ไปวัด


การไปวัดแบบคนเชียงใหม่ดั้งเดิมก็เป็นไปเหมือนครั้งที่ฉันยังเป็นเด็กค่ะ...และวัดของคนบ้านนอกแบบฉันก็ยังเป็น "สิ่งที่มากกว่าสถานที่ปฏิบัติศาสนา"

P1000261

วันนี้เป็นวันพระแรม 15 ค่ำ เดือน 12

ตั้งใจไปวัดกับแม่เหมือนทุกครั้ง....นับเกือบปีมานี้ ถึงวันพระ ฉันจะกลับไปนอนที่บ้านเพื่อทำหน้าที่เตรียมอาหาร ดอกไม้ ธูปเทียนไปวัด...ที่ผ่านมาฉันเพียงแต่เตรียม ไปส่งแม่ ตักบาตรแล้วก็กลับก่อนแม่เพื่อจะเตรียมตัวมาทำงาน

วันพระสองครั้งแล้วที่ตรงกับวันอาทิตย์..แม่บอกว่าถ้าไม่รีบก็อยู่รอรับศีลรับพรซิ...ฉันก็เลยได้ "เข้าวัดเข้าวา"  ดีเหมือนกัน

ไปวัดแบบคนเชียงใหม่ ไม่รู้ต่างจากชาวพุทธอื่นๆไหมนะคะ

ก่อนอื่นของที่เตรียมนอกจากอาหาร ดอกไม้ ธูปเทียนแล้ว จะต้องมีน้ำสำหรับ "หยาดน้ำ" (กรวดน้ำ) ด้วย

ที่วัด เราจะไหว้ศาลเจ้าพ่อ พระพุทธรูป ต้นศรีมหาโพธิ์ แล้วจึงขึ้น "วิหาร"

ในวิหารที่เห็นในรูป ..จะมีพานสำหรับวางดอกไม้ธูปเทียน เรียกว่า "ขันพระพุทธ" แล้วจะมี "ขันแก้วทั้งสาม" สำหรับวางดอกไม้ ธูปเทียน

ส่วนอาหารที่เตรียมมาก็จะแยกบาตรข้าว และถาดใส่กับข้าวคาวหวาน

ไม่มีเรี่ยไรเงิน แต่มีหีบบำรุงน้ำไฟและการศึกษาพระเณรตั้งไว้ ก็ใส่เงินกันตามกำลังศรัทธา

พอถึงเวลาที่ทุกคนพร้อมแล้ว....ฉันเน้นคำว่าพร้อมแล้วไม่ใช่ถึงเวลาตามนาฬิกาแล้ว เพราะฉันเพิ่งรู้ว่าชาวบ้านยังรอกันจนเห็นว่ามาครบแล้ว...อาจารย์วัด จึงจะเริ่มนำสวดมนต์ทำวัตร แผ่เมตตา น้ำที่เตรียมมาก็จะ "หยาด" กันตอนนี้ช่วงหนึ่ง

จากนั้นพระและเณรก็จะ "ขึ้นวิหาร" มีการกราบพระ ประเคนข้าวปลาอาหาร ขันดอก จากนั้นก็ขอสมาทานศีล พระท่านก็จะให้ศีล แสดงพระธรรมเทศนา ให้พร ตอนนี้ก็หยาดน้ำอีกรอบ  มีการอุทิศส่วนกุศล กราบลาพระ แล้วสิ้นสุดที่ขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

หมดพิธี  พระท่านก็จะมีประกาศเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบุญ เช่นวันนี้ก็ประกาศเรื่องการไปร่วมงานเททองพระพุทธรูปของวัดอีกแห่งหนึ่ง หากใครจะไปร่วมก็ให้มาขึ้นรถพร้อมกันที่วัดแล้วก็นัดหมายเวลา

เมื่อเรียบร้อยแล้วก็กลับได้ แต่ส่วนมากคนไปวัดก็จะทักทายกัน บางคนเตรียมอาหารมาเผื่อกันก็เอาให้กันตอนนี้ วันนี้มีคนเอา "ข้าวหนุกงา" (ข้าวเหนียวตำกับงาใส่เกลือนิดหน่อย) มาแจก...ฉันเลยถึงบางอ้อ เพราะว่าแม่มักจะเก็บขนมไว้ไม่ใส่บาตรทั้งหมด ...เอามาแลกแจกกันอย่างนี้เอง

ออกจากวัดก็นำน้ำที่หยาดนั้นไปเทให้ต้นไม้นอกวัด เพราะเชื่อว่าเวลาเราหยาดน้ำ เราอุทิศให้ทั้งผู้ที่เรานึกถึงไปจนถึงสิ่งที่เรามองไม่เห็น เพราะวัดมีเขตที่ "สิ่งที่มองไม่เห็น" อาจจะไม่มีบารมีพอที่จะเข้าวัดได้ การเอาน้ำมาเทต้นไม้นอกวัดก็เลยเป็นการเผื่อแผ่ให้ไปด้วย

การไปวัดแบบคนเชียงใหม่ดั้งเดิมก็เป็นไปเหมือนครั้งที่ฉันเป็นเด็กค่ะ...และวัดของคนบ้านนอกแบบฉันก็ยังเป็น "สิ่งที่มากกว่าสถานที่ปฏิบัติศาสนา" อย่างนี้แหล่ะค่ะ

วันนี้วันพระและฉันก็ได้ไปทำบุญ อธิษฐานเผื่อแผ่ให้ทุกๆคนและ "สิ่งที่มองไม่เห็น" ได้รับผลบุญด้วย...ถ้าท่านใดได้แวะมาอ่าน ก็ขอให้ได้รับผลแห่งบุญที่เต็มใจมอบด้วยนะคะ...

ขอให้วันนี้เป็นวันแห่งความสุขของคุณๆ ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 152384เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2007 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • มาสาธุๆๆๆ
  • ดีจังเลยได้ทำบุญ
  • น้องได้เรียนเรื่องสมัยก่อน
  • ถ้าคุณยายไม่เล่า
  • หลานๆก็ไม่ทราบ
  • อิอิอิอิๆ

โห....อาจารย์น้องขจิต....แม่อุ้ยสำลักเลย...อิอิ

รับบุญไปเยอะนะคะ...จะได้อิ่ม..ไม่ต้องกินข้าวมื้อเย็น...

  • ธุ อาจารย์สร้อยค่ะ ..

อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แล้วนึกถึงสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็ก    ต้อมก็มักจะไปวัดไปแม่เสมอ    บรรยากาศเป็นไปอย่างที่อาจารย์เล่าจริงๆ    พอมาถึงตอนนี้ต้อมกลับกลายเป็นคนห่างไกลวัดไปเสีย    ได้แต่สวดมนต์ไหว้พระอยู่ที่บ้าน  

 

จำได้ว่าสมัยเด็กๆโรงเรียนจะหยุดวันพระ เพื่อให้คนไปทำบุญกัน พอโตมากลับเปลี่ยนเป็นหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ตามแบบสากล  เลยกลายเป็นคนห่างวัดไป

แต่ก็บวชนะ หนึ่ง พรรษาแน่ะ และเมื่อย้ายไปอยู่อีสาน ก็ไปนิมนต์พระที่วัดมาบินฑบาตรที่หมู่บ้าน จนครอบครัวอื่นไพลอยใส่บาตรไปด้วยจนปัจจุบันนี้

น้องจันทรัตน์ไปวัดน่ะดีมากเลย  ภาคเหนือทำบุญกันที่วิหาร ภาคกลางทำบุญกันที่หอสวดมนต์กลางวัดที่มีกุฏิพระล้อมรอบ

ภาคกลางเมื่อพระสวดและฉันท์ข้าว ญาติโยมจะแลกอาหาร แลกขนมกัน

ข้อดีของการเอาเด็กไปวัดคือ

  • ได้พบญาติผู้ใหญ่ หรือเครือญาติที่พ่อแม่มักจะพาไปแนะนำและให้กราบไหว้
  • ได้พบเพื่อนบ้านที่ปกติอาจจะไม่ค่อยได้พบกัน ได้คุ้นหน้าตาว่าใครอยู่ในหมู่บ้านเราบ้าง
  • ได้รู้ข่าวคราวต่างๆ เพราะการไปทำบุญ ผู้ใหญ่เขาก็จะคุยเรื่องต่างๆ เด็กๆก็นั่งฟัง เรื่องนั้นเรื่องนี้ ข่าวครคาวต่างๆ ใครเกิด ใครตาย ใครเจ็บป่วย ใครไปอยู่กรุงเทพฯ ใครประสบผลสำเร็จ ใครล้มเหลว ฯลฯ เป็นการ update ข่าวหมู่บ้านไปด้วยในตัว
  • เป็นการฝึกกิริยามารยาทแบบไทยๆ ต้องกราบพระอย่างไร ต้องเข้าหาผู้ใหญ่อย่างไร เข้าหาพี่ ป้าน้าอาอย่างไร เดินผ่านผู้ใหญ่ทำอย่างไร ถวายของพระทำอย่างไร หยาดน้ำให้ผู้ล่วงลับไปแล้วทำอย่างไร ฯลฯ วันพระเป็นสันปฏิบัติของจริงเรื่องประเพณี มารยาทแบบไทยเรา
  • ใกล้ชิด ศีล ธรรม ความดี ความชั่ว คุณธรรม เพราะผู้เฒ่าผู้แก่จะสั่งสอนลูกหลาน เมตตาแก่ลูกหลาน เรียกเข้าไปพบและแนะนำสิ่งดีดีที่เป็นมงคล บางทีก็ได้สตางค์มาด้วย อิ อิ
  • ดูการแต่งตัวไปทำบุญ จะเรียบร้อย ตั้งแต่ง่ายๆเรียบๆ ไปจนพิถีพิถันกันหน่อยเพราะจะพบคนทั้งหมู่บ้านมาทำบุญกัน เขามักจะเอาลูกหลานมาด้วย ซึ่งมักมีวัตถุประสงค์ให้ไปรู้จักผู้ใหญ่ในสายสกุล หรือใกล้ชิด หรือที่เคารพนับถือ
  • รู้จักสภาพแวดล้อมของวัด  เพราะมักไปกันแต่เช้า ซึ่งมีเวลาเดินเที่ยวชมวัด ดูโน่นดูนี่ ดูโบสถ์ วิหาร ดูเจดีย์ที่ใส่กระดูกผู้วายปราณ บางทีก็เป็นญาติพี่น้องเราเอง ต้นสกุลเราเอง  เราก็คุ้นชินกับการเกิดแก่เจ็บตาย
  • บางวัดก็มีป้านคำขวัญ ภาษิต คำสอนต่างๆ ที่มักเรียกกันว่า ต้นไม้พูดได้ อ่านไปมาก็ได้ข้อคิดบ้าง ได้สติบ้าง  อย่างน้อยก็คุ้นชิน ติดตาติดหูไปวันข้างหน้า 
  • บ้านกับวัดจึงเป็นของคู่กันที่เรามักเห็นคำกลอนเหล่านี้ว่า
  • วัดจะดี... มีหลักฐาน... เพราะบ้านช่วย
  • บ้านจะสวย... เพราะมีวัด...  ดัดนิสัย
  • บ้านกับวัด... ผลัดกันช่วย...  ยิ่งอวยชัย
  • ถ้าขัดกัน... ก็บรรลัย..ทั้งสองทาง

 

  • อนุโมทนาสาธุ 
  • ตาม อ.สร้อย มาทำบุญด้วยค่ะ
  • ขออนุโมทนาบุญด้วยนะคะ
  • ได้ทราบวิธีการเข้าวัดของชาวเหนือด้วย
  • อยากให้ศาสนาทุกศาสนาปรองดอง และมีสันติ ช่วยดับทุกข์ร้อนที่เกิดในบ้านเมืองเราด้วยนะคะ

แวะมารับบุญด้วยค่ะ 

แม้จะอยู่คนละภาคแต่หัวใจเดียวกัน

ครั้งต่อไปหนูจะเล่าไปวัดทางภาคใต้ให้ฟังค่ะ  ตอนนี้ขอไปเก็บข้อมูลก่อน

พี่บางทรายคะ....สุดยอด....ขอบคุณค่ะ....ชอบจังอยากอ่านอีก....

ตอนนี้...วันพระที่ไม่ใช่ช่วงเข้าพรรษาและไม่ใช่วันสำคัญ..คนไปวัดมีนิดเดียวค่ะ...ประมาณ 20-30 คนเท่านั้น..และก็ผู้หญิง(อายุมากๆ) มากกว่าผู้ชาย ซะด้วยซิคะ...

ไปวัด..เห็นอีกอย่างคือ ทางเหนือจะจัดลำดับที่นั่ง...ใกล้พระประธานจะเป็นผู้ชาย..ถัดมาเป็นผู้หญิงค่ะ...วันนี้สังเกตเห็นว่า แต่ละคนจะมีที่นั่งของตัวเอง...คนไปใหม่จะต้องเรียนรู้ "ตำแหน่ง" ของคนที่ไปประจำด้วยค่ะ...ได้ไปบ่อยๆ คงได้เรียนอะไรอีกหลายอย่าง...ที่ไม่มีในตำราค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณ naree suwan และคุณละเอียด ศรีวรนันท์ ศรีวรนันท์ ...

ดีใจที่แวะมาค่ะ....รออ่าน "ไปวัด" ของแต่ละที่ แต่ละภาคฯ ด้วยค่ะ....

สาธุ..

น้องจันทรัตน์ครับ พี่บ้ายอ..

น้องบอก...เอาอีก...เอาอีก...  พี่ก็ขยับอีกสักหน่อย

การไปวัดวันพระ  การทำบุญตามประเพณีต่างๆ หรือพิธีกรรมต่างๆของสังคมไทยแบบเดิมๆนั้นน่ะ  คือต้นทุนทางสังคมไทย  และประเพณีก็คือกลไกทางสังคมที่เป็นตัวสร้างเสริม หนุนเสริมทุนทางสังคมไทยดีที่สุด ที่สุด ที่สุด

 

คนมองไม่เห็น  เห็นแค่พิธีกรรม  แล้วก็บอกว่างมงาย ล้าหลัง คร่ำครึ ไม่เห็นจะน่าไปเลย  ไปเดินห้างดีกว่าเจริญหูเจริญตากว่า....

นี่แหละสังคมไทยที่มองเห็นแค่รูปแบบ แต่ไม่เห็นสิ่งที่ได้ซึ่งเป็นนามธรรม ต้องใช้ตาปัญญามอง ถึงจะเห็น..

เราบอกว่าบ้านเรามีทุนทางสังคมเป็นรากเหง้าที่ดีมาก แต่ไม่รู้ว่าจะสร้างมันขึ้นมาอย่างไร ไปทำอะไรกันก็ไม่รู้  แค่ส่งเสริมให้คนทำตามประเพณีเดิม  แต่อย่าไปจัดงานแบบราชการนะ  นั่นมันเป็นการโชว์พิธีกรรมมากกว่าการทำแบบเดิมๆ

ประเพณีของเราพัฒนามาเป็นร้อยๆปี แล้วจู่ๆก็มาโดนวัฒนธรรมตะวันตกกลืนไปหมด เด็กไม่ไปวัด แต่ไปห้าง  เด็กไปงานบุญก็เพื่อเล่นกับเพื่อน แต่ไม่มีใครสอนสั่ง แนะนำให้ทำตามประเพณี ที่ปู่ย่าตายายเขาทำมา

พี่เคยไปงานศพเพื่อนที่วัดพวกช้าง เชียงใหม่ เห็นคุณยายแก่ๆ 3-4 คนมานั่งทำดอกไม้  พี่ก็แปลกใจว่าเพื่อนพี่ไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่ทำไมมี อุ้ยมานั่งทำดอกไม้ตั้งหลายคน สอบถามพบว่า ไม่ใช่ญาติโกโหติกาแต่อย่างใด แต่เป็นศรัทธาวัด เมื่อทราบว่ามีศพ แม่อุ้ยก็ชวนกันมาทำบุญให้ศพ โดยการมาทำดอกไห้ โดยไม่ต้องเชิญ  ไม่ต้องวาน ไม่ต้องจ้าง มาด้วยใจ

น้องจ๋า...มันงามสะไม่เมี๊ยะ...งามจริงๆจิตใจแม่อุ้ยเราแบบนี้   นี่ไงล่ะทุนทางสังคม  ไปหาที่ไหนกัน  ไปมัวสร้างทุนสังคมแบบไหนกัน  มองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ 

มันเสริมสร้างสิ่งที่เรามีนี้ได้มิใช่หรือ...พิจารณาเถิดวัฒนธรรม ประเพณีเดิมๆของเราน่ะ ของดีทั้งนั้น  ทุนทางสังคมทั้งนั้น  เอาแก่นมันออกมา อย่าไปเอาเปลือก สนับสนุนไปวัดครับ  สนับสนุนเข้าร่วมประเพณีไทยแบบเดิมๆของเรา

 

ลอยกระทงที่ผ่านมา.... สังคมโบราณสอนให้เราเคารพธรรมชาติ ใช้ประโยชน์เขาแล้ว ก็มานั่งพิจารณาว่าเราควรทำดีดีกับเขาอย่างไรบ้าง การทำกระทงลอยส่วนหนึ่งก็สร้างจิตใจให้อ่อนน้อมลงมาพิจารณาน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญแก่วิถีไทย

ช่วยให้มีจิตใจผูกพันกับธรรมชาติ มิใช่ใช้ประโยชน์เขาอย่างเดียว

 

อีสานมีวัน 3 ค่ำเดือน 3 หรือวันเปิดประตูเล้าข้าว นี่ก็งดงามมาก เมื่อทำพิธีบอกผีที่เฝ้ายุ้ง ฉางข้าวแล้วก็เอาฝ้ายไปผูกเขาวัว เขาควาย ..... เพื่อขอโทษที่ใช้งานเขาอย่างหนักในฤดูกาลทำนาที่ผ่านมา ตีเขา ทุบเขาเพื่อให้ไถนา  มาวันนี้ก็เอาน้ำเอาหญ้าอ่อนให้เขากิน ลูบหัวลูบตัวเขา  และขอให้มีลูกเพื่อออกมาใช้งานต่อไปอีก  เป็นการเคารพต่อสัตว์เลี้ยง  คนเราเมื่อทำสิ่งนี้ได้ แสดงถึงจิตใจที่อ่อนโยน ผูกพันกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง รักเขา และเมตตาเขา ....  ดูสิประเพณีของไทยเราน่ะดีดีทั้งนั้น  ล้วนแต่เป็นทุนทางสังคม เป็นสายใยที่หนุนเนื่องทุนทางสังคม  เป็นองค์ประกอบและเป็นฐานที่สำคัญของทุนทางสังคม  อันเป็นความปรารถนาของเรามิใช่หรือ..

พิธีกรรมนี้ยังเอามูลวัวควายไปใส่นาอีกด้วยในช่วงสายวันนั้น  และขณะเดียวกันก็มีการทำอาหารคาวหวานเลี้ยงญาติพี่น้อง พงษ์เผ่า ตระกูลกัน เรียกมารวมกันที่บ้านหลังใหญ่ที่พ่อแก่ แม่แก่อาศัยอยู่ มีการผูกข้อมมือพ่อใหญ่แม่ใหญ่ กราบขอพรท่าน อวยพรให้ท่าน บางครอบครัวก็เอาผ้าใหม่มาให้ เอาเงินทองให้ เป็นการแสดงคารวะ เคารพผู้เป็นเสาหลักของตระกูล  แล้วก็กินข้าวกินปลาร่วมกัน......นี่ไงทุนทางสังคม ที่ประเพณีของเรามีเสริมความผูกพันกันตลอดทั้งปี พิธีกรรมก็สร้างความกลมเกลียว รักใคร่กันและกัน นี่คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ที่เรียกว่า Social cohesion ก็คือทุนสังคม

 

งามจริงๆน้องจันทรัตน์ครับ

น้องต้อมคะ....

เมื่อก่อนพี่ก็เหมือนน้องค่ะ..ไปวัดกับยาย..ไปจนชินเพราะว่า ยายจะนอนวัดวันพระ หลานๆ ต้องช่วยหอบหิ้วที่นอนไปส่ง ...

แล้วพี่ก็"ห่างวัด" ไปนานจนกลายเป็นคนแปลกหน้า  ในช่วงแรกๆ ที่ไปส่งแม่..ก็จะมีคนถามพี่อยู่ไหน พี่ทำอะไร ..จนตอนนี้ทุกคนก็ชินกับหน้าตาของพี่แล้ว...เลยไม่ได้เป็นดาราให้คนสนใจถามอีก...ฮ่าๆๆ

น้องต้อมลองกลับไป "วัดวันพระ" อีกซะคะ...มุมที่เรามองมันต่างกับตอนเด็กๆ เยอะเลย

พี่บางทรายคะ...

ขอบพระคุณค่ะ...สิ่งที่พี่เล่า...หาไม่ได้ในตำราเลยค่ะ...ทำให้อยากลองสัมผัสด้วยประสบการณ์จริงๆ ไปเข้าใจ "ก้นบึ้ง" ของ ทุกๆ กิจกรรมที่ ก่อร่างสร้างวัฒนธรรมไทยขึ้นมาน่ะค่ะ

น้องละชอบจังเลยที่พี่เล่าเรื่อง "วันเปิดประตูเล้าข้าว" อ่านแล้วน้ำตาซึม...นึกไปถึงอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง...จิตใจคนไทยที่ว่าอ่อนโยน มีเมตตา ..มันแทรกในกิจกรรม "ประจำวัน ประจำชีวิต" อย่างนี้นี่เอง...ต้องซึมลึกเข้าไปและมองผ่านเลนส์สายตาที่เข้าใจ...ก็จะเรียงร้อยถ่ายทอดให้ต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ได้อย่างงดงามในวิถีธรรมชาติจริงๆเลยค่ะ...

สิ่งที่พี่เขียน ทำให้รู้สึกว่า ไปวัด..เรื่องง่ายๆ ..จริงๆแล้วโยงใยไปถึง "สิ่งที่ลึกซึ้ง" ...และน่าท้าทายน่าสัมผัสน่าเรียนรู้อีกหลายๆอย่าง...

ดูซิตอนเริ่มเขียนบันทึกกับตอนที่ได้อ่านความเห็นของพี่แล้ว....ความอยากเรียนรู้ของน้องแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง.....ตอนนี้พุ่งปรี้ดยิ่งกว่าปรอทเจอน้ำเดือดเลย

กราบงามๆ ให้พี่ค่ะ..

และ.....พี่คะ....พี่เขียนเรื่องราวแบบนี้ออกมาให้อ่านอีกเยอะๆนะคะ....ยิ่งกว่าชอบเลยค่ะ..รู้สึกเหมือนกำลังนั่งล้อมวงรอบกองไฟจดจ่อรอฟังเลยค่ะ..ขอบพระคุณค่ะ

 

เพื่อนจ๊ะ

  • บันทึกนี้งามทั้งรูปและงามทั้งเรื่อง
  • แวะมาเลยได้ล้อมวงฟังพี่บางทรายและใครอีกหลายคน ดีจัง
  • และพลอยให้คิดถึงตอนเด็กๆ  ที่ตามยายไปวัด เพื่อจะนั่งอยู่ข้างเสาวิหารต้นโต  ประดับกระจกสี ลวดลายเรขาคณิตรอบด้าน  ฟังผู้ใหญ่สวดมนต์ไป หิวก็แกะขนมที่ยายเตรียมไปเผื่อกิน  เบื่อก็ส่องกระจกเล่น
  • ตอนนี้ยายไม่อยู่แล้ว  แต่เสาต้นนั้นยังอยู่ให้รำลึกถึงชีวิตที่สงบสุข
  • คำตอบของเพื่อนที่มักบอกว่า วันนี้ไม่ว่างต้องไปจูงแม่ข้ามถนนไปวัด  นี่ก็ช่างน่ารักนะเธอ
  • ว่างๆ เขียนเรื่องคำแผ่เมตตาของบ้านเราบ้างสิ   เป็นวิถีของชาวเราที่ดีจัง  ทำบุญแล้วก็แผ่เมตตา  กล่าวนามอุทิศให้ทุกสรรพสิ่งอย่างทั่วถึง  ชอบมากจ้ะ

คุณเพื่อน dd_L

ดีใจจังที่แวะมาล้อมวงฟังพี่ๆ น้องๆ เล่าเรื่องราว อันสุขสงบ...และได้คิดถึงความสุขสงบ สบายใจ ในวัยเด็กด้วย...

ไปตอนเด็กกับตอนแก่แล้วอย่างนี้...ไม่เหมือนกันนะฉันว่า...บทคนแก่เล่นยากกว่าบทของเด็ก...อิอิ

บทแผ่เมตตา(กล่าวตอนหยาดน้ำ)แบบพื้นเมือง....เธอหมายถึง อิมัง ทานะกั๋มมัง นิพพานะปัจจะโย โหนตุ โน นิจจังฯ...?

ยาวหน่อยเน้อ...แต่ก็อย่างเธอว่าไว้ ...อุทิศให้ตัวเองเพื่อไปสู่พระนิพพาน อุทิศให้ทั้งบิดามารดา ญาติกาและอญาติกา เทวบุตรเทวดา เปรต ครูอาจารย์ ให้พ้นทุกข์มีสุขไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ...ทั่วถึงเลย...อิอิ

 

  • คุณสร้อยค่ะ

หมูขออนุโมทนาสาธุด้วยนะค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาค่ะ คุณหมู

ยินดีนักๆ เจ้า

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท