"เรื่องเล่าจากดงหลวง" 9 ความเชื่อต่อเจ้าที่


...คนโบราณมักจะกล่าวกันว่า “..ไปไหนมาไหนก็ไหว้เจ้าที่เจ้าทางนะ..” ในนาก็มี “แม่โพสพ” ในป่าก็มี “เจ้าป่าเจ้าเขา” ล้วนแต่เป็นที่นับถือของคนโบราณ คน “ยุคเด็กแนว” ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ไม่นับถือ แถมดูถูกเอาว่าคร่ำครึเอาเลย ...
 

1.        ความเชื่อเรื่องพระภูมิเจ้าที่ของคนไทย:  คนชนบทจักคุ้นเคยและมีความเชื่อเรื่องเหล่านี้มากกว่าคนในเมือง โดยเฉพาะ ศาลพระภูมิ  เจ้าที่ คนโบราณมักจะกล่าวกันว่า ..ไปไหนมาไหนก็ไหว้เจ้าที่เจ้าทางนะ..ในนาก็มี แม่โพสพในป่าก็มี เจ้าป่าเจ้าเขา ล้วนแต่เป็นที่นับถือของคนโบราณ คน ยุคเด็กแนว ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ  ไม่นับถือ แถมดูถูกเอาว่าคร่ำครึเอาเลย เด็กสมัยนี้มองแต่ข้างหน้าไม่มองข้างหลัง กำพืดของบรรพบุรุษ วิถีความเชื่อ การปฏิบัติอย่างโบราณ คือขั้นบันไดที่ก้าวมาสู่ปัจจุบัน ถ้าไม่มีวิถีเช่นนั้นก็ไม่มีสังคมวันนี้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ จริงๆ

2.        เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก : ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล หรือคนกว้างขวางที่ไหนหรอก  หรือไม่ใช่ผู้ขมังเวทย์อย่างเณรแอ อีกเช่นกัน ...เรื่องมันมีอย่างนี้..ประมาณปี พ.ศ. 2521 ผู้เขียนทำงานพัฒนาชนบทที่อำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ กับเพื่อนร่วมงาน ชื่อสมาคมสตรีผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย(GGAT) เราร่วมกันจัดค่ายเยาวสตรีในพื้นที่สะเมิง โดย GGAT เป็นผู้เชิญเยาวชนสตรีมาจากชนบทจำนวน 50 คน มีคนพื้นเมืองเหนือ ไทยลื้อ ไทยใหญ่ ค่ายจัดทำแบบลูกเสือ มีแค้มป์ไฟล์  ร้องรำทำเพลงสลับความรู้ต่างๆตามหลักสูตรที่กำหนด นอนในเต็นท์ จัดแบ่งเป็นหมวดเป็นโซน แบบวงกลม ข้างๆเต็นท์ก็จะมีชั้นไม้ไผ่แบบง่ายๆสำหรับวางถ้วยชามต่างๆ จุดกึ่งกลางวงกลมเต็นท์ก็มีกองไฟ 

สถานที่ที่จัดเป็นลานสนามกีฬาของโรงเรียนประจำตำบล รอบๆเป็นหมู่บ้าน และไม่ไกลนักก็เป็นวัดประจำหมู่บ้าน คืนแรกเท่านั้นเองก็เกิดเรื่อง..เมื่อตกค่ำดำเนินการตามกำหนดการแล้ว พี่เลี้ยงก็ให้เด็กเข้านอน เราพวกเจ้าหน้าที่ก็มาสุมหัวกันรอบกองไฟคุยกัน ยอกเย้ากันตามประสาเพื่อนร่วมงานที่เป็นหนุ่มสาว และบรรยากาศแบบนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการ ดื่ม ร้องเพลงสลับเสียงกีต้าร์แบบเคาะเป็นเพลงบ้าง ไม่เป็นบ้างสลับ เสียงนกแสก ร้องบนต้นไม้ใหญ่ริมขอบเขตค่ายนั้น  นัยว่าการแหกปากร้องเพลงนี้เป็นเพื่อนน้องๆที่มาจากต่างถิ่น และคอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อย  

พักเดียวเท่านั้นแหละ มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นที่เต็นท์น้องเยาวชนสตรีเต็นท์หนึ่ง คือเธอร้องกรีดออกมาเสียงดังลั่น พวกเราตกใจคิดว่าเกิดอุบัติเหตุอะไรต่างกรูกันไปดู  เสียงเธอทำให้เต็นท์อื่นๆต่างตื่นกันหมด  อาการแปลกๆ ร้องลั่น ตัวเนื้อสั่น ควบคุมสติไม่อยู่ ดิ้น ความตกอกตกใจพวกเราคิดอะไรไม่ออก จนชาวบ้านที่อยู่ใกล้ๆวิ่งมาดู แล้วลงความเห็นว่า ผีเข้า  เท่านั้นเอง..น้องคนอื่นๆต่างเริ่มร้องให้ เพราะความกลัว เพื่อนๆเจ้าหน้าที่ GGAT ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้พอสมควร แล้วเธอก็ถอดสร้อยคอที่มีพระให้แก่น้องคนนั้น..เช้าวันนั้นพวกเราไม่ได้นอนกัน เพราะต้องคอยดูแลน้องตลอด..

ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านต่างมาสอบถามสารทุกข์ แล้วคิดไปต่างๆนาๆ มีคนเสนอให้เด็กทุกคนเดินไปกราบพระประธานในโบสถ์ที่วัดใกล้นั้นเอง เราทำตามคำแนะนำ แต่แล้วเด็กน้องเยาวชนคนนั้นที่ชาวบ้านกล่าวว่า ผีเข้า ร้องกรีด...และไม่ยอมก้าวเข้าธรณีประตูโบสถ์ ดิ้นพราดๆ เพื่อนๆพยายามอุ้มเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเข้า จนเจ้าอาวาสท่านออกมาแล้วบอกว่า.... ไม่อยากเข้าก็ไม่ต้องเข้า เดี๋ยวอาตมาจะไปทำพิธีที่ค่ายเอง.... เจ้าอาวาสเป็นพระหนุ่มแต่ท่านสนใจเรื่องกรรมฐานและสิ่งเหลือเชื่อเหล่านี้ ท่านไปประกอบพิธีฝังยันต์ตรงมุมบริเวณค่ายทั้ง 4 มุม สวดคาถาอาคม เสกเป่าต่างๆ พร้อมพรมน้ำมนต์ให้ทุกคนและทั่วบริเวณค่าย  ทุกคนโล่งใจ และสบายใจขึ้นเมื่อพิธีเสร็จ  ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านต่างมาเยี่ยมมายามกัน ถามไถ่กันตามประสาชนบทที่มาให้น้ำใจ กำลังใจ และแนะนำกันต่างๆนานา

3.        ค่ายแตกเพราะเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก: คืนที่สองก้าวเข้ามาแบบหดหู่ เมื่อความมืดมาถึงทุกคนก็เกาะกลุ่มกันแน่น ต่างพยายามนอนหลับให้เร็วที่สุด  พวกเราและเจ้าหน้าที่ค่ายยังคงเป็นเพื่อนเหมือนเดิม  นั่งล้อมกองไฟ คุยกัน แต่ไม่ค่อยสนุกแล้ว...แล้วก็เกิดขึ้นอีก.....คราวนี้เสียงร้องของน้องเยาวชนสตรีคนเดิมร้องดังมาก..เพ้อ ไม่มีสติ พูดจาไม่รู้เรื่อง....(ไม่อยากบรรยาย..) 

พวกเราปรึกษาหารือกัน แล้วพยายามควบคุมสถานการณ์ให้ไม่ตื่นตระหนกมากไป  ชาวบ้านออกมาเป็นเพื่อน แล้วในที่สุดก็ตกลงว่าหากปล่อยไปเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ดี เราควบคุมไม่ได้  และเด็กก็ไม่มีสมาธิ จิตใจตระหนก อกสั่นขวัญหายกันหมด  เสนอกันว่าให้ปิดค่ายเลย..รุ่งเช้าทุกคนไปกราบลาพระอาจารย์เจ้าอาวาสวัด ลาผู้นำชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ และชาวบ้านที่มาช่วยเหลือ  แล้วเจ้าหน้าที่ก็ทำหน้าที่ควบคุมน้องๆเดินทางออกจากสะเมิงกลับบ้าน  ยกเว้นน้องคนที่ชาวบ้านกล่าวว่าผีเข้า ซึ่งเพื่อนจาก GGAT เอาตัวไปพักผ่อนที่สำนักงานในเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีที่พักสะดวกสบาย

4.        การปรากฏตัวของเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก 1 : คืนแรกที่สำนักงาน GGAT ในตัวเมืองเชียงใหม่ แม่บ้านสำนักงานมีอาการผิดปกติและในที่สุดกลายเป็นนางเทียมที่มีวิญญาณมาปรากฏ ด้วยสำเนียงพูดที่มิใช่เสียงของแม่บ้าน กล่าวว่า....พวกมึงเหยียดหยามกู..ไม่เคารพกู..พวกมึงมาส่งเสียงดัง (พวกเราร้องเพลง....)  พวกมึงมาเยี่ยวใส่หัวกู .....ฯลฯ....พวกมึงไม่รู้หรือว่ากูคือเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก.. ถ้าพวกมึงไม่ขอขมาลาโทษกู...กูจะเอาให้เจ็บหนักกว่านี้.....ฯฯลลฯฯ

เป็นที่เข้าใจแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น  ใครเป็นเหตุ ใครเป็นคนทำผิดธรรมนองคลองธรรมของพื้นบ้าน...และใครเป็นผู้มาอาละวาด สั่งสอนพวกเรา..นั่นคือเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก เจ้าที่บริเวณนั้น การถอดความหมายก็คือ พื้นที่นั้นมี เจ้าที่ ชื่อเจ้าพ่อข้อมือเหล็กดูแลอยู่  เราเข้าไปจัดค่ายโดยไม่ได้บอกเล่า เจ้าที่  แถมน้องเยาวสตรีไปอาบน้ำในลำห้วยตอนเย็น ตรงนั้นมี หอเจ้านาย ตั้งอยู่แล้วเธอ ฉี่ ออกโดยไม่ขอขมา เจ้าที่  แถมพวกพี่ๆหวังดีไปแหกปากร้องเพลงดังลั่นป่า เป็นที่รำคาญของ เจ้าที่  ท่านจึงสั่งสอนให้ซะ... .

ในที่สุดเจ้าหน้าที่ GGAT และพวกเราซึ่งถือว่าเป็นคนสมัยใหม่(ในช่วงเวลานั้นนะ..) ก็ถูกผีบ้านผีเมืองสั่งสอนเสียครั้งใหญ่  เราสอบถามพิธีการขอขมาลาโทษจากผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วก็พินอบพิเทาดำเนินการด้วยความสำนึก....แล้วก็ส่งตัวน้องเยาวสตรีกลับบ้านด้วยประสบการณ์ชีวิตครั้งใหญ่ที่ไม่ใช่เนื้อหาหลักสูตรของค่ายเยาวสตรีแม่แต่น้อย  แต่สร้างสำนึกแห่งคุณค่าของวิถีความเชื่อ และการคงอยู่ของสิ่งลี้ลับ.

5.        การปรากฏตัวของเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก 2: ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น มีหนังสือทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาเรื่องหนึ่งออกมาชื่อว่า ผีเจ้านาย เขียนโดยอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ และอาจารย์วิรดา สมสวัสดิ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาระที่ท่านอาจารย์เขียนกล่าวว่า ตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นอาณาจักรเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อของท้องถิ่นมากมาย และมีพิธีกรรมของเมืองเชียงใหม่ที่สำคัญพิธีหนึ่งคือการทำพิธี ไหว้สาแม่เสื้อเมืองทรงเมือง จัดพิธีที่ทุกประตูของกำแพงเมืองเชียงใหม่ เสื้อเมืองทรงเมือง

มีมากมายหลายท่านหลายคนที่คอยดูแล ปกปักรักษาเมืองเชียงใหม่ แต่ละท่านก็มีอาณาบริเวณขอบเขตดูแล  แบ่งปันขอบเขตเหมือนนายอำเภอปกครองพื้นที่ทำนองนั้น  มีชั้นมียศ มีศักดินา ผู้เขียนคว้ามาเล่มหนึ่งอ่านไปอย่างสนใจ  แล้วก็ปรากฏชื่อ เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก เป็นผู้ดูแลพื้นที่อำเภอสะเมิงควบมาถึงบางส่วนตำบลโป่งแยงของอำเภอแม่ริม....ใจผมเต้นตึกๆ..นี่ไปลองของสูงเข้าแล้ว....ยกมือท่วมหัว ที่ท่านแค่สั่งสอนเท่านั้นนะ.....ทุกครั้งที่ผมเดินทางเข้าพื้นที่ชนบท  เข้าป่าผมจะนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นนี้อยู่ในใจเสมอ.. 

หมายเลขบันทึก: 73836เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 01:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ไหว้สา..เจ้าป้อข้อมือเหล็ก

สวัสดีครับ 1. เจ้าหน๊อยเพชรงาม

ประเด็น: ไหว้สา..เจ้าป้อข้อมือเหล็ก

ตอบ: ยินดีที่รู้จักครับ "เจ้าหน๊อยเพชรงาม" มีอะไรแนะนำก็ยินดี จ๊าดนักครับ

ครูปูครับ สวัสดีปีใหม่ครับ

น้องแก้วครับ  สวัสดีปีใหม่ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท