นักศึกษาต่างประเทศแข่งขันพูดสุนทรพจน์ภาษาไทย เพื่อเทิดพระเกียรติ"ในหลวง"


กิจกรรมการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศก็ว่าได้ และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

 

นักศึกษาต่างประเทศแข่งขันพูดสุนทรพจน์ภาษาไทย

เพื่อเทิดพระเกียรติ"ในหลวง"

 

                      เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐  นักศึกษาชาวต่างประเทศที่มาศึกษาภาษาไทยในมหาวิทยาลัยของไทยได้มาร่วมการแข่งขันพูดสุนทรพจน์ภาษาไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา  เนื่องในงานราชภัฏเชียงใหม่ ร้อยดวงใจ เทิดไท้ ๘๐ พรรษามหาราชัน  และเป็นที่น่าแปลกใจ  น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่งที่นักศึกษาต่างประเทศเหล่านี้ แสดงออกซึ่งความสามารถในการใช้ถ้อยคำภาษาดีมากอย่างน่าทึ่ง   นั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝนการใช้ภาษาไทยภายใต้การอบรมสั่งสอนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นๆ  แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกนึกคิดที่มาจากจิตสำนึกของเขาเอง ที่ได้มาพบเห็นความรักระหว่าง "ในหลวง" กับ "ประชาชนคนไทย"

 

                  ผมขอรายงานผลการแข่งขันให้ท่านทั้งหลายได้ทราบดังนี้ครับ

 

กลุ่มที่ ๑  กลุ่มนักศึกษาต่างประเทศที่เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก

  รางวัลชนะเลิศ 

    Ms.PAN  YANYAN  (เวฬุวรรณ)  ม.ราชภัฏนครสวรรค์

    วิทยาลัยการอาชีพและเทคโนโลยีหนานหนิง  ประเทศจีน 

    อายุ ๒๒ ปี

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑

   Ms.HUANG   SHEN  JIAO  (ธารทวี)  ม.มหาสารคาม

   จาก Guangxi  Min Zu Zhong Deng Zhuan Ye Xue Xiao ประเทศจีน       

 อายุ ๒๐ ปี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

    Ms.GAN   YUYUAN  (จินดาหรา)   ม.ราชภัฏเชียงใหม่

    จาก  มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี  ประเทศจีน

    อายุ ๒๐ ปี

รางวัลชมเชย

   Ms. MA  NA  (พัชรินทร์)   ม.ราชภัฏลำปาง

   จาก Kunming  Tourism  School  ประเทศจีน

   อายุ  ๒๑  ปี

 

กลุ่มที่ ๒ กลุ่มนักศึกษาต่างประเทศที่เรียนวิชาเอกอื่นๆ

รางวัลชนะเลิศ

  Ms. JIN  XIYUE  (ไอริสา)  ม.ราชภัฏเชียงใหม่

  จาก มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี  ประเทศจีน 

  อายุ ๒๐ ปี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

  Mr. MAI   YONGJIA  (วิศรุต)  ม.มหาสารคาม

  จาก Guangxi  University  for Nationlities  ประเทศจีน

  อายุ ๒๑ ปี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

   Ms. XIA  YA  (กัลยา)  ม.ราชภัฏลำปาง

   จาก Yunan Normal  University  ประเทศจีน

   อายุ ๒๒ ปี

รางวัลชมเชย

   Mr. XUPEI  YUAN   (กตัญญู)  ม.ราชภัฏนครสวรรค์

   จาก วิทยาลัยการอาชีพและเทคโนโลยีหนานหนิง  ประเทศจีน

   อายุ ๒๑ ปี

นักศึกษาต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รับรางวัล  ชนะเลิศ  (ในกลุ่มวิชาเอกอื่นๆ )  จาก อาจารย์พิชัย  กรรณกุลสุนทร คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ

ผู้ควบคุมทีมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ

 ๑.อาจารย์สุกัญญา  คงสูน     ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

๒.อาจารย์ดุษฎี  กองสมบัติ    ทีมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

๓.อาจารย์ปิยาภรณ์  มังกรไพบูลย์  ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

 ทีมนักศึกษาต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  คุมทีมโดย อาจารย์ดุษฎี  กองสมบัติ  อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย   นักศึกษาทั้งสองคนคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ในกลุ่มวิชาเอกอื่นๆ (ชาย)  และในกลุ่มวิชาเอกภาษาไทย(หญิง)

รายชื่อคณะกรรมการตัดสิน

 ๑ อาจารย์กรเพชร  เพชรรุ่ง     หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย  ประธานกรรมการตัดสิน

๒.อาจารย์ศิวภรณ์  หอมสุวรรณ  ข้าราชการบำนาญ/ผู้เช่ยวชาญการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ (๑๖ ปี)    กรรมการ

๓.ผศ.วาสนา  ทองรองแก้ว  ข้าราชการบำนาญ/ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ (๑๖ ปี)   กรรมการ

๔.ผศ.เรณู  อรรฐาเมศร์    ข้าราชการบำนาญ/ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ (๑๓ ปี)   กรรมการ

๕.ผศ.กรรณิการ์  พันชนะ   อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย /ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ (๑๓ปี)   กรรมการ

(หมายเหตุ  กรรมการทั้ง ๕ ท่าน ได้เคยเดินทางไปสอนภาษาไทยแก่นักศึกษาวิชาเอกภาษาไทยระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ประเทศจีน มาแล้วคนละหลายครั้ง )

            การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นสองรอบ รอบแรกเป็นการพูดเตรียมตัวมาก่อน ในหัวข้อ  "คนไทยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า"   ใช้เวลาพูดคนละ ๗-๑๐ นาที  นักศึกษาแต่ละกลุ่มต่างเตรียมตัวพูดมาดีมาก ได้แสดงความสามารถอย่างใกล้เคียงกัน  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ที่นักศึกษาต่างประเทศเหล่านี้สามารถพูดภาษาไทยด้วยถ้อยคำที่ประณีต และสะท้อนความรู้สึกได้ดี สามารถเลือกคำราชาศัพท์ได้ดี แม้สำเนียงพูดอาจจะไม่เทียบเท่าคนไทยแต่ก็ใกล้เคียงมาก โดยเฉพาะขอชื่นชม Ms.HUANG   SHEN  JIAO  (ธารทวี)  จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นั้นพูดชัดมากจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นคนไทยหรือคนจีน

           สำหรับเนื้อหาที่นักศึกษาต่างประเทศนำมาพูดนั้น  จะเน้นไปในเรื่องพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์  โครงการพระราชดำริกว่าสองพันโครงการที่ทรงมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนชาวไทย พระองค์พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข  จึงทำให้คนไทยรู้สึกจงรักภักดี  นักศึกษาต่างประเทศใช้คำว่า  รักในหลวงสุดจิตสุดใจ  ซึ่งทำให้นักศึกษาต่างประเทศปลื้มใจและรู้สึกไม่ต่างไปจากคนไทย  เพราะได้เห็นความรักความผูกพันระหว่างในหลวงกับประชาชนทั้งเห็นกับตัวเองและผ่านทางสื่อ เช่น การสวมใส่เสื้อสีเหลือง กิจกรรมต่างๆ ที่ประชาชนจัดทำขึ้นถวายในหลวง ทำให้เขาได้ร่วมกิจกรรมและเป็นส่วนหนึ่งของการถวายความจงรักภักดีแด่ในหลวงไปด้วย 

         นักศึกษาต่างประเทศได้แสดงความรู้สึกขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ได้จัดกิจกรรมการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศในครั้งนี้   เพราะพวกเขาได้มีโอกาสแสดงความรู้สึกและเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเพื่อถวายแด่ในหลวง  แม้พวกเขาจะไม่มีกษัตริย์มานานแล้ว  แต่ก็ได้รู้สึกถึงความสำคัญของกษัตริย์จากคนไทย 

        มาถึงในรอบชิงชนะเลิศ กรรมการได้คัดนักศึกษาแต่ละกลุ่ม  กลุ่มละ ๒ คน เข้าชิงชนะเลิศในการพูดแบบฉับพลัน คนละ ๓-๕ นาที  โดยจะให้เตรียมตัวพูด ๑๕ นาทีในห้องเก็บตัว ไม่สามารถให้ใครมาช่วยเหลือได้   หัวข้อในการพูดแบบฉับพลันคือ  ข้าพเจ้าเรียนรู้อะไรบ้างจากเมืองไทย   หัวข้อนี้ค่อนข้างกว้าง นักศึกษาจะต้องรู้จักกำหนดประเด็นสำคัญและพูดโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตามเพราะฉะนั้นหัวข้อนี้จึงสำคัญมาก  เพราะสามารถวัดความรู้ความสามารถในการใช้ถ้อยคำภาษาไทย และความคิด การลำดับความเพื่อสื่อสารกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี  ตลอดจนปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า

        ต้องขอชมเชยนักศึกษาที่เข้ารอบชิงชนะเลิศที่สามารถแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมาได้อย่างน่าทึ่ง   ประเด็นเนื้อหาที่นักศึกษายกมากล่าวคือ ประเด็นในเรื่องศาสนา  วัฒนธรรม ประเพณี  แต่มีคนหนึ่งที่ต้องชมเชยเป็นพิเศษ นั่นคือ   Ms. JIN  XIYUE  (ไอริสา)  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (เจ้าภาพ)  ที่ยกประเด็นได้ชัดเจนและมีน้ำหนักมาก นั่นคือประเด็นการเรียนรู้เรื่อง ความรัก  โดยแตกประเด็นย่อยว่า  ความรักชาติ  ความรักต่อในหลวง ความรักระหว่างคนชาติเดียวกันในฐานะพี่น้อง  และความรักต่อบุคคลอื่นอย่างชาวต่างชาติในฐานะพี่น้องร่วมโลก  และมีการยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนดี แสดงความรู้สึกของตนออกมาให้ผู้ฟังเชื่อและคล้อยตาม 

        แต่เป็นที่น่าเสียดายสำหรับ Ms.HUANG   SHEN  JIAO  (ธารทวี)  จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งรอบแรกนั้นพูดดีและเสียงภาษาไทยชัดเจนมากต้องมาพลิกแพ้ Ms.PAN  YANYAN  (เวฬุวรรณ)  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์  เพราะไม่สามารถแสดงเนื้อหาการพูดแบบฉับพลันได้อย่างลื่นไหล มีการสะดุดหยุดคิด ประเด็นเนื้อหายังอ่อนไปเล็กน้อย  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  นักศึกษาต่างประเทศที่ถือว่ามีความสามารถในการใช้ภาษาไทยได้ต้อง ใช้ให้เป็นอัตโนมัติ ซึ่งเกิดจากการประมวลความคิดและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้ดี  

        อย่างไรก็ตาม  กิจกรรมการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศในครั้งนี้  ถือเป็นครั้งแรกของประเทศก็ว่าได้ และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง  เพราะเป็นเวทีที่ช่วยกระตุ้นและยกระดับการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้แก่ชาวต่างประเทศให้สูงขึ้น  น่าเสียดายที่การสื่อสารชักชวนไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ช้าไปสักนิดหนึ่ง ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทราบข่าวสารช้าไป และบางแห่งเตรียมการไม่ทัน 

     

       ไม่เป็นไรครับ ผมคิดว่าจะดำเนินกิจกรรมนี้อีกแน่นอนเพราะเห็นว่า นักศึกษาต่างประเทศที่มาเรียนภาษาไทยในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศจีน  เกาหลี  ญี่ปุ่น  เวียดนาม  กัมพูชา   ถ้าได้มาร่วมแข่งขันทักษะการใช้ภาษาไทยก็จะช่วยทำให้การสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศแข็งแกร่งและได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น 

       
หมายเลขบันทึก: 151503เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2007 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับอาจารย์

ผมติดตามมาตั้งแต่อาจารย์ประกาศว่าจะมีการประกวดการพูดสุนทรพจน์ภาษาไทยเพื่อเทอดพระเกียรติของนักศึกษาต่างประเทศ เลยอยากรู้ผลครับ

ผมเคยรู้จักล่ามคนหนึ่งซึ่งจบจากหมาวิทยาลัยปักกิ่ง สาขาวิชาเอกภาษาไทย พูดภาษาไทยชัดมาก ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าเป็นคนจีนก็จะนึกว่าเป็นคนไทยเพราะหน้าตาก็คล้าย การใช้ภาษาก็ดี ถูกคัดเลือกให้มาเป็นล่ามแปลตอนอัยการสูงสุดไทยได้รับการเชิญจากอัยการสูงสุดจีนให้ไปศึกษาระบบงานอัยการตามเส้นทางสายไหม ได้ความรู้ว่ามหาวิทยาลัยในประเทศจีนมีการสอนภาษาต่างๆเยอะมาก และสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ ประเทศมหาอำนาจก็ต้องเป็นแบบนี้

สวัสดีค่ะอาจารย์กรเพชร

หนูเดินทางกลับมาถึงมหาสารคามโดยสวัสดิภาพแล้วค่ะ เป็นการเดินทางที่เหนื่อยแต่ก็คุ้มค่าที่ได้เดินทางไปค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะ (เช่นเดียวกับนิสิตจีนค่ะ) ที่จัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ขึ้นมา ทำให้นิสิตต่างชาติได้มีเวทีแสดงความสามารถ หากมีงานหน้าอีก หนูรับรองว่าจะไม่พลาดแน่นอนค่ะ

แล้วพบกันใหม่ค่ะอาจารย์

 

ยินดีกับนิสิตนักศึกษาทุกท่านนะคะ 

โดยเฉพาะกับนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามค่ะ

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑

   Ms.HUANG   SHEN  JIAO  (ธารทวี)  ม.มหาสารคาม

   จาก Guangxi  Min Zu Zhong Deng Zhuan Ye Xue Xiao ประเทศจีน       

 อายุ ๒๐ ปี

และ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

  Mr. MAI   YONGJIA  (วิศรุต)  ม.มหาสารคาม

  จาก Guangxi  University  for Nationlities  ประเทศจีน

  อายุ ๒๑ ปี

ขอบพระคุณอาจารย์ดุษฎี  กองสมบัติ    ผู้ดูแลด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะพี่กรเพชร

ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาทุกท่านด้วยนะคะ  กิจกรรมนี้น่าประทับใจจริงๆค่ะ 

การพูดสุนทรพจน์ให้รื่นไหลน่าฟังและมีพลังจับใจนั้นมิใช่ง่ายเลย  ในเอกภาษาไทยเองก็มีเด็กๆน้อยคนที่จะมีพรสวรรค์ในการสื่อสารด้วยภาษาที่ทรงพลังอย่างนี้  ....ประทับใจในความสามารถของนักศึกษาจริงๆ      และรู้สึกทึ่งอาจารย์ผู้สอนด้วยค่ะ 

สวัสดีครับP

        มหาวิทยาลัยในประเทศจีนที่สอนภาษาต่างประเทศอย่างเดียวและมีชื่อเสียงที่สุดในขณะนี้ คือ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง (BFSU) หรือ เป่ยว่าย  ซึ่งสอนภาษาต่างประเทศถึง 40 ภาษาทั่วโลก  ภาษาไทยเป็นหนึ่งภาษาในจำนวนนั้น อยู่ในคณะภาษาอาเซีย-อัฟริกัน  มีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มานานกว่า 10 ปีแล้ว  ในช่วงกลางเดือนมกราคมศกหน้า  นักศึกษาวิชาเอกภาษาไทยของ BFSU ช้นปีที่ 4 จำนวน 23 คนจะเดินทางมาศึกษาอบรมภาษาไทยและสืบค้นข้อมูลเพื่อทำปริญญานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 1 เดือน  วิธีการเรียนการสอนแบบที่จีนทำอยู่คือวิธีที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เก่งภาษาถึงแก่น ก็สะท้อนถึงการสอนภาษาต่างประเทศในบ้านเราที่ยังเดินมะงุมมะงาหราอยู่  โดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษนั้น ค่อนข้างจะล้มเหลวเพราะเด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษมากแต่กลับใช้ภาษาอังกฤษไม่ดีเลย ผิดกับประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เขาเรียนภาษาไทยเพียง 1-2 ปี แต่ ใช้ภาษาไทยได้ดีมากทีเดียว

สวัสดีครับอาจารย์ดุษฎี

         ขอบคุณมากครับที่พานิสิตมาแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทย  ต้องขอชมเชยมากว่านิสิตพูดได้ดีมาก หากพัฒนาไปอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นคนที่ใช้ภาษาไทยได้ดีต่อไป  ผมจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาด้วยความตั้งใจเป็นพิเศษที่จะให้เป็นเวทีของนักศึกษาต่างชาติ ในครั้งหน้าหวังว่าอาจารย์จะได้เดินทางนำนิสิตมาร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่อีก ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับP

              ถ้าเราให้เด็กเอกภาษาไทยไปฟังการพูดสุนทรพจน์ของนักศึกษาต่างประเทศ ก็จะทำให้นักศึกษาไทยรู้จักตระหนักในการพูดภาษาไทยให้ดีขึ้น เพราะกิจกรรมการแข่งขันแบบนี้ในประเทศไทยมีน้อยมาก พี่ก็อยากเชิญชวนไว้แต่เนิ่นๆ ว่า พี่จะจัดแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยให้บ่อยขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะการพูดภาษาไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ขอขอบพระคุณสาขาวิขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ได้จัดกิจกรรมที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์เช่นนี้ค่ะ และที่สำคัญขอขอบพระคุณอาจารย์กรเพชร  เพชรรุ่ง ที่ให้การต้อนรับนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี  ถ้ามีกิจกรรมดีๆ อย่างนี้อีก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ขอมีส่วนร่วมอีกนะคะ

เรียน อ.สุกัญญา คงสุน

            ผมก็ขอขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่นำทีมนักศึกษาจีนเข้ามาแข่งขันสร้างความครึกครื้นขึ้นมาก ยินดีครับที่จะจัดกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้อีกในโอกาสต่อไป  เพื่อช่วยกันพัฒนาการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท