คณิตศาสตร์การเงิน: ทำไม "เต่า" จึงชนะ "กระต่าย"


ผมเคยเข้าไปอ่านกระทู้ในเว็บบอร์ด พูดเรื่องการวางแผนรวยด้วยการลงทุน อ่านแล้ว นึกว่าอ่านโฆษณาแชร์ลูกโซ่ "ก๋วยเตี๋ยวชุบทองคำ" เพราะดูฝันหวานมาก ว่าจะสามารถได้กำไรเป็นกอบเป็นกำตลอด ด้วยการเล่นรอบรายวัน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หวังรวยด้วยการเก็งการโยนหัวก้อย

แนวคิดแบบนี้ เป็นแนวคิดแบบ "กระต่าย" คือ เชื่อว่า "ถ้าคุณไว ทำไมไม่วิ่งให้เร็ว จะได้ไปถึงที่หมายเร็ว" ดังนั้น ต้องหาหุ้นเก็งกำไร ที่สามารถ "เกร็งกำไร" หรือ "เกร็งขาดทุน" ได้เร็ว คือ หุ้นที่ราคาขึ้นลงที เหมือนขึ้นลงลิฟท์ตึกระฟ้า คือ "ถือแล้ววาบหวิว" เช่น เล่น index futures ซึ่งขึ้นลงที ทำให้เลือดสูบฉีดแรงทะลุเพดาน !

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีแนวคิดอีกแนว ที่เรียกว่า "ไปแบบเต่า" คือ "คุณไม่จำเป็นต้องไวที่สุด แต่ข้อสำคัญคือ ไปให้ถึงที่หมายชัวร์ ๆ" ด้วยการลงทุนในหุ้นที่ชัวร์ ๆ เช่น หุ้นปันผล

กรณีของกระต่ายจอมสับสน ผลตอบแทนเชิงสุ่ม ไม่ต่างจากการโยนหัวก้อยปั่นแปะอย่างต่อเนื่อง เหมือน stochastic simulation ในกรณีrandom walk ของ brownian molecule ที่ไอนสไตน์พิสูจน์ด้วยสมการมาตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อนมาแล้ว

นั่นคือ กรณีที่ดีที่สุดระยะยาว จะแปรผันตรงกับรากที่สองของเวลา

แต่ กรณีที่แย่ที่สุดระยะยาว ก็จะแปรผันตรงกับรากที่สองของเวลาด้วยเหมือนกัน !

โดยโอกาสกำไร พอ ๆ กับขาดทุน คือกำไรเละ เป็นไปได้ แต่ขาดทุนย่อยยับ ก็เป็นไปได้

คือเหมือนกระต่ายตาบอด วิ่งไปหน้า วิ่งไปหลัง อย่างบ้าคลั่งสับสน

บางขณะ ดูเหมือนกระต่ายเข้าใกล้เส้นชัย แต่ก็ไม่ถาวร เพราะท้ายสุด มันอาจกลับหลังหันวิ่งไปทิศตรงข้ามห่างจุดตั้งต้น และยิ่งห่างสุดกู่จากเส้นชัย

เมื่อเวลาผ่านไป อาณาบริเวณที่กระต่ายเคยวิ่งไปถึงชายขอบ จะมีระยะที่ห่างจากจุดตั้งต้นมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยระยะชายขอบ จะถ่างไกลออกไปแบบแปรผันตรงกับรากที่สองของเวลา

แต่ตำแหน่งที่กระต่ายอยู่ ณ ขณะใด ๆ จะบรรยายได้โดย gaussian probability density function ที่ค่าเฉลี่ยเป็นศูนย์ คือ กระต่ายใช้เวลาส่วนใหญ่ อยู่ในโซนที่ไม่กำไรและไม่ขาดทุน ที่เรารู้จักกันในนาม "โค้งระฆังคว่ำ" คือ ส่วนใหญ่ อยู่ตรงศูนย์กลาง ไม่ไปไหน

นั่นคือ พวกเล่นหุ้นเกร็งกำไรนาน ๆ ส่วนใหญ่ ไม่ได้กำไรและไม่ขาดทุนหุ้นหรอก แต่ขาดทุนบักโกรกกับค่าคอมมิชชันเสียมากกว่า !

 

ตำแหน่งที่กระต่ายอยู่

 เวลา

 

ตำแหน่งที่กระต่ายอยู่ จึงไม่ต่างจาก quantum wave function ของ electron cloud เท่าไหร่ คือ จับไม่มั่น คั้นไม่ตาย ว่า ณ เวลาใด ๆ มันจะอยู่ตรงไหนแน่ แต่สามารถแจงสถิติว่า มันชอบอยู่ละแวกไหน บ่อยแค่ไหน 

แต่แนวคิดแบบเต่า ต่างออกไป

เหมือนกับการฝากเงินหรือซื้อพันธบัตร หรือการลงทุนในหุ้นที่คัดสรรอย่างระวังด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน โดยกระจายความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ เพื่อคุมให้ผลตอบแทนนิ่ง และแทบปิดประตูขาดทุน เพราะการเติบโต จะสม่ำเสมอ จนแทบจะเรียกว่า ผลตอบแทนแปรผันตรงตามเวลา ได้เลย แม้จะช้า ไม่สะใจ

...ปัญหามีอยู่หน่อยนึง คนที่เล่นหวย เขาก็บอกว่า ตัวเขา ก็วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเหมือนกัน

"ต้นไม้ไหนมีดี-เราขูด

พระวัดไหนดัง-เราไปหา

ใครเกิด/ตาย-เราสืบข้อมูลวันเวลา-สถานที่จนครบ

แถมเรากระจายความเสี่ยงด้วย เช่น 387 เราก็ดักหน้า [=386] ดักหลัง  [=388] กลับหน้ากลับหลัง [=783] "

..."ฮึ่ม ! อย่าได้ดูถูกกันเชียว เรื่องว่าเราไม่วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนี่ื !" 

..จึงต้องระวัง ตีความคำว่า วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ให้ต้องตามมาตรฐานสากลหน่อย จะเอากระแสนิยมมานิยาม จะดูไม่งาม... 

การเคลื่อนไหวของเต่า จริง ๆ แล้ว น่าจะต้องเรียกว่า เป็น "หอยทาก" เสียมากกว่า เพราะจะช้ามากจนมองแทบไม่เห็น

ตัวอย่างเช่น ยอดฝีมือการลงทุนของโลกเช่น วอร์เรน บัฟเฟต เขาลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 23 % ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับเพดานที่กฏหมายไทยใช้ตีกรอบนิยามกิจกรรมประเภท "แชร์ลูกโซ่" ตัวเลขนี้ ดูว่าเยอะ แต่ลองเฉลี่ยต่อวันทำการดู จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยต่อวัน (แบบเพิ่มขึ้นทางเดียว) ราว 0.1 % เท่านั้นเอง ซึ่งนักลงทุนมือรอง คงทำได้ต่ำกว่านี้มาก

ซึ่งเมื่อเทียบกับความผันผวนรายวันของหุ้นกลุ่มยอดนิยม ซึ่งอาจมากถึง 1 - 3 % ต่อวัน ก็จะเห็นว่า ต่างกันมาก

แต่เมื่อมองดูความสัมพันธ์คณิตศาสตร์ เราจะเห็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าั้นั้นซ่อนอยู่

การลงทุนแบบสุ่มเสี่ยงรายวันของกระต่าย กรณีเฉพาะที่มีกำไร จะโตได้แบบ แปรผันตรงกับรากที่สองของเวลา (แต่ก็อาจขาดทุนเหมือนดูเงาในน้ำได้ด้วย)

ส่วนการลงทุนแบบเต่า แม้โตช้า ๆ ทางเดียว แต่ก็แปรผันตรงกับเวลายกกำลังหนึ่ง

ในมุมมองของการวิเคราะห์สมรรถนะของ algorithm ในระยะยาว เต่า ต้องชนะ กระต่าย  แน่นอน ! 

เพราะสิ่งที่แปรผันตรงกับเวลา              \mathcal{O}\left(n\right)

ในระยะยาว ต้องมากกว่า

สิ่งที่แปรผันตรงกับรากที่สองของเวลา   \mathcal{O}\left({n^c}\right), 0<c<1

อย่างเลี่ยงไม่พ้น

 

หมายเหตุแนบท้าย

ผมตัดทิ้ง 2 ประเด็นหลักออกไป

อย่างแรก กระต่ายจะมีการทรุดลงแบบ exponential เพราะผลจากการขาดทุนค่าคอมพิสชัน

อย่างที่สอง เต่าจะเดินเร็วขึ้นแบบ exponential อันเป็นผลจากการที่เต่าโตทบต้น ตัวใหญ่ขึ้น ขายาวขึ้น ก้าวยาวขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งตกหล่นสองประการนี้ ไม่ได้ขัดแย้งกับข้อสรุปก่อนหน้า แต่จะเสริมให้เต่า เดินถึงเส้นชัยเร็วกว่าที่คาด และรัศมีการวิ่งของกระต่ายไปในทิศของเส้นชัย จะถูกรั้งไว้ให้ช้ากว่าที่คาดด้วย 

ถ้าเอาสองประเด็นหลักนี้มาคิด เอาเรื่องดอกเบี้ยมาร่วมคิด และปรับแต่งอีกนิดเดียว ก็จะกลายเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างสูตร Black-Scholes ในการคำนวณมูลค่าตราสารอนุพันธ์...

 

หมายเลขบันทึก: 151510เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2007 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีครับ ขอบคุณแทนคนใน G2K ด้วยครับ ที่นำแนวคิดดีๆ มาเผยแพร่
  • จะว่าไปการลงทุนแบบเต่าชนะกระต่าย เปรียบเหมือน ปรัชญาพอเพียงของในหลวง
  • ท่านทรงให้ประชาชนตระหนักว่า เอาให้มั่นใจว่าพออยู่ได้ก็พอ อย่าไปคิดโลภแบบกระต่าย

"เราจะใช้ไบโอดีเซลแบบน้ำมันปาล์มที่เราปลูกเอง

เราปลูกเองอาจจะมีน้อยหน่อย ก็ใช้น้อย อย่าไปฟุ่มเฟือยใช้มากเกินไป

น้ำมัน ใช้น้อยๆ หน่อย แต่เราจะมี มีใช้

ปลูก ต้นปาล์ม แล้วมามาทำเชื้อเพลิง

ต้นปาล์ม มาทอด มาทอดปลา ทอดอะไรต่างๆ ได้ แล้วก็มาใส่ในรถดีเซล ได้ใช้แล้ว

ก็ใช้ได้ มันวิ่งช้าหน่อย วิ่งช้า ก็ไม่เป็นไร

เราอย่าเร่งรีบ ชีวิตอย่าให้เร่งรีบมากเกินไป

แต่ราคาก็ถูก ถือหลักว่าใช้ของราคาไม่แพงเกินไป

ก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับไฮสปีดดีเซล แต่ก็ไปได้..."

  • ขอบคุณคุณ tikapus ครับ
  • ผมคิดจะเขียนเรื่องนี้มานาน แต่ยังไม่รู้สึกว่าถึงเวลาเขียน ก็รั้งรอไว้
  • จนได้ฟังพระราชดำรัสเมื่อคืน ก็รู้สึกว่า เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการเขียนถึง

 

สวัสดีครับอาจารย์

ก่อนอื่นขอขอบพระคุณอาจารย์มากครับสำหรับคำติชมที่ได้ให้ไว้

ผมมีขอสงสัยอย่างหนึ่งครับ

"แต่ตำแหน่งที่กระต่ายอยู่ ณ ขณะใด ๆ จะบรรยายได้โดย gaussian probability density function ที่ค่าเฉลี่ยเป็นศูนย์ คือ กระต่ายใช้เวลาส่วนใหญ่ อยู่ในโซนที่ไม่กำไรและไม่ขาดทุน ที่เรารู้จักกันในนาม "โค้งระฆังคว่ำ" คือ ส่วนใหญ่ อยู่ตรงศูนย์กลาง ไม่ไปไหน"

ผมติดใจตรงค่าเฉลี่ยเป็นศูนย์ครับ เพราะว่า ตามหลักแล้ว การเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นนั้นจะ follow Weiner process หรือ Brownian motion (แบบพื้นฐานที่สุดนะครับ)

แต่เพราะว่ามันเป็น dS(t)/S(t) นะครับ ที่มัน เป็นไปตาม Brownian motion แต่ตัว stock price นั้นเป็น geometric brownian motion

dS(t)= uSdt+qSdW

เมื่อ u คือ mean แล้ว q คือ sigma ของ stock price และ dW คือ standard wiener process

ดังนั้น  ถ้าว่ากันตามตรง E(S(t)) =S(0)exp^(ut)

ซึ่งมันไม่เท่ากับศูนย์ไม่ใช่หรือครับ ผมกำลังสงสัยนะครับว่า ผมเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า เพราะว่าตำแหน่งของกระต่ายนั้น มันต้องเป็น summation ของ random walk ไม่ใช่หรือครับอาจารย์

และเพราะสมการง่ายๆ E(S(t)) =S(0)exp^(ut) นี่แหละครับ ที่บอกว่า ราคาหุ้นมันจะขึ้นในระยะเวลาที่เราถือหุ้นนานๆๆ ยิ่งนานยิ่งดี ทำให้ วิธีการลงทุนแบบ Warran Buffet หรือแบบ Benjamin Graham คนที่เขียนเรื่อง The intelligent investor นั้น เป็นที่ยอมรับ (แต่จริงๆแล้ว Buffet นั้นหักคอมากกว่านั้นนะครับ เพราะเขาเป็นพวก value investing จริงๆ)

ขอบพระคุณครับอาจารย์

ต้น

คุณ P ไปอ่านหนังสือ

 

  • อย่างที่น้องต้นว่าแหละครับ
  • ผม assume ให้ใช้ arithmetic scale ครับ ไม่ได้ใช้ geometric scale จึงถือว่า เป็นการใช้การสมมติที่คร่าว ๆ มาก
  • ตามปรกติ geometric scale จะยิ่งเห็นผลชัดกว่ามากมหาศาล โดยเฉพาะในระยะยาว ดังที่น้องต้นชี้ไว้
  • แต่ขนาดว่าใช้ arithmetic scale ก็ชัดเจนมากอยู่แล้ว ดังนั้น geometric scale ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง (ผมตัดการเป็น geometric scale ออกไป ตามแนบท้ายข้างบนครับ)
  • อันที่จริง ประเด็นเดียวกันนี้ ผมเคยเขียนถึงไว้ใน คณิตศาสตร์การเงิน: ทำไมการลงทุนจึงมีความเสี่ยงและควรมีระยะเวลาที่ยาวนาน ... อธิบายโดยการทำ stochastic simulation โดยทำเป็น กระดาษทดอิเล็กทรอนิกส์ แสดงผลการลงทุนระยะยาวของ index fund โดย assume (อีกแระ -_-!) ว่า ถ้าดัชนีในอนาคต เลียนแบบช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนระยะยาวพร้อมช่วงความเชื่อมั่น หน้าตาจะเป็นอย่างไร
  • เพียงแต่คิดว่า จะลองนำเสนอมุมมองแบบไม่ใส่สมการดู...
  • ขอบคุณครับสำหรับการเพิ่มประเด็นดี ๆ

สวัสดีครับน้องต้น P ไปอ่านหนังสือ

 

  • เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ใช้สเกลเรขาคณิต คือ ถ้านำเรื่องเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาว 6 % ของประเทศไทยมาคิด (จาก คณิตศาสตร์การเงิน: เงินเฟ้อระยะยาวของประเทศไทยเป็นเท่าไหร่ ?) ก็จะทำให้การลงทุนที่ "ปลอดภัยสูง" ทั้งหลาย (ฝากเงิน/พันธบัตร) มีผลที่ปริ่ม ๆ กับเงินเฟ้อ (สหรัฐเป็นเช่นนี้มา 70 ปี โดยเฉลี่ย) ซึ่งอย่างเก่ง ก็อาจชนะเงินเฟ้อได้ ไม่น่าจะเกิน 2 % (ซึ่งผมไม่มีข้อมูลว่า มีอยู่จริง)
  • ซึ่งในกรณีที่โตชนะเงินเฟ้อ 2 % (ซึ่งไม่ง่าย) ต่อให้ทบต้นระยะยาวสัก 20 ปี ก็จะได้ส่วนที่เพิ่มขึ้น 48.5 % เมื่อเทียบกับการโตไม่ทบต้นที่ 40 % (ซึ่งในกรณีนี้ ต่างกันไม่มาก)
  • ดังนั้น สำหรับ "เต่ามาตรฐาน" การใช้สเกลเลขคณิต จึงเป็นการมองแบบ worst case ที่ผมเชื่อว่า สมเหตุสมผลพอสมควรครับ โดยไม่ควรใช้สเกลเรขาคณิตด้วย เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงที่เข้ามากระทบ
  • อย่างไรก็ตาม หากเราขยายคำนิยามว่า "ปลอดภัย" ไปสู่อาณาเขตที่กว้างขึ้น คือรวมกรณีหุ้นลงทุนประเภทหุ้นปันผล ในกรณีเช่นว่านี้ การใช้สเกลเรขาคณิต จะตรงความจริงกว่ามาก ก็จะทำให้ข้อสรุปมีผลที่ปรับไปเป็น
  • สิ่งที่โตทบต้นตามเวลาแบบ    \mathcal{O}\left({c^n}\right), c > 1 ในระยะยาว ต้องมากกว่า สิ่งที่แปรผันตรงกับรากที่สองของเวลา   \mathcal{O}\left({n^c}\right), 0<c<1

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท