กระบวนการสร้างนักวิจัยชุมชน (ตอนที่ 1)


กระบวนการวิจัยที่เรียกว่า การวิจัยชุมชน "คือชุมชนคิด ชุมชนวิจัย" เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับชาวบ้าน เป็นรากฐานอันสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

กระบวนการสร้างนักวิจัยชุมชน (ตอนที่ 1)


            เมื่อวันที่ 21 – 22  พฤศจิกายน  2548 ผมและคุณสายัณห์  ปิกวงค์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7 ว สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้มีโอกาสเข้าร่วมการเรียนรู้ “การสร้างนักวิจัยชุมชน” ตามโครงการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม (SAFE  DINIDA)  ณ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน   ซึ่งเป็นการอบรมนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำความรู้ไปต่อยอดและสร้างนักวิจัยชุมชนในท้องที่ที่รับผิดชอบ  เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนได้จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาหรือแก้ปัญหาโดยชุมชนเอง  และเป็นเป้าหมายในการทำงานด้านการส่งเสริมการเกษตร ที่นักส่งเสริมการเกษตรจะต้องจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม   โดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง  บรรลุวิสัยทัศน์ในการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่กำหนดไว้ว่า “มีขีดความสามารถในการส่งเสริมการเกษตรให้มีอาชีพที่มั่นคง และพึ่งพาตนเองได้”
                สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร  ยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการสร้างให้ชุมชน หรือเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และพัฒนาโดยตัวเกษตรกรเอง ในลักษณะของการวิจัยชุมชน  ดังนั้น เมื่อมีการจัดกระบวนการฝึกอบรมให้นักส่งเสริมการเกษตรของจังหวัดน่าน ให้เรียนรู้และนำกระบวนการดังกล่าวไปดำเนินการสร้างนักวิจัยชุมชน  และจังหวัดน่านนับได้ว่ามีประสบการณ์ในการสร้างนักวิจัยชุมชน  ทางทีมงานของจังหวัดกำแพงเพชรจึงเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อจะนำองค์ความรู้และทักษะที่มีอยู่แล้วของจังหวัดน่านมาประยุกต์และปรับใช้ในเขตพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ต่อไป
                สถานที่ที่จัดการฝึกอบรม ใช้สถานที่ของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเรือง  และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่านด้วย มีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่สนใจและสมัครเข้าร่วมการอบรม จำนวน  33 ท่าน จากหลายๆ อำเภอของจังหวัดน่าน  วิทยากรหลักที่มาถ่ายทอดประสบการณ์และจัดกระบวนการ คือ ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต ผู้เชี่ยวชาญความหลากหลายทางชีวภาพ และทีมงาน โดยมีทีมของสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน นำโดยคุณพะยอม  วุฒิสวัสดิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7 ว เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่
                การจัดกระบวนการ “การสร้างนักวิจัยชุมชน” สอบถามคุณพะยอม พบว่า เคยร่วมกับ  ดร.นิพนธ์ จัดกระบวนการของตำบลเรือง ใช้เวลาประมาณ 7 เดือน โดยชุมชนมาร่วมเรียนรู้เดือนละ 1 ครั้ง  ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปฝึกทักษะไป  ต้องใช้ความอดทน จนสุดท้ายผลที่ออกมาเป็นที่น่าชื่นใจ เพราะชุมชนตำบลเรือง เกิดทีมนักวิจัยที่เป็นชาวบ้าน สามารถวิจัยและนำผลการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ชุมชนเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยคนในชุมชนเอง 
                การจัดกระบวนการ เพื่อ “สร้างนักวิจัยชุมชน” เป็นขั้นตอนที่ง่ายไม่ซับซ้อนแต่เข้าใจได้ง่าย ใช้เวลา 2 วันเต็มๆ  ตามผมมานะครับว่าจังหวัดน่านเขามีวิธีการสร้างนักวิจัยชุมชนกันอย่างไร..
เกริ่นนำ (การนำเข้าสู่บทเรียน)
                คุณพะยอม และวิทยากร ( ดร.นิพนธ์ ) ได้พูดคุยทักทาย เพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง แบบสบายๆ  เป็นรูปแบบของการเริ่มกระบวนการเรียนรู้ ที่น่าจะนำไปใช้ในการทำงานกับชุมชน  เรียบง่าย สบายๆ  ไม่เคร่งเครียด
                กระบวนการแบ่งเป็นขั้นตอน ดำเนินการเรียนรู้ทีละเรื่อง ( เรียกว่าบท จำนวน 12 บท ) โดยวิทยากรให้แบ่งกลุ่มผู้เรียนรู้ เป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 8 คน) โดยการนับจำนวน 1-4 ใครนับได้เลขอะไรก็อยู่กลุ่มนั้น (คนที่มาด้วยกันนั่งใกล้กันเลยต้องแยกกันอยู่คนละกลุ่มตามระเบียบ) วิธีการหรือกระบวนการหลักๆ ดำเนินการในทุกบท ดังนี้
          1)      วิทยากรออกคำสั่ง หรือคำถามเพียง 1 คำถาม
          2)      สมาชิกกลุ่มปฏิบัติตาม และเขียนข้อสรุปของกลุ่มลงในกระดาษฟาง (ใช้เวลา 15-30 นาที)
          3)      นำเสนอทีละกลุ่ม (เสนอทุกกลุ่ม)
          4)      วิทยากรสรุปและอธิบายถึงเหตุและผลของกิจกรรมให้กลุ่มใหญ่เข้าใจ
โดยมีการดำเนินการตามลำดับ ทีละบท ดังต่อไปนี้

        บทที่  1  การจัดการสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ
วัตถุประสงค์  เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เข้าใจในแนวคิดของการจัดการสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่มีอยู่บนโลก
คำถาม     “ให้แต่ละกลุ่มแยกกันไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน   แล้วเขียนบันทึกว่าได้เห็นอะไรบ้าง  โดยให้แบ่งกลุ่มสิ่งที่เห็นและเหตุผลในการแบ่งด้วย”
บทสรุป     การจัดกลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา และง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเป็นกระบวนการแรกของธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์ ดังนั้นนักวิจัยชุมชน ต้องช่างสังเกต และจดบันทึก การแบ่งกลุ่มให้มีความคล้ายๆ กัน เช่น พืช - สัตว์ , สิ่งมีชีวิต-ไม่มีชีวิต เป็นต้น <p>
     บทที่  2  การเรียนรู้ระบบ
วัตถุประสงค์  เพื่อให้ชุมชนมีความเข้าใจในแนวคิดเรื่องระบบ ระบบในธรรมชาติมีความสำคัญ เพราะว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงและความสำคัญของสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่มีอยู่ในระบบ และบางสิ่งที่มีความสำคัญน้อย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตหนึ่งหรือในส่วนของหนึ่งระบบที่จะมีผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของระบบทั้งหมดเป็นอย่างไร
คำถาม     “สิ่งที่เห็นจากการเดินสำรวจ เขาอยู่กันอย่างไร และให้หาดูซิว่ามีระบบอะไรบ้างจากที่เราสำรวจ”
สรุป        ความรู้นั้นมีอยู่ในธรรมชาติ หากชุมชนสังเกตบ่อยๆ ก็จะเกิดความรู้  ซึ่งจะมีทั้งที่เป็นระบบใหญ่ และระบบย่อยที่อยู่ภายในระบบใหญ่  ทุกสิ่งอยู่กันอย่างพึ่งพา ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในชุมชน (รู้วิทยาศาสตร์)
               
     บทที่  3  ความหลากหลายทางชีวภาพ
วัตถุประสงค์  เพื่อให้ชุมชนมีความเข้าใจในแนวความคิดของความหลากหลายในสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายจะเกี่ยวพันกับความผันแปร และเกี่ยวพันกับความเข้าใจในระบบ เพราะความหลากหลายอาจจะมีอยู่ในขนาดที่เล็ก ภายในหนึ่งระบบหรือระหว่างระบบ หรือมีอยู่ในระบบขนาดใหญ่
คำถาม     “ให้แต่ละกลุ่มดูข้อมูลจากบทที่ 2 แล้วกลับไปสำรวจดูอีกครั้งว่าแต่ละระบบ มีประโยชน์อะไรบ้าง  จำแนกประโยชน์(เฉพาะสิ่งที่มีชีวิต)”
บทสรุป    ภายในชุมชน มีสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีหลายๆ ระบบ อยู่กันอย่างเกื้อกูล และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทุกสิ่งล้วนให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน</p>                                                      <p>
     บทที่  4  ความผันแปร ความแตกต่างของข้อมูล
วัตถุประสงค์  เพื่อให้เข้าใจว่าในชนิดพันธุ์หนึ่งๆ จะมีความผันแปรในระดับหนึ่ง เป็นความแตกต่างทางพันธุกรรม
คำถาม     “ให้แต่ละกลุ่มจำแนกความแตกต่างของสมาชิกภายในกลุ่ม แล้วลองจำแนกทีละคน โดยจำแนกกลุ่มละ 2 ประเด็น เช่น ลักษณะของผม และส่วนสูง  เป็นต้น”
บทสรุป     ข้อมูลของแต่ละคนมีความแตกต่าง นี่คือความผันแปรของชนิดพันธุ์ ความผันแปรของข้อมูลนั้น ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม</p><p>
     บทที่  5  การเปลี่ยนแปลง
วัตถุประสงค์  เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ
คำถาม     “ให้ทุกกลุ่ม ระบุว่า บริเวณที่เดินสำรวจ มีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่อย่างไรและให้ยกตัวอย่างมาหนึ่งตัวอย่าง ที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง”
บทสรุป    ทุกสิ่งล้วนมีการเปลี่ยนแปลง จากจุดๆหนึ่ง ไปสู่อีกจุดหนึ่ง เช่น ใบไม้ ที่เริ่มด้วยใบอ่อน เป็นใบที่สมบูรณ์   เป็นใบเแก่  แล้วร่วงหล่น เป็นต้น (สรุปโดยอาจารย์ฟี่)</p> 
     บทที่  6  โครงสร้างและหน้าที่
วัตถุประสงค์  เพื่อให้ทราบว่าลักษณะบางอย่างของสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดเป็นโครงสร้าง จะช่วยให้เกิดความเข้าใจว่า สิ่งมีชีวิตนั้นอยู่ได้อย่างไร กินอะไร อาศัยอยู่ที่ไหนและสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศน์อย่างไร
คำถาม   “ให้ทุกกลุ่มพิจารณาสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง ให้ยกตัวอย่างประกอบ บอกลักษณะพิเศษ แล้วบอกว่าทำไมถึงมีหน้าที่เช่นนั้น ตัวอย่างเช่นจิงโจ้ที่มีขาหลังใหญ่ เพราะใช้ในการกระโดด เป็นต้น”
บทสรุป    ทุกสิ่งย่อมมีหน้าที่  มีการพัฒนาหรือปรับตัว เช่น ตั๊กแตนปาทังกา ขาหลังใหญ่เพื่อใช้ในการกระโดดเหมือนจิงโจ้   นกที่มีปีกเล็กๆ : บินไม่ได้ หรือแมลงปากแหลม : เป็นแมลงปากดูด เป็นต้น <p>(เชิญอ่านต่อในตอนที่ 2 )</p><p>
วีรยุทธ  สมป่าสัก 
                                                                                               </p>

คำสำคัญ (Tags): #วิจัยและพัฒนา
หมายเลขบันทึก: 9811เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2005 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
           กระบวนการการทำงานของอาจารย์น่าสนใจมากครับ อยากเชิญชวนอาจารย์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันที่ Blog ของผมครับ

ขอบคุณค่ะที่นำมาเล่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าทำ ที่ยะลาจะทำได้ไหมเนี่ย

 

  • ทำได้แน่นอนครับ
  • งานส่งเสริมการเกษตรหากทุกคนเข้าใจ และนำไปใช้จะเกิดประโยชน์ต่องาน และชุมชนเป็นอย่างดี
  • เพราะเป็นการฝึกให้คนคิดเป็นระบบ  สนใจเรื่องใกล้ตัว และฝึกให้ทำการวิจัยในงานประจำ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท