ช่วยกันปลดปล่อยเด็กไทยจาก...กรอบ..กันเถอะค่ะ


คุณพ่อคุณแม่คือกุญแจสำคัญ....อย่าให้ค่านิยมของสังคมมาทำร้ายลูกๆของเราเลย

อ่านบันทึกคุณศิริเรื่องที่ว่า ทำไมตอนเรียนไม่เห็นอยากรู้ กับบันทึกอ.ปารมีที่คุณลูกสาวคนคิดเก่ง สะท้อนมุมมองของเด็กออกมาแล้ว รวมกับการที่ได้พูดคุยกับพี่วั้น เรื่องเพื่อนกับพ่อแม่และการสอบในวันนี้แล้ว ทำให้อยากเขียนบันทึกนี้ฝากมาถึงคุณพ่อคุณแม่ของเด็กไทยวันนี้ทุกๆท่าน ว่าช่วยกัน...ปลดปล่อยสมองของลูกๆเราจากกรอบที่ระบบการศึกษาใส่ให้พวกเขากันเถิดค่ะ

ทำได้ยังไง....ยากค่ะ....เพราะเรา"ชิน"กับมันเสียแล้ว เราลืมคิดไปแล้วว่า เราเองก็โดนกรอบนี้บีบมาเหมือนกัน จนพวกเรา"ถูกทำให้คิด"แบบเดียวกัน ต้องให้ตั้งหน้าตั้งตาเรียน (ท่องตำรา เรียนพิเศษ อ่านหนังสือเรียน) เรียนให้ดีๆจะได้มีงานดีๆ (ใช้สมอง มีหน้ามีตาในสังคม ทำเงินได้เยอะๆ) เรียนๆท่องๆสิ่งที่ต้องสอบ อยากหรือไม่อยาก ใช้หรือไม่ใช้ รู้หรือไม่รู้จริง สงสัยหรือไม่สงสัย ก็ต้องทำทำไปตามที่"ใครๆก็ทำ" กันทั้งนั้น ทำให้...เราไม่เห็นอยากรู้ ไม่เห็นอยากคิด แค่จำก็ไม่หวาดไม่ไหวแล้ว....ใช่ไหมคะ

ถึงจะชักชวน ก็ไม่คิดว่าทำได้ทันทีหรอกค่ะ อาจจะได้ในคนที่ยังมีลูกเล็กๆ เพราะทางเดินยังอีกยาวไกล เด็กยังไม่ถูกตีกรอบให้หยุดคิด จินตนาการ แต่สำหรับเด็กโตหน่อย ทำได้โดยปล่อยให้ เด็กคิดเองบ้าง ฟังความคิดของเขา ให้โอกาสลูกได้พูดให้เราฟังบ้าง ใช้ Appreciate Inquiry กับลูกให้มากที่สุด 
                    เลิก...หรือถ้ายากนัก ก็แค่...ลด..การบีบบังคับให้ลูกเรียน การบ่นว่า สั่งสอน (ที่ทำซ้ำมานานแล้ว ลูกก็คงไม่ฟังแล้ว....ได้ยินเฉยๆ) การคาดหวังว่าลูกจะต้องสอบให้ได้คะแนนดีๆ
                   เปลี่ยนมาเป็นชื่นชมสิ่งที่ลูกทำได้ดี ช่วยกันดูสิ่งที่ทำได้แย่ลงว่าจะให้พ่อแม่ช่วยยังไงไหม ถามลูกซิว่า เหนื่อยไหม เบื่อไหม อยากบอกอะไรพ่อแม่ไหม สัญญากับลูกว่า จะไม่พูดจนกว่าลูกจะพูดจบ
                     ลองดูสิคะ....ว่าจะเกิดอะไรขึ้น....อ่านตำรามาแล้วว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่เอาหัวใจที่รักลูกเป็นตัวตั้งในการเปลี่ยนนี้...จะได้เห็นผลค่ะ

ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายค่ะ ตัวเองทำแล้ว...เห็นว่า...ดีค่ะ ลูกมีความสุข...รักที่จะเรียน รักที่จะรู้ รักที่จะคิด ลูกไม่ได้ทำทุกอย่างถูกต้องดีงามตลอด ลูกไม่ได้ดีวิเศษ แต่ลูกรู้ว่า เขาจะเรียนรู้ได้เสมอ จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำ เขาไม่ต้องเก่งที่สุด เขาไม่ต้องถูกตลอดเวลา เขาไม่ต้องอ่านแต่ตำราเรียน เขาได้เป็นตัวของเขาเอง....อย่างที่อยากจะเป็น เขาเคารพตัวเอง เขาคิดเองว่าอะไรดี ไม่ดี เขารู้ว่าเขาคุยกับเราได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเขาจะผิดหรือถูก เขารู้ว่าเราจะบอกเมื่อเขาทำไม่ดี เราจะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่สุดกับเขาเสมอ  

ชีวิตนี้สั้นนักค่ะ เราทำให้เขาเกิดมาแล้ว เราควรให้จิตวิญญาณกับเขา ให้เขาได้เป็นตัวเขาเอง ชีวิตเขาเป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา ปล่อยความคิดของเด็กๆให้เป็นอิสระกันเถิด เรามีหน้าที่เพียงช่วยกันเป็นแบบอย่างที่ดีและชี้แนะแนวทางที่ถูกที่ควรให้เขาเท่านั้นเอง

นี่ถึงจะเป็นของขวัญวันเด็กที่เด็กๆทุกคนควรได้รับค่ะ

หมายเลขบันทึก: 72514เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2007 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ผมชอบที่คาลิล ยิบราน เขียนไว้ความหมายเดียวกัน แต่ก็จำไม่ได้เสียแล้ว

...ครับ..เราเป็นเพียงผู้ให้กำเนิด  แต่เราไม่สามารถให้เขาเป็นดังที่เราคิดได้...

แต่เด็กที่จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม...ย่อมต้องการคำปรึกษาที่ดี....และมีเสรีภาพในทางความคิดที่จะเรียนรู้จังหวะชีวิตของตนเองตามห้วงทำนองที่เด็กพึงปรารถนา

.....

 

เคยรำพึงกับรูมเมทที่นอนห้องเดียวกันมา 20กว่า ปีว่า

เอ เด็กๆนี่นะ เล็กๆ เขาก็เป็นของเรา โตมาเขาก็เป็นของตัวเขา แล้ววันหนึ่งเขาก็เป็นตัวเขาโดยสมบูรณ์

เขาตอบมาว่า แม่มันนี่นา

ลูก มันก็เป็นตัวมันเองแต่เกิดแล้ว

 

เออใช่เนาะ เรายังยึด ตัวกูของกูอยู่เลย

รวิวรรณ

 

เคยเอามาเขียนในบันทึกเหมือนกันค่ะ คุณแผ่นดิน สำหรับบทกวีบทนั้นของคาริล ยิบราน (แต่หาไม่เจอว่าบันทึกไหน...หลายบล็อกเกินไปหน่อย...) ไว้เจอแล้วจะมาทำ link เพิ่มค่ะ ขอบคุณที่เตือนนะคะ

คุณหมอหน่อยคะ ชอบความเห็นทุกคำเลยค่ะ เริ่มตั้งแต่ "รูมเมทที่นอนห้องเดียวกันมา 20กว่า ปี" มาเลยค่ะ อ่านแล้ว ต้อง"คิด" จริงๆ (คิดแล้วก็อมยิ้ม)เยี่ยมค่ะ....ช้อบ ชอบ

ลูกคือ "บ่วง" พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้มากกว่า 2พัน 5ร้อยปี..

บ่วง...ไม่ใช่สิ่งที่ตันไม่มีทางออก..

บ่วง...มีความเฉพาะตัว..แต่ละบ่วง..

ใครมีลูกคนเดียว..เรียนรู้บ่วงเดียว..(แต่เรียนรู้บ่วงคนอื่นได้โดยไม่ต้องมีหลายคน)

แต่ในฐานะ คุณแม่ลูกแฝด 3 และไม่แฝดอีก 1...อยากบอกว่า

มีสิ่งจริง..ที่บอกความจริงที่แตกต่างมากมาย..ในลูกๆ..มากกว่าที่หนังสือการเลี้ยงดูลูกบอกว่านี่เป็นสิ่งจริง..แต่มันไม่ใช่ความจริงอย่างหนังสือก็มาก.

ที่สำคัญความจริงคือ...ลูกสอนให้เรารู้ความจริงมากกมาย...ไม่ใช่สิ่งจริงที่คิดว่าเราต้องสอนลูก..อบรมลูก..เขาเป็นครูเรา.เท่าๆกับเราเป็นครูเขา..พลัดกันเป็นมากกว่าหรือน้อยกว่าในบางเรื่อง..

  • ยังไม่มีลูกแต่เข้ามาอ่านนะครับ

ตนเองไม่มีลูก ไม่มีโอกาสเป็นพ่อแม่คน จึงขออนุญาตมองผ่านมุมของคนเป็นลูก ซึ่งเคยมีประสบการณ์มาด้วยตนเองมากกว่านะคะ

มีความคิดว่า.. ช่วงชีวิตวัยเรียนนั้น คนที่มีบทบาทในการสร้างกรอบให้กับเด็กมากที่สุด คือโรงเรียนค่ะ  ได้แก่ครู ระบบการเรียนการสอน และเพื่อนๆในห้องเรียน

สมัยนี้ไม่แน่ใจ ว่าพ่อแม่วางแผนชีวิตให้ลูกกันทุกคนรึเปล่า แต่คิดว่าคงเป็นบางคนล่ะ ที่วางเส้นทางเดินไว้แบบตายตัวเลยเช่น  ลูกต้องเรียนที่ไหน จบแล้วจะให้สอบเข้าที่ไหน จะให้เรียนอะไรต่อ และทำงานเป็นอะไร แต่ส่วนใหญ่อาจจะวางแผนไว้บ้าง แต่แบบหลวมๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ ตามความสถานการณ์

เท่าที่คุยกับน้องๆหลายคนในอินเตอร์เนต ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็ให้อิสระ ที่ลูกจะเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ (แต่ก็มีบางส่วนที่ พอเลือกแล้วขอให้เอาไปให้พ่อแม่พิจารณาเพื่ออนุมัติก่อน) คนที่ถูกจ้ำจี้จ้ำไช มักจะเป็นคนที่เรียนมีปัญหาเสียมากกว่า เช่น การเรียนตกต่ำ ขี้เกียจ ไม่ค่อยทำการบ้าน เกเร หนีเที่ยว ติดเกม ฯลฯ


จำได้สมัยเด็กๆ พ่อกับแม่ (ท่านอยู่ในวงการครูทั้งคู่) ท่านไม่ได้บังคับเลย ว่าลูกๆต้องเรียนอะไร เรียนอย่างไร เพียงแต่สิ่งที่ท่านปลูกสร้างไว้กับพวกเรา คือ ความเป็นระเบียบวินัย และการรับผิดชอบในตนเอง ทั้งงานในบ้าน ได้แก่การแบ่งงานกันทำภายในบ้าน ตลอดไปจนถึงเรื่องของการเงิน ที่แม่จะให้เงินค่าขนมเป็นเดือน ตั้งแต่อยู่ประถมปลาย เพื่อให้รู้จักรับผิดชอบในการใช้เงินและการเก็บออม การวางวินัยและความรับผิดชอบให้กับชีวิตมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้พวกเรารับผิดชอบตัวเองในเรื่องเรียนไปโดยอัตโนมัติ

ลูกจะตัดสินใจเองว่าวิชาไหน ลูกจะเรียนพิเศษหรือไม่เรียน จะอ่านหนังสือเตรียมสอบอย่างไร พ่อแม่แค่ถาม แต่ไม่เคยต้องเตือน  แต่สิ่งที่โดนเตือน กลับเป็นเรื่องที่อ่านหนังสือมากไป พักผ่อนน้อย นอนดึก..ถูกเตือนให้เข้านอนได้แล้วตรงนั้นมากกว่า

เมื่อใดที่ลูกประสบความสำเร็จ ผลการเรียนออกมาได้ดี พ่อแม่แสดงความภาคถูมิใจ แม้ว่าลูกจะต้องการ แต่บางครั้งมันก็เหมือนดาบสองคม เพราะมันก็จะกลับกลายเป็นสิ่งกดดันใส่ลูก  เพราะเมื่อลูกทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ลูกก็ต้องพยายามให้ดียิ่งขึ้นในคราวต่อไป เพื่อทำให้ดียิ่งขึ้น หรืออย่างน้อยไม่ drop ลงจากเดิม เพราะเกรงว่าจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง (ทั้งที่เมื่อลูกเรียน drop ลง พ่อแม่ก็ไม่เคยตำหนิ แต่ลูกต่างหากที่ตำหนิตัวเอง)

ดังนั้นลูกคนที่เรียนได้ผลการเรียนดี เด็กจะเกิดความกดดันเอง ตรงกันข้ามกับลูกคนที่เรียนสบายๆมาตั้งแต่ต้น

แต่โรงเรียน ระบบการเรียนการสอน ตลอดจนเพื่อน มีผลต่อความกดดันสำหรับเด็กลูกมากๆ  โรงเรียนที่มีชื่อเสียงมักกดดันให้เด็กต้องมีผลการเรียนดี คนไหนที่ไม่ตั้งใจเรียน ครูก็จะฟ้องมาทางบ้านให้พ่อกับแม่ดูแลลูกเรื่องเรียนที่บ้าน ซึ่งก็เหมือนกับการกดดันมาทางพ่อแม่อีกต่อหนึ่ง

ระบบการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือความพร้อมของเด็กก็เหมือนกัน ก็ทำให้เด็กเกิความเครียด  ยิ่งการอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูง เพื่อนคนนั้นฝันอยากจะเรียนนั่น คนนั้นอย่างจะเรียนนี่ มีการฝังความคิดและค่านิยมในอาชีพต่างๆเอาไว้ ว่าเรียนอย่างนั้นหรู อย่างนี้ดัง อย่างโน้นรวย

เห็นเพื่อนเรียนพิเศษ..เด็กก็กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน จึงมาขอพ่อแม่เรียนด้วย  เพราะว่าถ้าไม่เรียน พอมาเรียนในห้อง ครูจะสอนนำหน้าไป เพราะคิดว่าเด็กรู้กันแล้ว ทำให้คนไม่ได้เรียนพิเศษเรียนไม่ทัน.. เรื่องแบบนี้เจอเยอะมากเลย สมัยนี้ไม่ทราบยังมีอีกไหม แต่ว่า.. สมัยที่ตนเองยังเป็นนักเรียนอยู่.. มีเยอะมากค่ะ

ด้วยเหตุนี้.. จึงมีความคิดว่า กรอบนั้นถูกขีดไว้ให้เด็ก หนาแน่นมากที่สุด มักจะมาจากโรงเรียน จากเพื่อนๆทั้งหลายมากกว่า.. แต่ถ้าเด็กคนไหน..พอกลับมาบ้าน ยังถูกพ่อแม่ที่บ้านขีดกรอบให้อีก.. ก็ช่างเป็นเด็กที่น่าสงสารมากจริงๆค่ะ

^__^

 

 

ขอโทษค่ะ..

แปลกจัง ทำไม มันดับเบิ้ลยังงั้นล่ะ T_T
พี่โอ๋คะ.. รบกวนช่วยลบให้หน่อย ขอบคุณค่ะ

ลุงเอกสบายมากเลยเรื่องนี้ เพราะสมองทึบ ปัญญาน้อยเลยไม่กล้าสอนลูกเท่าไร  แถมบอกลูกไม่ต้องเรียนเก่งแล้วเห็นแก่ตัว  เอาพอประมาณอยู่ในสังคมได้เพียงพอแล้วครับ

จึงไม่ค่อยไปยุ่งกับลูกให้เป็นธรรมชาติ

ขอแสดงความเห็นด้วยนะคะ ตัวเองก็ไม่มีลูกแต่มีหลานสาวที่กำลังจะโตเป็นวัยรุ่น  ก็เห็นความแตกต่างระหว่างในยุคสมัยของตัวเองกับยุคปัจจุบัน  คิดว่าถ้าพ่อแม่ มีเวลาพูดคุยกับลูกให้มากๆ ให้เค้าเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่มีพ่อแม่ เคียงข้างเค้าอยู่เสมอๆ เด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่อสังคมที่กำลังอยู่ในยุคที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ค่ะ

ขอบคุณคุณ ฮูโต๋ มากๆนะคะที่กลับมาปลุกให้บันทึกนี้กลับมาโดนอ่านอีกครั้ง เพิ่งจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกให้ดีไปเมื่อวาน พอได้กลับมาอ่านบันทึกนี้ที่ตัวเองเขียน ก็ยังรู้สึกดีใจที่เขียนไว้ตั้งแต่ตอนที่กำลัง"ร้อน" เพราะให้เขียนตอนนี้ก็คงสื่อได้ไม่ตรงใจเท่ากับที่เขียนตอนนั้นน่ะค่ะ สำหรับคุณแม่ลูกสี่นี่ต้องประสบการณ์เพียบแน่นอนเลยนะคะ

คุณ กวินทรากร น่าจะเป็นคุณพ่อคุณภาพในอนาคตแน่เลยค่ะ ช่างคิด ช่างวิเคราะห์แบบนี้เด็กๆอยู่ใกล้ก็จะได้หลุด "กรอบ" กันเต็มที่แน่ๆค่ะ

น้องจูน k-jira เติมเต็มได้มากเลยค่ะ บรรยายสภาพของเด็กรุ่นเราได้ดีมากเลย พี่โอ๋เองก็อยู่ในกรอบแบบที่ไม่โดนกดดันโดยตรง แต่ก็โดยอ้อมตามแบบเดิมๆ ทำให้ไม่ได้รู้จักตัวเองเอาเลย จนกระทั่งมีลูกเองนั่นแหละค่ะ ก็เลยยิ่งอยากจะเขียนบันทึกนี้เพื่อบอกพ่อแม่ทุกคนว่า ให้ปลดปล่อยเด็กๆให้เขาได้เป็นตัวเองอย่างที่เขาควรจะเป็น พ่อแม่เป็นเพียงผู้ดูแลเลี้ยงดูให้เขาเป็นคนดีเท่านั้นเอง ความสุขสำคัญกว่าสิ่งของวัตถุหรือเปลือกทางสังคมใดๆทั้งสิ้นนะคะ ทำให้คนรู้จักหาความสุข ให้ความสุข โลกนี้ก็คงจะสงบร่มเย็น ไม่ต้องมาแข่งกันเอาดี เอาได้เข้าตัวกันแบบที่เป็นอยู่เยอะแยะ คิดได้อีกทีก็สายเกินไปกันมากมาย น่าเสียดายแทนน่ะค่ะ

คุณลุงเอกคะ เลี้ยงลูกแบบธรรมชาตินี่แหละค่ะ สุดยอดแล้ว ผลงานของลุงเอกก็บอกเล่าเป็นแบบอย่างได้เลยเหมือนกันนะคะ พิสูจน์เห็นผลแล้วชัดเจนสุดๆ

ใช่เลยค่ะ คุณ หมูแดง ความคิดเห็นและการรับฟังของพ่อแม่นี่แหละ คือสิ่งที่หล่อหลอม ปกป้องลูกได้ดีที่สุด กระแสสังคม เพื่อนฝูงอะไรก็จะไม่มีอิทธิพลกับลูกได้ยั่งยืนไปกว่าความรัก ความเข้าใจและพร้อมจะรับฟังของพ่อแม่แน่นอนค่ะ ขอเพียงให้ทำเสียตั้งแต่เขายังเล็กๆและสม่ำเสมอต่อเนื่อง คุณป้าคุณน้าอย่างคุณหมูแดง 
 ก็ช่วยหลานได้ด้วยนะคะ ขอเพียงให้มีใครที่เด็กๆเขารับรู้ว่าพร้อมเสมอที่จะเข้าใจเขา แม้เพียงคนเดียวก็เพียงพอค่ะ
 

 

ตัวเองไม่เคยถูกกดดันจากที่บ้าน หรือที่โรงเรียน พ่อแม่เป็นคนต่างจังหวัด เรียนน้อย ฐานะที่บ้านยากจน พ่อแม่ได้แต่คอยถามว่าเมื่อไรจะเลิกเรียนออกมาทำงานช่วยเหลือส่งเสียน้อง ๆ โรงเรียนก็เป็นโรงเรียนวัด ไม่มีเพื่อน ๆ ไปเรียนพิเศษ หรือเรียนเก่งกว่าให้ต้องแข่งขัน แต่ตัวที่กดดันคือ สังคม และค่านิยมของคนในสังคมที่นิยมคนมีดีกรี คนเรียนสูง สมาชิกที่นี่เองก็เถอะ ชื่นชมคนจบนอก จบมหาลัยดัง ๆ หรือจบด็อกเตอร์ บางคนเขียนประวัติยาว ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีความสำเร็จ มีผลงานมากมาย ทั้งนี้ก็เป็นค่านิยมของสังคมที่มีส่วนหล่อหลอมความคิดเหล่านี้

สวัสดีครับ 

         นำบทกวีของท่านคาริล ยิบราน กล่าวถึงการเลี้ยงลูก ตามที่ท่านอาจารย์แผ่นดินอ้างถึง นำมาฝากครับ

บุตรของเธอ   ไม่ใช่บุตรของเธอ              เขาเหล่านั้น เป็นบุตรธิดาแห่งชีวิต             

เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ             และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ             

 เธออาจให้ความรักแก่เขา  แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดเขาได้            เพราะว่าเขามีความคิดของตนเอง          

  เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายเขาได้ แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา            เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน          

   เธออาจจะพยายามเป็นเหมือนเขาได้ แต่อย่าได้พยายามให้เขาเหมือนเธอ            เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง หรือห่วงใยอยู่กับวันวาน          

  เธอนั้นเป็นเสมือนคันธนู   บุตรหลานเหมือนลูกธนูอันมีชีวิต ผู้ยิงเล็ง เห็นที่หมายบนทางอันมิรู้สิ้นสุด            พระองค์จะน้าวเธอเต็มแรง เพื่อว่าลูกธนูจะวิ่งเร็วและไปไกล

           ขอให้การโน้มงอของเธอในอุ้งพระหัตถ์ของพระองค์ เป็นไปด้วยความยินดี  เพราะว่าเมื่อพระองค์รักลูกธนูที่บินไปนั้น พระองค์ก็รักคันธนูซึ่งอยู่นิ่งด้วย

         ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมครับ เรื่องของการปลดปล่อยเด็กออกจากกรอบ  ผมเองในฐานะที่อยู่ในส่วนของการศึกษา  ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง  ผมคิดว่าตอนนี้สถานการณ์การศึกษาน่าเป็นห่วงมากครับ  เพราะเป็นการศึกษาที่ตีกรอบกั้นความคิดเด็กไม่ให้ออกไปไหน  เนื่องจากครูก็ถูกตีกรอบจากระบบมาอีกชั้นหนึ่ง

       ทางแก้ค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา   คงจะต้องค่อยเป็นค่อยไป  โดยเริ่มจากตัวเรา และ ค่อยขยายผลไป นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

                                          ขอบคุณครับ

                                            

ขอบคุณอ.small man ที่นำบทกลอนดีๆชิ้นนี้มาฝากไว้ตรงนี้อีกทีนะคะ อ่านทีไรก็คิดพินิจตามได้ทุกครั้งไปเลยนะคะ และดีใจที่มีแนวร่วมค่ะ เริ่มไปมีละเล็กละน้อยก็ยังดีกว่าไม่พยายามเลย ได้เห็นโรงเรียนรูปแบบใหม่มากขึ้นๆแล้วล่ะค่ะ

ไม่ทราบว่าคุณ เบญจมาศ จะได้มีโอกาสกลับมาอ่านหรือเปล่า แต่ก็อยากจะตอบไว้ตรงนี้ว่า ชื่นชมคุณเบญจมาศที่พยายามเรียนในระบบ แม้จะมีปัญหาสารพัดจากทางครอบครัวและความไม่เท่าเทียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะแรงกดดันของสังคมหรือไม่ก็ถือว่าน่าชื่นชมยกย่องทีเดียวค่ะ พี่โอ๋เห็นใจและชื่นชมคนที่มาตามระบบด้วยตนเอง โดยไม่มีแรงสนับสนุนใดๆมากๆค่ะ

แต่เรื่องที่บอกว่าค่านิยมของที่นี่ (คงหมายถึง GotoKnow) ยกย่องคนที่เรียนสูงๆจบปริญญาเอก เรียนเมืองนอก เขียนประวัติยาวๆนั้น พี่โอ๋ขอยืนยันว่าเท่าที่ผ่านมาเกือบ 3 ปีนั้น ในคลังความรู้แห่งนี้ เราชื่นชมนับถือศรัทธากันและกัน จากความคิด การปฏิบัติตัวมากกว่า"เปลือก"อื่นใดนะคะ คนอีกมากมายที่มีคนนิยมยกย่องนับถือใน GotoKnow นี้ที่ไม่ได้ต้องมีอะไรแบบนี้เลย มีสมองและ 2 มือกับความจริงใจก็เหลือจะพอแล้วค่ะในการเป็นสมาชิกตรงนี้

เหตุผลที่พี่โอ๋เขียนไว้เพราะวัตถุประสงค์หนึ่งของ GotoKnow ก็คือให้เป็นที่รวมของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประวัติแบบที่ใส่ไว้จะทำให้ระบบสามารถจัดกลุ่มตัวเราได้ง่ายขึ้น (เมื่อชาติต้องการ) แต่ขอยืนยันว่า ไม่เคยคิดจะเอามาเป็นมาตรฐานให้ใครทำตามเลยค่ะ และคิดว่าคงจะมีคนสนใจจะอ่านตรงนั้นน้อยกว่าตัวบันทึกอยู่แล้วนะคะ

แต่ก็เห็นด้วยที่คุณเบญจมาศบอกว่าแรงกดดันของสังคมส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนที่จบสูงๆเป็นที่นิยมยกย่อง (ไม่ว่าจะได้ใช้สิ่งที่ตัวเองมี ตัวเองเป็นทำประโยชน์อะไรให้สังคมหรือไม่) ทำให้คนอื่นต้องตะเกียกตะกายตามๆกันไป แต่ก็เชื่อว่ามีคนอีกมากที่ไม่ได้คิดแบบนั้นนะคะ รวมทั้งคนจบมาแล้วแบบพี่โอ๋ด้วย ตัวพี่โอ๋เองก็ไม่เคยเชื่อถือศรัทธาคนเพราะปริญญามาก่อนเลย และยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าปริญญาเอกไม่ได้ทำให้คนเป็นคนดีน่าเอาอย่างแต่อย่างใดค่ะ  

ขอบคุณคุณเบญจมาศที่มาออกความเห็นนี้ไว้ให้พี่โอ๋ได้พิจารณาตนเองค่ะ ว่าวิธีการที่เขียนในประวัตินั้นก็ทำให้มองมุมนี้ได้ด้วย ไม่ได้คิดถึงแง่นี้มาก่อนเลยค่ะ
 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท