เรื่องรายวันของผู้หญิงวัยกลางคน


ตำแหน่งหน้าที่การงานดูเหมือนจะไร้ค่าเมื่อต้องมานั่งเบียดคนในที่แคบๆ ขอเพียงเอาตัวรอด พยายามเบี่ยงตัวไม่ให้สัมผัสใครที่นั่งใกล้ และระวังหลบลมหายใจของของคนที่นั่งติดกันได้ ก็เป็นผลสำเร็จที่เพียงพอแล้ว

เช้านี้ หมอกควันที่ปกคลุมถนนคดโค้งหนาทึบ จนแทบจะไม่เห็นแสงแดดยามเช้าที่ลอดผ่านใบไม้หนาทึบลงมา

เธอคว้าชายเสื้อกันหนาวที่สะบัดด้วยแรงลมให้กระชับตัว เมื่อรถสองแถวแล่นเข้ามาจอดรับอย่างกระทันหัน

แรงลมพัดหอบฝุ่นที่คลุ้งเข้าโปรยปรายให้กับคนโดยสารเกือบทั้งคันรถ
บางคนก็หันมามองเธอที่งกเงิ่นขึ้นด้านท้ายรถอย่างไม่คุ้นเคย แต่อีกหลายคนแค่เหลือบตามองก่อนจะหลับตาต่อ

รถสองแถวระหว่างจังหวัดตอนเช้ามืดจะแน่นไปด้วยผู้คนที่ต้องเข้าไปในตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนมากคือผู้หญิงและเด็กนักเรียน

เบียดสะโพกเข้านั่งตัวลีบตรงท้ายรถ
นึกดีใจอยู่ไม่น้อยที่ได้นั่งตอนท้าย
อย่างน้อยกลิ่นที่ติดตัวจะไม่รบกวนใคร

ถ้าเพียงแต่รถส่วนตัวไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องมานั่งอึดอัดใจอย่างนี้ เธอนึกในใจ

เธอเอียงคอมองลอดช่วงแขนของผู้ชายที่ยืนโหนตรงบันไดรถออกไปข้างนอก จนเกือบเมื่อยคอ แต่ดูเหมือนว่าผู้โดยสารคนอื่นก็คุ้นชินกับท่านั่งเอียงคอ จะเพราะไม่ต้องอึดอัดกับการมองหน้าคนตรงข้ามในรถที่แน่นอย่างนั้นหรือเพราะกระโปรงแคบบังคับก็สุดคาดเดา

บรรยากาศรอบตัวเหมือนจะรัดแน่น ตำแหน่งหน้าที่การงานดูเหมือนจะไร้ค่าเมื่อต้องมานั่งเบียดคนในที่แคบๆ
ขอเพียงเอาตัวรอด พยายามเบี่ยงตัวไม่ให้สัมผัสใครที่นั่งใกล้ และระวังหลบลมหายใจของของคนที่นั่งติดกันได้ ก็เป็นผลสำเร็จที่เพียงพอแล้ว

"ป้าลงไหน"
คนขับรถอายุประมาณสามสิบถามเธอก่อนจะคำนวณค่าโดยสาร

"ป้า" คำนี้เรียกสายตาคนอื่นได้พอสมควร

หลายคนหันมามองอย่างผาดๆ เมื่อเธอสบตาก็เมินหนี

ก็คงน่าสนใจดี เธอคิดอย่างขมขื่น
ผู้หญิงวัยสี่สิบอย่างเธอ ผมสั้นกระเซิงด้วยแรงลม ใส่แว่นสายตา หน้าไม่แต่ง ถึงผิวพรรณสะอาด เล็บตัดสั้นไม่เคลือบ แต่สวมกางเกงยีนกับรองเท้าผ้าใบ แถมมีกลิ่นกระเทียมติดมือแต่เช้า ดูจะผิดแผกจากคนทำงานคนอื่นไม่น้อย

เช้าๆ อย่างนี้ เกือบทุกคนในรถที่ส่วนมากอยู่ในวัยเดียวกับเธออยู่ในชุดสวยงาม กระโปรงสั้น รองเท้าส้นสูง แต่งหน้าเคลือบสีเล็บ น้ำหอมกรุ่นติดตัว ถึงสายตาอิดโรย ไม่มีแววมิตรภาพ ก็ตาม

เธอบอกสถานที่และจ่ายเงินด้วยสีหน้าเรียบเฉยเหมือนกับคนอื่นๆ

.....

บ่ายแล้ว
เมื่อเสร็จธุระจากโรงพยาบาลที่ไปตรวจตามนัด

บนรถโดยสารสายเดิม

เธอวางของพะรุงพะรังบนตัก
นึกถึงคำของหมอผู้หญิงวัยต้นๆยี่สิบเมื่อเช้า

"พี่ไม่เป็นอะไรหรอกค่ะ
ผิวหน้าหนาวก็จะคันง่าย เป็นผื่นได้ง่าย ก็ตามวัยด้วยนะคะ อายุเยอะขึ้นก็จะแพ้ง่ายเป็นธรรมดา ก็อย่าอาบน้ำนานนะคะ ทาโลชั่นมากหน่อยนะคะ"

..
"น้องไปลงไหน"

เสียงของผู้หญิงอีกคนวัยเกือบสี่สิบที่นั่งติดกันเรียกเธอกลับสู่ความเป็นปัจจุบัน

บนตักของเธอคนนั้นก็มีแต่เข้าของ ส่วนมากเป็นของกินของใช้เหมือนกัน
"ซื้อปลาไปทำอะไร"
เธอถามต่อแบบมีไมตรี ก่อนที่ผู้หญิงวัยเดียวกันคนอื่นๆในรถจะเข้าร่วมสนทนา

"ทำงานหรือเปล่า"
"เรียนอะไรมา"

เธอขยับตัวกับคำถามเรื่องส่วนตัวเหล่านั้น

นี่ถ้ารถส่วนตัวไม่เสีย ก็ไม่ต้องมานั่งอึดอัดอย่างนี้ เธอคิดอีกรอบ

แต่ดูเหมือนคำถามเหล่านั้นเป็นแค่หัวข้อสนทนาปกติของผู้หญิงชาวบ้านวัยกลางคน

และไม่มีใครสนใจมากนักที่เธอจะไม่ค่อยตอบคำถาม

แล้วบทสนทนาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

"ไม่ไหวนะ ของแพงเดี๋ยวนี้ ซื้อของกินทีใจหาย"
"นั่นซิ แล้วเดี๋ยวนี้ซื้อกับข้าวสำเร็จไม่พอกินเหมือนเมื่อก่อน"
"แต่ลูกไม่กินที่ทำหรอกนะ เขาว่าไม่ทันไปโรงเรียน ต้องไปซื้อกิน"
"โอ๊ยผู้หญิงเดี๋ยวนี้ก็ไม่ทำกับข้าวกันแล้วล่ะ เราพวกที่ทำอยู่เนี่ย พวกโบราณ"
"คนเดี๋ยวนี้ไม่ทำกับข้าวกินเองแล้ว อย่างไก่ หมู ปลา เนี่ยลูกบอกว่าไปซื้อที่เขาทำซิ ง่ายดี มือไม่เหม็นด้วย แต่ก็ชอบทำเองมากกว่า อยากกินรสไหนก็ได้"
"กับข้าวสำเร็จรูปเดี๋ยวเนี่ยใส่สารอะไรบ้างก็ไม่รู้"
"แฟนไม่กินกับข้าวนอกบ้าน ต้องเราทำเอง เปิ้นว่ากินนอกบ้าน กินไม่อร่อย"

เธอกวาดสายตาผ่านอย่างทั่วถึงทั้งคันรถอย่างสบายใจ

ผู้หญิงเกือบทั้งคันรถ
ค่อนข้างท้วม เสื้อสำเร็จรูปที่ไม่ค่อยเข้ารูปนัก กางเกงขายาว
บ้างแต่งหน้า บ้างไม่แต่ง ฝ้ากระจายแถวโหนกแก้ม
เล็บมือไม่เคลือบ นิ้วแห้งแตก
มีของกินวางเต็มตัก
คุยและหัวเราะเสียงดัง


ต่างก็เรียกตัวเองเป็นป้ากับคนขับรถอย่างไม่ขัดเขิน

เธอ แอบยกมือขึ้นดม
กลิ่นกระเทียมทำกับข้าวให้ครอบครัวเมื่อเช้าเริ่มจาง

แต่กลิ่นไมตรีที่กำจายเต็มคันรถเริ่มแทรกเข้าเนื้อตัวของเธอ

บางทีการที่รถส่วนตัวเสีย ก็ดีเหมือนกัน เธอนึกในใจ

อย่างน้อยก็ทำให้ได้เรียนรู้ความหลากหลายของผู้หญิงวัยกลางคนถึงจะอยู่ในสังคมไทยเดียวกันก็ตาม

แล้วสังคมไทยควรเป็นอย่างไหนนะ ที่จะทำให้ผู้หญิงวัยกลางคนอยู่ได้อย่างมีความสุข

คำหลัก: midlife  women
โดย จันทรรัตน์   ลิงค์ที่อยู่ถาวร   ความคิดเห็น (5)
สร้าง: อ. 28 ก.พ. 2549 @ 13:31   แก้ไข: อ. 28 ก.พ. 2549 @ 13:31
ความคิดเห็น
ไม่มีรูป
ล.บ.
เมื่อ พ. 08 มี.ค. 2549 @ 22:13 [14617]

การรวมกลุ่มนะ..ผมว่า

ผู้หญิงวัยนี้ น่าจะมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่ทุกคนในกลุ่มช่วยกันคิดช่วยกันวางแผน

พวกเธอผ่านอะไรมามากพอที่จะทำประโยชน์กับสังคมอย่างจริงจังและไม่ท้อถอยถือว่ามากด้วยประสบการณ์

เสียดายที่สังคมเราขาดการรวมกลุ่มแบบที่ไม่ใช่การสุมหัวแบบไทยๆ

P
ดอกไม้ทะเล
เมื่อ อา. 08 เม.ย. 2550 @ 18:31 [217535]

น่ารักจังเลยค่ะ...อาจารย์จันทรรัตน์

ดิฉันชอบเรื่องนี้มากค่ะ    เลยเข้ามาเรียนขออนุญาต  ให้เด็กๆอ่านและจับแก่นของเรื่อง ในรายวิชาการเขียนสร้างสรรค์เชิงวารสารศาสตร์นะคะ   เด็กๆจะได้ข้อคิดที่ดี เพราะคุณพ่อคุณแม่ของเขา  ส่วนใหญ่อยู่ในวัยนี้ค่ะ

P
จันทรรัตน์
เมื่อ จ. 09 เม.ย. 2550 @ 00:00 [217905]

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ ดอกไม้ทะเล

ด้วยความยินดีค่ะ ถ้าบันทึกจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

เป็นวิธีเขียนที่เอามาทดลองทำค่ะ คือการบันทึกถอดบทสะท้อนของความคิดและอารมณ์ โดยใช้ข้อมูลและประสบการณ์ .........

แต่บางทีนักวิชาการอาจจะไม่ค่อยมองว่าเป็นเรื่องของความรู้ ...ในการประเมินบทความนักวิชาการส่วนมากจึงมักจะเน้นรูปแบบการเขียนที่มีกรอบ คือเริ่มด้วยบทนำ เนื้อเรื่อง สรุป ว่าเป็นลักษณะวิชาการที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งของสร้างความรู้คิดว่าผ่านขบวนการของการมีภาพเกิดขึ้นในใจ แล้วจึงถ่ายทอดลงไปเป็นตัวอักษรอีกที....

อาจจะไม่ตรงกับวิชาการแบบที่เห็นทั่วไปนะคะ...เพราะโดยส่วนตัวคิดว่า...ถ้าไม่ยึดแน่นกับความคิดใดความคิดหนึ่ง..การถ่ายทอดความรู้ ก็มีได้หลายแบบ มีบล็อกอยู่แล้วก็เลยลองเขียน เผื่อบางทีอาจจะเจอคนที่คิดคล้ายๆกันบ้างน่ะค่ะ

ถ้าอาจารย์จะพอมีเวลาเล่าให้ฟังนะคะ อยากทราบว่าเด็กๆ อ่านแล้วจะให้ข้อคิดกลับอบ่างไรบ้าง

ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

P
ดอกไม้ทะเล
เมื่อ อ. 10 เม.ย. 2550 @ 14:48 [219870]

ดิฉันคิดว่า  การเขียนด้วยภาษาสร้างสรรค์ ถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นไปในแง่มุมต่างๆของชีวิตมนุษย์เช่นนี้  มีค่าต่อจิตใจอย่างสูงค่ะอาจารย์ 

สงสัยจะเป็นเพราะว่า ภาษาที่เขียนแบบสร้างสรรค์   เป็นภาษาที่เอื้อต่อการถ่ายทอดเรื่องราว  อันเนื่องด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และจินตนาการ  อันเป็นรูปแบบรับรู้ของจิตใจมนุษย์

(ใจ รู้ร้อน รู้หนาว รู้เจ็บ รู้ปวด รู้สุข รู้ทุกข์ )

อ่านข้อเขียนและข้อคิดที่อาจารย์เขียนไว้ทุกบล็อกแล้วนี้  ทำให้ดิฉันเห็นจริง  ด้วยภาษาง่ายๆ สั้น กระชับ  จับใจ   ตรงไปตรงมา แบบผู้มองและเห็นธรรมดาของชีวิต 

ยิ่งทำให้ดิฉันรู้สึกสบายกายสบายใจ  มีความเบิกบานใจที่จะทำงานที่เราเชื่อ ในวิธีที่เราถนัด ต่อไปอย่างมีความสุขอะค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์อย่างยิ่งค่ะ  ที่อนุญาตให้เผยแพร่บันทึกนี้ในรายวิชาแก่นักศึกษา  เปิดเทอมนี้ดิฉันจะเข้ามารายงานผลให้อาจารย์ทราบเป็นระยะๆนะคะ

P
จันทรรัตน์
เมื่อ อ. 10 เม.ย. 2550 @ 20:52 [220298]

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ ดอกไม้ทะเล 

ดีใจที่อาจารย์มีความเบิกบานและมีความสุขค่ะ

โลกของความสุขอยู่ในใจแท้ๆ แต่หลายๆคนหาไปเจอ     เมื่ออาจารย์ได้เจอแล้ว และยังมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่มีความสุขจึงเป็นเรื่องน่ายินดีมากค่ะ

หากความรู้ทางสตรีจะเป็นประโยชน์ในการสอนนักศึกษาก็ยินดีค่ะ

หมายเลขบันทึก: 99836เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
มาเยี่ยม...คุณ
P

อ่านแล้วเห็นภาพเลยนะครับ...

ผมไม่ได้ขึ้นรถสองแถวนานแล้ว...เป็นกรรมของผมเองครับ...ทางสงขลาตอนนี้มีเห็นรถสองแถวเพราะปรับเป็นรถสามแถวแล้วครับผม...

  • อาจารย์ค่ะขออนุญาตหนูนิดบอกข่าวกุศลช่วยเหลือคนพิการให้มีแขนขาเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยนะค่ะ จะได้ทำบุญกุศลร่วมกัน รายละเอียดตามนี้นะค่ะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ

http://gotoknow.org/blog/Myself/99993

  •  เอาโครงงานภาษาอังกฤษมาส่งครับ ฮ่าๆๆ
  • ชอบจังเลยครับ
  • การอยู่กับชุมชนและใกล้ชิดชุมชนบางครั้งก็มีข้อดีมากกว่าจะแปลกแยกไปจากชุมชนครับผม
  • ได้รับความอบอุ่นดีถ้ามีการพูดคุย
  • ขอบคุณมากครัผม
  • มาอีกรอบ
  • เอาหัวใจ
  • สดใสๆๆๆมาฝากครับผม
  • ขอบคุณครับ

ชอบจังเลยค่ะอาจารย์  ขออนุญาตเรียนแสดงความคิดเห็นว่าสนุกอยากอ่านแนวนี้อีกค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ UMI  หนูนิด  อาจารย์น้องขจิต และคุณ bigC

 

ขอบคุณค่ะ.....ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น......^__^

พี่เข้ามาตามแนะนำ

ชอบมากครับคล้ายเขียนสไตล์เรื่องสั้นแต่เป็นเรื่องจริง

พี่ชอบวิธีการเขียนแบบนี้ครับ อ่านง่ายสนุกและมีสาระ ได้อารมณ์  ได้บรรยากาศ ได้ความรู้สึก เหมือนดูหนัง เหมือนเรานั่งอยู่ที่นั่นด้วย  เพียงคนเขียนจูงเรื่องราวไป ดีมาก ชอบมาครับ

  • ธุ อาจารย์เจ้าค่ะ..

เวลาขึ้นรถสองแถวต้อมจะเอาหูฟังเสียบหูซะ   บางทีสายตาแสนซนก็ไปปะทะไปใครเข้าให้   ทำได้ก็แค่ส่งยิ้มไป  กลับเข้าสู่ภวังค์ดีกว่า  อิอิ  ก็หนูขี้อายนิ   แต่หากใครชวนคุยมา  ต้อมก็ตอบไปนะ   ถึงจะเป็นตอบแบบสั้นๆ ก็เถอะ

ต้อมว่าผู้หญิงวัยกลางคนอยู่ได้ในสังคมไทยอย่างมีความสุขอยู่แล้วค่ะ     อยู่ได้ด้วยความภาคภูมิใจในมิติทางวุฒิภาวะ ตลอดจนคุณสมบัติมากมายของตัวเอง    เนี่ย..นับวันรอที่ตัวเองจะเป็นผู้หญิงวัยกลางคนที่มีความสุขที่สุดในโลก((ของตัวเอง))อยู่เชียวนะนั่น  อิอิ   ^_^

ขอบคุณอาจารย์สร้อยนะคะ  แหม..อยากเขียนเก่งๆ แบบอาจารย์มั่ง

 

 

ขอบคุณค่ะ พี่บางทราย และน้องต้อม......เจอคำชมรู้สึกปลื้มมากค่ะ...

วันนี้ไปเรียนรู้ชีวิต  ไปวัด มาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท