ไตรราสา : สามรสจากนักวิชาการกฎหมาย


การตีความกฎหมายโดยทั่วไปแล้วจะมีการตีความตามตัวอักษร (Textual Approach) และการตีความตามเจตนารมณ์ (Purposive Approach) ด้วยเหตุที่กฎหมายได้มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร การตีความกฎหมายจึงต้องดูตัวอักษรเป็นหลักเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปถึงการตีความตามเจตนารมณ์ หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีความเคลือบคลุมไม่ชัดเจน ไม่อาจตีความตามตัวอักษรได้ ก็ต้องค้นหาวัตถุประสงค์ของการยกร่างบทบัญญัตินั้นว่า มีความต้องการและความจำเป็นอย่างไร

ไตรราสา : สามรสจากนักวิชาการกฎหมาย
ชำนาญ จันทร์เรือง 

 นักวิชาการและอาจารย์พิเศษทางกฎหมาย

เรื่องที่ ๑
ภาษาคน ภาษากฎหมาย
เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหา
ข้อกฎหมายผ่านทางสื่อมากที่สุดในโลก(?) ถ้าท่านลองสังเกตดูให้ดี จะพบว่า ปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมที่ถูกหยิบยกสู่การนำเสนอของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเมืองการปกครอง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายแทบทั้งสิ้น
ผู้ที่ตกเป็นจำเลยก็คือบรรดานักกฎหมายทั้งหลายนั่นเองที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวสร้างปัญหาให้แก่บ้านเมือง เพราะในการให้ความเห็นในปัญหากฎหมายของนักกฎหมาย (ทั้งของจริงและของไม่จริง) ผ่านสื่อต่าง ๆ ก็มักจะมีความเห็นสวนทางกันอยู่เสมอ
สุดแล้วแต่ว่าตนเองเชียร์ฝ่ายใด โดยมีธงคำตอบอยู่ในใจไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนที่จะตีความปัญหา ข้อกฎหมายนั้นๆ
การตีความกฎหมายโดยทั่วไปแล้วจะมีการตีความตามตัวอักษร (Textual Approach) และการตีความตามเจตนารมณ์ (Purposive Approach) ด้วยเหตุที่กฎหมายได้มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร การตีความกฎหมายจึงต้องดูตัวอักษรเป็นหลักเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปถึงการตีความตามเจตนารมณ์ หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีความเคลือบคลุมไม่ชัดเจน ไม่อาจตีความตามตัวอักษรได้ ก็ต้องค้นหาวัตถุประสงค์ของการยกร่างบทบัญญัตินั้นว่า มีความต้องการและความจำเป็นอย่างไร
ในเมื่อการตีความกฎหมาย เราต้องตีความตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ดังนั้น การหาความหมายของลายลักษณ์อักษรเพื่อการตีความที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องรู้จัก "ภาษา" ที่ใช้ในกฎหมาย ซึ่งในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
(1) ภาษาคนหรือภาษาธรรมดาทั่วไป
โดยปกติถ้อยคำหรือภาษาในกฎหมายทั่ว ๆ ไปแล้ว ย่อมมีความหมายตามที่
คนทั่วไปเข้าใจ การตีความก็ต้องตีความไปตามความหมายของศัพท์เหล่านั้น เช่น ฆ่า ก็ย่อมหมายถึงทำให้ตายหรือเสียชีวิต ฯลฯ แต่ก็ประหลาดดีคำว่า "ต้องคำพิพากษาให้จำคุก" กลับมีการแปลความว่า "ต้องถูกจำคุกจริง ๆ" ไปเสีย
(2) ภาษากฎหมายหรือภาษาทางเทคนิค
หมายถึง ภาษาที่มีความหมายพิเศษ กว้างขวางลึกซึ้ง แตกต่างไปจากภาษาธรรมดา หรือภาษาที่คนใช้อยู่ทั่ว ๆ ไป ภาษากฎหมายนี้ใช้และเข้าใจกันอยู่ในบรรดาคนในแวดวง
นักกฎหมายที่เข้าใจกันเป็นการเฉพาะ ในประเด็นนี้ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ได้ยกตัวอย่างใน
รายงานการวิจัย เรื่อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ว่า "วิ่งราวทรัพย์" คนทั่วไปย่อมจะเข้าใจว่าต้องมีการวิ่งเอาทรัพย์ไป แต่ภาษากฎหมายแล้วย่อมหมายถึง "การลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า" ซึ่งอาจจะไม่มีการวิ่งเลยก็ได้ เช่น หยิบเอาของเขาไป แล้วก็เดินออกไปต่อหน้าก็อาจเป็นการวิ่งราวทรัพย์ได้
หรือคำว่า "ตัวการ" ก็มีความหมายแตกต่างจากภาษาคนธรรมดาทั่วไป เวลาพูดถึงกิจการย่อมหมายถึงผู้ที่กระทำความผิดเอง เช่น เรื่องนี้นายจุ้นจ้านเป็นตัวการแน่ ๆ เลย แต่ในภาษากฎหมายคำว่า"ตัวการ"ในกฎหมายแพ่งนั้น ตัวแทนเป็นผู้กระทำแทนโดย"ตัวการอยู่เบื้องหลัง"แล้วคอยรับผลแห่งการกระทำนั้น. ส่วนในทางอาญาคน ๆ เดียวกระทำความผิด ไม่อาจเรียกว่า "ตัวการ" ได้เลย เพราะกฎหมายอาญาคำว่า"ตัวการ"หมายถึง "บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันกระทำความผิด"
(3) นิยามศัพท์
หมายถึงภาษาหรือถ้อยคำที่ผู้ร่างกฎหมายมีความประสงค์จะให้มีความหมายเฉพาะ ที่แตกต่างจากภาษาธรรมดาทั่ว ๆ ไป หรือต้องการให้มีความหมายพิเศษ ในประเด็นนี้ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ได้ยกตัวอย่างในรายงานการวิจัยฯ อีกเช่นกันว่า "ป่า" ตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หมายถึง "ที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย" ดังนั้นเมื่อพูดถึง "ป่า" คนธรรมดาสามัญย่อมนึกถึงภูเขา ต้นไม้ ฯลฯ ฉะนั้น ป่า ตามกฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียวเลยก็ได้
ตาม พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 คำว่า "สัตว์น้ำ" หมายความว่า ปลา เต่า กระ กุ้ง แมงดา ฯลฯ รวมถึงไข่ของสัตว์น้ำเหล่านั้นทุกชนิดรวมถึงสาหร่ายทะเล และตลอดจนสัตว์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำ และพันธุ์ไม้น้ำอื่นตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด ดังนี้ จะเห็นได้ว่า สาหร่ายทะเล ซึ่งภาษาธรรมดาหมายถึงพืช แต่ พ.ร.บ.นี้ หมายถึง สัตว์น้ำ ฉะนั้น การช้อนสาหร่ายทะเลไปก็เป็นการจับสัตว์น้ำตาม พ.ร.บ. นี้ รวมถึงพันธุ์ไม้อย่างอื่นที่ประกาศในพระราชกฤษฎีกาด้วย ถือว่าเป็นการกระทำต่อสัตว์น้ำ เมื่อมีประกาศห้ามจับสัตว์น้ำ ชาวบ้านที่ไปเก็บพืชพันธุ์ไม้น้ำหรือสาหร่ายทะเลย่อมจะมีความผิดฐานจับสัตว์น้ำ ซึ่งความหมายดังกล่าวแตกต่างจากความเข้าใจธรรมดา ๆ ไปมาก การตีความก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้ที่เอาสาหร่ายทะเลไป จะเอาความหมายธรรมดามาต่อสู้ให้พ้นความผิดไม่ได้
บางครั้งก็อาจมีความหมายแปลกไปมาก เช่น พ.ร.บ.การขายยา พ.ศ. 2493 "ยา" หมายความว่า "วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการพิเคราะห์ บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บปวดของมนุษย์หรือสัตว์" คดีนี้จำเลยกับพวกได้โฆษณาขายกำไลวิทยาศาสตร์ว่า เป็นเครื่องบำบัดโรคต่าง ๆ ได้ จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า กำไลไม่ใช่ยา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กำไลเป็นยาตาม พ.ร.บ.นี้หรือไม่ ข้อสำคัญหาได้อยู่ที่ว่า วัตถุนั้นจะบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ หากแต่อยู่ที่ความมุ่งหมายในการใช้ ถ้ามุ่งหมายให้ใช้วัตถุนั้นบำบัดโรค และป้องกันโรคแล้วก็ต้องถือว่าเป็นยา ศาลจึงเห็นว่า กำไลข้อมือเป็นยา ดังนั้น กำไลแม้คนทั่วไปจะเห็นว่าเป็นเครื่องประดับ แต่ในคดีนี้ เมื่อพิจารณาจากนิยามศัพท์แล้ว ต้องตีความว่า กำไลเป็นยา จึงจะถูกต้องตามความมุ่งหมายของกฎหมาย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อาจจะเกิดคำถามอยู่ในใจของหลาย ๆ คนว่า ทำไมเราไม่บัญญัติกฎหมายให้ชัดแจ้งหรือชัดเจนไปเลย จะได้ไม่ต้องมานั่งตีความกันอีก ซึ่งคำตอบก็คือไม่มีทางเป็นไปได้ที่กฎหมายจะสามารถบัญญัติถ้อยคำให้ชัดแจ้งทั้งหมด เพราะภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาคนธรรมดาหรือภาษากฎหมาย ย่อมมีวิวัฒนาการและมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ เช่น คำว่า "เดือดร้อนรำคาญ" นั้น การกระทำเดียวกันแต่ต่างเวลากัน อาทิ การใช้เสียงในระดับเดียวกันในเวลากลางวัน อาจจะไม่เข้าข่ายเดือดร้อนรำคาญก็ได้ ฯลฯ
ฉะนั้น การตีความกฎหมายต้องดูความหมายตามที่กล่าวมาข้างต้นว่าเป็น "ภาษาคนธรรมดา", "ภาษากฎหมาย หรือ ภาษาทางเทคนิค" หรือว่าเป็น "นิยามศัพท์" เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริง ดังจะเห็นได้จากบรรดาป้ายประกาศต่าง ๆ เช่น "ห้ามญาติเยี่ยม" จะหมายถึงเฉพาะญาติเท่านั้นเองหรือ คนที่ไม่ใช่ญาติแต่เป็นเพื่อนจะเข้าเยี่ยมได้ไหม หรือแม้กระทั่ง "ขับช้า ๆ อันตราย" ก็เลยเร่งความเร็วเสียเต็มที่ เพราะป้ายสัญญาณทำให้เข้าใจไปได้ว่า ขับช้า ๆ อันตราย ฯลฯ
กล่าวโดยสรุปแล้วภาษาที่ใช้ในกฎหมายไม่ว่าจะเป็น"ภาษาคนธรรมดา", "ภาษาทางเทคนิค" หรือ"นิยามศัพท์" ก็ตามแต่ หากจะมีการตีความแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตีความตามลายลักษณ์อักษรหรือตามเจตนารมณ์ก็ตาม จะต้องเป็นการตีความเพื่อให้ปฏิบัติได้ มิใช่ตีความแล้ว ก่อให้เกิดผลประหลาด (absurd) ปฏิบัติไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความกฎหมายมหาชนที่มุ่งประโยชน์สาธารณะ ต้องคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็น และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาด้วย
ที่สำคัญก็คือ เมื่อถ้อยคำใดมีความชัดเจนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตีความอีก (in claris non fit interpretation) เพราะที่ยุ่ง ๆ กันอยู่ที่วันนี้ก็เพราะเรามีการตีความกันมากเกินไป และที่สำคัญคือการตีความแบบศรีธนญชัย หรือตะแบงเอาสีข้างเข้าถู จนวุ่นวายไปหมดทั้งบ้าน
ทั้งเมืองในปัจจุบัน
เรื่องที่ ๒
๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕ : คณะราษฎรรีบร้อนจริงหรือ
หนึ่งในบรรดาประเด็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงก็คือ ประเด็นที่ว่า พระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรฉวยโอกาส ช่วงชิงเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นความผิดของคณะราษฎร ที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่ออนุชนรุ่นหลัง และเป็นการกล่าวโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อคณะราษฎรที่เสี่ยงชีวิตเข้าแลก เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎร มีสิทธิมีเสียงในการที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย
ก่อนที่เราจะด่วนพิจารณาตัดสินความผิดถูกในประเด็นนี้ ต้องดูพื้นเพภูมิหลังของคณะผู้ก่อการ ซึ่งล้วนแล้วประกอบไปด้วยผู้ที่มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการระบบเก่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนายพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม นายนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)ฯลฯ ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สำเร็จแล้ว อย่าว่าแต่ยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งหลายจะสูญสิ้นไปเลย แม้แต่หัวก็จะหลุดออกจากบ่าเอาเสียด้วยซ้ำ แต่คณะราษฎรก็เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
สำหรับในประเด็นที่ว่าพระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรใจร้อนชิงลงมือเสียก่อนนั้น สุพจน์ ด่านตระกูล ได้กล่าวไว้ในปาฐกถาเนื่องในวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๐ สรุปได้ดังนี้
พระปกเกล้าฯ ทรงเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฝรั่งว่า ในเรื่องที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น ทรงเคยปรึกษากับ ฟรานซีส บี แซร์ หรือพระยากัลยาณไมตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มาแล้วครั้งหนึ่ง จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงรับสั่งให้พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนต์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญถวาย และกำหนดกันว่าจะพระราชทานในวันจักรี ที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕
ร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารวาจาและสตีเวนส์ที่ว่านี้ ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงเค้าโครงการจัดรูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น มิใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด โดยรูปแบบและที่มาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีว่า
๑. ฝ่ายบริหาร ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนองค์พระมหากษัตริย์ ให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรี แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยพระองค์เองตามพระราชอัธยาศัย
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารโดยมีกำหนดวาระ แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้งใหม่ หรือพระมหากษัตริย์จะทรงให้ออกเมื่อใดก็ได้

๒. ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร ให้ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย ๕๐ คน อย่างมาก ๗๕ คน กึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระราชอัธยาศัย กึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี อ่านออก เขียนได้ และเป็นผู้เสียภาษีในจำนวนที่แน่นอน
สมาชิกอยู่ในวาระคราวละ ๔ ปี หรือ ๕ ปี แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงยุบสภาเมื่อใดก็ได้ และมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภา รวมทั้งพระราชอำนาจที่จะทรงทำสัญญาหรือข้อตกลงกับต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องผ่านสภา และในกรณีที่สภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้วรัฐบาลจะต้องลาออก แต่พระมหากษัตริย์จะทรงรับใบการลาออกหรือให้อยู่เป็นรัฐบาลต่อไปก็ได้ (ชัยอนันต์ สมุทวนิช - การเมืองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย)
อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีส่วนข้างมากและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่รวมทั้งพระยาศรีวิสารวาจา และนายสตีเวนส์ ผู้ร่างถวาย มีความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ จึงผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ในประเด็นของความรับผิดชอบของผู้ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรนั้น ภายหลังจากที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ พยายามเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ แต่ก็ถูกขัดขวางโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ทำรัฐประหารเงียบโดยได้สั่งปิดสภาฯ โดยไม่มีกำหนด และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นการกระทำที่เสมือนหนึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญ และได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ออกนอกประเทศ ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำลายคณะราษฎร เพราะเข้าใจกันว่านายปรีดีเป็นมันสมองของคณะราษฎร และแผนต่อไปก็คือการจับกุมคณะราษฎรมาลงโทษฐานขบถ
แต่พระยามโนฯ ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ยึดอำนาจคืนจากพระยามโนฯ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้กลับสู่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง และได้เข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินกับคณะราษฎรรวมเวลา ๑๔ ปี นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็ได้มอบคืนอำนาจนั้นให้แก่ราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ โดยยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๒ (ที่มาจากการแต่งตั้ง) และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข และสิทธิในการที่จะนิยมลัทธิการเมืองใด ๆ ก็ได้
แต่ในที่สุดก็ได้มีรัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ เกิดขึ้น ซึ่งนับแต่นั้นมาคณะราษฎรก็ถูกบังคับให้ยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และการถือครองอำนาจรัฐก็ตกแก่คณะรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ คณะปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร คณะปฏิรูปฯ ของพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ และคณะอื่น ๆ อีกหลายคณะ จนมาถึงคณะ รสช.ของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔
จึงเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่คณะราษฎรถือครองอำนาจรัฐนั้นมีเพียง ๑๔ ปี จากทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน ๗๔ ปี ส่วนที่เหลืออีก ๖๐ ปี ล้วนแต่อยู่ในอำนาจของกลุ่มอำนาจอื่นไม่ว่าจะเป็นจากทหารหรือพลเรือน ที่มีส่วนทำให้ประชาธิปไตยไทยบิดเบี้ยวมาจวบจนปัจจุบันนี้
เรื่องที่ ๓
การแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามแนวทางของปรีดี พนมยงค์
ปัญหาภาคใต้ที่กำลังลุกลามและเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในปัจจุบันนี้ ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชนผู้รักสันติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่พร่ำบอกตลอดเวลาว่า "มาถูกทางแล้ว" ก็ไม่บังเกิดผล มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็น่าเห็นใจต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่พยายามหาวิธีดับไฟแห่งความรุนแรงนี้ลงให้ได้ ผมจึงอยากจะนำเสนอแนวความคิดที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหานี้โดยนำเสนอแนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่ได้ให้ความหมายของคำว่า
"ประชาธิปไตย" หมายถึง ความเป็นใหญ่ของประชาชนและปวงชนต้องมีสิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน

"สามัญชน" หมายถึง ชนจำนวนส่วนมากที่สุดของประชาชน

"อภิสิทธิ์ชน" หมายถึง ชนจำนวนส่วนข้างน้อยที่สุดของปวงชน ได้แก่นายทุน ที่มีฐานะดีที่สุดยิ่งกว่าคนจำนวนมากในชาติ รวมถึงสมุนที่ต้องการรักษาอำนาจและสิทธิของอภิสิทธิ์ชนไว้
"รัฐธรรมนูญ" หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดให้ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ และให้สิทธิของมนุษยชนแก่ประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดถือตามความเห็นชอบของอภิสิทธิ์ชน และจำกัดสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนพึงมีได้ รัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย
ท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปี ๒๕๑๔ เกี่ยวกับ "เอกภาพของชาติกับประชาชาติไทย" ซึ่งประเสริฐ ชัยพิดุสิต เรียบเรียงไว้ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
๑) การรักปิตุภูมิยังมิได้หมดไป ยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกัน หรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกัน กับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว การรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง

๒) ริ้วรอยแห่งความแตกต่างในเชื้อชาติหรือท้องที่โดยเฉพาะยังมีอยู่ ดังเช่น ท้องที่ของประเทศไทย ซึ่งคนสัญชาติไทยในท้องที่นั้น ๆ พูดไทยไม่ได้ หรือพูดไทยได้แต่แปร่งมาก จนคนไทยภาคกลางเข้าใจยาก คนท้องที่เดียวกันชอบพูดภาษาท้องถิ่นหรือสำเนียงตามท้องถิ่นของตน

๓) บางแคว้นบางเขตภายในชาติยังแสดงสัญลักษณ์ว่ามีเจ้าของตน โดยเฉพาะ เช่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัย ประมาณ ๖ ปี ภายหลังอภิวัฒน์ (พ.ศ. ๒๔๗๕) เจ้าผู้ครองนครลำพูน ถึงแก่พิราลัย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระยาพิพิธราชาแห่งยะหริ่ง และพระยาภูผาราชา แห่งระแงะสิ้นชีพราว ๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือภายหลังนั้นไม่นาน

๔) กลุ่มต่าง ๆ ภายในชาติหนึ่ง ๆ ยังมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ ถ้ามีทั้งภาษาและศาสนาแตกต่างกันกับชนส่วนข้างมากของชาติก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก
ในประเทศไทย ภายหลังรัฐประหาร (๘ พ.ย. ๒๔๙๐) รัฐบาลได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอิสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฏแบ่งแยกดินแดน ในสมัยรัชการที่ ๕ มีกรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ถูกกักตัวที่พิษณุโลก เมื่อกลับไปปัตตานี ก็คิดแยกดินแดนอีก เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เราต้องสังเกตไว้เพื่อหาทางที่ถูกต้อง ป้องกันมิให้เรื่องขยายตัวไป เพื่อความเป็นเอกภาพของชาติไว้
ก) วิธีการของอังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ รัฐบาลของชนส่วนมากในชาตินั้น ๆ คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนว่า มีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่

ข) วิธีการเผด็จการ เช่นฮิตเลอร์ หรือ มุสโสสินี ใช้วิธีบังคับแต่ไม่สามารถทำลายจิตใจรักปิตุภูมิท้องที่ของชนชาติต่าง ๆ ในเขตนั้นได้

ค) วิธีการของสวิสเซอร์แลนด์ พลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน แยกออกเป็นแขวง ๆ แต่ละแขวงมีสิทธิการปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเอง แล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐมีรัฐบาลกลางเดียวกัน ไม่ปรากฏว่า มีชนชาติใดในสวิสเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก

ง) วิธีประชาธิปไตย ประธานาธิบดีลินคอล์นให้ไว้คือ การปกครองโดย "รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" ถ้าทำตามนี้ได้จริง เอกภาพของชาติก็เป็น "เอกภาพของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" เป็นความเต็มใจของราษฎรเองที่รักษาเอกภาพของชาติ วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในการต้องการเอกภาพของชาติ

จ) มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพ และมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยการดำรงชีพอยู่นั้น ย่อมมีจิตใจในทางด้านค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบ พร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน หากเขาไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว ก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่ดีกว่าก็เป็นไป
จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นความเห็นที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ แต่ก็ยังไม่ล้าสมัยแต่
อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการของสวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สวีเดน เนเธอแลนด์ หรือแม้กระทั่งวิธีประชาธิไตยของอดีตประธานาธิบดีลินคอล์นแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นชื่อว่ามีชนหลากหลายเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่ง
นายปรีดี พนมยงค์ เป็นสามัญชนที่สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย เคยเป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ในส่วนของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็น "รัฐบุรุษอาวุโส"
(ความสำคัญของท่านอยู่ในระดับเดียวกับ เมาเซตุงของจีน โฮจิมินห์ของเวียดนาม หรือเนห์รูของอินเดีย แต่น่าอนาถที่ท่านต้องจบชีวิตในต่างแดนดั่งผู้ลี้ภัย ในขณะที่รัฐบุรุษ ๓ ท่านนั้นได้รับการปลงศพอย่างยิ่งใหญ่ในนามของรัฐ แต่ของไทยเราไม่มีการจัดงานศพให้สมกับเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ชาติบ้านเมืองแต่อย่างใด ไม่มีแม้แต่ผู้นำรัฐบาลไทยไปในงานศพของท่าน)
สิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำก็คือ ควรพิจารณานำเอาแนวความคิดของท่านมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เสีย เพื่อที่จะได้เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ และเป็นการสนองคุณต่อผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ดังเช่น มหาบุรุษที่ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เคยกระทำไว้แก่แผ่นดินไทยในอดีต
++++++++++++++++++++++++++++++++

 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 44422เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2006 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท