การสอนให้เป็นวิทยากรกระบวนการ


รูปแบบหนึ่งของการจัดการความรู้ในองค์กร ก็คือการสอนงาน บางครั้งก็ดำเนินไปโดยแทบไม่รู้ตัว ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่งในการสอนงานในประเด็นการเป็นวิทยากรกระบวนการ

         ผมขอเล่าประสบการณ์การนำการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กรสำนักงานเกษตรจังหวัด  ซึ่งเราดำเนินการแบบไม่รู้ตัว แต่ได้เคยบันทึกไว้ (เป็นบันทึกแรกของผมที่ได้บันทึกประสบการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้) จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทีมคุณอำนวยทุก ๆ ท่าน

บทเรียนจากการปฏิบัติงานภาคสนาม

การสอนเจ้าหน้าที่ให้เป็นวิทยากรกระบวนการ(ประเด็นการเขียนแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้)
กรณีคุณพิกุล ภูทิพย์ สำนักงานเกษตรอำเภอขาณุวรลักษบุรี วันที่ 15 กรกฎาคม 2548

     โรงเรียนเกษตรกรฯ (FFS.) เป็นกระบวนการเรียนรู้/การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกรรูปแบบหนึ่ง ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำมาใช้ในงานส่งเสริมการเกษตรในทุกพื้นที่ของประเทศไทย จังหวัดกำแพงเพชรก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้นำกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร มาใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืช ตั้งแต่ปี 2543 โดยเฉพาะข้าวเป็นพืชที่ได้นำกระบวนการดังกล่าวมาใช้
           จากการเรียนรู้ที่ผ่านมาพบว่า เจ้าหน้าที่ยังติดอยู่ในกรอบแนวคิดเดิม เช่น…
       1) เจ้าหน้าที่ยึดติดกับการถ่ายทอดฯ โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ในวิชาการของเทคโนโลยีนั้น (เจ้าหน้าที่ต้องเก่งกว่าชาวบ้าน) 
       2) คนนอกเท่านั้นที่รู้เทคโนโลยี 
       3) เน้นการให้ความรู้ (บรรยาย) มากกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (เรียนรู้กับชาวบ้าน) 
          ฯลฯ เป็นต้น

          การที่จะสื่อให้เจ้าหน้าที่/นักส่งเสริมการเกษตรให้เข้าใจ และเรียนรู้การเป็นวิทยากรกระบวนการนั้น ในสถานการณ์จริง ผมและคุณสายัณห์ ปิกวงศ์ ได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกรณีของคุณพิกุล ภูทิพย์ ซึ่งจะจัดกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรส้ม ตามยุทธศาสตร์จังหวัด ในตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขอคำปรึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร เราจึงได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้
        1) พูดคุย ทำความเข้าใจถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้                                                       2) ยกตัวอย่างการจัดการเรียนรู้เรื่องส้มที่ผ่านมาว่า เริ่มต้นเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องรู้เทคโนโลยีการผลิตส้มมากมาย แต่เราต้องรู้การจัดการะบวนการกลุ่ม/เรียนรู้
        3) โน้มน้าวให้เปลี่ยนแนวคิดที่เจ้าหน้าที่หรือวิทยากร เป็นผู้รู้แล้วไปถ่ายทอดความรู้
        4) เมื่อมีความกังวล “ถ้าจังหวัด(ซึ่งคิดว่าเป็นผู้รู้) ไม่มาช่วยจะทำอย่างไร….”
        5)  “ลองวางแผนดูไหมเผื่อจะได้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานในสำนักงาน” เป็นคำถามที่เราถามคุณพิกุล เพื่อที่จะชักนำให้คุณพิกุลเรียนรู้การจัดทำแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้         เน้นให้เห็นว่า เราเป็นคนอำนวยความสะดวก (Facilitater) ในการเรียนรู้ “คุณอำนวย”

          กรอบแนวคิดที่ออกแบบในวันนั้น (แบบรวดเร็ว) เพื่อที่จะให้คุณพิกุลได้เรียนรู้มี 6 ขั้นตอน คือ
        1.      สร้างความเข้าใจ
        2.      กระตุ้นให้คิด
        3.      ลองหาทางออก
        4.      ทดลองจัดทำแผนการเรียนรู้
        5.      มีแผนการเรียนรู้ ที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่
        6.      ได้ทางออกในการจัดการเรียนรู้


          จากประสบการณ์  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถถอดประสบการณ์มานำเสนอ
เป็นขั้นตอน  ดังภาพต่อไปนี้…

ภาพที่ 1 สร้างความเข้าใจ และกระตุ้นให้คิด

                               

ภาพที่ 2 ลองหาทางออกโดยการลองเขียนให้เห็นทุกประเด็นที่น่า จะถามชาวบ้าน

                               

ภาพที่ 3 ทดลองจัดทำแผนการเรียนรู้ (ที่จะใช้จริง) เพื่อหาประเด็นและค้นหาทุนที่มีอยู่    เดิม  ที่สามารถสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้

                               

ภาพที่ 4 หน้าตาของแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ได้

                               

                        ในการฝึกเจ้าหน้าที่ให้เป็นวิทยากรกระบวนการในกรณีนี้ เริ่มจากการทำความเข้าใจ กระตุ้นให้คิด…จนสุดท้ายมีทางออกในการจัดการเรียนรู้ ในปัญหาที่พบของกรณีนี้คือเจ้าหน้าที่ไม่มีความมั่นใจในการจัดการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรส้ม เราได้ดำเนินการจนเจ้าหน้าที่สามารถเขียนแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยที่เจ้าตัวอาจเคยได้ยินคำว่าแผนการเรียนรู้ แต่อาจไม่เข้าใจถึงความเชื่อมโยงของของการดำเนินกระบวนการ ซึ่งต้องเริ่มโดย 1)การจัดทำแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2)การดำเนินการตามแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบทบาทของวิทยากรกระบวนการ และ 3)การประเมินผลหลังการปฏิบัติการเสร็จ (AAR) แต่เราก็ได้สื่อให้เขาได้เห็นส่วนหนึ่งของการเป็นวิทยากรกระบวนการ เป็นก้าวเล็กๆ ที่เริ่มต้นในทางที่ถูก โดยเริ่มต้นที่การวางแผนการเรียนรู้ เป็นลำดับแรก
                        คิดว่าถ้าหากพวกเรานักส่งเสริมการเกษตร ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฝึกการเป็นวิทยากรกระบวนการ ในการปฏิบัติงานของเรา (ส่งเสริมการเกษตร) เราหวังไว้ว่ากรมส่งเสริมการเกษตรของเรา    คงมีนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพเพิ่มมากขึ้น ไม่ทำบทบาทเพียงแค่คนส่งสาร (ไปรษณีย์) อีกต่อไป…


วีรยุทธ สมป่าสัก

 

หมายเลขบันทึก: 9822เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2005 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท