บ้านเตาอิฐ อำเภอหนองบัว นครสวรรค์


  บ้านเตาอิฐ  เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆหมู่บ้านหนึ่ง เดิมอยู่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอหนองบัว ปัจจุบันเป็นชุมชนที่ครอบคลุมกลุ่มและหมู่บ้านหลายแห่งที่มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ต่อเนื่องกันเป็นบ้านเตาอิฐของตำบลห้วยถั่วเหนือ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ห่างจากอำเภอหนองบัวประมาณ 11 กิโลเมตร และไกลจากอำเภอชุมแสงนครสวรรค์ประมาณ 20 กิโเมตร 

เมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมาโน้น บ้านเตาอิฐมีชาวบ้านอยู่เพียง 2 ครอบครัว คือครอบครัวปู่ไหล พูลสวัสดิ์ และปู่พลอย ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บนที่นาของตนเองที่ปราศจากไฟฟ้า น้ำปะปา และถนนหนทาง พ่อแม่ของผู้เขียนก็ต้องเดินทางมาทำนาที่อยู่ใกล้กับนาของปู่ไหลเป็นประจำตั้งแต่ตี 3 - ตี 4

เมื่อปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นปีที่แม่ให้กำเนิดน้องสาวคนที่ 5 ของผู้เขียน พ่อก็พาแม่มาปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆกับบ้านของปู่ไหลในที่นาของตนเอง นับจากนั้นมา หมู่บ้านนี้ก็เจริญเติบโตจวบจนปัจจุบันมี 10 ครอบครัว ที่มีไฟฟ้า น้ำปะปาและถนนลาดยาง เดินทางไปมาสะดวก

ชีวิตของผู้เขียนทั้ง 2 ยุคช่างแตกต่างกันมาก เมื่ออายุประมาณ 7-12 ปี เป็นช่วงที่มีความสุข สนุกสนานมาก ทุกครอบครัวมีความเป็นอยู่แบบชนบท ไปบ้านใหนก็ได้กินของอร่อยๆไม่ว่าจะเป็นข้าวขยำน้ำปลาร้า ข้าวขยำน้ำปลาที่แสนอร่อย เมื่อกลับบ้านพ่อแม่ก็จะถามว่าไปเล่นใหนมาทำไมไม่มากินข้าวบ้าน ไปกินข้าวบ้านใครมา แล้วก็จะถูกดุ ถูกคาดโทษจะตีบ้าง

ปัจจุบัน ผู้เขียนอายุ 50 กว่าปี สภาพความเป็นอยู่เปลี่ยนไป พี่ๆน้องๆแยกย้ายกันไปทำงานอาชีพที่อื่น นานๆจึงจะมาพบปะกัน ผู้คนในหมู่บ้านก็มุ่งแต่การประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัว ต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนเย็น ค่ำลงก็เข้านอนบ้านใครบ้านมัน

หมู่บ้านของเราอยู่อย่างสงบสุขไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี หากไม่มีงานหรือธุระ ทำให้ขาดการได้พบปะพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกัน มันเป็นชีวิตที่รู้สึกเหงาๆเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป ทำให้อยากหวนกลับคืนไปสู่ความเป็นอยู่อย่างเดิม.

                                                                                                                                       ครูจันทร์

................................................................................................................................................................................

หมายเหตุ :

๑. ครูจันทร์ เป็นคุณครูท่านหนึ่งของโรงเรียนในตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว และบ้านอยู่บ้านเตาอิฐ บันทึกนี้เป็นกิจกรรมทดลองเขียนถ่ายทอดข้อมูลจากประสบการณ์ของสมาชิกในชุมชนท้องถิ่น และเนื่องจากยังไม่มีคอมพิวเตอร์ จึงทดลองบันทึกลงในบล๊อกเวทีคนหนองบัว ผมจึงขอแยกออกมาทำเป็นบันทึกต่างหากไว้ให้เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลเริ่มต้นของอีกชุมชนหนึ่งในหนองบัวและนครสวรรค์ต่อไปในอนาคต

๒. ปู่ไหล พูลสวัสดิ์ เป็นคนเก่าแก่ผู้หนึ่งของชุมชนที่เป็นผู้ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นนับแต่เตาอิฐ ห้วยใหญ่ ห้วยถั่วเหนือ เกาะแก้ว รังย้อย บ้านตาลิน บ้านป่ารัง ให้ความเคารพนับถือ เป็นผู้ที่มีความศรัทธาปสาทะในพระศาสนาและถวายที่นาของตนเองมอบให้แก่วัดใหม่นิกรปทุมรักษ์เพื่อสร้างเป็นสระวัดและศาสนสถาน และเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ก่อเกิดใหม่ อยู่ติดกับโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)ในปัจจุบัน ลูกของปู่ไหลคนหนึ่งเป็นรุ่นพี่โรงเรียนวันครูของผมชื่อพี่สมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ซึ่งเคยร่วมเป็นคณะเชียร์รำวงในคณะแตรวง ช.ลูกทุ่งกับผม น้องพี่สมศักดิ์เป็นเพื่อนเรียนโรงเรียนวันครูกับผม ปัจจุบันเป็นนายตำรวจ คือ พันตำรวจเอกบุญมี พูลสวัสดิ์ หลังจากจบโรงเรียนวันครูแล้ว ครูจันทร์กับ พ.ต.อ.บุญมีไปเรียนต่อที่โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ อำเภอชุมแสง นครสวรรค์ โดยครูจันทร์ไปเรียนโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ก่อน และอยู่ห้องเดียวกับผม แล้วจึงค่อยย้ายไปชุมแสง ทำให้ครูจันทร์กับผมมีเพื่อนที่หนองบัวร่วมกลุ่มเดียวกันอีกจำนวนหนึ่งนอกเหนือจากเพื่อนๆที่โรงเรียนวันครู

๓. ครูเก่าแก่ของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ท่านหนึ่งเป็นคนอยู่บ้านเตาอิฐ คือ คุณครูทองหล่อ บุญเกิด อยู่เลยไปจากบ้านคุณครูจันทร์เพียงตะโกนถึง ข้างบ้านของคุณครูทองหล่อจะเป็นบ้านเผาอิฐ มีเตาเผาอิฐขนาดใหญ่ซึ่งคงเป็นที่มาของชื่อบ้านเตาอิฐ เลยเตาเผาอิฐไปเพียงนิดก็จะเป็นแยกเนินมะกอกเข้าไปห้วยวารีหรือห้วยปลาเน่า เมื่อก่อนนี้ ผม รวมทั้งเด็กๆของโรงเรียนวัดและโรงเรียนประถมจากทุกโรงเรียนโดยรอบ เมื่อต้องสอบไล่เพื่อจบชั้นประถม ๓-๔ จะสอบด้วยข้อสอบจากส่วนกลาง ต้องเดินทางไปสอบไล่กันที่โรงเรียนวัดเนินมะกอก

หมายเลขบันทึก: 451995เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2011 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

ในภาพสวยเหมือนสวรรค์จริงด้วย

แต่ว่าภาพจริงเหมือนนี้หรือเปล่าครับ

สวัสดีครับท่านอจารย์โสภณครับ

ในภาพเป็นภาพแปลงนาของปู่ไหล ข้างวัดของชุมชนและข้างโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ที่บันทึกกล่าวถึงพอดีครับ บังเอิญมีภาพนี้อยู่พอดี ตอนนี้ต้นข้าวจะเขียว กอสูงและหนาแน่นมากกว่าในภาพครับ ตอนนี้ไปแถวต่างจังหวัดและแถวหนองบัวนครสวรรค์ จะรู้สึกร่มรื่นและมีชีวิตชีวามากครับอาจารย์

อ่านบันทึกนี้ โดนใจมากๆ อยากให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นแบบเดิม เหมือนตอนเป็นเด็กๆ ซึ่งมันสัมผัสได้ถึงความช่วยเหลือ เอื้อเฝื้อต่อกัน ที่สำคัญไม่ว่าจะไปไหนก็มีแต่รอยยิ้มที่แบ่งปันกันด้วย "ความจริงใจ"

...เมื่อกลับบ้านพ่อแม่ก็จะถามว่าไปเล่นใหนมาทำไมไม่มากินข้าวบ้าน ไปกินข้าวบ้านใครมา...ปัจจุบัน ผู้เขียนอายุ 50 กว่าปี...

Aaah, the old days of a baby-boomer ;-)

I am too as lucky as ครูจันทร์ to have that experience.

Back then, food was for sharing. Fruits and vegetables were virtually free.

Young children could play and eat anywhere. They were loved and looked after as they were most precious people.

But when they grew up and could work, then they had to work --no ifs, no buts.

Those were the days!

สวัสดีครับคุณครูนพรัตน์ครับ
อยากให้ครูจันทร์ได้อ่านจัง งานนี้ครูจันทร์พอได้ทราบข่าวแล้วเลยขอสมัครมาเอง ท่านต้องดีใจและมีกำลังมากๆเลยละครับ

หมู่บ้านเตาอิฐที่ท่านนำมาเขียนนี่ไม่มีคนเก่าคนแก่แล้วและกำลังเปลี่ยนกลืนหายไปเป็นชุมชนใหม่ๆหมดแล้ว เมื่อก่อนนี้บ้านและญาติพี่น้องของครูจันทร์นี่ก็เหมือนกับญาติพี่น้องของผมและญาติๆด้วย ไปมาหาสู่กันง่ายครับ ที่ท่านเล่าเรื่องข้าวขยำน้ำปลาร้าและน้ำปลานี่ทำให้ต้องนั่งยิ้มเลย มันเป็นอาหารที่วิเศษมากจริงๆ เมื่อก่อนเขาจะใส่ปลาป่นและใส่น้ำมันหมูกับกากหมูด้วย อร่อยครับ ต้องเป็นเด็กๆถึงจะได้กิน หากเป็นผู้ใหญ่ ปลาป่นเขาจะเจียดไปทำน้ำพริก เด็กๆกินเผ็ดไม่ได้เลได้กินข้าวขยำอย่างครูจันทร์ว่าแหละครับ

อ่านคำสนทนาของคุณ sr แล้วยิ้มเลย รวมทั้งทำให้นึกถึงเสียงกีตาร์ใสๆ ลีลาการฮัมแบบพลิ้วอย่างรื่นรมย์ในเพลง Lemon Tree ของ Pual and Marry เลยละครับ, มองในทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมนี่ การได้แบ่งปันความสุข ทัศนต่อชีวิต หรือได้แลกเปลี่ยนตรวจสอบความหมายแห่งชีวิตนี่ คงจะมีส่วนมากเลยนะครับที่ทำให้ผู้คนได้รู้สึกถึงความมีเสน่ห์ของชีวิต อยากเดินไปหาเพื่อน อยากสร้างความเป็นญาติและผูกพันกันเป็นสังคม หมู่เหล่า รวมทั้งในอดีตก็อยากมีลูกหลานมากมาย ในยุค Baby-Boomer นี่แม้นไม่เกิดสงครามและไม่เกิดการแข่งขันกันอยากเป็นชาติผู้นำ ธรรมชาติอย่างนี้ก็คงทำให้คนอยากมีลูกหลานหลายๆคนอยู่ดี

ทุกคนต้องดีใจและมีกำลังใจมากเลยละครับอาจารย์

คนรุ่นราวใกล้กัน ได้เติบโตมาจากต่างจังหวัดเช่นกันค่ะอาจารย์ ทันสัมผัสกับสิ่งที่คุณครูจันทร์และอาจารย์ขจิตเล่า

เป็นกำลังใจให้คนทำงานในแนวทางนี้ทุกท่านค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

หนูได้ความคิดต่อยอด

มีทีมชาวบ้านและทีมพี่เลี้ยงเริ่มศึกษาชุมชนไปบ้างแล้ว

4 หมู่บ้านของอำเภอสระใคร หนองคาย

แต่การเขียนออกมายังไม่เยอะ

ชาวบ้านเล่าเก่งนะคะ

ต้องคอยหาคนเขียนเก่งมาช่วยแล้วล่ะคะ

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีครับ ดร.ยุวนุชครับ

บันทึกของคุณครูจันทร์ในบริบทของหนองบัว นครสวรรค์นี่มีความหมายมากเลยละครับ เพราะหนองบัวนั้น เหมือนกับเป็นชนบทของนครสวรรค์ และบ้านเตาอิฐก็เป็นกลุ่มบ้านเรือนกลุ่มเล็กนิดเดียว คนทั่วไปแทบจะไม่รู้จัก พอเริ่มขยายตัว กลุ่มบ้านต่างๆก็เริ่มจะเชื่อมกันและก็คงจะกลืนหายความดั้งเดิมเกือบทุกด้านไปอีก บันทึกนี้เลยเป็นการเป็นหมายเหตุให้เห็นร่องรอยของชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งไปด้วยเลยละครับ

ในชุมชนต่างๆของชนบททั่วประเทศไทย ต้องการคนที่พอเขียนความรู้และบันทึกข้อมูลต่างๆรอบตัวอย่างนี้ได้อีกเยอะเลยนะครับ ข้อมูลที่ระบบดาวเทียมและระบบสืบค้นข้อมูลทุกระบบของโลกตอนนี้ สามารถค้นพบถนนตัดใหม่ๆ ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ และที่พักที่ต้องการอำนวยความสะดวกนักทักเที่ยว ได้อย่างมีรายละเอียด สวยงาม และมีความหมายทางการสื่อสารเรียนรู้ มากกว่าที่จะค้นพบเรื่องราวชีวิตผู้คนและชุมชนอีกมากมายที่เคยมีอยู่ในประเทศไทย ที่มีอายุเป็นร้อยๆปีและนับชั่วอายุคนอีกนะครับ เรื่องพวกนี้ไม่มีประโยชน์ ทำแล้วไม่มีผลต่อรายได้และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่หากไม่ทำเองและหายไปแล้ว ก็ไม่มีที่จะซื้อหา อีกทั้งไม่สามารถเรียกคืนจากที่ไหนได้ทั้งสิ้น

เลยก็ขอเป็นกำลังใจแนวทางของดร.ยุวนุชกับคนข้างกายและเครือข่าย ด้วยเช่นกันครับ

สวัสดีครับคุณหมอครับ
เมื่อตอนไปทำเวิร์คช็อปที่หนองบัว ท่านพระอาจารย์มหาแลบรรยายนำการเสวนาในเวทีความหนึ่งที่ผมประทับใจมากครับ ท่านบอกประมาณอย่างนี้ครับว่า ".......ความรู้ในประสบการณ์ชาวบ้านและเรื่องราวของชุมชนเรานั้น(หนองบัว) ให้คนอื่นเขามาเขียนให้ใครเขาจะไปรู้ และเมื่อเขียนแบบความรู้ของโลกภายนอก ก็เหมือนจะไม่มีเรื่องราวของชุมชนให้น่าเขียนเลย แต่พอนั่งคุยกับชาวบ้านและให้ชาวบ้านในชุมชนเล่าถ่ายทอด ก็กลับจะสามารถเล่าและถ่ายทอดออกมาได้ไม่รู้จักหมดสิ้น ......"  ซึ่งนอกจากจะให้วิธีคิดที่ดีมากจริงๆสำหรับเหตุผลของการต้องเลือกใช้ระเบียบวิธีการวิจัยให้เหมาะสมกับชาวบ้านและชีวิตชุมชนแล้ว ก็เห็นความสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างของการสร้างความรู้ด้วยวิธีต่างๆที่สังคมมี ได้เป็นอย่างดี

เลยก็ต้องขอเป็นกำลังใจในสิ่งที่กำลังก่อเกิดและเริ่มดำเนินการขึ้นที่บ้านสระไคของคุณหมอนะครับ

อ่านบันทึกนี้ ด้วยหัวใจที่เบิกบานเช่นกันครับ อาจารย์วิรัตน์ครับ

...

มาเยี่ยมอาจารย์ ด้วยความระลึกถึงเสมอครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดี
หายไปเป็นครู่เลยหนาเนี่ย 
มาคราวนี้ เปลี่ยนรูปเป็นรูปควงสาวน้อย-เจ้าตัวเล็กเลยนะครับ
ขอบคุณครับที่เอารูปท้องทุ่งสุดลูกหูลูกตามาฝากครับ
มันเป็นบึงหรือทะเลสาบเสียกระมัง ดูกว๊าง-กว้าง

เป็นความทรงจำที่มีคุณค่ามากค่ะ สะท้อนความงามของชีวิตที่ให้ข้อคิดดีๆหลายแง่มุม :)

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
หากคุณครูจันทร์ได้มีโอกาสเข้ามาและเห็นความชื่นชมของพี่ใหญ่และทุกท่านแล้ว
ก็คงมีกำลังใจจากสิ่งเล็กๆแต่เป็นน้ำใจที่ยิ่งใหญ่ต่อชุมชนมากเลยนะครับ
เธอบอกว่าโรงเรียนยังไม่มีคอมพิวเตอร์ และตนเองก็ยังใช้ไม่เป็น
แต่ก็เห็นความสำคัญ เลยขวนขวายเดินเข้ามาในเวิร์คช็อป
และขอทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวบ้านเกิดเมืองนอนไว้ก่อนจะเลือนหายไป

สวัสดีค่ะพี่อาจารย์...ขอแสดงความยินดีกับผู้ใหญ่บ้าน ธีรพันธุ์ บุญบาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านเนินน้ำเย็น อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ด้วยนะคะที่ได้รับรางวัลคนดีของแผ่นดิน จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม ปีที่ 2

http://www.youtube.com/watch?v=3QtMVSIEuaI&feature=player_embedded#!

ขอบคุณครับเจ้าหนูอ้อย
ตอนแรกก็นึกชื่อไม่ออก พอเห็นนามสกุลก็พอจะรู้ว่าเป็นลูกหลานกำนันแหวน
แถวหนองบัวนี่ ถ้าบอกว่าลูกกำนันแหวนนี่ก็จะรู้จักหมดเลยละครับ

ไพบูลณ์ ประจำวงษ์

สวัสดีครับ อ.วิรัตน์ฯ

พึ่งได้เข้ามาอ่าน นึกถึงบรรยากาศเมื่อสัก 30-40 ปีได้เลยครับ (ผมจำความได้รุ่นนั้น) ไปเล่นบ้านไหน ก็กินข้าวบ้านนั้นจริงๆ

ความเจริญทางวัตถุ เปลี่ยนอะไรไปหลายอย่าง คงหวลกลับไม่ได้โดยง่ายแล้ว

ไม่รู้ครูจันทร์ ได้อ่านหรือยัง ผมจะ copy ไปให้อ่าน คงดีใจมาก

เคารพครับ

กำลังพยายามนึกอยู่นะครับว่าไพบูลณ์นี่คนไหนนะ บอกว่ารำลึกถึงบรรยากาศเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนนี่ ก็ต้องรุ่นหลังผมน่าจะเป็นรุ่นหลาน หรือเป็นรุ่นน้องเล็กๆของรุ่นผมกับรุ่นครูจันทร์แล้วกระมังครับ แต่ไม่ว่าจะรุ่นไหน ก็คิดว่าผมคงจะรู้จักพี่น้องและญาติๆแถวเตาอิฐ พอเห็นก็จำได้เป็นส่วนใหญ่

ฝากดึงไปให้ครูจันทร์และเด็กๆทั้งบ้านเตาอิฐและโรงเรียนบ้านหนองแก้ว ได้อ่านและชมผลงานของตนเองด้วยนะครับ ขอบคุณและดีใจที่แวะเข้ามาทักทายกัน เข้ามาอ่านและเขียนเรื่องราวต่างๆให้เด็กๆที่บ้านนอกของเราอีกนะครับ

สวัสดีครับ อ.วิรัตน์ฯ

ไพบูลณ์ นี่น้องคนสุดท้องครูจันครับ เรียนรุ่นเดียวกับพีระครับ

กำลังอยากชวนพีระ หากิจกรรมทำที่ ร.ร. วันครูดู ยังไม่ได้ติดต่อกันเลย

ตอนนี้ bookmark บล็อก ของ อ.วิรัตน์ฯ ไว้อ่านแล้วครับ

สวัสดีครับไพบูลณ์

ดีใจที่ได้ทักทายคนกันเองนะครับ พี่ไม่แน่ใจว่าน้องของครูจันทร์คนถัดไปหลังจากไพฑูรย์(ถูกต้องหรือเปล่าไม่รู้)นั้น พี่พอจะจำได้ไหม แต่ไพฑูรย์นี่ดูเหมือนจะทันกันที่โรงเรียนวันครู เขาเป็นรุ่นน้องพี่หลายปี และหากนึกภาพเมื่อตอนเป็นเด็กๆกันก็นึกภาพออกครับ แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าจะจำได้ไหม น่าจะจำได้น่ะครับ

ตอนนี้ โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ก่อตั้งมาได้ครึ่งศตวรรษแล้ว นอกจากอยากทำสิ่งๆต่างๆให้กับที่บ้านและโรงเรียนมากกว่าที่พอทำได้กระจัดกระจายแล้ว พี่ก็คิดเหมือนกันว่าอยากถือเป็นโอกาสทำกิจกรรมรำลึกถึงโรงเรียน บทบาทของครู และระดมพลังต่างๆไปช่วยพัฒนาโรงเรียน ลองพูดคุยเพื่อค่อยๆสานการรับรู้บ้างแล้วตามแต่จะมีโอกาส ก็พอใช้ได้ครับ คุณครูของโรงเรียนเมื่อตอนที่พอได้หารือ โดยมากก็เห็นด้วย (แต่ตอนนี้คนเก่าๆเกษียณออกไปเยอะแล้ว) ชาวบ้านและคนที่เคยเรียนโรงเรียนวันครู แทบทุกคนเห็นด้วยและเชียร์ให้พี่พาทำ คุณครูเก่าๆที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะไปอยู่ในที่อื่นๆแล้ว ก็ยังกลับมาเยี่ยมบ้านตาลินและดูโรงเรียนที่ตนเองเคยสอน ก็ออกปากไว้ว่าหากจัดกิจกรรมอะไรเกี่ยวกับโรงเรียนก็จะดีใจและมาร่วม

พี่ก็เคยออกปากฝากไว้กับพีระว่าให้สะสมประสบการณ์และหาโอกาสกลับไปทำสิ่งต่างๆร่วมกับเพื่อนๆด้วย แล้วเราก็ค่อยๆทำให้เชื่อมโยงกัน หากพอมีเวลาก็ลองเข้าไปอ่านหาแนวคิดเผื่อได้ทำสิ่งต่างๆด้วยกันจากหัวข้อบันทึกเกี่ยวกับโรงเรียนวันครูนะครับ พี่จะหาเวลาลงไปทำงานข้อมูลเป็นระยะๆ เมื่อจัดกิจกรรมได้บ้างแล้วจะบอกกล่าวกัน และหากมีโอกาสไปร่วมกันได้ ก็ขอชวนเชิญไว้ล่วงหน้าเลยนะ

อ่านแล้ว ดีใจจัง ที่เป็นส่วนหนึ่งที่มีโอกาส และขอขอบคุณทุกกำลังใจ

ตอนนี้ กำลังจะใช้เป็นตัวอย่างให้กับเครือข่ายครูพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมศึกษา ของเครือข่ายการเรียนรู้ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐานครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๕๕ นี้อีกครับนะครับเนี่ยครูจันทร์

มีเบอร์มือถือ พ.ต.อ บุญมีไหมครับ จะโทรชวนมางานโรงเรียน 8 ธค 55 ที่ ชท. รำลึกความหลังกันหน่อย ตอนนี้ชวนเพื่อนได้ 16 คนแล้วกะว่าซัก 25-30 คนกำลังดีรวมกับคนอยู่ชุมแสงซักอีก 10 คน ขอบคุณครับ

ไม่มีน่ะสิครับ ผมและเพื่อนๆก็มักถามไถ่ถึงกันอยู่เหมือนกัน ตอนนี้ไปประจำอยู่แถวไหนแล้วละครับเนี่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท