกคนเดียวของผัวเมียชาวไร่เป็นเด็กหญิงกำลังสาว อยู่มาวันนึง พ่อไปฟันไร่อยู่กลางป่า แม่กับลูกสาวทำงานบ้าน ใกล้มื้อข้าว แม่ก็ใช้ลูกสาวเอาข้าวไปส่งให้พ่อ ลูกสาวสะพายกล่องข้าวลงจากเรือน ไปถึงกลางทาง เกิดฝนใหญ่ลมหลวงฟ้าผ่าฟ้าร้องโครมคราม

ลูกสาวหลบฝน ร้อนรนและร้อนใจกลัวพ่อหิวข้าว ฝ่ายพ่ออยู่อีกฟากเขา พ่อหิวข้าวแต่ก็ห่วงว่าคนมาส่งข้าวจะเป็นอันตราย พอฝนซาฟ้าส่างลงบ้างก็เร่งกลับ ฝ่ายลูกสาวกลัวพ่อหิวข้าวเพราะเลยมื้อข้าวมามากก็เร่งเดินทาง พ่อมาจากอีกฟากเขา ลูกสาวดั้นป่าไปส่งข้าวพ่อ พ่อกับลูกผูกพันรักกัน ยังไม่ทันพบกัน กิ่งไม่ใหญ่แบกน้ำหนักน้ำฝนไม่ไหวก็หักโครมลงมาทับร่างลูกสาว

ข้างฝ่ายแม่ที่ยังอยู่เรือนเกิดลางสังหรณ์อะไรไม่รู้ นางขอร้องชาวบ้านเป็นเพื่อนออกตามลูกสาว ลูกสาวของนางนอนคราง กิ่งไม้หักทับ เด็กหญิงรักพ่อ เด็กหญิงรักแม่ พ่อรักลูกสาว แม่ก็รักลูกสาว เด็กหญิงไม่ห่วงตัวเอง ห่วงแต่ว่าพ่อจะไม่ได้กินข้าว กิ่งไม้ใหญ่หักทับบาดเจ็บสาหัส เธอลากร่างไป รอยเลือดเป็นทาง

พ่อมาพบลูกสาวลากร่างกับพื้น พ่อปราดเข้าหา น้ำตาพ่อตก

แม่ตามมาพบ แม่เห็นรอยเลือด น้ำตาแม่ไหล

พ่ออุ้มลูกกับอก ลูกสาวถามว่าพ่อหิวไหม ลูกเอาข้าวมาให้พ่อแล้ว

ลูกสาวปลดกล่องข้าวจากไหล่ยื่นให้พ่อ แม่กับพ่อคอขม ชาวบ้านหลวงหลายแวดรายสะอื้น เด็กหญิงใกล้สิ้นใจแล้ว มีแสงวูบวาบมาบเมียงที่ตัวเธอ พอเธอสิ้นใจ แมงมาบเมียงก็บินพรูบินพรายกลายเป็นหิ่งห้อยมาถึงบัดนี้

กำเนิดหิ่งห้อยของแม่แจ่มเศร้าจังเลย..."

"แก้วลอดฟ้า" -- มาลา คำจันทร์

  • ขออนุญาติมากอปปี้รูปนะครับ ชอบมากครับ

บันทึกดีๆ 8 ปีก็ยังได้อ่าน ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท