โธ่เอ้ย...แม่อุ้ย


คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน... มูลค่าของสิ่งเหมือนกัน แตกต่างกันตามความพร้อมของคน ผมนึกถึงใบหน้าของแม่อุ้ย นึกถึงขนมที่อยู่เต็มเปี๊ยดของแม่อุ้ยแล้ว...ผมคิดอะไรได้หลายๆอย่าง

บ้านนอกเรา มีวิถีกันแบบง่ายๆสบายๆ (ชิวๆ) เดินเข้าออกบ้านแบบไม่ต้องมีรั้ว เสียงฆ้อง กล้อง ตึ่งโนงที่ข้างบ้านวันนี้มีกฐิน มีคนเมาเหล้าขาวเล็กน้อย ดูก็สนุกสนานดี นี่หละชีวิตคนท้องถิ่น

ว่าด้วย วิถีชีวิตที่บ้านของผม ก็เรียบง่ายแบบนี้

เมื่อวานมีคุณลุงสะพายตะกร้า (คนเมืองเหนือ เรียกว่า "เปี๊ยด") ขับมอเตอร์ไซต์มาจอดตรงหน้าบ้าน ดับเครื่องแล้วถามผมว่า "ซื้อผั๊กหวานก่อครับ" (ซื้อผักหวานไหมครับ?)ผมตอบปฏิเสธไปเพราะแม่ซื้อไว้ก่อนแล้ว

พอลุงขับมอเตอร์ไซต์ออกไป ผมนึกเสียใจเหมือนกันว่า ทำไมไม่อุดหนุนเขาบ้าง เพราะกว่าที่เขาจะขึ้นไปเก็บผักหวานในป่า บนดอยสูงๆกว่าที่จะบรรจุห่อใบตอง มาขายเราแค่ห่อละ ยี่สิบบาทเท่านั้นเอง เราจะใจจืดใจดำไม่อุดหนุนเขาเชียวหรือ...

คิดอยากให้คุณลุงย้อนกลับมาจัง...ไม่ทันเสียแล้ว

เช้านี้ก็เหมือนกัน ในระหว่างที่ผมนั่งทำงานอยู่เพลินๆ ก็มีเสียงถามเบาๆ

"ไอ่หน้อยเอา ขะหนม ก่อ" (ไอ่หนูเอาขนมมั้ย)

ผมมองตามต้นเสียง เป็นแม่อุ้ยชรา สวมเสื้อขาว ผ้าซิ่นสีลาย มวยผมแบบคนเฒ่าบ้านเฮา  ริ้วรอยของวัยสูงอายุ ทำให้แม่อุ้ยนั่งหอบๆ ก่อนที่จะวางเปี๊ยดทั้งคู่ลง ใช้กระดาษที่แม่อุ้ยคว้าได้ในเปี๊ยดพัดวี

โธ่เอ้ย!!!...แม่อุ้ย

แก่เฒ่าป่านนี้อุ้ยยังมาเดินขายขนมอีก ผมนึกไปถึงลูกหลานของอุ้ย

แม่อุ้ยมาขายขนมข้าวปองราดน้ำอ้อย (เป็นขนมโบราณที่ใช้แป้งอบจนกรอบ ราดด้วยน้ำอ้อยเคี่ยว) อร่อย หอมหวานดี ผมก็ไม่ได้ลิ้มรสมานาน เลยอุดหนุนแม่อุ้ยหลายๆห่อ ผมให้เงินค่าขนมอุ้ย แม่อุ้ยค่อยใช้มือทั้งสองประคอง โน้มตัวลงรับเงิน ทำให้ผมใจไม่ค่อยดีเข้าไปอีก

โธ่เอ้ย!!!...แม่อุ้ย

การประคองรับเงินด้วยสองมือ มือหนึ่งแตะที่ศอกอีกมือหนึ่งแบมือ เป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติที่คนไทใหญ่ เขารับเงิน ถือว่าเงินนั้นเป็นของสูงค่า

ผมนึกถึงเงินทองที่หลายคนใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย ทานข้าวแต่ละมื้อครึ่งพันครึ่งหมื่น ผมมองลงไปในเปี๊ยดแม่อุ้ย คะเนแล้ว แม่อุ้ยคงได้ซักร้อยกว่าบาท จากขนมเต็มสองเปี๊ยด แต่แม่อุ้ยเดินข้ามทุ่ง ข้ามเขามาหลายกิโลเมตรทีเดียว

คนเราเกิดมามีไม่เท่ากัน... มูลค่าของสิ่งเหมือนกัน เราให้ค่าที่แตกต่างกันตามความพร้อมของคน

ผมนึกถึงเหงื่อที่ผุดพรายตามใบหน้าของแม่อุ้ย นึกถึงขนมที่อยู่เต็มเปี๊ยดของแม่อุ้ยแล้ว...ผมคิดอะไรได้หลายๆอย่าง

คุณผู้อ่านคิดอะไรจากเรื่องราวนี้บ้างครับ??

 

 

หมายเลขบันทึก: 165931เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)
  • อึ้งครับน้องเอก
  • บางทีเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเงิน
  • เงินเพียงเล็กน้อยแต่มีคุณค่าต่อคนอื่นที่ขาดแคลนมากๆๆ
  • บางทีสามารถต่อชีวิตคนได้ทั้งครอบครัว
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆๆครับผม
  • ขอให้มีความสุขในการทำงาน

สวัสดีครับ (ความคิดเห็นที่แล้ว เขียนยังไม่เสร็จ มือไปโดนอะไรก็ไปซะแล้ว  รบกวนช่วยรบให้ด้วยครับ)

         สำหรับสังคมรอบๆโรงเรียนของผม ก็จะมีคนเฒ่าคนแก่ นำขนมทำเองบ้าง   ผักสดบ้าง  ปลาเค็มบ้าง  เข้ามาขาย  ผมและคณะครูก็จะช่วยกันอุดหนุนครับ  เพราะ เป็นของชาวบ้านแท้ๆ  ทำเองกับมือ  ซื้อไปแล้วก็อิ่มทั้งท้อง และ อิ่มทั้งใจครับ   ที่อิ่มใจเพราะรู้สึกว่าเงินของเรามีค่ามากสำหรับเขาครับ  และรู้สึกคล้ายๆว่าได้ทำบุญด้วยครับ

        เทียบกับการไปซื้อของที่ตลาด  อิ่มท้องอย่างเดียวครับ แต่ไม่อิ่มใจ

  • คุณเอกคะ..

หลาย ๆ ครั้งที่ต้อมจะต้องอดใจไม่ไหว   ที่จะอุดหนุนแม่อุ๊ยคนใดก็ตามที่แบกหาบขนมหรือสิ่งของมาขาย   ภาพคนแก่หลังงุ้มแบกหาบกระจาดหรือตระกร้าหนักๆ ทำให้ต้อมนึกสะท้อนใจได้เสมอ 

จำได้ว่าครั้งหนึ่งนั่งเล่นที่ร้านเน็ต  แม่อุ๊ยแก่ๆ เดินแบกกระสอบที่บรรจุข้าวสาลีต้มซึ่งควันยังร้อยฉุยอยู่เลย   แกเดินเข้ามาในร้านแล้วถามขายให้ต้อมซึ่งเป็นเพียงลูกค้าคนเดียวของร้านเน็ต   ต้อมก็เลยถามว่า..นี่ ยายจะไปขายที่ไหนอีก    แกบอกว่า..ก็ขายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดกระสอบ

คุณเอกคะ  แม่อุ๊ยตัวเล็กนิดเดียวแบกกระสอบหนักๆ ร้อนๆ   จะไม่ให้ต้อมกระหน่ำซื้อจนแทบหมดกระสอบได้ไง  ทั้งที่ต้อมเองก็ไม่ได้ชอบทานข้าวสาลีเลยสักนิด

อ่านแล้ว ...ไม่ถึงกับเศร้าจนน้ำตาหลั่ง

แต่สีสันโลกก็หม่นลงไป

อ้ายชอบไปกาดมั่ว กาดแลง

แต่สิ่งที่เก็บกลับมานอกเหนือจากความม่วนจื่นแล้ว

ก็คือความสะท้อนใจกับ รูปความยากแค้นที่ปรากฏ  

โลกมักเป็นเช่นนี้นะเอก  ความทุกข์เป็นแรกผลักดันให้ความสุขเผยตัวออกมาได้เสมอในหมู่คน

แต่ที่แน่ๆ อยากกิ๋นข้าวปองใส่น้ำอ้อยแต้ๆ 

ในฐานะแม่อุ้ยคนหนึ่งรู้สึกเหมือนถูกกวักมือเรียกให้เข้ามาอ่าน..แล้วก็อดไม่ได้ที่จะ log in มาคุยด้วยค่ะ

 น่าเศร้าเมื่อนึกภาพตาม...และแถมสะท้อนใจที่คนรุ่นที่กำลังจะเข้าไปใกล้วัยชราที่กำลังเดินๆวิ่งๆทำมาหากินกันอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งจนหนักกว่าเดิม  ไม่มีพี่ทางทำมาหากินไปเรื่อยๆ...อีก 10 ปีข้างหน้าจะมิแย่กว่านี้หรือคะ

มีบันทึก สังคมชราภาพ ของอาจารย์ wwibul ที่เขียนเมื่อสองปีที่แล้ว (27 มิ.ย 49) ที่ทำให้คิดมาเสมอ(หลังจากอ่าน) ว่า ประเทศเรายังไม่พร้อมที่จะรองรับจำนวนคนชรา ..ไม่ว่าในระดับประเทศหรือท้องถิ่น....ทุกวันนี้และอนาคตคนชราจะต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นและมากกว่าเมื่อยุคก่อนที่ผ่านมา ขณะที่ความรุนแรงของการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพชีวิตคนชราจะเป็นอย่างไร??

ได้คิดเลยครับ

สิ่งๆหนึ่งได้เราได้รับ แต่อีกหลายๆคนได้รับ ก็มีมุมมองและการกระทำที่ต่างกัน

ชีวิตที่แตกต่างกัน ในบางมุมมองของคนบางคน คือมีเงินที่แตกต่างกัน

แต่กับที่คุณเอก บอกเล่าในบันทึก มันสะท้อนชีวิตที่แตกต่างกันดีครับ

 

หลายคนมีเงินในมือ แล้วใช้จ่ายไปกับอะไรของชีวิต!

 

ขอบคุณกับมองมุม ที่ถ่ายทอดผ่านวิถีชีวิตแม่อุ้ย ครับ

มีความรู้สึกเดียวกัน

ที่บ้านผม เมื่อก่อนมีเฒ่าอุ้ยเดินขายผัก มาผ่านบ้านผมบ่อย ผมต้องซื้อทุกครั้ง  น่าสงสารครับ อายุมาก หลังค่อม เดินขายทุกวัน  ถามอายุยังจำไม่ได้  ลูกหลานก็ไม่มี   บางครั้งต้องหายาทาแก้แพ้แก้คันให้ไปด้วย   แล้วผักที่ซื้อบางครั้งก็ไม่ได้นำมาใช้ ต้องเอาไปให้ข้างบ้าน

ชุมชนยังต้องจัดการอีกมาก  สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อชุมชนมาก พวกเรายังต้องช่วยกันต่อไป

                                                           รวมตะกอน

 

สวัสดีค่ะ

พี่มีความรู้สึกว่าโลกทุกวันนี้ คนจนก็จนลงนะ คนรวยก็ยิ่งรวย

ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่า โลกทุกวันนี้พัฒนากันอย่างไร

ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน เราน่าจะแก้ตรงนั้น

สิ่งที่เห็นผู้สูงอายุ ยังต้องมาหาเงินใช้เอง เพราะเราไม่มีมาตรการเก็บออมตั้งแต่วัยทำงาน

        สวัสดีค่ะ คุณเอกแม่อุ้ยยังแข็งแรงนะคะ ที่ยังเดินหาบเปี๊ยดขายขนมได้ ก็ยังดีกว่าที่นอนอยู่บ้านเฉยๆ เหมือนกับแม่อุ้ยที่นี่ท่านหนึ่ง  ก่อนวันพระหนึ่งวันท่านจะหาบดอกไม้สดสวยๆมาขายเพื่อถวายพระ เคยพูดคุยกับแม่อุ้ยท่านบอกว่า ยายชอบขายของ มีความสุขที่ได้ออกมาพบผู้คนนอกบ้าน  ไม่แน่นา  แม่อุ้ยที่ปายก็อาจจะมีความสุขเหมือนกัน

        เงิน 100 บาท ในมือแม่อุ้ย ย่อมทำให้แม่อุ้ยมีความสุขมากกว่า เงิน100 บาท ในมือเศรษฐีบางคน

        การใช้ชีวิตที่พอเพียงของแม่อุ้ย ย่อมทำให้แม่อุ้ยมีความสุข สงบ ตามวิถีของเราชาวชนบท

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ผมมักจะซื้อของบางครั้งก็ไม่รู้จะซื้อไปทำไม มีเหตุผลเดียวคือสงสารคนขายครับ

ดูภาพจากบันทึกสิครับ แม่อุ้ยนั่งขายถั่วแปบ จะราคามัดละเท่าไหร่เชียวครับทำให้เรารู้ถึงคุณค่าของเงินมากขึ้นนะครับ

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณทุกท่านครับ ที่เข้ามาบันทึก "แม่อุ้ย"

 

สวัสดีครับ อ.small man

ผมอ่านข้อเสนอแนะท่าน ผอ.แล้ว คิดว่าบรรยากาศที่พบไม่ต่างกันนะครับ เมืองไทยเรามีความต่างเรื่องรายได้สูง...ด้านหนึ่งก็รวยล้นฟ้า อีกมุมหนึ่งก็จนแทบจะกินดิน

สวัสดีครับ คุณต้อม

บ่อยครั้งที่เราซื้อของโดยไม่รู้ว่าจะซื้อไปทำไม เพราะไม่ได้ชอบ หรือไม่ใช่ความต้องการ แต่ซื้อเพราะอยากช่วย ผมก็บ่อยครับ

คุณต้อมทำดีที่สุดแล้วครับ...

อ้ายเปลี่ยน

กาดมั่วกาดแลง...เป็นชีวิตของคนท้องถิ่นไปด้วย ผมมักจะพานักท่องเที่ยวไปแอ่วเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตคนท้องถิ่นแบบรวบรัดผ่าน วัฒนธรรมการกินอาหาร

อ้ายผ่อภาพข้างบนก่าครับ ...น่าเอ็นดูแม่อุ้ยแต้ๆครับ ยิ่งมองลึกในแววตายิ่งสะท้อนใจครับ

ปี้สร้อยครับ

ขอบคุณนักๆครับตี้เจ้ามาอู้จา

ระบบการจัดการของประเทศเรามีปัญหา - พัฒนาดังนั้น ประเด็นงานพัฒนาสังคมใหม่ๆที่เกิดขึ้นผมคิดว่าเรามีปัญหาในการจัดการแน่ๆ

ผมไม่ทราบว่า Helpage ที่ มช.ทำประเด็น ผู้สูงอายุ อย่างไรบ้างครับ น่าสนใจจังครับ

สวัสดีครับ ตาหยูครับ

สบายดีนะครับ

มุมมองเรื่องชีวิตในชนบทเรามีให้เรียนรู้หลากหลาย แม่อุ้ยก็เป็นชีวิตหนึ่งที่เรามองว่าเรามีความแตกต่างเรื่องรายได้สูงมากในประเทศนี้

พี่สิทธิรักษ์

บ่อยครั้งที่ผมทำเหมือนพี่เหลียงครับ...เพราะเพียงเราอยากช่วย แต่การช่วยแบบเราก็บรรเทาได้ชั่วครั้งชั่วคราว

การแก้ไขต้องแก้ที่ระบบใหญ่นะครับ...

อยู่มีดีสุข  อย่างไร? ทำอะไร?

สวัสดีครับพี่อุบล

ที่ชนบทอีสานคงไม่ต่างกันนะครับ กรณีแบบนี้

ผมเห็นด้วยว่าเราต้องแก้ไขต้นตอของปัญหา

เงินยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ ๖๐๐ ครับ...ยังดีที่ได้นะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดี พี่เอื้องแซะครับ

อยู่หลีกิ๋นหวาน นะครับ

ครับแม่อุ้ยอาจจะมีความสุขก็ได้ ...เพราะสุขที่ได้ทำ ได้ขาย แม้จะได้เงินน้อยนิด แม่อุ้ยก็ยินดี อีกอย่างก็เป็นวิถีคนไทยใหญ่ อย่างที่พี่เอื้องแซะทราบ

ไปชมตลาดสายหยุดที่แม่ฮ่องสอนก็ได้ ยังมีภาพแบบนี้บ้าง

ขอบคุณพี่มากๆครับ

วันที่ ๓-๕ มีค. อาจมีการระดมความคิดเห็น กรณี "แม่ฮ่องสอนสวรรค์บนดอย" อยากชวนพี่เอื้องแซะมาเป็นวิทยากรกระบวนการร่วมจังครับ

ที่โรงแรมอิมพีเรียลธาราครับ 

แต่ยังไม่ confirm ครับ คาดว่าจะจัด รอรายละเอียดวันสองวันครับ

กลุ่มเป้าหมาย หน.ส่วน ,อปท.,ชุมชน ทั่ว จ.แม่ฮ่องสอน ร่วม ๒๐๐ คน มาระดมความคิดประเด็นพัฒนาเมืองแม่ฮ่องสอนครับผม

ขอบคุณครับ 

 

 

          สวัสดีค่ะน้องเอก ถ้าไม่มีภารกิจราชการ ยินดีร่วมงานค่ะ ใกล้ๆแล้วcf อีกที นะคะ

พี่เอื้องแซะครับ

ตอนนี้มีวิทยากรกระบวนการหลักๆ(ของแม่ฮ่องสอน)อยู่ ๓ ท่านครับ รวมผมด้วย

  • คุณวิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์ นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ
  • คุณธนันชัย มุ่งจิต ผู้ประสานงาน สกว.แม่ฮ่องสอน
  • และผม

ที่ มช. มี ๑ ท่านคือ

  • อาจารย์สุนิสา เฟรนเซิ้ล อาจารย์ สังกัด วิทยาลัยสื่อและศิลปะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่คิดกันไว้อยากมีวิทยากรกระบวนการที่สามารถในการนำกระบวนการระดมความคิดได้ จับประเด็นได้ครับ

ต้องการวิทยากรกระบวนการหลัก ๕ ท่านครับ มีน้องๆมาช่วยทั้ง ๕ ท่านเป็นผู้ช่วยครับ

ในส่วนกระบวนการผมกำลังช่วยทาง มช.คิด ครับ ว่าน่าจะเป็นอย่างไร?

จะรีบส่งข้อมูลและ confirm โดยด่วนครับ

บ่อยครั้งเหมือนกันที่ครูแอนซื้อของเพราะความสงสารโดยเฉพาะคนแก่ และเด็ก บางครั้งก็ไม่รู้ซื้อไปทำไม อาหารพื้นเมืองบางอย่างเรากินไม่ได้ แต่ก็ซื้อ เพราะรู้สึกสะท้อนใจ ลูกหลานอุ๊ยไปไหนหมดล่ะ...ถ้าเกิดอุ๊ยเป็นลมกลางทางล่ะ....นึกถึงพ่อแม่ ตายายเรา...เราคงไม่ให้เป็นแบบนี้ อย่างที่พี่เอกว่า คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน ทำบุญ กรรมมาไม่เท่ากัน...เราก็คงทำได้คือการเอาใจใส่ดูแลคนรอบข้างให้ดีที่สุด..และไม่ลืมที่จะแบ่งปัน
  • เพิ่งเห็นอุ้ย..นั่งขายมะแปป หรือถั่วแปป เอ..เรียกถูกหรือเปล่าค่ะ
  • ที่โรงเรียนก็มีค่ะ..รั้วโรงเรียนติดทุ่งนา...ครูแอนเอามายำ..อร่อยมากทีเดียว
  •  ..
  • อึ้งไปพักหนึ่งครับ คิดถึงเพลงอุ๊ยคำ
  • ..
  • อึ้งอีกพัก สมองอีกข้างก็เริ่มให้เหตุผลว่า เพราะงานหนัก ทำให้แม่อุ้ยสุขภาพแข็งแรง ถ้าแม่อุ้ยเอาแต่นอน จะหง่อมเร็วครับ

ผมคิดถึงความสุขของแม่อุ้ยครับ...

ผมว่าความสุขของแม่อุ้ยไม่ได้อยู่ที่เงินร้อยกว่าบาทหรอกครับ แต่อยู่ที่การได้เห็นคุณค่าของตัวเอง ได้เห็นว่าตัวเองก็ยังทำงานได้ ไม่เป็นภาระของใครครับ...

ขอบคุณมากครับ...

สวัสดีค่ะคุณเอก

  • เป็นเหมือนกันค่ะ.....บางครั้งเวลาซื้อของในตลาดนัดเราก็จะคิดว่าถ้าเราซื้อของจากยายแก่ๆ ที่นั่งขายอยู่นั่น....ยายก็จะได้เงินไปใช้ในสิ่งที่ยายกำลังขาดหรือกำลังอยู่ในความต้องการ
  • เพราะยายไม่ใช่คนงอมืองอเท้าแล้วมาเดินขอทานเหมือนขอทานทั่วไปไงคะ  นี่ยายยังอุตส่าห์ทำงานเพื่อแลกเงินอีกต่างหาก....อันนี้น่ายกย่องคุณยายเหล่านั้นมากกว่าไหนๆ
  • แถวๆ โรงเรียนทุกวันล่ะค่ะ....จะมีคุณยาย (เราเรียกว่า เม๊าะ น่ะค่ะ)เดินหิ้วตะกร้ามาขายขนมหวาน  สอบถามเม๊าะ  เม๊าะบอกว่าไม่ได้ทำเองแต่รับซื้อมาอีกทอดหนึ่ง  เราทั้งครูทั้งเด้กเลยอุดหนุนเม๊าะกันทุกวัน
  • เห็นเม๊าะแก่ๆ แล้วขยันอย่างนี้นะคะ  ไปดูบ้านเม๊าะเถอค่ะ  ใหญ่โตแล้วยังสวยอีกต่างหากล่ะค่ะ  นี่เป็นเพราะความขยันของเม๊าะเป็นแน่
  • ที่แน่ยิ่งกว่าแน่คือ....เม๊าะแข็งแรงมาก...เมื่อเทียบกับคนแก่ท่านอื่นๆ.....อันนี้ต้องเรียก.....สุดยอดเม๊าะ....อิอิอิ
  • อ้อ.....วันก่อนได้ยินเพลง "ได้ยินไหม"  ของดา  จากวิทยุขณะกำลังขับรถบนเส้นทางกลับจากโรงเรียนยังนึกถึงบันทึกคุณเอกเลยนะคะเนี่ย  

 สวัสดีค่ะ คุณเอก

  • เห็นบ่อยค่ะ  ใกล้ๆบ้านก็มียายแก่มากแล้ว ชอบห่อข้าวต้มมัด เดินขายเองด้วย เพราะลูกหลานไม่มีเหลียวแล 
  • บ้างก็ปลูกผักขาย   ผักกาดขาวต้นเล็กๆ  มัดกำละ  5  บาท มีตั้งหลายต้น   ถูกกว่าตลาดอีก ก็ช่วยๆกันซื้อ  ด้วยความสงสาร 
  • แต่ที่น่าชื่นชม คือ ถ้าซื้อคนเดียวหมดก็ไม่การขอแถม และไม่มีขอลดราคา ทุกคนเต็มใจให้ครบทุกบาททุกสตางค์ 
คนเรามันไม่เท่ากันจริงๆ แถวร้านแม่เรามียายคนนึงอายุราว 80 แกนั่งรถมาจากชุมชนคลองเตยทุกวันเพื่อมาซื้อผักที่ปากคลองแต่เช้ามืด เลือกแต่ผักสวยๆ ใส่ตะกร้าใบใหญ่ แยกทำเป็นห่อ แล้วก็เดินขายแถบพาหุรัด เยาวราช ตะกร้าใบหนึ่งจะใส่ได้เท่าไหร่ ต้องเดินไกลขนาดไหน เราบอกให้แม่อุดหนุนทุกวันเพราะสงสาร แถมจะได้มีผักกิน แกขายไม่แพง และเลือกผักเก่งมากทีเดียว แม่ให้ตังค์เกินก็ไม่ยอมรับ ถ้ายัดเยียดให้จริง แกก็จะเอาผักให้อีกอย่าง อายุขนาดนี้แล้วไม่รู้ลูกหลานไปไหนหมดเนอะ

วันนี้เราก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับคนแก่และครอบครัวเหมือนกัน บังเอิญเนอะ เรื่องของอาม่า

สวัสดีครับ

  • แวะมาทักทายได้เสียที รำคาญอยู่นาน พอเขียนไปได้สักหน่อย ก็ค้างๆ
  • เลยไม่ได้ทักใครช้านาน
  • แวะมาอ่านเรื่องแม่อุ้ย นึกถึงความอบอุ่นที่เริ่มขาดหายไปในครอบครัว และสังคมไทย
  • ตามอ่านอยู่ตลอดครับ แต่ไม่ได้แวะมาเขียน
  • รักษาสุขภาพนะครับ

สวัสดีครับครูแอน

ซื้อทั้งๆที่ เราไม่ได้ต้องการ แต่ซื้อเพราะสงสารผมเป็นบ่อยๆครับ ช่วยกันไปเถอะครับ หากเราทำแล้วสบายใจครับ

แม่อุ้ยขายถั่วแปบครับ ตลาดเมืองปายนี่เองครับ

 

สวัสดีครับ อาจารย์หมอนาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

ผมก็นึกถึง เพลง "อุ้ยคำ"เลยครับ แต่แม่อุ้ยก็ดูแข็งแรงมากๆ ที่ท่านมาขายก็อาจเป็นเพราะมีความสุขที่ได้ทำงานก็ได้ครับ

แต่ผมมักจะสงสารหากได้เห็น

ขอบคุณครับ ..

 

สวัสดีครับ ดิเรกMr.Direct

แง่มุมของเพื่อน เป็นเเง่มุมที่น่าสนใจมากครับ เป็นการมองสรรพสิ่งเป็นบวกและดีงาม

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ ครูLioness_ann

ได้ศัพท์ใหม่ คือ "เม๊าะ" เทียบได้กับ "แม่อุ้ย" ในภาษาบ้านผมนะครับ

ขอบคุณครับเรื่องราวที่ชื่นใจ

เพลง "ได้ยินไหม" เป็นเพลงที่ฟังแล้วชอบพลังเสียง หากครูแอนชอบ ผมขอมอบให้ครับผม

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณครูจุฑารัตน์

จากข้อเสนอแนะ(ความเห็น)หลายๆท่าน ที่ไหนก็มี "แม่อุ้ย" ขายของนะครับ หากท่านมีความสุขเมื่อได้ทำก็ดีครับ เหมือน อ.หมอเต็มว่าเป็นการออกกำลังกาย ไม่เครียด แต่หากเป็นความจำเป็นที่ท่านต้องออกมาขายของเพื่อเศรษฐกิจ ก็น่าสงสารครับ

ขอให้กำลังใจคนทำดีครับผม

สวัสดีครับ ซูซาน

ต้องขอบคุณซูซานที่ช่วยอุดหนุนยายครับ...ยายหากินเลี้ยงชีพสุจริต หากเราช่วยได้ควรช่วยท่านนะครับ

ในบันทึกของเรานี้ ตามจริงเราเห็นชีวิตแบบนี้มานาน เด็กๆที่มาขายของเหมือนกัน เราก็สงสาร แอบชมในใจว่าเด็กขนาดนี้ยังรู้จักทำงาน ทำมาหากิน ...น่าสนับสนุนให้กำลังใจ

จะตามไปอ่านเรื่อง "อาม่า" ครับผม

พี่ ธ.วัชชัย

  • เป็นยังบ้างครับ คิดถึง หายเงียบไปนาน เรื่อง "เรียนต่อ" ไปถึงไหนครับ
  • สังคมที่มีผู้ชรามากขึ้น  การรองรับ การช่วยเหลือทางสังคมที่ไม่พร้อม "ผู้สูงอายุ" จึงน่าจะเป็นประเด็นสังคมใหม่ๆที่รัฐต้องให้ความสนใจครับ
  • และเราทุกคนต้องแก่ ชรา เราควรจะเตรียมตัวอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต(ทั้งต่อตัวเรา ครอบครัว สังคม)
  • ประเด็นนี้น่าสนใจครับ
  • ให้กำลังใจครับ รักษาสุขภาพด้วยเช่นกันนะครับผม :)

 

หวัดดีค่ะ น้องเอก

กว่าจะได้คุยกันอีกที่ ก็ผ่านมาเป็นเดือน อยากจะตอบคำถามที่เอก ถามไว้ตอนท้ายบันทึกนะ  แต่บอกตรง ๆ ว่า อึ้งไปพักนึงค่ะ 

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวนะคะ  ทำให้บางครั้งเราก็มีโอกาสดึงตัวเองกลับมาในจุดนึง ที่ควรคิดทำทุกอย่างอย่างพอเหมาะพอดี  และพอควร ถึงแม้ว่าบางครั้งก็มีแว่บอยากได้โน่น ได้นี่ เป็นระยะๆ ตามประสาคนอยู่ในเมืองหลวงที่มีล่อตา ยั่วใจเยอะ

 

สวัสดีครับ พี่ visitsri  ครับ

ผมกลับไปอ่านบันทึกตัวเองหลายรอบ ก็สะท้อนใจ เศร้าลึกๆเหมือนกัน เป็นความรู้สึกที่ผมถ่ายทอดทันทีที่ผมรู้สึก ...ตามอารมณ์ ณ ตอนนั้นครับ

ผมนึกถึงบรรยากาศแบบนี เรื่องราวแบบนี้ การที่คิดจะจ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายนั้น ลดลงในทันที ต้องประหยัดอดออมไว้ในอนาคต ผมรู้สึกแบบนี้จริงๆ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นงานเลี้ยงอาหารดีๆเหลือมากมาย ผมก็ตะหวัดคิดไปถึงชีวิตบนดอยที่ยากแค้นเสียเหลือเกิน

หลายคนบอกว่า ชีวิตหดหู่ไปหรือเปล่า ผมก็บอกได้เลยว่า จริงๆครับ คิดถึงคนเหล่านั้นบนดอยสูงที่ผมไปพบเจอ สัมผัสมา เด็กน้อยเอาข้าวคลุกกับน้ำมันหมู มีกากหมูติดนิดหน่อยกัดกินอย่างเอร็ดอร่อย บางบ้านไม่มีแม้แต่ข้าวสารจะกรอกหม้อ ไปไร่เอาข้าวไร่จิ้มเกลือกินกับตะไคร้ซอยผสมพริก ก็อร่อยอิ่มไปอีกมื้อ

มันแตกต่างกันครับ...

ผมทำโครงการบริจาคมาปีที่สาม แต่ละครั้งได้ของบริจาคจากพี่น้องร่วมชาติเรามากมายครับ น้ำใจไม่เคยเหือดหาย น่าดีใจจริงๆ

พี่ visitsri  ก็ส่งมาทุกปี ผมขอขอบพระคุณ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

ขอให้ความดีที่ได้ร่วมกันธรรมเป็นกุศลหนุนเนื่องให้พี่และครอบครัวมีความสุขยิ่งขึ้นไป

ขอบคุณครับ

  • แอนนำภาพแม่อุ้ยมาฝากค่ะ
  • P10908899
  • แม่อุ้ยขายกล้วย 5 บาท  แอนไม่แน่ใจว่าเรียกว่าอะไร น่าจะเป้น มะหลอด หรือเปล่า ที่ออกเปรี้ยวน่ะค่ะ ถุงล่ะ 10 บาท
  • แอนไปเที่ยวบ้านสันติชลมา วันที่22 ก.พ.ค่ะ
  • บ้านใหม่สหสัมพันธ์จัดงานลีซูสัมพันธ์ด้วยค่ะ

น้องครูแอนครับครูแอน

รูปแม่อุ้ยนั่งขายแบกะดินนี่คลาสสิคมากๆครับ แต่ดูแววตาแม่อุ้ยไม่เศร้าเท่าแม่อุ้ยขายถั่วแปบด้านบน

ผมไปที่หลวงพระบาง แม่ค้าส่วนใหญ่ก็ขายแบกะดินแบบนี้ วิถีง่ายๆแบบนี้น่าสนใจ อาหารสดๆจากป่า จากสวน ไร่ ราคาไม่แพง แถมยังสดใหม่

วันที่มีงาน "ลีซูสัมพันธ์" น่าเสียดายครับ  ผมต้องไปทำงานที่ ดอย"วาวี" แทน อดเที่ยวเลย :)

ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปถ่ายรูปครับ เพราะเข้าใจว่างานนี้ต้องยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของสาวๆลีซู

เอารูปมาฝากบ้างไหมครับ โพสลงให้ชมบ้างสิครับ

ส่วนปีที่แล้ว "กินวอลีซู" ชมภาพที่นี่ครับ

Thumbnail d
d d d
Lisu Thailand - Hilltribe @ Pai
  • พี่เอกค่ะ ตามครูแอนไปดูวัฒนธรรมลีซู ที่บันทึกนี้ค่ะ
  • พี่เอกอย่าลืมให้ข้อมูลเพิ่มเติมน่ะค่ะ

 

 

น้องครูแอน

ผมตามไปและให้ข้อคิดเห็น พร้อมถือโอกาสนี้ พรวนบันทึกเกี่ยวกับ "กลุ่มชาติพันธุ์" ด้วยครับ

ขอบคุณครับ

gotoknow เพียงแค่คิดผมก็ได้รับแล้วครับ

เอ้า...ประกาศครับผม  ตามไปอ่าน ไปชมที่ บันทึกนี้ ครับผม

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท