APHN Diploma of Palliative Care ๖: ระบบบริการ


ชั่วโมงนี้เป็นเรื่องการเปรียบเทีย ระบบการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายจากประเทศต่างๆ นำกลุ่มโดยพยาบาลชื่อ Meg Hegarty

         

เธอเริ่มแสดงฝีมือโดยการไปวาดแผนที่ของทวีปเอเชียตั้งแต่อินเดีย จีน หมู่เกาะในแปซิฟิก รวมทั้งออสเตรเลียไว้บนกระดานขาวอย่างคร่าวๆ แล้วก็บอกให้แต่ละคนจากแต่ละประเทศขึ้นไปจิ้มบนแผนที่นั้นว่า มาจากตรงไหน เมืองของตนเองมีอัตราตายจากอะไรสูงสุด ปัญหาสาธารณสุขสำคัญคืออะไร

         

พอพูดจบ บรรดาผู้เข้าเรียนก็แซวทันทีว่า ไอ้ที่อยู่บนกระดานนั้นมันแผนที่หรือ ดูยังไงก็ไม่ออก นึกว่าเธอลากเส้นอะไรเล่นๆ

         

วาดภาพออกแล้วนะครับ ว่านักเรียนรุ่นนี้ร้ายขนาดไหน

         

มันตลกตรงที่ว่า พอตัวเองขึ้นไปวาดแผนที่ประเทศตัวเองใหม่ ฝีมือก็ไม่ได้ดีกว่ากัน บางทีก็ไปทับส่วนของประเทศอื่น มีการเกทับบลัฟแหลก ว่าประเทศฉันใหญ่เท่านี้ ของเธอเป็นติ่งนิดเดียว

         

ปรากฏว่า ผู้แทนจากประเทศอินเดียพบว่าตนเองมาจากคนละมุมเลย กระจายกันได้ที่มากๆ และก็มีปัญหาเรื่องสาเหตุการตายแตกต่างกันมาก ระบบบริการก็แตกต่างกันราวกับอยู่คนละประเทศ ไปๆมาๆเถึยงกันเองอีกต่างหาก เช่น มอร์ฟีนน้ำสำหรับบรรเทาความปวดในเคลาล่าทางใต้ รัฐมีนโยบายจ่ายให้คนไข้ฟรี ส่วนที่อื่นของประเทศยังแทบไม่มีให้ใช้

         

ในพม่า ประเทศที่ผลิตฝิ่นอันดับต้นของโลก ไม่มียาระงับปวดที่เข้าฝิิ่น ทั้งมอร์ฟิน โคเดอีน เฟนตานิลให้ใช้ ไม่ต้องพูดถึงการบรรเทาปวดระดับสามขององค์การอนามัยโลกเลย แค่ระดับสองก็ยากแล้ว

         

ตรงกันข้ามกับออสเตรเลีย ยาทุกชนิดที่แจกให้คนไข้ไปแล้ว เช่น มอร์ฟีน มีกฏหมายชัดเจนว่า ห้ามนำกลับมาให้คนไข้คนอื่นใช้อีก นั่นก็หมายความว่า มีมอร์ฟีนน้ำอย่างดีที่ต้องถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ทำเอาพวกเราตาลุกวาวอยากขอรับบริจาคมาใช้จัง

         

มาเลเซียให้ยาระงับปวดกับคนไข้ได้ทีเป็นกล่องๆ แล้วพอคนไข้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ญาติจะเอามาคืน เพื่อให้คนไข้คนอื่นใช้ต่อ ซึ่งก็คล้ายๆกับเมืองไทยของเรา เนื่องจากยากลุ่มนี้หายาก

         

ฟังจากเพื่อนร่วมรุ่นแล้ว สถานการณ์ในบ้านเราก็ไม่ได้เลวร้ายเกินไป เรามีมอร์ฟีนทั้งแบบน้ำและเม็ดใช้กันหลายแห่ง ถึงจะไม่มีในทุกโรงพยาบาลก็ตาม

         

ที่ทำเอาผมแปลกใจมากๆ ก็คือ ตอนผมนำเสนอในส่วนของประเทศไทยว่า ปัจจุบันตอนนี้สาเหตูการตายของเราเปลี่ยนเป็นมะเร็งมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงไปจึงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ ส่วนเรื่องโรคติดเชื้อ เรามีปัญหาเรื่องเอดส์และวัณโรคยุคใหม่ เป็นปัญหาหนักอกเหมือนกัน คุณหมอ Rosalie Shaw เลขาธิการ Asia Pacific Hospice Palliative Care Network ถึงกับเอาไปอ้างว่า ถ้าใครจะดูงานเรื่อง Palliative Care ในคนไข้ HIV ต้องมาประเทศไทย เพราะเรามีรูปแบบการดูแลที่น่าสนใจของวัดพระบาทน้ำพุ แถมรัฐบาลมีนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องยาและการให้บริการ ไม่ปกปิด ไม่ควรไปดูงานที่ประเทศตะวันตก เพราะประเทศแถบนั้นมองโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคที่คุกคามถึงชีวิตแล้ว มันรักษาหายในระยะยาวได้ผลดีมาก กลายเป็นแค่กลุ่มโรคเรื้อรังเท่านั้น ปัญหาจะต่างจากประเทศที่กำลังพัฒนา

 

<< APHN Diploma of Palliative Care ๕: ใกล้ตายแล้วเห็นอะไรแปลกๆ

 

APHN Diploma of Palliative Care ๗: ฉันต้องหาย..ต้องหาย แล้วไง >>

หมายเลขบันทึก: 96254เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอแทรกโฆษณา เรื่องพระบาทน้ำพุซะเลย อิ อิ

ตามมาอ่านครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท