ฝึกสมองอัมพาต/ออทิสติกใหม่: คิดพร้อมทำความดี


ขอบพระคุณ นพ.อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์ผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนไทยแนวใหม่ด้วยแนวคิด Mirror Neuron ได้มาบรรยาย ณ คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล วันที่ 21 ต.ค. 2552

วันนี้ได้มีโอกาสพบตัวจริงเสียงจริงของ นพ. อุดม เพชรสังหาร ผู้ที่พยายามจุดประกายบุคลากรทางการแพทย์ให้ตระหนักถึง "การค้นพบระบบเซลล์กระจกเงาที่มีหน้าที่สื่อสารให้สมองของเรารับทราบความคิดและการสร้างสัมพันธภาพ (กิจกรรมทางสังคม) ด้วยความดี"

การค้นพบวงจรการทำงานของระบบประสาทครั้งนี้สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยทุกคนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือ จิตสังคม เช่น อัมพาต, ออทิสติก เป็นต้น แต่การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นการเชิญวิทยากรจากสถาบันการศึกษาครั้งแรกและนับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณค่าสำหรับอาจารย์นักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดอย่างมากครับ

ท่านวิทยากรเล่าว่า โดยการฟื้นฟูสมรรถภาพของการทำหน้าที่ของร่างกาย (Functional recovery) เราจะเน้นการจัดระบบแก้ไขความบกพร่องทางร่างกาย/จิตสังคมผ่านการเรียนรู้และจัดระเบียบของสมอง (system reorganization) แต่ปัจจุบันเราควรสร้างระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบใหม่ (system substitution) ผ่านกระบวนการทางการแพทย์ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อสาร

ผมประทับใจว่า เมื่อแต่ละวิชาชีพทางการแพทย์พยายามคิดค้นโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ริเริ่มใหม่ คณะผู้วิจัยควรทบทวนต่อยอดในองค์ความรู้ที่ไม่ทำซ้ำไปซ้ำมา แต่ต้องสร้างการนำความรู้ไปประยุกต์จริงแบบวัดและสังเกตจริงๆ ในกลุ่มการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม มิใช่นามธรรม/พรรณนาเพียงแค่กรอบความคิดอ้างอิงไม่ได้ และควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสหวิชาชีพเพื่อมุ่งเป้าคิดค้นและพัฒนาความรู้ใหม่อย่างแท้จริง

นั่นคือการศึกษา Mirror Neuron ในหลายๆ มิติของสหวิชาชีพทำให้เกิดความหลากหลายของการประยุกต์ใช้ทางคลินิก ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยืนยันการทำงานของ Mirror Neuron (เดิมเรียก Monkey See Monkey Do Neuron เพราะค้นพบในลิงที่เห็นนักวิจัยทำกิจกรรมแล้วคิดตามทันทีจนวัดระดับการทำงานของกลุ่มเซลล์กระจกเงาได้) ที่ให้ผลเหมือนกัน (ในระดับ Unconscious & uncontrollable cellular ตรง Pre-motor cortex, supplement motor cortex, pareital cortex, limbic system และหลายตำแหน่งของสมอง) ในขณะที่สังเกต/ฟังคนกำลังตั้งใจทำกิจกรรม (ผ่านสื่อภาพจากวิดีทัศน์, กิจกรรมทางสังคม, การฟัง/อ่านประโยคบอกเล่าที่เป็นลำดับชัดเจน) แล้วคิด-เลียนแบบ-ทำ (เคลื่อนไหวร่างกายและแสดงอารมณ์และความรู้สึก) ตามทันทีอย่างตั้งใจ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นใหม่ก็ได้

จะเห็นว่าสมองของเราไม่ได้แยกการรับรู้ร่างกายและการรับรู้ความรู้สึกจิตใจ และเราไม่จำเป็นต้อง "คิดก่อนทำแบบตั้งใจเสมอไป" แต่เรามีเซลล์กระจกเงาที่ทำหน้าที่สื่อสารให้สมองได้ "คิดพร้อมทำโดยไม่รู้ตัว" ผ่านการจินตนาการ/คิดในใจถึงการกระทำ (Motor Imagery) พร้อมๆ กับการสังเกตและกระทำอย่างตั้งใจ (Motor Observation and Execution) ที่เกิดการประสมประสานการรับรู้ความรู้สึกต่างๆ จนเกิดความคิดวางแผนการกระทำ (Perception to Plan of Action) แล้วคิดจำลองรูปแบบการเคลื่อนไหวร่างกาย (Motor Simulation) สู่พฤติกรรมเลียนแบบการกระทำ (Imitation) ด้วยแรงจูงใจจนถึงคุณธรรมขั้นสูงสุดของการแสดงสัมพันธภาพทางสังคม (Social Relationship) ได้แก่ ความเข้าใจสีหน้าท่าทาง-อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) เช่น เห็นอกเห็นใจ/สงสารผู้อื่น มิใช่คิดว่าใครทำถูกทำผิดอย่างเดียว

นั่นคือสมองเรามีศักยภาพในการได้รับการกระตุ้นเพื่อให้ทำงานด้วยการปรับตัวตลอดชีวิต (Neural Plasticity) แม้ว่าสมองจะปกติ หรือจะบาดเจ็บจากอัมพาต หรือจะไม่มีการทำงานของ Mirror Neuron เลยในเด็กออทิสติกที่ครูสอนให้ทำตามคำสั่ง หากเรากระตุ้นให้กลุ่มเซลล์กระจกเงาทำงานในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น อายุของผู้ป่วยที่ไม่มากจนเกินไป หรือ พยาธิสภาพของสมองที่ไม่ป่วยเรื้อรังเกินไป บางทีประชากรที่อาจมีโอกาสหายจากความบกพร่องทางร่างกาย หรือจิตสังคม อาจเป็นจริงได้ครับ

ดังนั้นหากเราต้องการพัฒนารูปแบบการฝึกสมองแบบใหม่ บุคลากรทางการแพทย์ต้องปรับทัศนคติให้เข้าใจกระบวนการของ Mirror Neuron ว่าสามารถต่อยอดกับองค์ความรู้ทางวิชาชีพต่างๆ ได้อย่างไร...เราอาจเน้น Motor Simulation จากกิจกรรมที่ส่งเสริม Motor Imagery พร้อมๆ กับ Motor Execution แต่ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่คำถามวิจัยใหม่เพื่อคำตอบใหม่ในปัญหาที่เรากำลังให้บริการ ตามที่วิทยากรแนะนำ เช่น

  • Movement disorder; Parkinson disease, stroke
  • Mental retardation
  • Autism
  • Social rehabilitation
  • Speech training
  • Moral development
  • Mirror Neuron stimulation

ท่านวิทยากรได้แนะนำให้ผู้สนใจค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องสมองจาก http://www.dana.org/ และ http://www.sfn.org/

บันทึกนี้จึงสรุปให้ผู้สนใจทุกท่าน "เน้นการสอนคนในทุกวัยโดยทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างหลายๆ ครั้งมากกว่าที่จะจับเขาทำตามหรือสั่งให้เขาทำตาม" ... ท่านวิทยากรยกสุภาษิตมาเตือนใจว่า "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น" นั่นหมายถึงเขาได้เรียนรู้โดยสังเกตและซึมซับการกระทำ อารมณ์ความรู้สึก และคุณธรรม จากผู้ดูแล ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ หากผู้ดูแลโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบที่ดี เขาก็จะมีการกระตุ้นเซลล์กระจกเงาให้คิดพร้อมทำความดีด้วยเจตจำนงค์ (Volition, ความสนใจมุ่งมั่นให้เกิดคุณค่าของการทำกิจกรรม) สู่พฤตินิสัย (Habituation, นิสัยที่ฝึกทำเป็นประจำอย่างมีความหมาย) และการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิต/ความสุข (Occupational performance with well-being/quality of life)

คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล กำลังจะเป็นต้นแบบที่ดีของกิจกรรม Meet-Share-Talk (MST) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยของวิชาชีพกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การแก้ไขความผิดปกติของการสื่อสาร แล้วมุ่งสู่การทำงานประสานกันเพื่อสร้างคำถามวิจัยและตอบคำถามวิจัยแนวใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ "Mirror Neuro & Rehabilitation" โดยเชิญท่านวิทยากรมาให้คำปรึกษาเดือนละครั้งครับ!

หมายเลขบันทึก: 307527เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2009 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มันเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากค่ะ แต่เราคิดไม่ถึงว่ามานจะกลายเป็นทฤษฎีได้

บางครั้งความคิดของเราไปไกลกว่าความสามารถในการพิสูจน์ความคิดนั้นครับ...หากเราสามารถทบทวนความคิดและพิสูจน์เหตุผลได้ในเวลาเดียวกัน เราก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครๆ มาพิสูจน์ภายหลัง แต่พวกเขาสามารถนำความคิดต่างๆ ไปต่อยอดและเชื่อมโยงสู่ความคิดที่ปฏิบัติตามได้ทันทีของพวกเขาครับ

ขอบคุณครับคุณไม่แสดงตน

เป็นอีกบันทึกที่มีประโยชน์มากคะ

เราไม่จำเป็นต้อง "คิดก่อนทำแบบตั้งใจเสมอไป" แต่เรามีเซลล์กระจกเงาที่ทำหน้าที่สื่อสารให้สมองได้ "คิดพร้อมทำโดยไม่รู้ตัว

ขอบคุณอาจารย์ป๊อบมากค่ะ  หนูทำคนไข้ผู้ใหญ่  โดยเฉพาะอัมพาตครึ่งซึก  และพบผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเซ็นส์บ่อยมาก  สมัยก่อนแรกๆ ก้อให้ผู้ป่วยใช้ตาช่วยควบคุมการเคลื่อนไหว  แต่ไม่ค่อยดี  ผู้ป่วยเครียดง่าย  และหลังจากผ่านการอบรมทั้ง NDT และ SI  ก็เริ่มรู้สึกว่า การรับความรู้สึกของคนเราฉลาดกว่านั้น  จึงลองให้ผู้ป่วยกระทำกิจกรรมโดยให้คิดแค่ว่าจะทำอะไร ห้ามคิดว่าอย่างไรเด็ดขาด  เช่น กำแก้ว  ก็คิดแค่ว่ากำแก้ว ( เน้น proprioceptive joint เพราะคิดว่าเราจะหยิบจับอะไรได้ดี  เซ้นส์ที่ต้องรู้เรื่องมากที่สุดต้องเป็นข้อ  ไม่ใช่ตา) แล้วให้ผู้ป่วยจับความรู้สึกของมือตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร  ปรากฎว่าผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมได้ดี  แม้ว่าปัญหาเรื่องเซ้นส์ยังไม่หายไป  หรือลดลง  บางคนทำกิจกรรมได้เกือบเหมือนปกติแม้ว่าแขนขามันจะชาเหมือนเดิม  ก็รักษาไปตามเซ้นส์ของตัวเอง  555  แต่เพิ่งรู้ว่าตัวเองน่าจะใช้การกระตุ้นการทำงานของ  Mirror Neuron  ก็วันนี้แหละค่ะ  นึกว่าตัวเองรักษามั่วมาตั้งนาน  เพราะแม้แต่กิจกรรมการลุกจากเตียงของคนไข้  หนูก็ไม่ยอมให้มีการเกี่ยวขาช่วย  มันก้อเลยไม่เหมือนที่เรียนกันมา  ก็กลัวว่าตัวเองจะทำไม่เหมือนใคร  555


ปล.  ในความคิดของหนู  การทำกิจกรรมต่างๆ ในคนไข้ผู้ใหญ่มีโปรแกรมที่ดีอยู่แล้ว  เราไม่ควรใส่โปรแกรมการเคลื่อนไหวใหม่ๆ มากเกินไป  ต้องเห็นว่าจำเป็นจริงๆ เท่านั้น  แค่เราดึงมันออกมา คนไข้ก็ทำได้ดีแล้วน้า


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท