เก่งก็ี่เป็นปัญหา


คำว่า "เก่ง" ฟังดูดีครับ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ทุกสิ่ง (ยกเว้นทรงกลม) เมื่อมองจากมุมที่ต่างกัน ก็จะเห็นเป็นรูปร่างหรือตีความได้ต่างกันเสมอไป

โดยความหมายทั่วไปของคำว่า "เก่ง" เป็นการยกย่อง เป็นสัญญาณบอกถึงความสามารถ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี ๒๕๔๒ แปลความหมายคำว่า "เก่ง" ไว้สามทางคือ ความสามารถในทางใดทางหนึ่ง - เป็นเช่นนั้นบ่อยๆ - มักเป็นเช่นนั้น

ในบริบทของการทำงานมักเป็นความหมายแรก เป็นคำวิเศษณ์ใช้ขยายคุณลักษณะของคน มีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบกับตนเอง หรือเทียบกับมาตรฐานของงาน คำว่า "เก่ง" ตรงข้ามกับคำว่า "ไม่เก่ง"

แต่อะไรที่สุดขั้ว ก็มักจะไม่ดีทั้งนั้น การที่มีหัวหน้าเก่งแล้วลูกน้องตามไม่ทัน หรือลูกน้องคนหนึ่งเก่งแต่คนอื่นๆ ตามไม่ทันก็เช่นกัน องค์กรไม่สามารถจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้หากขับเคลื่อนด้วยคนคนเดียว

ลูกน้องคงจะรู้สึกดีมากหากมีปัญหาอะไรหัวหน้าก็ตอบได้หมด เก่งสารพัด รู้ไปหมด อบอุ่น อบรม สั่งสอน ถ่ายทอด สุภาพ ให้เกียรติ ให้โอกาส ปราศจากอคติ วาจาไพเราะ เป็นผู้ดี ฯลฯ ส่วนหัวหน้าก็คงอยากจะได้ลูกน้องที่มีความรับผิดชอบ ไว้ใจได้ มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ รอบคอบ รู้ลึก รู้จริง เป็นคู่คิดได้ สื่อสารกันได้ มีการป้องกันงานไม่ให้เกิดความเสียหาย เข้ากับคนได้รอบข้าง ฯลฯ

แล้วอะไรคือปัญหา

ปัญหาคือเมื่อมีคนหนึ่งเก่ง ก็แปลว่ามีความ(สามารถ)ไม่เท่าเทียมกันครับ

เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดที่เขาเป็นคนเก่ง แต่เป็นการที่งาน มีแนวโน้มจะไม่กระจายออกไป แน่ล่ะ หากจะต้องทำงานอย่างหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ คนเป็นนายก็ต้องเลือกคนเก่งเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เรื่องนี้หากปล่อยให้เกิดความไม่เท่าเทียมเป็นเวลานาน นอกจากคนเก่งจะเบื่อหรือทำไม่ไหวแล้ว อาจเกิดความริษยากันระหว่างพนักงาน เพราะว่าบางทีนายก็เป็นศูนย์อำนาจ

ความเป็นคนเก่งที่มีคนรอบข้างตั้งความหวังไว้สูง จะสร้างความกดดันเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนอาจจะทำให้คนเก่ง กลายเป็นคนที่ล้มเหลวไม่เป็น ผิดหวังไม่ได้ และเริ่มสร้างกำแพงขึ้นมาปกป้อง ego ของตัวเอง เปลี่ยนจาก result-oriented เป็น condition-oriented และเป็น excuse-oriented ไปในที่สุด

ในวงการศึกษา ตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งทางวิชาการที่ให้กับอาจารย์ที่เก่ง มีความรู้ และมีผลงานทางวิชาการที่ดีที่สุดในภาควิชา แต่ที่ประหลาดก็คือเราไม่ค่อยพบศาสตราจารย์ สอนเด็กปีหนึ่งทั้งๆ ที่รากฐาน-พื้นฐาน เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดสำหรับการศึกษาในภายภาคหน้า (ผมเริ่ม flame bait อีกแล้วครับ แต่ท่านที่อ่านมาหลายบันทึก คงพอจะจับสไตล์ได้ว่าข้อความในบันทึกต่างๆ ถูก exaggerate ให้เว่อร์ไปนิดหน่อยเพื่อให้คิด)

อย่าคิดว่าการมีคนเก่งอยู่ในองค์กรเป็นเรื่องดีด้านเดียวนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการจัดการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยให้คนอื่นๆ เร่งตามมาได้เร็วขึ้น บางทีอาจจะจัดให้คนเก่งมาเล่าถึง success story ต่างๆ แต่ไม่ได้เป็นการเล่าเพื่ออวดอ้าง ให้เล่าถึงเคล็ดลับของความสำเร็จในงาน พนักงานอื่นๆ สามารถเรียนลัดได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรง

อ่านหนังสืออะไรมาก็ไม่รู้ (น่าจะเป็นอะไรสักอย่างของฮาร์วาร์ด) เขาพูดถึงการแลกเปลี่ยน success story กับ failure analysis ในเชิงการวิเคราะห์ถึงเหตุผล แล้วมีข้อสรุปว่า เหตุผลของ success story จะดีกว่าเหตุผลของ failure analysis เนื่องจากทางด้าน success story เคยทำแล้วสำเร็จ ส่วน failure analysis แม้หลีกเลี่ยงไม่ทำ ก็ไม่ได้ประกันความสำเร็จ แถมยังอาจผิดพลาดในเรื่องอื่นได้อีกหากคนทำไม่รอบคอบพอ

หมายเลขบันทึก: 84941เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2007 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

คุณโยม Conductor ...  

เข้ามาอ่านประจำ...  

ช่วยขยายความระหว่าง failure analysisเพิ่มอีกเล็กน้อย success story

โดยเฉพาะ ๒ ย่อหน้าสุดท้าย

เจริญพร 

 

กราบนมัสการครับ

failure analysis คือการวิเคราะห์ถึงเหตุผลของความล้มเหลว มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีกครับ

เช่นรถยนต์เกิดอุบัติเหตุเพราะเมาแล้วขับ ก็นั่งท่องไปว่าเมาไม่ขับ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุอีกครั้งเพราะว่าง่วงแล้วดันไปขับรถ พอนั่งท่องว่าเมาไม่ขับ-ง่วงไม่ขับ ก็อาจจะมีอุบัติเหตุครั้งที่สามด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่นลืมตรวจสภาพรถ ขับรถเร็วจนควบคุมไม่ได้ ฯลฯ

ส่วนการวิเคราะห์ success story นั้น สามารถนำมาสร้างเป็น best practice หรือเป็นตัวอย่างว่ามีคนเดินตามแนวที่วิเคราะห์ออกมาแล้วประสบผลสำเร็จ ตัวอย่าง เช่นกสิณทุกกองครับ

ทั้งสองกรณี เหมือนขีดเส้นไว้หลายเส้น เส้นหนึ่งปักป้ายไว้ว่าเดินตามทางนี้แล้ว จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าเดินทางอื่นแล้วจะประสบความสำเร็จ; ส่วนอีกเส้นหนึ่งปักป้ายไว้ว่าเดินทางนี้แล้วประสบความสำเร็จ หากสถานการณ์เข้ากันได้ เราเดินตามป้ายที่ไปสู่ความสำเร็จ ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าครับ

บทคัดย่อของเอกสาร Managing Know-How

P

การปักป้าย เป็นข้อเปรียบเทียบที่สุดครับ...

แต่ ทักท้วงหน่อยครับ กสิน ๔๐ น่าจะเผลอนะครับ ตามที่เคยเรียนมา มีแต่ กสิณ ๑๐ และกรรมฐาน ๔๐ ครับ ...

เจริญพร

สาธุ

ผมแก้ไขไปก่อนพระอาจารย์จะส่งความเห็นอันที่สองเข้ามาครับ ขอบพระคุณครับ 

P

ไม่ทราบว่าจะรบกวนเวลาคุณโยมหรือไม่ ?

เข้าไปอ่านแล้ว พอดีอังกฤษไม่ค่อยเท่าไหร่ (เพิ่งมาเอาจริงอังกฤษก็ตอนอายุ สามสิบกว่าแล้ว)

อ่านไป ก็สงสัยขึ้นมา ..นึกถึงเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนที่ เจ้าของ (จำชื่อเสี่ยไม่ได้) ซื้อ 7-11 มาเปิดในเมืองไทยนั้น เค้าให้เหตุผลว่า ดีกว่าคิดเอง ...อะไรทำนองนี้...

ประเด็นนี้ สงเคราะห์เข้าในการเลือกไปทางของผู้สำเร็จ ดีกว่ามาวิเคราะห์กิจการของคนอื่นๆ ที่ล้มเหลว...ใช่มั้ยครับ...

ถ้าประเด็นนี้ถูกต้อง แสดงว่า กิจการแฟนชาย น่าจะดีกว่าสำหรับผู้ริ่เริ่ม ใช่มั้ยครับ..

อันที่จริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพระเลย แต่เป็นความสนใจส่วนตัว พอดีความคิดโพลงขึ้นมา จึงต้องการคุยอีกนิดนะครับ...

เจริญพร 

ประเด็นทางธุรกิจมีหลายมิติเสมอครับ

ผมเชื่อว่าการที่ซีพีซื้อสิทธิ์ของ 7-11 มา น่าจะมีหลายเหตุผล ทั้งเรื่องแบรนด์ เรื่องเทคนิคการจัดการ คน/เงิน/สินค้าคงคลัง ความลับเกี่ยวกับการตั้งระดับส่วนลดที่เหมาะสมให้กับร้านค้า แผนการตลาด การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ คลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทในเครือซีพีมีสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มีร้านค้าเป็นของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นประโยชน์หลายชั้น

โดยแนวคิด การชื้อแฟรนชายส์จากผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าเริ่มจากศูนย์ครับ

ส่วนจะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่/แค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนซื้อขายของทั่วไป เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว เราได้อะไรมา/คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาให้ดีก่อนซื้อครับ

ในกรณีของแฟรนชายส์ เจ้าของมีความรู้/มีเคล็ดลับความสำเร็จอยู่จริงหรือไม่ ถ่ายทอดให้เราดีแค่ไหน/เรารับความรู้เหล่านี้มาได้ดีแค่ไหน เจ้าของผลักดันเรื่องแบรนด์จริงจังแค่ไหน สูตรลับ/วัตถุดิบมีคุณภาพแค่ไหน สนับสนุนเราให้ประสบความสำเร็จแค่ไหนหลังจากรับเงินของเราไปแล้วครับ

P

เข้าใจครับ...

สรุปว่ามีของแท้ก็ต้องมีของเทียม เฟรนชายส์ก็เป็นสินค้าประเภทหนึ่งเท่านั้น...

ส่วนประเด็นในคืนนี้ นำไปประยุกต์ใช้หรือแนะนำต่อได้เลยครับ...

เจริญพร

ขออนุญาตแปลแนวคิดหลักของเอกสารดังนี้ครับ
  • เอกสารนี้ สนับสนุนให้องค์กรทำ KM บนแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ข้อมูล-ข่าวสารเกี่ยวกับความสำเร็จ มักเป็นประโยชน์มากกว่าข้อมูลเกี่ยวกับความล้มเหลว; ความสำเร็จในอดีตอาจเป็นแนวทางให้ความสำเร็จในอนาคต ในขณะที่ความล้มเหลวในอดีตนั้น ชี้ไปที่ความผิดพลาด (หลุมพราง) บางอย่างเท่านั้น
  • การบันทึกความล้มเหลวอาจเป็นการลดประสิทธิภาพ (และความคิดริเริ่ม) โดยลดแรงจูงใจของพนักงานที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ (ทำให้ไม่กล้าคิด)
  • องค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีอัตราการเข้าออกของพนักงานสูงดูจะได้ประโยชน์จากการจัดการความรู้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็จะต้องเลือกความรู้ที่นำมาแลกเปลี่ยนอย่างระมัดระวังที่สุด
  • กรอบที่เสนอในเอกสารนี้ สามารถประยุกต์ใช้กับคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ KM ได้  ในขณะที่ KM มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นระบบ อาจช่วยให้เกิดความเข้าใจ (KM) อย่างลึกซึ้ง
ทรงกลม เมื่อมองต่างมุม ก็เห็นต่างกัน ตีความต่างกันได้นะครับ

เช่น สี/มุมแสงตกกระทบไม่เท่ากัน ก็ย่อมเห็นต่างกัน อยู่ในสื่อกลางต่างกัน (น้ำ/อากาศ) ก็เห็นต่างกัน คนมองต่างกัน (สายตาสั้น/บอดสี/ชอบ/ไม่ชอบ) ก็เห็นต่างกัน ส่วนตีความนั่นย่อมต่างอยู่แล้วครับ

เป็นบทความที่ให้ข้อคิดดีเช่นเคยครับ แต่กระผมเข้ามาป่วนไปงั้นเอง แหะ แหะ

อ้อ ในฐานะที่เคยบวชมาชั่วประเดี๋ยว ขอแสดงทรรศนะยกย่องว่า ศาสนาพุทธได้แก้ปัญหาความกดดันและความคาดหวังกับคนเก่ง โดยให้มีการสึกครับ (บางศาสนาไม่มีการสึก) การสึกทำให้เราลดภาระอันหนักอึ้งที่ไม่พร้อมจะรับไว้ได้ในชั่วพริบตา โดยไม่เป็นที่ครหาเหมือน ดร.ที่คิดงานไม่ออก หรือ สอนหนังสือไม่เป็น ฯลฯ ได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องยึดติดกับ "เปลือก" ของ "คนเก่ง"

ขอเล่าเรื่องส่วนตัวเล็กน้อยค่ะ ดิฉันไม่คิดว่าตัวเองนั้นเป็นคนเก่ง แต่ยอมรับว่า เป็นคนชอบศึกษาตลอดเวลา ชอบเรียนรู้ของใหม่ และที่สำคัญ ชอบคบหาคนเก่งกว่าเสมอค่ะ (ไม่ว่าใคร รู้ในสิ่งที่ดิฉันไม่รู้ ดิฉันนับหมดว่า เก่งกว่าดิฉันทุกคน)

ปัญหาแท้จริงบังเกิด อย่างที่คุณ conductor เขียนไว้คือ น้องๆ ตามไม่ทัน ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง แต่เขาอาจจะพยายามน้อยกว่าเรา หรือมีความสนใจไม่ตรงกับสิ่งที่เราสนใจ ผลคือ มีเราคนเดียวที่กระโดดโลดเต้น แต่เขานั่งมองตามเราเฉยๆ สารพัดวิธีจะกระตุ้น แต่อาจจะยังไม่ใช่กับกลุ่มที่ดิฉันสัมผัสอยู่ .. เหนื่อยไหม .. ใช่ .. ล้าไหม .. ใช่ .. แล้วจะหยุดทำอย่างที่เคยไหม .. ก็ต้องตอบว่า ไม่ใช่ค่ะ

โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อเสมอว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ ถ้าเหนื่อยหนัก พักเสียหน่อย แล้วกลับมาสู้ต่อไป วันที่เราเคยเป็นคนไม่รู้ประสีประสา เราก็มีคนดีๆ ชี้นำ ให้เป็นคนที่ (ดูเหมือน) เก่ง ขึ้นมาได้ เป้าหมายก็คือ เราจะปั้นดาวดวงต่อไป เมื่อเขาเป็นดาว สังคมไทยก็มีประโยชน์

สาธุ -- อย่าหยุดครับคุณ minisiam

สวัสดีคะคุณ conductor รู้สึกชื่นชมมากคะ ไม่ว่าเขียนเรื่องอะไร น่าอ่าน น่าสนใจไปหมดเลย อยากเป็นคนเก่งคะ แต่ไม่อยากเป็นคนที่มีปัญหา ที่ผ่านมาทำงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจเกินร้อย ทำอะไรก็อยากประสบผลสำเร็จไปหมด บางครั้งอาจทำโดยก้าวไปข้างหน้าโดยลืมเหลียวหันกลับมาดูคนข้างหลัง ถ้ายังไงฝากช่วยชี้แนะด้วยนะคะ ข้อคิดที่ได้อ่านมาทำให้กลับมาทบทวนตัวเองได้ดี ปรับใช้กับองค์กรได้คะ

ผมเห็นว่าความสำเร็จส่วนตัวไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าความสำเร็จขององค์กรครับ

เมื่อองค์กรประสบความสำเร็จและตัวเรารู้สึกว่าเป็นส่วนของความสำเร็จนั้น สิ่งที่ได้รับกลับมีค่ามากกว่าความชื่นชมต่อความสำเร็จส่วนตัวอีกครับ

ในบรรดาคนทำงานนั้น ก็จะเห็นกันอยู่ว่าใครเป็นอย่างไร และการได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อถือจากคนในองค์กร นอกจากจะช่วยให้องค์กรเจริญขึ้น(ซึ่งมีผลโดยอ้อมกลับมาสู่ตัวเราแล้ว) แล้วยังจะสร้างความมั่นใจในตัวเอง จะทำงานใหญ่ก็จะง่ายขึ้นเพราะผู้คนให้ความเชื่อถือ

ผมฝากบันทึกเก่าไว้อ่านเล่นๆ ครับ

" เราไม่ค่อยพบศาสตราจารย์ สอนเด็กปีหนึ่งทั้งๆ ที่รากฐาน-พื้นฐาน เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดสำหรับการศึกษาในภายภาคหน้า" ..........ดิฉันประทับใจความเห็นนี้มากค่ะคุณ Conductor

ถ้าเราสามารถสร้างระบบการศึกษา ที่มุ่งผลิตด็อกเตอร์เพื่อออกแบบการสอนอนุบาลตามชนบทได้ (คือกระจายกำลังกันไป) ดิฉันคิดว่าเป็นโชคดีของชาติไทย 

เพราะการออกแบบคนให้เก่งสูงสุดเต็มศักยภาพ (คือเรียนด็อกเตอร์)ได้นั้น  เปรียบได้กับการผลักตูม(อย่างดี)ลงคลอง  แล้วต้องตะเกียกตะกาย(อย่างดี)จนว่ายน้ำเป็น  

และหากคนเก่ง(ที่ถูกออกแบบมาอย่างดีแล้ว)คนนั้น  ได้ไป "สร้างและออกแบบการสอนเด็กอนุบาล(อย่างดี)"แล้วไซร้  ดิฉันว่าคงเป็นโชคดีของหลานและเหลนของดิฉัน (คือว่ารุ่นลูกคงยังไม่ทัน)

สักวันเราคงมีเด็กเก่งสำนึกดีอยู่เต็มประเทศ.... 

ขอยืนยันว่าไม่ได้คิดเพ้อเจ้อ  แต่ฝันเอาจริงนะคะ :)

ข้อสังเกตนั้น ผมได้ฟังมาจากผู้ใหญ่ที่ผมนับถือครับ ท่านทำงานพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน

เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็รู้สึกเห็นว่าเป็นปัญหาอย่างมาก อดไม่ได้ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกับสมาชิก

พระบรมราโชวาท: ผู้ที่มีความรู้

เข้ามาอ่านแล้วชอบครับ หวังว่าคงเขียนให้อ่านเยอะ ๆ ต่อไปไม่หยุดนะครับ

คนบางคนเก่งมากคนก็จะไม่ไว้ใจครับว่าจะหลอกเขาหรือเปล่า ยิ่งถ้าใครบังอาจเก่งกว่านักวิชาการละก็...ไม่มีประเทศจะอยู่เลยทีเดียว

ผมก็คิดก็พุดไปอย่างนั้นเองแหละครับ...เก่งแล้วอย่าหลงตัวเองนะครับ

การเก่งแบบไม่ยอมให้มีใครเก่งกว่านั้น บางทีเกิดจากการขาดความนับถือตนเองครับ คงจะเป็นอาการเดียวกับการแพ้ไม่เป็น ล้มเหลวไม่ได้ จึงทำทุกอย่างเพื่อ "ชนะ"; ให้น้ำหนักกับ "การยอมรับจากผู้อื่น" มากกว่า "คุณค่าของงานที่ทำ"

การหลงตัวเองนั้น ผมคิดว่ามีโอกาสด้วยกันทุกคนครับ แม้แต่คนที่เป็นกระจกให้คนอื่นส่อง ถ้าขืนมัวแต่นั่งมองตัวเองทั้งวันทั้งคืน ก็เป็นอาการหลงตัวเองเช่นกัน; ถ้ามีความเป็น"ตัวเรา"น้อยลง ทำงานเพื่อผู้อื่นมากขึ้น คงจะลดความหลงลงได้บ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท