ยกร่างเวที “KM อสม.ติดดาว”


เป้าหมายในการจัดเวทีก็เพื่อให้กลุ่ม อสม. ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จจากกันและกัน รวมถึงการก่อเกิดเป็นความเข้มแข็งในการก่อเกิดเป็นชุมชนนักปฏิบัติของกลุ่ม อสม.ในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน โดยใช้ KM เป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จ คือ “ชุมชนพึ่งตนเองได้จริงอย่างยั่งยืน”

     สืบเนื่องมาจากบันทึกต่าง ๆ หลาย ๆ บันทึก ก่อนหน้านี้ เช่นที่ ผลการคัดเลือก อสม.ดีเด่น ภาคใต้ ปี 2549 อสม.ไม่มีความรู้ จริงหรือ?  ศาลาตกผลึก “ภูมิใจที่ได้เป็น อสม.”  และ เวที อสม.ติดดาว ที่ จ.พัทลุง โดยสรุปความก็คือ สคส.จะร่วมกับ สสจ.พัทลุง จัดเวที “อสม.ติดดาว” ขึ้นที่ จว.พัทลุง ในวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2549 นี้ ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นที่ เขาชันรีสอร์ท อ.ปากพะยูน (ภาพประกอบสถานที่ดูได้จากบันทึกนี้ครับ “เขาชัน” ) สำหรับเป้าหมายในการจัดเวทีก็เพื่อให้กลุ่ม อสม. ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จจากกันและกัน รวมถึงการก่อเกิดเป็นความเข้มแข็งในการก่อเกิดเป็นชุมชนนักปฏิบัติของกลุ่ม อสม.ในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน โดยใช้ KM เป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จ คือ “ชุมชนพึ่งตนเองได้จริงอย่างยั่งยืน” ต่อไป

     กลุ่มเป้าหมายก็จะมี 3 กลุ่ม หลัก ๆ คือ กลุ่มแรกเป็น อสม. ดีเด่นในปี 2548 และ 2549 ทั้ง 10 สาขา คือ สาขาการให้บริการใน ศสมช., สาขาการดำเนินงานเรื่องเอดส์ในชุมชน, สาขาการออกกำลังกาย, สาขาการสร้างสุขภาพ, สาขาการแก้ไขปัญหายาเสพติด, สาขาการพัฒนาสังคม, สาขาการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ, สาขาการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก, สาขาสุขภาพจิตชุมชน และสาขาการคุ้มครองผู้บริโภค สาขาละ 2 ท่าน และประธานชมรม อสม.จังหวัดพัทลุง อีก 1 ท่าน รวมเป็น 21 ท่าน (รายละเอียดตามบันทึก อสม.ติดดาว ปี 2549 ของ จว.พัทลุง  และ ผลการคัดเลือก อสม.ดีเด่น เมื่อปี 2548 ) กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มหลักที่นำเรื่องราวของตนเองมาเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน (เล่าสด ๆ)

          กลุ่มที่ 2 คือกลุ่ม อสม.ที่มีผลงานเด่นในชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน อำเภอ/กิ่งอำเภอละ 3 ท่าน ทั้งหมด 11 อำเภอ โดยในแต่ละอำเภอจะประกอบด้วย อสม.2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ฯ 1 ท่าน ก็จะมี 22 ท่าน กลุ่มนี้ก็จะนำเรื่องเล่าความภูมิใจที่สุดของตนเองในการร่วมกันพัฒนาสุขภาพชุมชน มาจัดบอร์ด รวม 11 บอร์ด และเป็นผู้สังเกตการณ์ของการประชุมในครั้งนี้ การได้มาของกลุ่มนี้ในแต่ละอำเภอก็จะใช้วิธีเลือกสรรเอาอำเภอละ 1 กลุ่ม กลุ่มละ 1 ประเด็น พิจารณาจากเรื่องเล่าที่ส่งเข้ามา ตลอดจนภาพความโดดเด่นที่พี่ดำ ทีมงาน (ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชน) และผมเอง ได้เคย Capture ไว้ก่อนแล้ว

          กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มพี่เลี้ยง ประกอบด้วยทีมงานจาก สคส. และจาก สสจ.พัทลุงและเครือข่ายไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน โดยจาก สสจ.พัทลุงและเครือข่าย จะมีจำนวน 9 ท่าน กลุ่มนี้จะทำหน้าที่เป็นคุณเอื้อ คุณอำนวย และคุณลิขิตให้ในเบื้องต้น (ครั้งแรกนี้) ก่อนที่จะหาทางปรับเปลี่ยนให้เครือข่าน อสม.ได้ดำเนินการต่อไปเอง เมื่อเริ่มสร้างตัวเป็นชุมชนคน อสม. (HV-CoP) ได้แล้ว

     รูปแบบเวทีนะครับ ก็จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงหลัก ๆ ใน 2 วัน ดังนี้...

          ช่วงเช้าของวันแรก เริ่มต้นด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน “เปิดใจก่อนเปิดปาก” จากนั้นก็จะเป็นการเล่าเรื่อง “ความภูมิใจที่เป็น อสม.ในแต่ละสาขา” ซึ่งอาจจะต้องกำหนดประเด็นกว้าง ๆ เพื่อให้กระชับในการเล่าเรื่อง อาทิคิดอย่างไร เชื่ออย่างไร ถึงได้เสียสละมาเป็น อสม., ทำอย่างไรบ้างในการเป็น อสม.จนได้รับการคัดเลือกเป็น อสม.ดีเด่นสาขานี้, มีเคล็ดลับในการดำเนินชีวิต และทำหน้าที่เป็น อสม.ไปด้วยอย่างไร และท่านอยากจะเห็นอะไรในการร่วมกันพัฒนาสุขภาพชุมชนต่อไปในอนาคต ในการดำเนินการจะเปิดให้มีการซักถามเพิ่มเติมและ ลปรร.กันได้เป็นระยะ ๆ

          ช่วงบ่ายวันแรก นำเข้าประเด็นใหม่โดยการสะท้อนพฤติกรรมด้วยภาพ (แอบ) ถ่ายช่วงเช้าผ่านเครื่อง LCD ก่อนที่จะสรุปประเด็นที่ตกผลึกได้จากช่วงเช้า “ตกผลึกสิ่งที่ภูมิใจ” ในแต่ละประเด็น ตามกรอบกว้าง ๆ หลวม ๆ ดังนี้ ฐานคิด ฐานความเชื่อในการเสียสละมาเป็น อสม., กระบวนการเพื่อเคลื่อนผ่านการพัฒนาสุขภาพชุมชนของ อสม., เทคนิคหรือเคล็ดลับในการดำเนินชีวิตและเป็น อสม.ดีเด่น และมุ่งสู่อนาคตตามบริบท “พัทลุง” เพื่อร่วมกันพัฒนาสุขภาพชุมชน สู่ “คนมีสุข เมืองลุงแข็งแรง”

          ช่วงหลังอาหารเย็นวันแรก ร่วมด้นสด (Talk Show) “การจัดการความรู้สู่สุขภาวะแบบหมอ ๆ และอสม.” ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (ผอ.สคส.), นพ.ยอร์น จิระนคร (นพ.สสจ.พัทลุง) และ พันธ์ อ่อนเกลี้ยง (ประธานชมรม อสม.จว.พัทลุง)

          ช่วงเช้าวันที่ 2 ต้อนรับเช้าวันใหม่ด้วยการนำชมพระอาทิตย์ขึ้นและท้องทะเลสาบ รับอาหารเช้าเบา ๆ ลปรร.กันบนโต๊ะอาหาร และระเบียงกาแฟ ก่อนเรียกความพร้อมด้วยเกมส์จากทีมงาน จากนั้นเริ่มต้นพลิกฝันสู่ความจริง “เมื่อเริ่มฝังราก ชุมชนคน อสม.แล้วจะยืนต้นเติบโตต่อได้อย่างไร” ซึ่งก็จะมีประเด็นให้ดำเนินการดังนี้ โดยตัวแทนแกนนำ อสม.ที่ฉายแววแต่เมื่อวาน อาทิ ก่อกำเนิดชุมชนคน อสม.เมืองลุง, กลไกการขับเคลื่อนไปในอนาคต, ผูกเกลอภาคีเครือข่ายเพื่อน ๆ ชุมชนใกล้เคียง และฉันทามติร่วมของชุมชนฯ

          ช่วงบ่ายวันที่ 2 ทำ After Action Review: AAR นำโดยทีมงานจาก สคส.

          ปล.ทางทีมงานจาก สคส.จะเสนอปรับเปลี่ยนรูปแบบเวทียังไงบ้างก็นำเสนอไว้นะครับ หรือท่านใดมีข้อคิดดี ๆ จะเติมต่อขอเชิญเลยครับ ด้วยความยินดียิ่ง (ผมยังไม่ค่อยมีประสบการณ์เวทีในลักษณะนี้มากนักครับ)

หมายเลขบันทึก: 25172เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2006 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ขอชมว่ามีแผนการจัดเวทีได้น่าสนใจมากค่ะ
     ขอบคุณอาจารย์วัลลา มากครับ จริง ๆ แล้วไม่แน่ใจนักครับ อยากได้การเติมเต็มอีกนะครับ

น่าสนใจตั้งแต่อ่านบันทึก  อสม. ดีเด่น  แล้วครับ

เวทีช่วงเล่าเรื่องในวันแรกครึ่งวัน  เห็นมี  อสม. 10 สาขา กับอีก 3 ท่าน  เวลาพอไหวไหมครับ

ที่คุณอนุชาเรียกว่า ช่วงตกผลึกสิ่งที่ภูมิใจ  ผมเข้าใจว่าเป็น  อันเดียวกันที่ สคส. เรียกว่า  "ขุมความรู้"   ซึ่งเข้าใจว่ามีการวางตัวทีมงานที่ทำหน้าที่ "คุณลิขิต" ในเวทีไว้แล้ว    ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ

 

เรียน พี่ธวัช

     ขอบคุณครับพี่ที่ช่วยเติมเต็มให้ และดีใจที่เป็นบันทึกหนึ่งที่น่าสนใจ (แต่ผมเครียดเลย...ยิ้ม)
      10 สาขา กับ 1 ท่าน (ประธานชมรม อสม.จว.พัทลุง) ก็จะเป็นเวลาโดยประมาณประเด็นละ 15-20 นาที (มี อสม.ท่านหนึ่ง คือพี่สมพงค์ จะดำเนินการเป็นผู้รักษาเวลา...มืออาชีพของกลุ่ม อสม.ครับ) 
     ครับ ผมเรียกตกผลึกตามที่คุ้นชินในเครือข่ายทีมงาน ซึ่งก็คือ "ขุมความรู้"ครับ
     คุณลิขิตในงานนี้คือ พี่หรอย และ น้องไออุ่น โดยพี่ ๆ  อสม.จะเรียนรู้ในประเด็นคุณลิขิต 3 ท่าน ครับ

เป็นแนวทางการพัฒนางาน อสม.ที่ดีมากค่ะ  ทำอย่างไรนายหรือผู้รับผิดชอบจะหันมาสนใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท