ภาษาพาม่วน 2 “คนซูกัน” เมื่อใจตรงกันก็ ซูกันเสียเลย (การแต่งงานภาคประชาชนโบราณอีสาน)


คนซูกัน ในส้วมนอน งัวเข้าสวน สู่ขวัญน้อยยามมื้อแลง

ซู  การแต่งงานชาวบ้านอีสานที่แสนโรแมนติกและตื่นเต้น 

          สมัยก่อนหมู่บ้านของผมยังไม่มีไฟฟ้าใช้  รั้วบ้านก็ไม่มี  จะมีบ้างก็เป็นรั้วแบบเอาไม้แก่นร่อน (เอากิ่งและเปลือกออก) มาวางพาดเสาร่อง(แบบร่องตัว Y ) พออาศัยให้พวกบ่าวแวง  บ่าวใหญ่ลงเล่นอาศัยนั่ง (ลงเล่นกลางคืนตามหมู่บ้าน คุยกัน  ดีดพิณ  เป่าแคน เดินอ้อมหมู่บ้าน เล่นสาว ฯลฯ) ดังนั้นหมู่บ้านใหญ่ขนาด 100 – 200 หลังคาเรือน  ผู้คนจึงเดินลัดเลาะหัวบ้านท้ายบ้านได้สบาย  เวลากลางคืนบ้านไหนมีตะเกียงกระป๋องน้ำมันก๊าดวอมแวมจน 4-5 ทุ่ม  ก็พอรู้ได้ว่าลูกสาวบ้านนั้นกำลัง เล่นบ่าว"อยู่  ส่วนบ้านที่มีคนหนุ่มนั่งชุมนุมกันจะไม่ค่อยจุดตะเกียง  จะมองเห็นแต่ไฟยาเส้นแดง วาบ วาบ ในความมืด  การเล่นบ่าวก็คือมีผู้บ่าวขึ้นไปจีบสาวบนบ้าน  พ่อแม่สาวก็ (แกล้ง) เข้านอน  ปล่อยให้ลูกสาวเว้าบ่าวอยู่  ดึกมาท่านอาจง่วงหนักเลยนอนหลับสนิทไป  ทีนี้ละครับคำว่า ซู จะมาก็ตอนนี้แหละ

              ซู หมายถึง  การที่บ่าวสาวตกลงว่าจะร่วมเป็นผัวเมียกันเองโดยไม่ได้มีผู้ใหญ่มาสู่ขอ เมื่อรักกันมากแต่มีอุปสรรค เช่น ญาติฝ่ายสาวไม่ค่อยชอบ  ฝ่ายชายยังไม่มีค่าสินสอด... จึงเกิดการตัดสินใจกันเองมี  2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

         1. ซูนั่ง  คือผู้ชาย(แอบ) เข้าไปนั่งคุยกับแฟนสาวของตนถึงในส้วมนอน (ห้องนอนสาว) จนสว่าง  อาจจะไม่ได้ล่วงเกินอะไรกันก็ได้ (ส่วนมากจะเป็นครอบครัวที่แม่ยายเป็นร้างหรือเป็นหม้าย  ถ้าพ่อตายังอยู่เจ้าหนุ่มอาจซูลำบากครับ)  พอฟ้าสว่างแม่ตื่นมาโวยวายลั่นคุ้มบ้านว่า โอ้ย บ้านเมืองเอย งัวเข้าสวน  งัวเข้าสวน ๆ ๆ เด้อพี่น้อง... (งัวก็นั่งอยู่ในส้วมนอนนั่นแหละครับ)

           2. ซูนอน  ก็เข้าไปอยู่ในส้วมนอนสาวเหมือนกันครับ  ผิดแต่เจ้าหนุ่มไม่ได้นั่งเฝ้าบ่อนนอน (ที่นอน) ของสาวเท่านั้น  แต่หมอกลับเข้าไปซ้อนบ่อน (นอนร่วมผ้าห่ม) กับสาวเลย

            ตื่นเช้ามาพอแม่ฝ่ายสาวจับได้ก็จะมีญาติพี่น้องฝ่ายสาวพากันมาตัน (ขวาง) ประตูส้วมนอนถือมีดถือพร้ามาขวางไว้ดูน่ากลัว   แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่ามีญาติฝ่ายสาวคนไหนได้ฟันทำร้ายเจ้าบ่าวจอมซูคนนั้นสักที  ก็เป็นอันว่า  ญาติฝ่ายสาวต้องไปเรียกพ่อแม่ญาติพี่น้องฝ่ายชายมาสู่ขอปรับไหมกันไปตามประเพณี 

            การซูกันนี้  ส่วนมากจะจัดแต่งงานน้อยหรือสู่ขวัญน้อย กินลาบไก่ลาบปลาเลี้ยงสู่กันไปตามมีตามได้ในคืนวันถัดมาเลย  จะไม่รอเอาฤกษ์เอาชัยนานวันเหมือนการสู่ขอธรรมดา

          พิธีเอากัน (แต่งงาน/คำพูดปกติ) แบบนี้ชาวบ้านอีสานเรียกว่า  คนซูกัน  บ่าวซูสาว สาวซูบ่าวครับ  ก็โจษจรรย์กันไปทั่วหมู่บ้านไประยะหนึ่ง  ก็อยู่กันมาจนได้ลูกหลานเติบโต ส่วนหนึ่งปู่ย่าตาทวดก็ซูกันมาแบบนี่แหละครับ

           ส่วนการที่สาวหนีตามบ่าวนั้น  ชาวอีสานเรียกว่า  ผู้สาวแล่นนำบ่าวครับ  เคยมีคำถามผมว่า "อย่างนี้เรียกว่า ซูแล่นได้ไหม" ไม่เรียกกันครับ  พ่อแม่เสียใจ ซ้ำคนก็เรียกว่าเป็นคนพินลีน หรือเป็นคนเชียว/เคียว ครับ  ผู้หญิงอีสานถูกเรียกสองอย่างนี้ไม่ดี

            สมัยนี้การแต่งงานแบบวิถีชาวบ้านอย่างนี้คงหายาก เพราะวัฒนธรรมเปลี่ยนไป  การซูกันค่อย ๆ หมดไป  มีแต่การไปตกลงกันที่อื่น เช่น ที่โรงแรม  รีสอร์ท ฯลฯ ซึ่งไม่เรียกว่าซู จะเรียกว่าอะไรก็สุดแล้วแต่จะเรียกนะครับเพราะเป็นเรื่องร่วมสมัยเรานี่เอง  เห็นไหมครับว่า คนซูกัน สุดแสนจะโรแมนติก และน่าตื่นเต้นแค่ไหน

หมายเลขบันทึก: 131938เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2007 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอคิดด้วยคน  ไม่ทราบว่าผู้เขียนเคยซูหรือเปล่าค่ะ  และรู้สึกว่าจะบรรยายจนเห็นภาพเลยหละค่ะ  โดยเฉพาะตอนจุดตะเกียง "เล่นบ่าว"

เป็นความรู้ที่แปลกใหม่ ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน  ดีค่ะ จะได้ประดับความรู้

   
1.  ทันเห็นทันรู้ P. ubol แต่ยังไม่ทัน ซู ครับผม
2. ขอบคุณคุณ P. miss charintip
yongchana ครับ ... การแต่งงานวิถีชาวบ้านแบบนี้  ความสวยงามอยู่ที่ความจริงใจ  และความรับผิดชอบ  ลูกเขยก็มาช่วยทำนา เลี้ยงดูครอบครัวฝ่ายภรรยาจริง....

ได้มาเรียนรู้การซูกัน ด้วย ประทับใจในวัฒนธรรมนี้ ขอบคุณครับ

วันนี้ผมได้รับโทร.จากเพื่อนที่ไม่รู้จักคำว่า ซู มาก่อนแต่เวลาออกหน่วยหมู่บ้านสมัยก่อน เพิ่งรู้ว่าตนเองชอบหา ซู แต่สาวมานานแล้ว  ถามผมว่าแล้วคำว่า "ซูเอี๋ย" มาอย่างไร ผมคิดไม่ออกครับว่าเกี่ยวข้องกับ คนซูกัน ของอีสานหรือเปล่า...

      อ่านแล้วคิดถึงสมัยเด็ก มีความสุข

      ขอบคุณท่านที่จับภาพในอดีตมาเล่าได้ดีมาก

      มันจะมีการลงข่วง ผมก็เลือนๆ ไปแล้ว ครับ

      เล่นสาวตำข้าว ตอนหัวค่ำ

      สาวแม่ฮ่างแม่ม่าย   ตอนค่อนแจ้ง

      บ้านท่านเป็นเหมือนกันไหมครับ 

ขอบคุณมากครับอาจารย์  ใช่แล้วครับในบันทึก "การซูกัน" นี้  ไม่ได้กล่าวถึง "การลงข่วง" และการ "ตำครกมอง" ไว้  ใคร่ขอให้อาจารย์เล่าบรรยากาศทางเมืองยศ เมืองเส  ในเรื่องนี้ให้พี่น้องอ่านหน่อยครับ  ขอบคุณล่วงหน้าหลาย ๆ เด้อครับ...

แสงพูไชย อินทะวีคำ

ขอบใจที่แวะเยี่ยมยาม....เรื่องเล่าชาวล้านช้าง

แนวใดก็ตาม..หวังเสมอว่าหมู่เฮาคือเครือญาตพี่น้องกัน

หวังว่าสิฮู้จักมักคุ้นกันให้หลายขื้นเรื่อยๆน้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท