พรหมวิหาร ๔ เพื่อชีวิต


เมตตา และ กรุณา และ มุทิตา เกิดขึ้นได้ง่ายก็เพราะเรามีความเห็นที่ถูกต้องในเรื่องของโลกและชีวิต ... ชีวิตผมเป็นตัวอย่างได้ชัดด้าน "ความผิดพลาดในเรื่องการใช้พรหมวิหาร ๔" .. เพราะการตอบแทนเกิดขึ้นแล้วโดยอัตโนมัติ คือความสุขในใจของเรา

   สืบเนื่องจากคำขอของ คุณโอ๋-อโณ และ การลุ้นของ คุณชายขอบ  จากบันทึกเรื่อง การทิ้งระยะห่างให้พอเหมาะพอควร   ให้ผมเขียนต่อเรื่อง พรหมวิหาร ๔ ก็ขอรีบตอบสนอง  ด้วยใจครับ  แต่ขอยืนยันในเบื้องต้นว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญนะ  บอกได้แค่ว่าเคยรู้และเข้าใจว่ามันคืออะไร  และได้นำไปประยุกต์ใช้มาแล้วอย่างไรบ้างเท่านั้นเอง

  จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้ ..

พรหมวิหาร ๔  คือ ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ

ประกอบด้วย

       ๑. เมตตา (ใช้ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ ) คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า

       ๒. กรุณา (ใช้ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน ) คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์

       ๓. มุทิตา (ใช้ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี ) คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

       ๔. อุเบกขา (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ ) คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

แง่คิดโดยสรุปจากประสบการณ์จริง

-  เมตตา กรุณา และ มุทิตา เกิดขึ้นได้ง่ายก็เพราะเรามี ความเห็นที่ถูกต้องในเรื่องของโลกและชีวิต  เช่น ตระหนักและเห็นแจ่มชัดอยู่เสมอว่า  ทุกชีวิต ล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น  หรือ การตระหนักในความจริงที่ว่า ชีวิตและสรรพสิ่ง ล้วนต้องพึ่งพิง อิงอาศัยกันอยู่ เป็นต้น

-  เมื่อมีเมตตา กรุณา  เราจะลงมือกระทำการช่วยเหลือผู้อื่นได้ง่ายด้วยความจริงใจ เต็มใจและไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน  เพราะการตอบแทนเกิดขึ้นแล้วโดยอัตโนมัติ คือความสุขในใจของเรา  ตั้งแต่เมื่อคิดจะทำ  กำลังทำ  และได้ทำไปแล้ว 

-  อุเบกขา ไม่ควรแปลว่า "การวางเฉย" เพราะอาจจะกลายเป็น การละเลย  ไม่ใส่ใจ  ไม่มีน้ำใจ หรือ "ทองไม่รู้ร้อน" ควรยึดถือความหมายที่ว่า "ความวางใจเป็นกลาง" จะดีที่สุด  เพราะมันคือการทำใจให้นิ่ง  ยอมรับความจริงตามที่มันเป็น  ไม่กระสับกระส่าย หรือหวั่นไหวไปกับผลที่เกิดขึ้น ในเมื่อ เราได้กระทำดีที่สุดแล้วโดยใช้ เมตตาและกรุณา

-  เมื่อแสดงความเมตตา กรุณาอยู่ก็ ต้องใช้อุเบกขาคอยกำกับด้วย  เพราะความใกล้ชิด หรือความรัก ความผูกพันที่มากเกินไป  จะทำให้ใช้เมตตาและกรุณาจนเกินขอบเขตได้ง่าย  มีผลเสียได้มาก  เช่น  ลูกหลานที่เป็นเด็กเล็กเดินไปแล้วหกล้ม  ถ้าไม่ระวัง  พลังแห่งความรักความห่วงใยจะทำให้เราเมตตา กรุณามากจนต้องวิ่งไปอุ้มหรือช่วยประคองให้เขาลุกขึ้นทันที  แต่ถ้ามีอุเบกขากำกับ  ก็จะเห็นว่า การหกล้ม ควรจะเป็นโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ การลุกขึ้น ด้วยตัวเองให้ได้  แต่ใจก็ไม่ได้นิ่งดูดาย  พร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือเมื่อจำเป็น  การโอ๋ เอาใจเด็กจนเสียคนก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะมีอุเบกขาธรรมดังกล่าวเป็นเครื่องกำกับ เมตตา และ กรุณา

* *  ชีวิตผมเป็นตัวอย่างได้ชัดด้าน "ความผิดพลาดในเรื่องการใช้พรหมวิหาร ๔"
      มีเหตุการณ์หลายอย่างที่นำความทุกข์ยากลำบากมาสู่ชีวิต  ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ 
      ขอยกตัวอย่างเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวดังนี้

    เห็นคนที่รู้จักสนิทสนมกันเสมือนเป็นพี่น้องเดือดร้อน  มีปัญหาไม่สามารถผ่อนบ้านกับ Bank A ได้  จึงยินดีช่วยเหลือ (ด้วยเมตตา กรุณาอย่างเต็มที่ ทั้งต่อตัวเขาเอง ต่อภรรยาและลูกน้อยของเขา)ใช้หลักประกันที่พอมี ทำเรื่องกู้เงินจาก Bank B เป็นเงิน 3 ล้านกว่าบาท ซื้อบ้าน(แต่เพียงในนาม) และให้เขาผ่อนต่อกับ Bank B ผ่านไปหลายปีเขาแทบไม่ได้ผ่อนส่งค่าบ้านเลย  จนบ้านถูกยึดขายทอดตลาดไปด้วยราคาต่ำๆ ไม่ถึง 2 ล้านบาท  ผลสรุปผมยังเป็นหนี้ Bank B อยู่ราว 6-7 ล้านบาท ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย  โดยไม่ได้รับประโยชน์จากงานนี้เลยแม้แต่บาทเดียว  .. เห็นหรือยังครับ ผลร้ายของการใช้ เมตตา และ กรุณา โดยไม่มีอุเบกขาเป็นเครื่องกำกับ  ผมเรียกมันว่า ทุกข์จากการใช้ธรรมะ ไม่ครบหมวดครับ .

 

หมายเลขบันทึก: 25184เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2006 04:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
     ขอบคุณมากครับ นับว่าเติมเต็มแบบครบถ้วนกระบวนความ เป็นการเรียนรู้พรหมวิหาร 4 แบบไม่ต้องท่องจำเลย คือเข้าใจได้...
ขอบคุณท่าอาจารย์ handy ที่กรุณาอธิบายจนเห็นจริงและเข้าใจในพรหมวิหาร 4 มากขึ้นมากทีเดียวค่ะ อ่านแล้วชีวิตดูจะอบอุ่นและเยือกเย็นพร้อมๆ กันเลยทีเดียว

ต้องใช้คำว่า "กราบขอบพระคุณ" คุณ Handy เป็นอย่างสูงสำหรับบันทึกนี้ค่ะ จะขอเอาไปเผยแพร่ต่อทั้งกับคนใกล้และไกลตัว ได้แง่คิดทั้งเรื่อง พรหมวิหารสี่เอง และ วิธีการนำไปปฏิบัติ

สำหรับเรื่องที่คุณ Handy ยกตัวอย่างมา ทำให้อยากทราบว่า ใช้ธรรมหรือความคิด อะไรในการ"ทำใจ" ให้ยอมรับสภาพที่ต้องตกเป็นหนี้มากมายเช่นนี้ โดยไม่ได้เป็นผู้ก่อ ตัวเองอ่านแล้วคิดอะไรด้วย แต่ขอทราบจากอาจารย์ก่อนแล้วจะมาต่อยอดค่ะ ถ้ายังไงอาจารย์เขียนเป็นบันทึกใหม่เลยก็ดีนะคะ (มีความรู้สึกว่า บันทึกใหม่จะไปสู่คนได้จำนวนมากกว่าเวลาเป็นข้อคิดเห็นน่ะค่ะ เท็จจริงยังไม่ได้เก็บสถิติ)

สุดท้ายก็ทนเรียกคุณ Handy ได้บ้างไม่ได้บ้างนะคะ อาจารย์ ขอทำตามสบายแบบไรรูปแบบ แต่เปี่ยมไปด้วยความเคารพอย่างจริงใจค่ะ

 

   ขอบคุณ คุณชายขอบ คุณโอ๋-อโณ  และคุณวันเพ็ญ มากครับที่ทำให้ผมได้รับความพอใจในสิ่งที่ได้ทำ คือการเขียนบันทึกนี้ด้วยใจ (แต่ก็ง่วงมากเพราะเขียนตอนตี 3 กว่าๆ) มีที่พิมพ์ผิดเลยเข้ามาแก้ครับ  นั่งเคาะอยู่ที่สวนดุสิต  มาจัดประชุมให้ Node ของโครงการวิจัย  ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการสังเคราะห์งานวิจัยกันครับ ผมเป็นผู้ประสานงานระดับประเทศ  มีงานวิจัย 37 เรื่องที่กระจายอยู่กับ Node ทั้ง 8 ภูมิภาค พรุ่งนี้ก็เสร็จแล้วครับ ก็คิดว่าจะทำตามคำแนะนำของคุณโอ๋-อโณ คือเขียนต่อยอดในบันทึกใหม่  จะเป็นยังไงไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ มันต้องเป็น Tacit K. 100 % ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์  ท่เขียนเรื่องท่มีความรู้ให้อ่านอย่างจุใจ

แวะเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้จากอาจารย์ครับ และขอเสนอ พรหมวินาศ 4 ไว้เป็นเครื่องเตือนใจอีกนะครับ

1. บ้าอำนาจ

2. ฉ้อราษฎร์บังหลวง

3. หลอกลวงลูกน้อง

4. ยกย่องคนเลว

ขอบคุณ ผอ.บวร มากครับ

     ผมเชื่อมั่นว่า พรหมวินาศ 4 หากถือปฏิบัติกันมากๆแล้ว ความวินาศ จะมาเยือนในไม่ช้า  และ โลกาวินาศ ก็จะอยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อม

ขอบคุณนะคะ ทำให้เข้าใจ พรหมวิหาร 4 ได้ลึกซึ้งขึ้นค่ะ

คุณหมอ ซันซัน ... ขอบคุณครับที่แวะมาอ่าน ทั้งที่บันทึกไว้นานเกิน 1 ปีแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท