แบบอย่างคือทุกอย่าง


"แม่ปู-ลูกปู" คือคติสอนใจที่เราต่างคุ้นเคย สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การเห็นตัวอย่าง

เป็นมากกว่า การเลียนแบบ แต่อาจเรียกว่า เป็นทุกอย่างที่ทำให้ข้าพเจ้ายังอยู่ในเส้นทางนี้
.
สองปีก่อน...
ในช่วงราวน์เช้าอันเร่งรีบเช่นทุกวัน
ทีมกำลังเตรียมตัว เพื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยแต่ละเตียง
มีโทรศัพท์เข้ามาปรึกษา อาจารย์อาวุโส
โทรศัพท์เป็นแบบติดฝาผนัง 
บังเอิญตัวนั้นมีน็อตไขไม่แน่น
เมื่ออาจารย์วางหูโทรศัพท์แรงไปนิด
มันจึงหลุดลงมากองกับพื้น
แทนที่อาจารย์จะละไว้ รอให้ช่างมาซ่อม
ท่านรีบใช้ปลายกุญแจ แทนไขควง
ไขน็อตยึดโทรศัพท์กลับคืนเข้าไป
แพทย์ประจำบ้าน ข้าพเจ้า และนักศึกษาแพทย์ เฝ้ามองอยู่เงียบๆ
.
วันนี้..
แพทย์ประจำบ้านคนเดียวกัน กลายเป็นอาจารย์หนุ่ม
รับปรึกษา ทางโทรศัพท์ (ตอนนี้เปลี่ยนมาวางบนโต๊ะ)
โทรศัพท์เจ้ากรรม สายต่อหลุดออกจากขั้ว
ยังดีที่อาจารย์หนุ่ม ต่อสายกลับเข้าไปทันจึงคุยได้จนจบ
เมื่อคุยจบ เขารีบเดินออกจากห้อง
ข้าพเจ้า และนักศึกษาแพทย์เดินตาม
ปรากฎว่า เขาเดินวกกลับมาที่ห้องรับปรึกษา
.. พร้อมเทปพลาสเตอร์ใส..
เพื่อมาแปะติดขั้วสายโทรศัพท์ให้แข็งแรง
...
เหตุการณ์ วันนี้ คงไม่มีอะไรมาก
แต่ เหตุการณ์เมื่อสองปีก่อน ทำให้ข้าพเจ้าสะดุดใจ
..ข้าพเจ้า เคยถาม อาจารย์อาวุโส เมื่อสองปีก่อน
ว่าทำไมท่านต้องไขน็อตกลับไปเองด้วย
 " เราไม่ควรทิ้งปัญหา ที่เราสามารถแก้ได้ ไว้ให้คนอื่นแก้..
และ..สิ่งที่เธอเห็น นักศึกษาเขาก็เห็น เขามองดูเราอย่างถี่ถ้วน.."
...
มีนักวิทยาศาสตร์ พยายามอธิบายปรากฎการณ์นี้ด้วย
"วงจรประสาทสะท้อนกลับ" (mirror neuron) 
เรารู้กันมานาน ว่าเวลาเราทำอะไร เช่น หยิบโทรศัพท์
สมองส่วนควบคุมแขน และการวางแผน - prefrontal cortex จะทำงาน
แต่ประมาณ 20 ปีมานี้เอง ที่พบว่า เมื่อเรา "มอง" คนอื่นหยิบโทรศัพท์
สมองส่วนเดียวกันนั้นก็ทำงานด้วย
คิดอีกแง่หนึ่ง  เวลาเราทำอะไรจะ "เห็น" ภาพการกระทำตนเอง  จากการ "มอง" การกระทำคนอื่น
หากเรา "มอง" การกระทำของคนอื่น ในบริบท ที่สร้างความตื่นเต้น ชื่นชม
เมื่อเรา " เห็น" ตัวเองกระทำแบบเดียวกัน ก็มีความตื่นเต้น ชื่นชม -- รู้สึกเหมือนได้รางวัล
ดังที่ ดร.ป๊อป เขียนในบทความดีๆ นี้ว่า
เราไม่จำเป็นต้อง "คิดก่อนทำแบบตั้งใจเสมอไป"
แต่เรามีเซลล์กระจกเงาที่ทำหน้าที่สื่อสารให้สมองได้ "คิดพร้อมทำโดยไม่รู้ตัว"
ที่มาของ... จิต (ใต้)สำนึก...Gut level 
...
ครั้งหนึ่งในชีวิต 
ข้าพเจ้าเคยเกิด "วิกฤติศรัทธา" ในสิ่งที่ตัวเองเป็น
ข้าพเจ้าเกิดความคลางแคลงใจ ว่า "หลักการที่ว่าดี" มันดีจริงหรือ
สิ่งที่ข้าพเจ้าจับต้องได้ในตอนนั้น มีแต่..ความสวยหรูในกระดาษ
ดีจริง ทำไมถึงสร้างทุกข์... 
ข้าพเจ้าเคยขนเอาเอกสารวิชาการต่างๆ ขนใส่กล่อง..เตรียมเอาไปทิ้ง ( ปีศาจสิง)
แต่โชคชะตา  ก็ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบ..
บุคคลที่ทำให้ "เชื่อ" 
ว่าสิ่งที่เขียนในหนังสือนั้น "based on a true stroy"
บุคคลท่านนั้น ไม่ได้เลคเชอร์ ไม่ได้แจก handout
บุคคลท่านนั้น พาข้าพเจ้าไปดูผู้ป่วยที่บ้าน  
ห้องเรียนคือ ทางเดินหมู่บ้าน ที่เราพูดคุยกันไป
เอกสารวิชาการจึงไม่ถูกเอาไปทิ้ง...(แต่เก็บไว้ที่ไหน ต้องไปหาก่อน :-)
ข้าพเจ้าก็ยังเดิน ลองผิด ลองถูก คลำทางไปเรื่อยๆ
แต่อย่างน้อย ก็ "เห็น" ว่า จุดหมายนั้นมีอยู่จริง 
.
ตัวอย่าง หรือ แบบอย่าง  สำหรับบางคนอาจเป็นส่วนประกอบ ให้เข้าใจชัดเจนขึ้น
สำหรับข้าพเจ้า..แบบอย่าง คือ  ทุกอย่าง
หมายเลขบันทึก: 456885เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 04:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

ผมมีประสบการณ์ที่คล้ายกับการทำงานของ mirror neuron ที่ทำให้เห็นภาพการกระทำของตนเองและเกิดประสบการณ์อย่างแจ่มชัดแก่ตนเองไปแล้วผ่านการสัมผัสกับการกระทำของคนอื่นหลายครั้งทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเหมือนกันครับ ไม่รู้ว่าจะใช่ลักษณะเดียวกันหรือเปล่า

ครั้งหนึ่งเมื่อตอนยังเด็ก อยู่ประถม ๔-ประถม ๕ ข้างบ้านผมมีการหัดแตรวงกัน ผู้ใหญ่และครูแตรรวบรวมเอาเด็กหนุ่มรุ่นพี่และรุ่นใหญ่กว่าไปหัดแตรวง ผมอยากหัดด้วยมากแต่ตัวยังเล็กไป เลยต้องนั่งดูอย่างเดียว เขาท่องเพลงต่อเพลง ทดลองเป่า แล้วก็ซ้อมลงเครื่องตลอดฤดูทำนา ต่อด้วยหน้าแล้งหลังนวดข้าว เมื่อถึงหน้าสงกรานต์ก็น่าจะเริ่มออกงานรับงานบวชนาคได้ โดยประกบกับรุ่นเก่า รวมระยะเวลาหัดก็จะประมาณ ๔-๕ เดือน และได้เพลงออกงานพอคั่นเวลารุ่นเก่าได้นิดหน่อย ระหว่างที่เขาหัด ผมก็ได้นั่งดูอย่างเดียว เพราะกลัวครูแตรทำให้ปวดท้องด้วย  นานๆก็ขอเอื้อมมือไปแตะ เดินไปตักน้ำให้ผู้ใหญ่เขาดื่มกิน

ผ่านไปสัก ๓-๔ เดือน กลุ่มที่เขาหัดแตรวงต่อเพลงอะไร ผมก็ท่องและขานทำนองเพลงตามไปด้วยได้หมดทุกเพลง มีอยู่ช่วงหนึ่ง กลุ่มหัดแตรวงเขาเป่าได้เพียงไล่ตัวโน๊ต เสร็จแล้วก็นั่งพัก ครูแตรให้ผมเอาแตรไปล้างน้ำ พอล้างเสร็จก็ขอถือโอกาสเป่าสักหน่อย แล้วก็เป่าเป็นทำนองเพลงได้เลย

ระหว่างนั้น ก็มีงานเข้ามาหาแตร ๑ งานอย่างกระทันหัน และขาดคนด้วย ต้องการรุ่นที่หัดใหม่ไปสมทบสักคนหนึ่ง แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครเล่นได้เลย มีผมที่พอเล่นได้ แต่ตีกลองและเคาะจังหวะนั้นทำได้อย่างแม่นยำแน่นอน ก็เลยกลายเป็นว่าผมได้ออกงานก่อนกลุ่มที่เขาหัด พอถึงตอนที่เขาออกงานได้กันจริงๆและมีการครอบครู ผมก็เลยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ครอบครูและเป็นสมาชิกของแตรวง เป็นแตรวงไปพร้อมกับเขาด้วยเลย ตอนโตขึ้น ได้มีโอกาสศึกษาเรื่องการทำในใจให้แยบคายโดยวิธี 'โยนิโสมนสิการ' นั้น ก็ช่วยให้ซาบซึ้งได้อย่างยิ่งว่ามันเป็นกระบวนการที่ลึกซึ้งมากกว่าการคิดในใจเสียอีก

Like ครับ คุณหมอเขียนได้ดีมากครับ...

มีคำกล่าวว่า " ทำให้ดู อยู่ให้เห็น" ..พวกเราล้วนได้รับการบ่มเพาะเช่นนี้ค่ะ (อยากกดดอกใม้ให้ แต่กดไม่ขึ้น ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น)

การทำในใจให้แยบคายโดยวิธี 'โยนิโสมนสิการ' นั้น ก็ช่วยให้ซาบซึ้งได้อย่างยิ่งว่ามันเป็นกระบวนการที่ลึกซึ้งมากกว่าการคิดในใจเสียอีก

เรื่องราว และข้อความที่อาจารย์ทิ้งท้าย น่าสนใจอย่างยิ่งคะ

น่าคิดว่า เหตุใดคนอื่นที่ นั่งดู (และนั่งฟัง) ไม่สามารถทำได้อย่างอาจารย์..เพราะพรสวรรค์ส่วนตัว หรือเพราะเขาไม่ได้ "สร้างภาพ" การกระทำของตัวเองในใจ หรือสองปัจจัยร่วมกัน...

ขอติดเป็นการบ้านก่อนนะคะ :-)

 

 

 

  สวัสดียามเช้าคะ ตื่นเช้าดีจัง

ได้เรียนรู้คำสุภาษิตเพิ่มขึ้นอีก :-)

ลองกดดอกไม้แล้วได้นะคะ อาจลองอีกทีคะพี่ใหญ่

เลือกหยิบเฉพาะที่ใช้ได้กับเรา และทำให้ก็ความสำเร็จ เกิดความสุขตามมา ผมใช้แนวทางอย่างนี้น่ะครับ

สวัสดีค่ะIco48 แวะมาอ่าน 'เป็นตัวอย่าง หรือ แบบอย่าง  สำหรับบางคนอาจเป็นส่วนประกอบ ให้เข้าใจชัดเจนขึ้น

สำหรับข้าพเจ้า..แบบอย่าง คือ  ทุกอย่าง ' ...อ่านจบ...ชัดเจนค่ะ...ต้องขอชมคุณหมอว่าเขียน blog ได้ดีมากค่ะ

ขอบคุณที่เติมเต็มคะ

ในหนึ่งแบบอย่าง อาจมีที่เหมาะ และไม่เหมาะกับตัวเรา

เราเลือกหยิบ จากหลายๆ ตัวอย่างมาประกอบเป็นตัวเราเองคะ

เป็นเกียรติสำหรับดอกไม้และคำชมเชยคะ อาจารย์

ตอนเขียนยังสองจิต สองใจว่า จะเขียน "เอาหนังสือวิชาการไปทิ้ง.." เหมาะไหม

ไม่ได้ต้องการลบหลู่ครูบาอาจารย์ที่เขียนหนังสือ ตำรา นะคะ

แต่เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ให้ชัดเจน ว่า บุคคลที่เป็นแบบอย่าง นั้นสำคัญเพียงไร

ในฐานะของ "คนเป็นครู" ที่กำลังสอน "ว่าที่คุณครู" ...

 

" เราไม่ควรทิ้งปัญหา ที่เราสามารถแก้ได้ ไว้ให้คนอื่นแก้..

และ..สิ่งที่เธอเห็น นักศึกษาเขาก็เห็น เขามองดูเราอย่างถี่ถ้วน.."

 

ผมกำลังปฏิบัติเช่นนั้นอยู่ทุกวันที่ได้มีโอกาสสอน ;)...

 

และขอบคุณในข้อมูลนี้ ...

 

...
มีนักวิทยาศาสตร์ พยายามอธิบายปรากฎการณ์นี้ด้วย
"วงจรประสาทสะท้อนกลับ" (mirror neuron) 
เรารู้กันมานาน ว่าเวลาเราทำอะไร เช่น หยิบโทรศัพท์
สมองส่วนควบคุมแขน และการวางแผน - prefrontal cortex จะทำงาน
แต่ประมาณ 20 ปีมานี้เอง ที่พบว่า เมื่อเรา "มอง" คนอื่นหยิบโทรศัพท์
สมองส่วนเดียวกันนั้นก็ทำงานด้วย
คิดอีกแง่หนึ่ง  เวลาเราทำอะไรจะ "เห็น" ภาพการกระทำตนเอง  จากการ "มอง" การกระทำคนอื่น
หากเรา "มอง" การกระทำของคนอื่น ในบริบท ที่สร้างความตื่นเต้น ชื่นชม
เมื่อเรา " เห็น" ตัวเองกระทำแบบเดียวกัน ก็มีความตื่นเต้น ชื่นชม -- รู้สึกเหมือนได้รางวัล

 

ผมเคยอ่านงานเขียนสะท้อนของลูกศิษย์ หลังจากการปิดคอร์สทุกครั้งว่า เขาอยากเป็นครูที่ดีให้ได้เหมือนอาจารย์

ข้อมูลของคุณหมอบางเวลา CMUpal คือ คำตอบนั้น

 

ขอบคุณมากครับ ;)...

เป็นครู (ที่ดี) ก็ยากแล้ว เป็นครูของครู (ที่ดี) ยิ่งยากกว่า

เคยมีรุ่นพี่คนหนึ่ง มาชวนทำธุรกิจขายตรง บอกว่า "ทำตัวให้เป็นผลิตผลของผลิตภัณฑ์"

แม้สุดท้ายตัดสินใจไม่ทำอยู่ดี แต่ก็ อืมม์ คำพูดเท่จัง..

การที่นักศึกษาเขียนสะท้อน คือสิ่งยืนยันคุณภาพ ของผลผลิตอาจารย์แล้วคะ :-D

ชอบบันทึกนี้ค่ะ

และชอบคอมเม้นท์ที่นำประสบการณ์ดี ๆ มาแบ่งปันของหลายท่านในนี้ด้วย

ทำให้คิดถึงคำของบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งใน GTK คือ คุณ Small man ท่านกล่าวไว้ว่า...
"แบบ ดีกว่า บอก"  และเมื่อนำข้อความนี้ไปคุยในกลุ่มครูภูมิปัญญาไทยตอนทำ สัมมนากลุ่มย่อย ก็ได้คำว่า  "แบบดี ดีกว่า บอก" ค่ะ  :)

หลายครั้งเคยบอกตัวเองว่าเราจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกๆ

เพราะอจ.หมอสกลเคยบอกไว้ว่าอย่าสอนลูกให้เป็นคนดี

แต่จงทำความดีให้ลูกได้ดูและได้เห็น

แต่เอาเข้าจริงการเป็นแบบอย่างที่ดีๆไม่ง่ายเลย

สำหรับเราถ้าเริ่มปิ๊ดแตก..ก็รีบบอกตัวเองว่า

แม่ปูนา.......อย่าเดินขาเกได้ไหมจ้ะ..

แบบดี ดีกว่า บอก

เพราะเห็นได้ สัมผัสได้ และ ทำตามในใจได้คะ ...เห็นด้วย 

555..จะเอาไปใช้บ้างคะ

เตือนสติตัวเองแบบขำๆ..แม่ปูอย่าเดินขาเก

 

กระบวนการ mental rehearsal สามารถจำลองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างน่าทึ่ง

เปรียบเสมือนเรื่องราวในภาพยนต์ Matrix สิ่งที่เราเชื่อๆกันว่า "จริง" ก็มาจากกระบวนการของจิตใจนี่เอง จริงเท่าที่สามารถจะจริงได้ ในขณะที่ Matrix เน้น mental rehearsal ใน "ปัจจุบัน" เมื่อไม่นานมานี้ มีภาพยนต์อีกเรื่อง ที่พระเอกเป็นนักบินได้รับอุบัติเหตุเหลือเพียงครึ่งตัว แต่นางเอกสามารถใช้ "สมอง" พระเอก "ทบทวน" เหตุการณ์ในอดีต สืบต่อไปถึงอนาคต เพื่อป้องกัน terrorist attack ที่ยังไม่เกิดได้

ผมใช้ mental rehearsal บ่อย สำหรับตอนเป็นวิทยากร ช่วยได้เยอะ ไม่ตื่นเวที ไม่ว่าจะเรื่องใหม่แค่ไหน ก็กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายครามาแล้วได้

อาจจะเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้าง

คำตอบอาจารย์ เล่นเอาต้องไปค้นคว้าก่อน

 mental rehearsal =See what you will do, hear what you will say, feel what you will feel when you encounter the actual situation

 แปลเป็นภาษาไทย น่าจะหมายถึง การจินตนาการถึงสิ่งที่จะเกิดล่วงหน้า เห็นสิ่งที่เราจะทำ ได้ยินสิ่งที่เราจะพูด รู้สึกสิ่งที่เราจะรู้สึก

เมื่อเจอกับสถานการณ์จริงๆ จึงคุ้น และชำนาญ เหมือนเคยเกิดมาแล้ว

อาจเป็นคำตอบหนึ่ง กรณีของ อ.วิรัตน์ได้ไหมคะ?

เป็นเทคนิคที่น่าสนใจมาก แต่ รู้สึกมันเป็นการใช้พลังสมองมหาศาล ที่จะสร้างภาพในสิ่งที่ยังไม่เกิดให้คมชัด..เวลาเราคิดถึง อนาคต มันมักเป็น ภาพเบลอๆ นะคะ

อืม.. มัน "ไม่ชัด" แบบภาษาทั่วๆไป (เพราะไม่ได้เชือมกับ Matrix machine!!) ผมว่าจินตนาการมันเสริมความชัดและคุ้นชินด้าน "ความรู้สึก" มากกว่าชัดเรื่องภาพ เสียง (สำหรับผมนะ และผมว่าความเป็นคน visual, auditory หรืออะไรก็อาจจะมีส่วน)

แต่ก็มีเหมือนกัน ถ้า rehearsal ล่วงหน้านานๆ บ่อยๆ บางทีตอนพูดจริงเกือบจะกลายเป็น deja vu!!

ว้าว..อาจารย์ตอบเร็ว ราวกับ chat ทาง facebook :-)

เคย rehearsal เตรียมตัวสอนเรสิเดนท์ 10 คน แต่สถานการณ์จริง มาแค่ 3 คน 

ไม่รู้  matrix machine ช่วยได้กรณีนี้หรือเปล่า อิๆ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท