ชีวิตจริงของอินเทอร์น : ๔ เดือนกับงานจัดการความรู้ (๒)


   กิจกรรมในช่วงเช้าของวันที่ ๒ คือการทำ  แผนที่คนดี  โดยให้แต่ละคนเขียนถึง
  • ความใฝ่ฝันในชีวิต / อุดมการณ์ที่มี
  • สิ่งที่ทำได้ดี
  • งานที่ทำ / ชั้นที่สอน หน่วยวิชาที่สอน / ผลงานที่ภาคภูมิใจ ไล่ตามภาคเรียนในแต่ละปีการศึกษา โดยเริ่มเขียนตั้งแต่ปีการศึกษาที่เข้ามาร่วมงาน จนกระทั่งปัจจุบัน
  • ความสนใจที่เกี่ยวข้องกับงาน
  • ความสนใจอื่นๆ / งานอดิเรก

 โดยให้นั่งเขียนด้วยกันเป็นกลุ่ม ตามรุ่นที่แบ่งจากปีการศึกษาที่เข้ามาร่วมงาน ซึ่งแต่ละรุ่นก็จะมีชื่อรุ่นตามประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีนั้น ๆ  เพื่อที่ว่าทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการย้อนทวนความทรงจำที่ผ่านมาด้วยกัน 

 และรุ่นที่ย้อนอดีตกันนานที่สุดก็คือรุ่นแรกที่เข้ามากันตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๕ ซึ่งอยู่ในรุ่นบุกเบิกนั่นเอง 

หลังจากที่ข้อมูลที่ได้จากบันทึกแผนที่คนดีมาแล้ว ก็มีคณะทำงานช่วยกันอ่านเพื่อแบ่งกลุ่มความสนใจออกเป็น ๙ กลุ่ม โดยไม่มีการตั้งหัวข้อเอาไว้ก่อน แต่จะมาพิจารณากันว่าใครมีความสนใจ และประสบการณ์ในแง่มุมใดที่มีความโดดเด่น แล้วจึงคัดแยกไว้  ผู้นำของแต่ละกลุ่มมาจากคนที่เคยมีประสบการณ์กับเรื่องสุนทรียสนทนา และการจัดการความรู้มาแล้ว และมีคุณสมบัติคือ เป็นผู้ที่เห็นคุณค่า และ เคารพในความแตกต่างหลากหลาย มีทักษะในการจัดการความรู้โดยอาศัยเรื่องเล่าเร้าพลัง  

แต่ละกลุ่มมีสมาชิกประมาณ ๑๕ คน  กลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดคือ เรื่องความโดดเด่นในความเป็นครู  ซึ่งมีอยู่ถึง ๒ กลุ่มด้วยกัน  ที่รองลงมาคือ เรื่องอุคมการณ์ทางสังคม จากนั้นก็เป็นเรื่องของการพัฒนาตน  ความสมดุลในชีวิต  ความสนใจในดนตรีและเพลง  ความมุ่งมั่นในการทำงาน  และความสำเร็จในชีวิต  ที่แบ่งกลุ่มได้เท่าๆกัน 

กลุ่มประด็นที่เก็บได้จากข้อความที่ระบุไว้ในแผนที่คนดีนี้ แสดงลักษณะขององค์กรออกมาได้อย่างเด่นชัด  สามารถสะท้อนความเป็นเพลินพัฒนาว่าเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ความเป็นครู และมีความสนใจในเรื่องของอุดมการณ์ทางสังคม ที่เริ่มจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตในแง่มุมต่างๆมากมาย

 เช้าวันต่อมามีการนำเสนอวิธีการการจัดการความรู้ผ่านเครื่องมือ เรื่องเล่าเร้าพลัง ให้ทุกคนได้รู้จักว่า มีความสอดคล้องกับการทำงาน และชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างไร ทุกคนมีอยู่ในคนแล้วอย่างไร เราจะนำเอาความรู้ในคนออกมาพัฒนางานโรงเรียนได้อย่างไร

 วันนี้ทุกคนได้เข้าไปมีประสบการณ์ตรงตามกลุ่มที่จัดไว้  และได้เรียนรู้ที่จะเป็นพลังให้กันและกัน เร้าพลังซึ่งกันและกัน วงสนทนานี้พาให้คนได้สัมผัสแง่มุมที่จะก่อให้เกิดความเคารพและศรัทธาในกันได้อย่างปราศจากข้อสงสัย 

 แม้กระทั่งกับคนที่ไม่เคยเห็นข้อดีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และไม่เคยมองข้อดีของเพื่อนมาก่อน ก็ยังได้ประจักษ์ในคุณค่านั้นด้วยตนเอง 

ผู้อำนวยการโรงเรียนได้กล่าวปิดการสัมมนาว่ากิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายนี้ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้รู้จักกัน เคารพกันได้อย่างลึกซึ้ง และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ออกมาจากใจจริงอย่างอิสระ เป็นความรู้จริงที่มาจากชีวิตของผู้คน ที่ท่านเองก็ไม่สามารถจะมานำเสนอให้ครบถ้วนอย่างที่เกิดขึ้นไปแล้วนี้ได้ 

ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ชาวเพลินพัฒนาจะได้เห็นสถานการณ์ของโรงเรียนร่วมกัน และจะได้ช่วยกันคิดอ่านว่าแต่ละคนจะมีส่วนสร้างงานอะไรในการสนับสนุนให้อุดมการณ์ ความมุ่งหวังที่ทุกฝ่ายมีร่วมกันเดินทางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ด้วยกัน           

หมายเลขบันทึก: 95944เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2007 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท