เขียน


ก่อนเขียนจะต้องลองปฏิบัติก่อน แล้วจะเขียนโดยเข้าใจสรรพสิ่ง,ใช้หัวสมองให้เปรียบเสมือนที่นาใช้บ่มเพาะความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาทั้งจากในห้องและนอกห้องเรียน จากทุก ๆ ย่างก้าวที่สัมผัส ผ่านการปฏิบัติจนกระทั่งทำให้เกิดปัญญาให้ได้

หลาย ๆ วันที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนและการเดินทางไปอบรมเข้าประชุมที่โน่นที่นี่ จนทำให้บางวันแทบหมดแรงจนไม่มีพลังในการ "เขียน"

จนต้องทำให้ผมต้องย้อนกลับมาดูตนเองว่า แล้วอะไรล่ะที่เป็นพลังที่ทำให้เราเขียนสิ่งต่าง ๆ ได้

ผมก็ได้ย้อนกลับไปดูถึงสิ่งต่าง ๆ ย้อนกลับไปดูหลักการ ย้อนกลับไปดูเอกสารตำราที่เขาพูดถึงการเขียน ว่าการเขียน เขาเขียนกันอย่างไร

"หัวใจของการเขียนงานก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ ทำที่ไนก็ได้ ที่จะทำให้คุณนั่งลงและเขียนได้ อยู่กับมันอย่างสร้างสรรค์ มีความสุขและมันสามารถดึงดูดคุณให้กลับมาเขียนต่ออีกได้โดยง่าย  ทำให้การเขียนเป็นกิจวัตร และคุณรู้สึกตั้งตาคอยอยากจะเขียนทุกครั้งที่นึกถึง   ค้นหาช่วงเวลา prime-time ของการเขียนสำหรับตัวเองให้ได้ (Harry f. Wolcott)"

นั่นน่ะสิ ช่วงนี้ช่วงเวลา prime-time ในการเขียนของเราหายไปหมดเลย เพราะหมดแรงกับการเดินทาง

จนกระทั่งผ่านมาถึงเมื่อวานที่ได้เข้าเรียนกับท่าน ศ.ดร.อภิชัย ท่านก็ได้บรรยายถึงเรื่อง "ปัญญา" ผมก็เลยได้โจทย์ที่มาตั้งเป็นหลักในการคิดสำหรับการเขียนบันทึกนี้ว่า เอ๊ เราจะเขียนเรื่องปัญญา หรือจะใช้ปัญญาในการเขียนดี

ถ้าเราจะเขียนเรื่องปัญญา ก็คงจะมีคนเขียนกันเยอะแยะมากมายอยู่แล้ว เหมือนกับการเขียนบทความที่บอกว่าเราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ นั้นว่าอย่างไร ถ้าผมเขียนแบบนั้นมันก็เป็นเพียงแค่เขียน "ปริยัติ"

เราเอาสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาลองไป "ปฏิบัติก่อนดีกว่า" ปฏิบัติก่อนแล้วค่อย ๆ นำมาเขียนออกมา ช้าหน่อยแต่ได้ของที่ดีขึ้นคงจะไม่เป็นไร เหมือนกับที่อาจารย์สอนว่า "อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือสมณะนี้เป็นครูของเรา" ตามหลักกาลามสูตร

ในช่วงหลาย ๆ เดือนที่ผ่านมาผมได้พยายามปฏิบัติตนให้เข้าถึงพุทธศาสนาโดยการสวดมนต์ เจริญจิต ภาวนาด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยเฉพาะการสวดมนต์ในบทต่าง ๆ ประกอบกับการได้ความรู้จากอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จันทรรัตน์และนพ.วัลลภ ใน Gotoknow แห่งนี้ที่ให้คำชี้แนะว่าผมสามารถสวดมนต์ภาวนาได้แม้จะไม่มีห้องพระหรือหิ้งพระเหมือนกับอยู่ที่อุตรดิตถ์

ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว เรายังต้อง "เข้าถึง" การเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้เราต้อง "ปฏิบัติ"

"ก่อนเขียนจะต้องลองปฏิบัติก่อน แล้วจะเขียนโดยเข้าใจสรรพสิ่ง"

เราจะรู้ว่าสิ่งที่ได้ฟังได้เรียนมานั้นเป็นอย่างไร

เราจะรู้ว่าจะเอาปัญญานั้นไปใช้ได้อย่างไร

เราจะรู้ว่าเมื่อใช้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ได้อะไรบ้าง

ได้ความรู้ ได้ปัญญา ต่อยอดหรือต้องเพิ่มเติมตามบริบทต่าง ๆ อะไรบ้าง เนี่ยแหละ "ปัญญา"

 

เหมือนกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ตอนนี้ต้องปฏิบัติโดยปริยาย เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลยครับ เพราะทำให้เวลาเรียนได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ทำให้สิ่งที่ได้รู้นั้นว่ามี "แก่น" หรือ "หลัก" เหมือนกัน แต่แตกต่างออกไปกันตามบริบทโดยขึ้นหรือกับความเหมาะสมของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ สถานภาพ ฐานะ อาชีพ การศึกษา

เมื่อเราเรียนแล้ว รู้แล้ว เข้าใจแล้ว ต้องลองปฏิบัติจริง แล้วกลั่นออกมาเป็น "ละอองปัญญา" ละอองต่าง ๆ ต่อยอดขึ้นเรื่อย ๆ จึงจะเกิดให้เกิดความก้าวหน้ากับปัญญาของตนเองครับ หรือที่ท่านอาจารย์เรียกว่า "ปฏิเวศ"

ย้อนกลับไปเมื่อวันเสาร์ที่ได้ไปเยี่ยมชมนาและสวนของท่าน ดร.แสวง ตอนแรกผมก็คิดอยากจะทำเหมือนกับท่าน แต่กลับมาลองคิดไคร่ครวญดูแล้ว ผมมี "ทุน" หลาย ๆ อย่างแตกต่างกันท่านครับ อย่างที่เห็นชัดมากที่สุด "ทุนพื้นดิน" ที่นาต่าง ๆ ที่ท่านได้ลงมือเพาะปลูกสิ่งต่าง ๆ ไว้ ผมคงไม่มีเงินไปซื้อที่ดินได้อย่างท่านหรอกครับ

แต่ผมมีสิ่งที่พ่อและแม่ให้ผมมาซึ่งทุก ๆ ท่านก็มีอยู่เหมือน ๆ กันทุก ๆ คนครับ และเป็น "ทุน" ที่สามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัดนั่นก็คือ "สมอง"

ซึ่งเราสามารถปลูกต้นหญ้าทางความคิด ปลูกสิ่งต่าง ๆ ทางสมองโดยผ่านการปฏิบัติ ซึ่งสิ่งต่าง ๆที่เราได้ปฏิบัติมานั้นจะถูกที่จะเก็บไว้ใน "สัญญา" ตามความหมายของพระพุทธศาสนาได้อย่างมากมาย

ใช้หัวสมองให้เปรียบเสมือนที่นาใช้บ่มเพาะความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาทั้งจากในห้องและนอกห้องเรียน จากทุก ๆ ย่างก้าวที่สัมผัส ผ่านการปฏิบัติจนกระทั่งทำให้เกิดปัญญาให้ได้ครับ

ทดลองบ่มเพาะชุดความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้และรับรู้มา เมื่อทดลองได้อย่างไรแล้วสำเร็จหรือไม่สำเร็จต้องรีบบันทึก

"เราสามารถเปลี่ยนได้เรื่อยๆ  ปรับความรู้ความคิดเหล่านั้นได้ตลอดเวลา คิดอะไรได้ปฏิบัติสิ่งใดได้เราต้องรีบเขียน เพราะเมื่อเราเขียน เขียนไปเรื่อย ๆ มันจะทำให้เราคิดได้ชัดพร้อมกับทำให้สิ่งที่เราปฏิบัตินั้นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็เขียนได้ดีขึ้นไปด้วย เราได้เห็นถึงที่มาที่ไปในการเขียนแต่ละครั้ง เห็นถึงพัฒนาการในการคิด การเขียน การปฏิบัติ แล้วนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาคิดต่อ ปฏิบัติต่อ ต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด"

ดังนั้นการคิดและการปฏิบัติจึงเป็นการบ่มเพาะชุดความรู้จากการฟังการอ่านหรือจากการสัมผัสด้วยอายาตนะต่าง ๆ หรือรวมกันทั้งหมด เมื่อคิดแล้วปฏิบัติแล้วต้องมีการสรุป วิเคราะห์และจดบันทึก เพราะไม่อย่างงั้นสิ่งที่คิดเหล่านั้นก็อาจจะหายไป

เปรียบเหมือนต้นหญ้าที่ปลูกแล้ว เพาะแล้ว แต่ถูกปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง จะไม่เกิดคุณค่าใด ๆ

ดังนั้นเมื่อเราได้ปลูกความรู้ใด ๆ เอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จหรืออาจจะล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ทุก ๆ อย่างคือความรู้ เราจะต้องดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการคิดและการปฏิบัติเหล่านั้น โดยการจดบันทึก แล้วนำออกมาเผยแพร่ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยกันนำสรรพวิชาต่าง ๆ เข้ามาบูรณาการผสมผสาน มาช่วยบ่มเพาะและปลูกความรู้ให้เป็นวงจรต่อยอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจะทำให้ความรู้นี้เจริญงอกงามมากที่สุดเช่นเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 42192เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2006 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขออนุญาต ลปรร. แสดงความคิดเห็นนะคะ

อาจจะไม่ได้มีทฤษฎี เพราะว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวเสียมากกว่า ^^

มีความเห็นว่า.. เราจะเขียนอะไรขึ้นมาได้ และเขียนให้ได้ดีนั้น  จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ

1. มีข้อมูล... ว่าจะเขียนอะไร ถ้าหากเราไม่มีข้อมูลเราก็จะเขียนถึงสิ่งนั้นๆไม่ได้

2. มีพลังที่จะเขียน.. พลังที่ว่านี้ได้จาก

  • จุดมุ่งหมาย.. เป้าหมายยิ่งเห็นได้ชัด ยิ่งอยู่ไม่ไกล  เราก็จะเขียนได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น
  • แรงบันดาลใจ.. เปรียบเหมือนแรงที่น้าวยิงธนู  ยิ่งมีแรงมากแค่ไหน ลูกธนูก็จะพุ่งไปหาเป้าเร็วเท่านั้น
  • แรงเสริม.. หมายถึงกำลังใจ จะเป็นพลังในการช่วยผลักดันให้เราเขียนออกมา ตัวอย่างเช่น  แรงเสริมที่เห็นในบล็อกของ gotoknow อันได้แก่ความเห็นของเพื่อนสมาชิก ที่เข้ามาพูดคุยในบันทึก สิ่งนี้คือแรงเสริมที่ช่วยกระตุ้นให้เจ้าของบันทึก  หาเรื่องน่าสนใจมาเขียนต่อๆไป

3. มีสมาธิที่จะเขียน .. เวลาและอารมณ์มีผลต่อการสร้างสมาธิ  เวลาที่เรายุ่งๆ ต่อให้เรามีทั้งข้อมูล มีทั้งพลัง เราก็เขียนไม่ออก  ถ้าหากเราเครียดๆ ไม่มีอารมณ์ ต่อให้วันนั้นเราว่างงาน เราก็เขียนอะไรไม่ออก.. ทั้งนั้นและทั้งนี้ ก็เพราะไม่มีสมาธิที่จะเขียนนั่นเอง

ดังนั้นจึงคิดว่า  ข้อมูล พลังการเขียน และ สมาธิ มีความสำคัญมาก ที่จะช่วยส่งเสริมให้เราเขียนงานอะไรออกมาได้ ..จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้เลย

ขอบคุณที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาสนทนาค่ะ  ^___^

 

 

ชอบบทความของอาจารย์มาก ๆ เลยคะ อ่านแล้วทำให้รู้ว่าเราต้องจัดการกับชีวิตของตัวเองยังไง ขอบคุณที่มีบทความดี ๆ ให้อ่านคะ

ขอบคุณมาก ๆ ครับ คุณจิรา

ขอบคุณที่มาสร้างพลังให้ครับ เป็นมิติที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างเสริมและเติมเต็มได้กับผมและเพื่อน ๆ ได้อย่างมากเลยครับ

ยินดีอย่างยิ่งและขอคุณมาก ๆ ครับ คุณเกรด A

ถ้าจัดการกับชีวิตอย่างไรแล้วได้ผลอย่าไรอย่าลืมนำมาแลกเปลี่ยนกันอีกนะครับ

เราจะเขียนเรื่องปัญญา หรือจะใช้ปัญญาในการเขียนดี

ใช้ปัญญาในการคิด ก็ต้องใช้หัวคิดเพื่อให้เกิดปัญญาด้วย

ขอบคุณสำหรับงานเขียนของคุณปภังกร และข้อคิดเห็นของคุณ k-jira  ครับ ทำให้ผมตาสว่างขึ้นอีกเยอะ

ขอคิดต่อด้วยคนนะครับ

ผมมองว่า

  • การเขียนก็เป็นการปฎิบัติเหมือนกันครับ
  • ยิ่งเขียนบ่อยๆ ยิ่งชำนาฐและเชี่ยวชาญมากขึ้น
  • มองเห็นจุดอ่อน/จุดแข็งงของตนเองได้จากงานเขียนตนเอง
  • และสามารถพัฒนาต่อไปได้ โดยยิ่งมีการเรียนรู้ดัดแปลงจากงานเขียนดีๆ เป็นของเราเอง (ไม่ได้ลอกนะครับ)

ขอบคุณสำหรับประเด็นนี้ครับ

การเขียนของแต่ละคนจะมีแนวการเขียน (Style of writing) แตกต่างกัน  บางคนเขียนเพื่อความบันเทิง  บ้างก็เขียนเพื่อบันเทิงสารคดี  และอะไรอีกจิปาถะ

สำหรับดิฉันชอบการเขียนแบบ  ตามใจชอบ

ดิฉันยังไม่มีทฤษฎีอะไรที่ยึดไว้เป็นสรณะ

แต่ตอนเรียนปริญญาโท  วิชา  การเขียนเอกสารสื่อสิ่งพิมพ์  อาจารย์ชมว่าเขียนได้ดี  แบบไม่รู้ตัว

จากนั้นก็ไม่ได้ฝึกฝนการเขียน  เพียงแต่เขียนบทความวิชาการบ้าง 

จะเขียนออกก็ต่อเมื่อ  มีจุดมุ่งหมาย  มีแรงบันดาลใจค่ะ  ส่วนข้อมูลเดี๋ยวหาทีหลัง

คุณปภังกร  เขียนได้ดีมากเลย  ดิฉันชอบการเขียนของหลายท่านใน gotoKnow ค่ะ

เช่นเดียวกันครับคุณสิริพร

บางครั้งผมก็อยากเขียนอะไรไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน

ถ้าอย่างไรเชิญแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชม

ไดอารี่ชีวิต บ้างนะครับ จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

สำหรับการเขียนของผมนั้นยังต้องพัฒนาอีกเยอะครับ ช่วงนี้กำลังพัฒนาครับ ถ้าอย่างไรช่วยให้คุณสิริพรชี้แนะ และแนะนำด้วยนะครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท