เรื่องเล่าจากดงหลวง 121 ฤามีทุกข์จึงจะมีทุน (ทางสังคม)


แต่กลับมีเรื่องตรงกันข้าม พบว่าบางชุมชนมีสารพัดนามสกุล และเมื่อสืบประวัติไปแล้วต่างอพยพกันมาทั่วอีสานเกือบทุกจังหวัด เพราะมาหาที่ทำกินใหม่ กลายเป็นชุมชนใหม่ และกิจกรรมในชุมชนกลับเข้มแข็ง คึกคัก ยึดมั่นในประเพณีของท้องถิ่น เมื่อสอบถามว่าแปลกใจจังเลย ทำไมมาจากต่างจังหวัดต่างถิ่นแต่มารามตัวกันเหนียวแน่นจังเลย...

มือปืนคนหนึ่งรับจ้างให้ไปฆ่าชายคนหนึ่ง เมื่อชี้เป้าแล้ว มือปืนพยายามหาทางเข้าไปประกบ บังเอิญทราบว่าเป้าหมายนั้นเป็นคนในครอบครัวที่เคยได้อาศัยกินข้าวกินน้ำ มือปืนคนนั้นก็บอกเลิกสัญญาจ้างฆ่า เพราะสำนึกในพระคุณที่เคยได้รับจากผู้หลักผู้ใหญ่ของครอบครัวนั้น... 

งานศพ หรืองานแต่งานบ้านนอกนั้น แค่ส่งเสียงดังๆตามเครื่องขยายเสียง หัวบ้านท้ายบ้านก็รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ..แล้วก็นั่งอยู่บ้านไม่ได้ขาต้องพาตัวเดินลงบันไดไปที่บ้านนั้นเพื่อร่วมงานโดยไม่ต้องส่งการ์ดเชิญ โดยไม่ต้องเดินทางไปเชิญ แถมมีของติดไม้ติดมือไปช่วยงานด้วย 

นายฮ้อยทางอีสาน คือคนที่มีอาชีพค้าวัวควายในชนบท ในอดีตนั้นเขาจะไปกว้านซื้อ วัว ควายมาจากถิ่นต่างๆ เมื่อรวบรวมได้จำนวนมากนับพันตัวก็ยกกองคาราวานเดินทางเอาไปขายในภาคกลางและตะวันออก นายฮ้อยมีความยิ่งใหญ่เหมือนแม่ทัพที่คุมกองทัพวัว ควาย พร้อมลูกน้องนับสิบคน ที่คอยคุมควายตามหมวดหมู่ให้อยู่ครบ  การที่นายฮ้อยออกไปตระเวนซื้อควายมาสะสมจนมากพอนั้น นายฮ้อยใหญ่จะสืบว่าท้องถิ่นไหนมีนายฮ้อยอยู่บ้าง  หากรู้จะเดินทางไปหา ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เมื่อมีอาชีพนายฮ้อยเหมือนกัน ก็รักใคร่ สนิทสนมกันเหมือนญาติ หรือ เสี่ยว  เอาวัวควายไปก่อนได้เลย ไม่ต้องจ่ายเงินก่อน ขายได้เมื่อใดก็ค่อยเอาเงินมาคืน  เพราะเชี่อใจกัน และไม่เคยผิดหวัง ต่างฝ่ายต่างอิงอาศัยซึ่งกันและกัน 

เราเคยเห็นการลงแขกไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว หรือปลูกบ้าน สร้างบ้านกันในชนบท ไม่ต้องจ้างเป็นเงินเป็นทอง ต่างก็พกเครื่องมือช่างส่วนตัวมาช่วยโดยเต็มใจ   

เมื่อเด็กๆที่บ้านผู้เขียน จำได้ว่าพ่อไป กั้นปลา (กั้นปลาคือการเอาเรือออกพายเลาะชายฝั่งมีคนยืนอยู่หัวเรือเอาไฟฉายส่องตามชายน้ำข้างตลิ่งดูว่ามีปลาช่อนลอยหัวมาให้เห็นหรือไม่ หากมี เห็นก็จะเอาฉมวกที่เตรียมไปแทงโดยชำนาญเมื่อได้ปลาช่อนก็เอามาเก็บไว้ท้องเรือ) ซี่งจะเป็นปลาช่อน ต้องกั้นปลาช่วงกลางคืนเงียบๆ คราวใดที่ได้ปลามามากก็จะแบ่งให้บ้านญาติ บ้านผู้มีพระคุณ หรือผู้ที่น่าเห็นอกเห็นใจในหมู่บ้าน เช่น คนแก่เฒ่าไม่มีญาติ หรือคนยากจนที่เป็นคนดี โดยไม่ต้องซื้อหากัน 

สิ่งดังกล่าวนั้นคือสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกันของสังคมไทยในอดีต ที่เรา เรียกว่าแรงเกาะเกี่ยวกันทางสังคม หรือ ทุนทางสังคม   สังคมแบบนี้จึงทำงานใหญ่ต่างๆได้โดยใช้งบประมาณไม่มาก เพราะทุกคนมีใจมาให้กัน 

สิ่งเหล่านี้คือวิถีของสังคมไทยในอดีตและกำลังเสื่อมคลายหายไปเมื่อสังคมเงินตรา สังคมบริโภคแบบเมืองเข้ามามากขึ้น   

สมัยนี้... 

สำนึกบุญคุณโทษหดหายไป...

ออกการ์ดเชิญยังไม่ไปงานพิธีต่างๆเลย...

ความเชื่อมั่นใจกันจางจืดไปเกือบหมดสิ้นแล้ว..

การเอามื้อเอาแรงกันเสื่อมหายไป..

การแบ่งปันกันน้อยลง.... 

แรงเกาะเกี่ยวทางสังคมลดน้อยลงไป ผลประโยชน์(มูลค่า) สูงเด่นขึ้นมาแทนที่ คุณค่า ก็ลดลง การทำงานปลุกจิตสำนึกจึงเป็นเรื่องที่มิใช่สร้างเพียงกระบวนการ 3 วัน 5 วันแล้วจะบรรลุสมมาตรปรารถนา  และที่คิดว่าบางท่านมีสำนึกขึ้นแล้ว อีกไม่กี่วันก็ล่องลอยไปกับสายลมหมดสิ้นแล้ว  ความซับซ้อนของจิตใจคน ความซับซ้อนของการเป็นอยู่ในสังคม เพียงแค่เอาตัวรอดให้มีกินมีใช้คล่องๆตัวก็เอามือก่ายหน้าผากแล้ว   

เจ้ามูลค่านั้นรุกรานเข้าไปถึงระดับเครือญาติในชุมชน เข้าไปจนถึงครัวเรือน ความเป็นพี่น้องต้องร้าวฉานลงเพราะต่างแย่งมรดกพ่อแม่ ต่างอ้างสิทธิต่างๆนานา  

ผู้บันทึกพบว่าหลายชุมชนมีนามสกุลเดียวกันทั้งหมด ยกเว้นเขยที่แต่งเข้ามาเพิ่ม 80-90 % เป็นคนนามสกุลเดียวกัน แต่แรงเกาะเกี่ยวลดลง  ผลประโยชน์มีมากขึ้น หรือถูกหยิบยกและเป็นประเด็นของความขัดแย้งมากขึ้นทั้งระดับเล็กน้อยจนไปถึงเรื่องใหญ่โตถึงโรงถึงศาล 

แต่กลับมีเรื่องตรงกันข้าม พบว่าบางชุมชนมีสารพัดนามสกุล และเมื่อสืบประวัติไปแล้วต่างอพยพกันมาทั่วอีสานเกือบทุกจังหวัด เพราะมาหาที่ทำกินใหม่ กลายเป็นชุมชนใหม่ และกิจกรรมในชุมชนกลับเข้มแข็ง คึกคัก ยึดมั่นในประเพณีของท้องถิ่น 

เมื่อสอบถามว่าแปลกใจจังเลย ทำไมมาจากต่างจังหวัดต่างถิ่นแต่มารามตัวกันเหนียวแน่นจังเลย...  

คำตอบที่ได้รับคือ..

ก็ต่างคนต่างหนีทุกข์มากันทั้งนั้น ทุกข์ร่วมกันแล้วหากไม่เกาะกลุ่มกันไว้แล้วจะอพยพไปกันที่ไหนอีก ไม่มีที่ ไม่มีทาง จะให้ไปบุกเบิกใหม่อีกแล้ว... 

หรือว่าสังคมเราจะต้องทุกข์สาหัสเสียก่อนจึงหันหน้าเข้ามาเกาะเกี่ยวกันมากขึ้น..

หมายเลขบันทึก: 105579เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2007 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีครับพี่บางทราย

ถ้าคนเราเห็นภาพกว้างๆของธรรมชาติได้ก็จะลดเรื่องของเงินทองของนอกกายได้...จริงๆแล้วโลกใบนี้มันล่องลอยอยู่ในจักรวาลอย่างโดดเดี่ยวนะครับ....Lonely Planet..คิดได้แล้วน่าจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น.....

โอชกร

ก็ต่างคนต่างหนีทุกข์มากันทั้งนั้น ทุกข์ร่วมกันแล้วหากไม่เกาะกลุ่มกันไว้แล้วจะอพยพไปกันที่ไหนอีก ไม่มีที่ ไม่มีทาง จะให้ไปบุกเบิกใหม่อีกแล้ว... 

หรือว่าสังคมเราจะต้องทุกข์สาหัสเสียก่อนจึงหันหน้าเข้ามาเกาะเกี่ยวกันมากขึ้น..

 

สวัสดีค่ะคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)  

อ่านเรื่องในอดีตแล้วก็รู้สึกชื่นใจค่ะ คนมีความสัมพันธ์และมีความเชื่อถือ พึ่งพาซึ่งกันและกันมากกว่าตอนนี้เยอะ.. คงเป็นเพราะที่ผ่านมาเราเลือกเดินทางสู่ความเจริญทางวัตถุ ให้คุณค่าวัตถุมากกว่าคน จนวัตถุกลายเป็นเครื่องกั้นความสัมพันธ์ที่เคยมีอยู่เดิมไป....จนกว่าจะรู้พิษของวัตถุ หนีทุกข์มา ไม่มีที่ไปกันอีกแล้ว ถึงจะรวมกันอยู่ได้อีกครั้ง... แปลก(แต่จริง)ดีนะคะ

เมื่อครู่เพิ่งฟังข่าวเขาสรุปว่าเดิมประเทศไทยมีคนอยู่ในภาคเกษตรร้อยละ ๘๐ ปัจจุบันเหลือร้อยละ ๒๐...ความเจริญทางวัตถุมาเร็วจนคนตามไม่ทันเลยนะคะ..

บางทีเงื่อนไขการเกาะเกี่ยวกันก็มีหลากหลาย เครือข่ายทางสังคมที่เป็นธรรมชาติ ยั่งยืน และเป็นเรื่องราวของคนที่มาสานสัมพันธ์กันจริงๆ

ในมุมของนักพัฒนา ผมมองว่าหากเราจะทำเครือข่าย หรือสร้างกลุ่ม ขึ้นมา กลุ่มเครือข่ายทางสังคมเดิมนี่น่าสนใจมาก เป็นเป้าหมายที่ไม่ยาก เพียงแต่นักพัฒนาเข้าใจ อธิบายและทำกระบวนการต่อเนื่อง

ปรากฏากรฃาร์ที่พี่เล่ามาน่าสนใจ สำหรับคนทำงานชุมชน เชื่อว่านักวิชาการที่ไม่เคยทำงานชุมชน หรือสัมผัสชุมชนผิวเผินจะไม่เข้าใจและอธิบายค่อนข้างยาก

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

มากราบขอบคุณของขวัญ " ตลาดชุมชน "..ที่พี่ชายคนนี้ส่งมาให้ ได้รับแล้วค่ะเมื่อวานและนอนอ่านจนจบด้วยความสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง..มีประโยชน์มากๆค่ะ..แล้วจะหาทางประยุกต์ใช้นะคะ  ส่วนชาผักหวานป่าที่พี่บางทรายส่งมาให้ปาป๊าชอบมากเลยค่ะ บอกว่าไม่ขมเหมือนชาจีน...ตอนนี้ดื่มทุกวันเลย อิ อิ

แรงเกาะเกี่ยวในแนวราบที่พี่บางทรายพูดถึง เป็นสิ่งที่ทั้งหายไปและเกิดขึ้นใหม่ได้โดยขึ้นกับบริบทที่แตกต่างกัน วนเวียนเหมือนวัฏฏะเลยนะคะ เกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และดับไป...และความทุกข์ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพราะเกิดความรู้สึกร่วมกันเป็น universal ...เหมือนทำกลุ่มบำบัดทางจิตวิทยาเลยค่ะ ตามกฎของ yalom เปี๊ยบเลย...ได้แนวไปทำอีกแล้ว อิ อิ

ขอบคุณมากๆค่ะสำหรับความน่ารักสุดๆของพี่ชายคนนี้ ขอบคุณมากเลยค่ะ

สวัสดีคะคุณบางทราย

       แรงเกาะเกี่ยวจากหน่วยเล็กๆ จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ของชุมชน ขอเพียงแค่ได้เริ่มต้น ก็จะมีโอกาสก้าวไปถึงจุดหมายปลายทางที่หวังไว้ ถ้าคนเราร่วมแบ่งปันน้ำใจไม่นึกถึงอำนาจเงินตรา น่าจะเป็นสิ่งที่ดีคะ

สวัสดีครับน้อง
P

มุมมองเรื่อง Lonely Planet เป็นที่สนใจของพี่อยู่พอดี เพราะติดตามเรื่องดาราศาสตร์อยู่ประจำ แม้มิใช่ถึงขนาดแฟนคลับ  แต่ก็ทำให้เราได้ความรู้สึกใหม่ๆเกี่ยวกับ จักวาล ดวงดาวดต่างๆ โลก สิ่งมีชีวิตบนโลก มนุษย์ สังคมมนุษย์ การอยู่ร่วมกัน จิตใจและอื่นๆ และเป็นความรู้สึกที่ดีต่อชีวิต และสังคมด้วย ยังนึกเสมอว่า หากใครเข้ารมาอยู่ในสำนึกแบบนี้แล้วเขาจะคิดอย่างไรหนา เขาจะดำลงชีวิตในโลกนี้ต่อไปอย่างไรหนา...สักวันจะลองสะท้อนมุมมองนี้ดูบ้างครับ

ขอบคุณที่สกิดประเด็นที่สนใจนี้มาให้ฟูเฟื่องอีกครับ

สวัสดีครับอาจารย์

P
  • ใช่แล้วครับเรื่อง  ประเทศไทยมีคนอยู่ในภาคเกษตรร้อยละ ๘๐ ปัจจุบันเหลือร้อยละ ๒๐... 
  • อะไรจะตามมาบ้างหนอเมื่อสังคมเปลี่ยนไปเช่นนั้น..
  • ที่คลุกคลีอยู่ก็เห็นหลายอย่าง..หากประเทศคือร่างกายหนึ่ง ชนบทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งชนบทกำลังเพาะเชื้อโรคบางอย่างอยู่และจะแสดงอาการเป็นโรคขึ้นในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า
  • เรา ผู้เป็นคนทำงานชนบท กำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แต่ก็ช้าและ จิ๊บจ๊อยเกินไปในสายตาหลายๆคน
  • ตราบใดที่ทุกวงการไม่สนใจและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ในอนาคตแล้วละก้อ ท่านที่เสวยสุขอยู่ด้วยเครื่องอุปโภค บริโภคที่สุขสบายรอบตัวนั้น อาจจะไม่สุขอย่างที่ฝันไว้ก็ได้
  • หากประเทศคือร่างกายดังกล่าว เทรนด์ของความสนใจประเทศไปอยู่ที่การส่งออก การเอาเงินเข้าประเทศมากเกินไป ไม่สมดุลกับการหันกลับมามองภายใน คือชาวบ้าน ชนบท ตรงข้างปล่อยปละละเลย และยังเทน้ำหวานลงสู่ชนบทเพียงเขาชื่นชอบความอร่อย (กองทุนเงิน..) แต่ความหวานนั้นคือตัวก่อเกิดโรคเบาหวานที่จะเกาะกินร่างกายไปนานเท่านาน ต้องตามแก้ปัญหากันอีกนานเท่าไหร่
  • ผมไม่รังเกียจการส่งออก การเอาเงินเข้าประเทศ แต่รัฐควรที่จะให้ความสมดุลในการยกระดับชนบทด้วย เพราะการเมืองคืออำนาจ และอำนาจคือทุกอย่าง แต่การเมืองที่ action นั้นเป็นของคนกลุ่มหนึ่งที่มักเป็นผู้มีเงินตรา หรือเป็นผู้ที่สนิทสนมกับเงินตรา ตรงข้ามกลับห่างเหินชนบท  แต่ปัญหาประเทศไม่ใช่อยู่ที่การส่งออกเพียงอย่างเดียว อยู่ที่ภาคชนบทด้วย และมากด้วย
  • อาจารย์ยกประเด็นนี้มาเลยร่ายยาวเลย..อิ อิ
  • ผมเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งแล้วครับ และกำลังรอว่านักวิชาการด้านสังคม เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯ จะหยิบประเด็นนี้มาวิเคราะห์อนาคตบ้านเมืองเราอย่างไรบ้าง  หากอาจารย์ได้ยินได้ฟังที่ไหน เผื่อผมพลาดก็เอามาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
สวัสดีครับน้องเอก
P

แนวมุมมองที่เรียกว่า "คนใน" นั้นยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของนักพัฒนาและนักวิชาการ นักบริหารประเทศ ก้อย่างที่เราพูดกันบ่อยๆว่า "สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด"  สิ่งที่เราได้ยิน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราสรุปก็ได้"  การมีมุมมองอย่างคนใน จึงเป็นสิ่งจำเป็น  แม้เราเองหลายครั้งเราก็สรุปผิด หรือถูกไม่หมด ประสาอะไรกับคนนอก นักบริหาร หัวหน้างาน ที่เห็นชุมชนเพียงรายงานที่เจ้าหน้าที่รายงานส่งไปให้เท่านั้น

เราจึงมีหน้าที่สะท้อนข้อเท็จจริงมุมนี้ออกไปบ้างเท่าที่มีโอกาสครับ

 

สวัสดีครับน้อง
P
  • จากการทำตลาดชุมชนมาในพื้นีท่มีเรื่องน่าสนใจมากมายที่เกี่ยวข้องกับหลายๆอย่างเช่น การจัดการ นิสัยคน การคิดการอ่านของคน อานาจ ความขัดแย้ง การประสานงาน การเกิดขึ้นของหน่ออ่อนที่น่ารัก อย่างน้องทิว..ฯลฯ และที่สำคัญ หลักการมันดีต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งตนเอง เพียงแต่ว่าเราจะปรึกษาหารือกับชาวบ้านว่าความเหมาะสมของเราอยู่ที่ตรงไหน.. 
  • การทำงานชุมชนต้องการวิชาการมากพอสมควร แบบเปรียบเทียบกันว่าทางวาการว่าอย่างไร สิ่งที่เราพบ เห็นเป็นอย่างไรและจะเป็นอย่างไรต่อไป ตรงนี้เองมีส่วนสำคัญที่ท้าทายเราและกระตุ้นให้เราไม่เบื่อหน่ายต่อปัญหาที่เราฟังจากปากชาวบ้านจนหูเกือบพิการไปหมดแล้ว
  • จิตวิทยากับชุมชนก็น่าสนใจเพราะความคิดความอ่านของคนมิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มีที่มาที่ไป หากให้หลักจิตวิทยาเข้ามาปรับใช้ก็น่าที่จะเสริมสร้างกระบวนการต่างๆได้ดี มีคุณภาพ ประสิทธิภาพมากขึ้นทั๊ง  แหมอยากให้น้องเบิร์ดมาบรรยายให้นักพัฒนาฟังบ้างจริงๆเลย  แบบเดี่ยวไมโครโฟนแบบมีสาระน่ะครับ
สวัสดีครับน้อง
P
  • ใช่แล้วครับน้อง..นารี
  • ของเดิมเดิมของเรามีดีอยู่แล้ว แต่มาวันหนึ่งเราไปหลงไหลของใหม่ ทิ้งของเก่า แล้วจะมานั่งน้ำตาตก
  • เราไม่ปฏิเสธของใหม่ก็มีดีดีมากมาย แต่น่าที่จะมีเครื่องกรอง เอาสิ่งไม่ดีออกไปด้วย คัดเอาเฉพาะของดีนะ ที่เราเรียกว่าภูมิคุ้มกัน
  • เรามุ่งสร้างสิ่งเหล่านี้เหมือนเด็กก่อกองทราย กำลังสร้างประสาททรายสวยๆ จู่ๆนำทะเลก็ซัดมาโดยกองทราย พังพาบหมดเลย กระแสฮิบฮอบ กระแสเรนน์ กระแสNokia มันแรงมากจริงๆ กระชากใจเยาวชนออกไปจากร่างหมดแล้ว ที่เหลืออยู่คือร่างกายเดินได้เท่านั้น จิตใจไปอยู่กับเขาหมด

 

ได้อ่านบันทึกนี้ของพี่บางทรายแล้วได้ใจมากครับ

สิ่งต่าง ๆ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย บางครั้งถ้าติดยึดมากเกินไปใจเราก็จะเป็นทุกข์เสียเอง

 

สวัสดีครับ

ครับผม  คุณภูคา

เรายอมรับการเปลี่ยนแปลง แต่ควรจะเปลี่นแปลงอย่างเหมาะสม มีคุณค่าในตัวมันเองมากกว่าไหลไปอย่างไม่มีสติ เราก็บ่นไป และช่วยกันน่ะครับ

ขอบคุณครับ

แวะมาทักทายด้วยความคิดถึงค่ะ

 

น้องสาว

(ลูกช้าง มช.)

สวัสดีครับน้องสาว
P
ช่วงนี้พี่ยุ่งอยู่กับรายงานไม่มีเวลามา Post เลยครับ คิดถึงน้องน้องเช่นกัน ขอบคุณที่แวะมานะครับ
พี่บางทราย

สวัสดีค่ะพี่ไพศาล ระยะนี้คนทำงานรู้สึกจะยุ่งมากๆกันทุกคน คงเกี่ยวกับการวางแผนงานและงบประมาณที่จะสิ้นสุดปีงบประมาณในอีกไม่กี่เดือนนี้ คนไม่ได้ทำงานประจำเลยรู้สึกเงียบๆไปด้วย ไม่ค่อยได้พบเพื่อนฝูง พี่น้องที่ทำงาน

เรื่องที่พี่เล่าทำให้นึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ คือ อริยสัจ ๔ คนเราต้องเห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์จึงจะหาทางพ้นทุกข์ได้ โชคร้ายที่หลายคนเรียนรู้ด้วยการผ่านทุกข์ลำเค็ญจนเอาชีวิตแทบไม่รอดกว่าจะพบทาง

เมื่อวานชงชาผักหวานป่าที่ได้รับ ยังระลึกถึงทั้งผู้ทำและผู้ให้ด้วยความขอบคุณยิ่งค่ะ

สวัสดีครับน้อง

P
มี 2 ประการที่ไม่ค่อยมีเวลามา G2K คือ ต้องรับผิดชอบการศึกษาข้อมูลชุมชนและจัดทำรายงาน และการเตรียมตัวไปเวียตนามซึ่งทางบริษัทที่ปรึกษาที่พี่สังกัดอยู่เสนองานให้ทำที่นั่น เลยต้องเตรียมตัวมาก
เรื่องที่จะ Post มีมากมาย แต่เวลาที่จะเหมาะสำหรับการเขียนนั้นมีน้อยไป ทำได้เพียง เข้ามาตอบท่านที่เข้ามาเยี่ยมครับ
คิดถึงคุณนายเหมือนกันครับ ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท