วันแม่...พิธีที่ทำให้ขนลุกซู่


ไปทำพิธีในวัด ท่ามกลางพระสงฆ์ ต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์

   วันแม่ เป็นอีกวันที่มีการจัดงานถวายพระพรของตำบลที่อยู่ ปีนี้พิธีจัดขึ้นตอนเช้า หกโมงกว่าๆ ที่วัดศรีโพธาราม

   ผู้หญิงเกือบทุกคนพร้อมใจกันสวมเสื้อยืดสีฟ้า ไม่ว่าท่อนล่างจะเป็นผ้าซิ่นลายดอกหรือลายเรียบ น่าเสียดายที่ไม่ได้ติดกล้องถ่ายรูปไปด้วย เพราะภาพที่เห็น เป็นวัฒนธรรมที่กลมกลืนข้ามชาติที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ที่จะเห็นแม่อุ้ยวัยห้าสิบถึงเก้าสิบสวมเสื้อยืดคอโปโลสีฟ้ากับซิ่นไหมบ้าง ซิ่นผ้าทอบ้าง และรองเท้าแตะ (เพื่อให้ง่ายต่อการถอดรองเท้าเวลาตักบาตร)

  ในพิธีมีความเรียบง่ายแต่ครบสมบูรณ์ ตั้งแต่ท่านนายอำเภอประธานในพิธีจุดธูปเทียน มีการเจริญพระพุทธมนต์ วางพานพุ่มต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์จาก 3 ตัวแทนคือส่วนราชการ ตัวแทนจากสภาเทศบาล และตัวแทนประชาชน มีการกล่าวถวายพระพร ช่วงเวลาที่นายอำเภอกล่าวถวายพระพรนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมรู้สึกขนลุกซู่ รู้สึกเหมือนกับว่าทุกๆคนกำลังยืนต่อหน้าพระพักตร์อย่างไงอย่างนั้น บรรยากาศเงียบสงบไม่มีใครพูดคุยกัน ได้ยินแต่เสียงนายอำเภอคนเดียว

   จากนั้นมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมกันขณะที่พระภิกษุสงฆ์สวดเจริญชัยมงคล เรียบร้อยแล้วมีการมอบรางวัลแม่ดีเด่นประจำหมู่บ้าน และตักบาตรก็เป็นอันเสร็จพิธี

    มานึกทีหลังว่า ที่รู้สึกขนลูกซู่เพราะเกิดปิติต่อสิ่งที่กำลังประสบ ทุกๆคนที่ไป ต่างไปด้วยดวงใจจงรักภักดี มีความพร้อมเพรียงกัน และเคารพกับพิธีที่กำลังดำเนินไป ทำให้พิธีที่เรียบง่ายทรงคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์

   เหลียวมองไปรอบๆ เห็นรอยยิ้มเปื้อนหน้าของแต่ละคน ยืนรอให้แม่ทักทายคนรู้จักกันพอสมควรแล้ว ก็จูงมือแม่ขึ้นรถกลับบ้าน ....

     วันดีๆ ความรู้สึกดีๆ ที่อยากบันทึกแบ่งปันเพื่อความสุขในสังคม...

คำสำคัญ (Tags): #happiness#วันแม่
หมายเลขบันทึก: 44424เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2006 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
     ใครเขียนเรื่องแม่ ตั้งใจอ่านหมดเลยครับ มาทิ้งรอยความรู้สึกดี ๆ ไว้เช่นกันครับ

ขอบคุณค่ะ คุณชายขอบ

ความรู้สึกดีๆ นี้ เคยลองคิดด้วยทฤษฎีควอนตัม ที่มีหลักความจริงว่า "สรรพสิ่งไม่มีจริงถ้าเราไม่ไปสังเกตเห็นเข้า" คงคิดได้ว่า เป็นคลื่นพลังงาน หรือเปรียบได้กับอิเลกตรอนที่สามารถส่งคลื่นพลังงานซึ่งเนส่วนหนึ่งของมันเองไปยังที่ใดที่หนึ่งในจักรวาลได้ แม้ว่าจะห่างเป็นพันปีแสง หมายความว่าคนเราอาจจะได้รับคลื่นนี้ และคลื่นนี้ก็สัมพันธ์กับจิตวิญญาณและจิตวิญญาณที่มีมุมมองทางบวก ก็จะโน้มนำสู่สุขภาวะของบุคคล

ความรู้สึกดีๆ จึงเป็นลูกโซ่ (ห่วงปฏิกริยา) ของการ "ให้" และการ "รับ" ที่หมุนเป็นเกลียวต่อเนื่องได้

ขอบคุณสำหรับลูกโซ่ความรู้สึกที่ดีๆ ค่ะ

 

 

     หากเราเชื่อว่าสิ่งที่สังเกตได้ หรือน่าจะสังเกตได้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ก็เหมือนเราติดกรอบ "ความเป็นวิทยาศาสตร์" แต่โลกนี้ยังมีอีกเยอะที่วิทยาศาสตร์เองก็อธิบายไม่ได้ และสิ่งนั้นส่งผลต่อวิถีชีวิตเรา ๆ ผมเชื่อสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยครับ แต่ไม่ถึงกับงมงาย (ผมมั่นใจขึ้นที่จะพูดถึงสิ่งนี้ หลังได้รับมาจากการ ลปรร.กับ ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว ครับ)

เห็นด้วยค่ะที่ว่า "โลกนี้ยังมีอีกเยอะที่วิทยาศาสตร์เองก็อธิบายไม่ได้ และสิ่งนั้นส่งผลต่อวิถีชีวิตเรา ๆ" และไม่เห็นว่าการเชื่อสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตได้เช่นนั้นจะเป็นการงมงายด้วยค่ะ

ตัวดิฉันเองมีความเข้าใจว่า ทฤษฎีควอนตัมไม่หลุดพ้นกรอบวิทยาศาสตร์ก็ใช่ เพราะยังเป็นการหาข้อพิสูจน์ที่พยายามอธิบายปรากฎการณ์หนึ่งใดในวิถีที่พิสูจน์ได้ เพียงแต่ควอนตัมหลุดจากมุมมองเดิมของวิทยาศาสตร์ที่แยกส่วน physical จาก spiritual และกลายมาเป็นแนวร่วมใหม่ของคนกลุ่มใหม่ที่พยายามจะอธิบายองค์รวมกับทุกอย่างที่หมุนไป "สิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น" แต่การอธิบายสิ่งที่เป็นเกิดจากการแปลความสิ่งที่เห็นตามที่เห็น" ดังนั้น"สิ่งที่เป็นก็เป็นเพียงอนุภาพหรือคลื่นที่รับได้ จึงได้เห็นและเข้าใจว่าเป็น" ดูเป็นปรัชญามากกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ในรูปแบบเดิมนะคะ แต่ก็เหมือนจะใกล้จุดที่การอธิบายไม่สามารถอธิบาย

แต่ถ้าถามว่า แล้วเราจำเป็นต้องหนีกรอบวิทยาศาสตร์ไหม ก็ไม่คิดว่าจะหนีพ้นซะทีเดียวหรือทุกครั้ง อย่างเช่นการที่งานทางสังคมศาสตร์ต้องการการรับรองสิ่งที่ค้นหาในการอธิบายปรากฏการณ์หนึ่งถ้าตราบใดที่แนวคิดยังคงยึดกับการต้องผลิตซ้ำได้ ดิฉันก็คิดว่าสิ่งที่ทำก็คือวิญญานวิทยาศาสตร์ในร่างสังคมศาสตร์ ...อยู่ดี...ก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวค่ะ

ดิฉันนึกสนุกที่จะ "ตปตค(ต่อปากต่อคำ)" กับคุณชายขอบ เป็นความสนุกบนวิชาการ...ไม่มีคำว่าเกรงใจ...และไม่เครียดนะคะ...ออกตัวอย่างนี้เพราะคุยกันเรื่องแบบนี้คนมักคิดว่าเครียด...ถือว่าหาเพื่อนคุยต่อยอดความคิดในวันว่าง...คุณชายขอบว่างๆ ก็เชิญมาคุยต่อค่ะ....

     กระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่าคือ การสังเกต  เกิดปัญหา  ตั้งสมมุติฐาน  รวบรวมข้อมูล  วิเคราะห์ข้อมูล  แล้วได้ความรู้ ไงครับ ทีนี้ที่ผมกล่าวว่าเราติดกรอบความเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ หากเราเชื่อว่าสิ่งที่สังเกตได้ หรือน่าจะสังเกตได้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และเราจะปฏิเสธไว้ก่อนว่าที่สังเกตไม่ได้ เราจะยังไม่เชื่อ ตรงนี้ไงครับ ที่ผมพยายามจะบอกว่าเราจะสูญเสียสิ่งดี ๆ ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตเราไป เพียงเพราะเราสังเกตยังไม่ได้ (สังเกตได้ตามกระบวรการทางวิทยาศาสตร์น่ะครับ) 
     เราไม่หนีกรอบวิทยาศาสตร์แน่นอน แม้ทางสังคมศาสตร์ที่เราใช้กันอยู่ เราก็ใช้ตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ (5 ขั้นตอนนั้น) เพียงแต่ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่เราจะพอพิจารณาที่ว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์นี้บ้าง คือเริ่มสนใจกันบ้าง เราอาจจะค้นพบอะไรที่ดี ๆ มีคุณค่ากับชีวิตได้ โดยพอดีและพอเพียงนะครับ
     การต่อปากต่อคำกันอย่างนี้ อิสระครับ ผมชอบ ไม่เครียดเลย สนุกเสียอีกครับ หากอาจารย์จะเบื่อ ๆ ก็บอกนะครับ ผมจะได้เหงา ๆ ไปคนเดียวต่อไป (ยิ้ม ๆ ประมาณว่าชอบต่อปากต่อคำ...นิ)
     ต่ออีกนิดครับ สังเกตไม่ได้ กับ ยังไม่รู้ว่าจะสังเกตได้อย่างไร จริง ๆ อาจารย์ว่าแตกต่างกันไหม ฉะนั้นหากผมมองว่าสิ่งนั้นยังไม่รู้ว่าจะสังเกตได้อย่างไร สิ่งนั้น(ปรากฎการณ์) ก็น่าจะยังเข้าข่ายความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่นะครับ (ชิงต่อปากต่อคำ จนอาจารย์พูดไม่ทันเลย)
  • อาจารย์จันทรรัตน์เล่าได้เยี่ยมมาก ๆ เลยครับ
  • ขนาดอ่านแล้วยังขนลุกตามไปด้วยเลยครับ
  • ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ

สังเกตไม่ได้ กับ ยังไม่รู้ว่าจะสังเกตได้อย่างไร จริง ๆ อาจารย์ว่าแตกต่างกันไหม

คิดว่าทั้งไม่ต่างและต่างนะคะ ไม่ต่างก็คือตั้งแต่เริ่มคิดจะสังเกตแล้วสรุปว่าสังเกตไมได้หรือยังไม่รู้จะสังเกตอะไรเรียกว่าไม่ต่างเพราะจุดเริ่มต้นของความคิด

ต่าง ก็เพราะการสังเกตไม่ได้หมายถึงได้เริ่มลองสังเกตหรือได้เริ่มใช้กระบวนการสังเกตทีมีจุดประสงคืแน่วแน่วว่าต้องหาจุดสังเกตในสิ่งนั้นแล้ว ขณะที่ยังไม่รู้จะสังเกตอย่างไร นั้นอาจจะยังไม่มีจุดตัดสินใจหรือเกณฑ์กำหนดการสังเกต ความต่างตรงนี้อยู่ที่ระยะผ่านของขบวนการสังเกต

หายไปไม่ได้เข้ามา ต่อปากต่อคำ ซึ่งดูเหมือนเป็นคำเชิงลบกว่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคมที่เน้นเฉพาะคำเชิงบวก ทั้งๆที่ทั้งสองคำก็ไม่ได้ต่างกันในแง่ที่ได้ใช้ความคิดก่อนตอบแต่ต่างกันที่ความเกรงใจต่อเกณฑ์ของสังคมต่างกัน

ไมได้หายไปเพราะเบื่อหรอกค่ะ ความคิดอิสระแบบนี้ สนุกอยู่แล้ว ..แต่ว่าไปทำหน้าที่ลูกพาคุณพ่อคุณแม่ไปดูนิทรรศการ 100 ปีท่านพุทธทาสเมื่อวานนี้ค่ะ

มาต่อกับเรื่องวิทยาศาสตร์...คิดต่ออีกหน่อยว่า เพราะเราคิดแยกส่วนสภาวะจับต้องได้ให้เหตุผลได้ กับสภาวะรับรู้ของจิต หรือเปล่าที่ทำให้เราต้องแยกส่วนว่าสิ่งไหนคือวิทยาศาสตร์

 

ข้างบนลืมลงชื่อค่ะ

 

(ท่าน)(คุณ)(น้อง)(อาจารย์)ปภังกร

ขอบคุณค่ะ

เนื่องจกาเคยเปิดประเด็นสรรพนาม ตอนนี้ตกหลุมตัวเองค่ะ เลยต้องเรียกให้ครบ...แต่คิดว่าถาม (ท่าน)(คุณ)(น้อง)(อาจารย์)ปภังกรก่อนดีกว่าว่า ยินดีให้เรียกสรรพนามอย่างไร

  • ขอบคุณค่ะที่ได้แบ่งปันเรื่องที่ดี ๆในวันแม่
  • อ่านแล้วคิดถึงแม่อุ๊ยค่ะ
  • ความรักแบบองค์รวม คือการรักแม่ของชาติ ที่ทุกคนในชาติต่างแสดงออกพร้อมกันด้วยใจ และด้วยความปลาบปลื้ม
  •   แม่ของเรา หรือแม่ของแผ่นดิน  คำว่า แม่ ยิ่งใหญ่เกินสิ่งใด ๆ ในโลกเลยค่ะ

"แม่ของเรา หรือแม่ของแผ่นดิน  คำว่า แม่ ยิ่งใหญ่เกินสิ่งใด ๆ ในโลก"

ชอบคำสรุปของคุณสุชานาถค่ะ

คุยกับพี่สาวเรื่องนี้ พี่สาวพูดว่า ที่ขอนแก่นใน มข ที่พี่สาวไปร่วมพิธี ตอนแรกฝนตกแต่ตอนพิธีเริ่ม ประธานตีฆ้องฝนที่กำลังตกก็หยุดทันที ทำให้พิธีถวายพระพรดำเนินไปอย่างราบรื่น เป็นพระมหากรุณาธิคุณของ "แม่ของแผ่นดิน"โดยแท้ค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท