ความดี อยู่ที่ไหนในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์


เศรษฐศาสตร์มองเพียงกลไกทางเศรษฐกิจที่ทำงานต่อไปจากฐานคิด ค่านิยม ระบบคุณค่าแบบที่สังคมกำหนดมาแล้ว

เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของการแสวงหาทางวัตถุจริงหรือ   ใครๆก็คิดอย่างนั้น

  

ความผิดพลาดประการแรกมาจากการแปลและตีความคลาดเคลื่อน

  

 เศรษฐศาสตร์ที่เราเรียนกันอยู่  พัฒนาเป็นศาสตร์มาจากชาวตะวันตก  และเราก็แปลตำราเศรษฐศาสตร์มาจากตะวันตก  ความผิดพลาดบางอย่างเริ่มตรงการแปลและการตีความ

  

เศรษฐศาสตร์จุลภาคเริ่มต้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่สืบเนื่องมาจาก    ความพอใจ   ของเขา     ตำราภาษาไทยทุกเล่ม  บอกว่า  ความพอใจมาจากการบริโภคสินค้าและบริการ   แต่เราคิดว่าเป็นการสื่อความหมายที่ผิดอย่างรุนแรง     ที่ถูกต้องนั้น ควรเป็นว่า   ความพอใจมาจากการบริโภค สิ่งดี

  

ที่ไทยแปลว่า สินค้า  นั้น   ไปดูในตำราฝรั่งทุกเล่ม เขาใช้คำว่า goods  ในความหมายที่ว่า  ยิ่งมากยิ่งชอบ   (More is preferred to less)  ด้วยเหตุนี้ เราคิดว่า  goods  ต้องแปลกว้างๆว่า สิ่งดี   ไม่ใช่   "สินค้า" หรือ commodities  แบบที่แปลๆกันมา

   

คำว่า goods นี้  ตรงข้าม กับ bads  หรือสิ่งเลว  คือ ยิ่งมากยิ่งไม่ชอบ เช่น ขยะ   ซึ่งมีอธิบายอยู่ในเรื่องอรรถประโยชน์เช่นกัน

  

ตำราฝรั่งบางเล่มอย่าง Hirshleifer  ถึงกับยกตัวอย่างว่า      ถ้าคุณยิ่งทำบุญมากแล้วคุณยิ่งรู้สึกชอบ   (พูดง่ายๆว่า ชอบทำบุญ)     การทำบุญ  ก็คือ  goods หรือสิ่งดี  ที่ทำให้คนคนนั้นเกิดความพอใจ 

        

ดังนั้น ในฟังก์ชั่นอรรถประโยชน์ ของ นางสาวเฟื่องฟ้า   ความพอใจ อาจเกิดจากการทำบุญ  การมีเสื้อผ้า  การได้ชมภาพยนตร์   หรือ แม้แต่การมีเพื่อน        ทำบุญ  เสื้อผ้า  ภาพยนตร์  เพื่อน  เหล่านี้คือ สิ่งดี      เมื่อตำราภาษาไทยเข้าใจว่า  goods  คือ  สินค้า  ก็เลยได้แต่ยกตัวอย่างสิ่งที่เป็นวัตถุ   เป็นการเริ่มต้นตีกรอบความคิดที่เล็กแคบไปเลย

   

ความผิดพลาดประการที่สองมาจากการไม่ตั้งคำถามต่อ ความพอใจที่กำหนดมาแล้วโดยค่านิยม

  

ในบางสังคม จะให้ความสำคัญกับธรรมชาติ   การรักพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้  จึงเข้าไปอยู่ในฟังก์ชั่นอรรถประโยชน์  คือ ความพอใจของผู้คนแต่ละคน  (ซึ่งเศรษฐศาสตร์ใช้คำว่า ผู้บริโภค)

  

แต่ในบางสังคม  ผู้คนจะไม่เห็นค่าของพื้นที่สีเขียว   ในความพอใจของแต่ละบุคคลก็จะไม่มีเรื่องของต้นไม้  หรือธรรมชาติอยู่เลย

  

เวลานักเศรษฐศาสตร์ทำการศึกษาวิจัย   ก็จะศึกษาวิจัยบนพื้นฐาน ความชอบ  ที่มีอยู่แล้วของคนในสังคม     โจทย์คือ  ถ้าคนชอบแบบนี้แล้ว  พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคนจะเป็นอย่างไร  

      

ความชอบ  จึงถือเป็นสิ่งที่กำหนดให้ มาแล้วในสังคม      เศรษฐศาสตร์  ไม่ได้ตั้งคำถามว่า  ความชอบ ที่ว่า นี่ ถูกหรือผิด  เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของสังคมหรือไม่    แต่เศรษฐศาสตร์มองเพียงกลไกทางเศรษฐกิจที่ทำงานต่อไปจากฐานคิด ค่านิยม ระบบคุณค่าแบบที่สังคมกำหนดมาแล้ว

  

อย่าแปลกใจว่า  ประเทศทุนนิยมบางประเทศ เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว  แต่บางประเทศ ป่าถูกทำลายย่อยยับ     ทุนนิยมบางประเทศ สร้างกลไกของการกระจายรายได้ที่เท่าเทียม (เพราะให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันในสังคม)   ในขณะที่บางประเทศยิ่งรวยยิ่งกอบโกยและยังได้รับการยอมรับ

  

จุดอ่อนที่สุด ของเศรษฐศาสตร์  คือ การไม่ตั้งคำถาม  และยอมรับต่อ ระบบคุณค่าที่กำหนดมาแล้วในสังคม  มองข้ามความสำคัญของสิ่งนี้  เพราะมองว่ามันทำงานโดยศาสตร์อื่น    ทั้งๆที่มันเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดฟังก์ชั่นอรรถประโยชน์หรือความพอใจของผู้คน      แล้วชักนำให้คำตอบทางเศรษฐศาสตร์บิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นทางสังคมได้

  

อาจารย์ป๋วยอยากให้นักเรียนเศรษฐศาสตร์และนักเรียนศาสตร์อื่นๆ  ได้เรียนรู้ข้ามศาสตร์กันก็คงด้วยเหตุนี้      เหตุที่ว่า  เราจะสร้างสังคมที่ดีโดยใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งไม่ได้    เราจะสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีโดยไม่ให้ความสำคัญต่อการสร้างระบบคุณค่าในสังคมไม่ได้ (อาจารย์ป๋วยพูดถึง ความจริง  ความงาม ความดี)    นั่นแปลว่า นักเศรษฐศาสตร์ต้องทำงานร่วมกับนักวิชาการจากศาสตร์อื่นด้วย    

Paul A. Samuelson นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้ให้กำเนิดการเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยคณิตศาสตร์  เขียนไว้ 2 บรรทัดสั้นๆในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นว่า   ตลาดไม่ใช่เป็นเครื่องมือเดียวในการจัดสรรทรัพยากร  แต่ยังมี จารีตประเพณี ความเชื่อ  กฎหมาย....   แต่ดูเหมือนผู้อ่านทั่วไปจะมองข้าม 2 บรรทัดนี้

 

เศรษฐศาสตร์มีจุดแข็งในเรื่องเครื่องมือการวิเคราะห์อยู่มาก  แต่จุดอ่อนในฐานะที่เป็น สังคมศาสตร์    ก็ยังมีอีกไม่น้อย

 
หมายเลขบันทึก: 97815เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

อธิบาย "ยิ่งมากยิ่งชอบ"

"ยิ่งมากยิ่งชอบ"  หรือ "มากดีกว่าน้อย"  ไม่ใช่สิ่งที่ดิฉันแปลใหม่  มันเป็นสิ่งที่อยู่ในตำราฝรั่งมาตั้งแต่ต้น   คนอื่นๆก็คงแปลแบบนี้  แต่ในการแปล เขาอาจจะไม่ค่อยหยิบมันมาตีความหรือเป็นประเด็นถกเถียง

ไม่มีคำว่า "พอ" อยู่ในระบบคิดเรื่องนี้จริงๆ และก็เป็นจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของทฤษฎี  ซึ่งอาจารย์ชยันต์ ตันติวัสดาการ ของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เคยคุยกับดิฉันในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม  ในทางทฤษฎีเอง  กล่าวถึงสิ่งที่จะเป็นตัวจำกัดความพอใจแบบไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ 2  เรื่อง

เรื่องแรก   แม้จะชอบว่า  "มี  2 ดีกว่ามี 1"    "มี 3 ดีกว่ามี 2" . "มี 4 ดีกว่ามี 3" ......  แต่หน่วยที่ 3, หน่วยที่ 4  ก็เริ่มไร้ค่าลงไปทุกที     ถ้าหน่วยที่ 5  มีแล้วเป็นพิษ  หรือ อาเจียรออกมาก หรือ สร้างความทุกข์ให้ผู้เสพ   หน่วยที่ 5 นี้ก็จะไม่ใช่ "สิ่งดี" อีกต่อไป  แต่เป็น "สิ่งเลว" ได้

เรื่องที่สอง  เป็นเรื่องของข้อจำกัดจากปัจจัยอื่น  เช่น  งบประมาณที่เรามีจำกัด  หรือ เวลาที่เรามีจำกัด  จะเป็นตัวจำกัด  ความอยากมี และความสามารถที่จะมี  ของเรา

 จากสองประการนี้   นักเศรษฐศาสตร์นำไปสร้างเป็นทฤษฎีอุปสงค์

ที่ดิฉันเห็นว่ามีนัยสำคัญในเชิงนโยบายสาธารณะ  ก็คือ  เรื่องแรก   (ในขณะที่นโยบายของประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องที่สอง  คือ การพยายามทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น จะได้มีงบประมาณในการจับจ่ายใช้สอยสนองความต้องการของตัวเองมากขึ้น)

นัยที่ดิฉันว่าสำคัญมาก ก็คือ  เรื่องการจัดสรรทรัพยากร

เพราะถ้าหน่วยที่ 4  หน่วยที่ 5  ไม่ได้สร้างความพอใจให้กับนายสมคิดมากนัก   ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เสนอแนะว่า   "ควรเอาหน่วยที่ 4 หน่วยที่ 5 นี้ ไปจัดสรรให้นายสมมาตร ที่ยังไม่มี หรือ มีน้อย จะดีกว่า"  ความพอใจรวมหรืออรรถประโยชน์รวมของทุกคนในสังคม ก็จะสูงขึ้น

 เศรษฐศาสตร์เรียก "อรรถประโยชน์รวมของทุกคนในสังคม"  ว่าเป็น  "สวัสดิการทางเศรษฐกิจ"ของสังคม 

ดังนั้น การจัดสรรทรัพยากรเสียใหม่แบบนี้ จึงเป็นการทำให้สวัสดิการของสังคมดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีแนวคิดดีๆก็มีอยู่ (แม้จะทฤษฎีจะมีข้อจำกัดในตัวมันเอง)  แต่น่าเสียดาย ที่ผู้กำหนดนโยบายละเลยแนวคิดเรื่องการจัดสรร (การกระจาย)ทรัพยากร  มุ่งจับแต่ประเด็นสร้างรายได้

ฝรั่งไม่โง่  แต่ คนกำหนดนโยบายไทยอาจไม่ฉลาด หรือฉลาดแต่คิดบิดเบี้ยวเอง  ...ยังมีแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องอื่นๆ  ที่อธิบายความบิดเบี้ยวเหล่านี้....

 

 

น่าประหลาดใจมาก  ที่ดิฉันเขียนตอบบันทึก "คำอธิบายเรื่องยิ่งมากยิ่งชอบ"  ต่อจาก "ความเห็นต่อสหกรณ์ "  แต่ระบบกลับย้ายบันทึก เรื่อง "คำอธิบาย...."  ไปไว้ตอนต้นๆ !!!

เห็นความผิดพลาดแล้วค่ะ

ดิฉันเขียนตอบบันทึกเวลา ประมาณตีหนึ่งกว่าๆ   แต่ระบบบันทึกว่า เป็นเวลา 11.53  น.  แทนที่จะเป็น 1.53 น.

ผมชอบบันทึกนี้มากเลยครับ เป็นบันทึกที่ช่วยเปิดทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน อาทิเช่นนักศึกษาในหลักสูตรบริหารธุรกิจ และไม่ได้เรียนรู้ต่อเนื่องหลังจากนั้น ผมจะขออนุญาตนำบันทึกนี้ไปแนะนำให้นักศึกษาอ่านนะครับ

เรียน ดร.ธวัชชัย

ขอบคุณมากค่ะ  ดีใจที่บันทึกนี้เป็นประโยชน์ค่ะ  

ผมเองไม่ค่อยเข้าใจทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่ครับ งูๆ ปลาๆ ไปตามเรื่องเมื่อสมัยปริญญาตรี แต่ข้อคิดของอาจารย์นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม เพราะปกติผมมักจะเข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์คือการจัดสรรทรัพยากรให้ฝ่ายต่างๆ อย่างมีประสิทธิผล ไม่ต่างจากการเมือง มันคล้ายกับแบบนี้ก็เลยมีเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง คล้ายกับที่คุณยอดดอยบอกว่าแต่ละกลุ่มก็มีการตีความ มีค่านิยมต่างกัน คำว่าดีเองก็เป็นคำที่ไม่มีความสมบูรณ์ในตัว ขึ้นกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของแ่ต่ละสังคม

พอกล่าวถึง Paul A. Samuelson เกี่ยวกับเรื่อง จารีตประเพณี ความเชื่อ  กฎหมาย ในเศรษฐศาสตร์ก็ยิ่งทำให้ผมคิดถึงเหตุการณ์ร้ายๆ หลายอย่างในปัจจุบันที่คนเอาความเชื่อมาใช้เป็นเหตุผลทำสงคราม เอาเปรียบกัน ครั้งจะเอาความเชื่อหลายๆ อย่างมารวมกันในหลักสูตร ก็นับว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ (อย่างที่อเมริกามีการสอนทฤษฎีวิวัฒนาการ และทฤษฎี Intelligent Design) แต่สอนยาก เพราะผู้สอนเองต้องมีทักษะในการนำเสนอ ให้เด็กได้ไตร่ตรอง เข้าใจถึงความหลากหลายในสังคม

เขียนๆ ไปก็มีแต่คำถามครับ ...

ขอบคุณครับอาจารย์ 

อ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาส บอกว่าอาจารย์เป็นนักเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ผมย่อแผนพัฒนาสหกรณ์ที่ทีมอาจารย์และคณะร่างไว้ซึ่งน่าสนใจมากและผมขอ   อนุญาตอาจารย์เอาไปใช้แล้ว (จะลงในBlogต่อไป)

ยุทธศาสตร์สำคัญเริ่มต้นคือ

คุณค่าสหกรณ์และแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นการวางกรอบ/เป้าหมายของหน่วยจัดสรรทรัพยากร(สหกรณ์) ที่คุณค่าและศก.พอเพียง

ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับคุณค่าของการร่วมมือกันของคนเล็กคนน้อย(สหกรณ์)และเป้าหมายคือ

ก่อนที่จะเข้าสู่ปฏิบัติการที่มีผู้นำ-องค์กร-เครือข่าย
ต่อไป

ตอนนี้ศก.พอเพียงกลายเป็นคุณค่าของเศรษฐศาสตร์

ประเด็นที่2คงเบาใจได้ แต่ประเด็นแรก "ยิ่งมากยิ่งดี" ที่อาจารย์แปลใหม่ ผมก็ยังกังขาอยู่ น่าจะมีคำว่า "พอ"อยู่ในนั้นด้วยนะครับ

  • ดีใจ ที่ได้เข้ามาอ่านบันทึกเกี่ยวกับหลักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ "นอกตำรา" อย่างนี้นะครับ
  • ผมคิดว่าไม่เฉพาะกับเศรษฐศาสตร์นะครับที่มีปัญหาในการตีความ/แปลความมาจากฝรั่ง (ซึ่งบางที เราแปลมาผิด ก็เลยพาลไปมองว่าฝรั่งโง่) ศาสตร์อื่นๆ อย่างศึกษาศาสตร์ จิตวิทยา วนศาสตร์ เท่าที่ผมพอจะอ่านมา ก็พบว่ามีการแปลตำรามาผิดๆเหมือนกัน
  • ยกตัวอย่างเรื่องการจัดการป่าไม้ เราไป (ลอก)เรียนมาเฉพาะเรื่องการจัดการโดยรัฐ แต่พอมาเรื่องการจัดการโดยชุมชนนี่เราไม่ได้เอามา ไม่รู้ว่าที่ไม่เอามานี่เพราะไม่รู้ หรือรู้แล้วแต่ไม่อยากเอามาเพราะเป็นการลดทอนอำนาจของชนชั้นนำ
  • ในอีกด้านหนึ่ง ในยุคปัจจุบันที่สังคมโลกเรียกร้องให้มีการยอมรับความหลากหลาย แน่นอนว่าเริ่มมีการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของศาสตร์ต่างๆ ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้มี การแปลความ/ตีความหมายศาสตร์ต่างๆในมุมมองที่หลายหลากไปตามกลุ่มชน กลุ่มชาติพันธุ์ เพศ ศาสนา อายุ พื้นที่ทางกายภาพ เป็นไปได้ไหมว่า การเรียกร้องให้เศรษฐศาสตร์มีคำนิยามที่ถูกต้อง ชัดเจน ด้านหนึ่งมันจะกลายเป็นการแช่แข็งให้วิชานี้ตายซาก แทนที่จะเปิดกว้าง เป็นพื้นที่สาธารณะให้สังคมทุกระดับใช้ประโยชน์จากการสร้างนิยามที่หลากหลายได้มากกว่านี้
  • สวัสดีครับ อ.ปัทมาวดี อาจารย์สบายดีนะครับ
  • ไม่ได้มาเยี่ยมนานเลย พอดียุ่ง ๆ เรื่องเรียนและไปเยี่ยมคุณยายที่นครศรีฯ ครับ
  • เศรษฐศาสตร์ในมุมมองของทุนนิยม (ในประเทศไทย) คือการแข่งขันและการบริโภค แบบไม่ลืมหูลืมตา กลายเป็นว่าจริยธรรมและความดีไม่สามารถนำมาใช้ในระบบการแข่งขันในประเทศไทยได้ (ใครทำธุรกิจแต่ทำแต่สิ่งดี ๆ เค้ากลับว่าโง่เสียนี่ แต่ใครทำลับ ๆ ล่อ ๆ trickly เค้ากับชมว่าเก่ง)
  • ขอบคุณอาจารย์ที่มาแลกเปลี่ยนครับ

ความเห็นต่อเรื่องสหกรณ์ 

ดิฉันเห็นความสำคัญของระบบสหกรณ์มาโดยตลอดด้วย 2 เหตุผล

ประการแรก คือ หลักการที่ให้คุณค่าของความร่วมมือ ไม่คิดแบบปัจเจก  (การให้คุณค่ามีหลายด้าน  ให้คุณค่าต่อตัวสินค้า หรือให้คุณค่าต่อคนทำสินค้า หรือให้คุณค่าต่อ....  )

ประการที่สอง คือ เห็นว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรหรือคนเล็กคนน้อยได้โดยเฉพาะด้านตลาด  ที่คนฐานรากมีความเปราะบาง มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าทุกๆเรื่อง

ไม่เห็นมีหน่วยงานไหนเอาจริงมาหาทางช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้านในเรื่องสร้างอำนาจต่อรองด้านการตลาดผ่านขบวนสหกรณ์  ดิฉันเคยแสดงความเห็นทำนองนี้มาบ้างใน บล็อกคุณภีม เมื่อพูดถึง ขบวน KM เมื่องนคร

ขอบคุณทุกความเห็นค่ะ 

คำตอบต่อคำถามของคุณภีมกระจายอยู่ใน 2 กล่องข้อความ

ความเห็นของคุณแว้บ มาหลังสุด เดาว่าเป็น 4.59 น. แต่บล็อกบันทึกเป็น 14.59 น.จึงถูกสลับลำดับ  ที่คุณแว้บเข้าใจมีส่วนถูกอยู่บ้าง เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่กว้าง นำไปประยุกต์ใช้ได้กับพฤติกรรมการ "ตัดสินใจ"มนุษย์ในด้านต่างๆ   เศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้นจะไม่ค่อยพูดถึง "สิ่งที่ควรจะเป็น" หรือ "ถูกผิด"

คุณยอดดอย ยกตัวอย่างเรื่องป่าไม้ได้ตรงที่สุดค่ะ  ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนนะคะ

ดีใจที่ได้ข่าวจาก aj.Kae  อีกครั้ง  ขอให้สนุกกับเรื่องเรียนนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท